เปิดห้องเรียน Human ร้าย : ความเป็นเราอยู่ตรงไหนในโลกที่มีแต่คนอื่น – จักรกริช สังขมณี

เปิดห้องเรียน Human ร้าย Human Wrong : ความเป็นเราอยู่ตรงไหนในโลกที่มีแต่คนอื่น

Human ร้าย, Human Wrong 3  workshop ครั้งที่ 1 : ความรู้พื้นฐานมานุษยวิทยา


การศึกษาเรื่องมานุษยวิทยาเริ่มได้ง่ายๆ จากแค่การแนะนำตัว เรามักจะแนะนำว่าเรามาจากจังหวัดไหน จบจากสถาบันอะไรเพื่อกำหนดขอบเขตและสร้างความเชื่อมโยงว่าเราดำรงอยู่ในสังคมร่วมกับใครบ้าง หรือผ่านวัฒนธรรมแบบไหนมา ความซับซ้อนเกิดขึ้นตรงที่ว่ามนุษย์แต่ละคนมีโลกของตัวเอง และบางครั้งเราซ้อนทับมันกับโลกของคนอื่นจนกลายเป็นว่าเราสร้างคนอื่นขึ้นมาจากการมองโลกของเรา

มนุษย์จึงเลือกเฟ้นองค์ประกอบต่างๆ ในโลกมาประกอบเพื่อที่จะบอกว่าเราคือใคร หรือ เขาคือใคร ถ้าเขาเป็นกะเทย ถ้าเขาเป็นปกากะญอ ถ้าเขาเป็นแรงงานข้ามชาติ เขาเหมือนหรือแตกต่างกับเราอย่างไร ถ้าเราบอกว่าเราเป็นคนไทย นั่นคือการใช้พื้นที่หรือความเป็นชาติพันธุ์เป็นเส้นแบ่งหรือเปล่า หรือถ้าเราบอกว่าจบจากมหาวิทยาลัยอะไร เราใช้สถาบันเป็นตัวแบ่งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้มันแบ่งเมื่อไหร่ด้วย เช่น ถ้าเข้าแอพหาคู่ก็คงไม่พ้นการเอาเพศสภาพเป็นตัวตั้ง

“มนุษย์โดยธรรมชาติแล้วเลือกที่จะหยิบจับอะไรมาประกอบเพื่อที่จะสร้างความเป็นตัวตน กลุ่มก้อนเพราะสิ่งนี้ทำให้เราไม่รู้สึกโดดเดี่ยว เรารู้สึกว่ามีที่มาที่ไป มีราก(root) มันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่จะทำให้เราดำเนินชีวิตได้ เรารู้ว่าถ้าเราไม่ปลอดภัย ใครคือคนแรกๆ ที่เราจะเอื้อมมือเข้าไปหา ถ้าเรามีศัตรูหรือเผชิญกับโรคร้ายเราจะจัดการกับมันอย่างไร เราจะใช้สเกลระดับครอบครัว หมู่บ้านหรือเครือข่ายชาติพันธุ์เพื่อเข้าหามัน เพราะฉะนั้นกลับไปที่คำพูดว่าการเรียนรู้จากคนอื่นทำให้เห็นภาพชัดเจนว่ามีการเชื่อมต่อความขัดแย้ง ความเหมือนความต่างกันอย่างไร”

อาจารย์จักรกริช สังขมณี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปูพื้นฐานของการศึกษามานุษยวิทยาว่าท่ามกลางความแตกต่างของมนุษย์ เราก็มีส่วนที่คล้ายคลึงกันอย่างเห็นได้ชัดไม่ว่าจะดำรงอยู่ในสังคมหรือวัฒนธรรมที่มีความซับซ้อนขนาดไหน เช่น มนุษย์ชอบกินของหมักเป็นอาหาร เพราะเชื่อว่ามันแสดงถึงศักยภาพในการแปลงทรัพยากรที่เคยมีให้คงทนอยู่นาน เราอาจจะเรียกมันว่าถั่วเน่า, โยเกิร์ต, ชีส หรือปลาร้าก็ตาม

“หน้าที่ของเราคือการพยายามมองให้เห็นสองด้านที่เปิดใจให้เห็นความแตกต่างหลากหลายและสิ่งที่เรามีร่วมกันเพื่อจะได้แชร์ความเป็นมนุษย์ร่วมกันได้ แชร์ความรู้สึกเอื้ออาทรทุกข์ร้อนต่อกันได้ นี่คือเป้าหมายของการศึกษาแบบมานุษยวิทยา”

แตกต่างเหมือนกัน

จริงๆ แล้วมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่อ่อนแอกว่าสัตว์อย่างมากในเชิงกายภาพ ทั้งเขี้ยวเล็บที่ไม่แข็งแรง พละกำลังของกล้ามเนื้อ สรีระ หรือแม้กระทั่งการสืบพันธุ์ แต่เราแตกต่างจากสัตว์เพราะสามารถส่งผ่านและสืบทอดระบบที่เป็นนามธรรมจำพวก ภาษา, โครงสร้างทางสังคม หรือปั้นแต่งตำนานให้กลายเป็นประดิษฐกรรมที่เชื่อมโยงมนุษย์เข้าไว้ด้วยกันได้ผ่านความเชื่อที่แฝงไว้ในศาสนา ระบบสัญลักษณ์ ภาษาที่มีลักษณะจำเพาะ

“มนุษย์พัฒนาจากความเชื่อมาเป็นความร่วมมือได้ เช่น เมื่อเราเห็นว่าการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำให้มีชีวิตเราอยู่รอดปลอดภัยมากขึ้น เราก็ปวารณาตัวเองเข้าไปสู่ระบบความเชื่อนั้น มันเกิดจากความร่วมมือของคนที่ไม่ได้รู้จัก เป็นญาติกัน หรือมีสัญชาตญาณเดียวกัน จากนั้นมนุษย์พัฒนาต่ออีกว่า ถ้าเราไม่ไว้วางใจกัน ก็มีวิธีการที่บอกว่าเราไว้ใจกันได้ เรามีภาษาหรือพิธีกรรมไว้ต้อนรับขับสู้ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อที่จะสื่อสารกันแล้วบอกว่าเราไม่ได้เป็นศัตรูต่อกัน”

“แต่ละคนมีระบบของการผลิตและสิ่งที่ตัวเองใช้ในการดำรงชีวิตที่แตกต่างกันจึงเกิดการแลกเปลี่ยน มันทำให้มนุษย์เรียนรู้ที่จะเกิดความร่วมมือและลดความรุนแรง เอาเปรียบกันน้อยลงเพื่อที่จะให้เรามีการดำรงชีวิตที่ดี

 การที่มนุษย์เริ่มจะแลกเปลี่ยนแบบนี้นำมาซึ่งระบบเศรษฐกิจ มีเงินตรา ความไว้เนื้อเชื่อใจ ระบบการเมืองการปกครองซึ่งเราให้อำนาจกับคนบางคนที่จะไปพูดแทนเรา เพราะฉะนั้นมนุษย์เริ่มที่จะจัดการกับความซับซ้อนที่มากขึ้น โดยการสร้างสถาบันทางสังคม ระบบเศรษฐกิจ ศาสนา มีโรงเรียนซึ่งทำหน้าที่ในการถ่ายทอดความรู้ มีสถาบันการเมืองที่ดูแลเรื่องกฎหมายการปกครอง สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาทั้งนั้น แต่ว่าการมโนเหล่านี้มันมีเหตุผลของมัน

 มนุษย์เรียนรู้ที่จะลดความเป็นตัวตนลง และมอบตัวตนส่วนหนึ่งให้กับสิ่งที่เป็นนามธรรมเหล่านั้น เราไม่ใช่ตัวเราอย่างเดียวแต่เราเป็นลูกของใครบางคน เพราะฉะนั้นเรามีหน้าที่ในการทำอะไรให้ครอบครัว เราเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน ชุมชน นี่คือการสร้างสมดุลระหว่างความเป็นตัวตนกับสิ่งที่เราสมมติขึ้น และเรามอบบางส่วนเสี้ยวของเราให้สถาบันเหล่านั้น ความเป็นชาติพันธุ์ก็เป็นหนึ่งในโครงสร้างทางสังคมที่เราสร้างขึ้นมาแล้วเราก็ยอมให้ความเชื่อนามธรรมมากำกับความเป็นตัวเรา”

เมื่อมนุษย์เข้าใจแล้วว่าตัวเองเชื่อมโยงกับคนอื่นได้ด้วยความเหมือนจากการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงผ่านวัฒนธรรม มนุษย์ก็เริ่มค้นหาความต่างและเก็บสะสมส่วนประกอบที่คิดว่าเป็นคุณค่าและสิ่งสำคัญของชีวิตเอาไว้ ความเป็นชาติพันธุ์เองก็เกิดขึ้นจากปัจจัยนี้ คือเป็นกระบวนการตกผลึกทางวัฒนธรรมแบบหนึ่ง เมื่อกลุ่มคนมีปฏิสัมพันธ์ท่ามกลางภูมินิเวศน์ที่แตกต่าง แต่มีวิถีชีวิตในการหาเลี้ยงชีพที่คล้ายคลึงกัน สิ่งที่จะแยกพวกเขาออกจากกันคืออะไร

“ภาษา ความเชื่อ ระบบเครือญาติ วิถีการผลิตและบริโภค สถาปัตยกรรม ตำนานที่เรามี สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ตกตะกอนลงมาเพื่อแสดงให้เห็นว่ามนุษย์พยายามที่จะเก็บเหรือกลั่นวัฒนธรรมให้มีลักษณะที่เข้มข้นขึ้น บ่งบอกความเป็นตัวตนมากขึ้นท่ามกลางความเหมือนอยู่ตลอดเวลา 

เพราะฉะนั้นในแง่นี้ วัฒนธรรมคือการที่เราตอบสนองต่อสิ่งซึ่งเข้ามาปะทะ มีประสบการณ์กับเราตลอดเวลา มันจึงไม่เคยหยุดนิ่งตายตัว เปลี่ยนแปลงตลอดเวลากับการที่เราไปเจอคนใหม่ๆ ในแง่หนึ่งคือมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของโลก ธรรมชาติ เราต้องกินจากสิ่งที่อยู่นอกเรา เราผลิตเองไม่ได้ ดังนั้นระบบที่อยู่รอบตัวเราเป็นสิ่งที่ shape ตัวเรามากว่าเราจะมีอัตลักษณ์หรือความเชื่อแบบไหน”

มนุษย์มักจะมองหาสองอย่าง คือ ราก (root)ของตัวเองว่ามีที่มาจากไหน แต่อีกด้านหนึ่งความเป็นตัวเราไม่ได้เกิดจากรากเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการเดินทางหรือประสบการณ์จากมนุษย์คนอื่น หรือแม้กระทั่งเราอยู่เฉยๆ ก็มีสิ่งอื่นที่เคลื่อนย้ายมาเจอเราตลอดเวลา เช่น รัฐ, ระบบทุนนิยม, อำนาจนิยม ดังนั้นเส้นทาง(route) ก็เป็นอีกหนึ่งจุดในแผนที่ช่วยประกอบสร้างความเป็นมนุษย์อยู่เสมอ 

“คนที่มีรากหรือชาติพันธุ์เดียวกัน ก็มีความแตกต่างหลากหลายได้เพราะเขาดำรงอยู่ท่ามกลางเส้นทางของชีวิตที่มันแตกต่างกัน ถ้าเราเรียนหนังสือในโรงเรียน รัฐจะพยายามทำให้เราคิดว่าเรามี root โดยการสอนว่าบรรพบุรุษของเราคือใคร ตั้งแต่พ่อขุนรามคำแหงฯ ไล่มาเป็นเส้นตรงต่อเนื่องเลย เพราะวิธีการมองแบบรัฐคือการทำให้เราอยู่ติดที่ คุณเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติ คุณจะได้รักชาติ เสียสละเพื่อชาติ คุณจะได้ยอมทำตามสิ่งที่รัฐต้องการที่จะควบคุมปกครองคุณ เพราะฉะนั้นมุมมองแบบนี้จึงถูกเลือกสรรขึ้นมาว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งของการอยู่ติดที่ติดถิ่น(sedentary) 

รัฐเข้าไปจัดการชีวิตคุณตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ตั้งแต่คุณเกิดต้องแจ้งว่าเกิดกับใคร ที่ไหน คุณจะย้ายบ้านคุณก็ต้องไปบอกรัฐ คุณจะออกนอกรัฐคุณก็ต้องรายงานรัฐ คุณจะตายคุณก็ต้องลาตาย เพราะฉะนั้นรัฐต้องการที่จะแช่แข็งเราไว้ 

แต่ในความเป็นจริงแล้วมนุษย์มีลักษณะอีกแบบ เหมือนไม้เลื้อยที่เลื้อยไปเรื่อยๆ สักพักคุณก็ฝังรากและเติบโตขึ้นมาเป็นกอใหม่เอง คือมีความเชื่อมโยงแต่ก็มีการสร้างใหม่อยู่ด้วยในพื้นที่ใหม่ คุณก็เติบโตในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป จะเห็นว่ามนุษย์มีลักษณะที่ลักลั่น ยึกยื้อกันอยู่ในมิติหลายๆ แบบตลอดเวลา นั่นคือสิ่งซึ่งเราสามารถศึกษาความเป็นมนุษย์ได้ไม่จบสิ้น”


แล้วเราจะเข้าใจกันไปทำไม

เป็นเรื่องยากมากที่เราจะทำความเข้าใจมนุษย์ในทุกๆ มิติ ความซับซ้อนและอัตลักษณ์ที่สั่งสมมาสร้างความแตกต่างหลากหลายให้กับมนุษย์จนทำให้เกิดคำถามว่าแล้วเราควรจะทำความเข้าใจกับมนุษย์ในระดับไหน อย่างไรถึงเรียกว่าเข้าใจแล้ว หรือถ้าพยายามจนถึงที่สุดแล้วปลายทางก็ยังไม่เข้าใจกันอยู่ดี เราเดินไปทางไหนต่อได้บ้าง

“มนุษย์ฉลาดที่จะบอกว่าถ้าเราจะศึกษาคนกลุ่มหนึ่ง มันยากที่จะเข้าใจเขาได้ทุกมิติ มนุษย์จึงทำหน้าที่แบ่งเค้กว่าให้เราศึกษากันบางมิติ ซึ่งอาจจะเรียกมิติเหล่านั้นว่า เพศ, ความเชื่อทางการเมือง(political ideology), ศาสนา, วิถีการบริโภคหรือชนชั้น เพราะนี่คือเครื่องมือที่จะช่วยให้เรารู้ว่ากำลังมองผ่านมุมมองอะไรอยู่ เช่น ผมอยากจะมองว่าคนปกากะญอคือใคร งั้นมองว่าเขามีเศรษฐกิจที่อิงอยู่กับระบบนิเวศน์และผลิตส่วนหนึ่งเพื่อที่จะขายให้กับตลาด ส่วนหนึ่งเพื่อการบริโภค ผมกำลังทำความเข้าใจระบบความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจของเขา มันทำให้ผมเริ่มจะศึกษาเขาง่ายขึ้นแล้ว แต่อีกคนหนึ่งอาจจะบอกว่าเขาอยากมองเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างรุ่นกัน มองเรื่องอายุ ชนชั้น เพราะฉะนั้นถ้าคุณมีความสามารถมากขึ้น คุณก็จะเริ่มเอาแว่นหลายๆ สีมาใส่พร้อมๆ กันเพื่อที่จะเห็นความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ 

แต่นี่คือแบบฝึกหัด เป็นศิลปะซึ่งเราอาจจะต้องฝึกว่าเราจะหยิบจับมันมาอย่างไรเพื่อที่จะตอบคำถามของเรา เพราะฉะนั้นเราอาจจะไม่ได้มีความสามารถที่จะเข้าใจคนอื่นทั้งหมดหรอก แต่ว่าเป้าหมายอย่างหนึ่งของการศึกษาแบบมานุษยวิทยาคือเราศึกษาคนอื่นไม่ได้เพื่อเข้าใจเขาอย่างเดียว แต่เพื่อทำให้เราเข้าใจตัวเรามากขึ้น”

อาจารย์จักรกริชขยายความว่าในการศึกษามานุษยวิทยามีแนวคิดหลักๆ อยู่ 2 แนวคิดคือชาติพันธุ์นิยม (ethnocentrism) ที่เชื่อว่าวัฒนธรรมตัวเองเป็นใหญ่ และสัมพัทธนิยมเชิงวัฒนธรรม (cultural relativism) ที่ให้ค่ากับวัฒนธรรมในรูปแบบที่พยายามจะทำความเข้าใจกับมันภายใต้ความหลากหลาย 

ไม่มีใครสามารถกำหนดได้ว่าวัฒนธรรมใดดีที่สุดในโลก วิทยาศาสตร์และความเชื่อแบบผีสางเทพยดาอาจจะไม่ได้ดีไปกว่ากันเพราะต่างคนต่างถอดรหัสมันคนละแบบ ความเชื่อแบบอิงวิถีชีวิตกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์อาจจะเอื้อเรื่องการจัดการทรัพยากรและการรวมจิตใจของชุมชนในบริบทของเขา ดังนั้นจึงไม่มีบรรทัดฐานเดียวสำหรับตัดสินว่าวัฒนธรรมของใครดีกว่ากัน

“ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมคือการที่เราพยายามจะเอาวิธีการมองโลกของเราไปใส่คนอื่น นี่คือสิ่งที่อันตราย แม้กระทั่งว่าท้ายที่สุดแล้วเราจะไม่เข้าใจเขา แต่เราก็เลือกที่จะไม่ตัดสินเขาได้ นี่คือสิ่งสำคัญในการทำให้ผู้คนเบ่งบานเติบโตภายใต้วิถีของเขาเอง”

แต่การปะทะกันทางวัฒนธรรมเชิงความคิดความเชื่อก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากวันหนึ่งมีชาวมังสวิรัติประท้วงพิธีกรรมฆ่าวัวควายว่าเป็นความผิดมหันต์เชิงศีลธรรม การศึกษาแบบมานุษยวิทยามีวิธีผสานรอยร้าวของสองขั้วอย่างไรบ้างนอกจากการเรียกร้องให้คนอื่นเชื่อเหมือนกัน

“มนุษย์เราเวลาเชื่ออะไรแล้ว เรามักที่จะขยายความเชื่อของเราเพราะมันเป็นเรื่องของอุดมคติที่นำมาซึ่งความมั่นคง ทำไมคนที่เป็นมังสวิรัติต้องต่อต้านการฆ่าสัตว์ คุณก็กินผักอยู่บ้านไปสิ ทำไมต้องไปบังคับคนอื่น แต่เขาต้องทำแบบนั้นเพราะว่าการบริโภคผักที่บ้านคนเดียวมันไม่ได้ทำให้เขาปลอดภัย ในขณะที่คุณกำลังบริโภคเนื้อสัตว์ แล้วก่อให้เกิดฟุตปริ้นท์ต่างๆ มากมาย มันส่งผลกระทบถึงเขา เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องใช้วิธีการอะไรก็แล้วแต่เพื่อให้คุณมาสถาปนาต่อความเชื่อแบบที่เขาเชื่อ ศาสนาหรือระบบเศรษฐกิจก็เหมือนกัน 

มันมีเหตุผลของมันว่าทำไมคนกลุ่มนี้ถึงกินเนื้อสัตว์หรือใช้สัตว์มาทำพิธีกรรม แต่ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งให้คุณค่ากับสิทธิสัตว์อีกแบบหนึ่ง ประเด็นคือสองกลุ่มนี้จะสามารถแลกเปลี่ยนกันอย่างไรได้ที่จะไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง เราพยายามที่จะสร้างเครื่องมือต่างๆ มากมายในโลกนี้ เช่น แนวความคิดแบบสันติวิธีหรือเวทีในการเจรจาต่อรองภายใต้แนวคิดที่มีกฎหมายระหว่างประเทศ สังคมเริ่มสร้างกลไกเครื่องมือที่จะจัดการกับความแตกต่างเหล่านี้บ้าง แต่ไม่สำเร็จทั้งหมด  เป็นสิ่งที่เรียนรู้ไม่จบเพราะว่ามันมีความท้าทายใหม่เกิดขึ้นอยู่เสมอ”

อาจารย์ยกเคสตัวอย่างที่เคยพานักศึกษาชาวอเมริกันไปลงพื้นที่ที่หมู่บ้านอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะในเรื่องชาติพันธุ์และระบบนิเวศน์ ชาวบ้านต้อนรับอย่างดีโดยการตัดต้นไม้รอบชายหาดมาก่อกองไฟ ซึ่งนักศึกษาก็ต่อต้านอย่างมากเพราะในสังคมตะวันตกไม่ยอมรับสิ่งนี้ นี่คือการทำลายสิ่งแวดล้อมให้เห็นต่อหน้าต่อตา

 แต่นั่นเป็นเพราะคนเราเชื่อมโยงชีวิตและการมองโลกแตกต่างกัน อาจารย์ชี้นักศึกษาให้ลองมองดูบ้างว่าชาวบ้านเขามองคนอเมริกันอย่างไร 

“คุณนั่งเครื่องบินมาจากอเมริกานะ คุณพกขวดน้ำ ใส่เสื้อยี่ห้อ North face ซึ่งมันสร้าง environmental impact เยอะมากที่มองไม่เห็น คุณร่ำรวยมากเลยที่สามารถจะบินมาได้ การมีสำนึกทางสิ่งแวดล้อมของคุณนี่มันใช้ทรัพยากรมหาศาลเลยนะ เรามองไม่เห็นหรอก แต่การตัดไม้ตรงนี้และเผาตรงนี้มันเห็นไง เพราะฉะนั้นเราคิดต้องคิดหลายๆ สเกลแล้วต้องตระหนักอยู่เสมอว่าทุกคนมีส่วนในการทำลายสิ่งแวดล้อม

 มนุษย์มีความสามารถที่จะเรียนรู้และปรับตัวเอง ชาวเลแต่เดิมใช้เครื่องมือจับปลาแบบหนึ่ง แต่เมื่อทรัพยากรในทะเลลดลง เขาก็ปรับตัว คนปกากะญอที่เคยทำการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน เมื่อทรัพยากรจำกัด การแทรกแซงของรัฐมากขึ้น ก็ต้องปรับตัวเช่นกัน เพราะฉะนั้นถ้าเราเชื่อว่าคนอื่นก็มีศักยภาพเช่นเดียวกับเรา เราก้ต้องให้โอกาสเขาในการเรียนรู้กลับตัว เพราะฉะนั้นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นคือการพยายามที่แปลรหัสต่างๆ โดยที่เราไม่เชื่อในศักยภาพของคนอื่น”

หรืออีกหนึ่งตัวอย่างที่อาจารย์เคยพานักศึกษาไปที่หมู่บ้านชาวม้ง พวกเขาต้อนรับอย่างดีเช่นกันด้วยมันหมูทั้งก้อน ซึ่งไม่มีใครกล้ากินด้วยความเชื่อที่ว่ามันไม่มีดีต่อสุขภาพอย่างรุนแรง

“เราเลยบอกว่าเนยที่คุณใช้ทุกเช้าเนี่ยคือไขมันจากพืชหรือสัตว์ทั้งนั้น คือสิ่งเดียวกันแต่มันเปลี่ยนรูปแบบ มันเลยทำให้เรารู้สึกว่าเราใส่วัฒนธรรมเข้าไปในธรรมชาติ แล้วมันเข้ากับวัฒนธรรมเรา และเนยไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมอีกต่อไป แต่ว่ามันหมูที่วางอยู่ตรงหน้าเนี่ยมันปราศจากวัฒนธรรมแบบฉันเพราะมันยังไม่ได้แปรรูป ไม่มี civilization อยู่ในนั้น 

เราจะเลือกมองว่ามันมีความแตกต่างกัน มีความหลากหลายมาก หรือเราจะมองหาความเหมือน นี่คือศาสตร์และศิลป์ที่เราเรียนรู้จากการทำงานกับคนอื่น”

สิทธิมนุษยชนในแว่นของมานุษยวิทยา

มีคำถามน่าสนใจที่ว่าสิทธิมนุษยชนคือเรื่องพื้นฐานที่สุดที่เราควรจะได้รับ ในแง่มุมของมานุษยวิทยามองเรื่องนี้อย่างไร

“สิทธิมนุษยชนคือข้อตกลงทางศีลธรรม (ethical agreement) ร่วมกัน ไม่ใช่ว่าทุกคนเห็นด้วย คุณพูดเรื่องประชาธิปไตย ไม่รู้ว่ามันแปลได้อย่างเดียวกันไหม มนุษย์เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ของเราว่าการเข่นฆ่ากัน ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ได้มีผลดีต่อใครเลย ความซับซ้อนของสังคมทำให้เราเริ่มตระหนักแล้วว่าในเชิงของอรรถประโยชน์ การใช้ความรุนแรงต่อกันเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ แต่ว่ามนุษย์มีความสามารถที่จะมองในเชิงอุดมคติได้ว่าสังคมที่ดีคืออะไร การที่เราอนุญาตให้คนอื่นไปตีหัวคนอื่นได้มันแปลว่าคือการอนุญาตให้คนอื่นตีหัวเราหรือลูกเราได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราก็ต้องสร้างอุดมคติขึ้นมาว่าถ้าเช่นนั้นแล้วการอยู่ในสังคมที่ดีมันแปลว่าอะไรบ้าง”

สิทธิมนุษยชนเป็นคำที่กว้าง แต่ในความเป็นจริงมีรายละเอียดเยอะมาก เช่น ถ้าเรากำลังพูดถึงเรื่องความเป็นมนุษย์ที่อยู่ในชุมชน เราพูดเรื่องสิทธิชุมชนด้วยหรือเปล่า

 ”คุณจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้อย่างไรถ้าไม่มีเครือญาติ หรือกลุ่มก้อนทางสังคมเลย คุณจะเป็นมนุษย์ที่ภูมิใจได้อย่างไรถ้าคุณไม่มีชาติพันธุ์หรือไม่รู้ว่าตำแหน่งแห่งที่ในโลกนี้ของคุณคืออะไร ความเป็นมนุษย์ของคุณก็ไม่สมบูรณ์ฉะนั้นเราเลยต้องพูดถึงสิทธิทางชาติพันธ์และสิทธิทางวัฒนธรรมด้วย คุณจะเป็นมนุษย์ได้อย่างไรถ้าคุณยังหิวอยู่ แต่บริโภคอาหารที่คุณเลือกไม่ได้ เรากำลังพูดถึงสิทธิของการมีอำนาจในการผลิต และเลือกบริโภคอะไรก็ได้ที่ดีต่อคุณ เพราะฉะนั้นสิทธิมนุษยชนเลยทำงานในสิ่งที่มันเป็นรูปธรรมในเชิงปฏิบัติ คือลงมาสู่สิทธิเรื่องการจัดการทรัพยากร”

แต่ละสังคมมีวิธีการจัดการและตีความเรื่องสิทธิมนุษยชนแตกต่างกันในรูปแบบที่อาจจะไม่มีการเอ่ยถึงมันเลยก็ได้ แต่ผู้นำชุมชนกำลังต่อสู้เพื่อสิทธิของพื้นที่หรืออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมอยู่ สิ่งที่ไม่เคยถูกกล่าวถึงอาจจะแฝงไปด้วยกลิ่นอายของความชอบธรรมและต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีถึงแม้ว่าเขาจะไม่รู้ความหมาย หรือรู้สึกไม่เชื่อมโยงถึงสิทธิมนุษยชนเลยก็ตาม แต่การกระทำและวิถีชีวิตให้คำตอบแล้วว่าทุกคนมีโอกาสที่จะเลือกชีวิตที่ตัวเองอยากใช้ หรือเป้าหมายบางอย่างที่ต้องทำในเชิงปัจเจกหรืออุดมการณ์ร่วม

นอกจากโลกที่เราเข้าใจตรงกันว่าเป็นดาวเคราะห์ดวงเล็กในจักรวาลยิ่งใหญ่ ยังมีโลกอีกหลากหลายแบบซ่อนอยู่ในตัวมนุษย์ เราเกิดมาใช้เวลาคุยกับโลกของตัวเอง ศึกษาความเป็นปัจเจก ขยับไปสู่โลกของครอบครัว เพื่อน สังคมเล็กใหญ่ที่เราเลือกและไม่เลือกจะเคลื่อนตัวไปพบเจอ เราอาจจะพบว่ามนุษย์นั้นช่างดีงามและโหดร้ายในแต่ละช่วงเวลา ความอยุติธรรมและความสัมพันธ์เชิงอำนาจบางครั้งก็ทำให้เราเขย็ดขยาดกับมนุษย์บางจำพวก  นั่นคือการเดินทางผ่านอัตลักษณ์ไม่รู้จบที่จะเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้และทำความเข้าใจดาวดวงอื่นๆ ในจักรวาล พบเจอดาวเคราะห์น้อยดวงจิ๋ว และแลกเปลี่ยนกับเขาโดยตัดสินกันให้น้อยที่สุด


Latest Story

Kenduri Seni Patani 2024 เทศกาลศิลปะเชื่อมประเด็นวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม – การเมือง – และชุมชนหลากหลายภูมิภาคมาจัดแสดงในปัตตานี

เทศกาลศิลปะนานาชาติ Kenduri Seni Patani 2024  : ภายใต้แนวคิด “ก่อนอุบัติ และหลังสลาย” ส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ภัณฑารักษ์ ” เทศกาลศลปะ Kenduri Seni Patani 2024 ภายใต้แนวคิด “Before birth and