กฎหมายรัฐธรรมนูญกับประชาธิปไตยไทย
โดย วรเจตน์ ภาคีรัตน์
คำอภิปรายใน เวทีสาธารณะ ซึ่งจัดโดย Book Re:public ร่วมกับภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่10 มีนาคม 2555 ณ ห้องประชุมชั้น 2คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีวิทยากรประกอบไปด้วย รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์,รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล,รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ และมีผศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย
สวัสดีครับทุกท่าน เรื่องที่พูดกันในวันนี้คือเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญกับประชาธิปไตยไทย เป็นเรื่องที่พูดกันได้มากมายหลายมิติ หลายแง่มุม ในส่วนของผม คิดว่าอยากจะพูดถึงเรื่องทั่ว ๆ ไป เรื่องรัฐธรรมนูญกับประชาธิปไตย และเรื่องรัฐธรรมนูญกับเอกลักษณ์ไทย ความจริงเรามีคำพูดว่า “แบบไทย” นี่เยอะเหมือนกัน ผมมีความรู้สึกเสมอว่าคำว่า “แบบไทย” ถ้าเอาไปต่อท้ายคำใด มันมักจะปฏิเสธสิ่งที่อยู่ข้างหน้าอยู่เสมอ อาทิเช่น “ประชาธิปไตยแบบไทย” มันคือไม่ใช่ประชาธิปไตย “ความยุติธรรมแบบไทย” มันคือไม่ใช่ความยุติธรรม สมมุติถ้าท่านต้องการปฏิเสธอะไรให้เอา “แบบไทย” ไปใส่ มันคือการปฏิเสธสิ่งนั้น
ถ้าจะพูดถึงรัฐธรรมนูญกับประชาธิปไตยอาจจะต้องมีเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันก่อนในเบื้องแรก คือหลายคนเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญเท่ากับประชาธิปไตย ความจริงรัฐธรรมนูญกับประชาธิปไตยมันไม่เท่ากัน รัฐธรรมนูญเป็นเพียงกติกาพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันในสังคมที่สมมติกันขึ้นมา และถูกจารึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมกับสมมติให้เป็นกฎหมายสูงสุด เพื่อทำให้กฎหมายอื่นๆ ต้องอนุวรรตตามหรือกฎหมายอื่นๆขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่สิ่งที่เขียนในรัฐธรรมนูญนั้นอาจจะไม่ใช่ประชาธิปไตยก็ได้ รัฐธรรมนูญจะเป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการก็ได้ ดังนั้นรัฐธรรมนูญกับประชาธิปไตยจึงไม่เหมือนกัน ไม่หลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกันเสียทีเดียว รัฐธรรมนูญจึงเป็นชื่อเรียกกฎหมายชนิดหนึ่งเท่านั้น
ประเด็นต่อมาคือลองมาดูรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยและไม่เป็นประชาธิปไตย จากพัฒนาการทางการเมืองการปกครองบ้านเราหลายสิบปี ปัญหาสำคัญที่สุดคือ ในประเทศนี้ใครเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ผมคิดว่านี่คือปัญหาใจกลางของการเมืองการปกครองไทย หมายถึงคนที่กุมอำนาจสูงสุดของประเทศคือใคร ท่าน[1]ก็บอกว่าไม่เห็นจะแปลกเลยในรัฐธรรมนูญก็บอกไว้ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย มันก็ชัดแล้วว่าประเทศนี้รัฏฐาธิปัตย์ก็คือปวงชนชาวไทย แต่ถ้าท่านดูทั้งหมด ความเป็นมาเป็นไป ดูคำอธิบายหลายๆ อย่าง ท่านอาจไม่แน่ใจแล้วว่าใครเป็นรัฏฐาธิปัตย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับที่สอง มีข้อความแสดงถึงคนที่เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แล้วตามมาด้วยพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนั้นผ่านรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล คำอธิบายก็บอกว่าอำนาจเป็นของปวงชน แต่พระมหากษัตริย์เป็นคนใช้ นี่แหละคือปัญหา
[1]หมายถึงผู้ฟัง (กอง บก.)
ผมพยายามดูตัวอย่างในหลายประเทศซึ่งปกครองระบบประชาธิปไตย แล้วเป็นราชอาณาจักร คือเป็นรัฐที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พยายามค้นหาวิธีการเขียนที่แสดงถึงคนที่เป็นรัฏฐาธิปัตย์ หรือคนที่มีอำนาจอธิปไตยในประเทศเขา ผมพบว่ามันมีแนวทางการเขียนหรือร่างรัฐธรรมนูญคล้ายๆ กันอยู่อย่างนี้ คือในรัฐธรรมนูญจะบอกว่าอำนาจสูงสุดเป็นของใคร แล้วก็บอกต่อไปว่าวิธีการใช้อำนาจเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ ไม่บอกว่าใครเป็นคนใช้อำนาจ แต่จะบอกว่าอำนาจสูงสุดของประเทศ หรืออำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน หรือมาจากประชาชน และบอกต่อไปว่าวิธีการในการใช้อำนาจดังกล่าวให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ อย่างนี้จะไม่มีปัญหาเถียงกันว่าใครเป็นรัฏฐาธิปัตย์
มีคนถามว่าปัญหานี้มันสำคัญอย่างไร คือเมื่อมีคนฉีกรัฐธรรมนูญ บ้านเรามีคำอธิบายอันหนึ่งซึ่งแพร่หลายมากๆ ในวงการกฎหมายมหาชน เวลาที่คณะทหารเข้ายึดอำนาจการปกครองแล้วประกาศให้รัฐธรรมนูญเป็นอันสิ้นสุดลง เขาอธิบายว่าอำนาจทั้งหมดนั้นกลับคืนสู่พระมหากษัตริย์ในเวลานั้น ถามว่าทำไมถึงกลับไปสู่พระมหากษัตริย์ นักวิชาการก็อธิบายว่าเพราะอำนาจนี้ถูกพระราชทานมาเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475พระราชทานอำนาจที่เดิมเป็นของพระองค์ให้กับประชาชน เพราะฉะนั้นเมื่อมีการฉีกรัฐธรรมนูญแล้ว อำนาจก็กลับคืนสู่พระมหากษัตริย์ คำอธิบายอันนี้สอดรับกับแนวทางจารีตหลังรัฐประหาร คือว่าทุกครั้งที่มีการรัฐประหารและเขียนรัฐธรรมนูญ จะไม่ได้มีการกล่าวอ้างถึงพระมหากษัตริย์เอาไว้ในประกาศของคณะรัฐประหาร ส่วนใหญ่จะเขียนเฉยๆ ให้คณะองคมนตรีดำรงอยู่และทำหน้าที่ต่อไป ให้ศาลทำหน้าที่ต่อไป ให้รัฐสภาสิ้นสุดลง ให้รัฐมนตรีสิ้นสุดลง ประมาณนี้ แต่ไม่กล่าวอ้างถึงองค์พระมหากษัตริย์เลย หากถามว่าสมเหตุสมผลไหมกับคำอธิบายแบบนี้ เวลาที่เราอธิบายแบบนี้ผมคิดว่ามันเป็นปัญหามาก เพราะทุกครั้งที่เกิดการรัฐประหาร อำนาจกลับคืนสู่องค์พระมหากษัตริย์ เท่ากับว่าเรายอมรับว่าในความเป็นจริงแล้วอำนาจอันนี้เป็นของพระมหากษัตริย์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการที่จริงๆ ปรากกฎอยู่ในรัฐธรรมนูญ ความเข้าใจเรื่องนี้เกิดขึ้นกับคนในวงกว้าง คำอธิบายทางวิชาการแบบนี้ก็อาจจะสอดรับกับความรู้สึกนึกคิดของประชาชนจำนวนไม่น้อย
แต่ในทางประชาธิปไตยอำนาจสูงสุดของประเทศจริงๆ ก็เป็นของประชาชนทุกคน เป็นมาตั้งแต่ดั้งเดิม เป็นมาตั้งแต่โบราณกาล เพียงแต่ในบางช่วง บางยุคสมัยเกิดการปกครองที่สมมติให้บุคคลเป็นใหญ่ และให้ใช้อำนาจนั้นปกครองให้เกิดความสงบ ถ้าเราเข้าใจพื้นฐานตรงนี้ ปัญหาทุกอย่างก็จะจบ ปัญหา 2475 ที่คณะราษฎรชิงสุกก่อนห่าม ที่ไปชิงเอาอำนาจที่เป็นของพระมหากษัตริย์มา ไปปล้นอำนาจของพระองค์มาก็จะไม่เกิด เพราะสิ่งที่คณะราษฎรได้ทำก็คือสิ่งที่เป็นแบบเดิม คือการนำเอาอำนาจกลับสู่คนซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริง ในเรื่องนี้มันเป็นเหมือนกับที่นิติราษฎร์เสนอให้ล้มล้างผลพวงของการรัฐประหาร กล่าวคือ เมื่อมีการรัฐประหารแล้วอำนาจของเจ้าของอำนาจจริงๆ ถูกชิงไป แต่เขายังเป็นเจ้าของอยู่ตลอดเวลา ถามว่าท่านถูกลักทรัพย์ไปอยู่ในครอบครองของคนอื่น ถามว่าท่านเป็นเจ้าของทรัพย์อยู่ไหม แล้ววันหนึ่งทรัพย์มันกลับคืนมาหาเจ้าของ แล้วเจ้าของเป็นคนตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับทรัพย์นั้น
ถามว่าผมมีข้อพิสูจน์ไหมว่าความเข้าใจเรื่องใครเป็นรัฏฐาธิปัตย์ มันไม่ลงตัว แม้หลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถ้าท่านไปดูในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทย ก่อนที่รัชกาลที่ 7 จะทรงสละราชสมบัติ มีความขัดแย้งระหว่างคณะราษฎร์กับในหลวงรัชกาลที่ 7 โดยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในระหว่างที่พระองค์ทรงรักษาพระเนตรอยู่ที่อังกฤษ จริงๆ ก่อนที่จะเดินทางไปรักษาพระเนตร ก็มีความขัดแย้งในสภาเกี่ยวกับการออกกฎหมาย แล้วพระองค์ไม่ทรงเห็นด้วยก็ใช้พระราชอำนาจวีโต้กฎหมาย แต่สภาก็ยืนยัน นายกรัฐมนตรีก็เอากฎหมายนี้ไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยที่ไม่มีพระปรมาภิไธยของพระองค์ ตอนที่ไปรักษาพระเนตร พระองค์ก็มีข้อเรียกร้องบางประการ คืออยากให้มีการปรับปรุงรัฐธรรมนูญฉบับถาวรปี 2475ให้ดีขึ้นในมุมมองของพระองค์ ข้อเรียกร้องประการหนึ่งของพระองค์ที่เรียกร้องมายังผู้ปกครองประเทศในขณะนั้น คือการขอร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ในทำนองที่ว่าต่อไปนี้ถ้าหากพระมหากษัตริย์ไม่เห็นชอบด้วยกับกฎหมายที่ผ่านรัฐสภามาแล้ว หมายถึงพระองค์ใช้อำนาจวีโต้กฎหมายนั้น แล้วให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นอันสิ้นสุดลง และให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ อันนี้คือสิ่งที่เป็นพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 7ในขณะนั้น แล้วก็เป็นที่ทราบทั่วกัน มีการบันทึกไว้ในรายงานการประชุมว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วย พระยาพหลพลพยุหเสนาถึงขนาดมีการอภิปรายไว้ว่า ถ้าเกิดแก้แบบนี้ ก็เท่ากับว่าไม่เป็นประชาธิปไตย สุดท้ายเรื่องนี้ก็ไม่มีการแก้ และก็มีการบันทึกรายงานการประชุมครั้งนี้เอาไว้ ส.ส.ก็อภิปรายตรงไปตรงมาในสภาฯ ซึ่งได้ส่งไปให้ในหลวงทอดพระเนตรถึงที่อังกฤษ และเข้าใจว่าคงเป็นหนึ่งในหลายเหตุความขัดแย้งที่ทำให้ทรงสละราชสมบัติ จะเห็นได้ว่าเกิดความเข้าในว่าใครเป็นรัฏฐาธิปัตย์ที่ไม่ตรงกัน ถ้าเราบอกว่าเราเป็นประชาธิปไตยก็ต้องเข้าใจว่า รัฏฐาธิปัตย์คือประชาชนนั่นเอง ถ้าเกิดเข้าใจตรงนี้แล้วการอธิบายเรื่องการรัฐประหาร ยึดอำนาจนั้นก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง
ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของประชาธิปไตยในประเทศไทย คือในช่วงหลังนี้ มีประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานในทางประชาธิปไตย เราสังเกตเห็นได้ว่าประชาธิปไตยไม่ใช่เป็นของเสียงข้างมากอีกต่อไป แต่จะกลับไปเน้นในอีกทิศทางหนึ่งคือเคารพเสียงข้างน้อย พอเน้นอย่างนี้เสียงข้างมากจึงถูกละเลยและลดความสำคัญลง เพราะฉะนั้นที่อาจารย์สมชายกล่าวถึงมวลชนสีแดงและสีเหลือง ซึ่งต่างอ้างเรื่องประชาธิปไตยในการเคลื่อนไหว มันเป็นไปไม่ได้ที่ประชาธิปไตยจะอธิบายเป็นสองทาง มันต้องเป็นความหมายสากล ซึ่งหลักการประชาธิปไตยสากลนี้อธิบายโดยมีใจความว่า ในการอยู่ร่วมกันมันเป็นไปไม่ได้ที่การตัดสินใจเรื่องราวทุกเรื่องเป็นเอกฉันท์ เมื่อไรก็ตามที่กำหนดว่าต้องการเสียงเอกฉันท์ นั่นคือคุณต้องการให้เสียงข้างน้อยเอาชนะข้างมาก เพราะแค่ข้างน้อยมีคนเดียวที่ไม่เห็นด้วย ก็ไม่ถือว่าเอกฉันท์แล้ว ซึ่งคำอธิบายนี้เป็นหลักการประชาธิปไตยธรรมดา เป็นธรรมชาติ แต่รัฐธรรมนูญจะมีหน้าที่กำหนดขอบเขตของเสียงข้างมากไว้ว่าจะไปถึงจุดไหนที่จะต้องเคารพเสียงข้างน้อย เสียงข้างมากจะเดินเลยจุดนั้นไม่ได้ เพราะถ้าเดินต่อไปจะเป็นการทำลายและรังแกเสียงข้างน้อยแทน แต่หลักคือว่าประชาธิปไตยที่อนุวรรตไปตามเสียงข้างมากไม่ใช่ของผิด แต่เป็นของธรรมดา แต่เสียงข้างมากก็อาจผิดพลาดได้ วิธีการเปิดอภิปรายให้พูดกัน ให้เหตุผลกัน เราจะเชื่อได้ว่าทุกเรื่องจะสามารถคุยกันได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลบนพื้นที่สาธารณะ จะทำให้คนได้รับรู้และไตร่ตรอง วันหนึ่งเสียงข้างน้อยก็อาจกลับมาเป็นเสียงข้างมากได้ กลับไปกลับมากันอยู่อย่างนี้ นี่คือการทำงาน (Function)ของประชาธิปไตยอีกปัญหาหนึ่งคือรัฐธรรมนูญที่เป็นจารีตประเพณีในบ้านเมืองเรา อาจารย์สมชายได้ตั้งประเด็นที่น่าสนใจว่า เรามีรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีในลักษณะที่ว่าเมื่อเกิดรัฐประหารแล้ว ทหารจะไม่ร่างรัฐธรรมนูญเอง จะมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญต่างๆ มาร่าง ในช่วงหลังรัฐธรรมนูญที่ได้รับการยกร่างขึ้นนั้นนั้นก็จะมีการให้ออกเสียงประชามติ เป็นรูปแบบ “รัฐธรรมนูญแบบไทยๆ” หลายคนอาจจะมองว่านี่คือรัฐธรรมนูญที่เป็นจริง แต่ปัญหาหนึ่งที่ต้องวิเคราะห์วิจารณ์ คือตกลงว่าหลักการพื้นฐานของสิ่งเหล่านี้ถูกต้องไหม การที่เรายอมรับเรื่องนี้ถูกหรือเปล่า หรือจริงๆ แล้วเป็นแบบจารีตประเพณีที่ทำให้คนส่วนใหญ่สำนึกว่าถูกต้อง ถูกทำให้คุ้นชิน เพราะมันเกิดหลายครั้งจนชินชา แต่ไม่มีใครตั้งคำถามว่ามันถูกหรือเปล่า และไม่สามารถทำลายความคุ้นชิน ดังนั้น เมื่อมีการเสนอเพื่อทำลายความคุ้นชินนี้จึงเป็นเรื่องที่ใหญ่มากๆ แต่เรื่องใหญ่นี้คือความสำคัญในการวางพื้นฐานของพัฒนาการประชาธิปไตยของไทย เพราะถ้าเราไม่สามารถทำลายความคุ้นชินนี้ได้ เราก็ไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยขึ้นมาได้ และแสดงให้เห็นว่า แท้จริงแล้วรัฐธรรมนูญที่ถูกสร้างขึ้นมาก่อนหน้านี้ ก็ไม่ได้ถูกทำให้มีความหมาย คุณค่า ความสำคัญอย่างเพียงพอในสังคมประชาธิปไตย
ในประเด็นรัฐประหาร ในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว (2475) ระบุไว้เลยว่าพระองค์ใดคือพระมหากษัตริย์ คือระบุพระนามพระมหากษัตริย์ไว้ในรัฐธรรมนูญ พระราชอำนาจ สถานะพระมหากษัตริย์ถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญ คำถามคือเมื่อคุณฉีกรัฐธรรมนูญไปแล้ว ตำแหน่งพระมหากษัตริย์อยู่ตรงไหน เพราะโดยสถานะ พระมหากษัตริย์เกิดขึ้นและดำรงอยู่จากตัวรัฐธรรมนูญ รวมทั้งรัฐธรรมนูญเป็นตัวกำหนดคุณสมบัติพระมหากษัตริย์ในหลายเรื่อง เช่น พระมหากษัตริย์เป็นพุทธมามกะและอัครศาสนูปถัมภก หากขาดคุณสมบัตินี้ก็จะขัดกับรัฐธรรมนูญ ต้องพ้นจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ฉะนั้นในเวลาที่รัฐธรรมนูญถูกฉีกไปแล้ว ตำแหน่งพระมหากษัตริย์อยู่ตรงไหน ผู้ที่ทำรัฐประหารนั้นคิดถึงประเด็นเหล่านี้หรือไม่
การพูดอะไรนั้น เราถูกทำให้พูดได้ถึงเพียงสิ่งที่เพดานกำหนด ฉะนั้นในบ้านเมืองของเราก็มีเพดาน เป็นเพดานในเชิงการแสดงออกไม่ใช่เพดานความคิด เวลาที่ผมไปต่างประเทศ มีคนถามว่าการทำงานของนักกฎหมายมหาชนเป็นอย่างไร ผมก็บอกว่าก็ทำไปตามข้อกำจัดที่มีอยู่ในสังคมเรา เพราฉะนั้นคำอธิบายบางอย่างมันจึงไปถึงจุดหนึ่งและยากที่ดำเนินต่อไปได้ แต่การอธิบายนี้คงพอทำให้เห็นภาพว่าปัญหารัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยอยู่ตรงไหน
ข้อโต้แย้งหนึ่งที่เกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตยคือประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ไทย ซึ่งหากอธิบายตามหัวข้อ ประชาธิปไตยแบบไทย (Thai Style Democracy) หรือประชาธิปไตยในไทย (Democracy in Thailand) สองอันนี้ไม่เหมือนกัน เพราะถ้าเป็นประชาธิปไตยแบบไทยมันกระทบกับตัวเนื้อหา มีอัตลักษณ์เฉพาะแบบ หาไม่ได้ที่อื่น มีที่นี่ที่เดียว แต่หากพูดกลางๆ ว่าประชาธิปไตยในไทยก็จะวิพากษ์วิจารณ์ประชาธิปไตยตามเกณฑ์และหลักสากล ว่าเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตย
คำอธิบายเรื่อง อัตลักษณ์ไทย ความเป็นไทย ดูเหมือนจะมีพลังมากในสังคมไทย นี่คือสูตรสำเร็จของข้อโต้แย้ง (Argument)หลายประการในทางกฎหมาย รัฐศาสตร์ และสังคมวิชาการ คือเมื่อวิจารณ์หรืออธิบายไปจนสุดทางแล้วด้วยตรรกะและวิชาการ ถ้าฝ่ายหนึ่งที่ไม่สามารถอธิบายตามตรรกะต่อไปได้ ดาบสุดท้ายที่จะใช้คือการอธิบายว่าเป็น “แบบไทย” เพราะเมื่อฟังดูแล้ว ใครๆ ก็เคลิ้มไปเหมือนกันว่าประเทศไทยมีประวัติเป็นมา มีความพิเศษ ไม่เหมือนใคร พวกหัวนอกไม่รู้เรื่องของไทย นี่คือคำอธิบายเพื่อทำลายเหตุผลต่างๆ
แต่เมื่อลองแยกดูเรื่องอัตลักษณ์ไทยทั้งสองส่วน อันหนึ่งคือส่วนที่เราสัมผัสได้ทางกายภาพ เช่นอาหาร เสื้อผ้า เครื่องแต่งกายของไทย แม้เอาเข้าจริงคือการผสมผสานทางวัฒนธรรมหลายรูปแบบ สิ่งสัมผัสทางกายภาพเหล่านี้ เรายอมรับว่ามันมีอยู่จริง แต่หากเป็นเรื่องคุณค่าความคิด ผมคิดว่าเมื่อใดที่เราเอา “แบบไทย” มาอธิบายจะเป็นปัญหา เพราะเท่ากับว่าเราเป็นหนึ่งเดียวในโลก ไม่มีลักษณะร่วมกันกับใครเขาเลยในโลกนี้ พูดง่ายๆ คือคุณเป็นคนไทย หรือคนแบบไทย เท่ากับคุณไม่เป็นคน มนุษย์แบบไทยคือไม่ใช่มนุษย์ เรากำลังจะปฏิเสธความเหมือน แต่จริงๆ มันไม่ใช่ มันมีแกนบางอย่างที่ร่วมกันเป็นสากลอยู่
การจัดรูปแบบการปกครองก็เช่นกัน ท้ายที่สุดต้องมีคุณค่าบางอย่างอยู่ คุณค่านี้มันไม่สำคัญว่ามันกำเนิดที่ไหน ใครเป็นคนคิดขึ้นมา แต่ว่าพอมันเกิดแล้ว ถูกค้นพบแล้ว มันกลายเป็นคุณค่าสากลสามารถเข้ากันได้กับทุกชาติทุกภาษา การตระหนักรู้ของมนุษย์ในเรื่องการมีศักดิ์ศรีและอิสระไม่เป็นทาสใคร เป็นนายของตนเอง ความตระหนักรู้นี้ค่อนข้างสากลพอสมควร หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยคือการเคารพความเป็นมนุษย์ การยอมรับว่าทุกคนเป็นคนเหมือนกัน หากปฏิเสธเมื่อไร เราจะกลายเป็นมนุษย์ต่างดาวทันที ไม่ใช่มนุษย์โลกนี้ ฉะนั้นการใช้คำอธิบาย “แบบไทย” ไปอธิบายคุณค่าบางอย่างที่เป็นสากลอยู่ จึงเป็นสิ่งที่ผิด เช่น การอธิบายว่าคนไทยยังโง่อยู่ ยังใช้ระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ ถ้าเราฟังดูแล้วก็เหมือนว่าคนจำนวนหนึ่งยังไม่ได้รับการศึกษาเท่าที่ควร นักศึกษาที่เรียนจบแล้วจะไม่ยอมให้คะแนนเสียงหนึ่งของตนเท่ากับชาวบ้านที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยบางท่านรับไม่ได้ที่หนึ่งคะแนนเสียงของตนเท่ากับคนขับแท็กซี่ เพราะเขาเรียนหนังสือมาเยอะขนาดนี้ จบปริญญาเอกมาขนาดนี้ มันเท่ากับคนขับแท็กซี่ไม่ได้ ความสามารถในการตัดสินใจมันไม่เหมือนกัน แต่การเรียนหนังสือหรือความเชี่ยวชาญทางวิชาการคือการฝึกปรือ เป็นทักษะหนึ่งของคนแต่ละคนที่จะเลือกไป ก็เหมือนกับการปลูกข้าว เหมือนกับการขับแท็กซี่ มันมีแก่นคนละอย่าง เวลาที่คนอยู่ร่วมกันทางการเมือง ระดับการศึกษาไม่ได้เป็นส่วนวัดความชาญฉลาดในการตัดสินใจทางการเมืองเลย เพราะในระบอบประชาธิปไตยใส่ใจอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์ที่แต่ละคนประสบอยู่ต่อหน้า ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ เป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตย เพราะการอยู่ร่วมในสังคม คือการกระจายประโยชน์ต่างๆ และเข้าไปมีโอกาสในการต่อรองประโยชน์ นี่คือการทำงาน (function)ของประชาธิปไตย ในขณะเดียวกันก็ไม่ปล่อยให้เสียงข้างมากทำอะไรได้ทั้งหมด ก็ต้องมีขอบเขต กติกาพื้นฐานที่ยอมรับร่วมกันจำกัดไว้ ฉะนั้นเวลาพูดถึงรัฐธรรมนูญกับอัตลักษณ์ไทยสุดท้ายจึงไปด้วยกันไม่ได้
สังคมไทยมีการขยับไปบ้างในช่วงหลายสิบปี คิดว่าในช่วงนั้นมีความต่อเนื่องในการทำลายรัฐธรรมนูญและรัฐประหารเป็นระยะๆ และต้นทุนในการทำรัฐประหารเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ รัฐประหารครั้งล่าสุดปี 2549 ใช้ต้นทุนไปมาก ยังประเมินไม่ได้ว่าสุดท้ายมันหมดไปแล้วไหม มันต่างกับการรัฐประหารสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2500 คือ รัฐประหารในครั้งนั้นยึดอำนาจโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และเราอยู่ในระบอบสฤษดิ์ ส่วนรัฐธรรมนูญใช้เวลาร่าง 9-10 ปี ถูกประกาศใช้ในปี 2511 สมัยนั้นการรัฐประหาร ใช้ทหารใช้ปืนเพียงพอแล้ว แต่ครั้งล่าสุด ทหาร ปืน รถถัง ไม่พอ กลไกที่รับช่วงต่อได้คือกฎหมาย มันจึงเกิดการขัดขืนทางกฎหมายตามมาหลังรัฐประหารครั้งนี้มากที่สุด บ่งชี้ว่าต้นทุนในการรัฐประหารสูงขึ้น และมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป
สาเหตุอาจจะมาจากความเปลี่ยนแปลงทางความคิดทางการเมือง ความตื่นตัวทางการเมืองในช่วงสิบปีมานี้ของประชาชน และหลัง 2540 มา สำนึกทางการเมือง ความรู้สึกนึกคิดของคนเปลี่ยนไปอย่างมหาศาล ผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งยืนยันผลการเลือกตั้งในปี 2544,2548, 2550 และ 2554 การเลือกตั้งนี้ยืนยันเจตจำนงของคนส่วนใหญ่ที่ไปออกเสียง รัฐประหารและกลไกของรัฐไม่สามารถทำลายเจตจำนงของประชาชนส่วนใหญ่ได้เลย สิ่งที่ฝ่ายรัฐประหารได้ประโยชน์ไปคือการออกเสียงประชามติ รับรองรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่มันอธิบายเจตจำนงของคนไม่ได้ เพราะการออกเสียงประชามตินั้น หลายคนไม่มีทางเลือก ประชาชนส่วนใหญ่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะต้องการให้กลับสู่ระบบเลือกตั้ง เพราะเขาไม่รู้ว่าการไม่ยอมรับจะต้องไปเจอกับอะไรบ้าง เมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว พวกเขาก็จะได้ยืนยันเจตจำนงที่แท้จริงของพวกเขาได้อีกครั้ง พอประชามติผ่านบทบาทกลับไปตกอยู่กับฝ่ายที่บังคับใช้กฎหมายทั้งหมด ผลคือกฎหมายมีความเสื่อมโทรม และเสื่อมลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในวงการกฎหมาย อะไรที่คนไม่รู้ก็รู้ ไม่เคยเห็นก็เห็น อะไรไม่เคยตั้งคำถามก็ถูกตั้งคำถามหมด สิ่งที่ถูกปิดเอาไว้ก่อนปี 2549 ถูกเปิดออกมา นี่คือส่วนที่เสียไปอย่างรุนแรง ถึงขนาดที่หัวหน้าคณะรัฐประหารต้องลงสมัครส.ส. และเป็นที่นั่งเดียวในสภา และก็เปลี่ยนมานั่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการปรองดองแห่งชาติ ปรองดองกับผลที่ตนเองทำไปในปี 2549
ถ้ามองในแง่ดี คือเรื่องนี้เป็นพัฒนาการประชาธิปไตยของไทย แม้เกิดรัฐประหารมันก็ไม่สะดุดเลย เพราะจะเห็นว่าหลังรัฐประหาร 2549 มา พัฒนาการนั้นพุ่งทะยานเป็นแรงบวก ซึ่งแน่นอนมันเกิดขึ้นกลายเป็นความขัดแย้งตอนนี้ อย่าลืมว่าก่อนเกิดรัฐประหาร 2549 นี้มันใช้ระยะเวลามาก สั่งสมความคุ้นชินเป็นเวลานานมาก เมื่อเกิดความคิดใหม่เข้ามาปะทะกับรากฐานทางความคิดเดิม มันจึงเกิดการปะทะกันอย่างแตกแขนงในทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะระดับครอบครัว ที่ทำงาน มหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ใช่เรื่องประหลาด ความขัดแย้งจะเป็นอย่างนี้ต่อไป จนกว่าความคุ้นชินจะถูกทำลายลงในที่สุด
อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญไม่ใช่ยาวิเศษที่จะให้ประชาธิปไตยบังเกิดขึ้น ดังที่อาจารย์สมชายพูดไว้ตอนต้น ว่าประชาธิปไตยเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในสังคม และตอนนี้กำลังเกิดขึ้นซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ภูมิทัศน์ในทางการเมืองจะค่อยๆ เปลี่ยน จากการที่ประชาชนตื่นตัวและมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่เราละเลยรัฐธรรมนูญไม่ได้ กล่าวคือแม้ว่าประชาชนตื่นตัวแค่ไหน รวมกันแค่ไหน ต้องการขนาดไหน ถ้าหากปราศจากตัวรัฐธรรมนูญที่เป็นตัวผลัก เป็นตัวกรอง เป็นตัวจำกัดอำนาจ เป็นตัวส่งเสริมการต่อรองอย่างเป็นธรรม มันก็ไปไม่ได้ สองสิ่งนี้จะต้องเอื้อกัน คือตัวกติกาพื้นฐานที่เป็นคุณค่า กับปฏิสัมพันธ์หรือพลังในทางสังคมของกลุ่มต่างๆ ที่เคลื่อนไหวไป ถ้าตัวกฎเกณฑ์มีหลักที่ดี และมีพลังเหล่านี้อยู่ ประชาธิปไตยก็จะไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว
แต่ประวัติศาสตร์การเมืองของโลกเรา มักจะสอนอยู่เสมอว่าทั้งสองสิ่งนี้มักจะสวนกัน หมายความว่าตัวรัฐธรรมนูญหรือตัวกติกาอำนาจการปกครองจะถูกรั้งไว้ส่วนหนึ่ง และประชาชนจะนำพาอีกส่วนหนึ่ง เช่น ในเยอรมัน ประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญของเขา ตอนที่ยังไม่รวมชาติ เป็นแว่นแคว้นต่างๆ รวมเป็นสมาพันธรัฐเยอรมันปี 1816 แบบหลวมๆ เหมือนกับล้านนา ล้านช้าง ภาคใต้ ภาคกลาง เป็นรัฐแต่ละรัฐ และรวมกันเป็นสมาพันธ์ แต่ละรัฐมีอิสระในการปกครอง แต่รวมกันเพื่อทำนโยบายบางอย่างเพื่อประโยชน์ร่วมกัน[2]
[2]แต่ปัจจุบันการรวมกันของรัฐแต่ละรัฐกลายเป็นแบบสหพันธรัฐ คือรัฐบาลสหพันธ์มีอำนาจในเรื่องที่กระทบกับสหพันธ์ทั้งหมด เช่น การทหาร และรัฐบาลในแต่มลรัฐมีอำนาจในเรื่องที่เกี่ยวกับการปกครองของมลรัฐ เช่น การศึกษา วัฒนธรรม
ในตอนนั้น เยอรมันยังไม่เป็นชาติ หลายแว่นแคว้นมารวมกัน ประชาชนเริ่มรู้สึกว่าไม่ถูกต้องในแง่การจัดสวัสดิการสังคม ในแง่การมีส่วนร่วมทางการเมือง คนไม่มีสิทธิเลือกตั้ง คนจึงลุกฮือมาเพื่อมีรัฐธรรมนูญและมีส่วนร่วมในการเมือง จนในปี 1848-1849 พอประชาชนเรียกร้องสำเร็จ บรรดากษัตริย์ในแว่นแคว้นต่างๆ ได้ส่งผู้แทนมาร่วมร่างรัฐธรรมนูญ ในรัฐธรรมนูญนั้นได้ตัดสินใจว่ากษัตริย์แต่ละรัฐทรงอำนาจในการบริหารต่อไป แต่มีสภาในการถ่วงดุลอำนาจ เป็นการประนีประนอมระหว่างประชาชนและกษัตริย์ และเมื่อเกิดการรวมกันเป็นรัฐเยอรมันหนึ่งเดียวแล้ว แม้ว่าจะมีกษัตริย์แต่ละแว่นแคว้น แต่ต้องมีจักรพรรดิองค์หนึ่งเหมือนเป็นสัญลักษณ์ของชาติ รัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้กษัตริย์ปรัสเซียเป็นองค์จักรพรรดิ ปรากฏว่าเมื่อรัฐธรรมนูญถูกส่งให้กษัตริย์ปรัสเซีย กษัตริย์ปรัสเซียได้ปฏิเสธการลงนามเพื่อตกลงเป็นจักรพรรดิของรัฐเยอรมัน เนื่องจากพระองค์ตรัสว่าจะไม่ยอมรับมงกุฎที่ประชาชนทำให้ เพราะเหมือนถูกบังคับ ทั้งที่ความจริงอำนาจของพระองค์ยังมีอยู่ต่างหาก ผลคือรัฐธรรมนูญล้มเหลว ประชาชนลุกฮือขึ้นอีกครั้ง แต่ก็ถูกปราบและตายไปไม่น้อย สุดท้ายการปฏิวัติล้มเหลว ในที่สุดรัฐธรรมนูญก็ไม่เกิดขึ้น และต้องรออีกหลายช่วง ก่อนที่จะได้รัฐธรรมนูญที่แท้จริง ซึ่งเยอรมันผ่านประสบการณ์อีกหลายครั้ง
หากจะกล่าวถึงข้อเสนอขอนิติราษฎร์ที่เสนอไปเมื่อตอนครบรอบ 5 ปีรัฐประหาร และครบรอบ 1 ปีการก่อตั้งคณะนิติราษฎร์ มีปฏิกิริยาหลากหลายต่อข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ซึ่งขออธิบายข้อเสนอคณะนิติราษฎร์เป็นตัวอย่างง่ายๆ ว่า เมื่อ “นายเอ”ยิง“นายบี”ตาย โดยไม่มีเหตุที่นายเอสามารถกระทำได้ ทำด้วยความแค้นส่วนตัว นายเอทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 แต่นายเอเกิดเป็นผู้มีอำนาจ นายเอจึงออกกฎหมายนิรโทษกรรม บอกว่าการกระทำที่ตนเองยิงนายบี ไม่ถือว่าเป็นการผิด ให้ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ชอบด้วยกฎหมาย ถ้าจะผิดก็ถือว่าพ้นผิด และนายเอก็ไม่ถูกลงโทษ พอไปฟ้องศาล ศาลก็ชี้แจงว่ามีกฎหมายนิรโทษกรรมแล้วจึงไม่ผิด ต่อมาวันหนึ่งคนอื่นเห็นว่านายเอทำอย่างนี้ไม่ถูกต้อง ก็เสนอให้ออกกฎหมายใหม่กำหนดว่าการนิรโทษกรรมนี้ให้ถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นเลยในสังคม และการกระทำของนายเอก็จะเป็นสิ่งที่ผิด ให้นายเอกลับมาขึ้นศาล โดยใช้กฎหมายกล่าวโทษนายเอที่เอาปืนไปยิง หมายความว่าเมื่อคุณยึดอำนาจ คุณนิรโทษกรรมตัวเองไว้ คุณไม่ถูกลงโทษ แต่เมื่อมีคนมาตระหนักรู้ว่าไม่ถูก เขาก็ให้ทำรัฐธรรมนูญขึ้นมา รัฐธรรมนูญนี้จะประกาศว่าไม่เคยมีการนิรโทษกรรม ซึ่งทำได้ บางประเทศก็ทำกัน แต่มันลบทั้งหมดไม่ได้ตรงนี้ก็เข้าใจดีอยู่ แต่ลบเพื่อทำลายรัฐประหาร และเอาตัวคนทำรัฐประหารมาลงโทษ ซึ่งมันทำได้และต้องทำ และถ้าทำสำเร็จ คือการทำลายสิ่งที่อาจารย์สมชายเรียกว่า “รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี” ทำลายรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมจากรัฐประหาร และทำลายไปได้ตลอดกาล ฟื้นคืนไม่ได้ เพราะฉะนั้นการทำรัฐธรรมนูญใหม่หมวดหนึ่งที่นิติราษฎร์เสนอ คือ การล้มล้างผลพวงรัฐประหาร เพื่อให้ดำเนินการกับผู้ทำรัฐประหาร คำพิพากษาของศาลที่เป็นผลโดยตรงจากการทำรัฐประหารก็ให้ลบล้างไป ให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมใหม่ โดยไม่เอาคนที่เป็นปรปักษ์มาเป็นกรรมการสอบ
การลบล้างผลพวงรัฐประหาร โดยการประกาศให้การนิรโทษกรรมการทำรัฐประหารเสียเปล่าไป คือ ถือว่าไม่เคยมีการนิรโทษกรรมเลยนั้น ในทางกฎหมายนั้นเป็นไปได้แน่นอน แต่การเกิดขึ้นมันต้องอาศัยอำนาจทางการเมืองร่วมด้วย นั่นคือ อำนาจในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ และให้ประชาชนออกเสียงลงประชามติ สิ่งนี้จะก่อตั้งตั้งระบบกฎหมายขึ้นมาใหม่ แต่ในทางการเมืองและข้อเท็จจริง เรื่องนี้เกิดขึ้นยาก และอาจจะยากมากด้วยในเวลานี้ เพราะคนทำรัฐประหารต้องขึ้นศาล การทำรัฐประหารเป็นความผิดฐานเป็นกบฏตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113คนสนับสนุนก็ต้องผิด ผู้ใช้ก็ต้องผิด มันเป็นเรื่องที่สะเทือนอย่างรุนแรง
ขณะเดียวกัน ในฝ่ายทางคุณทักษิณเอง ก็ไม่แน่ใจว่าท่านจะยินดีไหมที่ให้คดีเหล่านั้นเลิกไปหมด แล้วเข้าสู่กระบวนการพิจารณาใหม่ ฟ้องกันใหม่หรือเปล่า แต่ผมเห็นว่าควรต้องเริ่มคดีใหม่ โดยค่าใช้จ่ายแต่ละคดีที่เกิดขึ้นไปแล้วหลังจากรัฐประหารก็ต้องชดเชยให้ ต้องมีคณะกรรมการหน่วยหนึ่งมาพิจารณา ถ้าทำอย่างนี้ได้ก็จะยุติธรรมกับทุกฝ่าย และจะสร้างบทเรียนใหม่ให้ประเทศไทย การเกิดรัฐประหารต่อไปก็จะยากขึ้นในสังคมไทย ซึ่งคนที่ได้เต็มๆ เรื่องนี้ คือประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ แต่กลุ่มคนที่กุมอำนาจนำจะเสียประโยชน์ เสียหนักที่สุดโดยเฉพาะผู้ทำรัฐประหาร รองลงมาคือฝ่ายคุณทักษิณเอง
การออกกฎหมายนิรโทษกรรมจะทำให้ทุกอย่างถูกยกเลิกหมด คุณทักษิณได้กลับบ้าน คดีจบไป แต่ก็จะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าคุณทักษิณจะผิดหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่ายังมีหลายคนที่ยังคลางแคลงใจอยู่ ฝ่ายทำรัฐประหารก็ถูกทำนิรโทษกรรม การสลายการชุมนุมทุกครั้งที่มีคนบาดเจ็บล้มตาย ทหารที่เข้าไปสลายก็ถูกนิรโทษกรรมไปหมด ไม่มีทางเป็นคดีไปได้ มีช่องทางเพียงแค่สู้ในกฎหมายระหว่างประเทศ ว่ากันไปในระดับนอกประเทศ ซึ่งมันไม่ใช่ของง่าย การจะทำให้คนเรียนรู้อำนาจประชาธิปไตย และเกิดความหวงแหนอำนาจในการตัดสินใจ เรื่องพวกนี้จึงไม่สมควรตัดสินใจจากผู้นำ จึงเสนอให้เรื่องนี้ประชาชนออกเสียงประชามติ และสมควรถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้นเพื่อกันการรัฐประหารให้มากที่สุด ควรมีกลไกทางรัฐธรรมนูญอีกหลายกลไก เช่น การบัญญัติว่าการแย่งชิงอำนาจจากประชาชนเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย เมื่ออำนาจอันชอบธรรมกลับสู่ประชาชนแล้วให้ดำเนินคดีกับผู้แย่งชิงอำนาจนั้น และให้อายุความเริ่มนับตั้งแต่อำนาจอันชอบธรรมได้คืนสู่มือของประชาชนแล้ว ซึ่งข้อเสนอนี้ได้บทเรียนจากประเทศกรีซ
ในทางสัญลักษณ์ นิติราษฎร์ได้นำเสนอข้อเสนอหนึ่ง และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง คือให้กษัตริย์ต้องสาบานหรือปฏิญาณตนเพื่อรักษารัฐธรรมนูญ ซึ่งเรื่องนี้มันไปไกลมาก ความคิดไปไกลจนไปแตะตัวพระมหากษัตริย์ ซึ่งเราได้อธิบายเหตุผลในการนำเสนอเรื่องนี้ และได้อธิบายหลายครั้งแล้ว สื่อบางครั้งก็ลงไม่หมด บอกว่านิติราษฎร์ให้กษัตริย์ต้องสาบาน คนก็แอนตี้ พูดกันไปใหญ่โต จริงๆ ที่เสนอไว้ การสาบานหรือปฏิญาณตนคือการกระทำช่วงก่อนการขึ้นครองราชย์ ไม่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน เพราะพระองค์ขึ้นครองราชย์ไปแล้ว แต่เกี่ยวพันกับการพยายามทำให้องค์พระมหากษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เวลาที่ทหารจะฉีกรัฐธรรมนูญจะได้รู้ว่าประมุขของรัฐได้ให้สัตย์ ได้มีการปฏิญาณเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ การปฏิวัติจะกลายเป็นการบีบคั้นให้ประมุขของรัฐต้อฝ่าฝืนคำปฏิญาณหรือคำสาบานซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ การทำแบบนี้จึงเท่ากับเป็นการเฉลิมพระเกียรติองค์พระมหากษัตริย์
เวลาเรามองเรื่องนี้มันเกี่ยวกับมุมมองว่า คุณมองด้วยสายตาอย่างไร คุณมองเห็นจากโคลนตมคือการทำลายพระเกียรติ ถ้าคุณมองเห็นดาวพราวพรายก็คือการเฉลิมพระเกียรติ สังคมไทยยังไม่ได้ฝึกให้คิดเรื่องพวกนี้ สุดท้ายที่เสนอมานั้นก็เป็นแค่เพียงข้อเสนอเท่านั้น ผมยอมรับได้ถ้าสังคมไม่เอาก็จบ มีคนมาบอกเหมือนกันว่าพวกเราเอาวิธีการสาบานตนแบบประธานาธิบดีมาใช้ คอลัมนิสต์บางคนที่เขียนเรื่องพวกนี้ เขียนโดยไม่ศึกษา ไม่อ่าน เขียนจากความรู้สึก ผมอยากให้ไปดูรัฐธรรมนูญในประเทศที่เป็นราชอาณาจักร คือประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทุกประเทศเขียนแบบนี้ทั้งนั้น รัฐธรรมนูญประเทศที่เป็นประชาธิปไตยหลายๆ ประเทศเป็นอย่างนี้หมด เพราะการเขียนแบบนี้ในรัฐธรรมนูญหรือการเฉลิมฉลองพระเกียรติขององค์พระประมุขของชาติ และเป็นกลไกอีกอันที่จะทำให้การรัฐประหารยากขึ้น ถ้าเราป้องกันตรงนี้ได้ การต่อสู้ทางการเมืองก็จะไม่เสื่อมลงโดยการฉีกรัฐธรรมนูญ มันก็จะว่ากันไปในตัวรัฐธรรมนูญ ทหารทำรัฐประหารไม่ได้ ถูกบีบให้ว่ากันไปตามระบบ ช่วยให้ความรุนแรงเกิดขึ้นจากนอกระบบได้ยาก นี่คือหลักที่อยู่ในรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยแบบไทย
ในห้องนี้พวกท่านรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน หรือเป็นไปได้ว่าท่านอาจอยู่คนกลุ่ม บางคนสนับสนุนกฎหมายบางฉบับ ไม่สนับสนุนบางฉบับ แต่ในที่สุดถ้าท่านอยู่ในระบบ ก็จะเถียงกันไปในระบบแบบนี้และไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน นี่คือคุณูปการของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย