ปรากฎการณ์การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยและความยุติธรรมในระดับภาคประชาชน ตั้งแต่กรกฎาคมเมื่อปีที่แล้ว ทำให้เราได้เห็นถึงกลวิธีต่างๆ ในการต่อสู้รวมถึงการตั้งรับสลับสับเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลา จนมาถึงปีนี้ หลายคนรู้สึกกังวลว่าท่าทีของม็อบเยาวชนคนรุ่นใหม่จะแผ่วลง หมดแรง และบอบช้ำจากการโต้กลับที่รุนแรงขึ้นของรัฐ เราจึงชวนอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครองคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาวิเคราะห์และมองการต่อสู้ในก้าวต่อไปของเยาวชนคนรุ่นใหม่
ทิศทางการต่อสู้ที่เกิดขึ้นหลังยุครัฐประหาร
ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้วเราเห็นการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่จำนวนมากในรอบ 40 กว่าปี เมื่อนับตั้งแต่เหตุการณ์การรวมตัวของประชาชนที่มีจำนวนมากพอๆกับการต่อสู้เมื่อ14 ตุลาคม 2546 ซึ่งมองว่าเหตุการณ์นี้เป็นประวัติศาสตร์ที่เขียนขึ้นเองโดยภาคประชาชนครั้งสำคัญ
มองในด้านบวกของการต่อสู้ที่ผ่านมาไม่เคยสูญเปล่า
ถ้าเรามองภาพกว้างของทิศทางประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยที่ถดถอย มันเกิดขึ้นในช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา บ้านเมืองอยู่ในบรรยากาศที่อึมครึมแทบไม่มีการเคลื่อนไหวใดเกิดขึ้น เพราะทุกคนตกอยู่ในบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว จนรู้สึกว่าไม่ใช่ธุระอะไรที่ต้องออกมาเรียกร้อง ออกไปก็คิดว่าไม่สามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงได้
จะมีก็แค่คนที่ออกมาไม่กี่สิบคนและส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา เช่น เยาวชนรุ่น ไผ่ ดาวดิน ,โรม รังสิมันต์ หลังจากที่พวกเขาออกมาก็ถูกจับและนักศึกษาบางส่วนก็โดนคดีถึงขั้นขึ้นศาลทหาร ในเวลานั้นไม่มีแม้แต่แฮชแท็ก “ปล่อยเพื่อนเรา” เสียด้วยซ้ำ
แม้ว่าตอนนี้ประชาชนส่วนหนึ่งจะมองว่าเป็นช่วงเวลาที่ม็อบแผ่วหรืออยู่ในช่วงขาลง แต่เมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา 50 ปีที่แล้ว มันมีแสงสว่างกว่า และขนาดของมวลชนก็ใหญ่กว่า
เมื่อรัฐปรับวิธีรับมือ ทุกฝ่ายจึงต้องปรับตัว
การต่อสู้ของประชาชนที่ตอบกลับกับรัฐ รัฐเองก็มีการปรับตัวในการหาวิธีจัดการกับม็อบ ยิ่งพวกเขามีอำนาจปกครองประเทศมาอย่างยาวนาน เแสดงว่าพวกเขาเองก็มีกระบวนการเรียนรู้ วิธีการรับมือและจัดการในแบบของเขา เทคนิคหนึ่งที่ใช้ทั่วโลก ไม่ใช่แค่ที่เราเห็นในประเทศไทยแล้วได้ผล คือคนของฝั่งรัฐเข้ามาแฝงตัวในขบวนการต่อสู้ภาคประชาชนในฝั่งเรา เพื่อสร้างความปั่นป่วน หวาดระแวง และแตกคอกันเองในท้ายที่สุด ยิ่งเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า หน่วย IO (Information Operation) ไม่ได้มีแค่ในโลกสังคมออนไลน์ พวกเขาปะปนอยู่ในพื้นที่จริงร่วมกับเราด้วย เราจึงต้องมองว่านี่คือบทเรียนของพวกเราที่ประมาทไม่ได้เช่นกัน
มองกลับมาที่ฝั่งม็อบ พวกเราเองก็ต้องมีการปรับตัว หากแบ่งม็อบเป็นเฟสต่างๆ เฟสแรกซึ่งเกิดขึ้นในปีที่แล้ว เป็นขั้นตอนของการปลุกจิตสำนึก สร้างความตื่นตัวเพื่อต่อสู้กับนิยามและค่านิยมแบบเก่า ซึ่งเรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับการเมืองวัฒนธรรม เวลาที่ผ่านมา 5 – 6 เดือน ม็อบก็ประสบความสำเร็จในการกระจายจิตสำนึกไปสู่ภูมิภาค จังหวัดอื่นๆ และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เห็นได้ว่าวัฒนธรรมความคิดมันเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อเราจุดประกายให้คนรุ่นใหม่ในสังคมตาสว่างแล้วทุกพื้นที่ พวกเขาก็ไม่มีทางที่จะถอยกลับไปจุดเดิมได้
และเฟสต่อไปคือการให้ความสนใจการ organize หรือการจัดการ จะทำยังไงให้ขบวนการเคลื่อนไหว ผลักดันสู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ในขณะเดียวกันเราเองก็ต้องไม่ลืมว่ารัฐใช้อำนาจ และความรุนแรงมากขึ้น ทั้งแก๊สน้ำตา , การคุกคามจากเจ้าหน้าที่ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย
มองทิศทางการต่อสู้ระยะยาว หัวใจสำคัญคือการวางแผน
อยากให้มองการต่อสู้การเมืองไทยในครั้งนี้เป็นเหมือนการวิ่งมาราธอน มันเป็นการต่อสู้ระยะยาว มากกว่าการวิ่งหนึ่งร้อยเมตรที่สามารถเร่งสปีดแล้วเข้าเส้นชัยได้ทันที เพราะสังคมไทยสะสมปัญหาไว้มาอย่างยาวนาน ทั้งปัญหาในเชิงโครงสร้าง วัฒนธรรมการกดขี่ในทุกรูปแบบ ที่ทำให้คนไม่เท่ากัน ผู้ใหญ่กดขี่ ไม่ฟังเสียงของคนที่เด็กกว่า ,เศรฐกิจที่อยู่ในระบบผูกขาด หรือการเมืองก็เป็นรูปแบบรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจากคณะรัฐประหาร
ถ้าเราเห็นและอ่านปัญหาเชิงโครงสร้างออก เราจะสามารถวางแผนการต่อสู้ระยะยาวได้ ด้านของแฟลชม็อบที่ผ่านมามันทำหน้าที่ของมันไปแล้ว หลังจากนี้ประชาชนต้องเตรียมรูปแบบการต่อสู้ที่หลากหลายขึ้น ต้องศึกษาดูรูปแบบวิธีการจากสังคมต่างๆ ที่มองว่าการต่อสู้เป็นเหมือนการวิ่งมาราธอน ในแง่หนึ่งมันเป็นกระบวนการสะสมกำลังไปเรื่อยๆ ขณะที่เราเคลื่อนไปข้างหน้า คล้ายสโนว์บอล ยิ่งเคลื่อนไปไกลเท่าไหร่ ก้อนหิมะก็ยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน หากคิดเป็นเหมือนแม่น้ำ มันก็คือแม่น้ำที่ต้องมีหลายสายไหลมารวมกัน ส่วนแม่น้ำแต่ละสายก็สามารถแยกกันได้ และมีเป้าหมายเดียวกันไปด้วย
ม็อบควรมีความแตกต่างหลากหลาย แต่ไม่ใช่ความสะเปะสะปะ คนละทิศละทาง หรือต่างคนต่างทำ มันต้องเกิดการคุยร่วมกันก่อนเพื่อวางยุทธศาสตร์ และค่อยกระจายตัวกันไปทำในจุดที่แต่ละคนถนัด เช่นคนที่ถนัดงานศิลปะก็ใช้กระบวนการทางศิลปะในการต่อสู้ , นักวิชาการก็มีหน้าที่กระจายความรู้ การเคลื่อนขบวนจึงต้องอาศัยทักษะที่ต่างกัน
ในโลกนี้ขบวนการต่อสู้ที่ประสำความสำเร็จมีองค์ประกอบคือ หนึ่ง การระดมพล ไม่ใช่แค่ในเชิงปริมาณ แต่คือการขยายกลุ่มคนที่มาร่วมกับเราให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ด้านของอาชีพที่รวมเอา พ่อค้าแม่ค้า แรงงาน นักวิชาการ สถาปนิก เกษตรกร ที่มีต้นทุนต่างกันมาช่วยกันเคลื่อนไหว ซึ่งจะทำให้แต่ละกลุ่มมีผลลัพธ์ด้านวิธีการต่อสู้ที่ไม่เหมือนกัน
สอง เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน เราต้องปรับเปลี่ยนกลวิธีไปด้วย ถ้าอีกฝั่งจับทางได้ รู้จังหวะการตอบโต้ซ้ำๆของเรา เราก็อาจจะโดนปราบปราม ซึ่งส่งผลให้เกิดความสูญเสีย ท้ายที่สุดนำไปสู่ความรู้สึกกลัว ท้อถอย หากบางครั้งฝั่งรัฐเขาแรงมา เราต้องปรับไปสู่ท่าทีที่ลดการปะทะหรือสูญเสีย
ผู้คนที่หลากหลายและเป้าหมายที่หนักแน่นขึ้น
คำถามสำคัญของการจัดการขบวนการเคลื่อนไหว คือเราจะทำอย่างไรให้คนส่วนใหญ่ 99% เห็นผลประโยชน์ที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ออกมาต่อสู้ในครั้งนี้ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือการเรียกร้องผลประโยชน์เพื่อคนส่วนใหญ่โดยแท้จริง
ดังนั้นการสื่อสารคือหัวใจสำคัญของม็อบ เราต้องมีความชัดเจนในประเด็นที่เราจะขับเคลื่อนมวลชล ถ้าหากประชาชนคนส่วนใหญ่รับรู้และเข้าใจมากขึ้น พวกเขาก็จะมาเข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน รวมทั้งการประเมินแรงเสียดทานที่อาจจะเกิดขึ้นกับม็อบ เพื่อให้เราต้องปรับไปสู่การสื่อสารรูปแบบอื่นๆ
หากประเด็นที่เราสื่อสารมันทำให้เขาเห็นถึงผลประโยชน์ร่วมกัน แม้แต่คนที่อยู่ภายในกลไกรัฐอาจจะเริ่มที่จะฟังเราและมาร่วมกับการต่อสู้ฝั่งประชาชนมากขึ้น
หรืออย่างที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์เรียกว่า “ขบถในระบบ” ไม่ว่าจะเป็น ผู้พิพากษา ข้าราชการ ตำรวจ อัยการ ถ้าพวกเขาเห็นว่าสิ่งที่รับใช้ทำตามคำสั่งอยู่นั้นไม่เป็นธรรม เน่าเฟะ ฉ้อฉล เขาอาจจะเลิกอยู่ภายใต้คำสั่งเหล่านั้น แล้วย้ายมาเข้าข้างร่วมกับฝั่งประชาชนมากขึ้น ซึ่งมันเกิดขึ้นจริงแล้วในเวลานี้.