‘แสงสว่าง ปัญญา และการลงทัณฑ์ฯ’ คนโง่เท่านั้นที่เชื่อว่าจะห้ามความคิดของมนุษย์ได้ ​

‘แสงสว่าง ปัญญา และการลงทัณฑ์ฯ’ คนโง่เท่านั้นที่เชื่อว่าจะห้ามความคิดของมนุษย์ได้ ​

Alfred North Whitehead เคยพูดอย่างฉูดฉาดทำนองว่า แนวคิดทางปรัชญาตะวันตกก็เป็นเพียงเชิงอรรถของเพลโต นักปรัชญากรีกคนสำคัญที่มีชีวิตอยู่เมื่อราวๆ 400 ปีก่อนคริสตกาล ไม่ต้องบอกก็รู้ได้เองว่าต้องมีคนร่วมถกเถียงกันกว้างขวางทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อคำกล่าวข้างต้น จะเป็นเชิงอรรถหรือไม่ ประเด็นที่เราเห็นจากคำพูดนี้ก็คือสายธารความคิดของมนุษย์มีความต่อเนื่อง ต่อยอด และพัฒนาผ่านกาลเวลา แม้แต่ความคิดใหม่ๆ ก็อาจมีร่องรอยของความคิดที่เคยมีใครสักคนคิดเอาไว้แล้วเมื่อหลายร้อยหรือหลายพันปีก่อน ‘แสงสว่าง ปัญญา และการลงทัณฑ์ ประวัติความคิดฝรั่งเศสจากศตรวรรษแห่งเสรีภาพสู่การล่มสลายของมนุษยนิยม’ โดยพิริยะดิศ มานิตย์ เป็นหนังสืออีกหนึ่งเล่มที่ยืนยันประเด็นข้างต้น แม้ว่าจะมุ่งเน้นเฉพาะในประเทศฝรั่งเศสก็ตาม พิริยะดิศใช้วิธีการเล่าเรื่องไล่ตามลำดับเวลาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 จนถึงศตวรรษที่ 20 แต่ละตอนจะปูด้วยบริบทเรื่องราวของศตวรรษนั้นๆ และตามด้วยความคิดของนักคิดนักปรัชญาที่มีอิทธิพลในยุคนั้นๆ เสมือนเป็นตัวแทนของแต่ละยุค ซึ่งจะช่วยให้คนอ่านเห็นการส่งต่อและวิวัฒน์ของความคิดในสังคมฝรั่งเศสว่ามีที่มา ที่ไปอย่างไร แต่ละความคิดยอมรับแล้วต่อยอด หรือว่าคัดค้านแล้วแตกกิ่งก้านใหม่ของตน มันแสดงให้เห็นว่ากระทั่งความคิดใหม่ที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดเดิมก็ล้วนต้องการจุดตั้งต้นเพื่อโต้แย้ง เปรียบได้กับรากของไม้ใหญ่ที่เติบโต แตกกิ่งก้าน ผลิใบ ออกผล เมื่อผลนั้นตกสู่เนื้อนาดินที่ไม่จำกัดเสรีภาพในการคิด มันย่อมเติบโตได้เองโดยไม่จำเป็นต้องเหมือนต้นแม่
 
การที่พิริยะดิศตั้งตนที่ศตวรรษที่ 16 เพราะมันเป็นช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการหรือยุคเรอแนสซองส์ ปรัชญากรีกที่เคยถูกฝังกลบหรือถูกผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคริสต์ศาสนากลับมามีอิทธิพลอีกครั้ง มุ่งหน้าสู่ความเป็นมนุษยนิยมที่มีเหตุผล, เสรีภาพ, ความเท่าเทียม และปัจเจกเป็นเสาหลักในการค้ำจุน ผนวกกับกระแสการปฏิรูปศาสนาที่เกิดขึ้นโดยมาติน ลูเธอร์ พลังของคริสต์ศาสนาที่ครอบงำยุโรปมาตลอดยุคกลางจึงอ่อนแรงลง
 
สายธารความคิดของชาวฝรั่งเศสดำเนินต่อเนื่องจนถึงศตวรรษที่ 18 ซึ่งเกิดเหตุการณ์ที่สร้างผลสะเทือนไปทั่วโลกนั่นคือการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 ล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก่อตั้งสาธารณรัฐ “ยังถือเป็นการสถาปนาฝรั่งเศสในฐานะรัฐสมัยใหม่โดยมีคำขวัญ ‘เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ’ เป็นเครื่องชี้นำทางความคิด ค่านิยมในระบอบเก่า ได้แก่ การสยบยอม การรู้จักที่ต่ำที่สูง การเคารพพระบิดา ถูกล้มลางไปโดยสิ้นเชิง”ถูกเรียกขานว่าเป็นศตวรรษแห่งแสงสว่างที่ผู้คนลุ่มหลงการแสดงความคิดเห็น อันเป็นผลจากวิวาทะระหว่างพวกนิยมกรีกโบราณและพวกทันสมัย จุดนี้จะเห็นสิ่งที่ผมย้ำแต่ต้นว่าแม้ความคิดเก่าจะถูกฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งก็ต้องเผชิญความท้าทายจากความคิดใหม่ แล้วแตกดอกออกผลเป็นอีกชุดความคิดหนึ่งเพื่อเผชิญความท้าทายอีกครั้งในอนาคต
ดังเช่นดิเดโรที่เคยเชื่อในแนวคิดกษัตริย์นักปราชญ์ (philosopher king) ของเพลโต สุดท้ายเขาก็หันหลังให้โดยกล่าวว่า
“การปกครองตามอำเภอใจโดยเจ้าผู้ยุติธรรมและรู้แจ้ง อย่างไรเสียก็เป็นการปกครองที่เลว คุณธรรมต่างๆ ของพระองค์เป็นสิ่งเย้ายวนที่อันตรายที่สุด พระองค์ทำให้ประชาชนไม่มีสิทธิ์จะเลือกว่าต้องการหรือไม่ต้องการพระองค์”
 
พอถึงศตวรรษที่ 19 ฝรั่งเศสยังต้องเผชิญความวุ่นวายในประเทศของตนอย่างต่อเนื่องจนเกิดความเหนื่อยล้า แปรเปลี่ยนเป็นความคิดทางการเมือง 3 กลุ่มหลักคือสังคมนิยม, ชาตินิยม และเสรีนิยมประชาธิปไตย ซึ่งต่างก็มีนักคิดเด่นๆ ในแต่ละกลุ่ม เช่น ในกลุ่มสังคมนิยมมีปิแอร์-โจแซฟ พรูดง นักอนาธิปไตย ผู้ซึ่ง… ‘ปฏิเสธการที่มนุษย์บูชามนุษย์ด้วยกันเอง เพราะเมื่อบุคคลใดกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การถูกบังคับให้ต้องบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ถือเป็นการลิดรอดเสรีภาพแห่งความเป็นมนุษย์’
 
เห็นได้ว่าตั้งแต่ศตวรรษที่ 16-19 ความคิดของฝรั่งเศสมีจุดร่วมกันที่มนุษย์เป็นผู้มีเหตุผลและสติปัญญาซึ่งจะนำไปสู่สังคมที่สงบสันติในที่สุด ทว่า ความเชื่อชนิดนี้ก็ถูกทำลายย่อยยับจากสงครามโลกทั้งสองครั้ง ศตวรรษที่ 20 จึงถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘ศตวรรษแห่งการหลุดพ้นจากภาพลวงตา’ เกิดแนวคิดอันมีสีสันมากมายที่ตั้งคำถามต่อเหตุผล ความดีงามของมนุษย์ ความไร้สาระในชีวิต และอื่นๆ
 
สำหรับผมหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เพียงบอกเล่าประวัติศาสตร์ความคิดของฝรั่งเศสเท่านั้น มันยังสะท้อนว่ามนุษย์ไม่เคยสถิตย์นิ่งกับความคิดใดความคิดหนึ่งต่อให้ถูกกดปราบด้วยอำนาจศาสนาจักร เมื่อถึงจุดหนึ่งความคิดใหม่ๆ จะงอกงามขึ้นมาเสมอต่อให้สังคมนั้นๆ พยายามจำกัดเสรีภาพเพียงใดก็ตาม
 
ตรงกันข้าม ยิ่งจำกัดเสรีภาพในการคิด พลังอำนาจนั้นจะยิ่งถูกท้าทายจากความคิดที่ต้องการกดปราบ เพราะความคิดเป็นสิ่งที่อยู่ภายในซึ่งอำนาจรัฐมิอาจหยั่งรู้ถึง ความคิดจึงมิอาจถูกทำลายได้ด้วยอำนาจใดๆ
…มีเพียงคนโง่เท่านั้นที่เชื่อว่าจะห้ามความคิดของมนุษย์ได้
 
review โดย
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
แอดมินฯ เพจ WanderingBook

Latest Story

ไปให้พ้นจากการจ้องจับผิด: การเมืองของการเสพติด สู่ปัญหา “ปีศาจนักสูบ” แห่งมช.

ทำไมคนเราถึงสูบบุหรี่ ?…. ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน.. ที่แน่ ๆ คนสูบบุหรี่คงโดนถามคำถามนี้บ่อยครั้ง แต่อันที่จริงใครสักคนจะสูบบุหรี่เพราะอะไรก็คงจะมีแรงจูงใจหลายอย่างตามอัตวิสัยของแต่ละคน บางคนอาจจะชอบประสบการณ์เวลาตัวเองสูบ สูบเพื่อผ่อนคลาย เสริมสร้างจินตนาการบางห้วงขณะ หรือมันอาจจะไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลอะไรก็ได้ ก็แค่อยากสูบ อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนอยากชวนให้ทุกคนลองพิจารณาดูก็คือ เรื่อง “ภาพจำของคนสูบบุหรี่ในสังคม” คุณคิดว่าสังคมไทย ๆ มีภาพจำกับคนสูบบุหรี่แบบไหน ?