อรทัย งานไพโรจน์สกุล | Orathai Nganphairojsakun
ขนาด:300×250 ซม.
เทคนิค: สื่อผสม ตู้ไฟกระดาษและกล่องพลาสติก
ปีผลิต:2020
Size: 300×250 cm.
Technic: Mixed media (plastic lightbox and paper)
Year: 2020
concept
แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ทำงานในพื้นที่ก่อสร้าง พวกเขามีลูกหลานที่ยังเล็กและต้องเข้าโรงเรียน ทว่าเด็กที่เป็นลูกหลานของแรงงานเหล่านี้ ต้องออกจากโรงเรียนก่อนจบภาคการศึกษา เพราะต้องย้ายตามผู้ปกครองไปยังไซต์งานก่อสร้างตามเงื่อนไขของบริษัท เด็กกลุ่มนี้ขาดความต่อเนื่องในการเข้าถึงการศึกษา สาเหตุหนึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลไม่มีนโยบายหรือมาตรการที่กระตุ้นให้บริษัทบริหารจัดการการเคลื่อนย้ายแรงงานที่คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กลูกหลานแรงงาน
Migrant workers are required to relocate from one construction site to another. Having to tag along with their parents, migrant children often leave school mid-semester. The issue seems to persist given these children’s benefit not being priorities of the government or employers.
งานชิ้นนี้มุ่งสื่อสารวิถีชีวิตและเรื่องราวของเด็กและครอบครัวแรงงานข้ามชาติ ที่ต้องเคลื่อนย้ายถิ่นฐานอยู่ตลอดเวลา พื้นที่ศึกษาคือโรงเรียนวัดเจ็ดยอด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เจ้าของผลงานเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการ สังเกตการณ์ เก็บวัตถุดิบที่เป็นผลงานจากการเรียนของเด็กที่เป็นลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่ออกจากโรงเรียนอย่างกระทันหัน ประกอบกับประสบการณ์จากการทำงานกับเด็กและครอบครัวในแคมป์คนงานก่อสร้าง ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะนำเสนอเกี่ยวกับประเด็นการศึกษาที่ไม่ต่อเนื่องของเด็กลูกหลานแรงงานกลุ่มนี้ ที่ต้องเคลื่อนย้ายตามผู้ปกครองไปยังไซต์งานก่อสร้างต่าง ๆ ตามนายจ้างกำหนด โดยเจ้าของผลงาน เลือกเทคนิคสื่อผสม โดยใช้ Light box installation จำนวน 5 ชิ้นเป็นตัวกลางในการสื่อสารเกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตทางการศึกษาของเด็กลูกหลานแรงงานข้ามชาติ
This piece aims to highlight the way of life of children of migrant workers who are always on the move. The field site is the Wat Jet Yod School in Chiang Mai. Data collection is achieved by informal interviews, observations and collecting raw materials such as the school assignments and portfolio of the migrant students who leave school mid-semester. Having worked with the families and children of these migrant workers, the creator is inspired to present the issues resulting from their relocation conditioned by their job. Mixed media techniques using 5 light box installations presents the school life of this group of children.
เบื้องหลังกระบวนการทำงาน
บันทึกโดย : ฝน , อรทัย งานไพโรจน์สกุล
กว่าจะคิดเป็นงานนี้…
ตลอดโครงการ จะมีบางวันที่พวกเรานัดกันเข้ามาบุ๊ครีเพื่อนำเสนอร่างผลงานต่อหน้าเพื่อนๆและพี่ๆทีมงาน เป็นช่วงเวลาที่ทั้งตื่นเต้นและตื่นตระหนก บางคนกลัวงานโดนแก้ บางคนกลัวว่าไอเดียจะไม่แจ๋วพอ บางคนก็ไม่ได้เตรียมตัวมาอย่างเต็มที่ เลยทำให้เวลานำเสนองาน บางคนเหงื่อท่วม มือเย็น เสียงสั่น ถึงขั้นเลิกลั่กในบางราย
แต่ถึงอย่างนั้น ขณะที่กำลังโดนคอมเมนต์งานก็รู้สึกสนุกตื่นเต้น เพราะสิ่งที่ได้จากวงเต็มไปด้วยไอเดียที่แปลกใหม่ จากประสบการณ์ที่แตกต่างหลากหลายของสมาชิกและวิทยากร บ้างก็เป็นไอเดียที่วิจิตรพิศดาล บางครั้งออกจะวิตถาร และไม่ว่าไอเดียหรือคำถามที่คมคายจะโยนเข้าใส่พวกเรามากแค่ไหนอย่างไร คนที่ตัดสินใจท้ายสุดก็คือเจ้าของผลงานเอง
ถ้าคุณได้มีโอกาสร่วมวงนำเสนองานตั้งแต่รอบแรก จะไม่รู้เลยว่าเป็นงานชิ้นเดียวกับที่ตั้งโชว์อยู่ที่ใหม่เอี่ยมตอนนี้ เพราะทุกการนำเสนอ ชิ้นงานจะถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆอย่างก้าวกระโดด ถ้าพูดเป็นมีมก็คือ พัฒนาจากเฮโรอีนเป็นแป้งเลยทีเดียว
เช่นงานกล่อง Ready to go นี้ จำได้ว่าครั้งแรกที่นำเสนอก็เละมาก ไม่รู้เลยว่าตัวเองอยากทำประเด็นอะไร Pain point ก็ยังไม่ชัด อ่อนทั้งประเด็นความคิดและรูปแบบงานก็ไม่ชัดเจน จนได้โจทย์ว่า ให้กลับไปคิดว่าเรารู้อะไร เราถนัดอะไร เริ่มจากว่าตอนนี้เราทำอะไรอยู่ก่อนก็ได้ จากนั้นก็ถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ความคิดที่ฟุ้งกระจายออกอ่าวออกทะเล ก็ค่อยๆถูกพัดกลับมาด้วยการตั้งคำถามที่คมคายและไอเดียเจ๋งๆจากพี่วิทยากร
เริ่มจากว่าตอนนี้เราทำอะไรอยู่
ขณะที่ผลิตชิ้นงานอยู่ ตอนนั้นก็ทำงานเป็นผู้จัดการโครงการกับ NGO แห่งหนึ่ง ทำงานกับเด็กและครอบครัวแรงงานข้ามชาติ ก็ได้เห็นปัญหาการเข้าถึงการศึกษา สุขภาพและความปลอดภัยของเด็กกลุ่มนี้ ทีนี้ก็ต้องเลือกมาอย่างหนึ่งว่าจะสื่อสารประเด็นไหน ก็ชัดเจนว่าอยากจะสื่อสารประเด็นปัญหาการเข้าถึงการศึกษาของเด็กข้ามชาติ เพราะการศึกษาเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเชื่อมโยงได้ พอประเด็นชัด ที่เหลือก็คือเราและเพื่อนๆพี่ๆทุกคนช่วยกันเหลาให้ประเด็นมันคม ฝนให้ผลงานออกมาชัดเจนขึ้น
ทำไมต้องเป็นกล่อง?
จากประสบการณ์การทำงานกับเด็กและครอบครัวแรงงานข้ามชาติ ฉันได้รับโอกาสในฐานะคนทำงานให้ได้เข้าไปเยี่ยมบ้านของแรงงานบ่อยครั้ง เป็นห้องพักคนงานที่บริษัทจัดสร้างให้ ห้องขนาดประมาณ 3×4 เมตร. กำแพงและเพดานประกอบขึ้นด้วยสังกะสี เป็นห้องแถวเรียงติดกัน และเจ้าของห้องจะเปลี่ยนไปทุกๆ 3-6 เดือน บางครอบครัวอยู่กันข้ามปี ขึ้นอยู่กับปริมาณงานก่อสร้าง
ฉันเองก็เป็นคนที่ย้ายถิ่นฐานจากกรุงเทพมาอยู่เชียงใหม่ ซึ่งก็ไม่ต่างจากแรงงานข้ามชาติที่ต้องย้ายจากบ้านเกิดมาทำงานต่างถิ่น ข้าวของเครื่องใช้พื้นฐานบางอย่างเรามีคล้ายกัน เช่น หม้อไหจานชาม กระทะไฟฟ้า หรือพัดลมตัวเล็ก
จะต่างก็ตรงที่ ฉันรู้แน่ชัดว่าจะต้องย้ายออกเมื่อไหร่ตามสัญญาเช่า ฉันวางแผนการย้ายได้ แต่สำหรับแรงงานข้ามชาติที่ส่วนมากไม่รู้ภาษาไทย ต้องพึ่งพาคำบอกเล่าของผู้รับเหมาเป็นหลัก ซึ่งไม่มีความแน่นอน ไม่ชัดเจนว่าจะต้องย้ายออกเมื่อไหร่ หรือแม้กระทั่งจะย้ายไปที่ไหน เราจึงไม่ได้เห็นข้าวของธรรมดาสามัญบางอย่างอยู่ในห้องของพวกเขา เช่น เตียงนอน ตู้เย็น หรือแม้กระทั่งตู้เสื้อผ้า เพราะเป็นของชิ้นใหญ่ลำบากแก่การเคลื่อนย้าย เลยไม่เหมาะกับวิถีชีวิตที่ต้องย้ายถิ่นฐานเรื่อยๆ
ตู้เสื้อผ้าเป็นทั้งที่เก็บเสื้อผ้าและข้าวของอื่นๆสำหรับคนอยู่ห้องเช่า แต่เนื่องจากไม่มีตู้เสื้อผ้า แรงงานส่วนใหญ่จึงเก็บข้าวของเครื่องใช้ไว้ในวัสดุอื่นๆที่หาได้ง่ายและเคลื่อนย้ายได้ง่ายกว่า เช่น กล่องพลาสติก กล่องกระดาษ ถุงกระสอบ หรือถังสีที่เก็บมาจากไซต์งานก่อสร้าง
จึงเกิดเป็นไอเดียที่อยากจะนำกล่องพลาสติกและกล่องกระดาษมาเป็นวัสดุหลักในการสื่อสารให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่ต้องเคลื่อนย้ายถิ่นฐานอยู่เรื่อยๆ เป็นของง่ายๆธรรมดาทั่วไป แต่กลับเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับชีวิตที่ต้องเปลี่ยนที่อยู่บ่อยๆ
ความท้าทายในการเข้าถึงข้อมูล?
นอกจากความท้าทายในกระบวนการผลิตชิ้นงานแล้ว ฉันยังได้รับความท้าทายเพิ่มขึ้นเมื่อฉันไม่สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้
เนื่องจากข้อตกลงบางอย่างกับที่ทำงาน ทำให้ฉันไม่สามารถติดต่อสื่อสาร หรือนำสิ่งของใดๆออกมาจากพื้นที่ๆฉันทำงานได้เลย แม้กระทั่งขวดเครื่องดื่มชูกำลังที่แรงงานทิ้งไว้ในแคมป์ หรือแม้แต่โปสเตอร์เก่าของปี2019 ที่พวกเขาทิ้งเอาไว้ก่อนย้ายออกไป ซึ่งช่วงแรกรู้สึกผิดหวัง เพราะฉันคิดว่า ในฐานะคนทำงานที่ได้ใกล้ชิดกับครอบครัวแรงงาน ฉันมีโอกาสมากกว่าคนอื่นในการหยิบเอาวัสดุที่จริงแท้มาสื่อสารประเด็นนี้ จึงนึกเสียดายว่าตำแหน่งหน้าที่การงานของฉันเองนี่แหละที่ขัดขวางการเข้าถึงข้อมูลของตัวเอง ด้วยที่ยังยึดติดความเชื่อที่ว่า ยิ่งวัสดุจริงแค่ไหน ประเด็นก็ยิ่งสื่อสารได้กระทบใจผู้ชมมากเท่านั้น แต่กลับไม่เป็นตามคาด สุดท้ายฉันก็ต้องทำความเข้าใจและเคารพตามข้อตกลงนั้น
พูดคุยกับครูถึงอุปสรรคการศึกษาของเด็กข้ามชาติ
แต่ในความท้าทายก็มีโอกาสใหม่ๆซ่อนอยู่เสมอ คราวนี้ฉันเข้าไปสอบถามครูประจำชั้นอนุบาลสามที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งไม่ได้ขัดแย้งกับข้อตกลงที่มีกับที่ทำงาน
ฉันรู้จักกับครูท่านนี้อยู่ก่อนแล้วเนื่องจากต้องพาเด็กมาสมัครเข้าเรียนบ่อยครั้ง ครูท่านนี้มีทัศนคติที่ดีต่อนักเรียนที่เป็นลูกหลานแรงงานข้ามชาติ
ครูเล่าว่า เด็กข้ามชาติส่วนใหญ่ตั้งใจเรียนมากกว่าเด็กไทยบางคนด้วยซ้ำ ในขณะที่ครูบางท่านที่ฉันพบเจอมักจะบ่นว่าเด็กข้ามชาติสอนยาก ตามเพื่อนไม่ทัน ทำให้การสอนยุ่งยากขึ้น แต่สำหรับครูท่านนี้ไม่ได้มองว่าเป็นอุปสรรค หากเด็กมีความตั้งใจและพยายาม ครูก็เต็มที่กับการสอนเช่นเดียวกัน
ปัญหาหลักที่ครูท่านนี้เห็นเกี่ยวกับการศึกษาของเด็กข้ามชาติในกลุ่มที่ผู้ปกครองเป็นแรงงานก่อสร้างคือ การย้ายโรงเรียนบ่อยครั้ง
ครูท่านนี้หยิบผลงานเด็กให้ฉันดู พร้อมเล่าเรื่องของเด็กแต่ละคนให้ฟัง ผลงานของเด็กนั้นหมายถึง การนำใบงานทุกวิชาในแต่ละวันที่เด็กทำมารวมเล่มจัดเก็บเป็น “ผลงานของฉัน”
เมื่อจบปีการศึกษาและเด็กเลื่อนชั้น ผู้ปกครองต้องนำเล่มผลงานของเด็กไปให้กับครูประจำชั้นคนใหม่ เพื่อเป็นหลักฐานการเรียนที่ผ่านมา แต่สำหรับเด็กข้ามชาติที่ย้ายออกก่อนจบเทอมและไม่ได้มาติดต่อทำเรื่องขอย้าย เล่มผลงานของเด็กก็จะอยู่ที่ครูประจำชั้น
ครูเล่าว่า บ่อยครั้งที่มีเหตุการณ์ที่อยู่ๆเด็กนักเรียนก็ไม่มาโรงเรียน โดยที่ผู้ปกครองไม่ได้มาติดต่อแจ้งสาเหตุ บ่อยขึ้นๆเลยกลายเป็นเรื่องปกติที่ว่า หากเด็กข้ามชาติไม่มาโรงเรียนแสดงว่าย้ายตามพ่อแม่ไปที่อื่นแล้ว ซึ่งไปที่ไหนครูก็ไม่ทราบ แต่ถ้าไปโดยไม่มีใบย้ายก็แน่นอนว่าจะต้องซ้ำชั้น
ครูเล่าว่า รู้สึกเสียดายการศึกษาของเด็ก เพราะเด็กต้องใช้เวลากว่าจะปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมในห้องเรียน เพื่อน ครู และการเรียนภาษาไทย เป็นไปได้ครูก็อยากให้เรียนจนจบเทอมก่อนค่อยย้าย ไม่อยากให้ออกกลางคัน
ทำไมต้องเป็น Light box?
เมื่อได้ผลงานของเด็กมาแล้ว ก็สังเกตว่าวัสดุที่จะใช้ในการผลิตงานมีแต่กระดาษทั้งนั้น และจากการที่พี่ทีมงานช่วยค้นหาข้อมูล ก็ได้ไอเดียของ Light box ขึ้นมา ซึ่งเป็นการนำกระดาษมาประกอบกันตั้งแต่ห้าชั้นขึ้นไป จัดเรียงกันใส่กล่อง และฉายไฟจากด้านหลังมาด้านหน้าให้เกิดภาพจากเงามืดของแต่ละชั้น
ส่วนตัวคิดว่ากล่องLight box โดยทั่วไปมีความสวยงาม น่ารัก และคล้ายกับนิทานเงาที่เด็กๆสามารถชมเพื่อเอาความสวยงามความสนุกอย่างเดียวก็ได้ หรือถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็สามารถตีความในมิติสังคมศิลปะได้ด้วย และที่สำคัญก็ประเมินจากศักยภาพของตัวเองว่าพอจะมีทักษะการใช้คัตเตอร์ ทักษะงานฝีมือพวกนี้อยู่บ้าง ถึงแม้จะไม่ได้เรียนศิลปะมาแต่งานอดิเรกก็ชอบทำงานฝีมืออยู่แล้ว น่าจะพอทำได้
ตัวอักษรบนกระดาษคืออะไร?
เมื่อได้ผลงานของน้องมาแล้ว ก็มาคิดต่อว่าจะทำยังไงกับผลงานน้องดี จะเอามาฉีกออกเป็นชิ้นๆก็ไม่อยากทำลายผลงานของน้อง ก็เลยคัดลอกลายมือน้องแล้วเอาไปใส่ไว้ในแผ่นกระดาษแต่ละชั้น จะได้มีลายมือของเด็กข้ามชาติที่ประสบปัญหาเรื่องนี้จริงๆอยู่ในนั้น ขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาผลงานที่น้องอุตสาห์ทำ เก็บรักษาเอาไว้
เล่าเรื่องผ่านกล่อง Ready to go
งานชิ้นนี้ประกอบไปด้วยกล่องLight box จำนวนห้ากล่อง ซึ่งแต่ละกล่องก็มีเรื่องราวที่แตกต่างกัน วาดขึ้นโดยใช้โปรแกรม Adobe Illustrator ซึ่งก็ค่อนข้างกังวลในตอนแรกเนื่องจากการทำงานเป็นนักสังคมและผู้จัดการโครงการไม่จำเป็นต้องใช้งานโปรแกรมนี้ จึงเป็นครั้งแรกที่หัดใช้และต้องทำให้ออกมาในคุณภาพที่น่าพอใจ
แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยการลองผิดลองถูก เกิดปัญหาทางเทคนิคบ้าง ใช้ AI (Adobe Illustrator) แบบฟรีเจ็ดวันแล้วงานก็ยังไม่เสร็จ ก็ต้องซื้อ ก็ไม่มีเงิน ก็แก้ปัญหากันไป วาดเสร็จปริ้นเสร็จก็ไปหาร้านตัดกระดาษแบบเลเซอร์ เขาก็บ่ายเบี่ยงไม่รับงานเนื่องจากงานละเอียดเกินไป ก็ต้องนั่งตัดมือเองทีละแผ่นประมาณสามสิบแผ่น ทำอยู่สองวัน ทำไปก็เหนื่อย เมื่อย งอแงบ้าง มีเพื่อนๆสมาชิกวนเวียนมาช่วยทำบ้าง พี่ทีมงานสงสารก็มาช่วยทำบ้าง แต่ถึงจะเหนื่อยจะเมื่อยยังไงก็ยังผ่านมาได้ด้วยกำลังใจและความกดดันบ้างประปราย แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดี