กฎหมายรัฐธรรมนูญกับประชาธิปไตยไทย #2

กฎหมายรัฐธรรมนูญกับประชาธิปไตยไทย

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

คำอภิปรายใน เวทีสาธารณะ ซึ่งจัดโดย Book Re:public ร่วมกับภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่10 มีนาคม 2555 ณ ห้องประชุมชั้น 2คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีวิทยากรประกอบไปด้วย รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์,รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล,รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ และมีผศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

สวัสดีครับ หัวข้อที่จะคุยในวันนี้ คือเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญกับประชาธิปไตย โดยผมจะพยายามอธิบายรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยในมิติที่กว้างขึ้นมากกว่าความขัดแย้งที่เป็นอยู่ ในเบื้องต้นหากเราสามารถเข้าใจปัญหาของเรื่องที่เป็นข้อขัดแย้งกันอยู่ ก็อาจจะทำให้เรามองเห็นทางที่จะไปได้มากขึ้น 

เรื่องที่จะนำเสนอแบ่งออกเป็น4ประเด็น คือ 

  1. ความเป็นการเมืองของสิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย
  2. เพดานความคิดเรื่องรัฐธรรมนูญในสังคมไทย  
  3. รัฐธรรมนูญสามฉบับของไทย
  4.  เราจะทำความเข้าใจสถานการณ์เฉพาะหน้าได้อย่างไร 

ความเป็นการเมืองของรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย 

เมื่อพูดถึงการเมืองและประชาธิปไตย คำว่า “รัฐธรรมนูญ” หรือ “ประชาธิปไตย” ในแง่หนึ่งล้วนเป็นคำที่มีภาษาทางการเมือง แม้ว่าจะเป็นกฎหมายหรือเกี่ยวข้องกับกฎหมาย แต่หมายความว่ามันเป็นคำที่เกี่ยวข้องและลื่นไหลเปลี่ยนแปลงได้ ยกตัวอย่างเช่น ความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่ผ่านมาไม่ว่าในกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) ผมคิดว่าเราเห็นคำว่า “ประชาธิปไตย” อยู่ในทั้งสองกลุ่ม คือใครเป็นผู้ที่มีความหมายถูกต้อง ผมไม่รู้หรือไม่เชิงไม่รู้ แต่มันเป็นคำที่สามารถจะมีความหมายที่เปลี่ยนไปได้ หรืออย่างเช่นเวลาเราพูดว่าประชาธิปไตยคืออะไร ประชาธิปไตยตรงข้ามกับเผด็จการ     หรือเวลาพูดถึงประชาธิปไตยก่อน 2475 หมายถึง Republicที่ไม่มีพระเจ้าแผ่นดิน คือคำต่างๆ เหล่านี้มันมีความหมายที่เลื่อนไหลเปลี่ยนได้

ผมคิดว่าไม่ใช่เพียงขึ้นอยู่กับว่าใครนิยามว่าอะไร ในอีกแง่หนึ่งมันเป็นการต่อสู้และช่วงชิงว่าใครเป็นคนทำให้คำนั้นมันมีความหมายขึ้นเป็นที่ยอมรับกันได้ เพราะฉะนั้น ลักษณะเบื้องต้นของคำว่า “รัฐธรรมนูญ” หรือ “ประชาธิปไตย” คือลื่นไหลและเปลี่ยนแปลงได้ มันเปลี่ยนโดยเป็นผลมาจากการต่อสู้ช่วงชิงทางการเมือง ในช่วงเวลาหนึ่งมันมีความหมายอย่างหนึ่ง และในอีกช่วงเวลาหนึ่งมีความหมายอีกแบบหนึ่ง ความหมายอันนี้ผมเชื่อว่าขึ้นอยู่กับการต่อสู้ทางแนวคิด เราจะอธิบายว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร ประชาธิปไตยคืออะไร มันเป็นเรื่องของแนวคิดและรวมถึงสิ่งที่สำคัญมากคือปฏิบัติการทางสังคม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและสิ่งที่มีความจำเป็นหากเราต้องการพูดถึงรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะอธิบายมันอย่างไรก็ได้ มันมีคุณลักษณะที่เป็นหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญหรือประชาธิปไตยอยู่ เช่น อย่างน้อยที่สุดถ้าเป็นระบอบประชาธิปไตยก็จะมีระบบการเมืองที่สัมพันธ์กับประชาชน หรือการเลือกตั้ง เป็นต้น

เพดานความคิดเรื่องรัฐธรรมนูญในสังคมไทย  

เรื่องที่ผมจะให้ความสนใจและให้ความสำคัญคือเรื่องรัฐธรรมนูญ การถกเถียงรัฐธรรมนูญในสังคมไทยมีเพดานความคิดที่สำคัญอยู่ หรือเวลาที่เราคิดถึงรัฐธรรมนูญ สังคมไทยมีกรอบอยู่ 3 เรื่องใหญ่ๆ ด้วยกัน 

เบื้องต้นเป็นภาพที่แสดง ณ ที่นี้เป็นสิ่งที่คุ้นเคยกันอันเป็นภาพที่เรียกว่าพระราชทานรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น เวลาคิดถึงรัฐธรรมนูญ มันมีความหมายอะไรบางอย่างกำกับอยู่ นอกจากเรื่องภาพและถ้อยคำที่ตามมา อันที่จริงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระกัน แต่ในภายหลังถูกผนวกเป็นเรื่องเดียวกัน ถ้อยคำนี้ซึ่งคนในสังคมไทยก็คุ้นเคยกันดี คือคำว่า “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎร”[1]


[1]พระราชหัตถเลขาสละราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) (กองบก.)


โดยทั่วไปรัฐธรรมนูญในประเทศไทยมีเพดานความคิดอยู่สามเรื่องด้วยกัน เรื่องที่หนึ่ง เรามักจะอธิบายว่ารูปแบบการปกครองของเรามีการปกครองแบบรัฐสภา โดยมีอังกฤษเป็นต้นแบบ นี่เป็นกรอบความคิดอันแรกที่สำคัญมากในสังคมไทยและแวดวงวิชาการ เวลาเราอธิบายเรามักจะตั้งต้นด้วยการบอกว่าอังกฤษคือต้นแบบ แล้วพยายามจะเอารูปแบบของอังกฤษมาใช้ แต่ปัญหาคือเรามีความอ่อนแอในความรู้เรื่องระบบรัฐสภาของอังกฤษอย่างมาก กระทั่งคนในแวดวงวิชาการก็มีความรู้ไม่มาก ดังที่อาจารย์เกษียร เตชะพีระได้พูดว่า เวลาที่นักวิชาการไทยถกเถียงกันมักจะกล่าวอ้างถึง Walter Bagehotซึ่งพูดถึงบทบาทในทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ว่าสามารถสนับสนุนให้กำลังใจกับฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล การอ้างอิงนี้เป็นการยกอ้างเนื้อหาแค่เพียงบางส่วนแล้วเอามาปะติดปะต่อกัน เช่น ผมคิดว่าสังคมไทยเคยถกเถียงกันว่า วุฒิสภาควรจะมาจากการเลือกตั้ง แต่บางคนบอกว่าไม่จำเป็น อังกฤษที่เป็นต้นแบบของเรา วุฒิสภาก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ถามว่าคำพูดนี้ถูกต้องหรือไม่ คำตอบคือถูก วุฒิสภามาจากการสืบทอดตำแหน่ง มาจากพระ มาจากนักกฎหมาย สภา ศาลฎีกาเต็มไปหมดเลย แต่ว่าสิ่งที่เป็นปัญหาในการถกเถียงเรื่องรัฐสภาอังกฤษ คือเราดึงออกมาเป็นส่วนๆ ซึ่งไม่ตอบรับกับกรอบใหญ่ที่สำคัญมาก โดยที่มาของรัฐสภาอังกฤษเกิดการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกันระหว่างกษัตริย์กับสภา แล้วจบลงด้วยชัยชนะของรัฐสภา พระมหากษัตริย์ค่อยๆ ถอยห่างออกจากระบบการเมือง หรือที่นักกฎหมายไทยชอบเรียกSupremacy of the Parliament ซึ่งถูกแปลว่าหลักอำนาจสูงสุดของรัฐสภา  

ผมคิดว่าเวลาอธิบายว่าอังกฤษเป็นต้นแบบ แต่ละกลุ่มจะดึงเอาส่วนที่เป็นประโยชน์กับตัวเองมาอธิบายเท่านั้น นี่เป็นความอ่อนแอของนักวิชาการไทย ในอีกแง่หนึ่งเราอธิบายเรื่องนี้แบบเป็นการเมืองมาก หนังสือเล่มที่Walter Bagehotเขียนเรื่อง “รัฐธรรมนูญอังกฤษ”[2]ในเมืองไทยคนอ่านจบทั้งเล่มไม่น่าจะเกินสิบคน ที่สำคัญคืออ่านไม่จบแล้วพูดได้เป็นตุเป็นตะ ในทางวิชาการถ้าพูดถึงเรื่องพระราชทานอำนาจแล้ว งานนี้เป็นงานที่ถูกพูดถึงมากที่สุด แต่ถ้าไปอ่านรัฐธรรมนูญอังกฤษ Walter Bagehotไม่ได้เป็นคนที่สำคัญในการเขียนอธิบายรัฐธรรมนูญอังกฤษ แต่สำหรับในสังคมไทยเขาเป็นคนหนึ่งที่ยึดกุมการอธิบายรัฐธรรมนูญอังกฤษ นี่เป็นความไร้พลังของนักวิชาการไทยที่ไม่สามารถพูดเรื่องนี้ได้มากเท่าที่ควร 


[2](Walter Bagehot, The English Constitution (London: The Fontana Library, 1963;พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ.1867)


เรื่องที่สอง การพูดถึงรัฐธรรมนูญในเมืองไทยมักพูดถึงรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร โดยไม่พูดถึงรัฐธรรมนูญที่เป็นจารีตประเพณีมากนัก ถ้าเราสนใจสิ่งที่เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นจารีตประเพณี เราจะมองเห็นภาพที่ชัดขึ้น รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีในที่นี้หมายถึงการปฏิบัติหรือการกระทำอะไรก็ตามที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐธรรมนูญและการปกครอง แล้วเป็นที่ยอมรับกันทุกฝ่าย ตัวอย่างเช่นรัฐธรรมนูญจารีตในเรื่องที่ว่าด้วยการฉีกและเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เวลาฉีกรัฐธรรมนูญ คณะรัฐประหารจะสามารถฉีกด้วยตนเองได้ แต่เวลาร่างรัฐธรรมนูญ คณะรัฐประหารร่างด้วยตนเองได้ไหม ประกาศใช้ด้วยตนเองได้หรือไม่ คำตอบคือคณะรัฐประหารต้องกระทำการภายใต้พระปรมาภิไธย นี่เป็นรัฐธรรมนูญจารีตที่สืบเนื่องกันมาตั้งแต่ปี 2500 ถึง 2550 เป็นเวลาครึ่งทศวรรษที่ใช้กันมา เป็นที่รู้กันดีว่าเมื่อใดที่มีการรัฐประหาร รัฐธรรมนูญสามารถถูกฉีกและเขียนใหม่ได้ แต่ต้องทำภายใต้พระปรมาภิไธยอันนี้สำคัญมาก

ถ้าถามว่าทำไมข้อเสนอของนิติราษฎร์ ในเรื่องที่จะทำให้ผลของการรัฐประหารถูกยกเลิกไปจึงทำให้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะชนชั้นนำรู้สึกถูกกระทบ เนื่องจากข้อเสนอนี้กำลังสั่นกระเทือนรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีในเรื่องการรัฐประหาร กำลังจะทำให้จารีตประเพณีที่เรียกว่าการรัฐประหารมันเดินต่อไม่ได้ เพราะฉะนั้น ข้อเสนอนี้ถึงได้ถูกโต้ตอบอย่างรุนแรง หากสังเกตก็จะพบว่าถูกโต้ตอบจากคนที่อยากช่วยกันธำรงจารีตประเพณีนี้เอาไว้ ได้แก่ ทหาร กลุ่มชนชั้นนำต่างๆ 

ถ้าพิจารณาในแง่มุมดังกล่าว เราจะเข้าใจว่าข้อเสนอนี้ถูกมองว่าแรง แต่รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีไม่ได้หมายความว่าเป็นการเพิ่มอำนาจของกลุ่มที่เรียกว่ารัฐนิยม ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการเปิดช่องให้สังคมสร้างรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีบางอย่างได้ จนถึงวันนี้สิ่งที่น่าจะเป็นที่ยอมรับกันแล้วคือ การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับถาวรชนิดที่ทำกันเป็นการภายในทำโดยคนเพียง 3-4 คนนั้น ไม่อาจทำได้อีกต่อไป การเขียนรัฐธรรมนูญต้องมีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน ถ้าเรามองรัฐธรรมนูญแบบจารีตประเพณีในแง่นี้จะทำให้เห็นว่าอำนาจของสังคมเข้าไปกำกับรัฐธรรมนูญได้อย่างไร

เรื่องที่สาม เป็นเพดานความคิด เวลาเราอธิบายรัฐธรรมนูญ มักจะมีคำอธิบายในเชิงนิติสถาบัน หมายความว่ามีการอธิบายหลักการหรือโครงสร้าง ซึ่งเป็นแบบที่อารยประเทศอธิบายกัน อย่างเช่น เวลาประมุขของรัฐสาบานตน ก็ต้องสาบานว่าจะปกป้องรัฐธรรมนูญ หรืออธิบายว่าหน้าที่ของรัฐสภามีอะไร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารคืออะไร ในแง่หนึ่งเรามักจะอธิบายรัฐธรรมนูญในเชิงนิติสถาบัน นี่เป็นการอ้างอิงหลักการที่เป็นสากลแต่ถูกโต้ตอบอย่างมาก หลักการที่เป็นสากลเหล่านี้มักจะถูกโต้ตอบด้วยคุณลักษณะของ “ความเป็นไทย” หรือลักษณะเฉพาะบางอย่างที่เป็นไทย เช่น ประชาธิปไตยแบบไทยๆ คือ แม้อ้างหลักการสากล แต่เมื่อเผชิญหน้ากับความเป็นไทยมันต้องหยุด อันนี้น่ามหัศจรรย์ 

รัฐธรรมนูญสามฉบับของไทย

เรื่องที่สาม เป็นข้อมูลที่รู้กันทั่วไปว่า จาก พ.ศ. 2475 ถึง พ.ศ. 2555จะครบ 80 ปี เรามีรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับ เฉลี่ยแล้วรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับมีอายุ 4 ปี 4 เดือน เท่าๆ กับอายุของรัฐบาล ซึ่งเป็นที่น่ามหัศจรรย์อย่างมากว่าวาระของรัฐธรรมนูญเท่ากับวาระของรัฐบาล ในแง่นี้ถ้าใครเป็นนักเรียนกฎหมาย เมื่ออ่านรัฐธรรมนูญไทยก็ทำให้ต้องปวดหัวมาก เพราะมีมากถึง18 ฉบับ แต่ในทัศนะของผม เอาเข้าจริงรัฐธรรมนูญมีเพียง3 ฉบับคือแบบรัฐสภานิยม, แบบอำนาจนิยม และแบบกึ่งรัฐสภานิยมกึ่งอำมาตยาธิปไตย  

รัฐธรรมนูญแบบรัฐสภานิยมเป็นฉบับที่ใกล้เคียงกับอังกฤษ คือทำให้สภามีอำนาจสูงสุด และกันระบบราชการออกไป หมายความว่าสถานะการเมืองของระบบราชการถูกกันออกไป ส่วนพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง Out of Politic รัฐธรรมนูญให้ความสำคัญกับกติกาที่มาจากการเลือกตั้งเป็นหลัก เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นแบบรัฐสภานิยม ในเมืองไทยรัฐธรรมนูญปี 2475 เป็นตัวอย่างของรัฐธรรมนูญแบบรัฐสภานิยม

รัฐธรรมนูญแบบอำนาจนิยม เป็นระบบที่โครงสร้างทางการปกครองไม่สัมพันธ์กับประชาชน เช่น รัฐธรรมนูญที่มาหลังการรัฐประหาร มีสภานิติบัญญัติหรือไม่ ที่มามาจากไหน “สมัยก่อนเลือกเอา ช่วงหลังก็ให้พวกลื้อเลือกกันเอง แต่ก็ให้พวกอั๊วเลือกก่อน” อาจเป็นพัฒนาการที่ดีขึ้น แบบที่สอง ระบบราชการสามารถเข้ามาเกี่ยวพันกับอำนาจทางการเมืองได้

รัฐธรรมนูญแบบกึ่งรัฐสภานิยมกึ่งอำมาตยาธิปไตย แบบที่สามนี้คิดว่าเป็นแบบที่สังคมไทยเป็นอยู่ ในโลกปัจจุบัน กล่าวคือปฏิเสธการเลือกตั้งไม่ได้ ปฏิเสธรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้ ถึงจะรัฐประหารแต่ก็ต้องรีบกลับมาสู่การเลือกตั้ง ต้องรีบมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งภายในระยะเวลาไม่นาน แต่รัฐธรรมนูญแบบนี้จะเปิดโอกาสให้ระบบราชการสามารถเข้ามากำกับการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งได้ ในอดีตรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2521ฝ่ายบริหารสามารถตั้งสมาชิกวุฒิสภามาเป็นฐานค้ำตนเอง แต่ในปัจจุบันนี้มีนักการเมืองจากการเลือกตั้ง มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่มีองค์กรอิสระ มีศาลรัฐธรรมนูญ มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อมากำกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอีกที

สิ่งที่อธิบายมานี้หากถามว่ารัฐธรรมนูญแบบรัฐสภานิยมมีโอกาสเป็นไปได้หรือเปล่าในช่วงเวลานี้ ผมคิดว่ายังยาก แล้วฉบับอำนาจนิยมล่ะ ชอบมีนักข่าวมาถามผมว่าจะมีการรัฐประหารหรือเปล่า จะปฏิวัติไหม คือผมคิดว่าหากจะมีการรัฐประหาร แต่ทั้งหมดต้องกลับเข้าสู่ระบบการเลือกตั้งโดยมีรัฐธรรมนูญคุมอยู่ทั้งหมดในที่สุด 


สถานการณ์ที่เราเผชิญกันอยู่

ขณะนี้เราอยู่ในสถานการณ์แบบไหน มีบางคนพูดว่าเราอยู่ในคืนวันอันยาวนานของการขัดแย้งในสังคมไทย คือถ้านับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 มาจนปีนี้ 2555 เป็นเวลา6 ปี อีกไม่นานก็ครบ 10 ปีแห่งการรัฐประหารที่บางคนคิดว่าจะช่วยยุติปัญหาทางการเมืองไทยได้ ในแง่หนึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าการรัฐประหารไม่ใช่คำตอบของความขัดแย้งในสังคมไทย แต่อันนี้ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น การรัฐประหารอาจจะเกิดขึ้นได้ถ้ามีนายทหารโง่ ๆ 

สถานการณ์ปัจจุบันการเผชิญหน้ากันมีใจกลางความขัดแย้งอยู่ที่รัฐธรรมนูญฉบับกึ่งรัฐสภากึ่งอำมาตยาธิปไตย คือสิ่งที่สู้กันอยู่ ผมคิดว่ามันจะเป็นแบบเข้มกับแบบอ่อน ถ้าเป็นกึ่งรัฐสภากึ่งอำมาตยาธิปไตย แบบเข้ม คือมีการเลือกตั้ง มีพรรคการเมืองจากคะแนนเสียงประชาชน แต่ถูกกำกับด้วยกำลังของอำมาตยาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นทหาร องค์กรอิสระ องคนตรีวุฒิสภา ทำหน้าที่แต่ละด้านแตกต่างกันไป แบบเข้มคือปล่อยให้มีการเลือกตั้งได้มีรัฐบาลได้ แต่ยังมีการควบคุมอยู่ 

ในทรรศนะของผมเห็นว่าข้อเสนอหลาย ๆ เรื่อง คือความพยายามที่จะผลักดันให้เป็นระบบกึ่งรัฐสภากึ่งอำมาตยาธิปไตยแบบอ่อน คือหมายความว่าทำให้ระบบการเลือกตั้งมีอำนาจมากกว่าโดยสัมพัทธ์เมื่อเปรียบเทียบกับพลังของอำมาตยาธิปไตย ทิศทางจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร คนที่สนับสนุนรัฐธรรมนูญ 2550 อยากให้เป็นแบบเข้ม แต่คนอีกหลายคนอยากให้เป็นแบบอ่อน คือเพิ่มอำนาจให้สถาบันทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมากขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่านี่คือการเผชิญหน้ากันอยู่ โดยสิ่งที่เรียกว่าระบบรัฐสภากึ่งอำมาตยาธิปไตยแบบอ่อนนั้น เราเคยเห็นมาแล้วในปี 2517ปี 2540 แต่ถ้าเป็นปี 2550 ถือได้ว่าเป็นอำมาตยาธิปไตยแบบเข้มข้น 

สุดท้ายผมมีข้อพิจารณาสามถึงสี่เรื่อง เรื่องแรก รัฐธรรมนูญไทยอาจไม่ศักดิ์สิทธิ์ อาจจะถูกฉีกทิ้ง เราสามารถจะฉีก จะทิ้งก็ได้จะเปลี่ยนก็ได้ แต่รัฐธรรมนูญไทยสำคัญมากขึ้น หมายความว่ารัฐธรรมนูญเป็นตัวที่ให้ความชอบธรรมกับระบบการปกครองและสิทธิต่างๆ รัฐธรรมนูญเป็นตัวบอกว่าใครทำอะไรได้บ้าง มันอาจจะถูกฉีกเมื่อใครบางคนไม่เห็นด้วย แต่ว่ามันมีความสำคัญ การมีความสำคัญมากขึ้นทำให้มีคนโดดเข้ามาแย่งกันมากขึ้น นักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิ์ไปนั้นเป็นตัวอย่าง ผมคิดว่าการมีข้อโต้แย้งต่างๆ ในรัฐธรรมนูญจะมีมากขึ้น สิ่งที่ผมคิดว่าเราจะต้องขบคิดคือ การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญหรือประชาธิปไตยก็ตาม มันไม่อาจดำรงอยู่ได้โดยลำพัง ต้องอาศัยการคิด การรับรู้และปฏิบัติการทางสังคม เวลาเราพูดถึงรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย จะให้ความหมายแบบไหน จะสร้างความหมายแบบไหน มันขึ้นอยู่กับหลายเรื่องด้วยกัน 

สำหรับแนวคิดเรื่องการสร้างความรับรู้และปฏิบัติการทางสังคม พิจารณาตัวอย่างได้จากการมองประเทศข้างเคียง ไม่ว่าจะอินโดนีเซียหรือเกาหลีใต้ก็ตาม เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนโครงสร้างทางการปกครอง แล้วไม่ได้เป็นเพียงการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ แต่คือการทำให้คนในสังคมตระหนักถึงอำนาจที่มากขึ้น เช่น ในเกาหลีใต้มีการเคลื่อนไหวเพื่อให้ประชาชนตรวจสอบอำนาจรัฐมากขึ้น องค์กรที่จับตาคอรัปชั่นในเกาหลีใต้ เป็นองค์กรภาคประชาสังคม และมีผลเป็นอย่างมากที่ทำให้คอรัปชั่นในเกาหลีใต้ลดลง ในเมืองไทยเกิดอะไรขึ้น เวลาต้องการลดปัญหาคอรัปชั่นก็ไปฝากความหวังไว้กับองค์กรอิสระ แล้วอะไรเกิดขึ้น อัตราคอรัปชั่นในประเทศไทยดีขึ้นหรือเลวลง เห็นได้ชัดว่าเลวลง สิ่งที่เกาหลีใต้ทำคือทำให้สังคมใหญ่ขึ้น ส่วนในอินโดนีเซีย หลังจากที่เผด็จการทหารลงจากอำนาจ มีการเคลื่อนไหวและวางแผนว่าจะเอาทหารออกจากการเมืองอย่างไร ค่อยๆ ไล่ทีละขั้นตอน ทหารต้องออกจากบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ทหารมีตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้ กองทัพต้องเล็กลง เป็นขั้นเป็นตอน ค่อยๆ ทำให้เกิดขึ้น ในที่สุดกองทัพก็เล็กลง แต่ในเมืองไทย น่าเสียดาย ในเมืองไทยเคยมีโอกาสหลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 ในแง่หนึ่งเป็นการปะทะกันระหว่างฝ่ายรัฐสภากับฝ่ายทหาร และจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของทหาร แต่สิ่งที่เราเขียนในรัฐธรรมนูญเพียงแค่ว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง คือไม่เอาทหารมาเป็นนายกฯ แต่ไม่มีการคิดถึงมิติอื่นที่ส่งเสริมประชาธิปไตย เช่น จะทำอย่างไรให้ทหารเข้ามาอยู่ใต้อำนาจของสังคมมากขึ้น ทำอย่างไรให้กองทัพไม่เป็นอิสระมาก

จากพฤษภาคม 2535 ปีนี้ 20ปีผ่านมา เราได้เห็นกองทัพเข้ามามีบทบาททางการเมืองในระดับที่ไม่แตกต่างกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว อันนี้สำคัญเมื่อพูดถึงรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย ก็ต้องคิดถึงอะไรต่อมิอะไรมากขึ้น โดยเฉพาะการทำให้สังคมมีอำนาจเพิ่มมากขึ้น ในทางการเมืองทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ อย่าฝากความหวังเรื่องการตรวจสอบไว้แต่เพียงองค์กรที่เป็นทางการเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะพรรคการเมือง องค์กรอิสระหรืออะไรก็ตาม การจัดตั้งองค์กรของคนในสังคมมีความสำคัญเป็นอย่างมาก 

สถานการณ์เฉพาะหน้าที่เราเผชิญอยู่ ไม่ได้เผชิญหน้ากับการช่วงชิงด้วยอาวุธหรือจำนวนมือแต่เพียงอย่างเดียว เราอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนความคิดความเข้าใจ ซึ่งการรับรู้ต่างๆ เหล่านี้ในแง่หนึ่งต้องมีการรับรู้ทางสังคม การผลักดันไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” หรือการผลักดันไปสู่รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่าความรู้ความเข้าใจ เป็นการปรับเปลี่ยนทางสังคม เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าไม่มีสงครามครั้งสุดท้ายหมายความว่าไม่มีอะไรที่จะเปลี่ยนแปลงได้ในชั่วข้ามคืน เราต้องทำอะไรอีกหลาย ๆ อย่าง


Latest Story

ไปให้พ้นจากการจ้องจับผิด: การเมืองของการเสพติด สู่ปัญหา “ปีศาจนักสูบ” แห่งมช.

ทำไมคนเราถึงสูบบุหรี่ ?…. ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน.. ที่แน่ ๆ คนสูบบุหรี่คงโดนถามคำถามนี้บ่อยครั้ง แต่อันที่จริงใครสักคนจะสูบบุหรี่เพราะอะไรก็คงจะมีแรงจูงใจหลายอย่างตามอัตวิสัยของแต่ละคน บางคนอาจจะชอบประสบการณ์เวลาตัวเองสูบ สูบเพื่อผ่อนคลาย เสริมสร้างจินตนาการบางห้วงขณะ หรือมันอาจจะไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลอะไรก็ได้ ก็แค่อยากสูบ อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนอยากชวนให้ทุกคนลองพิจารณาดูก็คือ เรื่อง “ภาพจำของคนสูบบุหรี่ในสังคม” คุณคิดว่าสังคมไทย ๆ มีภาพจำกับคนสูบบุหรี่แบบไหน ?