7 ร้านหนังสืออิสระ ในไทเปที่พวกเราอยากแนะนำให้ไปเยือน

ทีม Book Re:public พาสำรวจ ‘ร้านหนังสืออิสระ’ ตามย่านต่างๆ ในเมืองไทเป แต่ละร้านมีความแตกต่าง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เชื่อมโยงเข้ากับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มผู้อ่านที่หลากหลาย และแนวคิดของร้านหนังสือที่นี่เน้นการผสมผสานการใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า รองรับกิจกรรมของแต่ละกลุ่มลูกค้าแต่ละย่าน ร้านหนังสือที่นี่ส่วนใหญ่จะใช้พื้นที่เป็นทั้งเป็นมุมคาเฟ่อ่านหนังสือ พื้นที่จัดแสดงงานศิลปะ จัดแสดงหนังสือ ร่วมงานกับศิลปิน เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเสวนา ทำให้ร้านหนังสือของที่นี่มีชีวิตชีวา และมีผู้คนหมุนเวียนเข้ามาใช้พื้นที่และเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆในแต่ละร้านทั่วเมืองไทเป

Book Re:public จึงถือโอกาสไปเยี่ยมร้านหนังสือที่น่าสนใจ เราอยากแนะนำให้คุณได้รู้จักกับ 7 ร้านนี้

  1. Eslite Read 24 Hours
  2. Bleu&Book (Zhong zheng creative space)
  3. Pon ding (Art book Cafe)
  4. Causeway Bay Bookstore (銅鑼灣書店from Hong Kong)
  5. Ukou Bookstore
  6. Tò-uat Books x Cafe Philo
  7. nowhere

Eslite Read 24 Hours

แม้ร้านหนังสือ Eslite จะมีหลายสาขาในไต้หวัน แต่เราไม่อยากให้พลาดสาขานี้ คือสาขา Eslite Xinyi Store ที่อยู่ใกล้ตึก Taipei 101 เพราะเป็นสาขาที่เปิด 24 ชั่วโมง Eslite มีทั้งหนังสือในภาษาจีนกลางและภาษาอังกฤษ พื้นที่ร้านมีทั้งหมดสองชั้น ชั้นแรกเป็นหนังสือแนะนำประเภทวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ การตลาด หนังสือนิทาน หนังสือสำหรับเด็ก และนิตยสารต่างๆ ส่วนชั้นสอง เป็นโซนหนังสือศิลปะ แฟชั่น ประวัติศาตร์ จิตวิทยา และหนังสือภาษาอังกฤษ นั่งอ่านกันยาวไปเลย 24 ชั่วโมง


Bleu&Book

ร้านหนังสือขนาดเล็กที่ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ห้องนั่งเล่น มีมุมบาร์กาแฟให้บริการผู้อ่าน ร้านยังจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น Book talk ในพื้นที่ร้านหนังสือเป็นประจำทุกเดือน หนังสือที่วางจำหน่ายเป็นหนังสือภาษาจีนกลาง เนื้อหาหลากหลาย แต่ค่อนไปทางงานออกแบบ ศิลปะ และวรรณกรรม

ความพิเศษของร้านหนังสือ Bleu & Book คือทำเลที่ตั้งในพื้นที่ ‘Huashan 1914 Creative Park’ พื้นที่สร้างสรรค์สาธารณะที่เป็นที่นิยมของผู้คนที่มักจะมาใช้พักผ่อนหย่อนใจ บริเวณนี้ที่มีทั้งร้านค้าขายงานคราฟท์ งานศิลปะ โรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก ร้านอาหาร สวนสาธารณะกลางแจ้งและพื้นที่ในร่มที่รองรับกิจกรรมสร้างสรรค์หลากหลายรูปแบบ


Pon ding
(Art book Cafe)

สำหรับคนที่ชื่นชอบหนังสือภาพถ่าย หนังสือศิลปะ หนังสือเกี่ยวกับงานกราฟฟิก หนังสือดีไซน์แปลกตา และหนังสือทำมือจากนักออกแบบรุ่นใหม่ เราแนะนำร้านนี้ ‘Pon ding’ Art book Cafe ร้านหนังสือแห่งนี้มีเป็นเหมือนห้องจัดแสดงผลงานศิลปะในรูปแบบหนังสือ มีแกลลอรี่ขนาดเล็กหมุนเวียนจัดแสดงงานศิลปะต่างๆในชั้นสอง ส่วนชั้นสามเป็นโซนร้านกาแฟ 

Pon ding ร่วมงานกับศิลปินในขั้นตอนการออกแบบ ผลิต และคัดสรรผลงานมาจัดแสดงในร้าน มีมุมของที่ระลึกจากศิลปินทั้งจากไต้หวันและต่างประเทศ เคยมีผลงานจากศิลปินไทยมาร่วมจัดแสดง และยังมีหนังสือจากศิลปินไทยวางจำหน่ายที่นี่ด้วยเช่นกัน 


Causeway Bay Bookstore

ร้านหนังสือแห่งนี้ ใครที่จะแวะมาต้องตั้งใจหานิดหน่อย เพราะเป็นห้องขนาดเล็กซ่อนตัวอยู่ชั้นสิบบนตึก

หนังสือที่วางจำหน่ายส่วนใหญ่ มีความเฉพาะในประเด็นการเมืองของจีน ฮ่องกง และไต้หวันที่เข้มข้น (หนังสือบางเล่มไม่สามารถวางขายในประเทศจีนได้) รองลงมาเป็นหนังสือทฤษฎีการเมืองโลกตะวันตกที่แปลเป็นภาษาจีนกลาง 

ร้าน Causeway Bay มีประวัติที่น่าสนใจ และเป็นที่พูดถึงในหมู่นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางสังคมทั้งในฮ่องกงและไต้หวัน ร้านก่อตั้งครั้งแรกที่ฮ่องกงในปี 1994 ด้วยความที่ร้านจำหน่ายหนังสือต้องห้ามที่พูดถึงการเมืองจีน และไม่สามารถเปิดเผยได้ในฮ่องกง ร้านถูกบังคับให้ปิดตัวลง จึงย้ายจากฮ่องกง มาตั้งร้านใหม่ที่ไทเปในปี 2020

พื้นที่แห่งนี้จึงเป็นหมุดหมายสำคัญของเหล่านักเคลื่อนไหวทางสังคม หากใครสนใจมาเยี่ยมเยือนให้ขึ้นลิฟท์มาที่ชั้น 10 ของตึก (ดูจากหมุดในลายแทงร้านหนังสือด้านล่าง) จะมีธงสัญลักษณ์การเมืองฮ่องกงติดอยู่หน้าทางเข้า ให้เรารู้ว่ามาถูกทางแล้ว


Ukou Bookstore

หากใครกำลังมองหาร้านหนังสือบรรยายกาศสงบ มีมุมเงียบๆ เพื่อนั่งอ่านหนังสือหรือทำงานพร้อมเครื่องดื่ม ร้าน Ukou Bookstore คือคำตอบ ร้านอยู่ในซอยย่าน Zhongshan Linear Park สังเกตป้ายจะเห็นทางเข้าเป็นประตูเก๋ๆ อยู่ข้างร้านขายอะไหล่ยนตร์ ตัวร้านเมื่อเดินขึ้นชั้นสองจะเห็นการจะแบ่งโซนขายหนังสือและมุมสำหรับนั่งชัดเจน มีหนังสือหลากหลายแนว แต่เป็นภาษาจีนทั้งหมด


Tò-uat Books x Cafe Philo และ 讀派Tho̍k-phài

ร้านหนังสือที่กลุ่มเจ้าของซึ่งเป็นนักกิจกรรมทางสังคมตั้งใจทำให้เป็นพื้นที่แสดงออกทางการเมืองอย่างเสรี มีการตกแต่งที่เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองและโปสเตอร์แคมเปญการเคลื่อนไหวทางสังคมที่หลากหลาย ร้านมีทั้งมุมหนังสือสำหรับจำหน่ายและอ่านภายในร้าน มีบริเวณร้านกาแฟ และโต๊ะสำหรับนั่งอ่านหนังสือหรือทำงาน หนังสือของร้านส่วนใหญ่เป็นแนวสังคม การเมือง และทฤษฎีสังคมการเมืองโลกตะวันตก

ถัดไปไม่กี่ก้าว มีอีกร้านหนังสือเจ้าของกลุ่มเดียวกัน ชื่อ “Thok Phai” จัดพื้นที่ให้มีเฉพาะเนื้อหาทางสังคมเกี่ยวกับไต้หวัน ภายในร้านมีพื้นที่กว้างพอสำหรับการจัดเสวนา หรือ Workshopให้นักกิจกรรมทางสังคมได้มาใช้งาน ในขณะที่พวกเราไปเยือน ก็เห็นกลุ่มนักกิจกรรมใช้พื้นที่จัด workshop แบ่งปันความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพกายและจิตใจสำหรับนักเคลื่อนไหวทางสังคมกันอยู่ด้วย


飛地 nowhere

ร้านหนังสือเล็กๆ ที่อ่านชื่อร้านได้ทั้งสองแบบ (จะ Nowhere หรือ Now Here ก็แล้วแต่) ตั้งอยู่ไม่ไกลจาก สถานี MRT Ximen เป็นอีกหนึ่งร้านหนังสือที่สนับสนุนการแสดงออกทางการเมืองของทั้งฮ่องกงและไต้หวัน ถัดจากประตูทางเข้าร้าน มีมุมจัดอันดับหนังสือขายดีประจำเดือนของร้าน หนังสือในร้านมีความหลากหลาย ทั้งวรรณกรรม หนังสือท่องเที่ยว หนังสือภาพประกอบน่าสะสม และยังมีมุมหนังสือเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การเมืองฮ่องกง

นอกจากนี้ร้าน nowhere ยังมีมุมของฝากที่เป็นผลิตภัณฑ์จากธุรกิจขนาดเล็กจากท้องถิ่น เช่นข้าวสาร ผลไม้แปรรูป ชา และมุมตู้แช่คราฟท์เบียร์เย็นๆ ที่ผลิตจากเมืองต่างๆ ในไต้หวันหมุนเวียนมาขาย หรือใครมองหาเสื้อยืดข้อความรณรงค์ทางการเมืองเท่ๆ ที่นี่ก็มีขาย 


และยังมีร้านหนังสืออิสระอีกหลายแห่งในไทเปที่เราปักหมุดไว้

Latest Story

ไปให้พ้นจากการจ้องจับผิด: การเมืองของการเสพติด สู่ปัญหา “ปีศาจนักสูบ” แห่งมช.

ทำไมคนเราถึงสูบบุหรี่ ?…. ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน.. ที่แน่ ๆ คนสูบบุหรี่คงโดนถามคำถามนี้บ่อยครั้ง แต่อันที่จริงใครสักคนจะสูบบุหรี่เพราะอะไรก็คงจะมีแรงจูงใจหลายอย่างตามอัตวิสัยของแต่ละคน บางคนอาจจะชอบประสบการณ์เวลาตัวเองสูบ สูบเพื่อผ่อนคลาย เสริมสร้างจินตนาการบางห้วงขณะ หรือมันอาจจะไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลอะไรก็ได้ ก็แค่อยากสูบ อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนอยากชวนให้ทุกคนลองพิจารณาดูก็คือ เรื่อง “ภาพจำของคนสูบบุหรี่ในสังคม” คุณคิดว่าสังคมไทย ๆ มีภาพจำกับคนสูบบุหรี่แบบไหน ?