เสรีภาพสื่อในมือกฎหมาย

เสรีภาพสื่อในมือกฎหมาย
บทบรรยายในงานเสวนา ณ ร้านบุ๊ค รี:พลับลิก วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2555

สาวตรี  สุขศรี

(ดำเนินรายการโดย ทศพล ทรรศนกุลพันธุ์)

ขอกล่าวสวัสดีผู้เข้าร่วมเสวนาทุกท่านอย่างเป็นทางการ และขออนุญาตแบ่งหัวข้อในการพูดให้สอดคล้องกับชื่อหัวข้องานในวันนี้ออกเป็น 5 ประเด็นด้วยกัน  ประกอบด้วย หนึ่ง ว่าด้วยเสรีภาพสื่อ สอง เสรีภาพสื่อในมือกฎหมาย สาม รัฐไทยใช้อำนาจในการจำกัดเสรีภาพสื่อโดยอาศัยกฎหมายฉบับต่าง ๆ สี่ คือ สื่อและอำนาจของสื่อสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สื่อออนไลน์” เป็นลักษณะของการตั้งคำถามว่า เหตุใดรัฐไทยจึงกลัวสื่อออนไลน์ และประเด็นสุดท้ายเป็นเรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 โดยจะอภิปรายให้ครอบคลุมถึงมาตรการอื่น ๆ ด้วยว่านอกจากตัวบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว รัฐได้ออกมาตรการอื่นใดอีกหรือไม่ ที่ไม่เป็นมิตรกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพสื่อ

ประเด็นแรก ว่าด้วยเสรีภาพสื่อ

            ในการพูดถึง หรือการจะทำความเข้าใจว่าเหตุใดจึงต้องมี “เสรีภาพสื่อ” และเสรีภาพสื่อนี้แท้ที่จริงแล้วคืออะไรกันแน่  มีขึ้นเพื่ออะไร เราจำเป็นต้องมองให้เห็นความเชื่อมโยงสัมพันธ์ระหว่าง เสรีภาพสื่อ กับ เสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนเสียก่อนว่า โดยหลักแล้วประชาชนย่อมมี เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในอันที่จะคิดและแสดงความคิดนั้นออกมา ไม่ว่าจะคิดเห็นอย่างไรก็สามารถแสดงออกมาได้ในทุก ๆ เรื่อง ในสังคมประชาธิปไตยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถือเป็นพื้นฐานของเสรีภาพประเภทอื่น ๆ ตราบใดที่คนยังไม่มีเสรีภาพในการคิด ในการพูด ในการเขียนเสียแล้ว สิทธิเสรีภาพอื่น ๆ ก็คงมิอาจเกิดขึ้นได้ ส่วนเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารนั้น เป็นข้อที่เข้ามาช่วยส่งเสริมให้เสรีภาพชนิดแรกเข้มแข็งยิ่งขึ้น และใช้ได้จริง เนื่องจากโดยปกติแล้วคนเราจะใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่เต็มประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อเราได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างครบถ้วนรอบด้านเพื่อเป็นฐานให้ได้คิดวิเคราะห์ หากประชาชนได้ข้อมูลเพียงชุดเดียว หรือถูกรัฐจำกัดให้รับรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งแต่เพียงเรื่องเดียว ลักษณะของการคิดการแสดงออกก็จะถูกจำกัดให้อยู่ในกรอบของข้อมูลที่ถูกจำกัดให้รับโดยรัฐไปด้วยโดยปริยาย เราจะไม่สามารถคิดนอกกรอบที่รัฐขีดวางไว้ให้ได้ หรือหากจะคิดได้ก็ต้องผ่านการขวนขวายใช้กำลังภายในช่วยแสวงหาข้อมูลชุดอื่นเอาเอง  ดังนั้น หากประชาชนทั่วไปถูกจำกัดเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ก็ย่อมส่งผลต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในที่สุด และผู้มีบทบาทในอันที่จะทำให้เสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนเกิดขึ้นได้ ก็คือ สื่อ นั่นเอง ดังนั้น สื่อจึงเป็นเสมือนเครื่องมือในการบริหารเสรีภาพทั้งสองประเภทของประชาชน  ความสำคัญของ เสรีภาพสื่อ จึงมีเบื้องหลังอยู่ที่ความสำคัญของ เสรีภาพของประชาชน  

            อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาข้อรณรงค์เรียกร้องต่าง ๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย)ที่เกี่ยวกับ เสรีภาพสื่อ เราได้ยินคำว่า “เสรีภาพสื่อ คือ เสรีภาพของประชาชน” อยู่บ่อย ๆ การกล่าวเช่นนี้ถูกต้องหรือไม่ คำตอบคือ ถูกต้องอยู่ แต่ไม่ทั้งหมด เพราะดังกล่าวไปแล้วแต่ต้นว่าเสรีภาพสื่อเป็นเพียงเสรีภาพที่จะเข้ามาช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้เสรีภาพของประชาชนมั่นคงเข้มแข็งขึ้น หาใช่สิ่งเดียวกับเสรีภาพของประชาชนไม่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเองก็บัญญัติเสรีภาพสองเรื่องนี้ไว้แยกต่างหากจากกัน ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2550)  เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถูกบัญญัติไว้ในมาตรา45 มีใจความสำคัญในวรรคแรกว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพนั้นจะทำไม่ได้ 

            เว้นแต่ด้วยเหตุผล 4 ประการ คือ เพื่อรักษาความมั่นคงแห่งรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพหรือเกียรติยศชื่อเสียงหรือสิทธิในครอบครัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจซึ่งโดยปกติแล้ว หาก “นิติรัฐ” ทำงานได้ดี แม้รัฐธรรมนูญจะเขียนเหตุผลข้อยกเว้นให้รัฐจำกัดเสรีภาพไว้อย่างกว้างขวาง ก็คงไม่เป็นเรื่องที่ต้องกังวลใจมากนัก เพราะกฎหมายลูกฉบับต่าง ๆ ที่จะออกมาตามความแห่งมาตรานี้ก็ต้องเจาะจงเฉพาะกรณีให้ชัดลงไปอีกว่าต้องการจำกัดเสรีภาพในเรื่องใด ด้วยเหตุผลใด เพื่อไม่ให้รัฐให้อำนาจล่วงละเมิดเสรีภาพของประชาชนมากจนเกินไป ส่วนในวรรคสองนั้นรัฐธรรมนูญมุ่งเน้นไปที่กิจกรรม และองค์กร กล่าวคือ การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่น เพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพตามมาตรานี้จะกระทำมิได้เลย ทั้งนี้โดยไม่มีข้อยกเว้น

            สำหรับ เสรีภาพสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอันที่สื่อจะสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้โดยเสรี  สามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้ในทุก ๆ ด้าน หลัก ๆ จะได้รับการคุ้มครองตามมาตรา46  รัฐธรรมนูญ ซึ่งบัญญัติว่า พนักงานหรือลูกจ้างเอกชนที่ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือสื่อมวลชนอื่น ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าว และแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือเจ้าของกิจการนั้น แต่ต้องไม่ขัดกับจริยธรรมของการประกอบวิชาชีพ 

            ประเด็นนี้มีความสำคัญตรงที่ เมื่อเรารู้และเข้าใจต้องตรงกันแล้วว่า เสรีภาพสื่อไม่ใช่ หรือไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกันกับเสรีภาพของประชาชนแล้ว สื่อจึงมิได้มีแต่เพียงเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารเพียงอย่างเดียว แต่สื่อยังมี “หน้าที่” ที่ต้องทำด้วย นั่นคือ ต้องช่วยรักษาหรือปกป้องคุ้มครองเสรีภาพของประชาชน (พิทักษ์เสรีภาพของประชาชน)ดังนั้น หากสื่อเลือกที่จะนำเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียว หรือเสนอข่าวโดยบิดเบือน จนทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องครบถ้วน ย่อมเท่ากับว่าสื่อนั้นเองกำลังผิดหน้าที่สื่อ กำลัง “ทำลาย” หรือ “จำกัด” เสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนลง 

            ทุกวันนี้คงมิอาจปฏิเสธได้เลยว่า ในบ้านเรานั้นสื่อจำนวนมากเลือกที่จะนำเสนอเพียงสิ่งที่ตัวเองคิดหรือเชื่อแค่เพียงด้านเดียว หลายกรณีเป็นการนำเสนอตามความเข้าใจของตนเองโดยไม่ใยดีต่อความถูกต้องครบถ้วนของข้อเท็จจริง เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน ซึ่งย่อมกระทบต่อการคิดวิเคราะห์และตัดสินใจของประชาชน  ยกตัวอย่าง กรณีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์ หากท่านติดตามข้อเสนอของนิติราษฎร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอให้ “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร” จะเห็นได้ว่ามีสื่อจำนวนมากที่พูดถึงข้อเสนอของนิติราษฎร์ แต่ปรากฏว่าแทบไม่มีสื่อ หรือหนังสือพิมพ์ฉบับใดเลยที่ให้ข้อเท็จจริง รายละเอียดเกี่ยวกับข้อเสนอดังกล่าวของนิติราษฎร์อย่างครบถ้วนเพียงพอ (แน่นอนว่าไม่จำเป็นต้องครบถ้วนทุกถ้อยกระทงความ แต่อย่างน้อยที่สุดก็ควรถอดความให้ผู้อ่านได้ทราบในประเด็นสำคัญ)

            สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นว่า หากผู้อ่านต้องการทราบว่าข้อเสนอของนิติราษฎร์คืออะไร ต้องไปเปิดดูเว็บไซด์ของนิติราษฎร์เอง ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง เรากลับได้เห็นการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ นานาต่อข้อเสนอของนิติราษฎร์ในสื่อเหล่านั้น ซึ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการที่สื่อไม่ได้ทำหน้าที่คุ้มครองเสรีภาพของประชาชน  ดังนั้น ที่ถูกต้องแล้วการรณรงค์เรียกร้องเสรีภาพของประชาชนในเรื่องนี้ นอกจากเรียกร้องการคุ้มครองจากรัฐแล้ว ประชาชนผู้บริโภคข่าวสารเอง ก็อาจจำเป็นต้องเรียกร้องการทำหน้าที่โดยสุจริต มีจรรยาบรรณจากสื่อมวลชน เพื่อคุ้มครองเสรีภาพของตนด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ สื่อ จะต้องถูกประชาชนตรวจสอบได้ แต่ที่ผ่านมาเมื่อเราพูดเรื่องเสรีภาพสื่อ เราจะนึกถึงแต่ภาพที่สื่อไปเรียกร้องกับรัฐว่าอย่ามาแทรกแซง หรือปิดกั้นสื่อโดยมีประชาชนคอยร่วมสนับสนุนด้วย แต่มักไม่ค่อยเห็นปรากฏการณ์ในลักษณะที่ประชาชนเรียกร้องต่อสื่ออย่างเป็นรูปธรรมให้สื่อต้องนำเสนอข้อมูลทุกด้าน

            ดังนั้น คำกล่าวที่ว่า “เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพของประชาชน” จึงเป็นคำกล่าวที่ถูกเพียงครึ่งเดียว เสรีภาพสื่อกับเสรีภาพของประชาชนเป็นคนละเรื่องกัน เพราะสื่อมิได้มีแค่เพียงเสรีภาพ แต่สื่อมีหน้าที่ในการคุ้มครองและส่งเสริมเสรีภาพให้กับประชาชนด้วย หากสื่อเสนอข้อมูลไม่ครบถ้วนหรือเสนอแต่เพียงด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียว ก็เท่ากับว่าสื่อกำลังจำกัดการรับรู้ของประชาชน และหากเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับว่าเสรีภาพของประชาชนถูกกระทำทั้งจากรัฐและสื่อเอง  

ทฤษฎีเสรีภาพของสื่อมวลชน      

            คราวนี้จะขอพูดถึง ทฤษฎีเสรีภาพของสื่อมวลชนบ้าง เพื่อจะได้ลองนำมาช่วยการพิจารณาต่อไปว่าสื่อในประเทศไทยเรานั้นวางบทบาทของตัว หรือใช้เสรีภาพของตนไปเพื่อรับใช้ใคร ทั้งนี้มีทฤษฎีเสรีภาพสื่อที่น่าสนใจอยู่สี่ทฤษฎี ด้วยกัน คือ   

            1)“ทฤษฎีอำนาจนิยม” โดยทฤษฎีนี้จะเป็นกรณีที่ สื่อมวลชนทำตัวเป็นผู้รับใช้รัฐ หากมองตามหลักนี้รัฐไม่มีความจำเป็นใด ๆ เลยที่จะต้องเข้าไปแทรกแซงการทำงานของสื่อ เพราะว่าสื่อเป็นกระบอกเสียงให้รัฐอยู่แล้ว สื่อในประเทศที่ปกครองแบบเผด็จการทุกรูปแบบส่วนใหญ่ก็ตกอยู่ในสภาพการณ์ดังกล่าว โดยสื่อตามทฤษฎีนี้จะมีหน้าที่สำคัญคือ ช่วยโฆษณาชวนเชื่อสิ่งต่าง ๆ ที่รัฐจะทำให้ประชาชนได้รู้ 

            2)“ทฤษฎีเสรีนิยม”ตามทฤษฎีนี้นอกจากสื่อจะคอยทำหน้าที่ในการแจ้งข่าวสารให้กับประชาชนแล้วสื่อยังเป็นมีหน้าที่ในการค้นหาความจริงด้วย เป็นผู้คอยเฝ้าดู และตรวจสอบการทำงานของฝ่ายผู้ปกครอง (ที่เรียกกันว่าWatch Dogหรือเป็นสุนัขเฝ้าบ้าน) สื่อตามทฤษฎีนี้ ต้องสามารถทำงานเชิงตรวจสอบได้อย่างเสรี โดยมีประชาชนเป็นกลไกในการควบคุมตรวจสอบการทำหน้าที่ของสื่ออีกทีหนึ่ง  

            3) “ทฤษฎีความรับผิดชอบทางสังคม” สื่อตามทฤษฎีนี้จะรู้สึกว่าตนเองมีพันธะที่ผูกติดอยู่กับความรับผิดชอบทางสังคม กล่าวให้ง่ายก็คือ สื่อจะมีหลักเกณฑ์จรรยาบรรณของสื่อเองที่เข้มข้นเข้มแข็ง จะนำเสนอข่าวสารใด ๆ ในแต่ละครั้งสื่อจะต้องคิดถึงจรรยาบรรณก่อนเสมอ ดังนั้น กลไกในการควบคุมตรวจสอบการทำงานของสื่อก็คือ ตัวจริยธรรมของสื่อเอง   

            4)  “ทฤษฎีแนวเศรษฐศาสตร์การเมืองวิพากษ์”สื่อตามทฤษฎีนี้ คือ สื่อที่ถูกควบคุมโดยทุนหรือกลไกทางเศรษฐกิจและการเมือง มักขาดความหลากหลายในการนำเสนอข่าวสาร และการดำเนินการต่าง ๆ รวมทั้งกลไกควบคุมการทำงานก็มักขับเคลื่อนโดยนายทุนเป็นหลัก

            หากนำทฤษฎีเสรีภาพสื่อทั้งสี่มาพิจารณากับลักษณะการทำหน้าที่ของสื่อไทย จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมามีลักษณะของการผสมผสาน บางช่วงสื่อก็ถูกครอบงำโดยอำนาจทุนแบบเข้มข้น ทีวีจะเสนอเรื่องอะไรก็พิจารณาจากโฆษณา พิจารณาจากทุนเป็นหลัก สื่อบ้านเราจำนวนมากถูกควบคุมด้วยเรตติ้งคนดู ในขณะที่ในบางช่วงบางเวลาสื่อก็ทำตัวเป็นกระบอกเสียงให้กับรัฐบาล เช่น สถานีโทรทัศน์ช่องเก้า หรือช่องที่เราเรียกกันติดปากว่าหอยม่วง ก็มีลักษณะเป็นสื่อของรัฐบาล รัฐบาลทำอะไรก็ต้องรีบนำเสนอให้เป็นข่าว ลักษณะสื่อในบ้านเราก็จะผสมผสานกันแบบนี้       แต่ถามว่าเรามีสื่อประเภทที่ทำหน้าที่เป็นสุนัขเฝ้าบ้านบ้างหรือไม่  โดยส่วนตัวก็คงตอบว่า กับสื่อกระแสหลัก กล่าวคือ ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ ยังไม่พบที่ชัดเจน แต่สื่อทางเลือกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อในโลกออนไลน์ก็พอมีให้เห็นอยู่บ้าง 

ประเด็นที่สองเสรีภาพสื่อในมือกฎหมาย  

            ขอตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นก่อนว่า ประเทศไทยมักชอบประกาศโฆษณาให้ประชาชน และชาวโลกรู้ว่าปกครองแบบ “นิติรัฐ” หรือ มีกฎหมายเป็นใหญ่ แต่ไม่ค่อยพูดถึงรายละเอียดว่า นิติรัฐ ที่ถูกต้องแล้วคืออะไร มีลักษณะอย่างไร หรือเอาเข้าจริงแล้วประเทศไทยเรายังยึดหลักนี้อยู่จริงหรือไม่ ทั้งนี้ หลักนิติรัฐ จะต้องมีลักษณะสำคัญอย่างน้อย 3 ประการ คือ  

            1)กฎหมายที่นำมาใช้นั้นต้องยุติธรรม 

            2)ผู้ปกครองรัฐจะต้องใช้อำนาจเพียงเท่าที่กฎหมายที่ยุติธรรมนั้นกำหนดให้ เพราะนิติรัฐ คือ ระบบที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อจำกัดอำนาจรัฐ คือ จำกัดไม่ให้รัฐ หรือผู้ปกครองใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ แต่จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายลายลักษณ์อักษรกำหนดไว้เท่านั้น  

            3)เมื่อมีการบังคับใช้กฎหมาย แล้ว องค์กรภายนอกหรือองค์กรอื่นใด ต้องตรวจสอบการใช้อำนาจเหล่านั้นได้ 

            ดังนั้น หากจะพูดว่าเราปกครองด้วยนิติรัฐ นั่นย่อมหมายความว่า องค์กรภายนอกต้องตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้ ฝ่ายนิติบัญญัติต้องออกกฎหมายที่ยุติธรรม ฝ่ายบริหารต้องใช้อำนาจตามที่กฎหมายออกมาเท่านั้น และต้องมีองค์กรภายนอก เช่น ตุลาการหรือองค์กรอื่นสามารถเข้ามาตรวจสอบถ่วงดุลได้ เป็นไปตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ เมื่อเรานำหลักนิติรัฐมาพิจารณาในประเด็นที่เกี่ยวกับ เสรีภาพสื่อ เสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ก็หมายความว่า การควบคุมสื่อ การควบคุมเสรีภาพบางประการของประชาชน (ซึ่งเป็นเสรีภาพชนิดที่ต้องมีการแสดงออกมาภายนอก)รัฐอาจกระทำได้ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่า เพื่อไม่ให้การใช้เสรีภาพของบุคคลหนึ่งล่วงละเมิดเสรีภาพของบุคคลอื่นได้  แต่รัฐก็ต้องใช้อำนาจอยู่ในขอบเขต เพียงเท่าที่กฎหมายเขียนให้อำนาจไว้เท่านั้น และกฎหมายนั้นก็ต้องเป็นกฎหมายที่ยุติธรรมด้วย

            ไม่แตกต่างจากหลักสากลทั่วไป รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยแบ่งประเภทเสรีภาพที่ต้องให้การคุ้มครองไว้ใน 2  ลักษณะ คือ เสรีภาพที่รัฐให้ความคุ้มครองแบบสัมบูรณ์กล่าวคือ รัฐไม่สามารถออกกฎเกณฑ์ใด ๆ เพื่อจำกัดตัดทอนเสรีภาพชนิดนี้ได้เลย เช่น เสรีภาพในทางความคิด ความเชื่อ ความศรัทธา สาเหตุก็เพราะเสรีภาพเหล่านี้เป็นเรื่องที่อยู่ภายในจิตใจความนึกคิดของประชาชน  การใช้เสรีภาพประเภทนี้ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ย่อมไม่สามารถกระทบหรือละเมิดเสรีภาพประเภทเดียวกันนี้ของบุคคลอื่นได้เลย  ดังนั้นรัฐจึงไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการใด ๆ เพื่อจำกัด หรือกำหนดให้ประชาชนคิด เชื่อ หรือศรัทธาต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ เช่น รัฐจะออกกฎหมายมากำหนดให้คนในประเทศต้องนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งเท่านั้น หรือต้องเคารพศรัทธาหรือจงรักภักดีต่อใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น ย่อมมิอาจกระทำได้  ส่วนเสรีภาพลักษณะที่สอง ก็คือ เสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองแบบสัมพัทธ์ คือ เสรีภาพที่อาจถูกรัฐออกกฎหมายจำกัดการใช้เสรีภาพได้ เสรีภาพประเภทนี้เป็นเสรีภาพที่ต้องมีการแสดงออกมาภายนอก เช่น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นต้น ดังนั้นเสรีภาพลักษณะนี้เมื่อผู้ใช้ต้องแสดงออกมาภายนอก ย่อมมีโอกาสที่จะกระทบ หรือละเมิดเสรีภาพของบุคคลอื่นได้ ดังนั้น ด้วยเหตุผลที่ชัดเจนบางอย่างรัฐจึงสามารถออกกฎเกณฑ์มาจำกัดเสรีภาพประเภทนี้ได้ อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้ว กฎหมายที่ “รัฐเสรี” จะออกมาเพื่อจำกัดตัดทอนเสรีภาพของประชาชนของตนเองนั้น จะต้องมีหลักเกณฑ์อย่างน้อย5 ประการ คือ 

            1.กฎหมายต้องออกมาในลักษณะเป็นกฎหมายทั่ว ๆ ไป ไม่ใช่ออกมาเพื่อใช้กับบุคคลใด หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

            2.กฎหมายต้องชัดเจน ประชาชนอ่านแล้วรู้ได้ว่าตนทำอะไรได้หรือทำอะไรไม่ได้

            3.กฎหมายต้องไม่ถูกใช้ย้อนหลัง หากการกระทำในวันนี้ไม่มีความผิด อีกสองอาทิตย์ จะมีการออกกฎหมายมาบอกว่าสิ่งที่ทำอยู่เมื่อสองอาทิตย์ก่อนเป็นความผิด อย่างนี้ทำไม่ได้

            4.กฎหมายนั้นต้องไม่ขัดกับ “หลักความได้สัดส่วน” คือ การจำกัดสิทธิของปัจเจกชนจะต้องได้สัดส่วนกับประโยชน์ของสาธารณะที่จะได้รับจากการจำกัดสิทธินั้น และ

            5.กฎหมายเขียน “จำกัด” สิทธิได้ แต่ห้ามมิให้ “กำจัดหรือเพิกถอน” เสรีภาพนั้นทั้งหมด เช่น เราอาจมีกฎหมายจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมได้ว่า ต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ แต่รัฐจะออกกฎหมายห้ามการชุมนุมเลย มิได้ เป็นต้น  

            สำหรับเสรีภาพสื่อนั้น จะเห็นได้ว่า เป็นเสรีภาพประเภทที่มีการแสดงออกมาภายนอก เราจึงพบว่ารัฐธรรมนูญไทยเอง       ก็เปิดช่องให้รัฐสามารถออกกฎเกณฑ์เพื่อจำกัดเสรีภาพประเภทนี้ลงได้ ทำนองเดียวกันกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ดังกล่าวไปแล้วแต่ต้นตามมาตรา 45 หรือ 46 แห่งรัฐธรรมนูญ  ดังนั้น ปัญหาที่ต้องถามไถ่กันเพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์ของเสรีภาพเหล่านี้  หรือเพื่อตรวจเช็คความเป็นประชาธิปไตย ความเป็นเสรีของรัฐ  จึงอาจไม่ใช่       การถามว่าประเทศไทยจำกัดเสรีภาพสื่อ หรือเสรีภาพที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ของประชาชนได้หรือไม่  แต่ควรต้องถามว่า กฎหมายที่ออกมาจำกัดเสรีภาพนั้นถูกต้องเหมาะสม มีความยุติธรรม หรือเป็นไปตามหลักนิติรัฐหรือไม่ต่างหาก

ประเด็นที่สามรัฐไทยใช้อำนาจในการจำกัดเสรีภาพสื่อโดยอาศัยกฎหมายฉบับต่าง ๆ  

            กล่าวได้ว่า ทั้งสถานการณ์ปกติทั่วไปและสถานการณ์     ที่ไม่ปกติ ประเทศไทยมีกฎหมายที่ใช้จำกัดเสรีภาพสื่ออยู่จำนวนไม่น้อย ยกตัวอย่างกฎหมายที่ใช้ในสถานการณ์ปกติ เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  (พรบ.คอม) มาตรา 20 ซึ่งมีใจความสำคัญว่าหากมีการนำเสนอข้อมูลที่ขัดกับความมั่นคง หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน รัฐสามารถปิดกั้นสื่อนั้นได้ทันทีโดยอาศัยเพียงคำสั่งศาล ซึ่งเป็นการจำกัดเสรีภาพโดยใช้เหตุผลข้ออ้างเรื่อง “ขัดต่อศีลธรรมอันดี”          หรือ “ขัดต่อความมั่นคง” 

            ถามว่า บทบัญญัตินี้ถูกต้องชอบธรรมตามหลักการออกกฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพที่ได้กล่าวไปแล้วหรือไม่  คำตอบก็คือ ไม่  เพราะใช้ถ้อยคำที่คลุมเครือไม่ชัดเจน ประชาชนอ่านแล้วไม่สามารถรู้ได้ทันทีว่าสิ่งที่เนื้อหาที่ตนเองสร้างขึ้น และโพสต์ในอินเทอร์เน็ตขัดกับศีลธรรมอันดี หรือขัดต่อความมั่นคงหรือไม่ และอย่างไร ประชาชนอาจเห็นว่าเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องไม่ขัดต่อศีลธรรมใดเลย แต่กระทรวงวัฒนธรรม หรือฝ่ายรัฐใช้อำนาจและดุลพินิจพิจารณาว่าเป็นสิ่งที่ขัดต่อศีลธรรมอย่างรุนแรง  

            คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเรื่องแบบนี้ไม่มีมาตรวัด หรือตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนเพียงพอที่จะอธิบายหรือบอกได้ว่า อะไรขัดหรือไม่ขัดต่อศีลธรรม เป็นเรื่อง “อัตตวิสัย” ที่อิงอยู่กับมุมมอง ทัศนะคติ และประสบการณ์ส่วนตัว กฎหมายที่เขียนในลักษณะนี้จึงเปิดช่องให้ฝ่ายรัฐใช้อำนาจเกินขอบเขต หรือล่วงละเมิดเสรีภาพของประชาชนได้ง่าย  

            จากสถิติตั้งแต่ปี 2550 นับตั้งแต่ พรบ.คอมพิวเตอร์ ฯ ถูกประกาศใช้ จนถึงกลางปี 2553 สถิติตัวเลขเกี่ยวกับการปิดเว็บไซด์แสดงผลว่า มี URL ที่ถูกปิดไปทั้งสิ้น 74,686 URL ในจำนวนนี้ 57,330 URL เป็นเรื่องดูหมิ่นพระมหากษัตริย์{ใช้มาตรา 20 ประกอบ 14(2)(3)}  อันดับต่อมาคือเว็บไซด์ลามกอนาจารจำนวน16,740 URL นอกจากนี้ก็เป็นเนื้อหาที่เกี่ยวกับยาและการทำแท้งด้วยตัวเอง357 URL เนื้อหาที่ยุยงส่งเริมให้มีการเล่นการพนันออนไลน์อีก246 URL เนื้อหาที่เสื่อมเสียต่อพระศาสนา 5 URL และเว็บไซด์อื่น ๆ ที่ระบุประเภทไม่ได้ มี 8 URL 

            ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขอย่างเป็นทางการที่ค้นได้จากศาล ทั้งยังพบด้วยว่าการออกคำสั่งนี้เป็นไปอย่างรวดเร็ว และศาลใช้คำสั่งเพียง 117ฉบับเท่านั้นในการปิดเว็บไซด์จำนวนหลายหมื่นนี้ และนอกจากบทบัญญัติจำกัดเนื้อหาของสื่อ ที่เกี่ยวพันหรือกระทบกับเสรีภาพสื่อออนไลน์โดยตรงแล้ว พ.ร.บ คอมพิวเตอร์ ยังมีบทบัญญัติที่ส่งผลเป็นการจำกัดเสรีภาพสื่อโดยอ้อมอีกด้วย มาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550  ที่กำหนดว่าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต้องร่วมรับผิดกับผู้กระทำความผิดที่แท้จริง หรือผู้โพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาผิดกฎหมายด้วย ปัจจุบัน ด้วยบทบัญญัติมาตรานี้ ซึ่งมีอัตราโทษที่รุนแรงเท่าเทียมกับผู้กระทำความผิดเอง ส่งผลให้ผู้ให้บริการ หรือเจ้าของเว็บไซต์ต่าง ๆ ต้องเซ็นเซอร์เนื้อหาต่าง ๆ ในเว็บไซต์ตัวเอง 

            มาตราหนึ่งในพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550  ก็ระบุว่า รัฐสามารถห้ามนำเข้า หรือส่งออกสื่อที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งยังกำหนดให้อำนาจผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติริบ หรือยึดสื่อหรือสิ่งพิมพ์เหล่านั้นได้ ซึ่งไม่ควรถือเป็นกฎหมายที่ถูกต้องนักเมื่อพิจารณาในระบบนิติรัฐ  หรือกรณีของพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ ก็มีบทบัญญัติในลักษณะที่ให้ผลหรือเปิดช่องให้รัฐจำกัดเสรีภาพของประชาชนจนเกินไปได้ไว้เช่นเดียวกัน บทบัญญัติที่ว่าด้วยการจัดเรต หรือ การจัดระดับความเหมาะสมของภาพยนตร์ ซึ่งมี ระดับ 7  หรือระดับที่รัฐ(โดยคณะกรรมการภาพยนตร์) สามารถสั่ง “ห้ามฉาย” ได้ และ Insect in the backyard ก็เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ถูกใช้เรตนี้ ขณะนี้คดียังค้างอยู่ในศาลปกครอง ข้อเท็จจริง ก็คือ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้พยายามเสนอให้จัดภาพยนตร์ของตนให้อยู่ในเรต ที่เหมาะสมสำหรับผู้ชมที่มีอายุ 20 ขึ้นไปแล้ว เพราะมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับเรื่องในทางเพศ แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการไม่อนุญาตให้ฉายได้หากไม่ยอมตัดฉากบางฉากออก ด้วยเหตุผลว่าฉากนั้นนำเสนอภาพลามกอนาจารซึ่งเป็นความผิดต่อกฎหมายอาญา อาจทำให้คนดูเสื่อมศีลธรรม เกิดกำหนัด เกิดกามารมณ์ได้ ซึ่งหลายฝ่ายเห็นว่า การใช้อำนาจของคณะกรรมการเช่นนี้ รวมทั้งบทบัญญัติของกฎหมายฉบับนี้เองเป็นการจำกัดเสรีภาพของประชาชนมากเกินไป  

            กฎหมายอีกรูปแบบหนึ่งที่ในระยะหลังมักถูกรัฐนำมาใช้เป็นเครื่องมือจำกัดเสรีภาพสื่อบ่อยครั้ง  ก็คือ บรรดากฎหมายที่ว่าด้วย “ใบอนุญาต” ประกอบกิจการสื่อประเภทต่าง ๆ สำนักพิมพ์ที่ออกหนังสือ หรือวารสารที่มี “เนื้อหา” ไม่ถึงขนาดเป็นความผิดกฎหมาย แต่ไม่ถูกใจ หรือเป็นปรปักษ์กับฝ่ายรัฐ อาจถูกระงับกิจการ หรือสั่งห้ามจำหน่ายหนังสือได้ ด้วยเหตุผลว่าสำนักพิมพ์ไม่ได้ปฏิบัติการตามกฎหมายเชิงเทคนิคเหล่านี้ เช่นที่เกิดกับสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ซึ่งถูกกล่าวหาว่าไม่ได้จดแจ้งการพิมพ์  หรือกรณีสำนักพิมพ์เรดพาวเวอร์ ที่โดนยึดแท่นพิมพ์และถูกปิดกิจการชั่วคราวเพราะไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติโรงงาน สถานีวิทยุชุมชนจำนวนไม่น้อยถูกห้ามดำเนินการ ทั้งเจ้าของสถานีอาจถูกดำเนินคดีด้วยเหตุผลของการใช้เครื่องส่งวิทยุโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคมปี2498 เป็นต้น 

            สำหรับในสถานการณ์ไม่ปกตินั้น พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พระราชบัญญัติความมั่นคงในราชอาณาจักร และพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ก็มักถูกนำมาใช้เพื่อจำกัดการนำเสนอข้อมูลที่รัฐเห็นว่ามีเนื้อหาขัดต่อความสงบได้  

ประเด็นที่สี่ สื่อและอำนาจของสื่อสมัยใหม่

            โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อออนไลน์ ซึ่งกลายเป็นเป้าหมายสำคัญที่รัฐต้องการเข้ามากำกับควบคุม  เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปอยู่แล้วว่า สื่อ เป็นอีกหนึ่งอำนาจที่น่ากลัวเสมอมา เพราะสื่อมีความสำคัญต่อการกำหนดความคิด และอุดมการณ์ของผู้คนผู้รับสื่อเป็นอย่างมาก สถาบันหรือองค์กรใดที่มีสื่ออยู่ในมือ หรือสามารถกำกับควบคุมสื่อได้ สถาบันหรือองค์กรนั้นก็มักเป็นผู้มีชัยเหนือความนึกคิดของประชาชน ดังนั้น  คำพูดของ เสรี วงมณฑา อดีตคณบดีคณะวารสาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เคยแสดงทัศนะไว้เมื่อไม่นานมานี้เกี่ยวกับสื่อว่าเป็นเพียง “ตัวกลาง”  ในการเสนอข่าวสาร เท่านั้น คือ  สื่อรับสารมาอย่างไร ก็เสนอไปอย่างนั้น ไม่สามารถชักจูงใครได้ จึงถือเป็นคำพูดที่ขัดกับสถานการณ์ในโลกปัจจุบัน ทำให้เห็นได้ว่าเขาเป็นนักวารสารตกยุคสมัยไปแล้ว หากติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ประชาชนผู้บริโภคข่าวสาร จะเห็นได้ว่าบรรดาสื่อราชาชาตินิยม และชาตินิยมทั้งหลาย ต่างก็ออกมาบอกว่าตัวเองนำเสนอข่าวด้วยความเป็นกลาง แต่ปัญหาก็คือ ปัจจุบันยังมีสื่อที่เป็นกลางอยู่อีกหรือไม่ ?  

            โดยส่วนตัวเห็นว่า ณ วันนี้ ในบ้านเราไม่มีสื่อไหนที่เป็นกลางอีกแล้ว วงการสื่อเองก็ต้องยอมรับได้แล้วว่าไม่มีสื่อทีเป็นกลาง หากเรามองสื่อสิ่งพิมพ์ก็จะเห็นวิธีคิดอุดมการณ์ของเขาที่สื่อผ่านออกมาทางการเขียนคอลัมน์ ไม่ว่าจะเป็นไทยโพสต์,เนชั่น, วิทยุชุมชนคนเสื้อแดง ASTV. สื่อเหล่านี้แสดงออกชัดเจนว่าเขาเลือกข้างไหน ในอีกฟากฝั่งหนึ่งก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ฟ้าเดียวกัน อ่าน เรดพาวเวอร์ ฯลฯ ก็แสดงออกชัดเจนว่าเลือกข้างไหน  

            ปัจจุบันการเรียกร้องจรรยาบรรณจากสื่อทั้งหลาย จึงอาจไม่ใช่การถามหาความเป็นกลางอีกต่อไป แต่ถามหาการนำเสนอข่าวสารที่ครบถ้วน ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริงต่างหาก กล่าวอีกอย่างก็คือ สื่อจะแสดงออกก็ได้ว่าตัวอยู่หรือเอียงไปข้างไหน ผ่านทางการเสนอข่าว การวิเคราะห์ข่าวของตน แต่ในขณะเดียวกันเพื่อความแฟร์ เป็นลูกผู้ชายสื่อก็ควรนำเสนอข่าวสารของความคิดอีกด้านอย่างถูกต้อง ไม่บิดเบือนประกอบควบคู่ไปด้วย เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจเอง ไม่ใช่ยกว่าตัวเองเป็นกลาง แต่กลับเสนอข่าวเอียงกะเท่เร่    

            กลับมาที่สื่อออนไลน์ ปัจจุบันสื่อออนไลน์ถือเป็นสื่อที่มีความน่ากลัวอย่างยิ่ง หรือเผลอ ๆ อาจมีอิทธิพลยิ่งกว่าสื่อดั้งเดิมอื่น ๆ แต่ความน่ากลัวในที่นี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับฝ่ายเสรีนิยม หรือฝ่ายที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย เพราะสื่อออนไลน์เป็นสื่อที่สนับสนุน หรือทำให้เกิดพื้นที่ใหม่ ๆ ในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างมหาศาล ปัจจุบันผู้คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้ง่าย คนหลากหลายกลุ่มได้แสดงความคิดเห็น หรือได้เห็นความคิดที่ต่างจากตน ได้พบชุดความคิดใหม่ ๆ ที่แตกต่างหลากหลายสาขาวิชาชีพทั้งวิศวกร นักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ 

            อย่างไรก็ตาม เสรีภาพเหล่านี้ทำให้ผู้กุมอำนาจรัฐมองสื่อออนไลน์ว่าเป็นตัวอันตราย และน่ากลัว น่ากลัวทั้งในแง่ที่ว่าประชาชนอาจใช้สื่อนี้เป็นช่องทางในการเปิดโปงความลับที่พวกเขาปิดบังอำพรางไว้ได้ซึ่งมันทั้งง่าย ประหยัด รวดเร็ว และกระจายการรับรู้ได้ในวงกว้าง ในขณะเดียวกันรัฐเองก็ต้องการครอบงำประชาชนให้อยู่ภายใต้ชุดความคิดบางอย่างเท่านั้น เช่น ราชาชาตินิยม การต้องจงรักภักดี การรักชาติ ฯลฯ ซึ่งการครอบงำเช่นนี้ จะเกิดขึ้นได้ยาก หรือแทบจะทำไม่ได้เลยในสื่อออนไลน์ เพราะประชาชน คนกลุ่มต่าง ๆ สามารถทั้งเผยแพร่ และรับรู้ชุดความคิดที่ไม่เหมือน หรือไม่สอดคล้องกับรัฐได้ หากเราเปรียบเทียบกับสื่อดั้งเดิมประเภทอื่น ๆ อย่าง วิทยุ โทรทัศน์ หรือสื่อสิ่งพิมพ์ อาจพอสรุปบทบาท และอิทธิพลของสื่อออนไลน์ในโลกปัจจุบัน ที่อาจนำมาซึ่งการต้องปรับตัวของสถาบันอำนาจฝ่ายต่าง ๆ ในโลกยุคปัจจุบันออกได้ 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ 

            1.สื่อออนไลน์ เป็นสื่อที่ท้าทายอำนาจรัฐ  

            เนื่องจากสื่ออนไลน์เป็นอิสระ ไม่มีศูนย์กลาง ทั้งยังเป็นรวม หรือที่บรรจุไว้ซึ่งชุดความคิดที่หลากหลาย สถาบันทุกสถาบันของประเทศอาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างลึกซึ้ง และหลากหลายในสื่อออนไลน์ ในขณะที่สื่อกระแสหลักไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ หรือทำได้ไม่ละเอียด เพราะมักถูกควบคุมตรวจสอบ กระทั่งถูกแทรกแซงจากฝ่ายผู้มีอำนาจได้ง่าย 

            2.สื่อออนไลน์ กำลังท้าทายอำนาจสื่อมวลชนกระแสหลัก 

            นอกจาก สื่อออนไลน์ จะก่อให้เกิดพื้นที่ต่าง ๆ มากมายดังกล่าวไปแล้ว สื่อออนไลน์ยังก่อให้เกิดกลุ่มผู้ทำหน้าที่ในการค้นหา นำเสนอ  เขียน วิเคราะห์  คัดเลือกข่าว สถานการณ์ หรือความคิดเห็นเพิ่มขึ้นอีกด้วย ที่เราเรียกกันว่า สื่อภาคพลเมือง การก่อกำเนิดของสิ่งนี้เอง ได้ส่งผลให้ลักษณะของการนำเสนอข่าวสาร ทำให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เพราะใคร ๆ ก็ทำหน้าที่นี้ได้ แม้อาจยังมีปัญหาในแง่ของความน่าเชื่อถือของข่าวสารที่นำเสนออยู่บ้าง แต่เราคงไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า ความหลายหลาย ความรวมเร็วของข่าวสารคือเสน่ห์สำคัญที่ทำให้คนหันมานิยามบริโภคข่าวสารจากสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้น

            ปรากฏการณ์ย้ายฐานการบริโภคเช่นนี้เอง ย่อมจะทำให้สื่อกระแสหลัก หรือบรรดานักข่าวอาชีพ ที่เคยใช้วิธีการทำข่าวแบบปิงปอง (สัมภาษณ์คนนั้นทีคนนี้ที เสนอภาพการโต้แย้งกันไปมา) เพราะถือว่าตนมีวิชาชีพรับรอง หรือขอข่าวกันไปมา ทำให้ข่าวสารถูกนำเสนออย่างซ้ำซากขาดความหลากหลาย จำเป็นต้องเริ่มปรับตัว เช่น ในต่างประเทศเว็บของสำนักข่าวใหญ่ ๆ ก็มัก มีพื้นที่หนึ่งสำหรับเผยแพร่บทวิเคราะห์ข่าวของบล็อกเกอร์อย่างกว้างขวาง และบ่อยครั้งที่บล็อกเกอร์เหล่านนั้นสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ได้ลึกกว่าบรรณาธิการสำนักพิมพ์เอง

            3.สื่อออนไลน์ท้าทายอุดมการณ์ของคนที่ไม่มีความคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย

            ความท้าทายประการที่สามนี้ ก็คือ ท้าทายความคิดที่ไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย เพราะว่าคนที่ไม่มีความคิดประชาธิปไตยโดยมากมักไม่ค่อยอยากฟังเสียงของคนที่มีความเห็นต่างกับตัวเอง  วัน ๆ ก็จะต้องการฟังเพียงความคิดเห็นที่สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันกับตัวเองเท่านั้น  แต่ปัจจุบันพอเปิดเข้าไปในอินเตอร์เน็ตปั๊บคุณก็จะพบคนที่คิดเห็นต่างกับคุณจำนวนมาก และแน่นอนคุณต้องเริ่มทนกับสิ่งเหล่านี้ เพราะไม่งั้นคุณก็ท่องโลกออนไลน์ไม่เป็นสุข  และนี่แหละคือ ความท้าทายของสื่อออนไลน์ที่มีต่อคนจำพวกนี้  

            สิ่งที่ทำให้สื่อออนไลน์น่ากลัว ไม่ใช่เรื่องวิธีการทำงาน แต่เป็นเพราะสื่อนี้สามารถกระจายสู่มวลชนได้มากขึ้นเรื่อย ๆ  เทคโนโลยีที่ทันสมัย อุปกรณ์พกพาขนาดเล็กมากมาย ทำให้จำนวนคนที่เข้าถึงสื่อประเภทนี้มีมากขึ้น และใครจะไปรู้ว่านี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐไทยไม่อยากจะอนุญาตให้ประชาชนได้ใช้เครือข่าย3G ได้โดยง่าย เพราะรัฐมีความกังวลว่าจะควบคุมการกระจายของข้อมูลข่าวสารไม่ได้                   

            จากการเก็บสถิติของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศหรือ ITU เคยประมาณการว่าในปี  2553มีจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั่วโลกประมาณ5.3 พันล้านคน หรือประมาณ 78 % ของประชากร  ทั่วโลก รายงานผลสำรวจการใช้อินเตอร์เน็ตของประเทศไทยปี 2553 ที่จัดทำโดยNECTEC หรือศูนย์เทคโนโลยีแห่งชาติพบว่า กระแสความนิยมใช้เทคโนโลยีการสื่อสารเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ในปี 2552 อัตราการใช้โทรศัพท์ และอินเตอร์เน็ตเคลื่อนที่เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปี 2547โดยมีปัจจัยสำคัญมาจาก การแพร่กระจายของสื่อใหม่ หรือ นิวมีเดีย ทั้งนี้เนื่องจากอุปกรณ์พกพาเคลื่อนที่ โทรศัพท์ขนาดเล็ก รวมถึงค่าบริการมีราคาถูกลง  

            นอกจากนี้ จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งประเทศไทยมีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ร้อยละห้าสิบของประชากรนับตั้งแต่ปี2551  และล่าสุดข้อมูลจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมหรือ กทช.รายงานจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ไตรมาสที่สองว่า จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เท่ากับ 64.1 ล้านคน หรือมากกว่าจำนวนประชากรของประเทศไทยทั้งหมด นั่นหมายความว่า     คน ๆ หนึ่งมีโทรศัพท์มากกว่า 1 เครื่อง แน่นนอนว่าตัวเลขของการใช้โทรศัพท์นี้ คงมากกว่าตัวเลขที่เข้าสู่อินเตอร์เน็ตได้ แต่ก็เป็นเครื่องบ่งชี้บางอย่างว่า ประชาชนบนโลกสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศได้ง่ายขึ้น 

            ผลการสำรวจเมื่อปี 2552  พบว่าประเทศไทยมีสัดส่วน  ผู้เข้าใช้อินเตอร์เน็ตอยู่ที่เพียงร้อยละ30-40 ของประชากร คือ   มีเพียงประมาณ 30 %  เท่านั้นที่เล่นเฟสบุ๊ค และคนกลุ่มนี้เป็นประชากรในระดับชนชั้นกลาง ไม่ได้ลงไปถึงประชาชนในระดับรากหญ้า แต่ถามว่ามันน่ากลัวไหม ก็ยังต้องบอกว่าน่ากลัวอยู่ ปัจจุบัน เฟสบุ๊คเข้าถึงทุกคนที่ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มทางความคิดได้ ทั้งเราจะพบว่าบ่อยครั้งที่เฟสบุ๊กทำเรื่องที่ไม่เป็นข่าวในสื่อกระแสหลักให้กลายเป็นข่าวใหญ่ได้

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และมาตรการของรัฐที่จำกัดเสรีภาพสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อออนไลน์  

            ดังนั้นเพื่อเน้นหนักในเรื่องสื่อออนไลน์  ประเด็นสุดท้ายที่จะพูดถึงในครั้งนี้  ก็คือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และมาตรการของรัฐที่จำกัดเสรีภาพสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อออนไลน์ ความพยายามในการร่างกฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2541จนมาสำเร็จในปี 2550 โดยมีเหตุผลแรกเริ่มว่าต้องการให้ประเทศมีกฎหมายมาใช้กับอาชญกรรมรูปแบบใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นกับระบบคอมพิวเตอร์ แต่เหตุผลนี้ก็กลายร่าง และถูกปรับเปลี่ยนมาเรื่อย ๆ ทั้งบทบัญญัติที่ว่าด้วยการปิดกั้นเว็บไซต์ (มาตรา 20)ก็ถูกเพิ่มเข้ามาในยุคสมัยของการพิจารณากฎหมายภายหลังรัฐประหาร 19กันยายน 

            อย่างไรก็ตาม แท้จริงแล้วการบล็อกเว็บเกิดขึ้นมาก่อนปี 2550  มีองค์กรหนึ่งใช้ชื่อย่อว่า FAC  (เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร)ตรวจสอบพบว่ามีการปิดเว็ปไซด์เป็นจำนวนมาก โดยที่ไม่มี พรบ.คอม ฯ หรือไม่มีมาตรา 20 FAC  จึงทำหนังสือถามไปกับกระทรวงICT. ว่ากระทรวง ฯ ใช้อำนาจอะไรในการปิดเว็บไซด์  ปรากฏว่ากระทรวง ICT ตอบคำถามนี้ไม่ได้ เพราะการกระทำโดยไม่มีกฎหมายรองรับนี้ขัดต่อหลักนิติรัฐ  

            มีความจริงอยู่ประการหนึ่งที่หลายคนอาจจะหลงลืมไป นั่นคือ การบล็อกเว็บไซด์จำนวนมากเกิดขึ้นในรัฐของคุณทักษิณ ชินวัตร จากนั้นเมื่อการรัฐประหารเสร็จสิ้น ก็มีประกาศ คปค. ฉบับที่ 5ให้อำนาจแก่กระทรวง ICT ในการระงับการเผยแพร่หรือสื่อสารทั้งหมดทั้งปวงที่ขัดต่อแนวทางการปกครองของคณะปฏิรูปการปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซ้ำยังมีคำพิพากษาจากศาลรัฐธรรมนูญมารองรับว่า นี่เป็นกฎเกณฑ์ที่ออกโดยรัฐาธิปัตย์ เพราะฉะนั้นก็เป็นกฎหมายให้อำนาจแก่กระทรวง ICTอย่างถูกต้อง ต่อมาภายหลังจึงมีการตั้ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)และมีการผลักดัน พรบ.คอม ฯ          อย่างรวดเร็ว พรบ.คอม ฯ  และถือเป็นร่างกฎหมายฉบับแรกที่ สนช.ยกมาแปลญัตติ ที่สุดแล้วมีการปรับแก้ร่างเดิมโดยเพิ่มมาตรา 20 ให้เจ้าพนักงานโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศมีอำนาจในการออกคำสั่งปิดเว็บไซด์ได้

            พ.ร.บ.คอม แบ่งการกระทำความผิดออกเป็น 2 ลักษณะ กล่าวคือ ตั้งแต่มาตรา 5-13เป็นความผิดอาชญากรรมคอมพิวเตอร์โดยแท้ คือ การเจาะระบบข้อมูล (เช่น กรณีแฮกเกอร์) ซึ่งความจริงแล้วควรเป็นมาตราหลัก เพราะในต่างประเทศการบัญญัติ พรบ.คอมพิวเตอร์ล้วนออกมาเพื่อแก้ปัญหานี้ ลักษณะที่สองก็คือ ความผิดเกี่ยวกับการเผยแพร่เนื้อหา ซึ่งอยู่ในม.14  และ ม.15 โดยมาตรา14 มีทั้งหมด 5 วงเล็บ วงเล็บแรกเป็นเรื่องการนำเข้าสู่ข้อมูลอันเป็นเท็จ วงเล็บ 2 เป็นเรื่องข้อมูลที่ขัดต่อความมั่นคงหรือทำให้ประชาชนตื่นตระหนก ซึ่งเป็นถ้อยคำที่กว้างมาก ส่วนวงเล็บ 3 นั้นเป็นเรื่องขัดต่อความมั่นคงเช่นกัน เป็นการขัดต่อความมั่นคงที่เชื่อมโยงต่อกฎหมายอาญา (กฎหมายอาญามาตรา112 นั้นอยู่ในมาตรา 14 วงเล็บ 3  สำหรับผู้ให้บริการเว็บไซด์หากมีข้อมูลที่เข้าข่ายมาตรา14  อยู่ในการให้บริการของคุณ คุณก็รับผิดเท่าผู้โพสต์  

            ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยกลายเป็นว่าผู้ที่ทำผิดพรบ. คอม ฯ มาตรา 5-13มีเพียง 2-3 คดี แต่มีคดีความที่ใช้มาตรา 14 15 20 มากมาย ตามข้อมูลเชิงสถิติตัวเลขคดี 185 คดี เป็นคดีความมั่นคง 6 คดี, คดีหมิ่นประมาทโดยทั่วไป54 คดี, เรื่องการหมิ่นสถาบัน 31คดี, คดีลกมก 12 คดี,   คดีฉ้อโกง 38 คดี,อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ 8 คดี,คดีขายโปรแกรมคอมพิวเตอร์เถื่อน อีก 10 คดี และอื่น ๆ ที่กำหนดไม่ได้ 26 คดี

            เหล่านี้ก็คือ สถานการณ์เสรีภาพสื่อที่อยู่ในมือกฎหมายไทย

   

            จอห์น สจ๊วต มิลล์ นักเศรษฐศาสตร์การเมือง   และนักปรัชญา สำนักประโยชน์นิยมที่สนับสนุนเสรีนิยมของปัจเจกชน กล่าวถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นว่า “การปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น ย่อมก่อให้เกิดความสูญเสียต่อมนุษยชาติ เพราะหากความคิดเห็นนั้นถูกต้อง ก็จะทำให้โลกเสียโอกาสในการที่จะได้รับรู้ความจริง แต่แม้หากความคิดเห็นนั้นผิดพลาดมีความไม่ถูกต้อง สังคมก็จะเสียประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ด้วยเช่นกัน เพราะการได้ปะทะกันในความคิดเห็นที่แตกต่างนั้น ย่อมส่งผลให้เราคิดค้นหาเหตุผลในชุดความเชื่อที่เราเชื่ออยู่” 


Latest Story

ไปให้พ้นจากการจ้องจับผิด: การเมืองของการเสพติด สู่ปัญหา “ปีศาจนักสูบ” แห่งมช.

ทำไมคนเราถึงสูบบุหรี่ ?…. ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน.. ที่แน่ ๆ คนสูบบุหรี่คงโดนถามคำถามนี้บ่อยครั้ง แต่อันที่จริงใครสักคนจะสูบบุหรี่เพราะอะไรก็คงจะมีแรงจูงใจหลายอย่างตามอัตวิสัยของแต่ละคน บางคนอาจจะชอบประสบการณ์เวลาตัวเองสูบ สูบเพื่อผ่อนคลาย เสริมสร้างจินตนาการบางห้วงขณะ หรือมันอาจจะไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลอะไรก็ได้ ก็แค่อยากสูบ อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนอยากชวนให้ทุกคนลองพิจารณาดูก็คือ เรื่อง “ภาพจำของคนสูบบุหรี่ในสังคม” คุณคิดว่าสังคมไทย ๆ มีภาพจำกับคนสูบบุหรี่แบบไหน ?