ความปรองดองกับความเป็นธรรม?

ความปรองดองกับความเป็นธรรม?

         โดย  นิธิ เอียวศรีวงศ์ 

    (ดำเนินรายการโดย ณัฐกร วิทิตานนท์)

บทบรรยายในงานเสวนา ณ ร้านบุ๊ครีพับบลิก 19 พฤษภาคม 2555

      สวัสดีครับ ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน วันนี้วงเสวนาต้องการให้ผมพูดถึงคำว่า “ความปรองดองกับความเป็นธรรม ? ” ผมไม่แน่ใจว่าจะสามารถพูดสิ่งที่เขาต้องการได้หรือไม่   ผมไปเปิดพจนานุกรมดูว่าปรองดองแปลว่าอะไร “ความปรองดอง” แปลว่า ไม่แก่งแย่งกัน พร้อมเพรียงกัน ตกลงกันความหมายของ  3 อย่างที่ว่านั้นก็คือ ความหมายของความสงบราบรื่นในชุมชนขนาดเล็ก เช่น หมู่บ้าน ลองคิดว่าคำ ไม่แก่งแย่งกัน พร้อมเพรียงกัน ตกลงกันทั้ง 3คำนี้จะใช้ได้ที่ไหนบ้าง ก็อาจจะเป็นได้ในหมู่บ้านเล็กๆ ที่คนต้องอาศัยทรัพยากรร่วมกัน จึงจะมีความปรองดองอย่างนั้นได้ ลองคิดถึงเชียงใหม่ในความหมายที่ว่าไม่แก่งแย่งกัน พร้อมเพรียงกันแล้วก็ตกลงกัน สังคมเชียงใหม่ปรองดองกันได้หรือไม่ ผมคิดว่าไม่ได้ ในสังคมขนาดใหญ่ ความปรองดองตามความหมายของพจนานุกรมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ ในสังคมขนาดใหญ่เพียงแค่ต้องการจะตัดถนนสักเส้นหนึ่ง อย่างน้อยก็มีเรื่องที่จะต้องเถียงกันแล้วว่า “ผ่านบ้านกูหรือผ่านบ้านมึง” อย่างนี้     เป็นต้น ซึ่งก็เป็นข้อถกเถียงที่ผมคิดว่าชอบธรรม เพราะทั้ง 2 ฝ่ายล้วนแต่เป็นผู้เสียภาษี เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องคิดถึงกติกา ที่จะทำให้เราสามารถขัดแย้งกันได้ โดยไม่ต้องตีหัวกัน โดยไม่ต้องยิงกัน มากกว่าการที่คิดถึงการปรองดองในความหมายแบบพจนานุกรมซึ่งเป็นไปไม่ได้        

เหตุดังนั้นแทนที่จะพูดถึงเรื่องความปรองดองเพียงอย่างเดียว ผมคิดว่ามีความจำเป็นที่ต้องกลับไปดูถึงเรื่องของความขัดแย้งที่มีอยู่ในสังคมไทยปัจจุบันมากกว่า และเมื่อพูดถึงความขัดแย้ง ผมอยากจะเริ่มต้น         ด้วยการย้ำว่าผมคิดว่าเวลาเราพูดถึงความขัดแย้ง ทั้งบรรดาสื่อและเหล่านักการเมือง มักพูดถึงความขัดแย้งระหว่างบุคคล ระหว่างเสื้อสีค่อนข้างมาก ถ้าเราจะทำความเข้าใจ ผมคิดว่าความขัดแย้ง ไม่ใช่เรื่องของบุคคล ไม่ใช่เหตุการณ์ที่ปะทะกันในเดือนตุลา ในเดือนเมษา พฤษภาอะไรก็ตามแต่เท่านั้น มันไม่ใช่กลุ่ม เราต้องกลับไปดูที่ต้นตอของความขัดแย้ง เพราะอย่าลืมว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเสื้อสีใดก็ตามแต่     มันมีคนเข้าไปร่วมด้วยจำนวนมากมายมหาศาล เป็นเรื่องน่าสนใจว่าคนเหล่านั้นจะเดินเข้าไปร่วมในความขัดแย้งขนาดใหญ่มหึมานี้ได้อย่างไรโดยไม่มีฐานในทางเศรษฐกิจและสังคม

            ผมขอพูดถึงต้นตอของความขัดแย้งหรือมูลรากของความขัดแย้ง ผมคิดว่าในการจะอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมต่าง ๆ มีความจำเป็นที่เราจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยในทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นสำคัญ เรื่องความขัดแย้งในสังคมไทยก็เช่นกัน โลกาภิวัตรที่เกิดขึ้นในสังคมไทย  ในสิบ- ยี่สิบปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจภาคเมืองอย่างมโหฬาร อย่างที่เราไม่เคยพบมาก่อนเลยก็ว่าได้ ประเทศไทยเติบโตในเศรษฐกิจภาคเมืองมาก ทำให้เกิดกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ ๆ มากมายหลายกลุ่ม ไม่เหมือนอย่างแต่ก่อนนี้ที่ความเติบโตทางเศรษฐกิจจะก่อให้เกิดเจ้าภาษีนายอากร เกิดกลุ่มลูกจีนหลานจีนสักสองชั่วอายุคน ที่เป็นผู้ตั้งธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย เป็นผู้กุมการค้าข้าวส่งออกและอื่น ๆ             

ยุคปัจจุบันได้เกิดกลุ่มคนกลุ่มเศรษฐกิจใหม่จำนวนมาก ที่แม้ไม่รวยมหาศาลแต่มีเงินพอสมควร เพียงแค่คุณขายดอกบัว สมัยหนึ่งคุณขายดอกบัว ขายได้เฉพาะแต่ในเมืองเล็ก ๆ เมืองหนึ่ง บัดนี้คุณสามารถที่จะไปเช่าขุดสระ ขุดบ่อขนาดใหญ่แล้วปลูกดอกบัวแถวนครปฐม คุณสามารถส่งดอกบัวไปขายที่อุบลราชธานีโดยที่มันไม่เหี่ยวเฉา สภาวะแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทยมาก่อน เกิดความมั่งคั่งชนิดใหม่ที่คนอีกกลุ่มเป็นกลุ่มหน้าใหม่ ๆ เข้ามาเสวยกำไรเหล่านี้จำนวนมากมาย  เพียงแค่ขายอาหารกล่องข้างถนนเจ้าที่ขายดี วันหนึ่งได้กำไรเกินพันบาท เราได้ยินเรื่องเกี่ยวกับหอมแดงที่ศรีษะเกษในช่วงระยะเวลานี้     สมัยหนึ่งหอมแดงปลูกเฉพาะเวลาพ้นหน้านา การปลูกก็ใช้ปุ๋ยขี้วัวขี้ควาย ใช้แรงงานคน ปัจจุบันนี้ ชาวไร่หอมแดงแถวอีสานบอกว่า การปลูกหอมแดงในแต่ละครั้ง ใช้เงินในการลงทุนต่อไร่ประมาณสองหมื่นบาท นี่เป็นเรื่องของการประกอบการในทางเศรษฐกิจสมัยใหม่ชัดเจน ไม่มีใครปลูกหอมแดงโดยลงทุน     ไร่ละเกือบสองหมื่นบาทเป็นอันขาด

ทีนี้ขอให้สังเกตด้วยว่าคนกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรที่ผลิตสินค้าเข้าตลาดโดยตรงก็ตาม จะเป็นแม่ค้าที่ขายของอยู่ริมถนนก็ตาม จะเป็นผู้ปลูกดอกบัวก็ตาม จะเป็นอื่น ๆ  อีกร้อยแปด ที่เกิดขึ้นจากการเติบโตของเศรษฐกิจภาคเมืองเหล่านี้ ขอให้สังเกตด้วยว่าคนเหล่านี้ไม่ได้เป็นผู้ใช้ทรัพยากรโดยตรง ไม่เหมือนกับชาวประมงแถบปากแม่น้ำมูล ที่ต้องอาศัยความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำมูลสำหรับการจับปลา กรณีการไปตั้งแผงขายของของแม่ค้าขายข้าวแกงอยู่ริมถนน ทรัพยากรที่เขาใช้อาจจะเช่าหรือเสียเงินค่าต๋งให้แก่เทศกิจบ้างตำรวจบ้าง แต่เขาไม่ได้ใช้ทรัพยากรโดยตรง เพื่อผลิตสิ่งที่เขาต้องการอย่างที่ชาวนาไทย เคยได้ใช้ 

เรื่องที่พูดกันมากถึงเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเป็นคนละเรื่อง แน่นอนที่สุดว่ายังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรโดยตรง แม้ไม่ทราบจำนวนที่ชัดเจน แต่คิดว่ามีจำนวนมากพอสมควร ทรัพยากรที่เขาใช้เหล่านี้ บางรายเขาอาจจะเป็นเจ้าของทรัพยากร บางรายก็อาจจะเช่าเขา ยกตัวอย่างเช่นชาวนา ในภาคกลางที่ผลิตส่งตลาดโดยตรงล้วนเช่าที่นาทั้งสิ้น คนในเศรษฐกิจพอเพียงที่ใช้ทรัพยากรโดยตรง เช่น ชาวนาเล็ก ๆ ที่ปลูกข้าวไว้กินเอง อาจพูดได้ว่าการเมืองระดับชาติไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเขาเลย มันจะโกงกินกันยังไงก็ได้ เขาไม่เกี่ยว การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจทำให้เกิดคนกลุ่มใหม่ขึ้น เกิดเป็นคนกลุ่มที่ต้องการการเมืองใหม่ คนที่เข้ามาอยู่ในเศรษฐกิจสมัยใหม่นี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นมโหฬาร เขามองว่าต้องเข้ามาเกี่ยวกับการเมืองระดับชาติ เพราะนโยบายสาธารณะกระทบต่อเขาอย่างมาก คนเหล่านี้ต้องการการเมืองใหม่ การเมืองใหม่ที่พวกเสื้อเหลืองพูดถึง แต่ไม่ใช่ลักษณะเดียวกับที่พวกเสื้อเหลืองเสนอ   เป็นการเมืองใหม่ที่ตัวเขาสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ อย่าลืมว่าคนเหล่านี้ไม่เคยมีส่วนร่วมมาก่อน นอกจากการไปเลือกตั้งสี่ปีครั้ง เลือกแล้วปีสองปีทหารยึดอำนาจไปก็ไม่เป็นไร แต่บัดนี้มันไม่ใช่ แล้ว เขาคิดเรื่องการมีส่วนร่วม เขาต้องการ  การเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้ผ่านช่วงรัฐบาลทักษิณ ทำให้เขารู้สึกว่าเขามีอำนาจพอ ที่จะใช้บัตรเลือกตั้งเป็นประโยชน์ ในการกำกับนโยบายสาธารณะได้ระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นหีบบัตรเลือกตั้งที่เคยไร้ความหมายในหมู่ประชาชนไทย มันกลับมามีความหมายต่อคนเหล่านี้มากเลยทีเดียว

ในขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่าโครงสร้างการบริหารประเทศไทยมีลักษณะรวมศูนย์มาก จนกระทั่งว่าการเมืองกระจุกตัวอยู่ที่ระดับชาติ การเมืองระดับท้องถิ่นไม่ค่อยมีความหมายกระทบถึงชีวิตคน ลองคิดกลับกันว่า ถ้าวันหนึ่งข้างหน้าเราสามารถกระจายอำนาจได้จริง เราสามารถทำให้ท้องถิ่นดูแลตัวเองได้จริง การเมืองก็จะกระจายตัว ไม่กระจุกอยู่ที่กรุงเทพ ฯ เพียงที่เดียว การตัดสินใจว่าจะสร้างเขื่อนหรือไม่สร้างเขื่อน      คนในท้องถิ่นจะมีส่วนในการกำหนดด้วย อาจจะไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม แต่มีส่วนสำคัญไม่ต่ำกว่า 30%ขึ้นไป ที่จะกำหนดว่าให้สร้างหรือไม่ให้สร้าง ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็น    การให้หรือไม่ให้สัมปทานป่า หรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าเป็นเช่นนั้นการเมืองก็จะกระจายกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ แต่เนื่องจากการเมืองของเรา อำนาจในการจัดการทรัพยากรไปกระจุกอยู่ที่ส่วนกลางเสียเป็นส่วนมาก ทำให้คนเหล่านี้ต้องเข้าไปเล่นการเมืองในระดับกลางหรือระดับชาติมาก และแน่นอนในการเล่นการเมืองระดับนั้นคุณก็ปฏิเสธเรื่องการเลือกตั้งไม่ได้ 

            การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้เปลี่ยนแปลงการเมืองไทยอย่างมโหฬาร  น่าเสียดายที่ชนชั้นนำและคนชั้นกลางระดับสูงที่อยู่ในเมืองไม่เข้าใจในความเปลี่ยนแปลงอันนี้ และคิดว่าจะรักษาการเมืองไทยไว้ได้เหมือนเดิมตลอดเวลา การเมืองไทยแบบเดิม คือ เรื่องของคนกลุ่มเล็กๆ ที่เป็นชนชั้นนำแย่งอำนาจกันเอง แล้วพอได้อำนาจก็เข้ามากำหนดการใช้ทรัพยากรในประเทศหมดทุกอย่าง การเมืองเหล่านั้นหมดสมัยไปแล้ว แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่น่าสนใจก็คือว่า ความเปลี่ยนแปลงนี้ก่อให้เกิดความแตกร้าวในหมู่ชนชั้นนำด้วยกันเองด้วย คือ อย่ามองว่าฝ่ายหนึ่งเป็นชนชั้นนำในเมืองที่มีการศึกษา และอีกฝ่ายเป็นชาวบ้านธรรมดา แล้วทั้งสองฝ่ายนี้ก็แตกร้าวกัน ผมคิดว่าไม่ใช่ อันที่จริงความแตกร้าวเกิดขึ้นทั่วไปหมด แม้แต่ในหมู่ชนชั้นนำด้วยกันเองก็แตกร้าวกันมาก ฝ่ายหนึ่งของชนชั้นนำเห็นโอกาสของความเปลี่ยนแปลงนี้พอสมควร แล้วก็พบว่าจะสามารถถืออำนาจจากการเลือกตั้งได้ พูดง่าย ๆ คือ “เล่นกับมวลชนในทางการเมือง”  ในขณะที่   อีกฝ่ายหนึ่งไม่มีประสบการณ์ในการเล่นกับมวลชน ก็เลยกลัวการเติบโตของมวลชน กลัวว่าถ้าเกิดมวลชนเติบโตมากขึ้น  และเข้ามากุมนโยบายสาธารณะมากขึ้น หากเป็นเช่นนั้นตนเองก็จะไม่สามารถควบคุมมวลชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองได้

            เวลานี้ในหมู่ชนชั้นนำมีจุดอ่อนหลายจุดด้วยกัน เช่น การกระจายอำนาจ ที่ผมพูดถึงเมื่อกี้นี้ ลองคิดดูว่าหากประเทศไทยมีการกระจายอำนาจที่แท้จริง ลองนึกถึงบริษัทCP ว่าเขาจะเดือดร้อนแค่ไหน เพราะ CP เข้าไปใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นมโหฬาร โดยการตัดสินใจยินยอมของคนที่มีอำนาจในส่วนกลางไม่กี่คน แต่ถ้าวันหนึ่งการตัดสินใจนั้นกระจายไปยังคนในท้องถิ่นทั้งหมด ลองคิดว่าบริษัท  CP ธนาคารกรุงเทพ บริษัทปูนซีเมนต์ไทยจะเดือดร้อนเพียงใด อันนี้เป็นจุดอ่อน การกระจายอำนาจที่แท้จริง   จะทำลายฐานของผลประโยชน์ของชนชั้นนำจำนวนไม่น้อยเช่นกัน ลองคิดว่าหากมวลชนเติบโตขึ้นแล้วเรียกร้องนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งว่า “มึงต้องสัญญากับกูว่ามึงจะไปปฏิรูประบบภาษี” ระบบภาษีในประเทศไทยเวลานี้เป็นระบบที่ไม่มีความยุติธรรมเป็นที่สุด หากคิดโดยสัดส่วนของรายได้แล้ว คุณเก็บเงินภาษีจากคนจนมากกว่าที่คุณเก็บจากคนรวย เป็นต้น คนรวยมีช่องทางที่จะหลบเลี่ยงภาษีได้หลายช่องทางด้วยกัน ถ้าลองนึกไปว่ามวลชนเติบโตขึ้นมาแล้วสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมืองมากขึ้น อะไรจะเกิดขึ้นข้างหน้า ล้วนเป็นสิ่งที่ชนชั้นนำเหล่านี้ควบคุมไม่ได้ทั้งสิ้น ฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่น่ากลัว     สำหรับเขา จึงทำให้เกิดการปะทะกันของชนชั้นนำ โดยอาศัยรูปแบบการเมืองของมวลชนมาเป็นเครื่องมือในการปะทะกัน นักวิชาการบางท่านอย่างอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร ท่านเขียนบทความ  ตั้งเป็นคำถามเลยว่า “นี่เป็นการปะทะกันของเสื้อสี หรือการปะทะกันของชนชั้นนำกันแน่” 

            ผมคิดว่าเราทุกฝ่ายรวมถึงตัวเราเองด้วย พวกเราทั้งหมดประสบความล้มเหลวในการปรับระบบการเมือง กล่าวคือ ถ้าเศรษฐกิจสังคมของประเทศใดเกิดเปลี่ยนแปลงไปอย่างมโหฬารเช่นนี้  สิ่งที่คุณต้องปรับไปด้วยคือระบบการเมือง คุณต้องเปิดเวทีการเมืองระดับกลางให้มันกว้างพอ ที่จะให้คนหน้าใหม่ ๆ เหล่านี้จะเข้ามาต่อรองได้ การเมืองในระบอบประชาธิปไตยในทัศนะของผมก็คือ เปิดโอกาสในทุกคนได้ต่อรองอย่างเท่าเทียมกัน ถ้าเปิดเวทีให้ใหญ่ขึ้นก็จะมีคนหน้าใหม่ ๆ กระโดดขึ้นมาต่อรองในเรื่องต่าง ๆ  มากขึ้น แต่ประเทศไทยไม่ได้ปรับระบบการเมืองของเราพอที่จะเปิดให้คนหน้าใหม่ ๆ เข้ามาต่อรองอำนาจอย่างเท่าเทียมกับคนอื่นๆ เราไม่สนใจที่จะปรับโครงสร้างทั้งระบบ เพื่อจะเอื้อให้คนเล็กคนน้อย ที่เปลี่ยนตัวเองเป็นหน้าใหม่แล้วเข้ามาต่อรองด้วย เช่นที่ผมยกตัวอย่างเรื่องการต่อรองในระดับท้องถิ่น อย่างใน อบต. และ อบจ. เป็นต้น

             ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นถ้ามองจากเสื้อสี เราอาจจะพูดได้ว่า ข้อถกเถียงทั้งสองฝ่ายมีมูลทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น พวกเสื้อเหลืองไม่มีความไว้วางใจนักการเมืองว่าคดโกง ทุจริต ไม่ซื่อสัตย์       ถามว่านี่เป็นเรื่องจริงไหม ก็ตอบว่าเป็นเรื่องจริง การทุจริตคดโกงโดยนักการเมืองมีอยู่จริง แล้วถ้ามีการเลือกตั้ง โดยไม่ปรับโครงสร้างส่วนอื่นเลย นักการเมืองก็จะเป็นแบบเดิม “ เลือกผม ผมก็จะโกงแบบนี้” ไม่ใช่เขาเป็นคนไม่ดี แต่เขาอยู่ในเงื่อนไขที่เลือกทำอย่างอื่นได้ยาก เพราะฉะนั้นข้อถกเถียงของฝ่ายเสื้อเหลืองก็มีมูล แต่วิธีที่จะปรับแก้ต่างหาก ที่เราไม่เห็นด้วย เช่น คุณไปดึงเอาเทวดา หรือพระอรหันต์อะไรก็แล้วแต่ มาเป็นผู้คอยกำกับนักการเมือง ผมเองไม่ไว้ใจพระอรหันต์แต่ต้น เพราะฉะนั้นวิธีนี้ก็เป็นวิธีที่ใช้ไม่ได้อย่างแน่นอน ฝ่ายเสื้อแดงเองก็เหมือนกัน เขาก็มีประเด็นของเขา คุณจะบอกว่าเป็นประชาธิปไตยที่ไม่ต้องเคารพหีบบัตรเลือกตั้ง จะเป็นไปได้ยังไง จริงอยู่การเลือกตั้งอย่างเดียวไม่เป็นประชาธิปไตย แต่คุณขาดการเลือกตั้งไม่ได้ ผมคิดว่าการตอบปัญหาทั้งหมดนี้ทำได้  โดยการปรับระบบการเมืองและการบริหาร มากกว่าการที่จะเถียงกันเฉย ๆ 

            หากถามว่าทำไมถึงไม่มีการเปลี่ยนระบบการเมืองและการบริหาร เหตุใดสิ่งที่เกิดขึ้น จึงเป็นเพียงการทุ่มเถียงกัน ผมคิดว่ามีสาเหตุมาจากเบื้องหลังของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม   ที่เกิดขึ้น แล้วก่อให้เกิดความหวาดกลัวต่อทั้งสองฝ่าย เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณจะปรองดองกันอย่างไร ก็แล้วแต่ ความขัดแย้งมันยังดำรงอยู่ แม้จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมแล้ว ก็ไม่สามารถหยุดความขัดแย้งนี้ได้  เพราะความขัดแย้งมีรากที่ฝังลึกอยู่ที่ความเปลี่ยนแปลงในระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย มากกว่าเรื่องการทะเลาะเบาะแว้งแย่งอำนาจกันระหว่างคุณทักษิณกับคนที่เป็นศัตรู 

            ทีนี้กลับมาสู่ประเด็นสำคัญ ผมคิดว่าความขัดแย้งในลักษณะเป็นธรรมชาติของทุกสังคม ไม่มีสังคมอะไรในโลกนี้ที่ไม่มีความขัดแย้ง ผมคิดว่าถ้าเรารักจะอยู่ในสังคมขนาดใหญ่เช่นสังคมไทย อย่าไปกลัวความขัดแย้ง ยังไงเรายังสามารถทำมาหากินเป็นปกติได้ คืออย่าเอาศีลธรรมของหมู่บ้านมาใช้กับสังคมที่ใหญ่ขนาดนี้ ในระดับหมู่บ้านแค่คุณปลูกข้าวแล้วคุณจะระบายน้ำยังไง ถ้าคุณทะเลาะกันทั้งหมู่บ้าน ก็เกิดความเสียหาย ข้าวเน่า ระบายน้ำไม่ได้ ทดน้ำไม่ได้ นั่นเป็นกรณีที่คุณใช้ทรัพยากรร่วมกัน ใช้ทรัพยากรในลักษณะเดียวกัน คุณจึงต้องร่วมมือกัน   แต่ในสังคมที่ซับซ้อนอย่างปัจจุบัน เราไม่ได้ใช้ทรัพยากรในลักษณะอย่างนั้นอีกแล้ว เหตุดังนั้นมันต้องมีความขัดแย้งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา 

            เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีการจับเข่าคุยกัน มันน่าขัน  ปัญหาของสังคมสมัยใหม่ก็คือว่าเราไม่ระงับความขัดแย้ง แต่เราต้องคุมให้ความขัดแย้งดำรงอยู่ โดยไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของกันและกันต่างหาก หัวใจของการอยู่ร่วมกันในสังคมปัจจุบัน ไม่ใช่อยู่ที่การระงับไม่ความขัดแย้งเกิดขึ้นซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ ปล่อยให้มันขัดแย้งกันไปแต่ขัดแย้งยังไงภายใต้กติกา ภายใต้กฎเกณฑ์อะไรก็แล้วแต่     ที่ทำให้เราไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของกันและกัน เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าคุณจะทำให้เกิดการปรองดองนี้ได้ คุณปรับระบบการเมืองหรือทำอะไรก็แล้วแต่ ความขัดแย้งก็ไม่อาจยุติลง ยกตัวอย่างเช่น หากมีการปรับระบบการเมือง เปิดเวทีการเมืองให้ใหญ่พอที่คนหน้าใหม่จะกระโดดขึ้นมาได้ กลุ่มคนหน้าใหม่ในสังคมไทยยังมีอยู่อีกไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นชาวหอมแดง ชาวปากมูล ชาวราศีไศล ชาวอุดร ฯ ผู้คัดค้าน    เหมืองโปรแตช เป็นต้น นี้คือคนที่ใช้ทรัพยากรโดยตรงซึ่งมีจำนวนมหึมาในสังคมไทย  คนเหล่านี้ยังไม่ได้ปรากฏตัวบนเวทีการเมือง เราจะเห็นพวกเขาออกมาบนถนน เพราะสมัชชาคนจนไม่รู้จะไปที่ไหน ก็เลยต้องไปยึดถนน เพราะไม่มีใครฟังเขา  

            ถามว่าสังคมแบบนี้สงบไหม คำตอบคือไม่สงบ ถ้าคุณไม่ยอมปรับระบบการเมืองให้เปิดพื้นที่สำหรับใครก็ได้ ที่มีกำลังจะกระโดดขึ้นมาต่อรองกันบนเวที และในช่วงนี้เครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการควบคุมความขัดแย้งคือกฎหมายกับกระบวนการยุติธรรม แต่ต้องเป็นกฎหมายซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงกว้างด้วย กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่างๆ ที่ออกโดยคณะรัฐประหารต่างๆ นั้นไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะคณะรัฐประหารยึดอำนาจเพื่อตอบสนองต่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มน้อยเสมอ เหตุดังนั้นกฎหมายที่ออกโดยคณะรัฐประหารต้องทบทวนใหม่ เพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย

            ในภาวะบ้านเมืองเป็นเช่นนี้ หลายคนมีคำถามว่าทำไมคณะนิติราษฎร์ถึงมีบทบาทค่อนข้างมาก  บ้างว่ามีบทบาทในทางลบ บ้างก็ว่ามีทางบวก อะไรก็แล้วแต่ แต่นี่คือช่วงที่คนไทยจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเสื้อแดงเสื้อเหลือง สำนึกถึงกติกาหรือกฎเกณฑ์ที่เราจะขัดแย้งกันได้ ผมคิดว่าคณะนิติราษฎร์เข้ามาเพื่อตอบปัญหาตรงนี้พอดี จริงอยู่นักกฎหมายเข้ามาทำอะไรอยู่ตลอดเวลา แต่เข้ามาโดยมิได้สำนึกถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคม อย่างที่น่าจะสำนึก การที่คณะนิติราษฎร์เข้ามามีบทบาทในช่วงนี้ ผมคิดว่าเป็นบทบาทที่มีความสำคัญอย่างมากด้วย อันที่จริงเราจะจัดการกับความขัดแย้งได้อย่างไรในช่วงนี้                  ผมคิดว่าช่วงนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมาก

            ถามว่าในสังคมไทยเราใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือไม่ คำตอบคือ ใช่ เราใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยาหรือก่อนอยุธยาด้วยซ้ำไป เราใช้ความรุนแรงเสมอ แต่สมัยก่อนความรุนแรงหมายถึง     การแย่งอำนาจหรือการต่อรองในกลุ่มชนชั้นนำเล็กๆ เท่านั้น การรัฐประหาร 2490ที่จริงๆ แล้วเป็นการรัฐประหารที่นองเลือดมาก เพราะมีการลอบสังหารระบาดทั่วไปหมดเลย แต่นั่นเกิดขึ้นในหมู่ชนชั้นนำเท่านั้น เมื่อไหร่ก็ตามแต่ที่คนนอกพยายามกระโดดขึ้นมาบนเวทีเพื่อต่อรองบ้าง เขาจะใช้ความรุนแรงทันที ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลานี้ก็เป็นคนนอกที่เป็นคนชั้นกลางในเมือง ซึ่งเติบโตมากับนโยบายพัฒนาของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กรณีนักศึกษา6ตุลา เหตุการณ์พฤษภามหาโหดของคุณสุจินดา หรือ 19 พฤษภาก็ตาม ทั้งหมดเหล่านี้ เป็นเรื่องของคนนอก เมื่อไหร่มีคนนอกเข้ามา เมื่อนั้นเขาก็ใช้ความรุนแรง แต่เขาไม่ใช้การลอบสังหาร เขาเลือกใช้ความรุนแรงแบบกลางเมืองทันที

            ประเด็นของผมก็คือ ถ้าสักวันหนึ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ผมพูดถึงขึ้นไปอยู่บนเวทีได้แล้ว  ถามว่าจะมีคนกลุ่มใหม่ขึ้นไปอีกไหม คำตอบคือก็มีอีก ก็ใช้ความรุนแรงต่อกันอีก มันก็ไม่มีวันจะเลิกแล้วต่อกันไปได้ ไม่มีวันจะยุติ ผมว่าครั้งนี้เป็นครั้งสำคัญที่ระบบการเมืองไทยต้องยุติการใช้ความรุนแรงอย่างเปิดเผยเช่นนี้ซึ่งแปลว่ายังลอบฆ่ากันต่อไปได้ใช่ไหม อาจจะลอบฆ่ากันต่อไปได้ แต่อย่างน้อยที่สุด คุณจะมายิงคนกลางเมืองแบบนี้ไม่ได้อีกต่อไป

            วิธีเดียวที่จะทำก็คือว่า ต้องไม่มีการออกพระราชบัญญัติอภัยโทษ ที่ทำให้ผู้สั่งก็ตาม ผู้กระทำก็ตาม ในการสังหารโหดประชาชนเมื่อปี 53 หลุดรอดไปได้ ถ้าความจริงทั้งหมดปรากฏ เมื่อวันหนึ่งคนไทย    ส่วนใหญ่เห็นว่าเราควรจะออกพรบ.นิรโทษกรรม ในตอนนั้นก็ไม่ว่าอะไร แต่ความจริงต้องออกมาก่อน คนเหล่านี้ต้องรับโทษก่อน เป็นต้น มิฉะนั้นแล้วถ้าเราไม่ยุติเรื่องนี้ให้ได้ในครั้งนี้ ผมคิดเราว่าจะหนีไม่พ้น เมืองไทยจะเผชิญกับการเมืองแบบรุนแรงตลอดไปไม่มีที่สิ้นสุด

            เพราะฉะนั้น โดยสรุปก็คือว่าไม่จำเป็นต้องปรองดอง ในขณะเดียวกันผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์เกี่ยวกับการล้มล้างผลของการรัฐประหารเป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่งในช่วงนี้       ถ้าคุณอยากจะเปลี่ยนการเมืองไทยให้ได้ นี่เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ การรัฐประหารต้องถูกขจัดออกไปจากกลไกทางการเมืองไทยอย่างเด็ดขาด สรุปก็คือ ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องปรองดอง แต่ต้องหาวิธีควบคุมความขัดแย้งไม่ให้ละเมิดสิทธิเสรีภาพของกันและกันให้ได้ ผมว่านี้เป็นหัวใจสำคัญกว่าอะไรทั้งสิ้น ขอบคุณมากครับ.


Latest Story

Kenduri Seni Patani 2024 เทศกาลศิลปะเชื่อมประเด็นวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม – การเมือง – และชุมชนหลากหลายภูมิภาคมาจัดแสดงในปัตตานี

เทศกาลศิลปะนานาชาติ Kenduri Seni Patani 2024  : ภายใต้แนวคิด “ก่อนอุบัติ และหลังสลาย” ส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ภัณฑารักษ์ ” เทศกาลศลปะ Kenduri Seni Patani 2024 ภายใต้แนวคิด “Before birth and