เสวนาBENEDICT ANDERSON รำลึก เบน แอนเดอร์สัน และ เสวนาเกาะบ่าครูเบ็น ส่องเลนส์ดูโลก

เสวนาBENEDICT ANDERSON รำลึก เบน แอนเดอร์สัน

บุ๊ครีพับลิกจัดงาน “รำลึก เบน แอนด์เดอร์สัน” นักปราชญ์คนสำคัญของโลก ที่เสียชีวิตไปเมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 11 ธันวาคม 2015

โดย
อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์
อ.อานันท์​ กาญจนพันธุ์
อ.มาลินี คุ้มสุภา
และ อ.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี


ส่วนหนึ่งจากงานเสวนา เกาะบ่าครูเบ็น ส่องเลนส์ดูโลก

    null
  • “ครูเบ็น” หรือ เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน คือนักวิชาการชาวไอริช ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทยศึกษา – และครูผู้มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อวงวิชาการไทย
  • หนังสือ “เกาะบ่าครูเบ็น ส่องเลนส์ดูโลก” โดยอาจารย์เกษียร เตชะพีระ คือหนังสือที่รวบรวมข้อเขียน ประสบการณ์ และเรื่องราวความประทับใจที่ศิษย์ก้นกุฏิอย่างอาจารย์เกษียร มีต่อครูเบ็นซึ่งเป็น 1 ใน 4 ครูผู้เปลี่ยนโลกของท่าน
  • แม้จะเป็นงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ แต่เรื่องราวในงานเสวนากลับเต็มไปด้วยสาระ ประสบการณ์ คำสอน และเรื่องราวความอบอุ่นจากเหล่าศิษย์จากวงการต่างๆ ของครูเบ็น โดยถือว่าเป็นงานเสวนาที่รวบรวมนักวิชาการไทยเอาไว้อย่างคับคั่งที่สุดงานหนึ่งของ Book Re:public

“…….สิ่งที่ผมรู้สึกว่าอาจารย์เบ็นสอนผ่านหนังสือและห้องเรียน มีจุดสำคัญอยู่ 4 เรื่องสำคัญด้วยกัน…..

เรื่องแรกคือ ผมคิดว่าอาจารย์เบ็นทำให้เรารู้สึกและมองเห็นว่าโลกเรามันเต็มไปด้วยความหมายที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเข้ามาครอบงำเรา ครอบงำคนอื่นๆ  และนอกจากจะชี้ให้เห็น อาจารย์ยังสอนให้เราไม่วิ่งเข้าไปโอบรับความหมายนั้นง่ายๆ ท่านสอนให้คิดให้ดีว่าความหมายอื่นนั้นมีอีกไหม อย่างการคืนความสุขให้ประชาชน มันมีความหมายที่เขาสร้างไว้อย่างหนึ่ง แต่มันมีความหมายอื่นอยู่อีกบ้างไหม? แล้วความหมายอื่นเหล่านี้ที่ว่ามันจะทำให้เราเข้าใจความซับซ้อนของสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นดีขึ้นได้หรือไม่? ผมคิดว่านี่เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญทั้งของงานอาจารย์เบ็นและสิ่งที่อาจารย์คอยพร่ำสอนลูกศิษย์ด้วย

แต่การพยายามหาความหมายด้วยวิธีแบบอาจารย์เบ็น ไม่ใช่การมานั่งคิดหรือมองหาความหมายอื่นๆ อย่างเดียว มันประกอบขึ้นกับการค้นหาข้อมูลจำนวนมาก ประกอบด้วยการนำเอาประสบการณ์ของตนเองและคนอื่นๆ เข้ามาไตร่ตรองคิดร่วมกับข้อมูลเหล่านั้น นำความสัมพันธ์ที่ตนเองเคยเห็นทั้งในชีวิตจริง ทั้งในตำราทั้งหลายมาค้นมาคิดให้ถ้วนถี่ว่าจริงๆ แล้ว ภายในความหมายที่มันถูกครอบงำอยู่นั้นเราสามารถมองเห็นความหมายอื่นๆ อย่างไรได้บ้าง งานทั้งหลายของอาจารย์เบ็นจึงมุ่งมองหาความหมายอื่นจากสิ่งที่คนอื่นๆ เคยให้ความหมายไว้แล้ว แล้วชี้ให้เห็นว่าความหมายใหม่เหล่านั้นจะช่วยให้เราเข้าใจภาพของปัญหาหรือสิ่งที่เกิดขึ้น ณ เวลานั้นๆ ได้อย่างไร

ประการที่สอง คือท่านสอนให้เรารู้จักจับรูปแบบของเหตุการณ์ใหญ่ๆ ในอดีต แล้วไตร่ตรองกับมันให้ลึกซึ้งมากพอ ซึ่งรูปแบบที่ผ่านการวิเคราะห์เหล่านั้นจะสามารถนำมาใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองและสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างลุ่มลึกขึ้น ท่านสอนให้เราจับรูปแบบที่ค่อนข้างชัดเจน ซึ่งผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่ท่านให้ความสำคัญมากร่วมกันคือเรื่องของการศึกษาวัฒนธรรม เพราะวัฒนธรรมคือสื่อกลางที่จะทำให้เรามองเห็นรูปแบบที่ว่าเหล่านั้นได้ชัดขึ้น งานจำนวนมากของอาจารย์เบ็นจึงเป็นงานที่ศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมและเกี่ยวโยงกับวัฒนธรรมของผู้คนอย่างแนบแน่น อย่างงานวิทยานิพนธ์ของอาจารย์เบ็นที่โดยหลักการแล้วจำเป็นจะต้องรู้ภาษาชวาระดับหนึ่งเพื่อทำความเข้าใจ ตัวท่านเองก็ศึกษาจนเชี่ยวชาญในระดับที่สามารถอ่านวรรณคดีโบราณในภาษาชวาได้ แม้จริงๆ แล้วจะไม่จำเป็นต้องรู้ภาษาชวาลึกซึ้งถึงขั้นนั้น ผมว่านั่นเป็นความใส่ใจอะไรบางอย่างที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวของท่าน ในระหว่างที่ท่านเก็บข้อมูลเพื่อทำวิทยานิพนธ์ ท่านก็ศึกษาวัฒนธรรมต่างๆ ของที่นั่นในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นดนตรี วรรณคดี ซึ่งมันสำคัญอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจความหมายอื่นๆ ในเรื่องราวนั้นๆ ให้ชัดเจนขึ้น

ประการที่สามที่ผมคิดว่าเป็นคุณูปการอย่างยิ่งใหญ่ในทางวิชาการของอาจารย์เบ็นแก่ลูกศิษย์ คือเรื่องของการเปรียบเทียบ สิ่งหนึ่งที่ผมอ่านแล้วสะดุดใจมากในงานของอาจารย์เบ็นที่อาจารย์เกษียรแปลมานี้ คือการที่อาจารย์เบ็นประกาศไว้ตั้งแต่ตอนต้นเลยว่า การเปรียบเทียบไม่ใช่วิธีการทางวิชาการ (academic method) ซึ่งผมเข้าใจผิดตลอดมาว่าการศึกษาประวัติศาสตร์เปรียบเทียบคือการที่คุณต้องมีวิธีการทางวิชาการบางอย่างสำหรับใช้ในการเปรียบเทียบ กลับกัน สิ่งที่อาจารย์เบ็นบอกคือ ไม่ใช่นะ การเปรียบเทียบไม่ใช่ทฤษฎีหรืออะไรในเชิงวิชาการ การเปรียบเทียบคือ discursive strategy หรือยุทธศาสตร์เชิงวาทกรรม หมายความว่า การเปรียบเทียบไม่ใช่การที่คุณแค่เอาสิ่งหนึ่งมาเทียบกับสิ่งหนึ่งเฉยๆ แต่การเปรียบเทียบเหล่านั้นมันเป็นไปเพื่อเสนอหรือแสดงประเด็นอะไรบางอย่างเสมอ มันไม่มีหรอก การที่อยู่ดีๆ เราจะบอกว่าไอ้หมอนั่นดำ ไอ้หมอนี่ขาว โดยไม่ได้ต้องการจะเสนอหรือชี้ประเด็นอะไรที่อยู่เบื้องหลังเลย เพราะฉะนั้นการเปรียบเทียบทุกอย่างมันเป็น discursive strategy เป็นยุทธศาสตร์ในเชิงวาทกรรมที่มุ่งจะพูดอะไรสักอย่างเสมอ ผมคิดว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นที่มีความสำคัญและน่าคิดตามมาก

อีกสิ่งหนึ่งที่ท่านบอกเสมอคือ อย่าเปรียบเทียบอะไรที่ใครๆ ก็รู้อยู่แล้ว การเปรียบเทียบมักจะมีส่วนผสมของความแปลกใจอยู่ในที คือเราต้องเลือกเปรียบในสิ่งที่มันไม่ปกติธรรมดาด้วย โดยที่เราอาจไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบระหว่างสิ่งที่ต่างกัน เราอาจเปรียบเทียบในสิ่งที่เหมือนกันหรืออยู่ในสิ่งเดียวกันดูก็ได้ การเปรียบเทียบในสิ่งเดียวกันหรือก็คือการศึกษาเรื่องความสืบเนื่องจะทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของสิ่งสิ่งหนึ่งอย่างเป็นจังหวะจะโคนขึ้น และจะทำให้ข้อสรุปที่เคยถูกใช้ในการครอบงำคุณนั้นอ่อนแอลง ไม่ว่าคุณจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เช่นการศึกษาความต่อเนื่องและความเป็นไปของความเป็นไทยที่มีพลวัตเสมอมา ที่จะทำให้คุณเห็นว่าความเป็นไทยแท้ๆ แบบที่ชุดความรู้ของรัฐพยายามครอบงำคุณนั้นมันไม่มีอยู่จริง

สำหรับประเด็นสุดท้าย คือการให้ความเป็นครูของอาจารย์เบ็น  ต้องออกตัวก่อนว่าผมเป็นลูกศิษย์อาจารย์เบ็นที่ไม่ใช่นักเรียนคอร์แนลล์ และไม่เคยเรียนกับอาจารย์เบ็นในห้องเรียนเลย แต่ได้มีโอกาสอยู่ร่วมกับอาจารย์เบ็นเป็นเวลาหนึ่งปี ทุกๆ เย็นจะมีโอกาสนั่งคุยกับท่านหลังมื้ออาหารจนดึกดื่น แต่เสียดายที่ผมนั้นโตช้ากว่าสิ่งที่ท่านพูดคุยด้วยมาก ไม่อย่างนั้นผมคงได้ประโยชน์จากการพูดคุยกับท่านมากกว่านี้อีกแยะ เพราะฉะนั้นสิ่งที่พูดจากนี้อาจไม่ถูกต้องก็ได้ แต่ถ้าคุณได้อ่านงานของอาจารย์เกษียรเล่มนี้ คุณจะพบว่ามันมีความอบอุ่นระหว่างครูกับศิษย์สูงมาก สูงจนผมคิดว่า จริงๆ แล้วถ้าเปรียบเปรยโดยใช้สำนวนไทย อาจารย์เกษียรคงต้องใช้ชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า เหยียบบ่าครูเบ็น ส่องเลนส์ดูโลก มากกว่า เพราะสำนวนไทยเราใช้คำว่าเหยียบบ่า ไม่ใช่เกาะบ่า แต่ด้วยความผูกพันนี้คงทำให้เรารู้สึกแบบ กูไม่กล้าว่ะ (หัวเราะ) นี่ผมเดาเอานะ อาจารย์เกษียรเลยเอาแค่ “เกาะบ่า”

ในสำนวนไทยนั้นเปรียบเทียบเอาไว้ว่าความรู้ที่ครูบาอาจารย์เราสร้างคือสิ่งที่เหมือนกับบ่าที่เราต้องขึ้นไปยืน เพื่อที่จะได้มองเห็นสิ่งต่างๆ อย่างกว้างไกลขึ้นกว่าที่ครูได้มองเห็น หากปราศจากความรู้หรือปราศจากบ่าของครูเราคงไม่มีทางจะเห็นอะไรได้กว้างไกลอย่างนั้น ในความเป็นครูท่านได้ให้ความเป็นเพื่อนกับพวกเราด้วย…..”

  [นิธิ เอียวศรีวงศ์ – งานเสวนา เกาะบ่าครูเบ็น ส่องเลนส์ดูโลก]

Latest Story

Kenduri Seni Patani 2024 เทศกาลศิลปะเชื่อมประเด็นวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม – การเมือง – และชุมชนหลากหลายภูมิภาคมาจัดแสดงในปัตตานี

เทศกาลศิลปะนานาชาติ Kenduri Seni Patani 2024  : ภายใต้แนวคิด “ก่อนอุบัติ และหลังสลาย” ส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ภัณฑารักษ์ ” เทศกาลศลปะ Kenduri Seni Patani 2024 ภายใต้แนวคิด “Before birth and