เผด็จการไม่เพียงจะควบคุมอำนาจทางการเมืองของประชาชน หากแต่ยังมุ่งเข้าไปควบคุมความทรงจำ ยึดพื้นที่ความทรงจำเดิม สร้างความรับรู้ใหม่ต่อเรื่องราวและผู้คน วางพิมพ์เขียวของการเขียนอดีต – สร้างประวัติศาสตร์เพื่อควบคุมกาลเวลาให้อยู่ในมือพวกเขาตลอดมา โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐมีอำนาจส่วนกลางเข้มแข็ง หรือต้องการจะสร้างความเข้มแข็งและเสถียรภาพ เพราะการเล่าและเขียนประวัติศาสตร์เป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งเพื่อเสริมสร้างอำนาจให้มั่นคง…..
ในทางกลับกัน “ประวัติศาสตร์” เป็นอาวุธหนึ่งที่ถูกนำมาใช้วิพากษ์ เปิดโปง และชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลของการกระทำในอดีตของผู้ที่ไม่น่าไว้วางใจ ทั้งที่เคยกุมอำนาจนั้น หรือยังคงอยู่ในอำนาจเสมอมา คัดง้างกับประวัติศาสตร์กระแสหลักด้วยประวัติศาสตร์อีกชุดหนึ่งจากมวลชน ในช่วงหลังมานี้การเขียนประวัติศาสตร์เพื่อวิพากษ์ให้เห็นปัญหามีมากขึ้น ประวัติศาสตร์ไทยในมือนักประวัติศาสตร์ยุคหลัง จึงไม่ใช่การอวดโอ่มถึงมหาอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ไพศาลอันอุดมสมบูรณ์อีกต่อไป….
“ประวัติศาสตร์สำเหนียก” คือหนังสือรวมข้อเขียนที่จะพาคุณไปสอดส่องทำความเข้าใจยุคสมัยและการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากการเขียนประวัติศาสตร์ ความรู้สึกและสำนึกต่ออดีต ตลอดจนการหวนมาวิพากษ์บุคคลในประวัติศาสตร์ที่ถูกจดจำเพียงแต่ในภาพของการถูกยกย่องสรรเสริญ เพื่อแสดงให้เห็นบทบาทและอำนาจของประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อสังคมการเมืองไทยในแวดวงต่างๆ…..
.
.
ประวัติศาสตร์สำเหนียก
โดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
สำนักพิมพ์มติชน