Human ร้าย Human Wrong: ศิลปะกับสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องเดียวกันได้อย่างไร
Human ร้าย, Human Wrong 3 workshop ครั้งที่ 2 : ความรู้พื้นฐานศิลปะกับสิทธิมนุษยชน
ผิดไหมที่ศิลปะอยากสื่อสารต่อสังคม แต่คนดูไม่รู้เรื่อง
“ศิลปะยังมีน้ำยาอยู่ไหม”, “ถ้าคุณทำงานศิลปะแต่คนดูไม่รู้เรื่อง ประเด็นสังคมที่ต้องการเรียกร้องมันจะมีความหมายอะไรไหม”, “การที่ศิลปินเอาเรื่องราวของผู้ที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งมาทำงานเป็นการฉกฉวยผลประโยชน์หรือเปล่า”
คำถามเหล่านี้เกิดขึ้นในเวิร์คช็อบ Human ร้าย, Human Wrong ปีที่ 3 ครั้งที่ 2 ภาคเช้า นำโดยวิทยากรคืออาจารย์ธนาวิ โชติประดิษฐ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ว่าด้วยเรื่องของการสร้างงานศิลปะร่วมสมัยและที่ทางของมันในมิติต่างๆ ทั้งในการสื่อสารประเด็นยากๆ ของศิลปินที่ผลงานสร้างการถกเถียงในวงกว้าง หรือศิลปะควรจะมีช่องว่างให้คนดูจินตนาการบ้างว่าศิลปินต้องการจะสื่อสารอะไร ไปจนถึงเรื่องการเมือง และศิลปินก็เป็นอาชีพที่สุจริตอีกอาชีพหนึ่งที่หาเงินจากงานของตัวเองได้
“คำถามที่ว่าศิลปะยังมีน้ำยาอยู่หรือเปล่า ถามต่อว่าน้ำยาที่คุณว่าคืออะไร ถ้าศิลปินทำงานเรื่องปัญหาสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม ชาติพันธุ์หรือเพศที่สามแล้วมันไม่ได้เสนอแนวทางแก้ไข หรือแม้กระทั่งว่ามันแก้ไม่ได้ แปลว่าศิลปะไม่มีน้ำยาหรือเปล่า แต่ลองคิดกลับกันดูว่าจริงๆ ศิลปินเกือบทุกคนที่ทำงานแนวทางการเมืองที่ไม่ได้อยู่ในอีกฝั่งหนึ่ง ถึงเวลาเขาก็ออกไปเลือกตั้งเหมือนเรา แต่ถึงอย่างนั้นเผด็จการก็ยังไม่ออกไปใช่ไหม
ศิลปะแต่ลำพังไม่สามารถที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้หรอก มันเป็นคำตอบที่ฟังแล้วไม่ถูกใจเพราะไม่อย่างนั้นจะทำไปทำไม แต่ของพวกนี้เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา ตอบอย่างกำปั้นทุบดินคือถ้าคุณเชื่อคุณก็ทำไป แต่อาจจะไม่ให้ผลที่เห็นเป็นรูปธรรม ศิลปะทำให้ฉุกคิดเกี่ยวกับประเด็นหรือชี้ชวนให้ทบทวนบางอย่าง แต่มันอาจจะไม่ได้แก้ปัญหาอะไร แล้วเราก็คิดว่านั่นก็เป็นคุณค่าอย่างหนึ่งของมันแล้ว”
อาจารย์ยกตัวอย่างงานจากศิลปินไทยที่จัดแสดงในต่างประเทศ เส้นแบ่งในการละเมิดสิทธิมนุษยชนของศิลปิน รวมถึงงานน่าสนใจหลายงานของศิลปะร่วมสมัยในไทยทั้งภาพยนตร์ 10 Years Thailand หรืองานสื่อวิดิโอ ‘ธุลี’ โดยปิยะรัศมิ์ ปิยะพงศ์วิวัฒน์ ที่กำลังจัดแสดงอยู่ตอนนี้ที่ Gallery Seescape หรือหนังสือภาพปริซึมของภาพถ่าย: การแตกตัวขององค์ความรู้และความทรงจำว่าด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลาที่อยู่ในโครงการวิจัยของตัวเอง
“เราไม่สามารถที่จะวัดด้วยมาตรฐานเพียงอย่างเดียวได้ว่าถ้าคุณไม่ได้ทำงานที่คนหมู่มากจะเก็ตและนำไปสู่การลงมือทำบางอย่าง แล้วน้องเกรต้าก็จะไม่ออกมาบ่นอีกต่อไป”
สำหรับสมาชิกที่เรียนนิติศาสตร์, สังคมวิทยา หรือเศรษฐศาสตร์ อาจจะไม่ได้มีภาคทฤษฎีจัดเจนเท่ากับสมาชิกที่เรียนศิลปะ อาจารย์ธนาวิจึงค่อยๆ ยกตัวอย่างไปเรื่อยๆ เพราะการฉายภาพให้เห็นทีละน้อยน่าจะสื่อสารความเข้าใจพื้นฐานต่อการสร้างงานที่ไม่เข้าใจในครั้งแรกได้ดี เช่น นิทรรศการศิลปะ This Page is Intentionally Left Blank ของปรัชญา พิณทอง ที่ศิลปินไปเก็บเบอร์รีที่สวีเดนเป็นเวลา 2 เดือนทุกวัน โดยตกเย็นจะส่งข้อความไปบอกพิพิธภัณฑ์ที่ฝรั่งเศสว่าเก็บได้จำนวนเท่าไหร่ ท้ายที่สุดแล้ว พิพิธภัณฑ์จะต้องจัดหาวัตถุที่ใช้การไม่ได้แต่มีน้ำหนักเท่ากับเบอร์รี 549 กิโลกรัมและเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลา
“โลกศิลปะเต็มไปด้วยงานจำนวนมากที่ไม่ได้พูดกับคุณอย่างตรงไปตรงมา ถ้าเราดูแค่เฉพาะตัวงาน เราอาจจะไม่มีทางรู้เลยว่ามันพูดเรื่องแรงงานที่เก็บเบอร์รี นี่คือตัวอย่างของงานศิลปะร่วมสมัยที่ทำให้คนดูรู้สึกว่าฉันไม่เห็นเข้าใจเลย เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการดูงานแบบนี้อาศัยชั่วโมงบินอยู่เหมือนกัน ถ้าเราดูงานมาระยะหนึ่งเราจะรู้ว่าเราจะดูอะไรบ้างเพื่อที่จะทำความเข้าใจ มันเหมือนการอ่านหนังสือนั่นแหละที่เราไม่ได้เกิดมาแล้วอ่านหนังสือออกทันที งานศิลปะก็เหมือนกัน มีงานแบบที่ดูแล้วรู้เลยว่าคืออะไร กับงานที่ต้องใช้เวลา ปัจจัย และข้อมูลแวดล้อมอื่นๆ ประกอบ”
วงสนทนาเป็นไปอย่างสนุกสนานเมื่อสมาชิกโครงการมีทั้งคนที่เรียนศิลปะและสาขาที่แตกต่าง ทั้งสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา, เศรษฐศาสตร์ หรือโบราณคดี ต่อยอดประเด็นเรื่องการดูศิลปะ ความเป็นไปได้ที่จะดูให้รู้เรื่อง หรือ Art activist แตกต่างกับ Artist อย่างไร
ตัวอย่างของงานคุณปรัชญาจูงไปสู่ไอเดียนี้ได้เพราะชี้ให้เห็นศิลปินที่ทำงานอาร์ตและศิลปินที่คิดงานจากประเด็นปัญหาในสังคม นั่นคือเรื่องแรงงานที่ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อหาเงินในต่างแดนภายใต้ข้อจำกัดด้านการเงินที่ถูกหักค่าใช้จ่ายจำนวนมากจากค่าแรง
“ถ้าคุณเอางานชิ้นนี้ไปตั้งที่หมู่บ้านสักหมู่บ้านหนึ่งในในภาคอีสานซึ่งคนทั้งหมู่บ้านไปเก็บเบอร์รีกันมา แล้วเขาจะเข้าใจไหมว่างานนี้พูดถึงความยากลำบากของเขา ถ้าเราคิดว่าศิลปินเป็น activist นี่ก็จะเป็นการทำงานที่ล้มเหลว ไม่สื่อสาร เพราะคุณไม่สามารถที่จะทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจปัญหาผ่านงานของคุณได้ แต่ถ้าเราไม่ได้คิดด้วยกรอบของการทำงานเชิงกิจกรรมที่มีเป้าหมายของความเข้าใจให้กับสาธารณะ คงจะพอสรุปได้ว่าไม่มีอะไรที่ดีหรือไม่ดีไปกว่ากัน การที่งานไม่สื่อสารกับเราแปลไม่ได้แปลว่ามันไม่เวิร์คเสมอไป ไม่ได้แปลว่าไม่มีสำนึกสู่สังคมหรือที่แย่กว่านั้นคือศิลปินฉกฉวยหาประโยชน์เข้าตัวเอง แต่ลืมไปว่าศิลปะก็เป็นอาชีพสุจริตประเภทหนึ่ง ถ้าเขาไม่หาเงินจากการทำงานศิลปะ เขาก็ประกอบอาชีพไม่ได้ มันมีเฉดต่างๆ อีกหลายเฉดที่ศิลปินหรือคนทำงานเชิงวัฒนธรรมสามารถมีส่วนร่วมผ่านกระบวนการทำงานทางศิลปะได้”
วิธีการของศิลปินที่จะเข้าถึงตัวปัญหาและบุคคลแวดล้อมในปัญหานั้นก็มีมิติที่หลากหลายกว่าการที่จะตัดสินโดยรวมว่างานชิ้นนี้ดูรู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่อง เพราะงานศิลปะบางชนิดไม่ได้ทำงานในเชิงรูปธรรมและทำงานในระยะยาว อีกทั้งการนำเสนออาจจะไม่ต้อง ‘โต้งๆ’ เสมอไป
“คำถามคือมันต้องเย้วๆ ขนาดไหนที่คุณจะเรียกได้ว่านี่คือการทำให้สังคมฉุกคิดขึ้นมา เราสามารถมีภาษาอื่นๆ ที่พูดเรื่องเดียวกันนี้ได้ไหม แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่อยากดูอะไรที่รู้เรื่องเพราะมันจะทำให้เรารู้สึกโอเคกับตัวเองด้วย แต่งานศิลปะจะเข้ามาท้าทายเราในฐานะคนดูอยู่เสมอว่ามันไม่ได้เข้าใจง่าย
เราอยากให้เห็นว่ามันมีวิธีพูดจำนวนมากที่จะสื่อสารงานศิลปะ จะพูดอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ก็ได้เพราะมันมีภาษาที่หลากหลายในการที่เราจะพูดถึงประเด็นที่เป็นปัญหาในสังคม ตำแหน่งแห่งที่ของศิลปินแต่ละคนต่อเรื่องที่ว่านี้ไม่เท่ากัน บางคนอาจจะวางตัวเป็นผู้สังเกตการณ์ก็ได้ ในเชิงที่ว่าฉันเห็นสิ่งนี้อยู่แล้วก็สะท้อนมันออกมาจากมุมมองของฉันออกมาเป็นงานศิลปะ หรือบางคนอาจจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการแก้ไขปัญหานั้นด้วยก็ได้ คุณก็จะเป็น Artist activist คือเป็นศิลปินที่เป็นนักกิจกรรมด้วย มันจะมีระยะห่างที่ไม่เท่ากันอยู่ในระหว่างที่เราไปมีส่วนร่วมกับสิ่งที่เป็น”
การวิเคราะห์ประเด็นที่เป็นเรื่องถกเถียงกันในวงการการสื่อสารศิลปะดำเนินต่อไปในเฉดที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ อาจารย์ขยายความเรื่องเพดานความอ่อนไหวของการสร้างงานศิลปะจากบุคคลที่ผ่านความโหดร้ายจากความไม่เท่าเทียมในสังคม เช่น เคสการนำนักโทษการเมืองมาสร้างงานศิลปะถือว่าเป็นการฉกฉวยผลประโยชน์จากความทุกข์ยากหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนของเขาหรือไม่
“มันไม่มีคำตอบสำเร็จรูปว่าท้ายที่สุดแล้วการรุกล้ำของศิลปินต่อเรื่องราวในสังคมมันมีขอบเขตของคามพอดีอยู่ตรงไหน เช่น ถ้ามีเรื่องราวของเขาอยู่ใน Google ศิลปินก็ไม่ได้แอบลักลอบเอาเรื่องที่ไม่เปิดเผย หรือเป็นเรื่องส่วนตัวของใครมาทำหรือเปล่า เพียงแต่ว่าไม่ได้ไปขออนุญาตทีละคน ซับเจ็กเลยรู้สึกว่าถูกฉกฉวยเพราะการติดคุกมันก็แย่อยู่แล้ว ออกมายังต้องเป็นซับเจ็กให้งานศิลปะอีก
ดังนั้นนี่จึงเป็นเรื่อง case by case และเราควบคุมไม่ได้ว่าคนดูจะรู้สึกอย่างไรไม่ว่าคุณจะมีความตั้งใจดีอย่างไรก็ตาม นั่นแหละคือความเป็นไปได้ของการแสดงออกทั้งของฝั่งคนดูและคนสร้าง คนดูก็ต้องมีอิสระในการตีความของเขาเหมือนกัน”
สุดท้ายแล้วอาจจะสรุปได้ยากว่างานศิลปะที่มาดมั่นว่าจะสะท้อนสังคมควรจะสะท้อนสังคมมากแค่ไหน หรือศิลปินควรเข้าใกล้ซับเจ็กต์หรือคั้นเนื้อหาออกจากปัญหาที่ต้องการจะสื่อจนคนทั่วไปสามารถเข้าใจสาระจากมันได้หรือเปล่า
“ความไม่เป็นเอกฉันท์ของความเห็นที่มีต่องานศิลปะเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว แต่มันต้องเปิดพื้นที่ให้ถกเถียงกันได้ ศิลปะเป็นพื้นที่ประหลาด คล้ายๆ ได้รับสิทธิพิเศษบางอย่างที่จะละเมิดเพราะมันถูกผลักดันขอบเขตออกไปเรื่อยๆ แต่ไม่ได้แปลว่าไม่มีปฏิกิริยาต่อต้าน ในประวัติศาสตร์ก็มีคนที่รู้สึกไม่โอเคอยู่เสมอเพราะศิลปะมันเข้าไปแตะเส้นต้องห้ามต่างๆ แต่เราอาจจะมองว่านี่คือปราการสุดท้ายของการแสดงออกอย่างเสรีก็ได้
ศิลปะอาจจะไม่ได้ให้ผลที่เห็นเป็นรูปธรรม มันอาจทำให้ฉุกคิดเกี่ยวกับประเด็นหรือชี้ชวนให้ทบทวนบางอย่าง แต่มันอาจจะไม่ได้แก้ปัญหาอะไรชัดเจน แล้วเราก็คิดว่านั่นก็เป็นคุณค่าอย่างหนึ่งของมันแล้ว”
ถ้าเราอยากมีชีวิตที่ดี นั่นก็เรียกว่าเป็นสิทธิมนุษยชนแล้ว
ช่วงบ่ายเราขยับจากศิลปะและการถกเถียงมาสู่การตอบคำถามประเด็นที่อาจารย์ธนาวิทิ้งไว้เมื่อเช้าคือเรื่องสิทธิมนุษยชน วิทยากร อาจารย์เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลเริ่มตั้งแต่การแยกสิทธิและสิทธิมนุษยชนว่าแตกต่างกันอย่างไร
“คำว่าสิทธิในภาษาไทยมันแปลว่าอภิสิทธิ์นะ แปลว่าคุณมีสถานะเหนือคนอื่น มันมีเส้นแบ่งระหว่างคำว่าสิทธิกับสิทธิมนุษยชนอยู่”
จากนั้นเวิร์คช็อบก็เดินทางไปจากการตั้งคำถามง่ายๆ แต่ทำได้ยากว่า “สิ่งที่เราคิดว่าอยากมีในชีวิตเพราะจะทำให้ชีวิตเราดีมีอะไรบ้าง”
คำตอบของแต่ละคนมีทั้ง สิทธิในการหายใจสะอาด, ครอบครัว, สมดุลในความแตกต่าง, ปัจจัยสี่, สวนทำกินเอง, ขนส่งสาธารณะ, เสรีภาพและความเห็นอกเห็นใจ แต่สุดท้ายอาจารย์ตีกรอบให้แคบลงว่าแล้วถ้าเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ควรคัดประเด็นใดมาบ้าง ซึ่งสมาชิกส่วนส่วนใหญ่เลือกอาชีพที่มั่นคง, ความเห็นอกเห็นใจ, ขนส่งสาธารณะ, เสรีภาพ และครอบครัว
“ถ้าผู้ชายกับผู้หญิงทำงานเหมือนกัน แต่ผู้ชายได้เลื่อนขั้นเงินเดือนสูงกว่านี่เป็นประเด็นสิทธิมนุษยชนแล้ว บางทีเราเห็นว่าคนเรียกร้องสิทธิกันจังเลย แต่นี่คือเรื่องความไม่เท่าเทียมและการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าคนจะมีความแตกต่างหลากหลายแค่ไหน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อะไร มีความเชื่อทางศาสนา เพศสภาพหรือความเชื่อทางการเมืองอย่างไรก็ควรจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ฉะนั้นเราจะเห็นว่าในหลายๆ ที่ ผู้ชายจะได้เงินเดือนสูงกว่าผู้หญิงทั้งๆ ที่เป็นงานแบบเดียวกัน แล้วถ้าเป็นแรงงานข้ามชาติ ค่าแรงจะต่ำลงมาอีก”
ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลก็สามารถตีความต่อได้ว่าความเห็นอกเห็นใจและการเห็นมนุษย์เท่าเทียมกันมีความแตกต่างกันอย่างไร
“ความเห็นอกเห็นใจต่างจากการที่มองว่ามนุษย์เท่าเทียมกัน เช่น ถ้าเราเห็นขอทานแล้วเราสงสาร เราอาจจะเอาเงินไปให้เขา แต่นี่ยังไม่ใช่วิธีคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ว่าเขาต้องมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกับเราซึ่งแนวคิดลักษณะนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 17 ที่กษัตริย์และสถาบันแคทอลิกตั้งตนเป็นเทวดา แต่มีมนุษย์ที่พยายามยืนยันว่าเราเป็นคนที่เท่ากัน หักล้างหลายอย่างในระบบสังคมสมัยนั้น นักปรัชญาก็พยายามต่อสู้ และแนวคิดนี้ก็ค่อยๆ ผ่านการต่อสู้ สร้างความหมายเรื่องความเท่าเทียมกันขึ้นมาเรื่อยๆ”
กระบวนการทำความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนดำเนินต่อเนื่องโดยให้แต่ละคนเล่นเกม ทุกคนจะได้รับบทบาทว่าเป็นผู้ลี้ภัยข้ามชาติ, เด็กมัธยม, กะเทยที่มีอาชีพพยาบาลหรือสาวปกากะญอ อาจารย์จะอ่านคำถามแต่ละคำถามแล้วให้แต่ละคนก้าวหน้า-ถอยหลังตามบทบาทว่าตัวเองมีสิทธิหรือไม่มีสิทธิทำอะไรบ้าง เช่น มีใบเกิด, เลือกตั้ง, ได้แต่งงานกับคนที่รัก, ได้เลื่อนขั้นเงินเดือน
คำถามแสนง่ายเหล่านี้ตอบได้ดีเลยว่าทำไมเพื่อนที่รับบทเป็นหญิงแรงงานข้ามชาติถึงอยู่หลังสุดในขณะที่น้องที่ได้รับบทเป็นตัวเองอยู่ข้างหน้าจนเกือบจะทะลุห้องเสวนาออกไปแล้ว บางคนที่รับบทเป็นเด็กมัธยมได้ยืนอยู่กลางห้องเพราะความเป็นเด็กก็เป็นหนึ่งในข้อจำกัดของการเข้าถึงสิทธิมนุษยชน
“ในระบบรัฐสมัยใหม่ สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิระหว่างประชาชนกับรัฐ หน้าที่ของรัฐคือต้องเป็นคนจัดการให้ทุกคนสามารถเลือกคู่ครองได้อย่างเสรี ดูแลให้บริษัทต่างๆ จัดสภาพการทำงานที่ดี ไม่ปลดคนงานโดยไม่มีค่าชดเชย รัฐต้องประกันสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชน
อย่างเช่นในกรณีของการมองขอทาน ถ้าเป็นในมุมมองสิทธิมนุษยชนเราก็ต้องตั้งคำถามว่าเขาไม่สามารถเข้าถึงการทำงานได้เพราะอะไร รัฐควรจะต้องไปจัดการบริการอะไรให้ เพราะฉะนั้นสิทธิเลยเป็นเรื่องของระดับบุคคลและระดับความสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองกับรัฐ หลักฐานพื้นฐานก็ง่ายๆ เรื่องความเท่าเทียมของมนุษย์ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการไม่เลือกปฏิบัติ”
เราถกกันต่อเรื่องวัฒนธรรมการปฏิบัติต่อผู้หญิงในที่ทำงาน การล่วงละเมิดทางเพศ (sexual harassment) ความพิการ และระบบการแก้ไขปรับเปลี่ยนในระดับโลกว่ามีการพยายามจัดการกับความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง
กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 9 ฉบับหลักได้รับการร่างและตีความขึ้นใหม่เรื่อยๆ ตามบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลง เช่น หลังจากที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เริ่มมีพัฒนาการเรื่องการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติมากขึ้น จากแต่เดิมที่เขียนคุ้มครองเรื่องสิทธิพลเมือง สิทธิทางการการเมืองเรื่องเสรีภาพ สิทธิทางเศรษฐกิจสังคม สิทธิในการทำงาน การศึกษา ฯลฯ ก็เริ่มมีสิทธิชุดใหม่ๆ ที่พัฒนาขึ้นมา เช่น การห้ามทรมาน เพราะหลายๆ ประเทศลงโทษประชาชนโดยการทรมาน หรือกฎหมายเรื่องการห้ามอุ้มหาย สิทธิของผู้พิการและแรงงานข้ามชาติ
“การคุ้มครองสิทธิเหล่านี้เพิ่งเกิดขึ้นมาประมาณเมื่อ 10 ปีที่แล้วเพราะมีคนไปเรียกร้องและสร้างบรรทัดฐานเรื่องสิทธิขึ้นมา อีก 10 ปีข้างหน้าอาจจะมีชุดสิทธิชุดใหม่ๆ อีกก็ได้ เช่น การผลักดันเรื่อง LQBT เพราะปัญหาสังคมมันไม่ได้ตายตัวอยู่เท่านี้”
เราปิดเวิร์คช็อบด้วยการตั้งคำถาม(อีกแล้ว)แล้วโดยการให้เลือกข้าง คำถามที่จุดประเด็นร้อน เช่น สิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องสากลแต่แตกต่างกันไปตามบริบทของสังคมและวัฒนธรรม หรือ ถ้ามีหลักคุณธรรมมาเป็นเกณฑ์ เราไม่ต้องมีสิทธิมนุษยชนได้ไหม
สิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นคือมีคนเห็นด้วยและเห็นต่างแตกต่างกันไปในแต่ละคำถาม บางคนบอกว่าวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงได้ แต่สิทธิมนุษยชนควรเป็นสิ่งที่สัตว์สังคมต้องปรับใช้ ในขณะที่สมาชิกอีกกลุ่มก็ยกมุมมองเรื่องมานุษยวิทยาจากการลงพื้นที่ครั้งแรกมาโต้แย้งว่าเราควรเคารพในวิถีและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนที่ใช้ชีวิตต่างออกไป เพราะถึงแม้เขาจะไม่เข้าใจคอนเซ็บต์นี้เลยแม้แต่เลย ผลลัพธ์คือเขาจัดการความเป็นอยู่กันได้ภายใต้กรอบทางวัฒนธรรมของเขาเอง
แต่ทุกฝั่งก็พยายามหว่านล้อมกันด้วยเสียงหัวเราะ ไม่มีใครคิ้วขมวดจนตึง มีแต่เสียงหัวเราะและการกวักมือน้อยๆ หาพวกท่ามกลางการถกเถียงเรื่องที่ไม่ง่าย
“อยากให้เห็นว่าสิทธิมนุษยชนมักจะถูกจำกัดเงื่อนไขด้วยหลายๆ ปัจจัยในสังคม ทั้งเรื่องการเมืองที่เกี่ยวโยงกับสถานภาพความเป็นมนุษย์หรือการได้รับรองว่าเป็นมนุษย์ที่เป็นพลเมืองในสังคมนั้นๆ LGBT กับผู้หญิงบางประเทศถูกกีดกันที่จะมีชีวิตที่ดี เช่น อินเดียหรือเนปาล ในเนปาลนี่ผู้หญิงที่มีประจำเดือนถูกพาไปอยู่ในกระท่อมเพราะถือว่าสกปรก หรือในภาคเหนือก็ยังมีความเชื่อที่ว่าผู้หญิงที่มีประจำเดือนห้ามขึ้นเจดีย์ มีวัฒนธรรมหรือความเชื่อทางศาสนาหลายอย่างที่มันส่งผลต่อสิทธิมนุษยชน และเราต้องตั้งคำถามกับมันต่อไปเรื่อยๆ”
ถึงแม้ว่าเรื่องการใช้ศิลปะเป็นกระบอกเสียงหรือการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนจะเป็นประเด็นที่เราแก้กันเองไม่ได้เสียทั้งหมด แต่คำถามสำคัญคือเราวิเคราะห์มันโดยดึงเอาเรื่องโครงสร้างทางอำนาจ การผูกขาดความชอบธรรมไว้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือหน้าที่ของรัฐเข้ามาในการถกเถียงด้วยหรือยัง
ศิลปะไม่ใช่เรื่องของการสร้างสุนทรียะโดยไม่ได้สร้างแรงกระเพื่อมใดๆ เลยเราถึงไม่ต้องเอ่ยถึงมัน หรือสิทธิมนุษยชนเองก็ไม่ควรถูกเอ่ยถึงว่าเป็นปัญหาในบริบทสากลมากขนาดนี้ถ้าความเท่าเทียมยังทำงานดีอยู่ ทำอย่างไรเราถึงจะไม่ใช้ empathy หรือ sympathy ไปกับคนที่ถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพทั้งๆ ที่เขามีสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์เหมือนเราทุกอย่างตั้งแต่แรก
เวิร์คช็อบทั้งวันนี้ ประเด็นทางศิลปะกับสิทธิมนุษยชนจึงเชื่อมโยงกันได้แม้จะดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกันเลย สมาชิกแต่ละคนได้โอกาสตีความประเด็นสังคมในรูปแบบของตัวเอง ความประทับใจเล็กๆ เกิดขึ้นเมื่อพวกเขาตั้งใจเลือกที่จะเชื่อตัวเองแต่ก็ตั้งใจฟังคนอื่นมากๆ ความแข็งแรงของการพูดคุยจึงก่อตัวได้จากการรับฟังและคิดเยอะๆ ว่าอยากคล้อยตามหรือยืนอยู่กับที่ดีที่สุดแล้วแม้ว่าเราอาจจะไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเลยทั้งในเรื่องของศิลปะในช่วงเช้าหรือเรื่องสิทธิมนุษยชนในช่วงบ่าย