ไปให้พ้นจากการจ้องจับผิด: การเมืองของการเสพติด สู่ปัญหา “ปีศาจนักสูบ” แห่งมช.

ไปให้พ้นจากการจ้องจับผิด: การเมืองของการเสพติด สู่ปัญหา “ปีศาจนักสูบ” แห่งมช.

ทำไมคนเราถึงสูบบุหรี่ ?….

ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน.. ที่แน่ ๆ คนสูบบุหรี่คงโดนถามคำถามนี้บ่อยครั้ง แต่อันที่จริงใครสักคนจะสูบบุหรี่เพราะอะไรก็คงจะมีแรงจูงใจหลายอย่างตามอัตวิสัยของแต่ละคน บางคนอาจจะชอบประสบการณ์เวลาตัวเองสูบ สูบเพื่อผ่อนคลาย เสริมสร้างจินตนาการบางห้วงขณะ หรือมันอาจจะไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลอะไรก็ได้ ก็แค่อยากสูบ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนอยากชวนให้ทุกคนลองพิจารณาดูก็คือ เรื่อง “ภาพจำของคนสูบบุหรี่ในสังคม” คุณคิดว่าสังคมไทย ๆ มีภาพจำกับคนสูบบุหรี่แบบไหน ? 

บ้างก็บอกว่าบุหรี่ก็เป็นสารเสพติดชนิดหนึ่ง อย่างแนบอิงกับความรู้การแพทย์สมัยใหม่ คนสูบบุหรี่ จึงเป็นจัดคนติดสารเสพติด บ้างก็จดจำบุหรี่ในฐานะอบายมุข/สิ่งไม่ดีงามตามหลักการหรือศีลธรรมต่าง ๆ รวมถึงหลักมารยาททางสังคม (ของใคร ?) โดยอ้างว่านอกจากจะเป็นสิ่งมึนเมาแล้ว ยังทำร้ายตนเองและคนอื่น ๆ ที่ได้รับควันหรือกลิ่นไปด้วย ยิ่งกว่านั้น บางครั้งผู้ใหญ่ก็เสี้ยมสอนให้เด็ก ๆ รังเกียจคนสูบบุหรี่โดยถือว่าเป็นการกระทำของกลุ่มคนที่ถูกเหยียดให้เป็นคนชั้นต่ำ (แม้แต่ตัวผู้เขียนเองก็ยังเคยถูกสอนว่าพวกคนเก็บขยะ คนเร่ร่อนมันสูบกัน อย่าไปสูบตาม) ฯลฯ

อันที่จริงสภาวะต่าง ๆ เหล่านี้เผยให้เห็นว่า การก่อร่างความเป็นปีศาจร้ายของคนสูบบุหรี่ในสังคมมันไม่ได้กระทำบนคุณค่าชุดเดียว แต่เป็นไปอย่างสนับสนุนกันผ่านหลายวาทกรรม เช่น วาทกรรมการแพทย์ วาทกรรมมารยาททางสังคม หลักการ/ศีลธรรม ฯลฯ แต่ที่สำคัญ.. เมื่อเราลองพิจารณาดูอย่างถี่ถ้วนกว่าเดิม ก็จะเห็นได้ว่า อันที่จริงการให้เหตุผลเหล่านั้นก็ไม่ใช่เต็มไปด้วยความขัดแย้งภายในตัวมันเอง เลือกที่รัก มักที่ชังในการนำไปแปะป้ายคนอื่น ๆ ในบทความส่วนต่อไป เราจะอภิปรายให้เห็นร่องรอยของความขัดแย้งเหล่านั้น

บุหรี่, การเสพติด, สุขภาพ, และความขัดแย้งเชิงจริยศาสตร์

คำอธิบายว่าด้วยบุหรี่คือสารเสพติด– จริง ๆ แล้วก็ไม่ผิดนัก หากเราจะบอกว่าบุหรี่เป็นสารเสพติดชนิดหนึ่ง คำอธิบายแบบนี้จากผู้เชี่ยวชาญ/หมอ/กูรู/นักEducate/ฯลฯ มักจะมาพร้อมกับการให้เหตุผลผ่านความรู้การแพทย์สมัยใหม่ โดยถือว่าการสูบบุหรี่นั้นทำให้เกิดการกระตุ้นกระบวนการเสพติด ผ่านการกระตุ้นการทำงานของฮอร์โมนที่ชื่อว่า “โดปามีน (Dopamine)” ในกระบวนการที่เรียกว่า “ระบบรางวัล (Reward pathway)” กล่าวให้คนทั่วไปเข้าใจโดยง่ายคือ การสูบบุหรี่ซึ่งภายในประกอบด้วยสารต่าง ๆ นั้นกระตุ้นให้ร่างกายของเราหลั่งโดปามีนออกมา ด้วยฤทธิ์ของมัน เราจะรู้สึกพึงพอใจอย่างพุ่งพล่านเหมือนได้รางวัล ในขณะที่เมื่อเราหยุดสูบมันสักพัก โดปามีนก็จะถูกกระตุ้นลดลง เกิดความต้องการที่อยากจะสูบมากขึ้นจนเป็นวงจร ต้องเพิ่มปริมาณและความถี่ในการสูบ มากขึ้นเรื่อย ๆ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ [1][2]) และเกิดสภาวะที่เราเรียกกันว่า “การเสพติด” 

สิ่งที่น่าสนใจคือ กลไกการเสพติดทางการแพทย์ที่ว่านี้มักจะถูกยกขึ้นมาอย่างทื่อ ๆ เพื่ออธิบายการเสพติดสิ่งต่าง ๆ ที่ถูกถือเป็นสิ่งเลวร้ายในสังคม เช่น บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กัญชา ยาไอซ์ ยาบ้า โคเคน เห็ดเมา ฯลฯ ในขณะข้อเท็จจริงที่ว่า การกระทำโดยทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น การทานอาหารที่มีน้ำตาลหรือไขมันสูง การทานอาหารอร่อย การมีเพศสัมพันธ์ หรือแม้แต่การทำกิจกรรมที่สนุกสนานอื่น ๆ ก็กระตุ้นกลไกดังกล่าวเป็นปริมาณมากน้อยต่างกันตามเหตุปัจจัยและความจำเพาะของสิ่งเสพติดและของแต่ละคนอยู่ทุกวี่วัน [1][2] กลับมักไม่ถูกนำมาถกเถียงในเชิงจริยศาสตร์ ข้อเท็จจริงดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า “การเสพติด” ด้วยตัวของมันเองเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถกลายเป็นสิ่งเลวร้ายบนบรรทัดฐานของสังคม แต่ต้องอาศัยองค์ประกอบอื่น ๆ

 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาภาพจำร่วมสมัย จะพบว่าการเสพติดบุหรี่ อันนำมาซึ่งการสูบซ้ำไปมา มักถูกนำเสนอในฐานะสิ่งไม่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งส่งผลให้เกิดสภาวะหรือโรคต่าง ๆ ทั้งแก่ตัวผู้เสพเองและผู้อื่นได้ อย่างเป็นไปตามความรู้การแพทย์สมัยใหม่ ซึ่งได้กลายเป็นความจริงที่ทรงพลัง ได้รับความเชื่อถือในสังคม เช่น บุหรี่ทำให้เป็นมะเร็งปอด มะเร็งช่องปาก ถุงลมโป่งพอง หอบหืด ฯลฯ แต่ทว่า โดยข้อเท็จจริงแล้ว ด้วยข้อจำกัดทางญาณวิทยาของการแพทย์สมัยใหม่ ที่อาศัยความรู้จากวิธีการพิสูจน์ความจริงในแบบวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เราไม่อาจยืนยันหรือกล่าวโทษอย่าง “ฟันธง” ถึงความเชื่อมโยงของการสูบบุหรี่ในฐานะสาเหตุอย่างเป็นเหตุเป็นผลโดยตรงเพียงหนึ่งเดียว ต่อสภาวะหรือโรคทางการแพทย์ต่าง ๆ เหล่านั้น อย่างมากก็จัดการสูบบุหรี่ไว้ได้เฉพาะในกลุ่ม “ปัจจัยเสี่ยง” เท่านั้น เพราะถึงแม้การสูบบุหรี่ในฐานะสาเหตุแห่งภาวะหรือโรคอาจมีน้ำหนักทางสถิติมากหรือน้อย ก็ตามแต่การศึกษาโรคนั้น ๆ แต่ก็มิอาจฟันธงได้อย่างสมบูรณ์อยู่ดี ดังตัวอย่างเช่น ถึงแม้มะเร็งปอดบางชนิดจะถูกนำเสนอว่าเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติมาก ๆ แต่การที่คนสูบบุหรี่คนหนึ่งจะเป็นมะเร็งปอดชนิดนั้น ๆ ได้ ยังเชื่อมโยงกับปัจจัยเกี่ยวกับเพศทางชีวภาพ พันธุกรรม การเข้าถึงสุขภาพที่ดี รวมถึงความจำเป็นต้องสัมผัสกับสิ่งอื่นที่อาจส่งผลเสียแก่ปอด ฯลฯ ด้วย (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ [3]) สิ่งนี้นำมาสู่ข้อเท็จจริงสำคัญคือ “ถึงแม้เรามักจะพบว่าคนสูบบุหรี่ เป็นมะเร็งปอด แต่ไม่ใช่คนสูบบุหรี่ทุกคนที่จะเป็นมะเร็งปอด” ด้วยข้อเสนอนี้ เมื่อเราเปรียบเทียบการเสพติดบุหรี่กับตัวอย่างการเสพติดสิ่งอื่น ๆ ที่ถูกยอมรับในสังคม จะเห็นได้ว่า หากพิจารณาในเชิงผลกระทบทางสุขภาพอย่างเข้มข้น แม้แต่ในกรณีการเสพติดอาหารอร่อยที่มีน้ำตาลหรือไขมันสูงก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นเบาหวาน ไขมันอุดตันในเส้นเลือด และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ การเสพติดการมีเพศสัมพันธ์ก็เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการตั้งครรภ์อย่างไม่พึงประสงค์ เราก็มิอาจ “ฟันธง” ให้การเสพติดสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะ/โรคเพียงหนึ่งเดียวได้ และหากพิจารณากว้างออกมากว่าเดิม อันที่จริงแล้วร่างกายของเราในฐานะพื้นที่ที่เกิดกระบวนการต่าง ๆ ย่อมเสื่อมสภาพไปตามการลักษณะการใช้งานอันผูกโยงกับเวลา สิ่งสำคัญสำหรับการพิจารณาเชิงจริยศาสตร์ในประเด็นสุขภาพจึงมิอาจตัดมิติของ “เสรีภาพในการเลือกใช้งานสุขภาพของตนเอง” ในที่นี้ ผู้เขียนหมายความว่า ผู้คนก็ควรเลือกเองได้ว่าจะใช้ชีวิตไปกับอะไรบ้าง ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ก็ล้วนมีผลกับสุขภาพของตนเองได้ทั้งนั้น ดังนั้น การเอาแต่ตกอยู่ภายใต้ความรู้การแพทย์สมัยใหม่จึงอาจหมายถึงการไม่มีชีวิตเลยก็ได้ (เพราะไม่ว่าจะเลือกทำอะไร หรือไม่ทำอะไรที่ถูกยอมรับในสังคมหรือไม่ ก็อาจจะมีบางสิ่งมีผลต่อสุขภาพของเราอยู่ดี) มิตินี้สอดคล้องกับหลักจริยธรรมการแพทย์สากลที่สำคัญข้อหนึ่ง คือหลัก “ความเป็นอิสระ/มีเจตจำนงในตนเอง (Autonomy)” (ประเด็นนี้จะได้รับการอภิปรายต่อในส่วนถัดไป) และในเมื่อการเสพติดเกิดขึ้นได้กับทุกกิจกรรมของมนุษย์ การจัดการกับการเสพติดจึงเป็นมากกว่าเพียงประเด็นของการทำงานที่เกิดขึ้นภายในสมอง แต่ยังดำรงอยู่อย่างแนบแน่นกับประเด็นเสรีภาพของผู้คน อย่างไรก็ตามกิจกรรมต่าง ๆ ย่อมมีลักษณะจำเพาะอันนำมาสู่ความรับผิดชอบหลากหลายที่ควรถูกพิจารณา เช่น การสูบบุหรี่มีควันและกลิ่นที่แพร่กระจายได้ ซึ่งอาจส่งผลกับสุขภาพ ส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์ หรือสร้างความไม่ชอบใจบนคุณค่าต่าง ๆ ของผู้อื่นได้ การที่ผู้คนเลือกได้ว่าจะได้รับผลกระทบทางสุขภาพหรือผลกระทบอื่น ๆ ที่อาจเกิดจากควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบด้วยหรือไม่ จึงยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่มิอาจละทิ้งเป็นอันขาด 

การพิจารณาประเด็นผลกระทบทางสุขภาพ ไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งเชิงจริยศาสตร์ในประเด็นสุขภาพ (กล่าวคือ ทั้ง ๆ ที่ทั้งการสูบบุหรี่ การเสพติดอาหารอร่อยที่มีน้ำตาลหรือไขมันสูง ตลอดจนการเสพติดการมีเพศสัมพันธ์ และกิจกรรมอื่น ๆ ต่างก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพไม่ทางใดก็ทางหนึ่งได้ทั้งนั้น แต่การเสพติดบุหรี่กลับยังดูเป็นสิ่งเลวร้ายในสังคมกว่ากิจกรรมอื่น ๆ ที่ถูกยอมรับในสังคมมากกว่า) แต่ยังแสดงให้เห็นว่า “ปีศาจนักสูบ” นั้นมิอาจเกิดจากคำอธิบายทางการแพทย์สมัยใหม่ที่กระทำต่อตัวผู้สูบในฐานะปัจเจกเพียงอย่างเดียว แต่ยังกระทำต่อตัวผู้อื่นที่อาจได้รับผลกระทบจากการสูบบุหรี่ ร่วมกับคุณค่าอื่น ๆ นอกเหนือจากประเด็นทางสุขภาพด้วย ดังนั้น เราจึงมิอาจละทิ้งองค์ประกอบทางสังคมอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือไปจากวาทกรรมทางการแพทย์สมัยใหม่ ออกไปจากการพิจารณาปัญหา “ปีศาจนักสูบ” ได้ การถกเถียงต่อประเด็นดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะในเมื่อปัญหาปีศาจนักสูบเป็นปัญหาระดับสังคม ย่อมปรากฏให้เห็นซึ่งการเมืองเสมอ 

สังคมและการเมืองของการเสพติดบุหรี่ กรณีศึกษามช.

ตามที่ได้อภิปรายถึงการเสพติดซึ่งแฝงฝังอยู่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ จะสังเกตได้ว่าการเสพติดแต่ละรูปแบบนั้นแนบอิงอยู่กับบรรทัดฐานทางสังคมซึ่งส่งผลให้การเสพติดแต่ละรูปแบบนั้นได้รับการยอมรับในสังคมอย่างแตกต่างกัน ข้อเท็จจริงนี้ ชี้ให้เห็นว่าการถกเถียงประเด็นทางสังคมและการเมืองของการเสพติดมีความสำคัญ เพราะเมื่อสังคมก่อให้เกิดบรรทัดฐานของการเสพติด การเสพติดแต่ละรูปแบบจึงย่อมถูกควบคุม คัดเลือก จัดวางให้มีที่ทางอันจำเพาะโดยอำนาจที่เคลื่อนไหวในสังคม การพิจารณาการจัดวางการเสพติดต่อความยอมรับในสังคมจึงเป็นการเผยให้เห็นการเมืองของการควบคุมเสรีภาพ หรือความเป็นอิสระ/มีเจตจำนงในตนเอง (Autonomy) ของผู้คนสำหรับการเสพติดสิ่งต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวถึงในบทความส่วนก่อนหน้า

สิ่งที่น่าสังเกตประการหนึ่งคือ สิ่งเสพติดที่ถูกยอมรับเป็นสิ่งทั่ว ๆ ไปในบริบททางประวัติศาสตร์สังคมหนึ่ง ๆ มักจะมีกลไกหรือลู่ทางที่คอยจัดการหรือรองรับผลจากการเสพติดที่สอดคล้องไปกับการทำงานของบรรทัดฐานทางสังคม เช่น ในระดับรัฐ จะสังเกตได้ว่า จะมีกลไกทางสุขภาพอย่างการสนับสนุนให้ออกกำลังกาย อาหารสุขภาพ หลักประกันสุขภาพรัฐ/เอกชน/ประกันสังคม ศูนย์เกี่ยวกับการผดุงครรภ์ การศึกษาที่เสนอความรู้บางรูปแบบ วิธีการคุมกำเนิด/ป้องกันโรคติดต่อ หน่วยงานสังคมสงเคราะห์ โรงแรมม่านรูด ระบบกฎหมาย ฯลฯ ที่จัดการหรือรองรับการเสพติดอาหารอร่อยที่มีน้ำตาลหรือไขมันสูง การเสพติดเพศสัมพันธ์ ฯลฯ ทั้งนี้ มิอาจปฏิเสธได้ว่ากลไกต่าง ๆ ก็มิได้จัดการปัญหาทางสังคมอย่างหมดจด และดำเนินไปพร้อมกับการเมืองหรือความขัดแย้งของการจัดการควบคุม และศีลธรรมของกลุ่มคนที่มีอำนาจในสังคมอยู่เสมอ

เมื่อกลับมาพิจารณากรณีของการเสพติดการสูบบุหรี่ แม้จะปรากฏให้เห็นกลไกทางสังคมที่คอยจัดการหรือรองรับโดยทั่วไปเช่นกัน ทั้งกลไกทางสุขภาพในเชิงรณรงค์และในเชิงการรักษาผลกระทบทางสุขภาพที่เกี่ยวกับการสูบบุหรี่ รวมถึงกลไกอื่น ๆ แต่ภาวะความเป็น “ปีศาจนักสูบ” ก็ยังดำรงอยู่อย่างชัดเจน ทั้งนี้ ผู้เขียนขอชี้ให้เห็นว่า บ่อยครั้งประเด็นการสูบบุหรี่ในสังคมมักถูกผลักให้กลายเป็นเพียงความขัดแย้งเชิงปัจเจกระหว่างผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ที่คอยจ้องจับผิดผู้สูบบุหรี่ ประหนึ่งตำรวจตรวจศีลธรรม ดังตัวอย่างในบริบทของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ผู้บริหารแสดงจุดยืนต่อต้านการสูบบุหรี่อย่างเต็มที่ ดังปรากฏว่ามีการออกนโยบายมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ ติดป้ายเขตปลอดบุหรี่ทั่วมหาวิทยาลัย เผยแพร่สื่อรณรงค์ให้เลิกบุหรี่ด้วยข้อมูลสุขภาพ ให้บริการคลินิคเลิกบุหรี่ในคณะแพทยศาสตร์ ร้านยาให้คำปรึกษาของคณะเภสัชศาสตร์ จัดงานวัดงดสูบบุหรี่โลกในบางส่วนงาน[4] แต่มักจะปรากฏให้เห็นการแขวนหรือตีตราผู้สูบบุหรี่ในพื้นที่มช. ให้เป็นภัยสังคมอยู่เรื่อย ๆ โดยเฉพาะในช่องทางออนไลน์อย่างกลุ่มเฟซบุ๊ก “ลูกช้างมช.” โดยการถ่ายรูปผู้สูบบุหรี่ในมช. มาโพสต์แขวน ด่า สั่งสอนเรื่องมารยาททางสังคม ทั้งในกรณีที่มีผู้สูบบุหรี่ในเขตที่ถูกประกาศเป็นเขตปลอดบุหรี่ กรณีที่ผู้สูบบุหรี่พยายามเดินออกไปสูบให้ไกลจากผู้คน หรือแม้แต่กรณีที่มีผู้สูบบุหรี่ในพื้นที่สูบบุหรี่ที่แอบถูกจัดสรรเอาไว้ในบางพื้นที่

สภาวะตามตัวอย่างข้างต้น แสดงให้เห็นว่า กลไกในการรองรับ จัดการ หรือควบคุมเกี่ยวกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ที่ผู้มีอำนาจในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดสรรเอาไว้ โดยมักจะ “เคลม” ต่อสาธารณะว่าพื้นที่ของตนเองนั้นเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ 100% นั้นเป็นการเคลมผลลัพธ์ที่ “แหกตา” ผู้คน ตามอำเภอใจของผู้บริหารไปวัน ๆ เพราะหากการออกนโยบายจัดการตามประสงค์ของพวกเขาได้ผลจริง สมาชิกประชาคมมช. อย่าง นักศึกษา อาจารย์ บุคลากร ศิษย์เก่าคงไม่ต้องมานั่งแขวนคนสูบบุหรี่ และทะเลาะกัน

ข้อสังเกตประการหนึ่งของผู้เขียนต่อการดำเนินนโยบายจัดการการสูบบุหรี่ในพื้นที่ของมช. ในลักษณะดังกล่าวคือ สิ่งนี้เป็นแนวนโยบายที่พยายามกลบเกลื่อนสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้คนในมหาวิทยาลัยไปวัน ๆ ประหนึ่งว่าไม่ยอมรับว่าในพื้นที่ของตนเองนั้นก็มีคนเสพติดการสูบบุหรี่อยู่มาก ทั้งนักศึกษา อาจารย์ บุคลากร ผู้บริหาร หรือบุคคลภายนอก เมื่อผู้คนอยู่ในพื้นที่ที่ถูกเรียกว่า “เขตปลอดบุหรี่” แต่ทว่าบางคนก็จำเป็นต้องสูบบุหรี่ (เพราะหากไม่สูบก็จะมีอาการ “ลงแดง (Withdrawal symptoms)” ซึ่งสามารถนำมาซึ่งอันตรายได้[5]) พวกเขาก็จำเป็นต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ เพื่อแอบสูบบุหรี่ บ้างไม่รู้มาก่อนก็สูบในที่ที่คิดว่าได้รับอนุญาตให้สูบได้ ควันและกลิ่นบุหรี่ก็ไปส่งผลกับคนอื่นเต็มไปหมด โชคร้ายหน่อยก็โดนถ่ายรูปไปแขวนดังตัวอย่าง

สมาชิกประชาคมมช. บางคนที่คอยจับผิดคนสูบบุหรี่ในมหาวิทยาลัยอาจจะเสนอให้ปีศาจนักสูบ อดทน อดกลั้น เลือกที่จะไม่สูบบุหรี่ในพื้นที่มช. บ้างก็เสนอว่า ถ้าอยากสูบก็เดินทางไปสูบนอกรั้วมหาวิทยาลัยได้ แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว พวกเขาเหล่านี้ที่อาจจะไม่เคยเสพติดบุหรี่เลย อาจไม่เข้าใจเลยว่าการเสพติดบุหรี่คืออะไร มีความรู้สึกอย่างไร ยากแค่ไหนถึงจะเลิกเสพติดบุหรี่ได้ (การเสนอให้งดสูบช่วงที่อยู่ในพื้นที่มหาลัย ก็เหมือนการบอกให้คนติดบุหรี่เลิกสูบบุหรี่ทั้งวัน) และที่สำคัญ การจะเดินทางออกไปสูบบุหรี่นอกมหาวิทยาลัยเมื่ออยากสูบบุหรี่ มันแลกมาด้วยอะไรบ้าง (เช่น กรณีอยากสูบเวลาที่ใกล้จะเข้าเรียน/ทำงาน/มีภารกิจในพื้นที่มช. แต่กลับต้องเดินทางไปนอกมหาวิทยาลัยซึ่งใช้เวลานาน ปัญหานี้ทบทวีกว่าเดิม เมื่อพิจารณาร่วมกับปัญหาการเดินทางในมช. ที่มีปัญหาการจราจร ระบบขนส่งที่ไม่สามารถรองรับผู้ใช้งานในเวลาเร่งรีบ ปัญหาที่จอดรถไม่พอ)

ปัญหาลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในทุกปี ในขณะที่สมาชิกประชาคมก็ไม่สามารถร่วมกันนำพาให้เกิดพื้นที่ของการมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนและตัดสินใจใด ๆ อย่างเป็นรูปธรรม ท้ายที่สุด คนที่ไม่สูบบุหรี่ก็ต้องทนกับผลที่อาจเกิดจากควันบุหรี่ หรือความรู้สึกกระอักกระอ่วนที่เห็นคนสูบบุหรี่ในพื้นที่มช. คอยจัดการปัญหาด้วยการแขวนผู้คนไปวัน ๆ คนที่สูบบุหรี่ก็จะเหลือทางเลือกอยู่ไม่กี่ทาง ได้แก่ เลิกสูบบุหรี่ทั้งวันทุกวัน เดินทางไปสูบบุหรี่นอกพื้นที่มช. เมื่ออยากสูบจนทนไม่ไหว หรือไม่งั้น ก็แอบสูบแล้วเสี่ยงกับการโดนแขวนจากการกลายเป็นปีศาจผู้สร้างผลกระทบให้ผู้อื่น

สภาวะที่ดูเหมือนเป็นประเด็นศีลธรรมเชิงปัจเจกเล็ก ๆ ดังกล่าวแสดงให้เห็นการเมืองแห่งความถูกกดทับของผู้คนในมช. ให้อยู่ในสังคมที่ไร้ซึ่งประชาธิปไตยอย่างชัดเจน เพราะท้ายที่สุด คู่ขัดแย้ง กลับกลายเป็นขั้วตรงข้ามระหว่างคนที่ไม่สูบบุหรี่ (ได้รับผลกระทบจากควัน กลิ่น ภาพ) และคนที่สูบบุหรี่ (ได้รับผลกระทบจากการเสี่ยงกับอาการลงแดง ซึ่งอาจทำลายชีวิตและโอกาสสำคัญในแต่ละวัน) ก็ไม่ได้มีส่วนร่วมตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดการปัญหาเหล่านี้ และปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวโยงกันทั้งหมด (เช่น ปัญหาการจราจร ระบบขนส่ง ฯลฯ) ต้องคอยขัดแย้งกันไปเรื่อย ๆ โดยถือเอาว่าสิ่งนี้คือการแก้ปัญหา และหวังเอาว่าถ้าเราแขวนคนสูบบุหรี่ที่พบเห็นครบทุกคน ทุกคนก็จะมีจิตสำนึก หยุดเรียน/หยุดงานสักพักเพื่อไปคลินิคเลิกบุหรี่ และเลิกสูบบุหรี่ในมช. ตามประสงค์ของผู้กำหนดนโยบายไปเอง ในขณะที่ผู้บริหาร ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจสั่งการมากที่สุดในมช. กลับไม่ได้ต้องทนรับผลกระทบต่าง ๆ ที่ผู้คนประสบเลยแม้แต่น้อย แต่ยังคงพยายามเคลมว่าพื้นที่ที่ตนเองครองอำนาจ เป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ เพื่อทำผลงานอันเป็นเกียรติคุณ[6] เพื่อสานต่อผลประโยชน์ (ของใครมิอาจทราบได้)

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณากรณีตัวอย่างจากมช. จะเห็นได้ว่า เป้าหมายทางสังคมในการจัดการให้คนหยุดสูบบุหรี่เพื่อสุขภาพของผู้คนตามวาทกรรมการแพทย์นั้นทรงอิทธิพล และกลายเป็นบรรทัดฐานหลักที่ปะทะกับปัจเจกชนอย่างเป็นปกติในสังคมโดยปริยาย โดยที่ผู้คนในสังคมไม่อาจถอยออกมาพิจารณาและตระหนักได้เลยว่า การกำหนดนโยบายและจัดสรรกลไกทางสังคมโดยผู้มีอำนาจในพื้นที่ต่าง ๆ นั้นทำกำลังงานอย่างแนบแน่นกับบรรทัดฐานทางสังคม ซึ่งแฝงฝังคุณค่า และอุดมการณ์ที่มีผลต่อการปฏิบัติตัวของผู้คนให้ประพฤติตัวประหนึ่งฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่คอยช่วยกันจำกัดเสรีภาพของผู้คนในการเลือกใช้สุขภาพของตนเองผ่านการตรวจสอบเชิงศีลธรรมแก่ผู้อื่น ซึ่งนำพาให้ผู้คนถอยห่างจากการยึดถือคุณค่าของหลักความเป็นอิสระ/มีเจตจำนงในตนเอง (Autonomy) เป็นสำคัญ กล่าวคือ ผู้คนที่ได้รับการเสนอคุณค่าบางแบบนั้นก็ได้กลายเป็นกลไกทางสังคมหนึ่ง ที่ทำหน้าที่รักษาศีลธรรมแห่ง “ปีศาจนักสูบ” ซึ่งคอยห้ามปรามไม่ให้ผู้คนเสพติดบุหรี่เอาไว้ และยังคงรับผลกระทบจากความขัดแย้งซึ่งกันและกันเอาไว้ ในขณะที่ไม่อาจตั้งแง่กับผู้มีอำนาจในสังคมเพื่อปลดแอกผู้คนออกไปจากศีลธรรมดังกล่าว เพื่อเคารพต่อเสรีภาพในการเลือกใช้สุขภาพที่มากกว่าเดิม ผ่านการมีทางเลือกที่มากขึ้น ซึ่งหมายถึงการมีอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับร่างกายของตนเองได้มากขึ้นเลย ในที่นี้ ผู้เขียนขอชวนให้ถอยออกมาจากบริบทของมช. ลองจินตนาการถึงความไม่สมเหตุสมผลบางประการ เช่น ในขณะที่ผู้คนที่สูบบุหรี่ส่วนมากถูกมองเป็นปีศาจร้ายจากการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะซึ่งถูกกำหนดเป็นเขตปลอดบุหรี่ เพราะนอกจากจะทำให้ผู้อื่นต้องได้รับผลจากการสูบบุหรี่แล้ว ยังทำลายสุขภาพของตนเอง (ซึ่งส่งผลให้ถูกมองเป็นภาระทางสุขภาพที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยเพิ่มภาระให้กับบุคลากรการแพทย์ของหน่วยงานรัฐ) ผู้คนที่ครอบครองทรัพยากรมาก และสามารถเข้าถึงพื้นที่ส่วนตัวที่ไม่ต้องเบียดเสียดกับผู้อื่น (ซึ่งสูบบุหรี่ได้ โดยไม่ต้องเกรงใจผู้อื่น) รวมถึงบริการทางการแพทย์แบบเอกชนกลับได้รับการยอมรับ (และบางครั้งได้รับการชื่นชม) ว่าเป็นผู้มีความรับผิดชอบในสังคมที่มากกว่า

ในกรณีของพื้นที่มช. ปัญหาการจับผิดทางศีลธรรมดังกล่าวก่อความขัดแย้งในระดับที่ว่า.. บางครั้งบทสนทนาก็จบลงด้วยการที่ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ไล่คนที่สูบบุหรี่ไปเรียกร้องให้ผู้บริหารมช. ดำเนินการจัดสรรให้มีที่สูบบุหรี่ให้ได้

ภาพจาก ShiVa Vitthaya, กลุ่มลูกช้างมช. “เวทีประชาพิจารณ์ ‘พื้นที่สูบบุหรี่’ โดย สภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “

พื้นที่สูบบุหรี่ ทางเลือกในการประณีประณอม ที่สังคมมช. ไปไม่ถึงเสียที

การจัดสรรให้มี “พื้นที่สูบบุหรี่” คือข้อเสนอในการรองรับและจัดการปัญหาจากการสูบบุหรี่ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ข้อเสนอเรื่องการจัดให้มีพื้นที่สูบบุหรี่ในมช. ก็ปรากฏให้เห็นอย่างประปรายในบทสนทนาของผู้คนในมช. และคอมเมนต์บนโพสต์ที่เกิดการแขวนคนสูบบุหรี่ในกลุ่มลูกช้างมช. บ้างก็เห็นด้วยกับการจัดสรรให้มีพื้นที่สูบบุหรี่ เพราะจะได้เกิดการสูบบุหรี่อย่างเป็นระเบียบ บ้างก็ต่อต้าน เพราะเห็นว่าการเลิกสูบบุหรี่เป็นความรับผิดชอบที่ผู้สูบควรจะไปจัดการตัวเองมากกว่า ในส่วนนี้ของบทความ ผู้เขียนจะอภิปรายให้เห็นความสำคัญของการจัดสรรที่สูบบุหรี่

หลักการในการจัดสรรให้มีพื้นที่สูบบุหรี่นั้น นอกจากจะเป็นไปเพื่อให้ผู้คนมีที่สูบบุหรี่แล้ว ยังเป็นไปเพื่อปกป้องผู้คนที่ไม่สูบบุหรี่จากผลที่อาจเกิดจากการสูบบุหรี่อีกด้วย ทั้งนี้ ผู้เขียนขอเสนอว่า หากพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่ามนุษย์นั้นมีเสรีภาพในตนเอง กล่าวคือ เมื่อมนุษย์อยากจะสูบบุหรี่ที่ไหน ย่อมเลือกด้วยตัวเองได้ แต่ทว่า การสูบบุหรี่หรือไม่นั้น นำมาซึ่งผลลัพธ์และความรับผิดชอบบางประการเสมอ การจัดสรรให้มีพื้นที่สูบบุหรี่ โดยตัวของมันเอง จึงเป็นการจำกัดเสรีภาพของผู้คนที่ต้องการสูบบุหรี่อย่างหนึ่ง อย่างประณีประณอม เพื่อคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นในสังคมที่การสูบบุหรี่ไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับกันโดยคนหมู่มาก (ในที่นี้ให้ลองจินตนาการว่า จากเดิมที่มนุษย์สูบบุหรี่ได้ทุกที่ แต่เมื่อมีการจัดสรรพื้นที่สูบบุหรี่ จึงเป็นการตกลงกันให้มีการสูบได้เพียงตามจุดเล็ก ๆ) เพราะหากพิจารณาอย่างเป็นกลาง แท้จริงแล้ว ในบริบทของบางพื้นที่และเวลา การสูบบุหรี่แบบเดินเหินไปมาที่ไหนก็ได้ก็เป็นสิ่งที่ทำได้โดยปกติ เช่น ภายในบ้านที่คนทุกคนสูบบุหรี่ ชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่ผู้คนสูบยาสูบตลอดเวลา ฯลฯ พื้นที่ในลักษณะดังกล่าวย่อมไม่ก่อให้เกิดพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่ นอกเสียจากว่าบรรทัดฐานของสังคมจะเปลี่ยนแปลงไป (เพราะจะสูบที่ไหนก็ได้) ดังนั้น แท้จริงแล้ว พื้นที่สำหรับสูบบุหรี่จะเกิดขึ้นได้ ก็ย่อมสัมพันธ์กับบรรทัดฐานของการไม่ยอมรับการสูบบุหรี่โดยทั่วไปในสังคม ความจริงที่ว่าการสูบบุหรี่เป็นสิ่งเลวร้าย จึงเป็นความจริงที่ไม่ต่อเนื่อง และถูกประกอบสร้างตามบริบททางประวัติศาสตร์ (ลองคิดกลับกันเล่น ๆ ในสังคมที่คนสูบบุหรี่เกือบทั้งหมด อาจจะก่อให้เกิด  “พื้นที่ไม่สูบบุหรี่” ขึ้นมาแทน เพื่อให้คนที่ไม่ต้องการรับควันบุหรี่เข้าไปอยู่เมื่อต้องการ) ดังนั้น ข้อเสนอเรื่องการจัดสรรพื้นที่สูบบุหรี่ จึงเป็นการถอยออกมาจากสังคมสุดโต่ง ที่ไม่ยอมรับหรือทำความเข้าใจความหลากหลาย และหันมายอมรับการดำรงอยู่ของผู้คนที่ถูกตีตราเป็น “ปีศาจนักสูบ” ให้พวกเขามีพื้นที่ในสังคม อันเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างประชาธิปไตยในสังคมอีกด้วย

 

แม้ผู้เขียนจะเสนอหลักการดังที่อภิปราย แต่ทว่า ต้องยอมรับว่านโยบายการจัดสรรพื้นที่สูบบุหรี่ในประเทศไทยโดยทั่วไปนั้น อยู่ภายใต้กระบวนทัศน์ที่ถือว่าบุหรี่เป็นสิ่งแปลกปลอม ทำร้ายสุขภาพของผู้คน ซึ่งเป็นกระบวนทัศน์เชิงอุดมการณ์ที่ผูกติดกับความรู้การแพทย์สมัยใหม่อยู่เสมอ ตามที่เนื้อหาของกฎหมาย “พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560” กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งพื้นที่สูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะ ทั้งในประเด็นชนิดของพื้นที่ (เช่น สามารถจัดให้มีพื้นที่สูบบุหรี่ได้ในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา สถานที่ราชการ ท่าอากาศยาน ฯลฯ) ระยะห่างของพื้นที่จากสถานที่ต่าง ๆ (เช่น พื้นที่สูบบุหรี่ต้องห่างจากประตูทางเข้าอาคารอย่างน้อย 5 เมตร) รูปแบบการจัดการพื้นที่ (เช่น มีเครืองหมายเขตสูบบุหรี่ มีพื้นที่เป็นสัดส่วนที่ระบายอากาศได้เหมาะสม มีการเผยแพร่สื่อรณรงค์เพื่อการลด ละ เลิกบุหรี่ ฯลฯ)[7]

 

อย่างไรก็ตาม อันที่จริงการจัดให้มีพื้นที่สูบบุหรี่ก็ยังสอดคล้องกับข้อเสนอเรื่องระยะของการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลิกบุหรี่ (Stages of change) ซึ่งถูกยอมรับในวงการแพทย์สมัยใหม่อีกด้วย ข้อเสนอดังกล่าว แยกแยะวัฏจักรหรือระยะเปลี่ยนผ่านพฤติกรรมของผู้คนไปสู่การเลิกบุหรี่ออกเป็น 6 ระยะ ได้แก่ 1) ระยะเมินเฉย (Pre-contemplation) 2) ระยะลังเล (Contemplation) 3) ระยะเตรียมการ (Preparation) 4) ระยะปฏิบัติ (Action) 5) ระยะคงที่ (Maintenance) และ 6) ระยะกลับไปติดซ้ำ (Relapse)[8] ข้อเสนอดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า ในการเลิกบุหรี่ ผู้คนอาจอยู่ในระยะเมินเฉย ซึ่งหมายถึงระยะที่ผู้ติดบุหรี่ไม่ได้สนใจจะเลิกบุหรี่ ก่อนจะเข้าสู่ระยะไตร่ตรองเพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงเพื่อการตัดสินใจเลิกบุหรี่ และเมื่อไตร่ตรองจนตัดสินใจเลิกบุหรี่ เตรียมการจนนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อเลิกบุหรี่แล้ว พวกเขายังคงต้องการระยะคงที่เพื่อรักษาปฏิบัติการเลิกบุหรี่อีกด้วย และไม่ใช่สิ่งที่แปลก หากระหว่างทาง คนที่พยายามเลิกบุหรี่จะทนไม่ไหว แล้วกลับมาติดบุหรี่ซ้ำอีก จากข้อเสนอดังกล่าว เป็นข้อสนับสนุนชั้นดีที่ว่า เมื่อมองจากประโยชน์ในเชิงการแพทย์ การประกาศให้พื้นที่สาธารณะ เช่น มหาวิทยาลัย เป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ นอกจากจะกลบเกลื่อน ปฏิเสธ และเบียดขับผู้คนที่สูบบุหรี่ออกไปจากการดำรงอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ และละเลยผลกระทบที่เกิดกับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่แล้ว ยังลดโอกาสและสร้างข้อจำกัดในการเข้าถึงผู้สูบ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายทางการแพทย์ ในการเสนอข้อพิจารณา หรือช่องทางในการเลิกบุหรี่แก่พวกเขา ผ่านการรณรงค์ในพื้นที่สูบบุหรี่อีกด้วย และยิ่งเมื่อสิ่งนี้เกิดในสถานศึกษาที่มีผู้บริหารจากคณะสายวิทยาศาสตร์สุขภาพมากมายดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารแล้ว การประกาศว่าพื้นที่ของตนเองปลอดบุหรี่ ประหนึ่งว่าไม่มีคนในสถาบันของตนเองสูบบุหรี่เลย ยิ่งแสดงให้เห็นการสนับสนุนให้ผู้คนในสถาบันของตนเองเลิกบุหรี่อย่างไร้ซึ่งความเข้าใจ (เข้าใจว่าการเลิกบุหรี่จำเป็นต้องมีระยะก่อนไตร่ตรองและระยะไตร่ตรองก่อนลงมือเลิกบุหรี่ และยังอาจเกิดการกลับไปติดบุหรี่ซ้ำได้ระหว่างพยายามเลิก) ซึ่งไม่อาจบรรลุผลตามหลักการแพทย์ได้

แต่ทว่า เมื่อกลับมาพิจารณากรณีของมช. นอกจากเศษเสี้ยวข้อเสนอเรื่องการจัดให้มีพื้นที่สูบบุหรี่ที่กระจัดระจายในบทสนทนาที่ไม่เป็นทางการของผู้คนและความคุกรุ่นในกลุ่มลูกช้างมช. แล้ว ขบวนการเคลื่อนไหวในภาคสมาชิกประชาคมที่ดูเป็นรูปธรรมขึ้นมาบ้าง ก็ปรากฏให้เห็นเพียงการรณรงค์ของชมรมประชาธิปไตยมช.[9] และการพยายามจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยสภานักศึกษามช. ในปีการศึกษา 2565[10] ซึ่งทั้งสองดูจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

อย่างไรก็ตาม ก็ใช่ว่าในมช. จะไม่มีพื้นที่สูบบุหรี่เลย เพราะล่าสุด ราว ๆ 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้บริหารมช. ก็เริ่มกล่าวถึงเรื่องนี้ในการประชุมกับผู้บริหารส่วนงานต่าง ๆ และอนุญาตให้ส่วนงานต่าง ๆ จัดสรรพื้นที่สูบบุหรี่ในพื้นที่ที่ส่วนงานของตนเองรับผิดชอบได้ ทั้งนี้ ผู้เขียนขอชี้ให้เห็นว่า การอนุญาตในลักษณะดังกล่าวนั้นเป็นการกระจายความกดดันของการตัดสินใจจัดการให้มีพื้นที่สูบบุหรี่ไปยังส่วนงานต่าง ๆ การตัดสินใจลักษณะนี้อาจเกิดจากความกระอักกระอ่วนใจของผู้บริหารที่พยายามดำเนินนโยบายต่อต้านการสูบบุหรี่ และประกาศว่าตนเองเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ตลอดมา ผู้เขียนเห็นว่า สภาวะนี้อาจเป็นเหตุให้เราสังเกตได้ว่า ถึงแม้จะมีการอนุญาตแล้ว แต่ก็แทบไม่มีส่วนงานไหนจัดสรรพื้นที่สูบบุหรี่เป็นของตัวเองเลย โดยในบางส่วนงานหากมีการจัดสรรพื้นที่สูบบุหรี่ เราก็มักจะไม่เห็นการประชาสัมพันธ์ต่อสาธารณะอย่างกะโตกกะตาก อันที่จริง โดยส่วนใหญ่พื้นที่สูบบุหรี่ที่มีอยู่ ก็มักจะเป็นพื้นที่ที่กลุ่มคนสูบบุหรี่ในมช. แอบจัดการแบบ “เป็นที่รู้กัน” เอาไว้อยู่แล้ว ก่อนที่จะมีการอนุญาตให้จัดสรรพื้นที่สูบบุหรี่ในช่วงที่ผ่านมาเสียอีก พื้นที่เหล่านี้มักจะอยู่ในมุมลับตาคน มีก้นบุหรี่ทิ้งเอาไว้ หรือบางครั้งก็มีที่เขี่ยบุหรี่วางประจำไว้ คนจำนวนหนึ่งที่สูบบุหรี่ในมช. ก็จะทราบกันว่าเมี่อเขาอยากบุหรี่ เขาจะต้องไปสูบที่ไหน ผลที่ตามมาจากสภาวะความแบ่งรับแบ่งสู้ต่อความกระอักกระอ่วนดังกล่าว คือภาพรวมการจัดสรรพื้นที่สูบบุหรี่ของมช. ในปัจจุบันที่ไม่เพียงพอ และไม่เป็นที่รู้กันในสาธารณะ สิ่งนี้นำมาซึ่งการที่ประเด็นเรื่องพื้นที่สูบบุหรี่ยังคงไม่ได้รับการถกเถียงอย่างกว้างขวาง และให้ความจริงจังในการออกแบบหรือจัดการร่วมกัน ไม่มีการพิสูจน์โดยผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ในมช. ว่าพื้นที่ต่าง ๆ เหล่านั้นปกป้องผู้คนจากผลกระทบของควันบุหรี่อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ และจะพัฒนาให้ดีกว่าเดิมได้อย่างไร ดังสังเกตได้ว่าการโพสต์แขวนคนสูบบุหรี่ยังเกิดขึ้นในกลุ่มลูกช้างมช. อยู่เรื่อย ๆ

ไปให้ผลจากการจ้องจับผิด

จากข้อเสนอว่าด้วยการเสพติด สู่ประเด็นอำนาจควบคุมการเสพติดบุหรี่ และความพยายามในการเสนอให้เกิดพื้นที่สูบบุหรี่ที่ยังคงล้มเหลว ในกรณีของมช. นำมาสู่ข้อเสนอของบทความนี้ คือ.. การแก้ปัญหาเรื่อง “ปีศาจนักสูบ” มิอาจกระทำได้ผ่านการปล่อยให้ปัญหาผลกระทบจากการสูบบุหรี่กลายเป็นเพียงความรับผิดชอบเชิงศีลธรรมของปัจเจก ดังที่มีการถ่ายรูปคนสูบบุหรี่ในมช. มาเผยแพร่ แขวนในโลกออนไลน์ โดยหวังว่า “ปีศาจนักสูบ” ตนอื่น ๆ ที่ผ่านมาเห็น จะเลิกสูบบุหรี่เมื่ออยู่ในพื้นที่มช. แต่ยังจำเป็นต้องอาศัยพลังของสมาชิกประชาคมมช. ในการสร้างข้อเสนอที่รื้อถอนมายาคติในระดับศีลธรรมหรือบรรทัดฐานทางสังคมว่าด้วยการเสพติด รวมถึงการยืนยันอำนาจในการตัดสินใจใช้งานสุขภาพบนเรือนร่างของผู้คน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ในพื้นที่และเวลาที่เกิดการไขว่คว้าและให้ความสำคัญกับหลักการประชาธิปไตยของการเสพติด อันหมายถึงการใช้เสรีภาพของผู้คนอย่างรับผิดชอบต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างมีส่วนร่วมในทุกอณูของสังคม เพื่อการแก้ปัญหาสังคมทุกรูปแบบซึ่งเชื่อมโยงและถักทอกันอย่างซับซ้อน ข้อเสนอเรื่องการจัดสรรให้เกิดพื้นที่สูบบุหรี่อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพนั้นเป็นเพียงข้อเสนอเชิงนโยบายเฉพาะหน้ารูปแบบหนึ่งในกระบวนการดังกล่าว ที่ยังคงห่างไกลจากความเป็นจริงในสังคมมช. อนึ่ง ข้อเสนอเหล่านี้ทั้งในเชิงนามธรรมและในเชิงนโยบายจะต้องได้รับการขับเคลื่อนไปพร้อมกัน อย่างแยกขาดจากกันไม่ได้เป็นอันขาด ข้อเสนอของบทความนี้มิได้เจาะจงกับเฉพาะบริบทของพื้นที่มช. แต่ยังเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญเพื่อการปลดปล่อยการเสพติดและเสรีภาพในสังคมโดยรวมอีกด้วย

อ้างอิง

1. Lewis RG, Florio E, Punzo D, Borrelli E. The Brain’s Reward System in Health and Disease. Adv Exp Med Biol. 2021;1344:57-69. doi: 10.1007/978-3-030-81147-1_ PMID: 34773226; PMCID: PMC8992377.

2. Kelley AE, Berridge KC. The neuroscience of natural rewards: relevance to addictive drugs. J Neurosci. 2002 May 1;22(9):3306-11. doi: 10.1523/JNEUROSCI.22-09-03306.2002. PMID: 11978804; PMCID: PMC6758373.

3.Cleveland Clinic. (2022, October 31). Lung cancer. Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/4372-lung-cancer

4.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2563). มหาวิทยาลัยเชียงใหม่: มหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่. สืบค้นจาก https://sdgs.cmu.ac.th

5.Burke, D., & Gotter, A. (2023, October 6). Everything you need to know about nicotine withdrawal. Healthline. https://www.healthline.com/health/nicotine-withdrawal

6.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2567). มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับรางวัลสถาบันอุดมศึกษาปลอดบุหรี่ดีเด่นจากแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย. สืบค้นจาก https://www.cmu.ac.th/th/article/9291557b-6e26-4d75-b073-884a851c7f4e

7.พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560

8.American Lung Association. (n.d.). Tobacco cessation quick reference guide. Retrieved from https://www.lung.org/getmedia/a12811b6-bed5-4649-8735-036255630231/Stages-of-Change_Quick-Reference-Guide

9.ชมรมประชาธิปไตย สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (๒๕๖๕, ๑๖ กันยายน). เริ่มแล้วนะครับ!!! อ่างแก้วเวลานี้!!!! Facebook. สืบค้นจาก https://fb.watch/wdxViz3l7r/

10. สภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (๒๕๖๕, ๑๐ กันยายน). วันนี้สภาขอนำเสนอกฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งพื้นที่สูบบุหรี่ ว่าสามารถทำได้หรือไม่? Facebook. สืบค้นจาก https://www.facebook.com/share/p/1Be67erjqG/

Latest Story

Kenduri Seni Patani 2024 เทศกาลศิลปะเชื่อมประเด็นวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม – การเมือง – และชุมชนหลากหลายภูมิภาคมาจัดแสดงในปัตตานี

เทศกาลศิลปะนานาชาติ Kenduri Seni Patani 2024  : ภายใต้แนวคิด “ก่อนอุบัติ และหลังสลาย” ส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ภัณฑารักษ์ ” เทศกาลศลปะ Kenduri Seni Patani 2024 ภายใต้แนวคิด “Before birth and