ยืมอ่าน-ยืนหยุดขัง มุมยืมหนังสือที่เปิดทำการเป็นเวลา 1 ชั่วโมง 12 นาที

จากกิจกรรมยืนหยุดขังที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ดำเนินมาจนถึงวันที่ 10 ที่ลานหน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ นอกจากกิจกรรมหลักที่ประชาชนยืนสงบนิ่งในทุกๆวันช่วงเวลา 5 โมงเย็นเป็นต้นไป สิ่งที่เรามักจะสังเกตเห็นเมื่อไปร่วมกิจกรรม คือการยืนอ่านหนังสือของผู้คนหลากหลายช่วงอายุ หลากหลายเนื้อหาความสนใจ 

จากการเข้าไปสอบถาม หลายคนที่ยืนอ่านหนังสือบอกว่า ทุกวันจะมีกล่องลังกระดาษที่บรรจุหนังสือหลากหลายประเภทวางไว้อยู่มุมหนึ่งของลานฯ ให้คนที่มาร่วมกิจกรรมได้ยืมอ่านขณะที่ยืน และนำไปคืนเมื่อเวลา 1 ชั่วโมง 12 นาที สิ้นสุดลง 

ซึ่งเจ้าของไอเดีย “ยืมหนังสือ” ช่วงของการทำกิจกรรมยืนหยุดขังคือ

หมอมีน”และ “ซู่หมู” จากสมาชิกของผู้เข้าร่วมกิจกรรมยืนหยุดขัง  มาสู่การสร้างสรรค์กิจกรรม “ยืมอ่าน -ยืนหยุดขัง” เกิดจากความตั้งใจที่อยากจะเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนหนังสือให้คนที่มาร่วมยืนได้อ่านหนังสือในช่วงเวลา 1 ชั่วโมง 12 นาที

เริ่มต้นไอเดีย “ยืมอ่าน -ยืนหยุดขัง”

ซู่หมู :

เรามาร่วมกิจกรรมยืนหยุดขังตั้งแต่ช่วงแรก โดยส่วนตัวเราเป็นคนสนใจ และสังเกตการใช้พื้นที่สาธารณะในการทำกิจกรรมของผู้คน  แล้วเห็นว่ากิจกรรมยืนหยุดขังที่เกิดขึ้นบริเวณลานสามกษัตริย์มีพัฒนาการเป็นไปตามธรรมชาติโดยตัวเอง ทั้งคนยืนที่มาเพิ่มขึ้น กิจกรรมที่ทำระหว่างยืนก็มีคนเอา podcast มาฟังบ้าง หาหนังสือมาอ่านบ้าง เราเลยไปชวน ‘หมอมีน’ มาอ่านหนังสือที่งานนี้ ประจวบเหมาะว่าหมอมีนเป็นคนมีหนังสือเยอะ เลยชวนกันหยิบเอาหนังสือที่มียกใส่กล่องมาตั้งไว้ที่งานให้คนยืมอ่าน

หมอมีน :

เราเอาหนังสือที่เรามีอยู่แล้วในห้องมาให้คนยืมอ่านที่นี่ เรารู้สึกเสียดายถ้าปล่อยหนังสือนอนนิ่งเฉยๆ มันก็ไม่มีใครอ่านต่อ เราเลยอยากส่งต่อหนังสือให้กับคนอื่นๆได้อ่าน ให้มันกลับมามีชีวิตอีกครั้ง มีเรื่องราวใหม่อีกครั้ง

ซึ่งเราคัดเอาหนังสือที่เนื้อหากำลังเป็นที่สนใจ เล่มที่ตอนนี้เขาฮิตอ่านกัน หนังสือการเมือง หนังสือการ์ตูน วรรณกรรม จะเลือกเอาเล่มที่อ่านได้สะดวกในช่วงเวลาทำกิจกรรมยืนหยุดขัง 1 ชั่วโมง 12 นาที บางเนื้อหาในหนังสือเรามองว่ามันเชื่อมโยงกับสถานการณ์การเมืองไทยในเวลานี้ คนจะได้ให้ความสนใจกับการใช้เวลาในการอ่านตรงนี้ด้วย

ความพิเศษของกิจกรรมการอ่านเฉพาะกิจครั้งนี้

หมอมีน

เรามองว่าปัจจุบันสังคมเราหาเวลาอ่านหนังสือไม่ได้ง่ายๆ เท่าไหร่  ด้วยชีวิตที่เร่งรีบ ต้องทำนู่นทำนี่ มันเบียดเวลาที่เราจะมีสมาธิอยู่นิ่งๆ อ่านหนังสือ การออกมาอ่านในกิจกรรมอ่านหยุดขังมันก็ทำให้เกิดความรู้สึกที่มีต่อการอ่านแปลกไป รู้สึกมีความพิเศษบางอย่าง มีความหมายเฉพาะที่เกิดขึ้นในกิจกรรมนี้

หนังสืออยู่ในเส้นทางประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนมาตลอด

หมอมีน : 

อย่างในประวัติศาสตร์การต่อสู้ ตัวอย่างเช่น ท่าทีตอนที่คุณพรทิพย์ มั่นคง อ่านหนังสือในคุก ถ้าทั้งมองในแง่ที่ว่า การถูกคุมขังอาจจะทำให้เรามีเวลาอยู่กับตัวเองหรืออ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งมันคือสัญลักษณ์การต่อต้านบ้างอย่างแฝงอยู่

ส่วนการออกมาอ่านหยุดขัง เราสั่งร่างกายให้หยุดนิ่ง กักขังตัวเองผ่านทางไอเดีย ไม่ใช่พื้นที่ที่เป็นปัจจัยกักขังเรา  การอ่านหนังสือก็กำลังหยุดเราให้อยู่ในพื้นที่ของหนังสือ ให้เราต้องอยู่กับมันในช่วงเวลาที่ทำกิจกรรมนี้ ซึ่งบางช่วงเราหวนนึกถึงพวกเขาที่ถูกขัง ถูกควบคุมอิสระภาพ ต่างกันตรงที่เรามีเวลา เรามีสิทธิเลือกที่จะสั่งตัวเองให้ยืน ให้หยุด และเรามีอิสรภาพหลังจากหมดเวลาสั้นๆ ตรงนี้

กิจกรรมมันพาให้คนที่มาร่วมมีความรู้สึกบางอย่างเชื่อมโยงกัน เชื่อมโยงกับคนในพื้นที่ตรงลานนี้ เชื่อมโยงกับคนที่ถูกขัง 

“ถ้าการเมืองดี” มีผลต่อวัฒนธรรมการอ่าน

ซู่หมู :

เรามองว่าช่วงเวลานี้ที่รัฐใช้อำนาจในการจำกัดให้ประชาชนทำกิจกรรมเรียกร้องสิทธิ์​ หรือเข้าถึงสิทธิ์บางอย่างที่พวกเราควรจะได้รับยากลำบากขึ้น แต่บางคนก็เลือกที่จะทำอะไรบางอย่างในทุกช่วงเวลาที่เราพอจะสามารถเรียกร้อง ปฏิเสธ และขัดขืนอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม สิ่งเหล่านี้มันจึงนำไปสู่การออกแบบกิจกรรม เช่นการออกมายืน 1 ชั่วโมง 12 นาที การเลือกอ่านหนังสือบางเล่มที่เนื้อหามันสอดคล้องกับช่วงเวลาเหตุการณ์การเมือง มันก็กลายเป็นสัญลักษ์ที่ใช้ในการต่อต้านเสริ่มกันไปด้วยเช่นกัน

หมอมีน :

ถ้าเรามองว่าอะไรทำให้ “การเมืองดี” อะไรดีๆอาจจะเกิดขึ้นมาเอง แต่ “การเมืองดี”มันไม่ใช่สิ่งที่อยู่ๆจะเกิดขึ้นมาเอง เราคิดว่าอาจจะต้องเป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่หรือเปล่า การทำลาย  ต่อต้าน วัฒนธรรมเก่าอย่างเดียวมันคงไม่พอ วัฒนธรรมใหม่ที่เราอยากได้อาจจะต้องอาศัยการสร้างร่วมกัน เป็นปฎบัติการของภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ปฎิสัมพันธ์กัน ให้เกิดเป็น “การเมืองดี” ในความหมายและความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

ในวัฒนธรรมการอ่านก็เช่นกันเราก็ต้องสร้างมันขึ้นมา ด้วยความรู้สึกว่าสิ่งที่ทำมันเป็นเสรีภาพโดยตัวของมันเอง เราก็จะใช้ท่าทีของการเคารพในสิทธิเสรีภาพโดยอัตโนมัติ ให้กลายเป็นท่าทีกระบวนการต่อต้านรัฐ และการอ่านไปด้วย เรียกร้องเสรีภาพไปด้วยก็ไม่ใช่เรื่องผิด

วัฒนธรรมการใช้พื้นที่สาธารณะ กับ วัฒนธรรมการอ่าน

ซู่หมู :

เรามักจะเห็นว่ารัฐ หรือหน่วยงานราชการมีสำนึกการใช้พื้นที่สาธารณะไปกับการทุ่มงบทำให้พื้นที่เป็นเหมือนพร็อพประดับ หรือเป็นแค่อีเว้นท์ชั่วคราว มันทำให้ประชาชนใช้สอยประโยชน์จากพื้นที่ได้น้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่มีนโยบายสนับสนุนพื้นที่สาธารณะชัดเจน ประเทศเราถือว่ายังมีการออกมาใช้พื้นที่เป็นเปอร์เซ็นที่น้อย

การออกมาทำกิจกรรมอ่านอ่านหยุดขัง ก็เป็นอีกหนึ่งการสร้างวัฒนธรรมการใช้พื้นที่สาธารณะเช่นกันแต่มันก็ย้อนแย้งกับการอ่าน หรือการใช้พื้นที่ที่มันควรจะเป็น อย่างตอนนี้ถ้ามายืนเกิน 50 คน เจ้าหน้าที่เขาก็ไม่ให้ยืนละ เพราะมีมาตรการณ์ควบคุมโรค การใช้พื้นที่ของประชาชน กลายเป็นสิ่งที่ขัดแย้งต่ออำนาจของรัฐ รัฐเองเลยเข้ามาจัดการ ตีกรอบการใช้พื้นที่สาธารณะไปโดยปริยาย กลายเป็นว่าใครกันแน่คือเจ้าของพื้นที่สาธารณะ ทิศทางของสำนึกการใช้พื้นที่มันไม่ไปด้วยกัน

หมอมีน : 

ประเด็นน่าสนใจที่ว่า การอ่าน กับการใช้พื้นที่สาธารณะในแง่หนึ่งมันก็เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกัน ซึ่งการอ่าน หรือการอ่านในใจ มันเป็นกิจกรรมที่ค่อนข้างส่วนตัวมากๆ แต่การที่เราเอาหนังสือมาอ่านในพื้นที่สาธารณะในสถานการณ์นี้ เรากำลังโหยหาความเชื่อมโยง การสร้างวัฒนธรรมรวมหมู่กับผู้คนมากขึ้น 

เพื่อตั้งคำถามว่า การอ่านส่วนหนึ่งนั้นไม่ควรถูกพลักให้เป็นเรื่องส่วนตัวหรือเปล่า? ปรากฎการณ์ตั้งแต่อดีต การไปม็อบ การชูหนังสือในม็อบ เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าคนโหยหาการเชื่อมต่อกับผู้คนมากขึ้น แม้ว่าการอ่านจะเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ คนก็พยายามที่จะเชื่อมต่อกันให้ได้

จริงๆมันก็เป็นส่วนหนึ่งของเจตจำนงแรงกล้าในการต่อต้านอำนาจรัฐ ของประชาชนในลักษณะการรวมหมู่ หรือ collective มากขึ้น


สำหรับชาวเชียงใหม่ที่ไปร่วมยืนหยุดขัง สามารถตามหามุมหนังสือ ยืมอ่านหยุดขังในบริเวณลานหน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ได้ตั้งแต่ช่วง 5 โมงเย็น เราหวังว่ากิจกรรมเล็กๆที่เกิดขึ้น จะส่งต้องเป็นแรงบรรดาลใจและกำลังใจในการต่อสู้ของภาคประชาชนในทุกระดับ


Latest Story

Kenduri Seni Patani 2024 เทศกาลศิลปะเชื่อมประเด็นวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม – การเมือง – และชุมชนหลากหลายภูมิภาคมาจัดแสดงในปัตตานี

เทศกาลศิลปะนานาชาติ Kenduri Seni Patani 2024  : ภายใต้แนวคิด “ก่อนอุบัติ และหลังสลาย” ส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ภัณฑารักษ์ ” เทศกาลศลปะ Kenduri Seni Patani 2024 ภายใต้แนวคิด “Before birth and