[Book Re:commendation] Daisy Miller เดย์ซี มิลเลอร์

[Book Re:commendation] Daisy Miller เดย์ซี มิลเลอร์


“ผมเกรงว่านิสัยของคุณจะออกไปทางเจ้าชู้”
“แน่นอนค่ะ​ ฉันเป็นผู้หญิงเจ้าชู้ที่น่ากลัวที่สุด! แล้วคุณเคยรู้จักผู้หญิง​ดีๆ​ ที่ไม่เจ้าชู้ไหม​ แต่ฉันว่าคุณกำลังตำหนิว่าฉันเป็นผู้หญิงไม่ดี”
“คุณเป็นผู้หญิงที่ดีมาก​ แต่ผมอยากให้คุณหยอกเอินกับผมเพียงคนเดียว”


เฟรดเดอริก วินเทอร์บอร์น ชายหนุ่มชาวอเมริกันผู้เติบโตและใช้ชีวิตอยู่ในยุโรปเป็นเวลานาน ได้พบกับแอนนี พี. มิลเลอร์ หรือเดย์ซี มิลเลอร์ หญิงสาวเพื่อนร่วมชาติจากเมืองสเกอเนคตาดี รัฐนิวยอร์ค ซึ่งกำลังเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อนในยุโรปกับมารดาและน้องชาย ด้วยอุปนิสัยที่ไม่เหมือนหญิงคนใด ทั้งความตรงไปตรงมาและไม่ทำตัวตามธรรมเนียมทำให้เขาหลงเสน่ห์เธอแต่ผู้คนรอบตัวเขาต่างพากันมองว่าเธอไม่ใช่ผู้หญิงที่ดีเพราะเที่ยว “ระริกระรี้” สนิทสนมกับชายหนุ่มทุกคนอย่างง่ายดาย รวมไปถึงพฤติกรรมที่เพิกเฉยต่อธรรมเนียมปฏิบัติของสังคมซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวอเมริกันชั้นสูงรับไม่ได้ เฟรดเดอริกต้องเผชิญกับความกดดันจากคติของสังคมความรู้สึกของหัวใจตนเองและตัวตนของเดย์ซี ว่าแท้จริงแล้วเธอคือหญิงสาวใสซื่อ อ่อนเดียงสาและรักอิสระ หรือเป็นหญิงสาวที่จงใจหว่านเสน่ห์และเร่รักกันแน่ ว่ากันว่าการมาเยือนเจนีวาครั้งนี้ของเขาจึงเป็น “การศึกษา” อย่างหนักของเขาในอันที่จะพาตัวเองเข้าถึงบทสรุปของหัวใจตนเองและความรู้สึกนึกคิดของหญิงงามชาวอเมริกันผู้ตกเป็นจำเลยของสังคม–เดย์ซี มิลเลอร์…


เดย์ซี มิลเลอร์: การศึกษาสองภาค หรือ Daisy Miller: A Study ผลงานของเฮนรี เจมส์ (Henry James) นักเขียนชายชาวอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่ ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารสัญชาติอังกฤษในปี ค.ศ. 1878 ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง ต่อมาตีพิมพ์เป็นหนังสือในปี ค.ศ. 1879 จนทำให้ชื่อของเฮนรี เจมส์เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี ค.ศ. 1974 และดัดแปลงเป็นบทละครวิทยุเพื่อถ่ายทอดทางคลื่นบีบีซีของประเทศอังกฤษในปี ค.ศ. 2017 เดย์ซี มิลเลอร์ เป็นบทประพันธ์ที่ถูกนำไปศึกษาในหลากหลายมิติ ตั้งแต่วิธีการประพันธ์ซึ่งเป็นแบบอย่างให้กับวรรณกรรมอื่นๆ ต่อมา การวิเคราะห์และเรียนรู้ถึงสภาพสังคม เชื้อชาติ ความแตกต่างทางค่านิยมและวัฒนธรรม สิทธิและบทบาทของสตรีในยุคสมัย ฯลฯ แน่นอนว่าชื่อตัวละคร เดย์ซี มิลเลอร์ ยังคงเป็นที่กล่าวถึงด้วยว่าบทบาทของตัวละครยังคงเชื่อมโยงกับโลกปัจจุบันได้อย่างดีแม้ว่าเวลาจะผ่านมากว่าร้อยปีก็ตาม



Daisy Miller
โดย Henry James 
แปลโดย โรเบอต้า เอนกาล๊อก
สำนักพิมพ์ Library House

Latest Story

ไปให้พ้นจากการจ้องจับผิด: การเมืองของการเสพติด สู่ปัญหา “ปีศาจนักสูบ” แห่งมช.

ทำไมคนเราถึงสูบบุหรี่ ?…. ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน.. ที่แน่ ๆ คนสูบบุหรี่คงโดนถามคำถามนี้บ่อยครั้ง แต่อันที่จริงใครสักคนจะสูบบุหรี่เพราะอะไรก็คงจะมีแรงจูงใจหลายอย่างตามอัตวิสัยของแต่ละคน บางคนอาจจะชอบประสบการณ์เวลาตัวเองสูบ สูบเพื่อผ่อนคลาย เสริมสร้างจินตนาการบางห้วงขณะ หรือมันอาจจะไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลอะไรก็ได้ ก็แค่อยากสูบ อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนอยากชวนให้ทุกคนลองพิจารณาดูก็คือ เรื่อง “ภาพจำของคนสูบบุหรี่ในสังคม” คุณคิดว่าสังคมไทย ๆ มีภาพจำกับคนสูบบุหรี่แบบไหน ?