ก้าวใหม่ในการทำงานของ Book Re:public ในปี 2021


หากใครเป็นแฟนคลับของร้านหนังสืออิสระ Book Re:public คงยังจำกันได้ว่าเราเปิดร้านครั้งแรกเมื่อปี 2011 ที่ สาขาคันคลอง จนย้ายมาที่ สาขาถนนกองบิน 41 (ปี2015 – 2019) และในครั้งที่ 3 ณ เวลานี้ เราได้ย้ายมาอยู่ที่ ซอยวัดอุโมงค์ แม้ขนาดของร้านจะเล็กลงกว่าเมื่อก่อนมาก แต่ไม่ใช่อุปสรรคในการสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ ของพวกเราในปี 2021 นี้

ย้อนกลับไปในช่วงเวลา 8 ปีก่อนหน้านี้ สังคมเชียงใหม่มีแนวโน้มของการตื่นรู้ในประเด็นทางสังคมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

ก้าวแรกของ Book Re:public เราจึงมีความตั้งใจที่จะสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ให้กับคนรุ่นใหม่ในเมืองเล็กๆ แห่งนี้ จากคำถามและข้อจำกัดต่างๆ ของการเข้าถึงความรู้ ข้อมูลที่หลากหลาย และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ที่ยังจำกัดอยู่แต่ในพื้นที่การศึกษา และในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพ จึงเป็นเป้าหมายแรกของเรา ว่าจะทำอย่างไรให้ความรู้เหล่านั้น กระจายมาสู่พื้นที่อื่นๆได้บ้าง จนนำไปสู่การออกแบบพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในรูปแบบของร้านหนังสือ ที่มีพื้นที่สำหรับจัดงานเสวนาวิชาการ ซึ่งได้คัดสรร หมุนเวียนเนื้อหาให้เข้ากับกระแสความสนใจของคนในสังคมในแต่ละช่วงเวลา ด้วยวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญเนื้อหาด้านต่างๆ ทั้งการเมือง ,ศิลปะวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์คู่ขนาน ,ความหลากหลายทางเพศ , กลุ่มชาติพันธุ์ และประเด็นอื่นๆ อีกมากมายให้กระจายมาสู่พื้นที่เชียงใหม่ในบรรยากาศพื้นที่นอกห้องเรียน ทำให้หลายคนที่เคยมาร่วมฟังเสวนาที่ร้านเรามักจะได้พบกับกลุ่มผู้ฟังหลากหลายอาชีพ และช่วงอายุวัย

ส่วนหนึ่งของ Poster ประชาสัมพันธ์กิจกรรมงานเสวนาที่จัดขึ้น

นอกจากเวทีเสวนาที่จัดขึ้นอย่างเป็นประจำ สิ่งหนึ่งที่เราทำควบคู่มาด้วยคือหลักสูตรการเรียนรู้ที่พัฒนาเป็นขึ้นมาเฉพาะตัว ทั้งห้องเรียนประชาธิปไตย และห้องเรียนดีเบต ในตอนนั้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญ ที่จะสร้างองค์ความรู้ ฝึกกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลและสร้างพื้นที่การถกเถียงแลกเปลี่ยนในกับคนรุ่นใหม่ ตั้งแต่ปี 2012  ถึง 2015

จนมาถึงปี 2019 – 2020 เราได้ลดกิจกรรมเวทีเสวนาลง เนื่องจากบรรยายกาศของการกระจายองค์ความรู้ ในยุคปัจจุบันทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ง่ายมากขึ้น มีเวทีเสวนาที่หน่วยงาน และองค์กรต่างๆ จัดขึ้นเกือบทั่วทุกมุมในสังคมไทย รวมทั้งในโลกออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น 

และการทำกิจกรรมรูปแบบโครงการฝึกอบรมมากขึ้น ซึ่งถูกพัฒนามาจาก โครงการห้องเรียนประชาธิปไตย และ ห้องเรียนดีเบต จนเป็นโครงการ “Human ร้าย Human Wrong” และ “คิด space”

Human ร้าย Human Wrong

  • โครงการฝึกอบรมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน ผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้วยกระบวนการศิลปะ ที่จะดึงเอาศักยภาพ ทักษะ องค์ความรู้ของผู้เข้าร่วมฝึกอบรมมาใช้ในการเรียนรู้และทำความเข้าใจประเด็นทางสังคมที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในมุมมองที่เชื่อมโยงกับประเด็นสิทธิมนุษยชนที่แต่ละคนสนใจ มาผลิตเป็นผลงานศิลปะเพื่อสื่อสารบนพื้นที่สาธารณะ
  • โครงการ Human ร้าย , Human Wrong เป็นโครงการฝึกอบรวมระยะยาว ปีละ 1ครั้ง ใช้เวลา 3 เดือน และ 1 เดือนในการศึกษาและผลิตผลงานตามความสนใจของสมาชิกแต่ละคน

คิด space

  • โครงการฝึกอบรมหลักสูตรการคิดเชิงวิพากษ์ โดยมีเป้าหมายหลักคือเปลี่ยนแปลงระบบจัดการเรียนรู้ในรูปแบบเดิม ไปสู่ห้องเรียนที่มีส่วนร่วมและสร้างสรรค์ และสังคมแห่งการพูดคุย ถกเถียงอย่างเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของเราคือ กลุ่มครู ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการศึกษา นักเรียน นักศึกษา และนักกิจกรรม
  • โครงการ คิด space จะออกแบบ workshop ให้ตรงตามสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายต้องการ และเงื่อนไขของกลุ่มเป้าหมายที่มีความเฉพาะ ดังนั้นจึงมีระยะเวลาการจัดกิจกรรมที่แตกต่างกันไป


ในปี 2021 นี้ เราจึงเน้นการจัดฝึกอบรมกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างการตื่นรู้วัฒนธรรมการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์
และการถกเถียงอย่างเป็นเหตุเป็นผล บนประเด็นสังคมที่หลากหลาย บนพื้นฐานหลักสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนสามารถมีอิสระภาพทางการแสดงออกความคิดเห็น

และ ฝากติดตามกิจกรรมต่างๆ ตลอดปีนี้ของเรากันต่อไป


Latest Story

ไปให้พ้นจากการจ้องจับผิด: การเมืองของการเสพติด สู่ปัญหา “ปีศาจนักสูบ” แห่งมช.

ทำไมคนเราถึงสูบบุหรี่ ?…. ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน.. ที่แน่ ๆ คนสูบบุหรี่คงโดนถามคำถามนี้บ่อยครั้ง แต่อันที่จริงใครสักคนจะสูบบุหรี่เพราะอะไรก็คงจะมีแรงจูงใจหลายอย่างตามอัตวิสัยของแต่ละคน บางคนอาจจะชอบประสบการณ์เวลาตัวเองสูบ สูบเพื่อผ่อนคลาย เสริมสร้างจินตนาการบางห้วงขณะ หรือมันอาจจะไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลอะไรก็ได้ ก็แค่อยากสูบ อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนอยากชวนให้ทุกคนลองพิจารณาดูก็คือ เรื่อง “ภาพจำของคนสูบบุหรี่ในสังคม” คุณคิดว่าสังคมไทย ๆ มีภาพจำกับคนสูบบุหรี่แบบไหน ?