เปิดห้องเรียน Human ร้าย : 2 วัน 1 คืนที่หมู่บ้านปกาเกอะญอ หนองเต่า และการทำความเข้าใจความเป็น “เรา” ทีละน้อย

เปิดห้องเรียน Human ร้าย Human Wrong : 2 วัน 1 คืนที่หมู่บ้านปกาเกอะญอ หนองเต่า และการทำความเข้าใจความเป็น “เรา” ทีละน้อย

Human ร้าย, Human Wrong 3 workshop ครั้งที่ 1 : ความรู้พื้นฐานมานุษยวิทยา


ความเป็นมนุษย์, สวนคนขี้เกียจ, ป่าชุมชน, สิทธิมนุษยชน, ปกาเกอะญอนักเล่าเรื่อง คือคีย์เวิร์ดคร่าวๆ ของการลงพื้นที่ครั้งแรกของโครงการ Human ร้าย Human Wrong ปีที่ 3 ในคอนเซ็บเรื่องความเป็นมนุษย์

เพื่อไปสู่การทำความเข้าใจเรื่องของตัวเราและปัจจัยรายล้อมที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ เราจึงเริ่มจากการศึกษาคนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่าง ทั้งเรื่องภาษา การแต่งกาย หรือวัฒนธรรมที่หลากหลายในหมู่บ้านปกาเกอะญอหนองเต่า อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกับอาจารย์จักรกริช สังขมณี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อาจารย์จักรกริช สังขมณี

น้องๆ สมาชิกในโครงการ 13 คน นั่งล้อมวงที่บ้านไม้ไผ่ที่ด้านหลังเราเป็นภูเขากว้างและสวนเขียวของโอชิ จ่อวาลู จะเรียกว่าเขาเป็นปกาเกอะญอรุ่นใหม่สายลิเบอรัลที่บ้านหนองเต่าก็ว่าได้ ซึ่งโอชิจะอยู่ให้คำปรึกษาและแนะนำเกร็ดเล็กน้อยของคนที่นี่ไปตลอด 2 วัน 1 คืน

 ด้วยความที่แต่ละคนยังแปลกหน้าแปลกตากันอยู่มาก กิจกรรมแรกจึงเป็นการจับคู่แล้ววาดหน้าเพื่อน สืบสาวราวเรื่องคร่าวๆ ว่าแต่ละคนมาจากไหน อายุเท่าไหร่ ทำงานอะไร การแนะนำตัวเป็นไปอย่างสนุกสนาน แต่ละคนจับประเด็นมนุษย์แปลกหน้าตรงหน้าในมุมที่แตกต่างกันเพราะสุดท้ายแล้วนี่คือการลงพื้นที่เพื่อออกจาก comfort zone ของตัวเอง หรือการมองตัวเองผ่านสายตาของคนอื่นเพื่อนำไปสู่การเข้าใจมนุษย์ในมิติที่กว้างขึ้น

พะตีจอนิ เจ้าของสวนคนขี้เกียจผู้เดินทางรอบโลก

สปอยล์ตอนจบเวิร์คช็อบครั้งแรกของฮิวแมนร้ายฯ สักเล็กน้อยว่า หงส์ หนึ่งในผู้ร่วมโครงการทิ้งท้ายสิ่งที่ได้จากการลงพื้นที่ในสวนคนขี้เกียจว่าประสบการณ์จากพะตีเปิดมุมมองที่ว่าความสุขมีได้หลายอย่าง เหมือนกับความหลากหลายของสวนหลายฝั่ง เราถูกสอนมาในสมการเดียวว่าต้องทำงานเท่านั้นถึงจะได้สิ่งที่ต้องการ แต่พะตีจอนิเดินทางไปรอบโลกมาแล้วโดยที่ไม่ต้องขายของให้ได้เยอะๆ และเป็นการเดินทางเพื่อการต่อสู้ด้านสิทธิอีกด้วย

หลังฝนตกชุ่มฉ่ำและกับข้าวมื้อกลางวันที่ประกอบไปด้วยแกงผักกาดจอ น้ำพริกปลาทูกินคู่กับผักห่อวอ ผักหอมละมุนของในรั้วบ้านของคนที่นี่ ชาวแก็งฮิวแมนร้ายเดินเลาะทางตามหมู่บ้าน ห้อยท้ายพะตีจอนิไปยังสวนคนขี้เกียจที่ใครๆ ก็ต้องมาเยือนเมื่อมาที่บ้านหนองเต่า

แดดหลังฝนไม่แผดเสียงมากนัก เราเลี้ยวเข้าไปในสวนคนขี้เกียจจนได้ โดยแต่ละคนถือมือถือและสมุดปากกาเพื่อจดเกร็ดจากปากของปราชญ์เพื่อเป็นข้อมูลไว้ทำงาน  พื้นที่ 7 ไร่เต็มไปด้วยต้นไม้หลายชนิดและวัวควายที่เดินอย่างอิสระ ชายชราในคอสตูมปกาเกอะญอพร้อมมีดคู่ใจเริ่มเล่าว่าแต่ก่อนปลูกพืชเชิงเดี่ยวและเป็นหนี้เป็นสินยุบยับ ทำไปนานๆ จนท้อ เลิกปลูกทุกอย่างและทิ้งสวนไว้ แต่ปรากฎว่าสภาพดินที่ห่างเคมีเริ่มฟื้นฟูขึ้นมา ต้นไม้เติบโต พืชร่าเริง พะตีจึงค้นพบแนวทางในการทำการเกษตรที่รักษาป่าอันหลากหลายแบบนี้เอาไว้

พะตีจอนิ โอ่โดเชา

ต้นไม้แต่ละต้นเองก็มีเรื่องราว เด็กเกิดใหม่ในครอบครัวพะตีจอนิจะต้องนำสายสะดือใส่กระบอกไม้ไผ่ไปผูกไว้กับต้นไม้ในฐานะที่เป็นขวัญของชีวิตใหม่ในป่าเดปอ เชื่อมร้อยวิถีชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งเอาไว้กับธรรมชาติและดูแลทั้งสองสิ่งนี้ไปด้วยกันโดยที่จะไม่มีการตัดต้นไม้เกิดขึ้นเด็ดขาด

บ่ายแก่ๆ ทุกคนเดินเข้าไปนั่งในห้องประชุมเล็กๆ ในสวนคนขี้เกียจ เราคุยกันหลายประเด็น ทั้งความเชื่อเรื่องตาเหลว 7 ชั้น (หวายสานเป็นรูปดาว 7 เหลี่ยม) เลข 7 เป็นตัวแทนของคณิตศาสตร์ที่ศักดิ์สิทธิ์ของปกาเกอะญอเพราะเปรียบได้กับปรัชญาที่เอาไว้สอนลูกหลานให้ศึกษาจากธรรมชาติ หรือเรื่องฟ้าเจ็ดซ้อน ดินเจ็ดชั้นที่ควบรวมสรรพสิ่งทางธรรมชาติเอาไว้ บนฟ้ามีเมฆ หมอก ลม ไฟ เดือน ดาว ดวงอาทิตย์ ในขณะที่ดินมีดิน ทราย หิน ไฟ น้ำ ลม สิ่งมีชีวิต เป็นสรรพสิ่งที่เกี่ยวข้องกันตั้งแต่ตั้งแต่บนลงล่าง

ความสนุกปนงงเกิดขึ้นเมื่อพะตีแจกไม้ไผ่เส้นเล็กให้ทุกคนได้ลองทำกัน ยังมีสัญลักษณ์อีกหลายแบบในห้องประชุมซึ่งยากและซับซ้อนจนต้องนั่งวงกลมปรึกษากันว่ามันทำยังไงกันแน่ แต่ชาวแก็งก็ไม่ย่อท้อที่จะสานต่อให้สำเร็จ บางคนพลิกแพลงไปในรูปแบบของตัวเองจนได้เวลาเดินออกมาสำรวจสวนต่อแบบขยันๆ ก่อนที่แต่ละคนจะแยกย้ายไปทำความรู้จักบ้านของชาวบ้านที่ต้องพักพิงกันในคืนนั้น

ระหว่างทริปแสนสั้นที่มีทั้งแดดและฝนปนกัน พะตีจอนิเล่าเรื่องราวน่าสนใจหลายเรื่อง แต่มีหนึ่งประโยคที่นำไปสู่การตั้งคำถามในวันพรุ่งนี้ และการสร้างสรรค์ผลงานต่อๆ ไป ชายที่เกิดในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 พูดเรียบๆ ว่า

“มนุษย์น่ะเห็นแก่ตัว ยุงกัดก็ว่าจะตายแล้ว ยังจะสร้างกระสุนมายิงกันอีก”

เหล้าบ๊วยและปรัชญาปกาเกอะญอรอบกองไฟ

กวิ๊ และ โอชิ

ทุ่มครึ่งกว่าๆ อากาศเย็นลอยลงต่ำ แต่เรานั่งอุ่นกันรอบกองไฟหน้าบาร์กาแฟของกวิ๊ ปกาเกอะญอรุ่นใหม่ลูกพี่ลูกน้องของโอชิที่จริงจังกับการทำบ๊วยและกาแฟ เหล่าสมาชิกฮิวแมนร้ายฯ เริ่มถามหาเหล้าบ๊วย(จากเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าพี่กวิ๊เป็นมือหนึ่งเรื่องนี้) และเรียงตัวเข้ามานั่งอวดว่าบ้านใครทำเมนูอะไรกันบ้าง 

ฝ่ายแก็งสมาชิกชายในฮิวแมนร้ายฯ เริ่มเปิดก่อนว่าที่บ้านถกกันเรื่องปัญหาชุมชนและตั้งคำถามว่ายุคเปลี่ยนผ่านของวิถีชีวิตแบบปกากะญอจะยังคงความดั้งเดิมได้อยู่หรือเปล่า พิธีกรรมทางจิตวิญญาณที่สืบทอดกันมาจะดำรงอยู่ในมือของคนรุ่นใหม่ได้รอดไหม บ้านอื่นๆ ก็ร่วมสะท้อนปัญหาที่แตกต่างออกมา เช่น บ่นว่าเศรษฐกิจไม่ดี มีการเปรียบเทียบรัฐบาลให้ฟังในวงกินข้าว หรืออีกบ้านหนึ่งก็กังวลเรื่องปัญหายาเสพติดที่เข้ามาในชุมชนที่จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของลูกหลาน

ท่ามกลางวงขนมคบเขี้ยวและชาสมุนไพร แกล้มเหล้าบ๊วยด้วยนิดหน่อย กวิ๊เริ่มเปิดประเด็นเรื่องการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจที่ทำให้พื้นที่เสียหายจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว สุดท้ายถ้าพืชนั้นขายไม่ดีก็ถูกละเลย เกษตรกรก็ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่จากการปลูกสิ่งที่แม้แต่ตัวเองก็ยังไม่ได้กินและไม่มีองค์ความรู้

 หรือวัฒนธรรมของคนปกาเกอะญอที่เริ่มส่งลูกออกไปเรียนในเมืองเพื่อหวังว่าการศึกษาจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต กลายเป็นปัญหาหนี้หมุนเวียนแทนการทำไร่หมุนเวียนที่คนปกาเกอะญอนิยมปฏิบัติกันน้อยลงเรื่อยๆ อาหารการกินเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่นิยมปลูกผักเพราะใช้เวลาเพียง 2-3 เดือน แต่ถ้าเทียบกับบ๊วยหรือกาแฟมันใช้ระยะเวลาและการทดลองที่ยาวนานกว่านั้น

อาจารย์จักรกริชเสริมข้อมูลว่าปัญหาใหญ่ของเกษตรกรไทยคือรัฐบาลไม่เคยส่งเสริมให้แปรรูปผลผลิตให้มีมูลค่ามากขึ้น เกษตรกรเลยต้องเหนื่อยมากขึ้นแต่ได้ค่าตอบแทนเท่าเดิม

“ตัวชี้วัดที่สำคัญของชุมชนคือการเอามื้อเอาวัน(การที่คนในหมู่บ้านช่วยกันลงแรงทำงาน) ถ้าสิ่งนี้หายไปคือสามารถบอกได้เลยว่าชุมชนล่มสลาย ความเป็นชุมชนคือเราแชร์พื้นที่กัน ในด้านของปัจเจกคือเราเป็นบ้านของตัวเองได้ แต่ถ้าสเกลใหญ่ต้องขอแรงคนอื่นเพราะไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยความคิดทางเศรษฐกิจ

เราเคยอยู่ในยูโทเปียที่ใฝ่ฝันและเราผ่านมันไปแล้ว นั่นคือการทำไร่หมุนเวียน ภูมิปัญญาของปกาเกอะญอเป็นของขวัญของเรา แต่ตอนนี้เราเป็นหมากตัวหนึ่งของโลกาภิวัตน์และทุนนิยม”

โอชิกล่าวเรียบๆ ในวงสนทนา จากนั้นการสื่อสารระหว่างผู้มาใหม่กับปกาเกอะญอหัวสมัยใหม่ก็ต่อประเด็นไปอีกยาวไกลในค่ำคืนนั้น

มองคนอื่นเพื่อเห็นตัวเอง

ผมขอใช้ประโยคที่โอชิพูดเมื่อคืนแล้วชอบมากคือบอกว่า ภูมิปัญญาบางอย่างของปกาเกอะญอเป็นของขวัญของเราด้วย ผมไม่แน่ใจว่าคำว่า ‘เรา’ นั้นหมายถึงใคร แต่จริงๆ แล้วมันอาจจะหมายถึงเราทุกคน มันเกี่ยวอะไร แล้วทำไมผมถึงชอบประโยคนี้ ในแง่หนึ่งคือโอชิกำลังพูดถึงภูมิปัญญาของปกาเกอะญอที่เราได้ยินจากหลายคน จากพะตีจอนิ จากกวิ๊ ว่าเขามีความคิด ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกนี้ยังไง เป้าหมายของการที่เราขึ้นมาที่นี่ก็เพื่อว่าเราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับโลกและวิธีคิดของคนอื่น เพราะว่ามันทำให้เราเห็นโลกของเรามากขึ้น”

เช้าวันรุ่งขึ้น เรารวมตัวกันที่บ้านไม้ไผ่ชั้นสองของโอชิอีกครั้ง ก่อนที่จะจากหมู่บ้านหนองเต่าไปคือช่วงเวลาเลคเชอร์เรื่องการศึกษามานุษยวิทยาของอาจารย์จักรกริช อาจารย์ใส่เสื้อปกากะญอสีเอิร์ธโทน เริ่มต้นด้วยประโยคข้างต้น แล้วขยายความว่าหลักการง่ายๆ ของการทำงานเชิงมานุษยวิทยาคือการอาศัย พึ่งพาความรู้ โลกทัศน์ และการใช้ชีวิตของคนอื่น แต่เป้าหมายสูงสุดแล้วการเข้าใจคนอื่นก็เพื่อเข้าใจตัวเราเองด้วยว่าเรามีความสัมพันธ์กับคนอื่นและตัวตนของเราเองอย่างไร

“ที่นี่ยังให้ความรู้สึกว่ามีการอนุรักษ์ความเป็นท้องถิ่นปกาเกอะญอเพราะชาวบ้านมีความผูกพันกับธรรมชาติ คนที่นี่มองป่าเป็นจิตวิญญาณ เป็นทรัพยากรผิดกับที่ผมเรียนเศรษฐศาสตร์ เวลามองพื้นที่ก็จะให้คิดค่าเสียโอกาส คิดว่าทำอะไรกับมันได้บ้าง สร้างโรงแรมได้ไหม เป็นแนวคิดของฝั่งตะวันตกซึ่งจะตรงข้ามกับคนในพื้นที่ ผมมาที่นี่รู้สึกว่าสิ่งที่เรียนมามันก็ทุนนิยมมาก” 

เอิร์ธ หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการเอ่ยขึ้นมาเป็นคนแรก

“ก่อนหน้าที่จะมา ผมไม่ได้มีความสนใจเรื่องชาติพันธุ์เป็นพิเศษ วันๆ ก็ใช้ชีวิตตามโลกข้างล่าง แต่พอขึ้นมาข้างบนรู้สึกว่าเขาทรีตเราดี เกิดความผูกพันบางอย่าง แต่ก็กลัวว่าถ้าผมลงไปข้างล่างแล้วจะกลับเป็นคนเดิมๆ ที่วันๆ ทำอะไรก็ไม่รู้ซึ่งบางอย่างก็ส่งผลกระทบต่อคนที่นี่ด้วยซ้ำ  แต่คิดว่าหลังจากนี้น่าจะทำตัวดีขึ้น”

เท็น อีกหนึ่งสมาชิกสมทบ

“ชาติพันธุ์เป็นสิ่งซึ่งเราสร้างขึ้นมาเหมือนที่เราสร้างว่าอยู่โรงเรียนไหน มีเพศอะไร นับถือศาสนาอะไร มันไม่ใช่ทั้งหมดแต่เป็นส่วนหนึ่ง อยู่ที่ว่าคุณจะเลือกใช้ความเป็นชาติพันธุ์เมื่อไหร่ คุณจะเลือกใช้เพศสภาพคุณเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้นเราหยิบจับองค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้เพื่อมาประกอบสร้าง เราเรียกว่ามันเป็นวัฒนธรรม วัฒนธรรมคือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาทั้งแแบบที่เป็นรูปธรรมและเป็นความรู้ เป็นโลกทัศน์ อย่างเมื่อวานที่เราฟังพะตีจอนิเล่าเรื่องเยอะเลย เรื่องเล่าเหล่านั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม บางอย่างที่พะตีจอนิเล่าให้เราฟังก็น่าสนใจ บางอย่างก็อาจจะเข้าใจยาก เพราะบางเรื่องไม่ affect เราแต่ affect พะตี”

อาจารย์เริ่มจากการอธิบายหลักการกว้างๆ ของการศึกษามนุษย์ให้ฟังว่ามานุษยวิทยาคือศาสตร์ที่ศึกษาความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ เรามีศักยภาพที่จะโอบกอดความหลากหลายเหล่านี้ได้มากขนาดไหน มนุษย์มีความเชื่อที่แตกต่างกันมาก บางคนเชื่อในพระเจ้าหลายองค์ บางคนเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเราคือการพยายามมองให้เห็นการเปิดใจให้เห็นความแตกต่างหลากหลาย และสิ่งที่เรามีร่วมกันเพื่อจะได้แชร์ความเป็นมนุษย์ร่วมกันได้ 

“เมื่อกี้โอชิและผมนั่งตรงนี้ ใครดูเป็นปกาเกอะญอมากกว่ากัน ความเป็นชาติพันธ์เกิดจากอะไร เกิดจากการที่คุณมีการเชื่อมโยงกับคนอื่น ผมก็เชื่อมโยงกับคนปกาเกอะญอ คนอีสาน คนอื่นมากมายเลย การเชื่อมโยงมันทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน อะไรดีก็เอามาใช้ อะไรไม่ดีก็ตัดทิ้งไป ถ้าเรามองคนปกาเกอะญอสมัยนี้กับสมัยก่อน อาจจะมีความแตกต่างกัน 

โอชิใส่เสื้อยืดเหมือนคนข้างนอกเลย ส่วนผมใส่เสื้อปกาเกอะญอที่ดูเหมือนดั้งเดิม แต่ว่ามันเกิดการแลกเปลี่ยนและไม่มีใครเป็นเจ้าของวัฒนธรรมที่แท้จริง คุณก็เหมือนกัน ถ้าคุณอยู่ในหมู่บ้าน คุณก็มีลักษณะแบบหนึ่ง พอคุณเริ่มไปเรียนที่เชียงใหม่คุณก็เริ่มเห็นอะไรมากขึ้น คุณไม่เคยเป็นฮิบฮอบเลยตั้งแต่เกิดมา แต่เมื่อคุณเริ่มไปปฏิสัมพันธ์กับคนที่เป็นฮิบฮอป คุณก็เริ่มเป็นฮิบฮอป แล้วก็อาจจะไม่ต่างอะไรจากคนที่เป็นฮิปฮอปที่อเมริกาเลย”

 วันแรกพะตีจอนิเล่าว่าปกาเกอะญออยู่ที่ระดับความสูงเท่าไหร่ ในทำนองเดียวกัน คนชาติพันธุ์อื่นอาศัยอยู่ตามระดับความสูงของไหล่เขาที่แตกต่างกันไป แต่คนเหล่านี้ก็มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน พวกเขาเดินขึ้นเดินลงไปตามทิวเขาเพื่อที่จะแสวงหาอาหาร ทรัพยากรหรือตามความเชื่อ 

ดังนั้นเมื่อมนุษย์ค้นพบความเหมือน ลำดับต่อไปคือการมองหาความเป็นกลุ่มก้อน  

“ งั้นเราบอกได้ไหมว่าอะไรคือความเป็นเรา อ๋อ ภาษา ความเชื่อ ระบบเครือญาติ วิถีการผลิตและบริโภค สถาปัตยกรรม ตำนานที่เรามี เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งที่มันตกตะกอนลงมาให้เห็นว่าท้ายที่สุดแล้วมนุษย์พยายามที่จะเก็บหรือกลั่นวัฒนธรรมให้มีลักษณะที่เข้มข้นขึ้น บ่งบอกความเป็นตัวตนมากขึ้นท่ามกลางความเหมือนอยู่ตลอดเวลา”

หงส์ถามขึ้นมาว่าถ้าอย่างนั้นชาติพันธ์ุก็เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาเองใช่หรือไม่ 

“ใช่ แต่เราสร้างขึ้นมาเองไม่ได้หมายความว่ามันไม่สำคัญ อะไรก็ตามที่มนุษย์สร้างขึ้นมามีเหตุผลของการสร้าง ทุกอย่างเป็นโครงสร้างของสังคมทั้งสิ้น ทำไมเราถึงสร้างบ้านได้ มานั่งคุยกันดูเหมือนผู้ที่เจริญแล้ว ทำไมเราถึงสื่อสารกันได้โดยมีภาษา ทำไมเราพูดเรื่องศิลปะ สุนทรียะ มนุษย์สามารถที่จะส่งต่อความรู้ สร้างระบบนามธรรมให้เกิดขึ้นได้ผ่านระบบภาษา ระบบสัญลักษณ์ ความเชื่อที่แฝงไว้ในศาสนา นี่คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์อีกต่อไป มนุษย์มีความรู้ที่เก็บและส่งต่อมาผ่านเรื่องราวปรัมปรา ความเชื่อซึ่งสัตว์ส่งต่อแพกเกจความรู้เหล่านี้ไม่ได้”

“ไม่มีใครหรอกที่ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว หรือเติบโตท่ามกลางสูญญากาศ ความเป็นปะกาเกอะญอก็เชื่อมโยงกับสิ่งที่มันเข้ามาหาเขาเช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ การปลีกวิเวกก็อาจจะทำให้เราได้เห็นอะไร การเดินไปในที่ที่ไม่มีใครเดินเข้าไปก็อาจจะได้เห็นอะไร ทุกคนลองเงียบหนึ่งนาทีแล้วดูสิว่าเราจะเจออะไร…เราใช้เซนส์พวกนี้น้อยมากในการเรียนรู้ เป็นเซนส์ที่เราควรใช้ แต่คุณกลับคิดว่าความรู้ต้องมาจากคนที่นั่งอยู่ข้างหน้าใส่เสื้อปกาเกอะญอ การสัมผัสสิ่งต่างๆ ด้วยเซนส์ที่เรามี ด้วยใจ ด้วยประสาทสัมผัสมันทำให้เราตระหนักรู้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า be here now เป้าหมายของการขึ้นมาที่นี่ ถ้าใจเรายังอยู่ที่อื่น กังวลตลอดว่าที่ฉันอัพลงอินสตราแกรม ฉันได้ไลค์เท่าไหร่แล้วมันทำให้เราไม่ได้มาถึงที่นี่อย่างแท้จริง เราไม่ได้ be here now ท้ายที่สุดแล้วเราลงไปเราอาจจะจำอะไรไม่ได้ด้วยซ้ำไป แต่ว่าสิ่งที่อาจจะจำได้คือความรู้สึกเย็น เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้ต่างหากที่จะทำให้เราเรียนรู้ได้

ตอนหลับตาเราได้ยินเสียงรถมอเตอร์ไซค์ เมื่อวานมีพูดถึงรัฐ  นักท่องเที่ยว ระบบการศึกษา กฎหมายที่เขามาจัดการพื้นที่ พูดถึงเรื่องการเคลื่อนย้ายของคนที่นี่ไปที่อื่น เราจะเห็นว่าไม่มีอะไรหยุดนิ่ง แล้วสิ่งเหล่านี้มันท้าทายความเป็นมุนษย์ตลอดเวลาว่าจะจัดการกับมันยังไง”

บทสนทนายามเช้าในคลาสมานุษยวิทยาของอาจารย์ยาวนานไปเป็นชั่วโมง มีการสะท้อนถึงปัญหาของความขัดแย้งทางวัฒนธรรม ทั้งเรื่องคนที่เป็นมังสวิรัติต่อต้านชาวบ้านที่ฆ่าสัตว์ หรือการเอ่ยถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนในแง่มุมของมานุษยวิทยา

หลังจบเลคเชอร์คลาสย่อมๆ การสะท้อนกลับก็มีหลากหลาย ฝน หนึ่งในสมาชิกโครงการบอกว่ารู้สึกได้รับพลังจากการสอนของพะตีจอนิ เรียนรู้ว่าระบบใหญ่ส่งผลกระทบอย่างไรต่อชีวิต และวัฒนธรรมไม่ใช่ภาพที่หยุดนิ่ง เวลามองและศึกษาคนจึงควรนำมาใช้กับตัวเองก่อนตัดสินใจคนอื่นเหมือนกับที่จริงจังบอกว่าจะลดความเป็นปัจเจกลง

 ส่วนแพนด้าที่กำลังเรียนศิลปะอยู่ก็คิดว่าจะกลับไปใช้กระดาษให้น้อยลง นอนปิดไฟเพราะมีประสบการณ์ร่วมในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการเอาตัวรอด รถเกด สมาชิกอีกคนก็เชื่อมโยงกับตัวเองในแง่มุมของการใช้ชีวิตกับธรรมชาติ ความเป็นมิตรและครอบครัวอบอุ่น เอิ๊ก สาวเชียงของก็เกิดไอเดียเรื่องการนำเรื่อง ethical tourism ไปพัฒนาต่อกับธุรกิจที่บ้าน

ทริปสั้นสองวันหนึ่งคืนในการลงพื้นที่ครั้งแรกของชาวแก็งฮิวแมนร้ายฯ อาจจะสั้นเกินไปที่จะศึกษาว่าฮิวแมนที่แท้จริงแล้วมีมิติซับซ้อน หรือควรจะศึกษาในแง่มุมไหนก่อน แต่อย่างน้อยพวกเขาได้เรียนรู้แล้วว่าการเข้าถึงมนุษย์ในพาร์ทที่ลึกซึ้งนั้นต้องใช้เวลาและอาจจะลงเอยด้วยการไม่เข้าใจด้วยซ้ำ และกระบวนการเหล่านี้จะนำไปสู่การเข้าถึงตัวเองทีละน้อยๆ เพราะในขณะที่เราเข้าไปเล่นในสนามทดลองทางวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ หรือการเป็นพหุสังคม ตัวเราเองก็ได้ทดลองเห็นตัวเองในเวอร์ชันที่ต่างออกไป

และนั่นอาจจะหมายถึง “ความเป็นมนุษย์” ที่ becoming ต่อไปไม่อย่างสิ้นสุดในอีกหลายๆ บทตอน


Latest Story

ไปให้พ้นจากการจ้องจับผิด: การเมืองของการเสพติด สู่ปัญหา “ปีศาจนักสูบ” แห่งมช.

ทำไมคนเราถึงสูบบุหรี่ ?…. ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน.. ที่แน่ ๆ คนสูบบุหรี่คงโดนถามคำถามนี้บ่อยครั้ง แต่อันที่จริงใครสักคนจะสูบบุหรี่เพราะอะไรก็คงจะมีแรงจูงใจหลายอย่างตามอัตวิสัยของแต่ละคน บางคนอาจจะชอบประสบการณ์เวลาตัวเองสูบ สูบเพื่อผ่อนคลาย เสริมสร้างจินตนาการบางห้วงขณะ หรือมันอาจจะไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลอะไรก็ได้ ก็แค่อยากสูบ อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนอยากชวนให้ทุกคนลองพิจารณาดูก็คือ เรื่อง “ภาพจำของคนสูบบุหรี่ในสังคม” คุณคิดว่าสังคมไทย ๆ มีภาพจำกับคนสูบบุหรี่แบบไหน ?