บันทึกบทเรียนจากห้องเรียน ร้าย, Human Wrong 4
การเรียนรู้ครั้งใหม่ของพวกเราชาว Human ร้าย Human Wrong รุ่นที่ 4 เริ่มขึ้นในช่วงท้ายปี 2020 ปีแห่งการค้นหา และสัมผัส ‘ความเป็นมนุษย์’ ยังคงเป็นหัวใจหลักการเรียนรู้ของพวกเรา ในสังคมที่ทุกอย่างขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว ข้อมูลข่าวสารจากผู้คนมากมายไหล่บ่าเข้ามาปะทะเราตลอดเวลา ผัสสะการรับรู้แห่งยุคสมัยถูกทำให้โฟกัสอยู่เพียงช่วงเวลาสั้นๆ ด้วยเทคโนโลยีต่างๆรอบตัว จนอดที่จะตั้งคำถามไม่ได้ว่า เราหลงลืมความละเอียดละออของ ‘ผัสสะ’ การรับรู้ที่เป็นความสามารถพื้นฐานที่ติดตัวเราไป และจะทำอย่างไรให้เราสัมผัสความหลากหลายของมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้งขึ้น
ปีนี้ Human ร้าย Human Wrong จึงพาสมาชิกทุกคนหวนกลับมาทำความเข้าใจ “ผัสสะ” ที่เป็นเครื่องมือการรับรู้ของมนุษย์ เพื่อเรียนรู้ ทำความเข้าใจ เรื่องราว “ความเป็นมนุษย์” ในแง่มุมที่แตกต่างออกไป
เราเปิดด้วย workshop แรก ด้วยหัวข้อ “ผัสสะ : เครื่องมือการรับ(เรียน)รู้สังคมและวัฒนธรรม” โดย อาจารย์ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมกับคำถามเริ่มต้นก่อนเข้าบทเรียนของแรกของวันนี้ ว่า
หากการเข้าถึง “ความเป็นมนุษย์” คือ การทำความเข้าใจมนุษย์
ผ่านพฤติกรรมที่เก็บจากการสังเกตและจดจำ
แล้ววิธีการเข้าใจมนุษย์ด้วยการสังเกต ไม่ว่าจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง
หรือการยืนอยู่เส้นรอบวงด้านนอกแล้วมองเข้าไปนั้น
เพียงพอหรือไม่กับการเข้าถึงและเข้าใจ ?
แน่นอน การสัมภาษณ์คงไม่ลึกซึ้งหากไร้ซึ่งสัมผัส และการรับรู้ถึงความอร่อยบนสีหน้าของผู้ให้ข้อมูล คงไม่ถึงแก่นแท้ของมันหากผู้สัมภาษณ์ไม่ลองชิมมันด้วยลิ้นตัวเอง ในปริมณฑลของงานภาคสนามของศาสตร์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยานั้น ให้ความสำคัญกับการ “เข้าถึงข้อมูล” เพื่อได้มาซึ่งข้อเท็จจริง ประกอบกับการตั้งคำถามที่มีต่องานภาคสนามเดิม ๆ ที่ว่า การสัมภาษณ์ในทางใดทางหนึ่งก็ตามเพียงพอต่อการได้มาซึ่งข้อมูลหรือไม่ จึงนำไปสู่การเอาความเป็นธรรมชาติของมนุษย์เข้ามาเป็นเครื่องมือในการจัดเก็บด้วย
ด้วยเหตุนี้ผัสสะจึงถูกสถาปนาขึ้นมาเป็นเครื่องมือในภาคสนาม โดยถูกนำไปใช้เป็นหนทางในการศึกษา เข้าใจ และสร้างความรู้เกี่ยวกับชีวิตผู้คน ทั้งนี้ผัสสะเองก็มิได้จำกัดแต่เพียงการศึกษาด้านมานุษยวิทยาแต่เพียงอย่างเดียว มุมทางด้านภูมิศาสตร์ สังคมวิทยา มนุษยศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ล้วนแต่จะเป็นศาสตร์ที่นำไปใช้ศึกษาในโลกทัศน์ของตนเองทั้งสิ้น นั่นหมายความว่า “ผัสสะ” จึงไม่ใช่ทฤษฎีที่เกิดขึ้นมาใหม่ หากแต่เป็นหนทางและเครื่องมือในการเข้าใจโลกมานานแล้วในแวดวงวิชาการ โดยบทความนี้จะเป็นการบรรยาย อธิบายวิธีการใช้ “ผัสสะ” ไม่ว่าจะเป็น การได้ยิน,การรับรส, การมองเห็น,การได้กลิ่น และการสัมผัส ซึ่งสิ่งเหล่านี้ อ.ปิ่นแก้วนำมาเป็นหัวข้อตั้งต้นที่จะนำไปสู่เครื่องมือในการเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ และการชักไปยังรากฐานของการนำผัสสะมาใช้เป็น “อุปกรณ์” ภาคสนามของงานมานุษยวิทยาอีกด้วย
กาลเปลี่ยนผัน ลิ้นเปลี่ยนรส รสชาติผันความหมาย : มานุษยวิทยาว่าด้วยการรับ(รู้)รส
“ในช่วงระยะเวลาอันยาวนานของประวัติศาสตร์ การรับรู้เชิงผัสสะของมนุษย์นั้นเปลี่ยนแปลงไปพร้อม ๆ กับการเปลี่ยนแปลงวิถีแห่งการดำรงอยู่ ทั้งในแง่อากัปกิริยาทางการรับรู้เชิงผัสสะที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมา เครื่องมือที่ใช้ในการรับรู้ ก็ไม่ได้ถูกกำหนดโดยธรรมชาติเท่านั้น หากแต่โดยสภาพการณ์ทางประวัติศาสตร์ด้วยเช่นกัน” (Walter Benjamin,1969)
ตัวอย่างของข้อความข้างต้นสามารถสรุปได้ว่า ประวัติศาสตร์ได้สร้างให้การเปลี่ยนแปลงในด้านการรับรู้เชิงผัสสะ ในช่วงเวลาหนึ่ง “รสชาติ” อาจจะเคยถูกจัดจำแนกแบ่งไว้สำหรับเฉพาะกลุ่มทางวัฒนธรรม และในช่วงเวลาหนึ่งซึ่งผ่านมาแล้วรสชาติ “ดังกล่าว” ได้เปลี่ยนไปอยู่ในลิ้นของทุกกลุ่มทางวัฒนธรรม
งานของซิดนี่ย์ มิ้นซ์ ที่ศึกษาเกี่ยวกับน้ำตาล ความหวาน และอำนาจ ใน Sweetness and Power (1995) งานของเธอได้อธิบายถึงพลวัตรของความหวานที่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา งานของเธอได้เล่าถึงการเดินทางของน้ำตาลตั้งแต่ไร่อ้อยจนถึงปากคน งานของเธอได้พูดถึงการบุกรุกพื้นที่ของคนขาว เพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมน้ำตาลในแถบแคริบเบียน โดยกวาดต้อนแรงงานทาสแอฟริกาเข้าระบบการผลิตเพื่อป้อนน้ำตาลสู่อุปสงค์ของโลกตะวันตก
งานของมิ้นซ์ ได้อธิบายถึงการรับรู้ความหวานที่แตกต่างจากปัจจุบัน ความหวานในงานของมิ้นซ์เป็นความหวานที่ไม่ได้จากรับรู้ในเชิงธรรมชาติ ในโลกตะวันตกน้ำตาลเคยถูกจัดอยู่ในหมวดเครื่องเทศกลุ่มอบเชย ก่อนจะมาเป็นส่วนผสมของ “ยา” เพื่อใช้รักษาโรคกระเพาะ และเครื่องประดับของชนชั้นสูงในโลกตะวันตก มาถึงตรงนี้เราจะพบว่า “น้ำตาล” ไม่ได้เป็นสิ่งของที่สามารถเข้าถึงได้ในทุกระดับชนชั้น แต่เมื่อกาลเวลาได้แปรเปลี่ยนไปอีกขั้น การผลิตแบบอุตสาหกรรมได้ถือกำเนิดขึ้นและได้สร้าง “แรงงาน” ในระบบสายพานการผลิตที่ต้องใช้กำลัง น้ำตาลก็ถูกทำให้กลายเป็นส่วนผสมของชาและเครื่องดื่มต่างๆ ที่ให้พลังงานและแรงในการผลิต วัฒนธรรมการกินที่แพร่หลายได้เปลี่ยนน้ำตาลที่เป็น “สิ่งของ” ที่จำกัดเฉพาะกลุ่มชนชั้นสูง ได้กลายเป็น Mass ในทุกชนชั้น และจากที่เคยเป็นยารักษาโรค ความหวานที่มาจากน้ำตาลเองก็ยังสร้างโรคอีกมากมายในวงการแพทย์ปัจจุบัน
ความหวานเฉพาะกลุ่ม กลายเป็นความหวานที่อยู่ลัทธิบริโภคนิยมที่สามารถบริโภคในทุกกลุ่ม ความหวานกลายเป็นสิ่งในสังคมสมัยใหม่ และความหวานที่ถูกนิยมในอาหาร ก็สร้างแรงงานขนาดใหญ่ในสายพานการผลิตอีกด้วย
นี่คือตัวอย่างขนาดย่อมที่สะท้อนให้เห็นว่า ผัสสะของมนุษย์ไม่ได้หยุดนิ่ง หากแต่มีการสร้างความหมายใหม่ขึ้นมาเรื่อย ๆ ดังนั้นจึงสามารถสรุปได้ว่า ผัสสะของเรานั้น มีเงื่อนไขเฉพาะทางประวัติศาสตร์และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
ฉันมองมัน VS มันถูกมอง : วัฒนธรรมทางสายตากับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ
เมื่อตอนสมัยเราเป็นเด็ก เราคงเคยไปเที่ยวสวนสัตว์และเฝ้ามองสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในกรง พลางตั้งคำถามถึงความแตกต่างด้านกายภาพและการกระทำ หลายคนอาจยืนมองพร้อมกับเสียงในหัวว่า “มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ” ด้วยเพราะมนุษย์มีศักยภาพด้านสมองและวัฒนธรรมที่มีอารยะ และสัตว์พวกนั้นคือ “เดรัจฉาน” ที่แตกต่างจากพวกเรา มันไม่มีวัฒนธรรมและคิดสร้างตู้เย็นเองไม่ได้ มันจึงไม่ควรประเสริฐ แต่คำถามก็คือว่า เราจัดแบ่งประเภทของ “ความประเสริฐ” นี้ได้อย่างไรกันเล่า ?
คำตอบก็คือ เมื่อวิทยาศาสตร์ได้เข้ามามีบทบาทต่อกระบวนทัศน์และการให้เหตุผล มนุษย์ได้ใช้ความเป็นวิทยาศาสตร์ปลีกแยกตัวเองจากสิ่งมีชีวิตทั้งมวล มนุษย์เอาตนเองเป็นองค์ประธานในการตัดสินและเปรียบเทียบ ผ่านการรับรู้จากผัสสะการมองเห็น ด้วยเหตุนี้การมองจึงนำไปสู่ฐานอำนาจของการรับรู้ การกำหนดตนเองและสายตาเป็นองค์ประธานได้นำไปสู่การจัดแบ่งประเภทของสิ่งต่าง ๆ บนโลก มนุษย์อาศัยการรับรู้ผ่านการมองดีดตัวเองจากโลกธรรมชาติไปสู่โลกทางวัฒนธรรมในที่สุด
ดังนั้น สวนสัตว์จึงเป็นตัวอย่างที่ทำให้เราเข้าใจได้ว่า สัตว์ที่ถูกจัดวางในกรงถูกกำหนดผ่านสายพันธุ์ การดำรงชีวิต หรือแม้แต่รูปร่าง เหล่านี้ล้วนมาจากอำนาจในการมองและจัดแบ่งประเภทโดยสายตามนุษย์ทั้งสิ้น วิทยาศาสตร์ได้ขังกรงพวกมันทั้งในกรงจริง ๆ และในกรงขององค์ความรู้ ที่พวกเขาสร้างขึ้นมา
ไม่เพียงแต่สัตว์เท่านั้นที่ถูกมองแล้วนำไปสู่การจัดประเภท ในโลกของคนผิวขาวพวกเขาได้ใช้ตัวเองเป็นตัวเปรียบเทียบความต่าง ผัสสะการมองถูกใช้เป็นเครืองมือที่มีอำนาจ กำหนดกลุ่มคนที่เป็นชาติพันธุ์หรือชนเผ่าดั้งเดิม ตามแหล่งที่อาณานิคมได้เดินทางไปถึง สิ่งที่พวกเขาได้ใช้เป็นเกณฑ์ในการจัดจำแนกคือ ระดับทางปัญญาที่ต่ำกว่า มีวัฒนธรรมที่ค่อนข้างป่าเถื่อน หรือ Primitive รวมไปถึงการมีผัสสะที่ไม่เท่าถึงคนขาวนั่นเอง มาตรเกณฑ์ในการจำแนกนี้ค่อนข้างไม่เหลือความเป็นมนุษย์อยู่เลยในสายของคนขาว ด้วยเหตุฉะนี้พวกเขาจึงตั้งตนเองว่าเป็นผู้มีอารยะและศิวิไลซ์ ความมีอารยะดังกล่าวก็มาจากอำนาจในการมองเห็นและให้ความหมายของพวกเขา
ฆานโสตศึกษา : ตัวอย่างการใช้ผัสสะด้านกลิ่นและเสียงในการศึกษาสังคม
“Real secret of class distinctions in the West. Could be summed up in four frightful words… The lower classes smell”
(George Orwell, 1937)
The lower classes smell หรือแปลตรงตัวว่า “ ชนชั้นล่างมีกลิ่น” คือ คำกล่าวของ จอร์จ ออร์เวลล์ ที่สะท้อนให้เห็นว่า กลิ่นถูกใช้ในการจำแนกแยกแยะสถานะทางชนชั้นได้ ซึ่งในปัจจุบัน การใช้กลิ่นเพื่อแยกสถานะทางสังคมยังคงปรากฏให้เห็นได้ชัด กลิ่นน้ำหอมชาแนลแท้ บ่งบอกความหรูหราและรสนิยมของผู้ใช้ ในขณะเดียวกันกลิ่นตัวที่สาบคลุ้งด้วยควันไฟและกลิ่นหญ้า ก็เป็นตัวบอกถึงพื้นคนไปยังที่อยู่อาศัยและการใช้ชีวิตของคนคนนั้นได้อย่างดี
งานศึกษาของ Quercia และคณะ (2016) ได้ใช้สื่อมีเดียต่าง ๆ ที่ปรากฏคำที่เกี่ยวกับกลิ่น กอปรกับการสัมภาษณ์ผู้คนตามท้องถนนเพื่อระบุกลิ่นและการให้ความหมายของคนนั้นๆ ว่ามีความสำคัญหรือเกี่ยวพันกับชีวิตพวกเขาอย่างไร งานศึกษานี้ได้เก็บข้อมูลจากหลายเมืองในยุโรป ทั้งยังทำให้เกิดพจนานุกรมกลิ่นของเมืองเล่มแรกอีกด้วย เป็นงานศึกษานี้จึงที่ค่อนข้างแปลกใหม่ ที่กลิ่นต่าง ๆ ได้บอกเล่าเรื่องราวของชีวิตและวัฒนธรรมของคนในเมือง ทั้งยังมีผลต่อความทรงจำ การจำแนก และการเข้าใจคนรอบข้างมากยิ่งขึ้น จากการดมกลิ่นเมือง เช่น ผู้คนรับรู้ว่ากลิ่นที่ปนเปื้อนในอากาศ (สารพิษและเคมี) มากจากพฤติกรรมของพวกเขาเอง หรือ กลิ่นดิน จะให้ความรู้สึกที่ดีต่อผู้คนในลอนดอน นั่นอาจเป็นเพราะพวกเขาทุกคอนกรีตบุกรุกพื้นที่ที่เป็นดินไปมาก จนทำให้กลิ่นดินเป็นกลิ่นที่โหยหาและรู้สึกดีที่ได้กลิ่นมัน เป็นต้น
ส่วนภูมิทัศน์ที่สร้างโดยเสียง ในวงการมานุษยวิทยาของไทย งานศึกษาของ โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ที่ทำการศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ส่วย ชาวกูย ใน จ.สุรินทร์ โดยเน้นการเก็บข้อมูลผ่านเสียงของผู้หญิงชาวส่วยคนหนึ่ง ที่มีอาชีพเป็นคนเลี้ยงช้าง โดยเขาได้ใช้การเก็บข้อมูลเสียงในชีวิตประจำวันที่เธอต้องประสบ เช่น เสียงช้าง เสียงคนข้างบ้านทะเลาะกัน เสียงรถ ฯลฯ เสียงต่าง ๆเหล่านี้ได้ทำให้เธอเกิดภาวะความเครียด และปัญหาด้านสุขภาพจิต ส่งผลให้เธอนอนไม่หลับ และต้องพาตัวเองเข้าพบจิตแพทย์ โรคทางการแพทย์ดังกล่าวไม่อาจจะสืบเสาะสาเหตุที่แท้จริงได้ จึงมีเพียงการจ่ายยาตามอาการเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม การรักษาดังกล่าวแพทย์ก็ไม่ได้ซักประวัติไปถึงสภาวะแวดล้อมของเธอว่าในแต่ละวันนั้น เธอต้องพบเจอกับเสียงหรือปัญหาอะไรมาบ้าง การจ่ายตามพยาธิสภาพของโรคจึงทำให้เธอมีปัญหาด้านสุขภาพอื่น ๆ ตามมาจากการทานยาจิตเวชที่ยาวนานกว่าสองปี
เมื่อ โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ได้เข้ามาสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลเธอ จึงพบว่า ในความเป็นจริงแล้ว เธอป่วยจากภาวะความเครียดจากการใช้ชีวิตทำงานและชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจจะมาจากการที่เธอตกเป็นชายขอบในสังคม (จากอาชีพคนเลี้ยงช้าง) และเสียงรบกวนทั้งหมดเป็นตัวจุดปะทุความเครียดในตัวเธอออกมา เมื่อมาถึงตรงนี้ เราจะพบว่าการวิเคราะห์ปัญหาของ “เธอ” ในเรื่องราว ไม่ได้เกิดจากการรับรู้ผ่านการฟัง (reception) แต่เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการที่เรารับรู้และเข้าใจ (perception) ดังนั้น ชาติพันธุ์นิพนธ์จึงต้องอาศัยการรับฟังและรับรู้ไปพร้อม ๆ กันด้วย
อีกงานวิจัยหนึ่ง ของ Sarah Mekdjian ที่บันทึกการรับรู้เรื่องราวการข้ามเขตพรมแดนชาติของผู้อพยพที่ถูกแปลงการนำเสนอออกมาเป็นแผนที่แห่งเสียง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งการวิจัยที่ทำความเข้าใจผู้คนที่ปฏิสัมพันธ์กับอำนาจของรัฐที่ท้าทายเส้นเขตแดนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งผู้คนที่ข้ามเขตแดนไปมาระหว่างตุรกีกับกรีซ ไม่ได้จดจำความเป็นเขตแดนดั่งที่แสดงบทแผนที่ทางภูมิศาสตร์อ้างอิงเพียงอย่างเดียว แต่มันเกิดปฎิสัมพันธ์ของการแสวงหาหนทางการเอาชีวิตรอด ซึ่งข้อมูลที่เกิดจากการลงภาคสนามของซาร่าได้ออกแบบการเก็บข้อมูลผ่านการบันทึกความทรงจำที่มีต่อพรมแดนที่เคลื่อนไหว (mobile frontier) ผู้อพยพได้เล่าเรื่องและอธิบายในลักษณะของชุดเหตุการณ์ต่างๆกับเธอ เช่น เจอกับตำรวจ, ความโชคดี โชคร้าย, ความรู้สึกต่อการเผชิญอันตรายหรือความตาย รวมไปถึงการบันทึกในมิติของผัสสะและอารมณ์ จากคำบอกเล่าของผู้ข้ามพรมแดนเช่น ร้อน หนาว หิว เครียด อ่อนแรง หวาดกลัว และบทสนทนาที่เกี่ยวข้องกับความเป็นธรรม และไม่เป็นธรรม
Mapping Mobile Borders: Critical Cartographies of Borders Based on Migration Experiences, Sarah Mekdjian, 2015
ที่มา : https://www.antiatlas-journal.net/01-re-drawing-the-experience-art-science-and-migratory-conditions/
การได้ยินได้ฟังคำบอกเล่าเหล่านี้ ซาร่าแปลงข้อมูลเป็นแผนที่แห่งเสียงมากกว่า 50 แผ่น แตกต่างกันไปในแต่ละการสังเคราะห์ข้อมูลที่นำมาแสดงออกเป็นภาพ เป็นงานวิจัยที่แปรงกระบวนการรับรู้ผ่านทางผัสสะนำไปสู่การขยายมิติการรับรู้เรื่องราวบริเวณพรมแดนไปมากกว่าการทำความเข้าใจผ่านเพียงงานเขียน
ทั้งนี้ในด้านภูมิทัศน์ที่สร้างโดยเสียงยังคงมีอีกหนึ่งประเด็นคือ เสียงที่เป็นลักษณะ Noise vs. Voice กับการตั้งคำถามว่า การจำแนกเสียงที่เป็นประโยชน์ (Voice) กับ เสียงที่ไร้ประโยชน์ (Noise) มีความแตกต่างกันอย่างไร นักวิชาการบางท่านก็ให้คำตอบว่า แท้จริงแล้ว เสียงทุกเสียงบนโลกไม่ได้มีความเป็น Noise หรือ Voice มันขึ้นอยู่กับว่าเสียงนั้นมันถูกพูดโดยใคร และพูดให้ใครฟัง นี่เองจึงเป็นจุดชี้ชัดว่า เสียงมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจและการตีความตามแต่บุคคลผู้เป็นองค์ประธาน (Subject) ของการตัดสิน และแม้ว่าเสียงบางเสียงจะดังขนาดไหนก็ตาม หากผู้ฟังไม่ได้ให้ค่าหรือความสนใจเสียงนั้นจะกลายเป็น Noise ในทันที และในปัจจุบันนี้ยังคงมีเสียงอีกจำนวนมากที่ถูกปัดให้เป็นเสียงรังควานและไร้การเหลียวแล
ตัวแบบผัสสะกับการคิดใหม่เกี่ยวกับผัสสะ
“ Aesthetics is born as a discourse of the body”
(Terry Eagleton)
เชื่อแน่ว่าหลายคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ หากมีคำถามที่ว่า สุนทรียศาสตร์คืออะไร? คำตอบส่วนใหญ่คงหนีไม่พ้น ความงาม ศิลปะ ไม่ก็การเข้าถึงทางจิตใจ… มนุษย์รับรู้ความหมายของสุนทรียศาสตร์ (Aesthetics) ในนิยามนี้มาโดยตลอด แต่หากมองในทางนิรุกติศาสตร์ Aesthetics มาจากภาษากรีกโบราณ คือคำว่า Aisthitikosi โดยหมายถึงการรับรู้ทางความรู้สึก ( perceptive by feeling) การรับรู้ดังกล่าวมีความหยั่งลึกและหยั่งรู้มากกว่าการรับรู้ทั่วไป (sensory experience of perception) จึงเป็นข้อสรุปได้ว่า สนามเดิมของการสำรวจสุนทรียศาสตร์ไม่ใช่การรับรู้ในงานศิลปะ แต่หมายถึงการรับรู้เชิงกายภาพของร่างกายจริงด้วย
ด้วยเหตุนี้งานศึกษาของ Constance Classen (1997) จึงพยายามดึงคำว่า Aesthetics ออกจากการนิยามเฉพาะด้านศิลปะ และไม่ผูกขาดความหมายกับความงามเพียงอย่างเดียว ความหมายที่ควรเพิ่มเติมคือ สุนทรียศาสตร์ต้องหมายถึงการรับรู้และเข้าใจ (cognition) ที่ผ่านการกระทำทางการลิ้มรส รับฟัง มองเห็น ได้กลิ่น หรือประสาททั้งหมดของร่างกายด้วย
นอกจากนี้ Classen ยังกล่าวอีกว่า จักรกลในโลกสมัยใหม่ได้พรากประสบการณ์เชิงผัสสะออกจากร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น ร่างกายของแรงงานในระบบอุตสาหกรรมได้ลดทอนความรู้สึกบางอย่างออกไป พวกเขาไม่ได้สัมผัสการทำงานในขั้นตอนบางอย่าง เพราะเครื่องจักรในโลกสมัยใหม่ได้เข้ามาทำงานแทนร่างกายของพวกเขา โรงงานอาหารกระป๋องไม่ต้องการแรงงานที่เข้ามาชิมรสชาติ แต่การกะปริมาณส่วนสผมได้บอกรสชาติที่เป็นแบบแผนในการผลิตไปแล้ว ไม่เพียงเท่านี้ประดิษฐกรรมในโลกสมัยใหม่ยังสร้างคุณลักษณะภาวะในโลกใหม่ขึ้นมาด้วย เช่น สภาวะที่มนุษย์มีความล้นเกินหรือด้านชาในความรู้สึกบางอย่างด้วย
ไม่เพียงแต่การนำสุนทรียศาสตร์ออกจากกรอบความหมายเดิม การรื้อฟื้นผัสสะออกจากลัทธิดวงตาเป็นศูนย์กลางของโลกตะวันตก (Western ocularcentrism) ก็ควรจะยกมากล่าวอ้างเช่นกัน เพราะโลกตะวันตกนั้นได้วางรากฐานอารยธรรมของตนเองผ่าน “การมองเห็น” ซึ่งในที่นี้เราได้กล่าวพูดถึงแล้วในตอนต้นของบทความว่าสายตาได้นำมาซึ่งการถักทออำนาจทางสังคมอย่างไร ชาวตะวันตกเชื่อว่าผัสสะการมองเห็นเป็นผัสสะที่บริสุทธิ์ พวกเขาสามารถรับรู้โดยทันทีโดยไม่ผ่านความชอบหรือไม่ชอบ ซึ่งต่างจากกลิ่นและการรับรสที่กระทำการผ่านตัวปัจเจกก่อน ดังนั้น การรับรู้ผ่านการมองเห็นจึงนำไปสู่พัฒนาการทางปรัชญาในโลกตะวันตก ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับการรับรู้ผ่านความสามารถในการมองเห็นอีกด้วย
อำนาจจากการมองเห็นในทัศนะของคนตะวันตก มิได้นำไปสู่การจัดจำแนกทางวิทยาศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังได้สร้างเทคโนโลยีแห่งการมองเห็นขึ้นมาเพิ่มด้วย เช่น กล้องถ่ายรูปหรือกล้องบันทึกต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนถูกนำไปเป็นเครื่องมือในการบันทึกประวัติศาสตร์ และเครื่องมือในการล่าอาณานิคมของชาวตะวันตก เพื่อสร้างความศิวิไลซ์ให้กับตนเอง เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า จักรวรรดินิยมผิวขาวหรือชาวตะวันตก ได้เชื่อมโยงระหว่างการมองเห็น (vision) ระเบียบ และความรู้ ผ่านอุดมการณ์ที่เรียกว่าความรู้สึก ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างของอำนาจและการปกครองก็ว่าได้
แล้วเราจะทำอย่างไรไม่ให้ผัสสะเป็นเครื่องมือลดทอนผู้อื่นอยู่ภายใต้อำนาจการปกครอง ?
การจะให้ผัสสะหลุดจากการเป็นเครื่องมือการมองคนเป็นเพียงวัตถุ อย่างแรกจะต้องออกจากทวิลักษณ์นิยมระหว่างร่างกายกับความคิด กล่าวคือ การที่ฐานคิดแบบตะวันตกได้ครองอำนาจได้ก็คือ ความคิดที่เข้าใจว่าตนเองนั้นดำรงอยู่ ดังนั้น ความคิดจึงถูกแยกออกจากร่างกาย ราวกับว่ามันเป็นความสามารถ ร่างกายเป็นเพียงขวดโหลบรรจุความคิด (ร่างกายกระทำการเองไม่ได้) ในกรอบคิดนี้ร่างกายจึงเป็นเพียง Passive ที่รับรู้อะไรต่าง ๆไม่ได้ ถ้าความคิดไม่รับรู้ ร่างกายก็จะไม่ตอบสนอง หากเราจะกู้ร่างกายขึ้นมาจากกลุ่มพรางความคิดนั้น เราต้องมองร่างกายในมุมใหม่ว่า ร่างกายมิได้เป็นวัตถุแต่เป็นองค์ประธาน (subject) เป็นฐานของการกระทำการ การดำรงอยู่ของวัฒนธรรม ตัวตนและความรู้ หรือที่เรียกกันในทางทฤษฎีว่า “Act of knowing” กล่าวคือ เรารับรู้สิ่งต่าง ๆ บนโลกทั้งแรงโน้มถ่วง ความร้อน ความหิว ผ่านร่างกายที่ตอบสนอง หรือการรู้คิดสมานกาย (embodiment) มิใช่ผ่านความคิดจินตนาการเพียงอย่างเดียว
อย่างที่สองคือ การออกจากทวิลักษณ์ภาษาและร่างกาย กล่าวคือ ในงานมานุษยวิทยาแต่เดิมได้ให้ความสนใจกับวาทกรรมและสัญศาสตร์ หรือการควานหาความจริงจากตัวบท (Logocentrism) ไม่ได้ให้คำตอบของการตั้งคำถามต่อมนุษย์ เพราะชี้จุดไปที่ “รูปแบบภาษา” แต่เพียงอย่างเดียว แต่การเข้าถึง “คำพูด” ในตัวบทหรือ “อุปมา” ในตัวบทต่างหากที่ควรให้ความสำคัญไปด้วย เพราะ ตัวบทสนทนาหรือการพูดนั้น ล้วนเป็นประสบการณ์เชิงกายภาพที่สะท้อน วัตถุ อารมณ์ ความรู้สึก (Multisensory experience) ของมนุษย์ซ่อนอยู่ในนั้นด้วย
การมองเห็นเป็นผัสสะเดียวที่เข้าใจผัสสะอื่น ๆ และเข้าใจโลกของผู้คนได้หรือไม่ ?
คำตอบคือ ไม่… การมองเห็นหรือการสังเกตไม่ได้ช่วยให้จดจำหรือเข้าใจความเป็นมนุษย์ได้อย่างถ่องแท้ หากปราศจากการมองเห็นและการรับรู้ (ไม่ใช่แค่การมองเห็นแต่เป็นการอธิบายต่อสิ่งที่เห็น) แต่การมองเห็นที่เป็น Perception ก็แตกต่างจากการรู้สึกต่อสิ่งที่เห็น หรือ Sensation เพราะ การรู้สึกต่อสิ่งที่เห็นได้ให้ความละเอียดมากกว่าการมองเห็น มันอาจแฝงด้วยจินตนาการ อารมณ์ และความรู้สึกที่ลึกซึ้ง ซึ่งต่างจากการมองเห็นและจดจำเป็นภาพชินตา
นอกจากนี้การรับรู้ผ่านความรู้สึกทั้ง Big 5 senses แล้ว ยังมี Unfamiliar Senses หรือ ผัสสะที่เราไม่คุ้นเคย อาจเป็นเพราะมนุษย์ไม่ได้ให้ความสำคัญกับร่างกายมากนัก แต่จริง ๆ แล้วยังมีความรู้สึกต่อร่างกายในแบบอื่น ๆ เช่น ความรู้สึกเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว (Kinesthesia) การรับรู้ผ่านอากัปกริยาหรือตำแหน่งแห่งที่ผ่านความตึงเครียดของร่างกาย (Proprioception) และความรู้สึกในการกำหนดการทรงตัว (Vestibular Sense) เป็นต้น
เป็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งว่าในสังคมไทย งานศึกษาแนวการรับรู้ผ่านร่างกายนี้มีน้อยมาก อาจเป็นเพราะ โลกทัศน์พุทธแบบไทยให้ความสำคัญกับ “สามัญสำนึก,จิตใต้สำนึก,วิธีคิด” ในการหลุดพ้น เพราะร่างกายเป็นตัวการสำคัญต่อการกระทำทั้งบาปบุญคุณโทษ ร่างกายในโลกทัศน์พุทธจึงต้องถูกเอาชนะผ่าน “การตัดกิเลสด้วยความคิด” เพื่อการเจริญสติสู่นิพพาน และนี่คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เรามีคำอธิบายผัสสะทางร่างกายในแวดวงวิชาการไทยนั้นมีน้อยมาก ?
ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างของการอธิบายทฤษฎีและการนำไปใช้ศึกษาสังคมและวัฒนธรรม ผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า ‘ผัสสะ’ เชื่อแน่ว่าหลายคนอาจเคยใช้การรับรู้ไม่ว่าทางใดทางหนึ่งเก็บเกี่ยวสาระและสถานการณ์ในสังคมมาบ้าง แต่คงไม่เคยใช้มันจริงจังกับการนำมาสังเคราะห์และวิเคราะห์เป็นข้อมูล แล้วนำเสนอปัญหาสังคมออกมา ใครจะไปรู้ว่าวันหนึ่งเราอาจเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกผ่านการเอาลิ้นแตะก้อนหินเพียงครั้งเดียวก็เป็นได้….