Activist art ศิลปะแห่งการต่อสู้- ไม่มีอะไรช่วยคนดูศิลปะได้นอกจากการดู
Human ร้าย, Human Wrong 3 workshop ครั้งที่ 2 : ความรู้พื้นฐานศิลปะกับสิทธิมนุษยชน
ซาเรียใช้นิ้วมือวาดภาพเหล่านั้น บางภาพมีความยาวมากกว่า 10 ฟุตเพื่อสื่อสารการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งความโกลาหลและความนิ่งสงบของภูมิทัศน์ เพื่อให้คนดูเกิดอารมณ์ความรู้สึกแม้ว่าจะไม่เคยเดินทางไปยังสถานที่เหล่านั้นเลย ภาพวาดของเธอจึงขับเน้นความงามมากกว่าความหายนะที่กำลังจะเกิดขึ้นกับโลกเพื่อสร้างความรู้สึกอยากปกป้อง
สุนทรียศาสตร์จากศิลปะสามารถสร้างพลังที่จะทำให้เรามองเห็นซึ่งกันและกันแม้ว่ารูปแบบของมันจะหลากหลายไปตามบริบทสังคมและยุคสมัย งาน activist ที่ใช้กระบวนทางศิลปะเป็นสื่อกับงานศิลปะที่สื่อสารประเด็นแบบ activist จึงเป็นสิ่งที่เหมือนและแตกต่างแม้ว่าจะแยกออกจากกันได้ยาก
อาจารย์ธนาวิ โชติประดิษฐ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ชวนถกเถียงในประเด็นของการสื่อสารประเด็นสังคมผ่านงานศิลปะ ถ้าคนทั่วไปดูงานแล้วไม่เข้าใจ ถือว่าล้มเหลวในการสื่อสารหรือไม่ สุดท้ายอาจจะกลายเป็นคำถามที่ย้อนกลับไปถามตัวศิลปินว่าทำงานไว้ดูกันเองในวงหรือเปล่า เป็น echo chamber (ห้องที่สะท้อนแต่เสียงของตัวเอง) หรือเปล่า ตรงจุดไหนที่ถือว่าศิลปินฉกฉวยผลประโยชน์จากความเดือดร้อนของคนในสังคม
“ก็คือดูกันเองส่วนหนึ่งนั่นแหละ แต่ประเด็นคือเราจำเป็นที่จะต้องใช้มุมมองหรือมาตรวัดแบบเดียวในการดูงานเหล่านี้ไหม หรือว่าศิลปินฉกฉวยเอาประเด็นที่เป็นปัญหามาสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองหรือเปล่า นี่เป็นคำถามชุดที่เกิดขึ้นบ่อยมาก ตั้งแต่เรายังไม่เกิดไปจนตายไปแล้วเกิดใหม่ มันก็ยังคงมีคำถามชุดนี้อยู่”
จากนั้นอาจารย์จึงชวนถกและยกตัวอย่างงานศิลปะที่ไม่ได้ตรงไปตรงมาขนาดนั้น คนทั่วไปไม่ได้เข้าใจขนาดนั้น แล้วถามต่อว่ามันต้องเข้าใจหรือตรงไปตรงมาขนาดไหนถึงจะเรียกได้ว่าเป็นศิลปะที่สะท้อนสังคมได้
ศิลปะยาว แต่ความเข้าใจฉันสั้น
ในช่วงสงครามเย็น soft power เป็นเครื่องมือสำคัญที่องค์กรด้านเศรษฐศาสตร์สังคม โลกทุนนิยมและสังคมนิยมใช้ต่อสู้ผ่านวัฒนธรรมหรือการศึกษา ผ่านมาหลายทศวรรษแล้ว soft power ก็ยังคงเป็นอำนาจอ่อนที่แข็งแรงเมื่อใดก็ตามที่ประเทศต่างๆ อยากมีบทบาทในทางการเมืองและเศรษฐกิจในต่างพื้นที่เพราะมันสามารถแทรกเข้าไปสร้างพื้นที่ในใจของคนได้ทีละนิดๆ โดยไม่ต้องใช้กองทัพทหารเข้ามาปรามปรามหรือขู่ให้กลัวด้วยวิธีการแบบอำนาจนิยม
ศิลปะจึงเป็นหนึ่งใน soft power สำคัญที่สามารถทั้งช่วยรดน้ำความเชื่อให้คนในสังคมทีละน้อยๆ เป็นหน่วยกู้ภัยย่อยในบางยามที่สถานการณ์ในสังคมอาจจะกำลังโคมาและใช้การสู้แบบลุกฮือต่อสู้ไม่ได้ทุกครั้ง ศิลปะสามารถแสดงออกอย่างไร้เดียงสา แต่ทว่าทรงพลังและสื่อสารถึงการเมืองอย่างชัดเจนได้ แต่ปัญหาคือถ้ามันดูไม่รู้เรื่องหรืองานบางงานสื่อสารออกไปได้แค่คนบางกลุ่ม เราจะนับว่านั่นเป็น activist art หรือไม่ แล้ว art activist ทั้งหลายจะต้องจัดการกับมันอย่างไรถ้างานเป็น echo chamber จริงๆ
“ศิลปะเป็น soft power ประเภทหนึ่งเพราะมันสามารถที่จะปลูกฝังอุดมการณ์หรือค่านิยมบางอย่างได้ในวิธีการที่ไม่ตรงไปตรงมาหรือไม่ได้เป็นการยัดเยียดที่ชัดเจนเกินไป มันจะค่อยๆ กล่อมเกลาเราไปโดยไม่รู้ตัว พูดอีกอย่างหนึ่งคือศิลปะสามารถเป็นโฆษณาชวนเชื่อได้นั่นเอง”
โฆษณาชวนเชื่อที่เราอาจจะคุ้นเคยกันดีคือการที่ฮิตเลอร์เข้าไปแทรกแซงองค์กรวัฒนธรรมของยุโรปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อสร้างฐานอำนาจที่แข็งแกร่งของเยอรมัน หรือสังเกตได้บ่อยครั้งในตำราชาตินิยม เพลง รายการโทรทัศน์ที่รัฐพยายามกล่อมเกลาให้ประชาชนคิดไปในทิศทางที่ว่าชาติคือที่สุดของการถอยกลับไปมองว่าตัวเองเป็นใคร
“ในแง่ของรูปแบบมันต้องตรงไปตรงมาขนาดไหน ลองคิดถึงตอนเดินทางไปตามถนนแล้วเห็นภาพต่างๆ หรือตื่นมาตอนเช้าแล้วสวนสาธารณะข้างบ้านเปิดเพลงนั้นเพลงนี้ นี่คือ soft power มันใช้สื่อหลายอย่างโดยเฉพาะสื่อที่ป๊อปในการค่อยๆ ปลูกฝังกล่อมเกลาอุดมการณ์บางอย่างให้กับเรา ศิลปะก็เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งนี้ แต่เราก็สามารถที่จะพูดถึงประเด็นอื่นๆ ผ่านศิลปะได้เหมือนกัน”
อาจารย์ธนาวิยกตัวอย่างงานนิทรรศการ Soft Power ที่จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ซานฟรานซิสโกในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยงานเชิญศิลปิน 20 คนจาก 12 ประเทศเข้ามาจัดแสดงงานในฐานะที่เป็นประชาชนคนหนึ่งและสื่อสารงานในบริบทสังคมของตัวเอง หรืองาน Give More Than You Take ของ ปรัชญา พิณทอง
“งานนี้ตัวศิลปินนี้เขาไปอยู่ที่ทางตอนเหนือของสวีเดนเป็นเวลา 2 เดือนในแคมป์เดียวกันกับที่คนงานจากภาคอีสานไทยไปเก็บเบอร์รี่ ฟังดูน่ารักเนอะ แต่จริงๆ แล้วนี่เป็นงานที่หนักมาก คุณปรัชญาใช้เวลาสองเดือนเก็บเบอร์รี่เหมือนกันกับคนงาน แต่ทุกวันตอนเย็นจะส่งข้อความไปบอกพิพิธภัณฑ์ที่ฝรั่งเศสว่าวันนี้เขาเก็บเบอร์รีได้กี่กิโลกรัมภายในเวลาสองเดือน พิพิธภัณฑ์ที่ทำงานร่วมกับเขาจะต้องเอาวัตถุอะไรก็ได้ที่ใช้การไม่ได้แล้วในน้ำหนักเท่ากับตัวเบอร์รี่ที่เขาเก็บมาจัดแสดงเป็นผลงาน
ถ้าเราดูแค่เฉพาะตัวงานเราจะไม่มีทางรู้เลยว่ามันคือการพูดเรื่องแรงงานที่ต้องออกไปเก็บเบอร์รี่อย่างหนัก นี่คือตัวอย่างของงานศิลปะร่วมสมัยที่จะทำให้คนดูรู้สึกว่าฉันไม่เห็นเข้าใจเลย มันเหมือนการอ่านหนังสือนั่นแหละที่เราไม่ได้เกิดมาแล้วอ่านหนังสือออกทันที งานศิลปะก็เหมือนกัน มีงานแบบที่ดูแล้วรู้เลยว่าคืออะไร กับงานที่ต้องใช้เวลา ปัจจัย และข้อมูลแวดล้อมอื่นๆ ประกอบ
หรือแม้กระทั่งมันจะมีงานที่ต่อให้เขาอธิบายแล้วเราก็ไม่เข้าใจอยู่ดีซึ่งมันก็เป็นเรื่องปกติ คนจำนวนมากเลยรู้สึกกลัวงานศิลปะร่วมสมัยเพราะรู้สึกว่าดูไม่รู้เรื่องแล้วโง่หรือเปล่า ฉันดูแล้วไม่เก็ตแปลว่าฉันไม่มีรสนิยมหรือเปล่า ถ้าคุณสนใจมันจริงๆ คุณก็อาจจะจำเป็นที่ต้องให้เวลากับตัวเอง มันไม่มีอะไรจะช่วยเราได้นอกจากการที่เราพยายามที่จะดูมันไปเรื่อยๆ แล้วถึงจุดหนึ่งเราก็จะเข้าใจ”
ถ้าหากนำงานนี้ไปจัดแสดงในหมู่บ้านในภาคอีสานที่มีคนไปเป็นแรงงานเก็บเบอร์รี่ พวกเขาก็อาจจะยังไม่เข้าใจอยู่ดี ถ้าเรียกว่านี่คืองาน art activist ก็อาจจะสรุปได้ว่ามันล้มเหลวในด้านการสื่อสารกับคนหมู่มากหรือส่งผ่านประเด็นเรื่องความยากลำบากของคนงานที่ไปทำงานนอกประเทศ
“บางทีคนดูมักจะคิดด้วยมุมมองเดียวว่าถ้ามันไม่สื่อสารกับเราแปลว่ามันไม่เวิร์ค ไม่มีสำนึกสู่สังคมหรือที่แย่กว่านั้นคือศิลปินฉกฉวยหาประโยชน์เข้าตัวเอง แต่ลืมแง่มุมที่ว่าคนทำงานศิลปะก็เป็นอาชีพสุจริตประเภทหนึ่ง ถ้าเขาไม่หาเงินจากการทำงานศิลปะ เขาก็ประกอบอาชีพไม่ได้ มันมีเฉดต่างๆ จำนวนมากมายที่ศิลปินหรือคนทำงานเชิงวัฒนธรรม รวมไปถึงคนในสังคมสามารถที่จะมีส่วนร่วมผ่านกระบวนการทำงานทางศิลปะได้”
ศิลปะละเมิดมนุษย์ได้อย่างไร
จากบทความ ‘เส้นแดนของศิลปะในการนำเสนอชีวิตคน’ ในเว็บไซต์ประชาไท คุณภรทิพย์ มั่นคง ซึ่งเป็นผู้เขียนแสดงความเห็นไว้ว่า
“ถ้าการที่ใครสักคนเอารูปของคุณไปสร้างผลงานศิลปะของเขาเองโดยที่ไม่ได้ขออนุญาตจากคุณก่อน แล้วคุณอาจมองว่ามันเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้วมันไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลย ภาพๆ นั้นอาจจะเป็นภาพที่ผู้คนถ่ายไว้ สื่อมวลชน หรือใครก็ตาม ที่ถ่ายไว้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง สำหรับเหตุการณ์หนึ่ง ณ เวลานั้น ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะควบคุมสิ่งใดได้ เพราะ สิ่งนั้นได้กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ข่าว”ไปแล้ว เป็น “สาธารณะ” ไปแล้ว
แต่หลังจากนั้นหากใครสักคนจะนำมันไปสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะ”ของตัวเขาเอง” เพื่อจุดประสงค์อันดีงามหรืออย่างไรข้าพเจ้าไม่สามารถทราบได้ แต่ ถ้าหากไม่ได้รับความยินยอมพร้อมใจจากตัวข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าถือว่า เป็นการเหยียบย่ำซ้ำเติมข้าพเจ้าเพราะมันคือการย้ำเตือนให้ข้าพเจ้ารับรู้แต่เพียงว่า ข้าพเจ้าเป็นเพียงวัตถุดิบของการสร้างสรรค์งานของเขา ข้าพเจ้าเป็นเพียง “สิ่ง” ที่ใครจะนำไปใช้อย่างไรก็ได้ แต่ความจริงแล้ว ข้าพเจ้ามีชีวิต ข้าพเจ้าไม่ใช่กระดาษ ไม่ใช่ผืนผ้าใบ ไม่ใช้ปากกา และไม่ใช่เพียงภาพถ่าย…”
ความคิดเห็นนี้เกิดจากเหตุการณ์ที่เธอกลายเป็นหนึ่งในซับเจ็กต์ของงานนิทรรศการศิลปะที่ว่าด้วยเรื่องนักโทษการเมือง จึงเกิดเป็นวงถกเถียงวงใหญ่ขึ้นมาว่าศิลปินสามารถแตะสิ่งที่เป็นปัญหาสังคมหรือประเด็นอ่อนไหวที่มีคนเข้ามาเกี่ยวข้องได้มากน้อยแค่ไหน มีเส้นแบ่งหรือจริยวัตรที่สามารถทำให้บุคคลที่ถูกทำให้เป็นหนึ่งในเนื้อหาของงานไม่รู้สึกว่าตัวเองถูกรุกล้ำสิทธิหรือตัวตน
“คุณภรทิพย์ไม่พอใจเพราะคิดว่าศิลปินไม่เห็นมาถามฉันก่อนเลยว่าจะเอารูปฉันไปทำเป็นงาน ในขณะที่คนจำนวนหนึ่งรู้สึกว่ามันไม่เห็นจะไม่ดีตรงไหนเพราะงานก็พูดถึงเรื่องของคนที่เราควรจะรู้ไม่ใช่เหรอ นี่เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เราเห็นว่ามันไม่มีความเห็นที่เป็นเอกฉันท์หรอก บางคนอาจจะรู้สึกว่างานชิ้นนี้คือการที่ศิลปินเอาเรื่องของคนที่ชีวิตเขาก็ยากอยู่แล้ว มาเป็นงานของตัวเอง แล้วในฐานะที่คุณเป็นศิลปินอาชีพ คุณขายงานคุณก็ได้เงิน นี่คือการฉกฉวยจากความทุกข์ยากของคนอื่น ในขณะที่บางคนกลับรู้สึกว่านี่เป็นงานที่ให้ตัวตนกับเหล่าบรรดาคนที่ต้องหลบหนีออกนอกประเทศเพราะเป็นนักโทษทางการเมืองที่ติดคุกอยู่
เราจึงเห็นได้ว่ามันนำไปสู่ข้อถกเถียงที่อาจจะไม่ได้มีสูตรสำเร็จของการตอบคำถามว่าแค่ไหนคือเส้นที่เราจะเข้าไปทำงานศิลปะที่พูดถึงเรื่องราวปัญหาบางอย่าง หรือต้องทำอย่างไรถึงจะทำให้คนรู้สึกว่าเขาโอเคกับการกระทำแบบนี้ แต่มันไม่มีคำตอบที่สำเร็จรูปเพราะว่าทุกคนจะมีปฏิกิริยาต่องานที่แตกต่างกันไป”
ไม่มีอะไรช่วยคนดูศิลปะได้นอกจากการดู
ในหนังสือ เมื่อฉันไม่มีขน ฉันจึงเป็นศิลปะ ของธเนศ วงศ์ยานนาวา ยกแนวคิดของคลาร์ก นักประวัติศาสตร์ศิลปะที่กล่าวเกี่ยวกับความเป็นเอกเทศของศิลปะภายใต้เงื่อนไขของสภาวะความเป็นสมัยใหม่ไว้ว่า “ผลงานทางศิลปะแสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกเทศหรือการตัดสินใจของแต่ละศิลปิน สายสัมพันธ์ระหว่างสังคมกับศิลปะไม่ได้มีสหสัมพันธ์กันแบบตรงไปตรงมา และความเป็นเอกเทศของศิลปะย่อมทำให้ศิลปะไม่มีพลังต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมแต่อย่างใด”
หรือแม้กระทั่งนวนิยายเองก็อาจจะมีข้อคิดแจ่มแจ้งในเชิงศีลธรรมถ้าผู้อ่านตีความหรือเป็นแบบนั้นเพราะตัวปัจเจกเองและสังคมมีความเชื่อทางศีลธรรมที่แตกต่างกัน ถึงแม้ว่างานศิลปะจะสื่อสารชัดเจนว่ามีนัยยะของความจริงเชิงศีลธรรม แต่ก็ไม่มีหลักฐานมายืนยันต่อความจริงนั้นอยู่ดี ผู้ชมหรือผู้เสพจึงต้องเชื่อมโยงมันกับบริบทของโลกจริง ไม่ใช่โลกที่ศิลปะสร้างเอาไว้
อาจารย์ธนาวิยกตัวอย่างงานของ ปพนศักดิ์ ลออ ศิลปินอิสระชาวนนทบุรีเจ้าของงานนิทรรศการ ไกลบ้าน หรือ Far from home ที่เล่าเรื่องผู้ลี้ภัยผ่านภาพวาดทิวทัศน์ มองเผินๆ เหมือนรูปภูเขาธรรมดาๆ ที่มีชื่อประเทศกำกับในแต่ละภาพ คล้ายกับโปสการ์ดสถานที่ท่องเที่ยวที่เราเห็นกันได้ทั่วไป แต่จริงๆ แล้วเป็นภาพจากบันทึกของผู้ลี้ภัยที่ถ่ายเอาไว้ระหว่างการเดินทางออกนอกประเทศ
“Visual arts มันรอดมาตลอดในขณะที่หนังหรือวรรณกรรมโดนมาหมดแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาจจะเป็นเพราะมันดูไม่รู้เรื่องก็ได้หรือไม่ได้แมสเท่ากับหนังที่ฉายในโรงภาพยนตร์ ซึ่งนี่ก็เป็นทั้งข้อดีและข้อเสียในตัว ข้อดีคือคุณสามารถที่จะซ่อนข้อความไว้ในงานศิลปะได้ ศิลปะก็มีข้อได้เปรียบตรงที่ว่ามันสามารถถ่ายทอดได้ผ่านสัญลักษณ์และการอุปมาอุปมัย แต่ข้อดีที่ว่านั่นก็คือคนทั่วไปเขาอาจจะไม่เก็ตกับคุณก็ได้ว่าสิ่งที่อยากสื่อสารมันคืออะไร”
ภาพยนตร์เรื่อง สายน้ำติดเชื้อ : By the River โดยผู้กำกับ นนทวัฒน์ นำเบญจพล คนเดียวกันกับที่ทำสารคดีเรื่อง ดินไร้แดน (Soil without Land) ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการสื่อสารประเด็นเรื่องชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านที่ต้องอาศัยลำห้วยที่มีสารตะกั่วปนเปื้อนเพราะมีการทำเหมืองตรงต้นน้ำ
“โทนของหนังเรื่องนี้เล่าเรื่องชีวิตเนิบๆ มีเพลง มีชาวบ้าน ลำห้วยน้ำใสมากเลย แต่จริงๆ แล้วลำห้วยมันปนเปื้อนสารตะกั่วและเขาต้องใช้ชีวิตอยู่ไปกับมันอย่างช่วยไม่ได้ พอไปถึงช่วงกลางเรื่อง หนังจะเล่าเรื่องการดำเนินคดีและอธิบายว่าท้ายที่สุดแล้วชาวบ้านที่ต้องทนอยู่กับสายน้ำติดเชื้อมาสิบกว่าปีเป็นฝ่ายชนะ และโรงงานต้องปิดไป เกิดการชดเชย ต้องฟื้นฟู แต่ว่ามีฉากที่ทำให้เห็นว่ามันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น แม้ว่าคุณจะชนะ แต่การแก้ปัญหาก็ไม่ได้เกิดขึ้นโดยทันที จนถึงวันนี้ลำห้วยก็ยังมีสารตะกั่วปนเปื้อนอยู่ ชาวบ้านก็ยังอยู่ตรงนั้น ดำรงชีพด้วยการจับปลาในน้ำมากินหรือใช้น้ำโดยใช้ลำห้วยนี้อยู่ดี ชีวิตชาวบ้านไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก หนังเรื่องนี้ได้รางวัลเต็มไปหมดเลย แต่คุณนนทวัฒน์ก็โดนวิจารณ์อยู่เหมือนกันว่าฉกฉวยหรือไม่ ที่เอาเรื่องที่เป็นปัญหาไปสร้างผลประโยชน์ให้ตัวเอง สองคือมันถูกวิจารณ์ว่ามันไม่ทำให้เห็นปัญหาในพื้นที่มากพอ
มีฉากหนึ่งคุณยายตาบอดไปโรงพยาบาลในหมู่บ้าน หมอพูดเรื่องเปลี่ยนดวงตา แล้วบอกว่าเปลี่ยนไปก็มองไม่เห็นหรอกเพราะคุณได้รับสารพิษมานานเกินไป ผลกระทบที่มันตกอยู่ในพื้นที่ไม่ได้โดนจำกัดไปโดยทันทีที่คุณชนะคดี แล้วของบางอย่างเมื่อมันเสียไปแล้วมันก็เรียกคืนไม่ได้ เรารู้สึกว่าฉากนี้เป็นฉากที่ดีมาก แล้วเขาก็ไม่ได้ทำให้มันต้องดรามาเยอะๆ ซึ่งนั่นก็อาจจะเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เขาได้รับคำวิจารณ์ว่าหนังไม่ปลุกเร้ามากพอ
คำถามคือมันต้องเย้วๆ ขนาดไหนที่คุณจะเรียกได้ว่านี่คือการทำให้สังคมฉุกคิดขึ้นมา เราสามารถมีภาษาอื่นๆ ที่พูดเรื่องเดียวกันนี้ได้ไหม แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่อยากดูอะไรที่รู้เรื่องเพราะมันจะทำให้เรารู้สึกโอเคกับตัวเองด้วย แต่งานศิลปะจะเข้ามาท้าทายเราในฐานะคนดูอยู่เสมอว่ามันไม่ได้เข้าใจง่าย”
ธเนศ วงศ์ยานนาวา เขียนไว้ในบทความสภาวะสมัยใหม่กับศิลปะ : ความลักลั่นที่คงเส้นคงวา ไว้ว่าไม่มีศิลปะไหนที่สามารถบรรลุความเป็นจริงได้อย่างสมบูรณ์ ถ้าเป้าหมายของศิลปะเป็นเรื่องของความจริงก็หมายความว่าศิลปะพยายามทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
การที่ศิลปะในสภาวะสมัยใหม่ต้องกระทบกระทั่งกับสิ่งอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากตัวศิลปะเองก็ทำให้ศิลปะเป็นเอกเทศได้ยาก หากมันถูกมองว่ารับใช้การเมือง ศิลปะก็เป็นแค่สุนทรียะอีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้น ความพยายามที่จะทำให้ศิลปะมีคุณค่าทางจิตวิญญาณหรือรับใช้กิจกรรมบางอย่างในสังคมสมัยใหม่ก็คือการทำให้มันเป็นรูปธรรม วิพากษ์วิจารณ์ได้ เห็นอรรถประโยชน์ชัดเจน แต่ศิลปะโดดๆ ก็โดดไปไม่รอดเหมือนกันถ้าไม่อาศัยร่วมกับปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ
“ศิลปะที่สัมพันธ์กับปริมณฑลอื่นๆ ที่ไม่ใช่ศิลปะจึงไม่ใช่เรื่องการสมานฉันท์หรือการแสวงหาเอกภาพ แต่ศิลปะสามารถเป็น “สงคราม” ที่กระทำโดยปราศจากความตายศิลปะเป็น “สงคราม” ที่กระทำโดยผ่านเครื่องมือแบบใหม่ที่ไม่มีการฆ่า เป้าหมายสำคัญสุดท้ายของการวิพากษ์คือการปลดปล่อย แต่เมื่อเริ่มต้นกระบวนการต่างๆ ของการวิพากษ์ก็ต้องเป็นไปเพื่อกระตุ้นความฉงน การกำหนดสภาวะของศิลปะในฐานะความขัดแย้งถือว่าเป็นการสร้างความเข้มข้นให้กับ “วิญญาณแห่งการสงสัย” ที่อยู่ในฐานะองค์ประกอบสำคัญของความเป็นสภาวะสมัยใหม่”
ในส่วนของการตีความงานศิลปะ อาจารย์ธนาวิต่อยอดเรื่องความเข้าใจและการสื่อสารของศิลปินไว้ว่า
“ศิลปินไม่จำเป็นต้องส่งสารให้เข้าใจง่ายไปหมดทุกจุดก็ได้ อาจจะมีบางส่วนที่ปล่อยไว้สำหรับคนดูได้ปะติดปะต่อขึ้นมาเอง เราคิดว่าความดีงามของงานศิลปะอยู่ตรงนั้น ไม่ใช่บอกเขาเฉยๆ หรือสั่งสอน ไม่เช่นนั้นมันก็ไม่ต่างอะไรกับการอ่านหนังสือที่พูดเรื่องเดียวกัน
มันไม่มีคำตอบสำเร็จรูปว่าท้ายที่สุดแล้วการรุกล้ำของศิลปินต่อเรื่องราวในสังคมมันมีขอบเขตของคามพอดีอยู่ตรงไหนย มันเป็นเรื่อง case by case และเราควบคุมไม่ได้ว่าคนดูจะรู้สึกอย่างไรไม่ว่าคุณจะมีความตั้งใจดีอย่างไรก็ตาม นั่นแหละคือความเป็นไปได้ของการแสดงออกทั้งของฝั่งคนดูและคนสร้าง คนดูก็ต้องมีอิสระในการตีความของเขาเหมือนกัน”
ถ้าคนในวงการศิลปะผลิตงานออกมาแล้วสุดท้ายดูกันเอง เราก็ช่วยเขาดูสักหน่อยจะเป็นไรหากเราสนใจ แต่ไม่มีอะไรจะช่วยคนดูอย่างเราได้นอกจากการดู ดูๆ และดู สั่งสมประสบการณ์ในแต่ละช่วงเวลา สังเกตสังคมและพลวัตของยุคสมัยที่ยิ่งนับวันก็ยิ่งตามไม่ทัน ถ้ามันเป็นศิลปะแห่งการต่อสู้ ในเมื่อศิลปินต่อสู้กับศิลปะของตัวเองแล้ว อย่างน้อยเราก็ควรจะต่อสู้เพื่อที่จะเข้าใจมันด้วยถ้าประเด็นของเขามันสะกิดเราแม้แค่ปลายข้อศอก
งานศิลปะบางงานอาจจะไม่มีตัวช่วยใดๆ ไม่มีคำอธิบาย ไม่แจกสูจิบัตร เข้าไปในห้องนิทรรศการแล้วอาจจะเจอแต่ความว่างเปล่าหรือกระจกธรรมดา อาจจะดูบริสุทธิ์มากแต่เล่าเรื่องความอยุติธรรมที่ฝังรากลึกมาก หรือร่ายรำไปอย่างสวยงามแต่แฝงความโหดร้ายเอาไว้ข้างใต้เพราะศิลปะสมัยใหม่เคลื่อนไหวไปไกลกว่าคำว่าสูตรสำเร็จ
“ศิลปะมันทั้งยากและสนุกตรงนี้ คือมันเปิดโอกาสให้คุณได้คิดไปไกลกว่าสิ่งที่คุณเห็น”
สิ่งสำคัญคือศิลปะให้คำใบ้เราได้มากแค่ไหน สิ่งละอันพันละน้อยนั้นสร้างอิสระให้เราเข้าใจและเชื่อมโยงตัวเองกับลักษณะของสังคมในรูปแบบใด เราอาจจะไม่สามารถเข้าใจศิลปะหรือ activist art ได้ทั้งหมดเหมือนที่เราไม่สามารถเข้าใจสังคมหรือแม้แต่ตัวเราเองได้ทั้งหมด แต่สุนทรียะหรือการเลือกเชื่อในอะไรบางอย่างจากการดูงานศิลปะอาจจะตอบตัวเราได้ในอนาคต ว่าความเป็นนามธรรมสำคัญต่อการสร้างสังคมที่ดีขึ้นหรือมีผลต่อประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง