เสวนา 79 ปี นิธิ ชาติที่เรา(จะ)รัก [ตอนที่1]

งานเสวนา ชาติที่เรา(จะ)รัก 79 ปี นิธิ เอียวศรีวงศ์ : วันที่ 25 พฤษภาคม 2019 [ตอนที่1]

ผู้ร่วมเสวนา

  • เกษียร เตชะพีระ | หัวข้อ “อันเนื่องมาแต่ “ชาติ…ยอดรัก””
  • วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ | หัวข้อ “ชาติที่เราจะรัก : ผ่านการมอง ประวัติศาสตร์ชาติจีน”
  • เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง | หัวข้อ “ประชาธิปไตย ไทยแบบพุทธชาตินิยม”
  • ภาณุวัฒน์ พันธุ์ประเสริฐ | หัวข้อ “ชาตินิยมกับปรากฏการณ์ Brexit”
  • พศุตม์ ลาศุขะ | หัวข้อ “วิธีการบอก(ไม่)รักชาติบนtwitter”

ดำเนินรายการโดย : ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี

(ช่วงเกริ่นนำ)

ปิ่นแก้ว: งานเสวนาชาติที่เราจะรักในครั้งนี้ จัดขึ้นในโอกาสที่อาจารย์นิธิมีอายุครบ 79 ปี เป็นการแสดงมุทิตาจิตจากมิตรสหายทั้งหลาย ก็ทราบดีว่าอาจารย์ไม่อยากให้จัดงานมายกยอปอปั้นอาจารย์ ก็ย่อมไม่มีงานประเภทไหนจะดีไปกว่างานที่เราจะหยิบยกเอาหัวข้อ ซึ่งเป็นหัวข้อที่อาจารย์เขียนถึงมากที่สุดในชีวิตของการเป็นนักประวัติศาสตร์ และนักวิจารณ์สังคมนั่นก็คือเรื่องชาติ มาให้คนต่างเจนเนอเรชั่นต่างสาขาวิชาร่วมถกกัน งานเสวนาในครั้งนี้จัดขึ้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองในบ้านเราวันนี้เราก็เห็นการเปิดสภาไปเรียบร้อยแล้วนะคะ เราจัดกันในพื้นที่ตรงนี้ ร้าน Book Re:public ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะจริงๆ เป็นโอกาสที่ดีมาก เพราะการเสวนาครั้งสุดท้ายของร้านนี้ก่อนจะย้ายไปที่ใหม่ ก็ถือเป็นการมาส่งร้าน Book Re:public ให้ก้าวเดินทางไปข้างหน้า ก่อนที่เราจะเริ่มรายการ ดิฉันอยากเชิญตัวแทนกลุ่มเพื่อนนิธิ มากล่าวอะไรสักเล็กน้อย เนื่องในโอกาสของวันนี้ ขอเชิญคุณภัควดี วีระภาสพงษ์

ภัควดี: สวัสดีทุกท่านค่ะ ปกติแล้วอาจารย์นิธิจะไม่ให้จัดงานอะไรที่เกี่ยวกับตัวอาจารย์ งานวันเกิด งานมุทิตาจิตหรืออะไรก็ตาม เมื่องานครบรอบ 75 ปี อาจารย์นิธิ ตอนนั้นเราจัดหลังช่วงรัฐประหาร มาถึงตอนนี้เราจัดหลังเลือกตั้ง และเราจัดระหว่างการประชุมสภาปาหี่กันอยู่ในขณะนี้ พวกเราก็ไม่รู้จะขอบคุณอาจารย์นิธิอย่างไร ก็ได้แต่บอกว่า พวกเราจะพยายามหมุนเข็มนาฬิกาให้เดินไปข้างหน้า ทุกคนจะช่วยกันไขลานนาฬิกาให้เข็มมันเดินไปข้างหน้า นอกจากขอบคุณอาจารย์นิธิแล้ว ก็ต้องขอบคุณพี่ดาที่นอกจากดูแลอาจารย์แล้วก็ดูแลพวกเราทางด้านจิตใจและโภชนาการมาตลอด และขอขอบคุณองค์กรกลุ่ม We Watch ที่เป็นสปอนเซอร์ในการจัดงานครั้งนี้ ขอบคุณร้าน Book Re:public และน้องๆ ทีมงานทุกคนที่อยู่เบื้องหลังการทำงาน ขอบคุณวิทยากรทุกท่านที่มาร่วมกันในงานครั้งนี้ และก็ขอบคุณผู้เข้าร่วมทุกท่าน เราหวังว่านี่คงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย และพวกเราก็จะอยู่ด้วยกัน ผ่านยุคมืดไปด้วยกัน ขอบคุณค่ะ

ปิ่นแก้ว: ก่อนจะเริ่มดิฉันขอเกริ่นนำ คำว่า”ชาติ” เป็นหัวข้อหนึ่งที่อาจารย์นิธิพูดถึงบ่อยที่สุดในงานเขียนของอาจารย์ อาจารย์มักจะย้ำอยู่เสมอว่า ไม่เพียงแต่ชาติจะเป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคมและก็การเมืองเท่านั้น แต่หากเป็นการประกอบสร้างแบบไทย ๆ อีกด้วย เป็นชาติที่แม้แต่คนเชื่อว่าเป็นสมบัติของคนไทยทุกคน แต่กลับเป็นสมบัติที่คนไทยไม่เคยได้เป็นเจ้าของ บ่อยครั้งที่พลเมืองถูกทิ้งถูกขว้างจากชาติ ให้เขาตกอยู่ภายใต้สิ่งที่อาจารย์เรียกว่ารัฐที่ไม่มีชาติ แต่นั่นกลับไม่ได้ทำให้พลเมืองหยุดที่จะรักชาติลงได้เลย

ในบทความเมื่อไม่นานมานี้ของอาจารย์ เรื่อง ชาติยอดรัก อาจารย์นิธิได้ยกระดับการตั้งคำถามต่อความศักดิ์สิทธิ์ของสิ่งที่เรียกว่า”ชาติ” ไปยังปริมณฑลแสนจะ intimate นั่นก็คือ “ความรัก” หรือความรักชาติอันแสนจะโรแมนติก ถ้าเราอ่านบทความไปจนจบ ความโรแมนติกที่เริ่มต้นในบทความก็น่าจะอันตรธานหายไป เพราะว่าไม่เคยมีบทความชิ้นไหนของอาจารย์นิธิ ที่จะปล่อยให้ชาติกับพลเมืองอยู่กันแบบ Happy Ending อาจารย์จบบทความด้วยถ้อยความว่า “คนที่รู้จักความรักอยู่อย่างเดียวคือรักชาติ โดยไม่รู้จักความรักอื่นๆ ที่คนในโลกปัจจุบันต่างแบ่งปันความรักจากชาติไปให้ จึงกลายเป็นคนโง่แบบไร้เดียงสา (IGNORANT ไม่ใช่ DUMB) และกลายเป็นตัวตลกประจำชาติไปอย่างน่าสมเพช”


ช่วงที่ 1 หัวข้อ “วิธีการบอก(ไม่)รักชาติบน twitter” โดย อาจารย์พศุตม์ ลาศุขะ ภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พศุตม์: ผมไม่ได้เป็นนักรัฐศาสตร์หรือคุยเรื่องชาติโดยตรง จริงๆ ผมก็สนใจชาติในมุมมองวัฒนธรรมทั่วไป ในงานวรรณกรรม ก็ได้ตามอ่านงานอาจารย์นิธิมา แต่ไม่ได้ตลอด ก็อ่านบางเรื่อง

ซึ่งเรื่องที่ผมกำลังสนใจอยู่ไม่นานมานี้ ผมอยากจะพูดเรื่องชาติในมิติที่ค่อนข้างร่วมสมัย แต่อาจไม่ใช่เรื่องชาติตรง ๆ ในลักษณะที่เป็นทฤษฎีวิเคราะห์ หรือ Concept ที่ได้ข้อเสนอเรียบร้อยแล้ว ซึ่งผมขอเปิดด้วยคำถามในช่วงเวลาร่วมสมัยปัจจุบัน เรากำลังคุยกับชาติในลักษณะใด

ผมขอเริ่มจาก ประเด็นพฤติกรรมการใช้แอปพลิเคชั่น “ทวิตเตอร์ “ในตอนนี้ ถ้าคนเล่นทวิตเตอร์จะรู้ว่าในแต่ละวันมีเพจที่เขาสรุปว่าแฮชแท็กไหนขึ้นท๊อป ได้รับการทวีตบ่อย ก็จะอธิบายต่อไปว่า “การทวีต” คืออะไรสำหรับคนไม่ได้ใช้ทวิตเตอร์ มาดูกรณีอย่างเมื่อเช้าเนี่ยมีแฮชแท็กอันหนึ่งเป็นที่นิยมมาก ขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง ขอนุญาตใช้คำไม่สุภาพนะครับ คือ “#ไอ้ตู่กลัวธนาธร” คือแฮชแท็กนี้มีการ “รีทวีต” คนเล่นทวีตเตอร์ มีการแชร์ออกไป จนทวิตเตอร์มีการเก็บสถิติ เกิด engagement ในการที่มีคนใช้แฮชแท็กนี้ การที่มีการ รีทวีตแฮชแท็กนี้อย่างแพร่หลายในชั่วข้ามคืน นั้นมีความน่าสนใจอย่างไร พอเรากดไปดู แฮชแท็กนั้นๆ ก็จะพาเราไปสู่โพสต์ต่างๆ นานา คำว่า “#ไอ่ตู่กลัวธนาธร” ไม่สามารถหาได้ว่ามันเริ่มมาจากไหนเป็นที่แน่ชัด เกิดในเฟสบุ๊คหรือทวิตเตอร์ก่อน แล้วสักพักหนึ่งก็จะมีคนที่จับคำนี้ไปรีทวีตซ้ำๆ ไปแชร์ซ้ำๆ หรือไปบวกแฮชแท็กอื่น ๆ เป็นปรากฎการณ์ตั้งแต่เมื่อคืน มาเรื่อยๆ พอตื่นมาเมื่อเช้าก็ยังมีอยู่ รวมถึงแฮชแท็กมันทำหน้าที่ครอบคลุมถึงเรื่องราว ประเด็นที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์กำลังเป็นที่สนใจอยู่ ณ เวลานั้น

ซึ่งปรากฎการณ์ พฤติกรรมการใช้ทวิตเตอร์นี้เป็นสิ่งที่ผมอยากชวนคุยว่ามันทำให้เห็นความรักชาติ ไม่รักชาติอย่างไรในโลกออนไลน์ในปัจจุบัน ผมก็เลยขอตั้งชื่อหัวข้อของผมง่ายๆนะครับว่า วิธี(ไม่)รักชาติบน twitter นะครับ

ผมขออนุญาตปูพื้นที่มาคร่าวๆของ ระบบแฮชแท็กให้คนที่ไม่ได้ใช้ทวิตเตอร์นะครับ แฮชแท็กก็คือตัวชาร์ป(#)แล้วตามด้วยการใส่คีย์เวิร์ดลงไป คีย์เวิร์ดเหล่านั้นจะมีหน้าที่เป็นหมุดหมาย ช่วยให้คนที่ใช้โซเชียลมีเดีย แอปพลิเคชั่นทวิตเตอร์หาข้อมูลที่มันเยอะแยะมากมาย เราลองนึกภาพเวลามีข่าวฟีดมันเต็มไปหมดเลย การที่มันมีแฮชแท็กมันช่วยทำให้เราเข้าไปหาข้อมูลที่เราสนใจ เข้าไปดูได้เลย อีกอันหนึ่งมันก็มีหน้าที่เหมือนเป็นการสร้างสังคมเล็กๆขึ้นมา สำหรับคนที่สนใจในกลุ่มหัวข้อแฮชแท็กนั้น เราสามารถรีทวีตแฮชแท็กเดิม เพิ่มคอมเมนต์ลงไป แล้วคนที่ตามแฮชแท็กนั้นก็จะเห็นคนที่สนใจประเด็นนั้นๆว่าเกิดการพูดถึงอย่างไรกันบ้าง ในเรื่องราวของแฮชแท็กนั้นๆ

แฮชแท็กก็มีหน้าที่ที่จะบอกผู้คนที่ทำงานมาร์เก็ตติ้งหรือด้านสื่อด้วยว่าประเด็นในสังคมตอนนี้ คำใดกำลังฮิต ซึ่งมีการจัดลำดับอยู่เสมอ ในช่วงหลังทวิตเตอร์จะเข้ามาสู่โลกบันเทิงมากขึ้น ถ้าใครจำได้ในสมัยชุมนุมทางการเมืองเมื่อหลายๆ ปีก่อน ส่วนมากทวิตเตอร์ ในภาคภาษาไทยจะใช้กับงานข่าวเสียเยอะ เวลาเราเข้าทวิตเตอร์เราจะเข้าไปตามข่าวต่าง ๆ ช่วงหลังมานี้จะสังเกตได้ว่าทวิตเตอร์ก้าวไปสู่โลกความบันเทิงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเอนเตอร์เทนเมนต์ต่างประเทศ ดาราเกาหลี หรือดาราไทย ซึ่งเป็นหตุผลหนึ่งทำให้มีผู้ใช้เป็นคนรุ่นใหม่ได้มากพอสมควร นั่นก็คือคนเจนวาย ผมเอาสถิติเปรียบเทียบในเดือนมกราคม สัดส่วนของคนใช้โซเชียลแอปพลิเคชั่น ทวิตเตอร์ในเมืองไทยไม่ได้เยอะมากเป็นอันดับหนึ่ง แน่นอนเฟสบุ๊คมาเป็นอันดับหนึ่ง อันดับสองยูทูป อันดับสามทวิตเตอร์ แม้มันไม่ได้เป็นอันดับหนึ่ง แต่มันมีนัยยะสำคัญกับเวลาเราพูดว่าเรารักชาติหรือไม่รักชาติ ถ้าเราลองดูจำนวนคนที่ใช้ทวิตเตอร์ ในส่วนของคนที่มีกิจกรรมกับแอปฯ ทวิตเตอร์ ใช้ทวีต, รีทวิต, หรือการแชร์ จะมีอายุที่ค่อนข้างเป็นวัยรุ่นจนถึงวัยกลางคน อายุประมาณ 30 35 ปี

ซึ่งผมเข้าใจว่าไลน์อาจจะ stable กว่านี้ กราฟมันจะออกมาเท่าเทียมกันมากกว่า หรือจริงๆ คนที่เป็นผู้ใหญ่จะมีกิจกรรมการใช้ไลน์มากกว่า

เวลาส่วนใหญ่ในการเข้าใช้ทวิตเตอร์จะเป็นช่วงกลางคืนเสียมากกว่า สิ่งที่ผมสนใจก็คือวัฒนธรรมการใช้ทวิตเตอร์ในหมู่วัยรุ่น หมู่คนรุ่นใหม่ ที่เราเรียกว่า Gen Y Gen Z ตอนแรกผมก็ตั้งคำถามว่า ทำไมวัยรุ่นจึงกลับมาใช้ทวิตเตอร์อีกครั้ง เท่าที่คิดได้ผมนึกได้ ทวิตเตอร์เป็นพื้นที่ที่ดึงคนรุ่นใหม่มาใช้ ส่วนหนึ่งคือเป็นพื้นที่ที่รวมเรื่องเกี่ยวกับเพศสถานะ เพศวิถีที่บางครั้งคนรุ่นใหม่จะรู้สึกว่าไม่สามารถพูดเรื่องเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่ใน platform อื่น ใช้คำนี้ละกัน ในพื้นที่อื่น ๆ หรืออาจจะพูดโดยไม่อยากเปิดเผยโดยตรง ซึ่ง อีกข้อหนึ่งผมคิดว่า ทวิตเตอร์ที่มันดึงดูดคนรุ่นใหม่เข้ามาใช้เยอะๆเนี่ย อันนี้ผมคิดจากฐานที่ญาติพี่น้องของผม ผมไปถามญาติพี่น้องที่เป็นเด็ก ๆ ว่าทำไมเล่นทวิตเตอร์ ซึ่งได้คำตอบว่ามันน่าสนใจกว่าไลน์ เพราะว่าไลน์จะมีแต่กรุ๊ปครอบครัว เขาไม่อยากสนทนากับกรุ๊ปครอบครัว พวกเขารู้สึกว่าเป็นพื้นที่ที่เอาไว้ส่งข่าวกันเฉย ๆ อะ แต่ทวิตเตอร์มันเป็นพื้นที่เพื่อความสนุกสนาน ทวิตเตอร์ไม่ต้องกังวลว่าแบบพ่อแม่ ญาติ พี่น้องจะมาแอดเฟรนด์ และอีกส่วนหนึ่ง มันอาจไม่ใช่เป็น factor โดยตรง ผมรู้สึกว่าคนใช้ทวิตเตอร์มักจะคิดว่า มันไม่ถูกตรวจสอบโดยรัฐได้โดยตรง ดังนั้นจะมีความรู้สึกว่าพื้นที่ทวิตเตอร์มันสามารถพูดอะไรได้มากขึ้น และเป็นอีกสาเหตุว่าทำไมคนที่เป็นวัยรุ่นส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ชื่อจริงกัน วัยรุ่นมากจะใช้ชื่อแปลกๆ หรือชื่อปลอมในการใช้งานทวิตเตอร์ ซึ่งจะตั้งแตกต่างกับในหลายประเทศที่ทวิตเตอร์จะเป็นพื้นที่ที่ทางการ ซึ่งจะใช้ชื่อจริงทั้งหมด

ที่ผ่านมาผมก็มีกิจกรรมบำบัดตัวเอง นอกจากทำเกรดทำคะแนน ผมก็พยายามไปไล่ตามทวิตเตอร์ว่ามัน มีแฮชแท็กอะไรบ้างที่มันฮิตที่เกี่ยวกับการเมืองที่วัยรุ่นนี่ใช้กัน จึงเป็นที่มาของหัวข้อที่พูดวันนี้ “แฮชแท็กเพื่อบอก(ไม่)รักการเมืองและประเทศชาติ”  

ในช่วงหนึ่งผมสำรวจไทม์ไลน์แฮชแท็กฮิตในแต่ละเดือน เห็นได้ว่าช่วงมกราที่ผ่านมา เป็นช่วงสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย ผมรู้สึกว่าปรากฎการณ์นี้ดึงคนหลากหลายประเภท หลากหลายกลุ่มเข้ามาได้ดี ซึ่งแต่ละคนก็จะใช้แพลตฟอร์มต่างๆ นาๆ ช่วงเดือนมกราคมมีแฮชแท็กที่น่าสนใจอยู่ประมาณ 2 – 3 อัน เช่น #อย่าเลื่อนเลือกตั้ง #เลื่อนแม่มึงสิ ถ้าใครที่ตามการเมืองไทยก็จะรู้ว่าช่วงต้นปี หรือสิ้นปีที่ผ่านมา มีการพูดถึงเหตุการณ์การเลื่อนกำหนดการเลือกตั้ง จากเดือนกุมภาพันธ์ เลื่อนมาเป็นเดือนมีนาคมกับอีกเหตุการณ์ที่น่าสนใจคือ แฮชแท็ก #ทวงคืนวันสอบ ที่เป็นผลกระทบตามมาจากเหตุการณ์เลื่อนเลือกตั้งทำให้วันเลือกตั้งจัดวันเดียวกันกับช่วงสอบ Gat Pat จะเห็นได้ว่าถ้าใครไม่ได้ตามว่าเกิดอะไรขึ้นกับนักเรียนมัธยม ก็จะไม่รู้ว่าความเป็นมาของแฮชแท็ก เลยกลายเป็นปรากฎการณ์ในทวิตเตอร์ช่วงนั้นที่เราจะเห็นว่านักเรียน วัยรุ่น โพสต์ด่า โพสต์บ่น แล้วก็ติดแฮชแท็ก #ทวงคืนวันสอบ จนเต็มไปหมดเลย จนอันดับการติดแฮชแท็กมันขึ้นจนสูงในช่วงมกรา

ส่วนในเดือนกุมภาพันธ์ที่เป็นเดือนที่ร้อนแรงที่สุดของการแฮชแท็กในทวิตเตอร์ของกลุ่มหมู่คนรุ่นใหม่ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภา มีแฮชแท็กเช่น #มึงมาไล่ดูสิ ถ้าใครจำคำนี้ได้ นั่นหมายถึงคำพูดที่พลเอกประยุทธ์พูดไว้ ตอนที่นักข่าวสัมภาษณ์ว่าจะลาออกจากตำแหน่งหรือไม่ ถ้าเกิดเป็น Candidate นายก จนมีคำหนึ่งหลุดออกมาจากปากพลเอกประยุทธ์ว่า “มึงมาไล่ดูสิ” ปรากฎว่าเหล่าคนที่ใช้ทวิตเตอร์ก็นำคำนี้มาเอามาใช้ ทั้งการก่นด่า และใช้บ่นเรื่องอื่นๆ ต่อมาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ วันบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯบวกกับปรากฎการณ์ที่ช่วงนั้นพรรคอนาคตใหม่กำลังมีกระแสนิยมที่ดีในโลกออนไลน์ เมื่อตอนที่คุณธนาธรไปร่วมงานบอลประเพณีฯ แล้วมีกลุ่มคนตะโกนพูดกับคุณธนาธรด้วยคำว่า “ฟ้ารักพ่อ” ซึ่งนี่กลายเป็นแฮชแท็กที่ขึ้นตามมา ไล่มาจนถึง 18 กุมภาพันธ์ พลเอกอภิรัชต์พูดคำว่า “หนักแผ่นดิน” หลังจากนั้นจึงถูกเอามารีทวีต สิ่งที่น่าสนใจในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นเดือนที่มีเหตุการณ์เยอะมาก ถ้าใครจำได้วันที่ 8 กุมภา เป็นวันสำคัญที่มีการยื่นรายชื่อแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นแขกรับเชิญพิเศษลงสมัครกับพรรคพรรคไทยรักษาชาติ ปรากฎการณ์แฮชแท็กที่เกิดตามมาในวันนั้น จึงมีทั้ง #นารีขี่ม้าขาว #แม่มาธานอส #แม่มาแล้วนะธานอส

ส่วนในเดือนมีนาคม เป็นช่วงที่ใกล้เลือกตั้ง ทุกคนมีความหวังว่าเรารอมา 5 ปี ไม่รู้ว่าจะดีจะร้าย ระบบระเบียบกฎกติกามันจะขี้เหร่ยังไงก็ตาม ทุกคนก็จะโพสต์ถึงเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นอย่างคึกคัก อย่างในวันที่ 7 ตอนนั้นเป็นวันที่พรรคไทยรักษาชาติโดนยุบพรรค ก็มีคนที่จะทวิตคำนี้ #ยุบให้ตายก็ไม่เลือกมึง #ยุบให้ตายก็ไม่เลือกลุง มาถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง คืนวันนั้น 23 มีนาคมในทวิตก็มีคำนี้ #ว่าโตแล้วเลือกเองได้ ถ้าใครได้ติดตามโซเชียลมีเดียต่างๆ จะเห็นความเคลื่อนไหว การแสดงออกของคนที่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งอย่างมากมายในโพสต์ที่มีแฮชแท็ก #โตแล้วเลือกเองได้ รวมไปถึงหลังเลือกตั้งที่มีการนับคะแนน ก็จะมีกระแสแฮชแท็ก เช่น #โกงเลือกตั้ง #กกต.โป๊ะแตก #เลือกตั้ง 62

ล่าสุดเดือนพฤษภาคม ที่เห็นล่าสุดก็คือ #StandWithThanathorn ถ้าใครตามข่าวก็จะรู้ว่าเวลานั้นคุณธนาธรโดนคำสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ชั่วคราว จนเกิดมีแฮชแท็กคำนี้เกิดขึ้น ตอนแรกในฐานะนักวรรณคดี จะดูว่ามีความหมายอะไร เบื้องต้นจะเห็นว่าเป็นคำที่คนใช้ทวิตเตอร์รุ่นใหม่ใช้แสดงอารมณ์ ความรู้สึกของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรัก ไม่รัก ชอบ โกรธ ที่เกี่ยวกับปรากฎการณ์ หรือแม้แต่เรื่องพรรคการเมือง บุคคลที่ตนเองชอบ แต่จริงๆ แล้วผมนึกลึกไปกว่านั้นในอีกเลเยอร์นึงของมัน ทุกคนจินตนาการพูดถึงแฮชแท็กพวกนี้อยู่ในกรอบที่มันใหญ่กว่านั้น คือเราหวังดี หรือคิดอยากให้ชาติไปแบบที่เราต้องการ ซึ่งจะเป็นยังไงก็ไม่รู้ แต่ละคนก็จะสรรหาวิธีการพวกนี้มาใช้เรียกร้องให้คนนู้นคนนี้ออกมาเห็นในโลกทวิตเตอร์

อย่างระบบแฮชแท็กมันมีฟังก์ชั่นการใช้ภาษาที่ไม่ได้สร้างความหมาย เราต้องอ่านข่าวสารและผ่านมันไปด้วย เราจะไม่เข้าใจระบบระเบียบ กิจกรรม ชุมชนที่มันเกิดบนโลก Virtual ของทวิตเตอร์ เพราะแฮชแท็กมันมีมากกว่าที่จะบ่งบอกว่า คนคนนี้ กลุ่มผู้ใช้นี้ ชอบหรือไม่ชอบอะไร ถ้ากดเข้าในแฮชแท็กต่างๆ เราจะเห็นกิจกรรมลักษณะรีทวีตหรือรีโพสต์แบบประติดปะต่อกัน บางครั้งก็มีการล้อเลียนกัน บางครั้งก็ไปไกลกว่าไม่เกี่ยวกับประเด็นอะไรทางการเมืองเลยด้วยซ้ำ อีกตัวอย่างหนึ่งผมลองสำรวจแฮชแท็ก #มึงมาไล่กูสิ ในช่วงเดือนมกรา จะมีทวิตเตอร์ที่ใช้แฮชแท็กนี้ ทั้งด่า ทั้งเครียด ทั้งวิตกกังวลต่อเรื่องนี้ แต่ในอีกด้าน แฮชแท็กเดียวกันนี้ถูกนำไปใช้ในประเด็นอื่น เช่น การโฆษณาขายสินค้าต่างๆ ถ้าเรากดเข้าไปในแฮชแท็กนี้ เราก็จะเจอประเด็นที่ต่างๆ ที่ถูกติดแฮชแท็กเดียวกัน ทั้งเรื่องความเป็นไปของชาติ ข่าวของพรรคการเมือง รวมถึงโฆษณานี้รวมเข้ามาอยู่ในจักรวาลของแฮชแท็กนี้ด้วย ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่ผมยังไม่เข้าใจ ถ้าเราจะเข้าใจเรื่องชาติในทวิตเตอร์ ปรากฎการณ์เหล่าที่มันมาพร้อมกัน ดูเหมือนจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยว แต่ในความหมายโดยภาษาในตัวของแฮชแท็ก มันดึงคนจำนวนมากที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับทวิตเตอร์ ในแฮชแท็กนี้

กรณีแฮชแท็ก #นารีขี่ม้าขาว เมื่อย้อนกลับไปดูในเวลานั้น ข้อมูลไม่มีแล้ว โพสต์ก็หาไม่เจอ ไม่รู้ว่าโดนลบไป หรือลบเอง มันจะไม่เหมือนแฮชแท็กอื่นนะครับ ที่ยังมีในระบบทวิตเตอร์ ส่วนนารีขี่ม้าขาวนี่ไม่ค่อยมีแล้วครับ แต่ก็ยังมีตีมที่คล้ายๆแบบนี้ออกมา

ในด้านการใช้ภาษา แฮชแท็กที่ชื่อว่า #โตแล้วเลือกเองได้ ถ้าใครตามทวิตเตอร์ในช่วงนั้นเนี่ย จะเห็นว่าคนที่รีทวิตแฮชแท็กนี้ นอกจากบ่นเรื่องที่ว่าตัวเองโตแล้วเลือกเองได้ตามความหมายของแฮชแท็กแล้ว คุณจะเห็นว่ายังมีโพสต์จำนวนมากที่มากับแฮชแท็ก #โตแล้วเลือกเองได้

มันมาเป็นภาษาอังกฤษ เราเห็นปรากฎการณ์ที่ว่า คนใช้ทวิตเตอร์จำนวนมาก ที่เข้าใจว่าเป็นคนรุ่นใหม่ จะใช้ภาษาอังกฤษผิดถูกๆ ผิดๆ แต่ทุกคนพูดเรื่องการเมืองเป็นภาษาอังกฤษในทวิตเตอร์ ซึ่งผมก็ตกใจมาก แล้วผมเอาให้เพื่อนที่เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษดู เวลาคนเขาบอกว่านักศึกษาวัยรุ่นไม่ค่อยพูดภาษาอังกฤษกัน แต่ทำไมมีกิจกรรมเหล่านี้ เหตุการณ์เหล่านี้ ที่เกิดขึ้นในทวิตเตอร์ เหมือนทุกคนพยายามจะพูด ๆ ออกมาบางครั้งก็ใช้ คำหรือไวยากรณ์อย่างสับสนกันบ้าง แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นภาษาพูด ซึ่งผมยังไม่เข้าใจจุดประสงค์ในการใช้ภาษาอังกฤษในกรณีนี้เท่าที่ควร แต่ว่าปรากฎการณ์ที่เห็นนี้ มันดึงโลกภาษาอังกฤษเข้ามา ภายใต้แฮชแท็กตัวนี้

ผมยังไม่มีข้อสรุปอะไรนะครับ เอามาชวนคุยละกัน ถ้ามองปรากฎการณ์นี้ โดยเฉพาะบริบทการเมืองชาติ เราจะเห็นว่าจริงๆแฮชแท็กมันไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแค่ภาษาบอกว่าคนรู้สึกยังไงอย่างเดียว แต่ถ้าเรามองในแง่ platform ของมัน เราจะเห็นว่าคำคำหนึ่งมันอาจจะรวบรวมเอาคนที่หลากหลาย ที่มีความรู้สึกคล้ายๆ กัน เช่น ถ้าคุณมีความรู้สึกชื่นชอบในพรรคไทยรักษาชาติ มีความชื่นชอบในทูลกระหม่อมฯ อยู่แล้วอาจจะไม่มากไม่น้อย แต่พอมีแฮชแท็กให้ใช้ มันจึงเหมือนสนามหญ้าถ้ามันมีอะไรมาปักลงไปปุ๊ป มันดึงคนเข้ามาหมดเลย แล้วคนก็รีทวีต รีทวีต แล้วคนก็กลายเป็นกลุ่มเป็นก้อนขึ้นมาอยู่ในโลกออนไลน์ คำถามที่ผมตั้งตอนนี้ ปรากฎการณ์อย่างนี้ที่แฮชแท็กมันปักหมุดลงไป แล้วมันดึงคนเข้ามาจากหลายพื้นที่ มันมีนัยยะทางการเมืองที่มันไปผลักการเปลี่ยนแปลงในระดับชาติได้จริง ๆ ไหม ในนี้มีอาจารย์ที่มาจากรัฐศาสตร์หลายคน ที่ทำเกี่ยวกับเรื่อง online politics  มันจะมีดีเบตที่อยู่ในโลกออนไลน์ ที่มันมีเยอะ มันจะผลักการเมืองระดับชาติได้อย่างไร เบื้องต้นผมแค่นี้ก่อนครับ

ปิ่นแก้ว: ขอบคุณอาจารย์พศุตม์มากนะคะ สำหรับผู้ที่ไม่รักชาติทั้งหลาย เราก็จะแห่กันไปในทวิตเตอร์ ไลน์นี้อาจจะเป็นโลกของคนยุคก่อนหรือเปล่า ทีนี้คำถามที่อาจารย์พศุตม์ทิ้งไว้มีความสำคัญ ว่าแฮชแท็กมันมาเร็วและไปเร็ว คำถามใหญ่อยู่กับเรื่องที่ว่าโลกออนไลน์ที่มันมาเร็วไปเร็วมันจะสามารถ materialize กับโลกออฟไลน์ได้หรือไม่ มันมีเหตุการณ์หรือมีตัวอย่างให้เห็นการเชื่อมต่อของพลังในโลกทวิตเตอร์ที่คุณอาจจะเอามาใช้ จะเห็นว่ามันไปใช้กับหนังสือพิมพ์ได้ จะเห็นว่าหนังสือพิมพ์มีการใช้แฮชแท็ก จากนั้นไป platform นี้มันจะไปได้ไกลที่สุดขนาดไหน ซึ่งเป็นคำถามที่น่าสนใจ



Latest Story

ไปให้พ้นจากการจ้องจับผิด: การเมืองของการเสพติด สู่ปัญหา “ปีศาจนักสูบ” แห่งมช.

ทำไมคนเราถึงสูบบุหรี่ ?…. ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน.. ที่แน่ ๆ คนสูบบุหรี่คงโดนถามคำถามนี้บ่อยครั้ง แต่อันที่จริงใครสักคนจะสูบบุหรี่เพราะอะไรก็คงจะมีแรงจูงใจหลายอย่างตามอัตวิสัยของแต่ละคน บางคนอาจจะชอบประสบการณ์เวลาตัวเองสูบ สูบเพื่อผ่อนคลาย เสริมสร้างจินตนาการบางห้วงขณะ หรือมันอาจจะไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลอะไรก็ได้ ก็แค่อยากสูบ อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนอยากชวนให้ทุกคนลองพิจารณาดูก็คือ เรื่อง “ภาพจำของคนสูบบุหรี่ในสังคม” คุณคิดว่าสังคมไทย ๆ มีภาพจำกับคนสูบบุหรี่แบบไหน ?