‘ทุนนิยมเจ้า‘ ทุนนิยมใต้ร่มบรมโภธิสมภาร

‘ทุนนิยมเจ้า‘ ทุนนิยมใต้ร่มบรมโภธิสมภาร

“ในยุคทุนนิยมโลก สถาบันกษัตริย์ถูกปฏิบัติราวกับว่าได้ตายไปแล้วทั้งในทางทฤษฎีและความเป็นจริง ในทางปรัชญา ทฤษฎีการเมือง และเศรษฐศาสตร์การเมือง สถาบันกษัตริย์ไม่ได้เป็นประเด็นหลักของการถกเถียงอีกต่อไปแล้ว สำหรับนักทฤษฎีแบบฉบับ เมื่อทุนนิยมกลายเป็นวิถีการผลิตหลักในรัฐ สถาบันกษัตริย์ก็มีอันที่จะต้องถูกล้มล้างไปโดยกระฎุมพีหรือไม่ก็ถูกเปลี่ยนให้เป็นสถาบันกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ เป็นสถาบันเชิงสัญลักษณ์ที่ไม่มีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจและการเมืองที่ปกครองโดยกระฎุมพี” เป็นส่วนหนึ่งของย่อหน้าแรกในบทนำหนังสือ ‘ทุนนิยมเจ้า: ชนชั้น ความมั่งคั่ง และสถาบันกษัตริย์ในประเทศไทย’ โดยปวงชน อุนจะนำ พิมพ์กับสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน หนังสือที่ถูกศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) และนักรบองค์ดำ ฟ้องร้องในข้อหา 112 ทั้งต่อตัวผู้เขียนและสำนักพิมพ์เมื่อปลายปี 2564 ส่วนตัวแล้วไม่แปลกใจเพราะหลังจากอ่านก็คิดว่ามีโอกาสสูงที่จะถูกฝ่ายอนุรักษนิยมเล่นงาน ซึ่งจนป่านนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ให้เห็นตามหน้าสื่อ
 
หากถามว่าหนังสือมีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร? คำตอบที่ง่ายที่สุดคือสถาบันกษัตริย์ไทยไม่ได้เป็นดังเนื้อหาที่ยกมาข้างต้น กล่าวคือสถาบันกษัตริย์ของไทยยังคงมีบทบาทสำคัญทั้งต่อเศรษฐกิจและการเมืองที่ปกครองโดยกระฎุมพี และเนื้อหาส่วนที่เหลือก็คือการฉายภาพให้เห็นว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ปวงชนระบุว่าสถาบันกษัตริย์ไทยตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 โดยพฤตินัยมีอำนาจนำในทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม สถาบันกษัตริย์ไทยเป็นนายทุนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และรัชกาลที่ 9 ก็ได้รับการจัดอันดับจากนิตยสาร Forbes ในปี 2551 ว่าเป็นกษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลกด้วยทรัพย์สินที่คาดว่าจะมีมากถึง 30 พันล้านเหรียญสหรัฐ และยังคงติดอันดับ 1 ต่อมาในปี 2552 2553 และ 2554 ซึ่งเป็นเครื่องชี้ชัดว่าสถาบันกษัตริย์ไทยปรับตัวให้เข้ากับทุนนิยมได้เหมาะเจาะเพียงใด การปรับตัวอีกรูปแบบหนึ่งที่สำคัญ ปวงชนชี้ให้เห็นว่าภาพลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 ปรับเปลี่ยนไปอีกหลังจากยืนหยัดอย่างมั่นคงแล้ว จากกษัตริย์นักพัฒนาสู่กษัตริย์ผู้ทรงงานหนักและมัธยัสถ์ซึ่งสอดคล้องกับอุดมการณ์กระฎุมพีหรือก็คือเหล่านายทุนทั้งหลาย เพราะการทำงานหนัก ประหยัด อดทน ไม่ปริปากบ่นคือสิ่งที่กระฎุมพีต้องการจากแรงงาน แล้วจะมีใครเหมาะสมกับภาพลักษณ์ที่จะช่วยสร้างวัฒนธรรมนี้ได้เล่า หากมิใช่กษัตริย์ผู้ทรงงานหนักและมัธยัสถ์
 
ผลสุดท้ายจึงนำไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์และกระฎุมพีนายทุนต่างๆ เกิดเป็นเครือข่ายอันเหนียวแน่นที่แผ่คลุมระบบเศรษฐกิจไทยไว้ ลองจินตนาการถอยกลับไปยังห้วงยามที่ไทยกำลังพัฒนาอุตสาหกรรม หากผู้ประกอบการรายหนึ่งคิดจะสร้างเนื้อสร้างตัวก็ต้องมี 3 อย่างนี้เป็นส่วนประกอบ-ปูนซิเมนต์, เงินทุนจากธนาคาร และที่ดิน สถาบันกษัตริย์ไทยมี 3 สิ่งนี้ในมือ ที่เหลือก็เป็นความสามารถของนายทุนแต่ละคนว่าจะเข้าถึงทรัพยากรเหล่านี้ได้แค่ไหน
 
ปวงชนให้ข้อมูลว่า “บริษัทปูนซิมเนต์ไทยที่แทบจะผูกขาดการผลิตปูนซิเมนต์ในไทย กอบโกยผลกำไรมหาศาลจากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่กำลังแผ่ขยาย และสินทรัพย์รวมกระโดดจาก 124 ล้านบาทในทศวรรษ 1950 ไปเป็นเกือบ 10,000 ล้านบาทเมื่อสิ้นสุดทศวรรษ 1970” มิพักต้องเอ่ยถึงธนาคารไทยพาณิยชน์และที่ดินสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ “ที่เป็นเจ้าที่ดินรายใหญ่ที่สุดในประเทศ”
แม้จะเป็นงานวิชาการ แต่ ‘ทุนนุยมเจ้า’ ถือเป็นงานที่อ่านสนุก ใช้ลีลาภาษาที่เร้าความรู้สึกถึงความมั่งคั่งและยิ่งใหญ่ของสถาบันกษัตริย์ไทย โดยในช่วงท้ายของหนังสือยังครอบคลุมถึงการที่สถาบันกษัตริย์ต้องเผชิญความท้าทายจากการระบอบประชาธิปไตยที่เกิดจากรัฐธรรมนูญปี 2540 และการประท้วงของคนเสื้อแดงในปี 2553 จนเกิดปรากฏการณ์ ‘ตาสว่าง’ สืบเนื่องถึงปัจจุบัน นี่เป็นหนังสือว่าด้วยกษัตริย์ศึกษาที่ไม่ว่าคุณจะเป็นฝ่ายขวาหรือฝ่ายซ้ายก็ควรอ่าน ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่นั่นก็แล้วแต่สำหรับผม ‘ทุนนิยมเจ้า’ ช่วยให้เห็นเครือข่ายชนชั้นนำของไทยได้แจ่มชัดและเกิดอาการว่า “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง” ทำไมความเหลื่อมล้ำจึงไม่ถูกแก้ไข ซ้ำยังขยายกว้างขึ้น ทำไมเราจึงต้องดิ้นรนกระสนหาพัฒนาตัวเองไม่หยุดหย่อนเพื่อเป็นผู้เล่นที่นายทุนต้องการและทำไมเมื่อมีพรรคการเมืองพรรคหนึ่งหาเสียงว่าจะจัดการปัญหาทุนผูกขาดในไทย มันถึงได้เป็นเรื่องคอขาดบาดตายที่ไม่อาจยินยอมให้เกิดขึ้นได้
คุณจะเข้าใจเมื่ออ่าน ‘ทุนนิยมเจ้า’
.
รีวิวโดย กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

Latest Story

Kenduri Seni Patani 2024 เทศกาลศิลปะเชื่อมประเด็นวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม – การเมือง – และชุมชนหลากหลายภูมิภาคมาจัดแสดงในปัตตานี

เทศกาลศิลปะนานาชาติ Kenduri Seni Patani 2024  : ภายใต้แนวคิด “ก่อนอุบัติ และหลังสลาย” ส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ภัณฑารักษ์ ” เทศกาลศลปะ Kenduri Seni Patani 2024 ภายใต้แนวคิด “Before birth and