เมื่อความจริงโดนดำเนินคดีในประเทศไทยยุคกษัตริย์นิยมล้นเกิน

เมื่อความจริงโดนดำเนินคดีในประเทศไทยยุคกษัตริย์นิยมล้นเกิน

โดย ธงชัย วินิจจะกูล

 (ดำเนินรายการโดย ภัควดี วีระภาสพงษ์) 

บทบรรยายในงานเสวนา ณ ร้านบุ๊ค รี:พลับลิก วันที่ 17 ธันวาคม 2554ชื่อหัวข้อที่ใช้ในการบรรยายจริงคือ “เมื่อความจริง(และนิยาย)โดนดำเนินคดีในประเทศไทยยุคกษัตริย์นิยมล้นเกิน” แต่เนื่องจากเอาเข้าจริงไม่ได้กล่าวถึงนิยายเลยแม้แต่น้อย ในที่นี้จึงขอปรับชื่อหัวข้อเสียใหม่ให้สอดตล้องกับเนื้อหา              

เดิมทีผมตั้งหัวข้อไว้ว่าจะคุยสนุกๆ แต่เหตุการณ์ในสองเดือนที่ผ่านมาทำให้ผมชักสนุกไม่ออก หากอาจจะมีคนอยากให้ผมพูดถึงเรื่องอากง พูดถึงเหตุการณ์เฉพาะหน้า อย่างไรก็ตามผมตั้งใจแต่แรกแล้วว่า ผมอยากจะดึงพวกเราออกจากสถานการณ์เฉพาะหน้าออกไปคิดเรื่องประวัติศาสตร์ทางความคิด เรื่องวัฒนธรรมไทยซึ่งเป็นเรื่องที่ผมถนัดมากกว่า ผมอยากจะดึงพวกเราออกจากเรื่องอากง ไปดูเรื่องประวัติศาสตร์ความคิดวัฒนธรรมไทย โดยจะอภิปรายถึงหนังสือสำคัญสักสองสามเล่ม ผมจะโยงให้เห็นประเด็นหลายอย่างที่เกี่ยวโยงกับเรื่อง 112 (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112) แต่อยากดึงพวกเราออกจากเรื่องอากง ไม่ใช่เพราะเรื่องอากงหรือคนที่ติดคุกไม่สำคัญ แต่เพราะสำคัญ ผมจึงคิดว่าเราน่าจะรู้จักและเข้าใจเกินไปกว่ารูปธรรมของกรณีทั้งหลายที่เจออยู่ทุกวันนี้ น่าจะถือเป็นโอกาสที่เราจะทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคมไทยมากกว่าเรื่องใครส่งSMS หรือไม่ เขียนอะไร พูดอะไร ถูกจับแล้วถูกดำเนินคดีอย่างไร เรื่องนั้นเป็นสิ่งที่พวกเรารู้ดี มีข้อมูลดีกว่าผมด้วยซ้ำ ผมขอพูดเรื่องที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงหรือพูดถึงไม่มากนักดีกว่า

ชื่อเรื่องที่จะพูดในวันนี้สามารถเปลี่ยนไปได้หลายแบบ คือ “ความจริงถูกดำเนินคดี”เป็นการแปลไทยที่ไม่ดีนักจากหนังสือชื่อ Truth on Trial[1] มันมีความหมายในเชิงถูกตรวจสอบ ถูกสอบสวน เพราะว่าผมจะอภิปรายว่าในสังคมไทยนั้น Truth–สัจจะ เป็นความจริงหรือนิยาย สุดท้ายแล้วเราไม่รู้ชัด และเราไม่รู้ว่าเส้นแบ่งอยู่ตรงไหน มันอาจกลับตาลปัตรก็ได้ และเรื่องนี้ไม่ได้มาจากความคิดโพสต์โมเดิร์นเลย แต่ผมจะอภิปรายว่ามีที่มาจากความคิดแบบพุทธแบบไทยๆ

ชื่อเรื่องที่จะพูดในวันนี้จึงสามารถเปลี่ยนได้หลายแบบ อาทิ  “Truth on Trial” หรือ “1984 กับนิยายประวัติศาสตร์ไทย”ก็ได้ “สัจจะหรือ Truth ในวัฒนธรรมไทย”ก็ได้ หรือว่า “สังคม 1984 แบบไทยๆ” ก็ได้ แต่หากเราตั้งชื่อเรื่องว่า “สังคม 1984 แบบไทยๆ” เราก็อาจจะขยายความ  “แบบไทยๆ”  อย่างพวกนิยมเจ้าทั้งหลายนิยมใช้ กล่าวคือหมายถึงแบบที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ถ้าเช่นนั้นชื่อเรื่องก็จะเป็น “สังคม 1984แบบที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”



[1]David Streckfuss, Truth on Trial in Thailand: Defamation, Treason, andLese-Majeste, London: Routledge, 2010. 


 

เรื่องที่จะพูดในหัวข้อแรก  ผมจะคุยถึงหนังสือ Truth on Trialของสเตร็คฟัส สเตร็คฟัส (David Streckfuss)  

หัวข้อที่สอง  ผมจะคิดต่อออกไปจากหนังสือเล่มนี้โดยผูกเข้ากับเรื่อง “Hyper-royalism” คำๆนี้ผมแปลเอาเองว่า “กษัตริย์นิยมล้นเกิน” ด้วยเหตุผลที่ผมจะอธิบายอีกที มันมีคำอื่นที่ง่ายกว่านั้น แต่ผมตั้งใจใช้คำที่มันลิเกหน่อยๆ เพราะคำอื่นๆที่ง่ายกว่านั้นฟังแล้วอาจจะไม่ตรงกับที่ผมต้องการนัก เช่นคำว่า “คลั่งเจ้า”เป็นต้น

            หัวข้อที่สาม ผมจะอธิบายสังคมแบบที่ใช้ “Thought Control” หรือ“การควบคุมความคิด” คำๆนี้แปลโดยคุณรัศมี เผ่าเหลืองทองจากหนังสือ Nineteen Eighty Four[2]หรือถ้าหากพูดภาษาอังกฤษก็คือ“A rule by ideology and thought control การปกครองโดยการใช้อุดมการณ์หรือการฝังหัวและการควบคุมทางความคิด ซึ่งจะนำไปสู่ประเด็นที่สี่

หัวข้อที่สี่  เราสามารถเข้าใจสังคมไทยได้ในหลายๆแง่โดยผ่านหนังสืออีกเล่มหนึ่งก็คือ1984

หัวข้อที่ห้า Truth แบบไทยๆมีผลต่อความรู้ทางประวัติศาสตร์และนิยายทางประวัติศาสตร์ของไทยอย่างไร (ในท้ายที่สุด หัวข้อนี้ไม่ได้พูดถึง กองบก.)

ในหัวข้อที่หนึ่ง ในหนังสือ Truth on Trial เมื่อความจริงหรือสัจจะโดนดำเนินคดี ของสเตร็คฟัส สเตร็คฟัส หลายคนคงรู้จักเพราะผู้เขียนออกมาพูดเรื่องกฎหมายหมิ่นฯบ่อยมาก จนทำให้หลายคนคิดว่าหนังสือเล่มนี้มีแต่เรื่องกฎหมายหมิ่นฯ แต่ที่จริงในเล่มนี้มีอีกหลายเรื่องที่คนไม่พูดถึงและมีที่เกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นฯตรงๆเพียงไม่กี่บท เรื่องอื่นๆล้วนแต่แวดล้อมปัญหาสำคัญมากว่า สังคมไทยจัดการกับ Truthอย่างไร   



[2]George Orwell, Nineteen Eighty Four, New York: New American Library, 1950 (ในที่นี้ขอเรียกว่า1984)


ประเด็นแรกที่หนังสือเล่มนี้พูดถึงเรื่อง Defamation Regime หมายถึง การมีระบอบหรือกลไกในสังคมไทยที่จัดการกับความรู้ที่จัดว่าเป็นการละเมิดหรือหมิ่นประมาท เพื่อบอกและควบคุมสังคมไทยว่า อะไรพูดได้ พูดไม่ได้ (ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมายหมิ่นประมาทเท่านั้น) จนเกิดเป็นบรรทัดฐานสำหรับเรื่องที่พูดได้และพูดไม่ได้ ในแง่นี้สังคมไทยมีหลายอย่างที่ไม่ต่างกับสังคมอื่น แต่สิ่งที่ผู้เขียนเจาะจงลงไปคือที่ไทยแตกต่างจากที่อื่นซึ่งปรากฏอยู่ในเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคง หมายความว่าในกฎหมายหมิ่นประมาทของไทย หากเป็นเรื่องระหว่างเอกชนกับเอกชนจะถือว่าเป็นเรื่องทางแพ่งซึ่งไม่ต่างไปจากกฎหมายในหลายประเทศ แต่เมื่อประยุกต์ใช้กฎหมายการหมิ่นประมาทกับความมั่นคง กับผู้มีอำนาจ กับระบบอำนาจ หรือกับสถาบันพระมหากษัตริย์ กลับเป็นเรื่องอาญา แถมไม่ได้ประยุกต์ใช้อย่างที่คนอื่นในโลกเขาทำกัน แต่กลับใช้อยู่ภายใต้กรอบธรรมเนียมของสังคมไทยเอง 

สเตร็คฟัสสืบสาวประวัติความเป็นมาของกฎหมายไทย สืบสาวเรื่องราวที่เกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นประมาทและกลไกทางกฎหมายและวัฒนธรรมทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่น การละเมิดอำนาจรัฐและสถาบันกษัตริย์  คือเขามีสมมติฐานว่ากฎหมายหมิ่นฯมีรากมาจากหลายทาง รากหนึ่งนั้นตั้งอยู่บนกฎหมายหมิ่นประมาทซึ่งไม่ใช่เรื่องประหลาด แต่กฎหมายนี้ยังประกอบด้วยรากอื่นๆด้วยเช่นพุทธศาสนา เมื่อประกอบกันเข้าในท้ายที่สุด เรามีวัฒนธรรมที่จัดการกับการหมิ่นฯและการละเมิดแบบหนึ่งซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกเขาทำกัน

ประเด็นสำคัญที่สองของหนังสือ คือ รากหรือส่วนประกอบที่สำคัญของกฎหมายหมิ่นประมาทหรือการละเมิดต่อรัฐ อำนาจ และสถาบันกษัตริย์ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่ากฎหมายหมิ่นประมาทที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงคือสองแนวคิดสำคัญ แนวคิดแรก คือ“สภาวะยกเว้น” หมายถึงสภาวะไม่ปกติ ที่กลายเป็นปกติของสังคม สเตร็คฟัสยืมความคิดนี้มาจาก Carl Schmitt[3]และ Giorgio Agamben[4] ผู้ทำความเข้าใจกับสภาวะไม่ปกติที่กลายเป็นปกติของสังคมหนึ่งๆ ในกรณีของ Schmitt นั้นกล่าวถึงสังคมนาซี ในกรณีของ Agambenกล่าวถึงสังคมอำนาจนิยม(Authoritarianism)  อธิบายอย่างง่ายๆคือ มีสภาวะไม่ปกติบางอย่างที่ทำให้การใช้อำนาจไม่สามารถใช้ได้ตามปกติ จึงให้อำนาจแก่รัฐ หรือผู้มีอำนาจผู้วิเศษ หรือซุปเปอร์แมนเข้ามาเป็นผู้จัดแจงตามกฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษแก่ผู้นั้น ใช้อำนาจบงการพฤติกรรมและกิจกรรมของปัจเจกบุคคลได้ สิ่งสำคัญที่พวกเขานำเสนอคือ ในนามของความไม่ปกติ กลับทำให้การใช้อำนาจเช่นนั้นกลายเป็นเรื่องปกติ สเตร็คฟัสบอกว่านั่นคือสังคมไทย เขาเสนออีกว่า สังคมไทยอยู่ในภาวะไม่ปกติจนกลายเป็นปกติมาตั้งแต่ยุคสฤษดิ์ หมายความว่าถึงวันนี้กินเวลานานเกือบครึ่งศตวรรษแล้วโดยยกตัวอย่างการที่ผู้พิพากษาทั้งหลายยอมรับกฎที่ออกโดยคณะปฏิวัติทุกฉบับว่าเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ได้ ยอมรับกฎและระเบียบหรือคำสั่งที่เกิดขึ้นในภาวะไม่ปกติให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตปกติ ข้อเสนอของนิติราษฎร์คือพยายามทำให้เราไปสู่ภาวะปกติที่ปกติ คือ “เลิกเพี้ยน”  นี่คือสาระสำคัญข้อที่สอง 


[3]นักกฎหมาย นักปรัชญา และนักทฤษฎีการเมืองชาวเยอรมัน  (กอง บก.) 

[4]นักปรัชญาการเมืองชาวอิตาเลียน ผู้เป็นที่รู้จักในการนำแนวคิด เรื่อง State of Exception และHomo Sacer มาใช้อธิบายปรากฎการณ์ทางการเมือง (กอง บก.)


แนวคิดอีกอย่างหรือรากที่สองของDefamation Regime สเตร็คฟัสอธิบายถึงความเข้าใจว่า Truthคืออะไร การจัดการความจริงของสังคมไทยผูกพันกับการเข้าใจ Truth ตามแบบพุทธเถรวาทของไทย สิ่งที่สเตร็คฟัสเสนอคือ ในการเข้าใจประวัติศาสตร์ความคิดของไทย หนีไม่พ้นที่จะต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ความคิดเรื่องพุทธศาสนากับอำนาจ ประเด็นนี้สำคัญมากและเปิดประตูให้เราคิดต่ออีกมาก

ผมจะลองอธิบายว่า Truth ในสังคมไทยมีวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนconcept สมัยใหม่หรือ Truth อย่างที่เราเข้าใจอย่างไร แล้วจะเน้นประเด็นที่ใกล้กับ ม.112   

เราอยู่ในระบบการศึกษาแบบตะวันตกTruth หรือความจริงขั้นสุดท้ายในทางฟิสิกส์หรือวิทยาศาสตร์เรายังไปไม่ถึง ยังอยู่ในอนาคต การค้นคว้าวิจัยทำให้เรารู้มากขึ้นเพื่อที่สักวันหนึ่งเราจะได้รู้ถึง Truthในที่สุด นักประวัติศาสตร์บอกว่าอดีตเปรียบเสมือนจิ๊กซอว์มากมายเต็มไปหมด เราต้องรู้จิ๊กซอว์ทีละชิ้นเพื่อที่สักวันหนึ่งข้างหน้าเราจะต่อจิ๊กซอว์อดีตได้ครบ นี่คือตัวอย่าง concept สมัยใหม่ต่อ Truth 

แต่ในแนวคิดพุทธบอกว่า”สัจจะได้ถูกค้นพบแล้วและเป็น “อกาลิโก” ไม่ใช่ยังไม่พบหรือยังอยู่ในอนาคต แต่แปลว่าพบไปแล้ว พบตั้งแต่เมื่อ 2,500 ปีก่อนและยัง “อกาลิโก”อยู่จนทุกวันนี้  “สัจจะ”ได้ถูกค้นพบตรัสรู้มานานแล้ว แต่เราทั้งหลายมีบุญไม่ถึง จึงไม่สามารถบรรลุธรรมได้  แม้ว่าเราทั้งหลายจะเก่งเพียงใดหรือเป็นศาสตราจารย์กันหมดก็ยังเข้าไม่ถึงTruth อยู่ดี 

ในภาษาอังกฤษเรามักพูดถึงความจริงสองแบบคือTruthกับ Reality เราแปลเป็นไทยว่าสัจจะกับ ความเป็นจริง ใน concept พุทธซึ่งถือว่าสัจจะ (Truth) คือ ธรรม แต่เราไม่สามารถแยกความเป็น Truth ออกจาก Realityได้  แต่ว่า“ธรรม”แบ่งเป็นระดับหรือขั้น เราล่วงรู้เข้าถึง “ธรรมะ” ได้ขั้นสูงต่ำมากน้อยตามระดับของบุญที่เรามี ธรรมมีอย่างเดียวชุดเดียวแบบเดียว แต่เราล่วงรู้ธรรมได้ในดีกรีที่ต่างกันตามบุญบารมีของเรา นี่ต่างจากความคิดว่ามี “Truth”กับ “Reality” ที่ไม่เหมือนกันแยกกันได้

ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะระบบกฎหมายต้องอยู่กับเรื่องความจริง ถามว่าระบบกฎหมายไทยจะยึดถือความจริงแบบไหนล่ะ ระบบกฎหมายไทยเป็นสมัยใหม่มาจากฝรั่ง แต่ concept แบบพุทธหรือ “ธรรม”แบบพุทธไม่เคยหายไปไหน เราเข้าใจ “ความจริง” ตามวัฒนธรรมพุทธแบบไทยๆปะปนกับความคิดสมัยใหม่ตลอดเวลา ทั้งๆที่ความจริงแบบพุทธไม่ใช่ความจริงแบบภาวะวิสัยที่พิสูจน์ได้หรือต้องการการพิสูจน์ด้วยซ้ำไป

สิ่งที่สเตร็คฟัสเสนอคือ ในกรณีสังคมไทยนั้น ภาวะไม่ปกติกลายเป็นเรื่องปกติ ผู้มีอำนาจถือเป็นผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่จะกลายเป็นคนที่พ้นจากการถูกตั้งคำถาม (Unquestionable)ห้ามโต้แย้ง นั่นหมายถึง “ความจริง”ว่าเขาดีจริงหรือไม่ เลวจริงหรือไม่ ไม่ต้องมีการพิสูจน์ ต้องพิสูจน์อย่างเดียวว่าหมิ่นประมาทหรือไม่ กฎหมายหมิ่นฯเป็นกรณีที่ชัดที่สุด เพราะไม่มีการพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ ถือเอาโดยปริยายว่าพระมหากษัตริย์ดีวิเศษไม่เคยทำอะไรเสียหาย ดังนั้นต้องพิสูจน์อย่างเดียวคือระดับของการละเมิด แถมพิสูจน์โดยที่ตัวผู้ถูกละเมิดไม่ต้องมาบอกเอง แต่เป็นการทึกทักว่าถูกละเมิดขนาดไหน เป็นการเดาว่าประชาชนทั่วไปถูกกระทบความรู้สึกขนาดไหน  เพราะศาลไม่สามารถนำคน 60 กว่าล้านคนมาถามทีละคน (อย่างน้อยศาลก็ไม่เคยถามผม) จะเกิดอะไรขึ้นหากศาลถามแล้วมีคนตอบว่า “ไม่รู้สึกว่าถูกละเมิด” ศาลจะใช้วิธีโหวตหรือไม่ ว่าที่เรียกมา 10 คน 9 ชนะ 1 หรือ 8 ชนะ 2 ไม่มีบรรทัดฐานใดๆในเรื่องนี้ทั้งสิ้น จึงเป็นเกณฑ์การใช้กฎหมายหมิ่นประมาทในภาวะที่ไม่ปกติที่ทำให้กลายเป็นปกติ

ขอกลับไปเรื่อง “พุทธ”อีกหน่อย มีความเข้าใจว่า “จริง” คืออะไรในความหมายที่อิงกับ concept ต่างชุดกัน ทั้งพุทธและไม่พุทธปะปนกำกวมกันไปจนน่าปวดหัว ยกตัวอย่างเช่น คุณว่าพระไทยเล่นกีตาร์ไหม แต่กอง Censor[5]บอกว่า พระไทยไม่เล่นกีตาร์ เพราะฉะนั้นเมื่อหนังคุณอภิชาตพงษ์มีฉากพระเล่นกีตาร์จึงต้องตัดฉากนั้นออก อะไรคือเหตุผลรองรับ (Justification) การตัดสินตัดฉากนั้นออก เหตุผลของกอง Censor มีอยู่ว่าความจริงคือพระไทยไม่เล่นกีตาร์เพราะพระต้องสำรวม นี่มันความจริงแบบไหนกัน Reality หรือความจริงมาตรฐานที่เป็นอกาลิโกแบบพุทธไทยๆ ในหนังเรื่องเดียวกันมีภาพหมอเกิดความรู้สึกทางเพศ ฉากนั้นถูกตัดออก กอง Censor บอกว่าไม่ควรมีภาพหมอมีความรู้สึกทางเพศ นี่มันความจริงแบบไหนกัน Reality หรือความจริงมาตรฐานที่เป็นอกาลิโกแบบพุทธไทยๆ 


[5]คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดิทัศน์(กอง บก.)


ตัวอย่างที่สาม คือ เมื่อ15-16 ปีที่ผ่านมาประมาณปี พ.ศ.2538 หรือ 2539อาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตรกับอาจารย์สังศิต พิริยะรังสรรค์ เคยทำวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องการคอรัปชั่นของตำรวจ แล้วนำเสนอผลการวิจัยว่าตำรวจคอรัปชั่นเต็มไปหมด กลายเป็นที่ฮือฮาขึ้นมา เกิดกระแสความไม่พอใจในหมู่ตำรวจ ข้อโต้แย้งของตำรวจเหล่านั้นคือ มีตำรวจที่คอรัปชั่นไม่กี่คน แต่ความจริงคือตำรวจไทยไม่คอรัปชั่น เวลาคุณเจออย่างนี้ คุณจะเชื่อว่าไง งานวิจัยที่บอกว่าตำรวจคอรัปชั่น หรือข้อยืนยันว่าตำรวจไทยไม่คอรัปชั่น อันไหนคือความจริงแบบมาตรฐาน อันไหนคือความจริงแบบ Reality 

ตัวอย่างสุดท้าย คุณอานันท์ ปัญยารชุน พูดหลายครั้งในทั้งเวทีสากล และเวทีในประเทศว่าสถาบันกษัตริย์ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับการเมือง 

พระไทยเล่นกีตาร์ กับ พระไทยไม่เล่นกีตาร์ หมอไทยไม่มีพฤติกรรมทางเซ็กซ์อย่างนั้น กับหมอไทยก็มนุษย์คนหนึ่งเกิดความรู้สึกได้ ตำรวจไทยไม่คอรัปชั่น กับคอรัปชั่นเต็มไปหมด  เรากำลังพูดถึงความจริงคนละภาษาและนั่นคือวิธีที่กำลังใช้อยู่ตลอดเวลา การกล่าวว่าพระมหากษัตริย์ไม่ยุ่งการเมืองก็เป็นการพูดความจริงในแบบมาตรฐานซึ่งอาจไม่ใช่Reality ในแบบที่เราเข้าใจ 

การกล่าวเช่นนี้มีค่าเท่ากับ ข้อความที่ว่า เมืองไทยเรานี้ดีหนักหนา ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว คุณอย่าบอกว่า คำกล่าวเหล่านี้เพ้อเจ้อไร้เดียงสา มันสะท้อนความรู้สึกของหลายคนที่อยากอยู่เมืองไทย แม้ว่าจะไม่ใช่ Reality ก็ตาม ในทางกลับกันความรู้สึกของหลายคนที่อยู่ในประเทศไทยก็บ่นเช้าบ่นเย็น ถามว่าเมืองไทยเป็นเมืองที่น่าอยู่ กับเมืองไทยนี้แย่ฉิบหาย อันไหนคือความจริง อันไหนคือความไม่จริง คำตอบก็คือมันไม่ใช่ว่าอันไหนจริงหรือไม่จริง แต่เรากำลังพูดถึงความจริงคนละอย่างกัน เรากำลังพูดถึงความจริงคนละระนาบ 

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราใช้ความจริงคนละระนาบแล้วเอาไปตัดสินคดีหมิ่นประมาท

การที่ศาลตัดสินคดีอากง ศาลต้องสันนิษฐานว่าคนไทยทั่วไปมีความรู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นความจริงตามมาตรฐานซึ่งไม่ต้องพิสูจน์ คนไทยทั่วไปจึงรู้สึกถูกกระทบกระเทือนจากข้อความSMSนี่ก็เป็นความจริงที่ทึกทักเอาเลยโดยไม่ต้องพิสูจน์ ความจริงที่ศาลสันนิษฐานขึ้นเอง ไม่ใช่ความจริงที่จำเป็นต้องมาถามคน 60 ล้านคนหรือแค่สิบคนอย่างที่ยกตัวอย่าง เป็นความจริงที่มาจากการทึกทักสันนิษฐานเช่นเดียวกับความจริงที่บอกว่าตำรวจไทยไม่คอรัปชั่น หมอไทยไม่เคยมีความรู้สึกทางเพศ พระไทยไม่เคยเล่นกีตาร์ หรือสถาบันกษัตริย์ไม่ยุ่งกับการเมือง เป็นความจริงประเภทถือว่าจริงโดยไม่ต้องพิสูจน์และห้ามพิสูจน์ด้วย

การตัดสินคดีที่เกี่ยวกับคดีหมิ่นฯ มักทีกทักสันนิษฐานความจริงชนิดหนึ่งที่ไม่ต้องการการพิสูจน์ แต่มีไว้สำหรับยึดถือว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เป็นความจริงที่ไม่ต้องการค้นพบหรือวิจัย เป็นความจริงที่รู้ได้ด้วยเจตจำนงภายในของเรา และทุกคนที่เกิดเป็นคนไทยควรจะรู้อยู่ จนกระทั่งคนที่บุญน้อยและเจตจำนงค์ภายในแย่ จึงต้องตรวจสอบว่าละเมิดหรือไม่ 

Defamation Regime อยู่กับความเข้าใจเรื่องความจริงแบบสับสนปนเปกันไปหมด แล้วเราเอาความสับสนปนเปไปตัดสินคดีหมิ่นประมาทหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ข้อที่ว่าความสามารถในการเข้าถึงความจริงแบบธรรมขึ้นอยู่กับระดับบุญบารมี แต่ระดับบุญบารมีแสดงออกเป็นสถานะทางสังคม ดังนั้นคนอย่างอากงไม่มีทางรู้ถึงเจตนาภายในของผู้พิพากษา แต่ผู้พิพากษาสามารถที่จะรู้เจตนาภายในของอากง  ระดับของการบรรลุธรรม ระดับของความเข้าใจสิ่งที่อยู่ข้างใน เข้าใจเจตนาของผู้อื่นขึ้นอยู่กับความสามารถของคน ความสามารถที่จะเข้าใจนี้ขึ้นอยู่กับสถานะ มันเกี่ยวโยงทั้งหมดว่าระดับของบุญบารมีที่ไม่เท่ากัน ในแง่นี้เท่ากับว่าใครที่สามารถเข้าถึงสัจจะและความจริง ยังมีระดับหรือดีกรีที่ต่างกันด้วยซ้ำไป ลองนึกภาพดูว่าในเมื่อความสามารถในการล่วงรู้เจตนาภายในของผู้อื่นและเข้าถึงความจริงยังผูกกับconcept บุญบารมีที่มีมาแต่โบราณแล้ว ครั้นเอามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางกฎหมายสมัยใหม่ จะเกิดอะไรขึ้น 

อีกประเด็นที่สเตร็คฟัสเปิดช่องไว้โดยที่เขาไม่รู้ตัวคือ ความสำคัญของเจตนาในความคิดของไทย ในสังคมไทยประจำวันเราจะเรียกหาความจริงใจกันมากเหลือเกิน เอะอะก็คนนั้นคนนี้ไม่จริงใจ ปัญหาต่างๆเพราะขาดความจริงใจในการทำ เป็นต้น ตาม concept แบบพุทธ ความจริงใจหรือเจตนาในที่นี้ เรามักจะแปลว่า Intention ซึ่งไม่น่าจะถูก ขอให้ดูคำในภาษาอังกฤษสองตัวซึ่งบอกถึงเจตนาคนละชนิด คือ Intention และ Conscience  อย่างที่หนึ่งคือ Intention หมายถึงต้องการจะทำอะไร คิดและพยายามจะทำอะไรอย่างไร อย่างที่สอง Conscienceหรือความสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดี จิตสำนึกเป็นสิ่งที่อยู่ข้างใน บางทีเราไม่ได้คิดตั้งใจ แต่มันเป็นสำนึกที่อยู่ลึกๆอยู่ดี  เป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตสำนึกทาง Moral ในกรณีของพุทธสิ่งที่อยู่ลึกจะเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลก็ได้ เรามักจะเข้าใจว่ากุศลและอกุศลเกิดจากการกระทำของเรา แต่ก่อนที่จะเกิดการกระทำคือสิ่งที่มีอยู่แล้วเป็นเบื้องต้น ถ้ามีบุญบารมีน้อยก็มีอกุศลเจตนามาก แต่ถ้ามีบุญบารมีมากก็มีกุศลเจตนามากเพราะบุญบารมีได้ชำระสิ่งที่อยู่ข้างในเรียบร้อยแล้ว นั่นหมายถึงว่า ถ้าหากคุณฆ่าภรรยาคุณโดยที่คุณเป็นอาจารย์ เราสามารถสืบได้ว่าคุณต้องมีกุศลเจตนามากกว่าคนอื่นหน่อย ในขณะที่กรณีอากงมองก็รู้ว่าเต็มไปด้วยอกุศล เพราะมันถูกกำหนดด้วยสถานะของเขา ถ้าเขาเป็นคนใหญ่คนโตแล้วส่ง SMS แบบนั้น เลขาคุณอภิสิทธิ์อาจจะต้องโทรไปถามว่า “เป็นท่านจริงหรือเปล่าครับ”  หรือ “ผมว่าไม่ใช่ท่านนะ เพราะความจริงท่านไม่ใช่คนอย่างนั้น” แล้วก็จะไม่ฟ้องตำรวจ สังคมไทยเป็นแบบนี้ ในกรณีที่ไม่รู้จักกันเป็นส่วนตัว แต่สามารถสันนิษฐานได้ว่ามีกุศลหรืออกุศลในใจมากขนาดไหน อยู่ใน Conscience มากขนาดไหน โดยดูจากสถานะทางสังคม ขอยกอีกตัวอย่างหนึ่ง เพื่อให้เห็นถึงการมองกุศลและอกุศลในเบื้องลึกของจิตใจ โดยที่เราไม่ต้องรู้จักกันมากเท่าไหร่ ตอนคุณชาติชายเป็นนายกรัฐมนตรี  รัฐมนตรีคนหนึ่งในรัฐบาลชาติชายชื่อบรรหาร ตอนนั้นคนด่ากันมาก พอทำอะไรผิดขึ้นมา ก็จะมีคนบอกว่า “ท่านนายกฯ ไม่แย่ แต่คนรอบข้างต่างหากที่แย่”  พอคุณบรรหารเป็นนายก ฯ คำพูดก็เช่นเดียวกัน   “นายกก็ไม่ได้เป็นคนแย่ คนรอบข้างท่านต่างหากที่แย่” 

คำพูดเหล่านี้เกิดขึ้นโดยเราไม่รู้จักเขาสักคน แต่เกิดจากการทึกทักสันนิษฐานเอาว่าใครอยู่ใน ตำแหน่งไหนในสังคม คนที่อยู่ในตำแหน่งสูง เราก็มองว่าเขาไม่แย่ คนที่อยู่ในตำแหน่งที่ต่ำลงมา เราก็สันนิษฐานว่าเขาแย่กว่า คนที่อยู่ในตำแหน่งที่ห่างไกลจากแวดวงอำนาจและบารมี เราก็สันนิษฐานว่าเขาเต็มไปด้วยอกุศล ถ้าเรายังมีวัฒนธรรมแบบนี้แล้วเอาเข้าไปใช้ในกระบวนการยุติธรรมในกรณีหมิ่นประมาท ละเมิดอำนาจของรัฐจะเกิดอะไรขึ้น ผู้พิพากษาในกรณีอากงจึงสามารถพูดเรื่องล่วงรู้เจตนาภายใน พอผมอ่านตรงนี้ ผมไม่ได้คิดถึงคำว่า  Intentionเลย ผมกลับคิดไปถึงพุทธตามจารีตเดิม ที่พูดกันว่า “ให้ถือว่าบริสุทธิ์ก่อนจนกว่าจะพิสูจน์ว่าผิด”นั้นเป็นธรรมเนียมสมัยใหม่ ธรรมเนียมแต่เดิมคือ “ถือว่าผิดก่อนจนกว่าจะพิสูจน์ว่าตัวเองบริสุทธิ์” นอกจากนี้การที่คุณจะถูกสันนิษฐานว่าผิดหรือบริสุทธิ์ขึ้นอยู่กับบุญบารมีของคุณ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเราอยู่ในโลกสมัยนี้ แล้วยังมีมรดกของโลกสมัยเก่าหลงเหลืออยู่ในสมองและจิตสำนึกเราเต็มไปหมดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐและการท้าทายอำนาจ

อีกประเด็นหนึ่งที่สเตร็คฟัสมองข้าม คือ เมื่อเขาอธิบายถึง Defamation Regime ในภาวะไม่ปกติที่กลายเป็นปกติบนฐานของการจัดการความจริงแบบพุทธเถรวาทคือ เขาอภิปรายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่สฤษดิ์ ถึงปัจจุบันโดยที่เขาไม่ได้แยกแยะพลวัตรของภาวะไม่ปกติในช่วงนั้น สิ่งที่ผมอยากจะเพิ่ม คือ สังคมไทยมี Royalism เป็นปกตินับตั้งแต่ยุคสฤษดิ์ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นภาวะไม่ปกติที่กลายเป็นปกติอย่างหนึ่ง  แต่ Hyper-royalism เป็นภาวะที่ไม่ปกติหนักยิ่งขึ้นไปอีก ตรงนี้เป็นสิ่งที่สเตร็คฟัสมองข้าม ผมคิดว่าไม่ต้องใช้มโนทัศน์แบบ  Schmitt กับ Agambenแค่ใช้ความรู้ประวัติศาสตร์ไทยก็น่าจะพอเห็นพลวัตรของภาวะไม่ปกติ

ผมเคยอธิบายแล้วว่า 14 ตุลา 2516 เป็นจุดเปลี่ยนผ่านให้อำนาจแก่พวกนิยมเจ้าได้ขึ้นมามีอำนาจ กลุ่มนิยมเจ้าซึ่งมีทั้งที่เป็นเจ้าและไม่เป็นเจ้ากลับเข้ามาในวงอำนาจนับตั้งแต่หลังรัฐประหารปีพ.ศ.2490 แม้จะอยู่ได้ไม่นาน แต่ในระหว่างนั้นก็เริ่มต้นวางฐานทางความคิดซึ่งพัฒนาต่อมาในช่วงหลังสฤษดิ์ เช่น รัฐธรรมนูญที่บอกว่ามีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและมาตรา 8 ในปัจจุบัน และกฎหมายเกี่ยวกับสำนักงานทรัพย์สินฯที่ให้สิทธิพิเศษมากมาย เป็นต้น ถึงแม้ว่าจะถูกผลักให้ลงจากอำนาจในปีพ.ศ.2495 แต่ก็ฟื้นขึ้นมาใหม่อีกตั้งแต่ยุคสฤษดิ์ คราวนี้อยู่นานต่อมาถึงทุกวันนี้  14 ตุลาเป็นจุดเปลี่ยนให้ฝ่ายเจ้ามีอำนาจสูงอีกครั้ง อาจจะไม่ถึงขั้นที่ทำให้ฝ่ายเจ้ามีอำนาจนำเด็ดขาด ยังต้องต่อรองกับทหาร ปะทะ ขึ้นๆลงๆอยู่ จนกระทั่งหลังพฤษภาทมิฬปีพ.ศ.2535 จึงได้อำนาจเหนือทหาร

ผมอยากเรียกว่าระบอบหลัง 14 ตุลา 2516 เป็นต้นมาว่า “Royalist Democracy” ประชาธิปไตยแบบนิยมเจ้า สองคำนี้อาจฟังดูขัดแย้งกันในตัวเอง แต่คำนี้บอกถึงสภาพที่เป็นจริงในประวัติศาสตร์การเมืองของเรา ในภาวะนี้หมายถึงกลุ่มพลังการเมืองเก่ายังมีอำนาจสูง ในขณะที่พลังการเมืองใหม่ๆต้องการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมและต้องการกติการองรับอย่างเป็นธรรม ใน30-40 ปีที่ผ่านมากระแสความนิยมเจ้ากลับเพิ่มสูงขึ้นด้วยในเวลาเดียวกัน 

แต่เพียงแค่เริ่มพวกเจ้าก็ต้องเผชิญกับการท้าทายครั้งสำคัญเมื่อปี พ.ศ.2518 เมื่อพวกเขาตระหนกต่อการคุกคามจากคอมมิวนิสต์  ขอให้พยายามอย่าคิดแบบเรา ขอให้คิดแบบพวกนิยมเจ้า ก็จะเห็นได้ไม่ยากว่า ไม่ใช่เพียงขบวนการนักศึกษาที่เปลี่ยนเป็นฝ่ายซ้าย แต่สิ่งที่พวกเขาตกใจมากกว่า คือ การปฏิวัติอินโดจีน ทันทีที่เกิดปฏิวัติทุกคนพูดเลยว่าประเทศไทยจะเป็นโดมิโนตัวถัดไป เมื่อมองดูในประเทศ มีพวกฝ่ายซ้ายอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง มีเอเย่นต์คอมมิวนิสต์อยู่เต็มประเทศไทย จึงต้องสู้เพราะกลัวคอมมิวนิสต์ ตอนนั้นไม่ใช่อย่างปัจจุบันเพราะคอมมิวนิสต์มีโอกาสที่จะโค่นรัฐไทย เราอย่าคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ พวกเจ้าเชื่อว่าเป็นไปได้ เขาก็ต้องสู้ การใช้ Royalismสู้กับคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เพิ่งคิดค้นขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2518 สังคมไทยใช้Royalism สู้กับคอมมิวนิสต์ใน 2500 กว่าๆหรือก่อนหนัานั้นนิดหน่อย คือ ท่ามกลางการสู้คอมมิวนิสต์ตั้งแต่ช่วงต้นสงครามเย็น พวกเกลียดกลัวคอมมิวนิสต์อย่างสหรัฐอเมริการเห็นว่ากษัตริย์นิยมและสถาบันกษัตริย์น่าจะเป็นปัจจัยที่ใช้สู้กับคอมมิวนิสต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐไทยเห็นด้วยและทำตามมาตั้งแต่ตอนนั้น 

แต่กลัวคอมมิวนิสต์ขึ้นสูงที่สุดประมาณปีพ.ศ.2518 เขาจึงสู้ด้วยการเพิ่มดีกรี Royalism เข้าไปอีก ผมเรียกภาวะนี้ว่า “Hyper-royalism”(ลัทธิกษัตริย์นิยมอย่างล้นเกิน) ผมกำลังพูดถึง Royalism ซึ่งสามารถอยู่ในสมองของคนที่ไม่ใช่เจ้าได้ด้วยซ้ำไป Royalism เกิดขึ้นกับใครก็ได้ 

กษัตริย์นิยมล้นเกิน Hyper-royalism หมายถึงอะไร 

สถาบันกษัตริย์สมัยใหม่Modern Monarchyมีลักษณะต่อไปนี้ คือ 

หนึ่ง เป็นธรรมราชาเน้นด้านพระคุณ ไม่ใช่พระเดช ในฐานะนักประวัติศาสตร์ผมไม่คิดว่าแนวคิดเรื่องธรรมราชากับเทวราชาในอดีตแยกออกจากกันได้ เพราะฉะนั้นกิจกรรมอันหนึ่งที่เป็นภารกิจของพวกนิยมเจ้าปีกเสรีนิยมอย่างเช่น อานันท์ (ปันยารชุน) คือ พยายามเน้นความเป็นธรรมราชาของสถาบันกษัตริย์ไทย ผมคิดว่านั่นคือความพยายามสร้าง Modern Monarchy 

ใน concept แบบพุทธแต่เดิมนั้น อำนาจกับธรรมไม่ได้ตรงข้ามกัน ที่กล่าวกันว่า Power corrupts, absolute power corrupts absolutely เป็นคติฝรั่งสมัยใหม่ สำหรับพุทธแต่เดิม คนมีบุญบารมีสูงจึงจะมีอำนาจได้ อำนาจเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งของบุญบารมี ดังนั้นการมีอำนาจสูงสุดย่อมแสดงว่ามีธรรมสูงสุด คนสมัยนี้เท่านั้นที่อยากจะแยกสองอย่างนี้ออกจากกัน แล้วก็บอกว่าพระองค์มีแต่ด้านที่เป็นธรรมราชาไม่ได้มีด้านที่เป็นเทวราชา ผมมีตัวอย่างง่ายๆสองตัวอย่างที่แสดงถึงคติอำนาจกับธรรมเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน ตัวอย่างที่หนึ่งคือพระเจ้าอโศกซึ่งถือเป็นต้นแบบของกษัตริย์แบบพุทธ ตามตำนานมีอยู่ว่าพระเจ้าอโศกพิชิตแว่นแคว้นต่างๆไปทั่วตั้งตัวเป็นจักรพรรดิยิ่งใหญ่มาก จากนั้นจึงจะเป็นธรรมราชา เพราะกษัตริย์พุทธที่ดีต้องเป็นทั้งสองอย่าง ตัวอย่างที่สองคือเจ้าชายสิทธัตถะ ตอนพระองค์ประสูติ โหรพราหมณ์ทั้งหลายต่างทำนายว่าท่านจะเป็นจักรพรรดิหรือไม่ก็เป็นพระพุทธเจ้า นั่นหมายถึงว่าบุญบารมีของทารกองค์นี้มีมากจนสามารถเป็นจักรพรรดิก็ได้หรือจะเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้ สองอย่างนี้มาจากระดับของบุญพอๆกัน 

สอง ต้องเป็นกษัตริย์ของสาธารณชน (Popular Monarchy) ไม่ใช่เพราะสังคมไทยเป็นประชาธิปไตย แต่เป็นเพราะว่าปริมณฑลสาธารณะ (Public sphere) กว้างขวางใหญ่โตขึ้น สถาบันกษัตริย์จึงต้องสนใจผูกใจสาธารณชนด้วย สถาบันกษัตริย์จึงให้น้ำหนักกับการเป็น Popular หรือ Populismเริ่มมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 แล้วและมากขึ้นทุกทีตามการขยายตัวของปริมณฑลสาธารณะ

สาม ต้องเป็น Royal capitalism คือ ไม่มีสตางค์ก็อยู่ไม่ได้ 

สี่ หลังพ.ศ. 2475 เป็นต้นมาสถาบันกษัตริย์ต้องอยู่เหนือการเมือง ส่วนจะหมายความว่ายังไง ผมพูดไว้มากแล้วในที่อื่น

ทีนี้ Modern Monarchy นี้ในความเป็นจริงมีพฤติกรรมอย่างไรก็ตาม แต่ว่าตามความจริงแบบมาตรฐานต้องกล่าวว่ากษัตริย์เป็นธรรมราชา เน้นพระคุณ เป็นที่รักของมหาชน และอยู่เหนือการเมือง นี่คือความจริงแบบมาตรฐานที่อยู่ในความรู้ของคนไทยทั่วๆไป พูดต่างไปจากนี้ถือเป็นการละเมิด

Modern Monarchy ของไทยยังอยู่ในภาวะ Hyper-royalism ซึ่งหมายถึงลัทธินิยมกษัตริย์แบบเว่อ เป็นยิ่งกว่า Royalism ตามปกติเสียอีก Hyper-royalismมีลักษณะดังต่อไปนี้  

ประการแรก เป็น Royalism แบบหนักหน่วงขึ้นหนักหนามากขึ้น ลองกลับไปหาข้อมูลซึ่งหาได้ง่ายมากจากหนังสือพิมพ์หรือวิกิพีเดีย จะพบว่ามีจำนวน ขนาด ความถี่ ของพิธีการเฉลิมฉลองที่เกี่ยวพันกับสถาบันกษัตริย์มีมากขึ้น แทบทั้งหมดเป็นประเพณีที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ (Invented Tradition) และเว่อขึ้นทุกที 

ประการที่สอง คือความศักดิ์สิทธิ์ คริสทีน เกรย์ (Christine Gray) อธิบายไว้ในวิทยานิพนธ์ภาษาอังกฤษเมื่อปี ค.ศ.1986[6]ว่ายิ่งเป็นทุนนิยมมากเท่าใด สถาบันกษัตริย์ของไทยยิ่งเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ ด้านหนึ่งโดยทำให้พิธีกรรมและความศักดิ์สิทธิ์ให้กลายเป็นสินค้า (Commodification) มากขึ้น และอีกด้านหนึ่งเพราะความเชื่อที่ว่าการกินดีอยู่ดีอุดมสมบูรณ์เป็นผลของอำนาจศักดิ์สิทธิ์หรือมนต์ขลัง (Magic) ในทำนองเดียวกัน ปีเตอร์ แจ็คสัน (Peter Jackson) ในบทความบทแรกของหนังสือเรื่อง Saying the Unsayable[7]ก็อธิบายการทำให้สถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และการพยายามแสดงว่าสถาบันกษัตริย์ของไทยในปัจจุบันมีสัดส่วนของธรรมราชามากขึ้นและเทวราชาน้อยลง

ประการที่สาม ลักษณะของHyper-royalism หรือ ลัทธินิยมเจ้าแบบเว่อคือ ปรากฏการณ์ที่ทำให้เจ้าเป็นผู้วิเศษเป็นยอดมนุษย์ มีความสามารถสารพัด ทำอะไรก็เลิศสุดยอดเก่งไปหมดทุกด้าน Royalism ตามปกติไม่ต้องทำให้เจ้าเป็นยอดมนุษย์หรอก เจ้าก็เป็นเจ้า เขาก็เหนือคนธรรมดาอยู่แล้ว


[6]Christine Gray, “Thailand: the Soteriological State in the 1970s,“ Unpublished PhD dissertation, University of Chicago, 1986

[7]SØren Ivarsson and Lotte Isager (eds.), Saying the Unsayable: Monarchy and Democracy in Thailand, NIAS Press, Copenhagen, 2010.  


ประการที่สี่ สาธารณชนเกี่ยวข้องเข้าร่วมในการสร้าง Hyper-royalismทั้งหน่วยงานรัฐและภาคสังคม พูดง่ายๆคือไม่ใช่เจ้าทำเองแต่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคม คนในสังคมนั่นแหละเป็นคนทำ เกิดคนที่เป็นยิ่งกว่าราชาเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด หนังสือบนแผงก็ไม่ใช่สิ่งที่เจ้าสั่งให้ทำ แต่เขียนกันเองเพื่อหาเงิน หาหน้า หาเหรียญตรา ภาวะเว่ออย่างนี้แต่ก่อนไม่มีแต่มามีในช่วง 30-40  ปีมานี้ การที่สาธารณชนมีส่วนร่วมผลิตเผยแพร่Royalism ได้มากขึ้นก็เพราะ Royalism ถูกทำให้เป็นการพาณิชย์ (Commercialized) เพราะฉะนั้นปรากฏการณ์นี้จึงไม่เกิดขึ้นในยุคที่ทุนนิยมยังไม่เติบโตเท่าไรนัก มันเกิดขึ้นในปัจจุบันเพราะ Royalism ถูก Commodify ทำให้กลายเป็นสินค้า

อีกเงื่อนไขหนึ่งที่สาธารณชนเข้าร่วมผลิตเผยแพร่Royalism ได้คือสื่อมวลชน โปรดสังเกตการเติบโตของ Royalism ที่กลายเป็นHyper-royalism นั้นเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการขยายตัวของทีวี Hyper-royalismเติบโตคู่ขนานไปกับการเปลี่ยนแปลงของโทรคมนาคมและการสื่อสารข้างเดียว ทีวีเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการขยายตัวของ Hyper-royalism เพราะมันทั่วถึงบ้าน เห็นภาพ สมจริง และข้างเดียว ถ้าขาดคุณสมบัติเหล่านี้คงไม่มีประสิทธิภาพ ทีวีจึงมีความสำคัญมากต่อการขยายตัวของ Hyper-royalismในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา

ประการสุดท้าย คือ ลักษณะทั้งหลายของ Hyper-royalismที่กล่าวมาต้องควบคู่ไปกับการปราบปรามคนที่ไม่เห็นด้วยอย่างหนัก เช่น ด้วย 112

สรุปที่กล่าวมาทั้งหมดก็คือ ทั้งสภาวะยกเว้น ทั้ง Defamation Regimeและ Hyper-royalism ได้ก่อให้เกิดระบอบการเมืองวัฒนธรรมที่ปกครองด้วยอุดมการณ์ความเชื่อและการปลูกฝัง ควบคุมทางความคิด สังคมไทยไม่ใช่สังคมเผด็จการแบบพม่าหรือเกาหลีเหนือ แล้วมันทำงานอย่างไรกัน

ประเด็นน่าคิดก็คือ ระดับหรือขนาดของการฆ่ากันทางการเมืองในสังคมไทยไม่ใหญ่โตนักถ้าเทียบกับสังคมอื่น (ผมขออภัยที่พูดแบบนี้ เพราะเพียงคนเดียวก็มากเกินพอแล้ว แต่ที่พูดแบบนี้ไม่ใช่ในเชิงศีลธรรม เพียงแค่ต้องการเปรียบเทียบปรากฎการณ์ทางสังคมเท่านั้น) เพราะผมคิดว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ควบคุมโดยอุดมการณ์ความคิด (Rule by Ideology and Thought Control) เป็นด้านหลัก ไม่ใช่การฆ่าหรือพูดในภาษาคนรักเจ้าคือ สังคมไทยเป็นสังคมที่ควบคุมคนด้วยความจงรักภักดี ถ้าทำให้คนยอมสยบต่ออำนาจรัฐและไม่ล่วงละเมิดหรือคิดกบฏต่ออำนาจรัฐ ก็ไม่ต้องฆ่า (“รัฐ” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่รัฐบาล แต่หมายถึงเครือข่ายอำนาจของ Royalist Democracy)

สิ่งที่รัฐทำอย่างฉลาดมากก็คือไม่ควบคุมทุกเรื่อง แต่ควบคุมในเรื่องที่กระทบต่อระเบียบทางสังคม (Social Order) สำคัญๆจำนวนหนึ่ง การพูดถึงสถาบันกษัตริย์อยู่ในข่ายการควบคุมแน่นอน แต่ก็ยังมีเรื่องอื่นด้วย เช่นวิพากษ์วิจารณ์รัฐได้แค่ไหน พูดถึงตุลาการได้อย่างไรแค่ไหน ไปจนถึงพูดถึงอีกหลายเรื่องที่มีผลต่อระเบียบสังคม เช่น ควรพูดถึงพระอย่างไร เล่นกีตาร์ได้หรือไม่ ควรพูดถึงหมออย่างไร มีความรู้สึกทางเพศได้หรือไม่

ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่เราต้องพยายามเข้าใจให้มากกว่านี้ บางเรื่องเขาไม่ต้องควบคุม แต่ควบคุมบางเรื่องว่าไม่ให้ละเมิด นี่ไม่ใช่แค่ว่าผู้มีอำนาจใช้อำนาจตามใจชอบ ผมคิดว่าไม่ง่ายแค่นั้น ตรงนี้ผมขอทิ้งไว้ ให้เก็บไปคิดอีกทีว่าจะอธิบายอย่างไรว่าบางทีเรื่องที่ดูเล็กก็ถูกควบคุม ความรู้ทางประวัติศาสตร์เขาก็ควบคุมหนังสือเรียน แต่ไม่ควบคุมการพูดถึงประวัติศาสตร์ ผมจึงพูดได้ แค่ตัวอย่างนี้เห็นได้ชัดว่าไม่ได้ห้ามไปหมด แต่อะไรห้ามอะไรให้ แค่ไหนห้ามแค่ไหนให้ เรื่องนี้ขอทิ้งให้คิด 

Defamation Regime จึงไม่ควบคุมทุกเรื่อง ไม่ควบคุมทุกอย่างในในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เกาหลีเหนือ ไม่ใช่พม่า ไม่ใช่นาซี และไม่ใช่ 1984 ของ ออร์เวล แต่ก็มีหลายอย่างที่มีลักษณะร่วมกัน สเตร็คฟัสยกตัวอย่างการควบคุมสามอย่างคือ ข่าว ภาพยนตร์และประวัติศาสตร์ เขาตั้งข้อสังเกตถึงการควบคุมจัดการกับ Truthที่ผลิตและเผยแพร่ในแหล่งความรู้ทั้งสามนี้ แต่เขายังไม่ได้สรุปกฎเกณฑ์ออกมา สเตร็คฟัสใกล้ที่จะอธิบายการควบคุมความคิดให้ได้ แต่ยังไม่ถึงยังไม่พอ 

ภารกิจใหญ่ๆของการปกครองด้วยThought controlมีสองด้าน ด้านหนึ่งคือปลูกฝังทางอุดมการณ์ ด้านที่สองคือใช้ Social Sanction หรือภาษาไทยเรียกว่า การให้โทษทางสังคม แต่ Social อันนี้ผมรวมถึงอำนาจรัฐด้วย 

ผลของการปกครองด้วย Thought control คือ หนึ่ง สังคมไทยในปัจจุบัน “ตอแหล”หน้าไหว้หลังหลอกสุดๆจนเหลือเชื่อ ท่วมท้นแพร่หลายไปทุกวงการจนน่าขยะแขยง เราเจอคนหน้าไหว้หลังหลอกเต็มสังคมไปหมด รวมทั้งพวกเราด้วย หน้าไหว้หลังหลอกหมด ผมไม่ได้พูดถึงเจตนาภายในหรือนิสัย แต่พูดถึงปรากฏการณ์ทางสังคมภายใต้ Defamation Regime และ Thought Control ภายใต้การควบคุมว่าอะไรพูดได้ อะไรพูดไม่ได้ ทำให้เราทุกคนจะอยู่รอดได้ต้องช่วยกันตอแหล ไม่ตอแหลอยู่ไม่ได้ ความตอแหลเป็นความจำเป็น เป็นเอกลักษณ์ไทย เพราะสังคมเราเป็นแบบนี้ ผมไม่ได้บอกว่านิสัยใครเป็นยังไง ผมพูดถึงการใช้ชีวิตทางสังคมที่ต้องตอแหล ตอแหลจนน่าอึดอัด  เราจะไม่ตอแหลก็ไม่ได้ ทุกคนช่วยกันตอแหล ทุกคนรู้ว่าคนอื่นตอแหล ทุกคนเชิดชูการตอแหล ไม่ลงโทษ ไม่ห้ามปราม ไม่บอกว่าการตอแหลเป็นสิ่งไม่สมควร 

ขอย้ำว่าเพราะไม่ตอแหลอยู่ไม่ได้ ทำให้ประชาชนชาวไทยทุกคนเรียนรู้ที่จะต้องหน้าไหว้หลังหลอก ปากอย่างใจอย่าง ปากว่าตาขยิบ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ หลายเรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจ คุณก็ต้องตอแหล บรรดาคนรักเจ้าทั้งหลาย กรุณาคิดดีๆก่อนที่จะไปเล่นงานคนอื่น ก่อนที่จะไปเรียกร้องความรักเจ้าแบบ Hyper แบบที่ทำกันอยู่ เพราะพวกคุณก็นินทาเจ้าเสียๆหายๆ แล้วคุณก็ฟ้องกล่าวโทษคนอื่น พวกคุณก็ทำในสิ่งที่คุณกำลังลงโทษคนอื่น  ตอแหลสิ้นดี เพื่อยืนยันว่าสังคมไทยต้องไม่พูดความจริง ต้องตอแหลอย่างพวกคุณ ถึงจะได้ดิบได้ดี 

สอง ผลของการปกครองด้วยThought controlอิกอย่างคือการหลอกตัวเอง ผมดูข่าวคนที่ไปประท้วงหน้ายูเอ็น (United Nations)ซึ่งออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีคดีอากง คนประท้วงเขาอธิบายว่าทำไมกฎหมายหมิ่นฯจึงจำเป็น คำอธิบายของเขาฟังขึ้นเฉพาะในประเทศไทย หากไปอธิบายให้กับคนที่อื่นฟังเขาจะบอกว่าไม่สมเหตุสมผล แม้แต่สิ่งที่คุณอานันท์พูดบ่อยๆว่าสังคมไทยพิเศษ กฎหมายหมิ่นฯจึงจำเป็น เราอยู่ในสังคมที่หลงตนเอง คับแคบ หลอกตัวเอง มีปัญหาเต็มไปหมดเราก็บอกว่าสังคมไทยมีลักษณะพิเศษ มีพระที่เล่นกีตาร์เราก็บอกว่าพระไม่เล่นกีตาร์ ตำรวจคอรัปชั่นมีเท่าไหร่ผมไม่ทราบแต่จำเป็นไหมที่กรมตำรวจไทยออกมาบอกว่าตำรวจไทยไม่คอรัปชั่น ทำไมคุณอานันท์หรือคนที่รักเจ้าต้องออกมาพูดแล้วพูดอีกว่าสถาบันกษัตริย์ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เหล่านี้คือปรากฏการณ์หลอกตัวเอง

แต่คุณคิดว่าตำรวจไม่รู้หรือว่าตำรวจคอรัปชั่น คุณคิดว่าคนไทยไม่รู้เหรอว่าพระก็มีดีมีไม่ดีเต็มไปหมด กองเซ็นเซอร์ก็รู้พอกัน แต่ทำไมจึงต้องพูดอย่างนั้น เพราะต้องยืนยันว่าในทางสาธารณะควรพูดเฉพาะความจริงมาตรฐาน ผิดไปจากนี้คือความไม่เหมาะสมหรือการละเมิด แล้วตั้งใจช่วยกันตอแหลไปกับความจริงมาครฐานนั้น เพื่อที่ตัวเองจะไม่ต้องเผชิญกับปัญหาที่มีอยู่แล้ว เพื่อไม่ต้องเผชิญความจริงอีกแบบหนึ่งซึ่งเรียกร้องจะจัดการแก้ไข หลอกตัวเองกันไป สังคมไทยอยู่ในภาวะหลอกตัวเองจนน่ากลัว 

การหลอกตัวเองที่สำคัญคือคนที่คาดคั้นคนอื่นว่าเอาเจ้าหรือไม่ เราต้องตั้งคำถามกลับไปว่า เอาเจ้าของคุณแปลว่าอะไร แล้วการเอาเจ้าของคุณตอแหลหรือไม่ ถ้าคุณยังตอแหล เคยนินทาเจ้าเสียๆหายๆ คุณไม่มีสิทธิไปถามคนอื่น

สาม ผลของการถูกควบคุมหรือปริมณฑลที่ถูกควบคุมคือ เกิดการระบาดของ Self-censorship ไปทั่วสังคมไทย วงการสื่อมวลชนไทยทั้งสิ่งพิมพ์และทีวี พวกเขาทรยศต่อวิชาชีพเต็มไปหม เพราะความกลัว สังคมไทยกลัวเต็มไปหมด สังคมไทยอยู่ด้วยความกลัวว่าแค่ไหนจะข้ามเส้นไม่ข้ามเส้น

ประการสุดท้าย ลักษณะตอแหล หลอกตัวเอง หลงตัวเอง Self-censor เหล่านี้ที่กลายเป็นสถาบันเป็นระบบระเบียบคือ กระบวนการยุติธรรม คำตัดสินหลายอย่างได้สถาปนาให้เราเห็นว่าแค่ไหนพูดได้พูดไม่ได้ คำตัดสินจำนวนไม่น้อยมันยุติธรรมหรือไม่ แต่เมื่อตัดสินแล้วก็กลายเป็นบรรทัดฐานตีกรอบให้เรารู้ว่าแค่ไหนละเมิดไม่ละเมิด ควรจะกลัวหรือไม่กลัว

ลักษณะการปกครองด้วย Thought control ที่กล่าวมายกเว้นเรื่องการตอแหลมีอยู่ในหนังสือ 1984 

เราอาจจะหัวเราะเวลาเราบอกว่าไทยเราคล้ายพม่าหรือเกาหลีเหนือ เรามีข้อแตกต่างมากมายสาธยายไม่หมด แต่บางคนบอกว่าเกาหลีเหนือเป็นรูปธรรมที่เป็นชีวิตจริงของ 1984ที่สำคัญคือสังคมที่หนังสือเล่มนี้เล่าถึงสังคมปกครองด้วยThought Controlแต่พอเป็นนิยายก็อธิบายหลายอย่างจนเว่อเป็นธรรมดา

ผมเห็นว่าเราสามารถเข้าใจสังคมไทยได้โดยพยายามคิดผ่านหนังสือเล่มนี้ มนุษย์เราไม่มีทางควบคุมได้ขนาดนั้น ผมอยากจะเรียกว่าสังคมไทยเป็น 1984แบบไทยๆ คือเราไม่มี Big Brother แต่เราเป็น 1984 ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อย่างน้อยที่สุดใน 1984 ไม่เคยเลยที่ประชาชนจะซาบซึ้งกับBig Brotherใน 1984ใช้พระเดชในการควบคุม แต่ 1984ก็ไม่เน้นการฆ่า1984มีอะไรที่น่าสนใจมากเวลาอ่านถึงแล้วมันเหมือนสังคมไทย ยกตัวอย่าง เช่น เขามี Ministry of Truth ที่ชาวบ้านเรียกชื่อย่อว่า Mini Truth คุณลองนึกดูว่า ถ้า Ministry of Information แล้วคุณเรียกย่อว่า Mini Info และสิ่งที่เขาทำคือ Mini Info จริงๆ 

อีกประเด็นหนึ่งที่เวลาอ่านทีแรกผมไม่เข้าใจคือที่1984บอกว่า สงครามคือสันติภาพ เสรีภาพคือความเป็นทาส อวิชชาคือกำลัง กลับตาลปัตรจากความหมายปกติหมด ผมเข้าใจเมื่อเจอกับ1984 แบบไทยๆ ขอพูดถึงตัวอย่างเดียวคือที่กล่าวว่าเสรีภาพคือความเป็นทาส ผมไม่เคยเข้าใจจนกระทั่งผมคิดถึงสังคมไทยที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ คุณลองคิดดูอย่างนี้ว่าเวลาคุณวิจารณ์อะไรก็แล้วแต่ เช่น วิจารณ์ม. 112 จะมีปฏิกิริยาตอบกลับมาว่าก็ถ้าคุณไม่ไปทำก็ไม่เห็นเดือดร้อนอะไร ถ้าคุณไม่เป็นอย่างนั้น คิดอย่างนั้น คุณก็อยู่ประเทศนี้ได้ ถ้าคุณไม่อยากอยู่ ถ้าคุณยังคิด ก็ออกไปอยู่ประเทศอื่นซะ ผมจึงเข้าใจความหมาย 

ถ้าคุณแสวงหาเสรีภาพ ตาสว่าง คุณจะต้องอึดอัดกับชีวิตว่าพูดได้แค่ไหน ต้องกลัวการถูกปราบปรามไล่ล่า หลบซ่อน สมัยก่อนก็ลงใต้ดิน เข้าป่า ถูกเข้าคุก ถ้าคุณคิดมาก อยากออกจากข้อจำกัด อยากมีเสรีภาพทางความคิด คุณต้องระวังคำพูด ระวังตัวแจ อาจจะถูกไล่ล่า ไม่มีเสรีภาพ ชีวิตคุณอาจจะไม่เป็นสุข แต่ถ้าคุณยอมตาบอดต่อไป หรือตอแหลหลอกตัวเองเข้าไว้ อย่าคิดมาก อย่าแสวงหาเสรีภาพ อย่าสู้ อย่าพยายามมีความเป็นปัจเจก (individualism)  ยอมเป็นเฟืองตัวเล็กๆที่สามัคคีกัน ทำตามหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด คิดถึงองค์รวมให้มาก ลดความขัดแย้ง เกิดบูรณาการ ถ้าเป็นอย่างนี้คุณสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติอย่างไม่ต้องหลบซ่อน ไม่ต้องระวังตัวว่าจะพูดข้ามเส้น ไม่ต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง ไม่ต้องเสี่ยงตำรวจ คุณมีเสรีภาพเต็มเปี่ยมที่จะดำเนินชีวิตปกติ เห็นไหมครับว่า เสรีภาพคือการเป็นทาส การเป็นทาสต่างหากคือเสรีภาพ เพราะสังคมไทยเป็นแบบนี้ คนจำนวนมากจึงมีเสรีภาพ คนจำนวนน้อยต่างหากที่บ้า กระเสือกกระสน อยากจะมีเสรีภาพ ผลที่ได้ก็คือการเป็นทาส

1984 มีอีกหลายอย่างให้คิด เช่นลักษณะพิเศษของ 1984คือโอไบรอันที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกับพวกที่คิดออกนอกลู่นอกทางBig Brother ขนาดนั้นยังลงมาคุยกับวินสตันและจูเลีย วินสตันเป็นประชาชนธรรมดาสามัญที่เกิดอาการตาสว่างแล้วตั้งคำถาม การขบถอย่างถึงที่สุดสำหรับ1984คือเกิดความเป็นปัจเจก พฤติกรรมการเป็นปัจเจกที่ชัดที่สุดคือมีเซ็กส์ที่อยู่นอกการถูกควบคุมโดยBig Brother ผมเคยคิดมาตลอดว่าถ้าโอไบรอันตาย 1984 จะมีรัชทายาทไหม ผมรู้ว่าเป็นนิยายแต่ผมพยายามจะตั้งคำถามว่าสังคมแบบนั้นมันทำงานยังไง สุดท้ายแล้วผมก็ไม่มีคำตอบเพราะสุดท้ายแล้วมันก็เป็นนิยาย จนกระทั่งผมมาเจอ 1984ที่มีชีวิตจริงกับตัวเอง ผมจึงพอบอกได้ว่าออร์เวลน่าจะคิดอยู่ในใจแต่เขาไม่จำเป็นต้องสาธยายออกมา หมายความว่าเขาคิดถึงระบอบสตาลินแน่ๆ ระบอบนั้นจะอยู่อย่างไร ระบอบอยู่ได้ยาวไหม เพราะเห็นอยู่ว่า ต่อให้อยู่ยาวแค่ไหนมันก็อยู่ไม่ตลอดไป 

ผมจึงกลับมาคิดว่าในสังคมไทยจะเป็นอย่างไร พูดง่ายๆ คือ การสืบทอดอำนาจในยุคนาซี ซึ่งไม่เกิดเพราะนาซีล่ม ในยุคสตาลินเกิดขึ้นหลังออร์เวลตายไปแล้ว ออร์เวลจึงไม่ได้ให้คำตอบ ผมจึงมาคิดว่าแล้ว 1984แบบไทยๆล่ะ คิดเอาเองก็แล้วกัน ไม่จำเป็นต้องมีคำตอบเดียวกัน เพราะอย่าลืมว่าในกรณีของไทย เราจะพบว่าไม่ได้มีโอไบรอันหนึ่งคนที่เป็น Big Brotherแต่มีลักษณะเป็นเครือข่าย (Network)เป็นกลุ่ม อาจจะมีบางคนบิ๊กบางคนไม่บิ๊ก เป็นเครือข่ายที่มีอำนาจมากน้อยต่างกัน ช่วยสอดส่องดูแลและควบคุมความคิดของประชาชนทั่วไป 

ในอีกแง่หนึ่ง การควบคุมความคิดอย่างที่ออร์เวลบรรยายในหนังสือเล่มนี้ไม่เนียบเลย ไม่ประณีตและไม่ซับซ้อน ออร์เวลล์ยังไม่เคยเจอสังคม 1984ที่เป็นจริงนอกไปจากสังคมนาซีหรือสตาลิน ออร์เวลไม่เคยเจอ 1984แบบตะวันออก พูดง่ายๆก็คือสังคมที่ใช้การควบคุมความคิดเป็นหลักมันทำงานอย่างไรในความเป็นจริงออร์เวลไม่เคยเจอ

ในกรณีของ 1984แบบไทยๆมีคนฉลาดมากมายทั้งบิ๊กไม่บิ๊กที่พร้อมจะปกปักรักษาสังคม1984แบบไทยๆ คนพวกนี้สอดส่องพวกเราแทนพี่เบิ้ม มีคนที่พร้อมจะออกหนังสือเพื่อแก้ตัวชำระสะสางความสกปรกให้พี่เบิ้มอยู่เป็นประจำเต็มไปหมด พวกเขาจึงมีเสรีภาพเต็มที่ที่จะเขียนงานวิจัย พิมพ์หนังสือ ทำตัวฉลาด ทำตัวเป็นผู้รู้ เป็นผู้ดีรัตนโกสินทร์แล้วก็เฉลิมฉลองกันไป ในขณะที่คนที่คิดต่างทำอย่างนั้นไม่ได้ คนพวกนี้บางคนชอบทำตัวเสรีนิยมแบบโอไบรอัน ในขณะที่จูเลียกับวินสตันโดนคุกคามปราบปราม โอไบรอันทำตัวเข้าอกเข้าใจวินสตันตลอดเวลา แต่สุดท้ายโอไบรอันนั่นเดงเอาวินสตันเข้าไปทรมาน เขาไม่ฆ่า  แต่ทรมานจนกระทั่งวินสตันยอมเปลี่ยนพฤติกรรม ยอมสารภาพ วินสตันจึงออกจากการถูกจองจำทรมานได้ คุณต้องยอมสารภาพคุณจึงจะมีเสรีภาพอีกครั้งเพื่อที่จะออกมาเป็นทาสตามเดิม ถ้าคุณไม่ยอมสารภาพคุณอาจจะมีเสรีภาพได้แต่คุณต้องอยู่ในคุก เสรีภาพที่อยู่ในใจกับเสรีภาพเชิงกายภาพมันตรงข้ามกัน 

อำนาจของ Big Brother หรือโอไบรอันคือการทำลายความเป็นปัจเจกชน ทำลายความมุ่งมั่นของคนที่จะเป็นกบฏทางความคิด โปรดสังเกตว่าโอไบรอันไม่ฆ่า แต่ทรมานทางใจจนหมดสภาพ สุดท้ายวินสตันสารภาพและได้รับการปล่อยตัวออกมา ทั้งที่วินสตันยังคิดถึงจูเลียและเซ็กส์ แปลว่าวินสตันต้องตอแหล และเก็บเสรีภาพที่เขามีอยู่ไว้ในใจ เขาจึงจะได้รับการอภัยโทษ คุณต้องคุกเข่าหมอบกราบก่อนไม่อย่างนั้นคุณไม่มีเสรีภาพ

แต่ออร์เวลล์ไม่รู้จัก 1984 ตะวันออกของจริง จึงมีฉากตอนท้ายว่าวินสตันยังคิดถึงจูเลียและเซ็กซ์อยู่ ผมกลับคิดว่ายังมีคนจำนวนมหาศาลที่ออร์เวลคิดไม่ถึง ทั้งที่ติดคุกและออกมาซึ่งไม่ได้เปลี่ยนง่ายๆและคนตั้งมากมายที่เขายังไม่ติดคุกแต่เขารู้จักตอแหลเพื่อไม่ให้ถูกจองจำทางกายภาพ ออร์เวลไม่รู้จักสังคมประเภทนี้ การบังคับของ 1984 จึงเป็นไปแบบเถื่อนๆดิบๆ ออร์เวลไม่รู้จัก 1984 ที่ประณีต เนียนและมีศิลปะ 

แต่ 1984 ชนิดเนียนไม่มีทางควบคุมได้หมด มีการต่อต้านทั้งดังทั้งกบฎเงียบอยู่เต็มไปหมด 

Latest Story

ไปให้พ้นจากการจ้องจับผิด: การเมืองของการเสพติด สู่ปัญหา “ปีศาจนักสูบ” แห่งมช.

ทำไมคนเราถึงสูบบุหรี่ ?…. ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน.. ที่แน่ ๆ คนสูบบุหรี่คงโดนถามคำถามนี้บ่อยครั้ง แต่อันที่จริงใครสักคนจะสูบบุหรี่เพราะอะไรก็คงจะมีแรงจูงใจหลายอย่างตามอัตวิสัยของแต่ละคน บางคนอาจจะชอบประสบการณ์เวลาตัวเองสูบ สูบเพื่อผ่อนคลาย เสริมสร้างจินตนาการบางห้วงขณะ หรือมันอาจจะไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลอะไรก็ได้ ก็แค่อยากสูบ อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนอยากชวนให้ทุกคนลองพิจารณาดูก็คือ เรื่อง “ภาพจำของคนสูบบุหรี่ในสังคม” คุณคิดว่าสังคมไทย ๆ มีภาพจำกับคนสูบบุหรี่แบบไหน ?