ฝึกคิดเชิงวิพากษ์ และดีเบต กับค่าย “คิด space รุ่นที่ 1”

ในช่วงเดือน กันยายน ถึง ธันวาคม 2020 ที่ผ่านมา พวกเรา ทีมงาน “คิด space” ได้เปิดตัวโครงการคิดเชิงวิพากษ์ในรูปแบบค่ายฝึกอบรมแบบเต็มกระบวนการให้กับกลุ่มนักศึกษาจากสถาบันระดับอุดมศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้ชื่อโครงการ คิด Space รุ่น 1” ซึ่งสมาชิกโครงการประกอบด้วย นักศึกษาจากหลากสาขาวิชาและสถาบัน ได้แก่ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ศิลปะ การออกแบบ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และแพทยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

แม้สมาชิกรุ่นที่ 1 จะมีความต่างทางด้านพื้นฐานวิชาและองค์ความรู้ แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนสนใจและต้องการร่วมกัน คือการฝึกฝนและพัฒนาศักยภาพด้านการคิดเชิงวิพากษ์ รวมไปถึงเครื่องมือการจัดการความคิดที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน

ก่อนเริ่มจะเริ่ม “คิด” 

ก่อนเริ่มค่ายคิด space ครั้งที่ 1 พวกเราได้สำรวจหัวข้อและประเด็นทางสังคมที่คนรุ่นใหม่สนใจ พร้อมไปกับการทำความรู้จักพวกเขา และแนะนำโครงการ ผ่านการสัมภาษณ์กลุ่มกับอาสาสมัครนักศึกษาจากสถาบันระดับอุดมศึกษาต่างๆในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้พวกเราได้เห็นและเรียนรู้ถึงมุมมองเกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่ใกล้ตัวตั้งแต่ระดับในครอบครัว ชุมชน รั้วมหาวิทยาลัย ไปจนถึงสังคมประเทศ เช่น ปัญหาการบริหารและจัดการทั่วไปในมหาวิทยาลัย ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่มีต่อนักศึกษา ครอบครัว และสมาชิกในสังคม ความรุนแรงในครอบครัว เสรีภาพในการแสดงออก และการเมืองไทย เป็นต้น

จากการสำรวจหัวข้อและประเด็นทางสังคม สู่การพัฒนาออกมาเป็นหลักสูตรและกิจกรรมโดยทีมงาน กิจกรรมการเรียนรู้ในเวิร์คช็อปนี้ ประกอบด้วย

  • การคิดเชิงวิพากษ์ ข้อถกเถียง และตรรกะวิบัติ
  • การวิเคราะห์ปัญหาด้วยเครื่องมือ Problem Tree
  • การดีเบต

จากกระบวนการข้างต้น สมาชิกโครงการได้เรียนรู้เนื้อหาที่เป็นหัวใจหลักว่าด้วยการคิดเชิงวิพากษ์ไปพร้อม ๆ กับพัฒนาทักษะการฟัง การพูด เพื่อการสื่อสารอย่างมีคุณภาพ นอกจากนี้ พวกเขายังได้เติมเต็มความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดและประเด็นว่าด้วยสิทธิมนุษยชนจาก อ.ดร.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล 

กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของสมาชิก คิด Space รุ่น 1 เกิดขึ้นในขณะที่พวกเขานำความรู้และทักษะที่ได้ มาฝึกใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้พวกเขาได้เปิดกว้างทางความคิด ได้ทำความเข้าใจ วิเคราะห์ วิพากษ์และถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมที่หลากหลาย ได้แก่ เกมส์และความรุนแรง การคุกคามทางเพศในโลกจริงและโลกออนไลน์, กฎหมายรองรับการการุณยฆาต, ขนส่งสาธารณะที่ไม่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น 

หลังจากได้เรียนรู้และฝึกฝนทักษะจากเวิร์คช็อปแล้ว ในท้ายโครงการ สมาชิกและทีมงานร่วมกันจัดเวทีดีเบตในญัตติ เรียกว่าคุกคามทางเพศหรือไม่ ต้องดูที่เจตนา” ซึ่งสมาชิกแต่ละคนได้รับผิดชอบตามบทบาทหน้าที่ในเวทีนี้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น ผู้ดีเบตฝ่ายเสนอ ผู้ดีเบตฝ่ายค้าน กรรมการ ผู้ช่วยกรรมการ ไปจนถึงพิธีกรและผู้ช่วยจัดกิจกรรม

ทุกคนได้นำเอาองค์ความรู้ เครื่องมือต่าง ๆ มาใช้ในการเตรียมตัวก่อนการดีเบตจะเกิดขึ้นบนเวทีดีเบต จะเห็นว่าทุกคนได้ใช้ไหวพริบในการจับประเด็น สามารถจัดการข้อมูลเพื่อนำเสนออย่างเป็นเหตุเป็นผลในเวลาที่จำกัด รวมถึงมีพัฒนาการของบุคลิกและการพูดในที่สาธารณะที่ดีขึ้น ซึ่งมาจากการทำการบ้าน การเตรียมตัวอย่างตั้งใจของเหล่าสมาชิกนั่นเอง

พวกเรายังได้ ‘อาจารย์ฟาง จิรดา ณ สุวรรณ‘ ผู้เชี่ยวชาญด้านการฝึกอบรมดีเบตมาเป็นกรรมการร่วมในการตัดสินดีเบตในครั้งนี้ ทำให้ทีมงานและสมาชิกโครงการได้เรียนรู้จากคำแนะนำ ข้อเสนอเพื่อปรับปรุง ทั้งในด้านเนื้อหา ระเบียบกติกา รวมไปถึงบุคลิกภาพ ก่อนจบกิจกรรมเวทีการดีเบตในครั้งนี้

‘อาจารย์ฟาง จิรดา ณ สุวรรณ’

ความคิดที่เปลี่ยนผ่าน พัฒนาการของพวกเรา คิด space รุ่น 1

ข้อคิดเห็นจากสมาชิก หลังจากเข้าร่วมฝึกฝนการคิดเชิงวิพากษ์และดีเบต

“โบลิ่ง

นักศึกษาปี 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

“ก่อนเข้าร่วมโครงการมีความกังวลกับทักษะการพูด การสื่อสารสิ่งที่คิดในหัวให้ผู้อื่นเข้าใจ พอเข้าร่วมเวิร์คช็อปก็รู้สึกว่า จากที่เมื่อก่อนรู้สึกซึมๆ เวลาเจอคอมเม้นท์จากอาจารย์ แถมยังไม่กล้าโต้แย้ง ในตอนนี้มีความกล้าที่จะสร้างข้อถกเถียง หรือโต้แย้งกับอาจารย์ตอนนำเสนองานในชั้นเรียนได้ดีขึ้น เวิร์คช็อปครั้งนี้ทำให้ได้เจอเพื่อนใหม่ กิจกรรมเป็นกันเองและทำให้เราได้ทักษะหลาย ๆ ด้าน”

โบลิ่ง – สมาชิก คิด space รุ่น 1

เท่

นักศึกษาปี 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

“ตอนนั้นกำลังหาเวิร์คช็อปพัฒนาทักษะตัวเอง รู้สึกตื่นเต้นในเนื้อหาเกี่ยวกับ Critical Thinking บวกกับเห็นเพื่อนๆสนใจกิจกรรมนี้กันเยอะ พอได้มาเวิร์คช็อปรู้สึกว่าได้เรียนรู้ ขั้นตอนการวิเคราะห์ ได้ลึก และรอบได้ขึ้น ซึ่งหลักสูตรแบบนี้น่าจะมีสอนในโรงเรียนนะครับ เพราะมีประโยชน์มากๆ”

เท่ – สมาชิก คิด space รุ่น 1

“ข้าวฟ่าง”

นักศึกษาปี 3 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

“มาเวิร์คช็อปคนเดียว เพราะเพื่อนร่วมสถาบันไม่มาด้วย กลัวว่าจะตามสมาชิกคนอื่นไม่ทัน คิดไม่ทัน กังวลว่าต้องมีประเด็นอะไรดี หรือเตรียมอะไรไปก่อนถึงจะเรียนได้อย่างราบรื่น เมื่อเข้าร่วมเวิร์คช็อปที่เพื่อนๆ มีข้อคิดเห็นที่หลากหลายจากองค์ความรู้ที่แตกต่างเพราะพวกเราต่างหลากหลายที่มา เรารู้สึกว่ามันท้าทายอย่างมาก แต่กลับเป็นข้อดีที่ทุกคนเอามุมมอง ความรู้ที่แต่ละคนถนัด หรือสนใจมาถกเถียงกัน ทำให้เราได้ความรู้หลายแง่มุมมากยิ่งขึ้น”

ข้าวฟ่าง – สมาชิก คิด space รุ่น 1

แม้ว่าสมาชิกต้องใช้พลังงานในการคิดและฝึกฝนทักษะอย่างมากจนทำให้ทุกคนหมดแรงในแต่ละวันที่พบกันตลอดระยะเวลาของการฝึกอบรม  แต่ทีมงานได้เห็นความสนใจและกระตือรือร้นที่จะสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้และตั้งคำถามอย่างสร้างสรรค์ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ตั้งแต่ต้นจนสิ้นสุดโครงการเราได้เห็นพัฒนาการรวมไปถึงศักยภาพของสมาชิก คิด Space รุ่น 1 น่าสนใจและน่าติดตามอย่างยิ่ง ว่าพวกเขาจะนำความรู้และทักษะเหล่านี้ไปต่อยอดในการเรียนและชีวิตประจำวันให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเองและสังคมรอบข้างอย่างไร


ข้อมูลเพิ่มเติม

Latest Story

ไปให้พ้นจากการจ้องจับผิด: การเมืองของการเสพติด สู่ปัญหา “ปีศาจนักสูบ” แห่งมช.

ทำไมคนเราถึงสูบบุหรี่ ?…. ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน.. ที่แน่ ๆ คนสูบบุหรี่คงโดนถามคำถามนี้บ่อยครั้ง แต่อันที่จริงใครสักคนจะสูบบุหรี่เพราะอะไรก็คงจะมีแรงจูงใจหลายอย่างตามอัตวิสัยของแต่ละคน บางคนอาจจะชอบประสบการณ์เวลาตัวเองสูบ สูบเพื่อผ่อนคลาย เสริมสร้างจินตนาการบางห้วงขณะ หรือมันอาจจะไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลอะไรก็ได้ ก็แค่อยากสูบ อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนอยากชวนให้ทุกคนลองพิจารณาดูก็คือ เรื่อง “ภาพจำของคนสูบบุหรี่ในสังคม” คุณคิดว่าสังคมไทย ๆ มีภาพจำกับคนสูบบุหรี่แบบไหน ?