หากความตื่นใจทางวิชาการในงานของ “จิตร ภูมิศักดิ์”เรื่อง “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ”เมื่อกึ่งศตวรรษก่อนนั้นยังคงฝังรากฝังรอยอยู่ วันนี้ อาจารย์ชลธิรา สัตยาวัฒนา ได้ต่อรากนั้นให้งอกออกไปในชื่อ “สาวรกรากต้นตอ คนไท ชุมชนไท-ลาว และความเป็นไท/ไต/ไทย/สยาม”
ถ้านักสืบสมัยใหม่ไม่เคยละเลยแม้แต่ละอองไอจากรอยนิ้วมือ นักโบราณคดีไม่เคยเลยที่จะละเลยเศษภาชนะแตก นักดนตรีย่อมไม่ฟังข้ามเสียงเบี้ยวแม้แต่เสี้ยวโน้ต วิธีวิทยาแบบ Generative Anthropology ก็ไม่ยอมละเลยทุกอย่างที่เป็นผลมาจากการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ โดยไม่มองว่าสิ่งใดที่ฝั่งอยู่ในจิตใต้สำนึกเป็นเรื่องไร้ค่าทางวิชาการ
“ด้ำ แถน กำเนิดรัฐไทย: สาวรกรากต้นตอ คนไท ชุมชนไท-ลาว และความเป็นไท/ไต/ไทย/สยาม” เล่มนี้ ได้สาธิตให้เห็นถึงความใส่ใจกับถ้อยคำเล็กๆ แม้แต่เสียงของคำที่เลื่อนไป สาธิตให้เห็นถึงความใส่ใจกับรูปรอยเล็กๆ แม้จะเลือนราง สาธิตให้เห็นถึงความใส่ใจกับท่าทีและเสี้ยวอารมณ์แม้จะวูบผ่าน จนทำให้เห็นเป็นระเบียบวิธีอีกทางหนึ่งในนาม Generative Anthropology และได้ผลการศึกษาที่ส่งเสียงบอกเล่าให้รู้เช่นเห็นชาติถึงความเป็นคนไท/ไต/ไทย/สยาม ที่สืบทอดผ่านพื้นที่และเวลามาได้อย่างพิศวง
ด้ำ แถน กำเนิดรัฐไทย: สาวรกรากต้นตอ คนไท ชุมชนไท-ลาว และความเป็นไท/ไต/ไทย/สยาม
โดย ชลธิรา สัตยาวัฒนา
บรรณาธิการ ทองแถม นาถจำนง
สำนักพิมพ์ทางอีศาน