เสวนา 79 ปี นิธิ ชาติที่เรา(จะ)รัก [ตอนที่4]

งานเสวนา ชาติที่เรา(จะ)รัก 79 ปี นิธิ เอียวศรีวงศ์ : วันที่ 25 พฤษภาคม 2019 [ตอนที่4]

ผู้ร่วมเสวนา

  • เกษียร เตชะพีระ | หัวข้อ “อันเนื่องมาแต่ “ชาติ…ยอดรัก””
  • วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ | หัวข้อ “ชาติที่เราจะรัก : ผ่านการมอง ประวัติศาสตร์ชาติจีน”
  • เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง | หัวข้อ “ประชาธิปไตย ไทยแบบพุทธชาตินิยม”
  • ภาณุวัฒน์ พันธุ์ประเสริฐ | หัวข้อ “ชาตินิยมกับปรากฏการณ์ Brexit”
  • พศุตม์ ลาศุขะ | หัวข้อ “วิธีการบอก(ไม่)รักชาติบนtwitter”

ดำเนินรายการโดย : ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี


ช่วงที่ 4 หัวข้อ “ประชาธิปไตยอันมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ”
โดย อาจารย์เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เข็มทอง: สวัสดีทุกท่านนะครับ ก่อนอื่นต้องขอบคุณผู้จัดงานที่เชิญมานะครับ หัวข้อของผมคือ “ประชาธิปไตยอันมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ”  อาจารย์นิธิเป็นปัญญาชนหนึ่งในหลายๆท่านที่ผมติดตามอ่าน หนึ่งในหัวข้อที่ท่านเลือกเขียนเสมอคือเรื่องของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นงานที่ผมติดตามอ่านด้วยความสนใจ

โดยพื้นฐานผมเป็นนักกฎหมายรัฐธรรมนูญ ถ้าผมเอาเรื่องรัฐธรรมนูญมาพูดตอนนี้ ก็ไม่มีหน้าจะไปพูดอะไรได้มากนะครับ แต่ว่าจริง ๆ เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะว่าในฐานะนักกฎหมายผมบอกได้ว่า เราไม่สนใจชาติ เราสนใจรัฐ รัฐมีอำนาจ ออกกฎหมาย และก็โครงสร้างกฎหมายการปกครองทั้งหมด แต่จุดอ่อนของนักกฎหมายที่เข้าไปทำงานตอนนี้ คือการเห็นชาติ แต่ไม่เคยเห็นคนในชาติ หมายความว่านักกฎหมายไม่เคยเห็นคนในชาติเป็นคนเลย เห็นเป็นเพียงผู้รับบัญชา เพราะฉะนั้นในเงื้อมมือนักกฎหมาย “รัฐ”จึงไม่ค่อยน่ารัก และมันก็ผลักเราออกไป ถ้าเกิดนักกฎหมายไม่มี awareness บางอย่าง มันก็จะสร้างชาติที่ผลักคนออกจากชาติไปเรื่อย ๆ ซึ่งมันน่าสนใจว่าชาติที่ไม่มีคนรักมันก็น่าสงสารพอ ๆ กัน

ที่ผมเลือกหัวข้อประชาธิปไตยอันมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ที่ไม่ได้เป็นพุทธศาสนาเพียว ๆ ที่เราพูดถึงพระไตรปิฎก แต่เราพูดถึงศาสนาพุทธในฐานะอุดมการณ์อันหนึ่ง คล้ายก่อให้เกิด software ด้านหนึ่งนักกฎหมายสนใจ hardware คือตัวระบบกฎหมาย แต่จริง ๆ ก็เหมือนกับอุปกรณ์สื่อสาร หัวเหว่ย ออปโปะ ไอโฟน แต่ข้างในมันก็มีระบบปฏิบัติการ นักกฎหมายถูกวิจารณ์ว่าสนใจระบบปฏิบัติการพวกนี้น้อยเกินไป อะไรเป็นตัวผลักดันให้กฎหมายมันออกมาเป็นแบบนั้น เราพูดกันเยอะเรื่องประชาธิปไตยอันมีประมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ซึ่งถ้าเกิดคิดว่าภายในไม่กี่ปีนี้ เรา settle กันได้มันคืออะไร มันจะเดินหน้าต่อไป อย่างน้อยสภาเปิด เลือกประธานสภาได้ เลือกนายกได้ แล้วก็ไปต่อ

แต่ว่าหัวข้อที่เราให้ความสนใจกันน้อยกว่า คือ เรื่องพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ถ้าใครสังเกตดู จริงๆมันเป็นหนึ่งในไม่กี่หัวข้อ ซึ่งข้ามเส้นเหลืองแดง เวลามีเรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาขึ้นมา จะเห็นว่าคนทั้งเหลืองทั้งแดงก็จะเกิดความรู้สึกหวงแหน ปกป้อง เกรี้ยวกราด ตัวอย่างเช่นช่วงวิกฤติโรฮิงยาเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนฝั่งเหลืองหรือฝั่งแดง ทุกคนก็รู้สึกรังเกียจ ไม่อยากได้ พวกนี้มันสกปรก มันขี้เกียจ มันออกลูกออกหลาน ให้มาเลเซียรับไป พวกนี้สมควรแล้วที่ถูกพม่าไล่ เราก็งงว่าทุกคนก็เป็นเหยื่อ แต่ก็มีเหยื่อบางคนที่ซ้ำเติม หรือกรณีของโจรใต้ เวลามีข่าวการโจมตีเกิดขึ้น จะมีการสาปแช่งคนต่างศาสนาจำนวนมาก รวมทั้งแนวคิดเรื่องการเผามัสยิดเป็นการตอบแทน เวลามีกิจกรรมสานสัมพันธ์ศาสนาจะเห็นคนทั้งเหลืองทั้งแดงจำนวนมาก ไปประณามรัฐว่าใจดีกับโจรใต้มากเกินไป รับไปอยู่ด้วยเลยไหม อะไรพวกนี้ แสดงว่าจริงๆ พุทธศาสนาเป็นพลังอันหนึ่งที่ทรงพลังมากในการรวมคนไทย รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทยไปทำอะไรบางอย่าง

ความเป็นชาติเหล่านี้มันน่าจะมีปัญหาอะไรบางอย่าง หลายปีให้หลังจะเห็นว่า ด้วยปัจจัยต่าง ๆ มันมีการเรียกร้องให้รัฐใส่ใจพุทธศาสนามากขึ้น เราจะเห็นการขึ้นมาของกลุ่มคนที่เราเรียกว่า”พุทโธเลี่ยน” ซึ่งมันก็เป็นคำที่ช่วยแยกชาวพุทธธรรมดา พุทธศาสนิกชน กับพุทโธเลี่ยนออกจากกัน คำว่า”เลี่ยนพุทโธเลี่ยน” มันคงเหมือนรัสตาฟาเลี่ยน หรืออะไรที่ล้อกัน หลัง ๆ “เลี่ยน”มันเป็นคำที่เหมาะ เพราะความรู้สึกเวลาคุยกับ”พุทโธเลี่ยน”มันก็คือความเลี่ยนจริง ๆ ในส่วนพุทโธเลี่ยน จะเป็น Over Sensitivity แตะต้องไม่ได้เลย อะไรนิดก็ไม่ได้ ปั้นพระ ยกนิ้วจีบไม่จีบ ก็จะมีอารมณ์โกรธเคือง ซึ่งเรียกว่า tone to violence เอะอะก็อยากให้ใช้กำลัง ใช้อำนาจรัฐไปใช้แก้ปัญหาเรื่องพุทธศาสนา แต่ที่สำคัญที่สุดคนเหล่านี้มีความรู้ทางพุทธศาสนาน้อย

จริงๆมันเป็นแค่อาการป่วยของสังคม ที่เอาชาตินิยมกับศาสนาพุทธไปรวมกัน ก็จะได้ผลิตผลเช่นนี้ ล่าสุดที่น่าสนใจคือเรื่องที่กลุ่มชาวพุทธไปร้องให้แก้เพลงชาติ เพลงชาติก็ผลิตโดยเผด็จการทหารอยู่แล้ว มีความชาติ มีสัญลักษณ์ของความเป็นชาติไทยประดังประเดใส่เข้าไปในเพลง แต่ก็ยังมีชาวพุทธรู้สึกว่ามันไทยไม่พอ เพราะมันพุทธไม่พอ สุดท้ายพอโดนกดดันเรื่องนี้ ก็แก้เพลงชาติ ให้มันพุทธมากขึ้น เหมือนสิ่งที่เรา extreme แล้วมันจะมีคนมากกว่าเราเสมอ ๆ หรือที่เรียกว่า “more British than the Queen” เหมือนคนบริติชเสียยิ่งกว่าสมเด็จพระราชินี ที่น่ากลัวคือ แรงต่อต้านเรื่องพุทธชาตินิยมอะไรพวกนี้ มันแผ่วลง ถ้าดูอย่างร่างรัฐธรรมนูญปี 40 เราเห็นพระและปัญญาชนไทยจำนวนมาก เรียกร้องให้บรรจุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งมันก็ compromise โดยการออกมาเป็นแนวนโยบายเรื่องการอุปถัมภ์พุทธศาสนา และศาสนาอื่น

ปี 2550 ชนชั้นยังมีแรงมากพอที่จะต้านไม่ให้กลุ่มพุทธชาตินิยม บรรจุอะไรที่มันสุดโต่งมาก ๆ ลงไปในรัฐธรรมนูญ เพราะกลัวเรื่องผลกระทบทางการเมือง เรื่องความขัดแย้งทางศาสนา มาดูถึงปี 2016 2017 ที่ร่างรัฐธรรมนูญเราจะเห็นว่าพลังนี้มันแทบไม่เหลือ รัฐต้องอุปถัมภ์ ต้องมีมาตรการคุ้มครองพุทธศาสนาแบบเถรวาทให้พ้นจากภัยคุกคาม แนวต้านที่เคยดันอยู่ มันค่อย ๆ ล้มลง ถ้าหากถามว่ามีอะไรไปขับเคลื่อนคนพวกนี้ที่อยากได้ มันมีทั้งวิกฤติภายนอก และวิกฤติภายใน

วิกฤติภายใน คือตัวคำสอนพุทธศาสนาเอง มีเชื้อให้เกิดความกังวล ว่าพุทธศาสนามันจะเสื่อม

ที่เขาเรียกว่าปัญจอันตรธาน ที่บอกพุทธศาสนาจะอยู่ได้ 5000 ปี นี่เราก็อยู่กึ่งพุทธกาลมานิดๆแล้ว มันก็คาดหมายได้ว่ามันจะค่อยๆลด แต่จริงๆความกลัวของพุทโธเลี่ยนจำนวนมาก ไม่ได้อยู่ที่คัมภีร์หรือคำสอนหรอก ที่กลัวก็คือสถานะของพุทธศาสนา พระสงฆ์มันเสื่อมลง ด้วยเรื่องเสื่อมความนิยม ตามโลกสมัยใหม่ไม่ทัน คนเสื่อมศรัทธากับสถาบันสงฆ์กระแสหลัก มีข่าวพระนิกร พระยันตระ มีเณรคำ เรารู้สึกว่าวงการมันเน่าเฟะ สังเกตได้ว่ามันเป็นความเสื่อมของสงฆ์ไม่ใช่การเสื่อมของพุทธศาสนา ถ้าถามคนพวกนี้ก็ยังเป็นพุทธอยู่หรือไม่ แต่อีกด้านหนึ่งเขาอาจจะไปหาตัวเลือกอื่น สันติอโศก ท่าน ว. วชิรเมธี พระไพศาล ธรรมกาย เป็นต้น แต่มันก็ทำให้คนจำนวนนึงร้อนอกร้อนใจว่า มันไม่มีความสามัคคี ความเป็นปึกแผ่นอันหนึ่งอันเดียวกัน

อย่าลืมว่าถ้าฟังคำบรรยายเรื่องประวัติศาสตร์พุทธไทย ที่มาที่ไปต่างๆ มันก็พอเหมาะพอดีกับคำบรรยายประวัติศาสตร์ชาติไทยโดยรวม ที่บอกว่าเป็นราชาชาตินิยม เป็นศาสนาที่ถูกโจมตีเป็นระยะๆ และก็ด้วยความปรีชาสามารถของผู้นำเท่านั้นที่จะช่วยเหลือพุทธศาสนาได้ ดังนั้นพุทธศาสนาไทยจึงเป็นพุทธศาสนาที่อ่อนแอในตัวมันเอง มันทำอะไรไม่ได้ พม่าข้าศึกเผาวัด ลอกทอง มันก็เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์เช่นกัน  มาสมัยรัชกาลที่ 4 มีคริสเตียน มีหมอสอนศาสนามา challenge ก็มีการปฏิรูป ตั้งแต่ ร.4 ร.5 ร.6 เป็นเรื่องที่รัฐเข้าไปช่วย เรื่องของภัยคอมมิวนิสต์ แม้กระทั้งเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ ตอนปี 1997 แล้วก็เรื่องต่าง ๆ จะเห็นว่าพุทธไทย มองตัวเองค่อนข้างอ่อนแอ และมองรัฐในแง่ดี ฉะนั้นมีอะไรจึงวิ่งไปหากษัตริย์ให้ช่วยมาแก้ปัญหา ช่วงหลังๆมีความกลัวเกี่ยวกับอิสลาม ซึ่งครั้งหนึ่งเราเคยกลัวคริสต์มาก แต่ว่าความกลัวก็หมดไป ซึ่งมันก็เป็นทั้งเรื่องของปัจจัยภายใน คือ เรื่องของภาคใต้ รวมกับกระแส global war terrorism และช่วงหลังเรามีการหยิบยืมมาจากพม่าด้วย วิระธุมาไทย หลายหน จะมีสายสัมพันธ์กับวัดไทยบางวัดค่อนข้างดีทีเดียว จะเห็นว่าหลายปัจจัยทั้งภายนอกภายในทำให้พุทธไทยเป็นศาสนาที่ paranoid หลาย ๆ อย่าง ที่ไม่ว่าจะเป็นช่วงปลายอยุธยา การแข่งกับศาสนาอื่นๆ

ผมเคยคิดว่า พุทธศาสนาที่เป็นศาสนาประจำชาติ บรรจุไปแล้วมันจะได้อะไร เพราะถ้าเกิดเป็นศาสนาประจำชาติ มันต้องมี ต้องเป็นผู้ให้คำปรึกษาได้ทางศีลธรรม ถ้าชาติมันมีปัญหา อย่างอังกฤษ อาร์ชบิชอปแคนเบอร์รี่ก็จะออกมาพูดอะไรบางอย่าง เกี่ยวกับเหตุบ้านการเมือง ถึงแม้ไม่ค่อยมีใครฟัง แต่อย่างน้อยสุดมันยังมีหน้าที่บางอย่างอยู่ แต่เราหรืออย่างกรณีพระโอวาทของสมเด็จพระสังฆราช เมื่อวันวิสาขบูชาที่ผ่านมา ถามว่าอีกสัก 100 ปี มีคนเอาพระโอวาทมาอ่าน จะมีใครรู้ไหมว่าตอนนี้ชาติไทยกำลังเผชิญวิกฤตินึงที่ร้ายแรงในประวัติศาสตร์ชาติไทยสมัยใหม่ เพราะมีแต่คำสอนให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เห็นแก่ตัว เจริญสต, ถึงเวลานี้สภายังเปิดไม่ได้เลย มันไม่ใช่เรื่องการเมืองอย่างเดียว มันมีเรื่องความสกปรก มีอะไรให้พูดได้เยอะ แต่ก็ไม่พูด

นั่นก็เป็นแง่นึงว่า เวลาพูดถึงพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ความกลัวหลัก ๆ คนที่กลัวเรื่องนี้ ก็จะกลัวเรื่องเสรีภาพทางศาสนา ความกลัวขั้นแรก คือกลัวคนศาสนาอื่นๆที่ไม่ใช่พุทธ อย่างเช่นมุสลิม เมื่อพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นกับเสรีภาพของพวกเขาหรือ? อย่างที่เราจะเห็นว่า 3 จังหวัดภาคใต้ อัตราการโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญสูงสุด แล้วก็ค่อนข้างเยอะ คืนวันโหวตรัฐธรรมนูญก็มีซีรีย์ของระเบิด ซึ่งแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าไม่เอา ทำให้ คสช. ออกประกาศฉบับหนึ่งว่า นโยบายทางศาสนายังคงเหมือนเดิม มีผู้ไม่หวังดีบิดเบือนอะไรต่าง ๆ ต่อมามีคนที่กลัวเพิ่มขึ้นอีก คือ ชาวพุทธที่เป็นพุทธสายกลาง หรือชาวพุทธทั่วๆไป ไม่ใช่แค่พุทโธเลี่ยน เพราะว่าอย่าลืม เวลาพูดถึงไทย พูดถึงการชำระน้อยครั้งจะเป็นเรื่องของการป้องกันภัยข้างนอก เวลาพูดชำระพุทธศาสนา ปฏิรูปพุทธศาสนาส่วนใหญ่เป็นการชำระข้างใน คล้าย ๆ กับหลายศาสนาถ้าเกิดมีความสุดโต่ง จะพบว่าเป็นปฏิปักษ์กับต่างศาสนา กับคนในศาสนาที่ไม่ใช่นิกายของความเชื่อของตัวเอง ดังนั้นคนอยู่ในศาสนา จะถูกลงโทษหนักกว่าคนนอก ไปดู ISIS นี่ถ้าเป็นคนต่างศาสนายังสามารถจ่ายภาษีอะไร เพื่อจะขอให้ละเว้นการถูกทารุณ แต่ถ้าเกิดเป็นมุสลิมต่างนิกายก็ไม่มีทางรอด พวกนี้คือพวกมีมิจฉาทิฏฐิ แต่ถ้ามองให้กว้างกว่าเรื่องเสรีภาพทางศาสนา การที่มีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ หรือศาสนาพุทธเป็นความคิดใหญ่ทางการเมือง มันขับไล่ไม่ใช่แค่คนต่างศาสนา หรือคนพุทธที่เป็น moderate แต่ว่ามันรวมถึงการเข้ามาในมิติอื่น คือทำให้คนจำนวนมากที่เอาประชาธิปไตย หรือเอาคุณค่าสมัยใหม่ ต้องขัดแย้งกับพุทโธเลี่ยน กับศาสนาพุทธอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ถ้าเกิดเราดูว่าสังคมแบบที่คนรุ่นใหม่ที่มีค่านิยมแบบตะวันตก เมื่อเดือนที่ผ่านมา มันจะพูดถึงในเชิงอุดมคติที่สุด มันกำลังพูดถึงการปกครองที่เรียกว่าเป็น liberal democratic constitutionalism พอพูดถึงคำว่า constitutionalism ที่ถูกแปลว่าเป็นรัฐธรรมนูญนิยม แต่มันก็มีรัฐธรรมนูญนิยมหลายแบบ ในยุคของทรัมพ์มันก็ยึดรัฐธรรมนูญในแบบของเขา จีนก็มีรัฐธรรมนูญแบบของจีน แต่พอพูดถึงliberal democratic constitutionalism มันต้องเป็น liberal ด้วย democratic ด้วย มันต้อง constitutionalism ถ้าพูดถึง constitutionalism คืออะไร อย่างน้อย ๆ มันต้องมีการปกครองโดยรัฐธรรมนูญซึ่งมัน imply พูดถึงความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายเหนือคน เหนืออำเภอใจคน ที่เราเรียกว่า rule of law ผมไม่ใช้คำว่านิติธรรม เพราะว่าเดี๋ยวผมจะเอาความเชื่อพุทธมาเชื่อมกันให้ดูว่ามันขัดกันอย่างไรบ้าง

อย่างแรกสุด constitutionalism คือ sanctity of law มันมี rule of law ก็คือการใช้กฎหมายมีเกณฑ์มีกฎของมันอยู่ ไม่ใช่แค่ตัวอักษร มันเป็น liberal คือมันต้องยึดการใช้สิทธิเสรีภาพเป็นหลัก รัฐธรรมนูญนิยม มันต้องมีการตีความเรื่องสิทธิเสรีภาพด้วย ถ้าหากสิทธิเสรีภาพปัจเจก สุดท้ายสุดมันก็เป็น democratic มัน imply สังคมที่มา คำว่าเสมอภาคแปลว่า มันไม่มีระบบการเลือกผู้ปกครองอื่นที่ดีไปกว่าให้ทุกคนออกเสียงหนึ่งคนหนึ่งเสียงเท่ากัน รวมๆกันก็คือระบบประชาธิปไตยปกติที่เราพูดกันนั่นแหละ มีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง มีการคุ้มครองสิทธิ แต่พอมาดูจารีตการเมืองการปกครองของไทย เราจะพบว่าทุกอย่างมันขัดกันหมดเลย

เริ่มแรกคือสังคมไทยไม่ใช่สังคมเสมอภาค มันเป็นสังคมที่มีการใช้คำว่าเป็นสังคมพุทธอินทรียภาพ แบบ”ไม่ใส่ปุ๋ย” เอ้ย ไม่ใช่ ไม่ใส่ปุ๋ยเคมี ใช้น้ำหมัก แต่ไม่ใช่สังคมอินทรียภาพ มองสังคมเหมือนเป็นร่างกาย อวัยวะทุกอย่างมีหน้าที่ของมันเอง มีที่ของมันจำเพาะ เป็นสังคมที่มีตำแหน่งแห่งที่ของผู้คน และมันสลับกันไม่ได้ มีษัตริย์เป็นเหมือนหัว มีเสนานิกรเป็นมือเป็นเท้าเป็นตัวเป็นอะไร มันแสดงความเชื่อแบบพุทธเลย สังคมมันจะเดินไปได้ดี ทุกคนต้องอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ตัวเอง ที่ที่มีสูงมีต่ำ ถ้าใครไปอ่านไตรภูมิก็จะรู้มันมีคนเกิดสูงเกิดต่ำ แต่สิ่งที่ทำให้สังคมเดินไปได้ มันต้องไม่ไปขี่กัน สังคมไม่ได้เรียบราบ แต่มันเรียบลงไปเหมือนปิรามิด

อย่างช่วง กปปส. เนี่ย ไอ้แนวคิดคนไม่เท่ากัน คือแนวคิดที่พูดกันบ่อย ๆ คือ คนมันจะเท่ากันได้ยังไง ความรู้ ความสามารถ เพราะมัน imply ว่าคนมีระบบสะสมแต้ม ใครสะสมแต้มเยอะ เกิดใหม่ ก็เกิดชาติสูง หล่อ สวย ฉลาด หน้าตาดี เราเชื่อโดยอัติโนมัติว่าคนเกิดชาติสูงก็คือคนฉลาด ส่วนคนที่เกิดข้างล่าง คือ คนใช้กรรม เราไม่เคยมองคนเท่ากัน มากไปกว่านั้น คือสังคมพุทธอินทรียภาพ ปะทะกับสังคมประชาธิปไตยที่เน้นความเสมอภาค แล้วมันก็มีค่านิยมนิติธรรมปะทะกับrule of law คือเราแปลคำว่า rule of law แปลว่านิติธรรม แต่ในระหว่างขั้นตอนการแปล เราทำให้คำมันกลายเป็นของไทยไปด้วย ตัวธรรมะเองก็มีคำแปลหลายอย่าง คำสอน หน้าที่ สิ่งที่ถูกต้อง แต่ที่เป็นคำแปลใหญ่คือ คำว่ากฎ จะมาเป็นกฎที่มัน cosmic law เป็นอกาลิโก เป็นเอหิปัสสิโก คือมันไม่ขึ้นอยู่กับเวลา สถานที่ คน เป็นกฎของทั้งคนและสัตว์ และสิ่งของ เพราะฉะนั้นจึงเป็นกฎที่เที่ยงแท้ แน่นอนกว่ากฎของมนุษย์ สมัยก่อนอย่างกฎหมายที่เราเรียกว่า”พระธรรมศาสตร์” มันก็อิงมาจากธรรมะเอง ไปค้นมาจากกำแพงจักรวาล เพราะเป็นกฎอันเที่ยงแท้แน่นอน ที่เอามาเขียนลงบนใบลาน ซึ่งความเชื่อนี้ ในสมัยรัชกาลที่ 5 มันพังทลายลง เพราะกฎหมายสมัยใหม่ คือกฎหมายที่มีความชัดเจนแน่นอน สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งมันเป็นข้อดี แต่ว่าข้อเสียคือมันเป็นกฎหมายที่ออกมาใช้งาน

ถ้าเกิดไปอ่านงานเช่น นิติศาสตร์แนวพุทธ ของท่า ป.อ. ปยุตโต ท่านพูดเลยว่ากฎหมายยิ่งมีเยอะ ยิ่งแสดงการเกิดความเสื่อมของสังคม สังคมที่ดีที่สุดคือมีกฎหมายน้อยที่สุด แต่กฎหมายนั้นต้องสอดคล้องกับธรรม ธรรมะ อันที่จริงคำที่เกี่ยวข้องกับคุณค่าเชิงนิติศาสตร์หลาย ๆ คำ มันไปผูกกับธรรมไว้เยอะมาก ยุติธรรม นิติธรรม เพราะฉะนั้นคุณค่าเหล่านี้ ในความเป็นไทย มันไม่ใช่คุณค่าสากล คุณค่ามันผูกกับพุทธศาสนาเอาไว้ เพราะฉะนั้นเวลาถามถึงความเป็นธรรม ความยุติธรรม มันจะวิ่งไปหาความดีความชั่ว มันต้องมีคนดี มันต้องมีคนชั่วถูกลงโทษ และศาลก็จะต้องพักความดี ด้วยราคาต่าง ๆ

จะเห็นว่าการใช้กฎหมายในประเทศไทย มันค่อนข้าง instrumental หรืออย่างเช่น ยกตัวอย่างธรรมกาย ข้อหาใหญ่ของธรรมกายคืออะไร คือความไม่เป็นไทย คือความเป็นนิกายนอกรีต แต่มันไม่มีกฎหมายเรื่องห้ามนอกรีต หรือแตกนิกาย ธรรมกายโดนฟ้อง ไม่ร่วมมือกับ DSI ซึ่งจริงๆในสังคมมันเป็น Rule of law มันทำไม่ได้ เพราะว่าความผิด ข้อหา การลงโทษ ข้อเท็จจริงทุกอย่างมันต้องสอดคล้องกัน ผิดข้อหาใด ก็ต้องแจ้งข้อหานั้น ก็ต้องลงโทษตามข้อหานั้น แต่สังคมไทยไม่เป็นไร ถ้าผิดข้อหานี้ แต่เอาอะไรก็ได้ที่มันมีบทลงโทษที่เป็นกรรมออกมา เอามาจัดให้ นี่เป็นกรรมของคุณ มาในรูปแบบไหนไม่สนใจ แต่ว่าผลลัพธ์คือได้กรรมจำนวน 5 ยูนิต อย่างสมเด็จช่วง ข้อหาใหญ่คืออะไร คือจะขึ้นเป็นสังฆราช โดนข้อหารถหนีภาษี มันไม่เข้าพวกกัน ซึ่งมีอะไรแบบนี้เยอะมากโดนข้อหาบุกรุกป่า แต่จริงๆไม่ใช่ผิดอีกข้อหาหนึ่ง มันทำให้เกิดเหตุการณ์ธรรมะต้องชนะธนาธร

สุดท้ายมันปะทะกันระหว่าง liberal value เรื่องสิทธิเสรีภาพของปัจเจกที่ไม่มีคู่ต่อสู้ เพราะพุทธศาสนาไม่มีไอเดียเรื่องสิทธิ สิทธิเป็นของใหม่มากที่เกิดขึ้นมา แต่อย่างน้อยที่สุดเรารู้ว่า คือ คนชอบพูดว่าพุทธศาสนาคุ้มครองสิทธิ ศีล 5 นี่เป็นยิ่งกว่าสิทธิ แต่ถ้าไปดูเนื้อหาจริงๆก็ไม่ใช่ พุทธศาสนากับสิทธิมันไม่ตรงกัน สิทธิจริง ๆ คือ คำว่า right ในภาษาอังกฤษความหมายแรกสุด มันคือสิ่งที่แข็ง สิ่งที่ตรง สิ่งที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นคำบรรยายในลักษณะค่อนข้าง objective สิ่งที่ควรจะเป็น เป็นสากล พอโลกมันพัฒนามาเรื่อย ๆ คำว่าสิทธิมันจะเป็นของส่วนบุคคล จากสิ่งที่เราบอกว่าดี บอกว่าเป็นสิ่งที่ถูก This is the right thing to do. มาเป็น This is my right. นี่คือสิ่งที่เป็นของของเรา มันเป็นของของเราที่เราควรจะได้ แต่ว่าพุทธศาสนามันไม่ได้เปลี่ยนผ่านตรงนี้ มันยังคิดถึงคำว่า right นึกถึงสิ่งที่มันควรจะเป็น ไม่คิดถึง entitlement ของแต่ละคน เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่า จริง ๆ พูดไปจนตายก็นึกไม่ออกว่าผมพูดถึงอะไร เอาตัวอย่างเช่นการใช้สิทธิ ต้องใช้อย่างถูกต้องดีงาม ซึ่งอันนี้มันเป็นไม้ตายเด็ดมากของชาวพุทโธเลี่ยนทั้งหลาย ในการปิดปากคนที่พูดถึงสิทธิจริง ๆ ใช้สิทธิใช้ได้ แต่ต้องใช้ให้ถูกต้อง ใช้ให้ถูกกาละ ถูกเทศะ ต้องทำให้เกิดผลที่ไม่เกิดความวุ่นวาย แต่ถ้าไปดูคอนเซ็ปต์เรื่องสิทธิ ถ้าทำแล้วมันไม่มีใครเดือดร้อน แล้วทุกคนเห็นด้วยมันไม่จำเป็นต้องมีสิทธิ ทุกคนต้องทำได้ เรื่องเสรีภาพในการแสดงออก พูดต้องพูดให้เป็นศีล 5 ที่ดีกว่าสิทธิ เพราะศีล 5 มันละเอียดกว่าสิทธิ เพราะไม่ใช่พูดอะไรได้  มันต้องพูดไพเราะอ่อนหวาน ไม่ส่อเสียด ต้องเป็นพูดสิ่งที่มีประโยชน์ แต่ถามว่าถ้าเกิดพูดแบบนั้นเพราะถูกใจผู้มีอำนาจ มันจะต้องใช้สิทธิไปทำไม ใครก็ทำได้

การที่เราต้องการเสรีภาพในการแสดงออก เพราะอะไร เพราะเรากำลังจะพูดอะไรก็ตามที่ถ้าพูดแล้วอาจโดนต่อยปากก็ได้ อาจโดนปิดไมค์ก็ได้ นั่นแหละยามที่มัน obverse ที่สุด เราถึงต้องการใช้สิทธิที่เป็น individual right ของเรา เรื่องนี้น่าสนใจมาก ที่ว่าผู้ใหญ่เมืองไทย จะยิ้ม ๆ บอกว่าได้ แต่พวกหนูต้องใช้ให้มันถูกต้อง พอบอกใช้ให้มันถูกต้องกลับบอกว่าไม่มีทางใช้สิทธิได้เลย เพราะว่ามันเป็นไปไม่ได้ มันขัดกับคุณค่า หรือแนวคิดพื้นฐานว่าทำไมต้องมีสิทธิ ดังนั้นเราจะเห็นว่าสิ่งที่เราเรียกว่า Liberal Democratic

Constitutionalism มันชนกับจารีตของไทยกับมุมมองของไทย ที่มีพุทธเป็นไอเดียหลักนั่นก็คือเป็นสังคมที่ไม่เสมอภาค ทุกคนมีหน้าที่ เราเน้นหน้าที่ ทุกคนต้องทำเพื่อส่วนรวมให้สิ่งที่ถูกต้องดีงาม เพื่อธรรมะ ซึ่งก่อนหน้านี้ที่เราไปเถียงกันว่าจะไปสถาปนาพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญนั่นเป็นเรื่องในอนาคต แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว มันเกิดขึ้นมาตลอด และมันก็ยังเกิดขึ้นอยู่ พุทธศาสนา เป็นแกนหลักในจารีตการปกครอง การเมืองไทย มันปะทะกับความต้องการที่จะสร้างชาติอีกแบบหนึ่ง คือชาติที่เสมอภาค ชาติที่ทุกคนพูดกันได้ ยอมรับกันได้ มีความอดทนอดกลั้นมากขึ้น ซึ่งมันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนี้

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พุทธไทยมันถูกแช่ไว้ในกรอบ  3 อย่าง คือ สังคมอินทรียภาพ ที่เน้นเรื่องธรรมะเป็นใหญ่ ซึ่งจริง ๆ มันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนี้ คนเสนอ มันทำให้การปะทะกันไม่เกิดการอึดอัดขัดข้องกันจนบอกให้แยกพุทธออกจากรัฐ ถึงแม้ว่าจะทำให้สังคมมันจบปัญหานี้ แต่มันไม่ต้องไปถึงขั้นนั้น ถ้าพุทธสามารถยังคงอยู่ แต่ว่าเปลี่ยนเนื้อในตัวเองใหม่ เปลี่ยนเป็นคนละคน ตีความใหม่ให้เข้ากับเนื้อหาที่เป็นสากลมากขึ้น ถามว่ามันทำได้ไหม มันอาจทำได้ก็ได้

คนพุทธที่คนทั่วโลกรู้จักมากที่สุด เป็น ดะไล ลามะ ท่านจะพูดที่สอดคล้องกับคุณค่าสากล ความรัก ความอดกลั้น ความเสมอภาค ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มันอาจเป็นตัวอย่างที่เราต้องเรียนรู้ ตัวอย่างของไทย ช่วง 2475 เป็นช่วงสั้น ๆ ประมาณ 20 กว่าปี ที่มีการพยายามตีความพุทธใหม่ มีการเอาแนวคิดสังคมนิยมเรื่องความเป็นอนิจจลักษณะของสังคมเข้ามา ยืนยันว่าการอภิวัฒน์เนี่ยมันเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับแนวคิดพุทธ คือสังคมมันต้องเลื่อนไหลไปเรื่อย มันไม่อาจคงสถานะนั้นๆไว้ได้ตลอด จะเห็นว่ามีการพยายามตีความใหม่ได้บ้าง แต่ว่า หนึ่งเราไม่เปิดรับภายนอก เวลาพูดมหายาน เราพูดถึงพระมีเมียอย่างเดียว พอพูดถึงอภิวัฒน์เราก็ปิดกั้น เพระาฉะนั้นพุทธไทยมันจึงเป็นพุทธที่มีลักษณะเหมือนจ้นบอนไซแห้ง ๆ เหมือนกินอกไก่ แห้ง ๆ ก็มันทำให้ชาติที่มีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ มันจะกลายเป็นชาติที่มันรักไม่ลงนะครับ

ปิ่นแก้ว: ขอบคุณอาจารย์เข็มทองมากนะคะ ฟังแล้วก็หดหู่ ทุกคนแวดล้อมก็มีแต่พุทโธเลี่ยน ไม่ทราบว่าจะหาทางออกอย่างไร อาจารย์ให้ทางออกไว้อยู่ แต่อาจารย์ไม่ได้บอกทางแก้ปัญหา ว่าจะหลีกหนีกับชาวพุทโธเลี่ยนยังไง เลิกรับไลน์ เลิกเล่นไลน์ หันไปเล่นทวิตเตอร์แทนกันเถอะค่ะ



Latest Story

Kenduri Seni Patani 2024 เทศกาลศิลปะเชื่อมประเด็นวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม – การเมือง – และชุมชนหลากหลายภูมิภาคมาจัดแสดงในปัตตานี

เทศกาลศิลปะนานาชาติ Kenduri Seni Patani 2024  : ภายใต้แนวคิด “ก่อนอุบัติ และหลังสลาย” ส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ภัณฑารักษ์ ” เทศกาลศลปะ Kenduri Seni Patani 2024 ภายใต้แนวคิด “Before birth and