ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมาสังคมไทยมีความตื่นตัวทางการเมืองเป็นอย่างมาก จนนำมาสู่หมุดหมายของการเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองและวัฒนธรรมครั้งสำคัญ ซึ่งมีผลต่อทัศนคติ และการใช้ชีวิตของคนในสังคมไทย และจากสิ่งที่เกิดขึ้น พวกเราจึงมีคำถามใหญ่ร่วมกันว่า “ประเทศไทยของเราจะไปทางไหน”, “สังคมการเมืองไทยจะนำมาสู่จุดเปลี่ยนในประเด็นใดบ้าง” และ “เราในฐานะประชาชนจะต้องรับมืออย่างไร”
ในโอกาสที่สังคมไทยกำลังก้าวผ่านจากปี 2022 สู่ปี 2023 Book Re:public จึงชวนผู้เชี่ยวชาญทั้งด้าน สังคมศาสตร์, รัฐศาสตร์ และ กฎหมาย มาร่วมแกะรอยปรากฏการณ์ทางสังคมการเมืองในปัจจุบัน สู่การคาดการณ์สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ผ่านงานเสวนา “ประเทศไทยไปทางไหน : ในมุมมองของนักกฎหมาย นักสังคมศาสตร์ และนักรัฐศาสตร์” ร่วมพูดคุยกับ
- นัทมน คงเจริญ จากคณะนิติศาสตร์ มช.
- ณัฐกร วิทิตานนท์ จากคณะรัฐศาสตร์ สำนักวิชาการเมืองการปกครอง มช.
- เก่งกิจ กิติเรียงลาภ จาก คณะสังคมศาสตร์ มช.
ชวนคุยโดย นาวินธิติ จาก SAAP 24:7
เนื้อหาบางส่วนจากเสวนา “ประเทศไทยไปทางไหน”
คาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของแวดวงกฎหมาย
อ.นัทมน :
ในปัจจุบันตัวบทกฎหมายที่เราคุ้นชินอยู่ เมื่อนำมาใช้ในชีวิตจริงมันคนละเรื่องกัน การใช้กฎหมาย การตีความกฎหมาย เราไม่สามารถเชื่อในตัวหนังสือได้ แม้มันมีเจตนารมณ์อธิบายกำกับอยู่ แต่การใช้กฎหมายในความเป็นจริงต่างกันกับในหนังสือ ยกตัวอย่างคดีที่กำลังติดตามคดีอยู่ หรือได้ไปเป็นผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายในบางคดี มันเหมือนกับเราซื้อหวย คำตัดสินคดีของผู้พิพากษา เราฟังแล้วมีแววตัดสินคดีมีความสอดคล้องกับสิ่งที่เราเรียนมา พออ่านคำพิพากษาในตอนท้ายกลับกลายเป็นว่า ‘คดีพลิก’ มันกลับเป็นคนละทางกับที่เราคาดการไว้ อนาคตถ้าเราไม่สามารถแก้ไขกระบวนการยุติธรรม กฎหมายให้อยู่ในร่องในรอย กฎหมายจะถูกมองข้ามและเสื่อมสัธทาในที่สุด
การเลือกตั้งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนแปลง
อ.ณัฐกร :
หลังการเลือกตั้ง,มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ มันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้างไหม ผมว่ายากมาก มันจะเกิดจากการขยับในประเด็นเล็กๆ อย่างเช่น สวัสดิการผ้าอนามัย,สุราก้าวหน้า ประเด็นพวกนี้มีความเป็นไปได้
แต่โอกาสที่จะไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างใหญ่ๆ เช่นเรื่องโครงสร้างทางการเมือง หรือรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้เลย
ถามว่าทำไมถึงคิดอย่างนั้น ในประวัติศาสตร์ไทย รัฐธรรมนูญที่มันมีความเป็นประชาธิปไตยจ๋า ได้เพราะหลังเหตุการณ์การนองเลือดเกิดขึ้น เรามีรัฐธรรมนูญปี 2517 เพราะผ่าน 14 ตุลาฯ 2516 รัฐธรรมนูญปี 2540 ก็เกิดหลัง พฤษภาฯ 2535 มันไม่ง่ายเลย กว่าจะมีรัฐธรรมนูญปี 40 เกิดการฟาดฟัน แก้ไขไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง แก้ไขเป็นร้อยๆ มาตรา เป็นเวลา 5 ปี จะไปพึ่งเวลาอันสั้นคงเป็นไปไม่ได้ เราควรรอดูระยะยาว และค่อยๆ ขยับประเด็นเล็กๆ ไปด้วย เพราะการเลือกตั้งครั้งเดียวอาจจะไม่สามารถตัดสินอะไรได้เลย
อ.ณัฐกร :
การเลือกตั้งมันยังไม่พอ ประชาธิปไตยมันไม่มีจุดสิ้นสุด มันเป็นกระบวนการ
ในต่างประเทศที่เชื่อมั่นในอำนาจของประชาชนส่วนใหญ่ จะสามารถถ่วงดุล ลดอำนาจการตัดสินใจโดยผู้แทนฯได้ ประชาชนมีส่วนร่วมทุกการตัดสินใจเรื่องใกล้ตัว และเรื่องท้องถิ่นได้ดี ประเทศไทยในตอนนี้คงต้องตั้งต้นที่การเลือกตั้งก่อน หลังจากนั้นพอมันเข้ารูปเข้ารอยการเมืองระดับชาติมันจึงจะเปลี่ยน อย่างไรก็ตามเรื่องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นก็จะตามมา
ในอนาคตผมมองว่าเราต้องเอาเทคโนโยลีมาตอบโจทย์การเมือง เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น
แต่ท้ายที่สุดเราต้องมองว่าเลือกตั้งเป็นเพียงส่วนหนึ่ง เป็นเศษเสี้ยวหนึ่งของกระบวนการทั้งหมด ส่วนการกระจายอำนาจมันมีขั้นตอนมากกว่านั้น
ฉันทามติร่วมของสังคมไทยจะไปในทิศทางไหน
อ.เก่งกิจ :
เรายังไม่มีฉันทามติทางการเมืองร่วมกันเลย ประชาธิปไตยมันควรที่จะเป็นกระบวนการที่เปิดให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมได้ ตอนนี้หลักการพื้นฐานว่าเราอยากจะสร้างประชาธิปไตยเรายังเห็นไม่ตรงกัน ยังไม่ต้องพูดถึงฉันทามติที่มันใหญ่กว่านั้น ทั้งในเชิงสถาบัน ว่าเราอยากเห็นสถาบันการเมือง, รัฐธรรมนูญ, พรรคการเมือง, การเลือกตั้งเป็นอย่างไร มีระบบรัฐสวัสดิการไหม การกระจายอำนาจปกครองท้องถิ่นเป็นอย่างไร
กลับมาที่เราพูดหลักการประชาธิปไตยพื้นฐานเลยว่ามันควรจะเป็นอย่างไร เรายังพูดกันไม่รู้เรื่อง สำหรับผม แน่นอนว่าเราเห็นการตื่นตัวทางการเมืองในช่วงสองปีที่ผ่านมา แต่มันยังไม่เข้มข้นพอที่จะทำให้เกิด ‘ผลึกของฉันทามติ’ ความเข้าใจชุดความคิดทางการเมืองชุดเดียวกันที่มันเป็นพื้นฐานร่วมกันได้
ส่วนตัวผมเองก็ยังไม่รู้ว่า จะทำอย่างไรให้ผลึกความคิดนี้เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเรามองมันเป็น ‘กระบวนการประชาธิปไตย’ มันเป็นสิ่งที่ยังไม่มีสิ้นสุด
ผมจึงไม่คิดว่าระยะเวลา 5 ปีเราจะได้ประชาธิปไตย เพราะว่ามันเป็นกระบวนการของการต่อสู้ ในกระบวนการนี้เราจะมีทั้งคนที่พยายามทำลายเสียงของคนส่วนใหญ่อยู่ตลอดเวลา แต่มันยังเป็นกระบวนการที่ทำให้ฝ่ายต่อต้านผู้มีอำนาจขับเคลื่อนได้ ต่อรองกันได้ ถ่วงดุลอำนาจกันได้ แต่ตอนนี้ผลึกของการต่อสู้มันยังไม่ตกผลึกพอที่มันจะเป็นฉันทามติร่วมกัน
การบอกว่า “สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ” มันจึงไร้สาระ ความจริงแล้วตอนนี้มันเป็น”ระบอบเผด็จการ” เราต้องพูดตรงนี้ แล้วฐานการเมืองไทยตอนนี้เป็นอย่างไร ตอนนี้เราอยู่ภายใต้โครงสร้างทางการเมืองที่เป็นอนุรักษ์นิยมและเป็นเผด็จการ เราต้องยอมรับสิ่งนี้ก่อน
เมื่อเรายอมรับว่าเราอยู่ในระบอบเผด็จการ แล้วจะคิดต่อได้ว่าเราจะสร้างประชาธิปไตยอย่างไร แต่ถ้าเราเริ่มจากการตั้งโจทย์ว่า “เรามีประชาธิปไตยครึ่งใบ” แล้วเราจะทำอย่างไรในการสร้างประชาธิปไตยขึ้นมาได้บ้าง มันเป็นการตั้งโจทย์ที่ผิด
การต่อสู้ทางการเมืองในหลายปีที่ผ่านมา มันเกิดขึ้นจริง มีการแบ่งขั้วหลากหลายมิติทางการเมือง วัฒนธรรม แต่ไม่ได้นำมาสู่ผลึกการสร้างฉันทามติทางการเมือง ซึ่งมันต้องการอะไรที่มากไปกว่าการมีอีเว้นท์ทางการเมือง มันต้องการการจัดองค์กร จัดขบวนการของฝั่งประชาธิปไตย
ส่งท้ายถึงคนรุ่นใหม่และการเปลี่ยนแปลง
อ.นัทมน :
เราก็เคยคาดหวังกับคนรุ่นใหม่ที่จะมาเปลี่ยนแทนที่คนรุ่นเก่า กลับกลายเป็นว่าเรายังเห็นวัยรุ่นที่มีความคิดเห็นแบบอนุรักษ์นิยมอย่างสุดโต่งอยู่ในโลกออนไลน์ ในบางเพจของฝั่งอนุรักษ์นิยมอยู่ แต่ถึงอย่างไรก็ตามเรายังเชื่อว่าคนเราเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งอยู่ที่ข้อมูลที่พวกเขาได้รับ ดังนั้นการทำงานของสื่อเองก็ต้องทำงานหนักในด้านข้อมูล ด้านตัวขบวนการของกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือขบวนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมเองก็ต้องทำงานทางความคิดให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
อ.นัทมน :
อุดมการทางสังคมไทยมันเปลี่ยนไปแล้ว จากการที่เรามองเพียง “ใครเป็นใคร” เปลี่ยนจากตัวบุคคลสู่ความคิด “ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม อยู่ที่คุณทำอะไร” ไม่ว่าจะสูงส่งแค่ไหน สังคมก็จะลากคุณมามารับผิดชอบผลของสิ่งที่คุณทำมา มันจะมีแนวโน้มแบบนี้เปลี่ยนแปลงและคลี่คลายในอนาคต
อ.ณัฐกร :
ทุกอย่างมันกำลังเปลี่ยนแปลงไป แต่อยากให้ใจเย็นๆ เพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มันใช้อารมณ์ความโกรธสูง
การเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้า พลิกแผ่นดินชั่วข้ามคืนในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามันใช้ความรุนแรงมันจึงเกิดขึ้น โลกปัจจุบันก็สามารถมีเหตุการณ์ความรุนแรง และเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบนั้นได้อยู่เช่นกัน แต่ถ้าไม่ใช้ความรุนแรงโลกมันก็จะเป็นระบบถ้อยทีถ้อยอาศัย การเปลี่ยนแปลงค่อยๆ เปลี่ยนไป ไม่ช้าก็เร็วมันเกิดขึ้นแน่นอนเช่นกัน