เปิดห้องเรียน Human ร้าย Human Wrong : ความทรงจำ.pain point.ความรู้ สู่งานเขียน

ความทรงจำ.pain point.ความรู้ สู่งานเขียน

Human ร้าย, Human Wrong 3  workshop ครั้งที่ 3 : ทักษะการสื่อสารผ่านการเขียนอย่างสร้างสรรค์


“อยากชวนแนะนำตัวโดยให้โอกาสบอกว่าฉันคือใคร ฉันชื่ออะไร และฉันคับข้องใจกับเรื่องอะไร ”

เวิร์คช็อบการเขียนอย่างสร้างสรรค์ โดยโตมร ศุขปรีชาในช่วงบ่าย ไม่ได้เริ่มจากการให้สมาชิกโครงการฮิวแมนร้ายเขียนหรือเกริ่นนำไปสู่เทคนิคในการเขียน แต่ให้เล่าถึง “pain point” ที่ทำให้ตัวเองรู้สึกกระทบใจ จะเรื่องเล็กหรือใหญ่ก็ได้หมด

เท็น สมาชิกคนแรกเปิดเผยว่ารู้สึกถึงกฎเกณฑ์ทางการศึกษาที่บังคับกดขี่ตัวเองอยู่ คนอื่นๆ จึงไล่เรียงไปถึงความคับข้องใจต่างๆ ที่ว่า ทำไมนักศึกษากฎหมายถึงอยากเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการกันไปหมด ทำไมคนอายุน้อยในประเทศนี้ถึงไม่มีสิทธิฝัน หรือแม้กระทั่งคำถามคลาสสิคของคนหลายช่วงอายุที่ว่า ‘ทำไมเรายังหาตัวเองไม่เจอ’

ไอเดียที่สะท้อนตัวเองออกมาเร็วๆ แบบนี้เชื่อมโยงได้ถึงเรื่องความทรงจำส่วนบุคคลและการใช้ชีวิตของเราในแต่ละวันที่ได้สัมผัส ดมกลิ่น มองเห็น ไม่ใช่ว่าผัสสะทุกอย่างจะผ่านแล้วผ่านเลย แต่การที่เราเลือกที่จะจำหรือไม่จำอะไรบางอย่างต่างหากที่สำคัญต่อตัวตนและการเขียนงาน

เวิร์คช็อบยามบ่ายในห้องสี่เหลี่ยมนี้จึงอวลไปด้วยการถามตอบ ตัวอย่างของบทกวีที่มีอัตลักษณ์ฉวัดเฉวียน บทความสารคดีโดยวรพจน์ พันธุ์พงศ์ นิราศอิเหนา บางส่วนจากวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ดีเบทเรื่องสุดโต่งทางสังคมและศีลธรรม pain point ไปจนถึงเวิร์คช็อบการลองจ้องตาแล้วส่งผ่านความรู้สึกไปให้อีกฝ่าย

“ลองสังเกตตาของอีกคน ถ้าตาเขาบอกเราว่าเขากำลังเศร้า เราก็ส่งความเศร้าไปให้เขาด้วย ความเศร้าที่เราส่งผ่านหรือรับมาจากเขา มันอาจจะทำให้เราเข้าใจเขามากขึ้น แล้วเราก็รู้สึกว่าเรารักเขา รักแบบเพื่อนมนุษย์หรือแบบคนรักก็ยังได้ แล้วก็รับความรักของเขากลับคืนมา ลองรักเขาในแบบที่ไม่เคยรักใครมาก่อน เป็นความรักที่เราอาจจะมอบให้กับคนที่อยู่ตรงหน้า หรือโลกทั้งใบ หรือเป็นความรักที่เกิดจากความเข้าใจในความเศร้าของเขาเมื่อกี้นี้”

นั่นคือส่วนหนึ่งของบทสนทนาระหว่างการจ้องตากันของสมาชิก พื้นที่ในห้องสี่เหลี่ยมไม่กว้างนักกลายเป็นสนามทดลองของจินตนาการ โดยมีปลายทางที่ชัดเจนคือการเขียนเรื่องราวในหัวออกมาผ่านภาษาแห่งความทรงจำ

จำความจนขึ้นใจ

“ถ้าเราพล็อตกราฟชีวิตดูว่าเรามีความทรงจำมากที่สุดช่วงไหน จะพบว่าช่วงที่เด่นชัดที่สุดคือช่วงประมาณวัยรุ่น เพราะเป็นช่วงที่เรากำลังสะสมกลิ่นและผัสสะทั้งหลาย แล้วเราก็อาจจะลืมมันไป แต่อีก 3-5 ปีข้างหน้าถ้าเราไปเจอเหตุการณ์เดิมอีกครั้ง ช่วงเวลานี้มันจะหวนกลับมา คนที่อ่านงานวรรณกรรมหรือนวนิยายในช่วงอายุ 12-13 ปี หรือไม่เกิน 20 ปีจะเป็นคนที่มี empathy สูงกว่าคนที่ไม่ได้อ่านวรรณกรรมในช่วงนี้  เพราะการอ่านนวนิยายคือภาวะที่เรา ‘กลายเป็น’ 

สมมติอ่านเรื่องคู่กรรม เราก็จะกลายเป็นอังศุมาลินที่สามารถร้องไห้ให้โกโบริได้ คือเรากลายเป็นตัวละครอีกตัวหนึ่งไปเลย แต่ถ้าเราอ่านวิชาคณิตศาสตร์ เคมี ชีวฯ มันจะไม่มีความละครที่ทำให้เรากลายเป็นคนอื่นชั่วคราว ทำให้เราไม่ได้เรียนรู้ที่จะมี empathy ที่จะเข้าใจมนุษย์ ช่วงเวลาวัยรุ่นจึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะสร้างวัตถุดิบต่างๆ เพื่อสะสมไว้”

โตมรเริ่มต้นด้วยการยกตัวอย่างวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ในฉากที่รำลึกถึงนางวันทอง กลอนพูดถึงช่วงเวลาที่ขุนแผนสะกดขุนช้างให้หลับแล้วขึ้นเรือนไปลักพาตัวนางวันทอง เมื่อจำต้องไปอยู่กับขุนแผน สิ่งที่นางวันทองอาลัยจนตรมอกกลับเป็นต้นไม้ ไม่ใช่ผู้ชาย 

“ลำดวนเอ๋ยจะด่วนไปก่อนแล้ว
เกดแก้วพิกุลยี่สุ่นศรี
จะลาร่างห่างสิ้นกลิ่นมาลี
จำปีเอ๋ยกี่ปีจะมาพบ”

ที่มีกลิ่นก็จะคลายหายหอม
จะพลอยตรอมเหือดสิ้นกลิ่นตลบ
ที่มีดอกก็จะวายระคายครบ
จะเหี่ยวแห้งเซาซบสลบไป”

“การปลูกต้นไม้คือการใช้เวลา ไม่ใช่ว่าปลูกเมื่อวานแล้วจะมาโตวันนี้ ซึ่งภาพความเป็นผู้หญิงของนางวันทองคือจะถูกมองว่าเป็นนางหญิงสองใจ ชอบทั้งขุนช้างขุนแผน กลอนตรงนี้บอกเลยว่ามันไม่ใช่อย่างนั้น กลอนที่ยกมาก็เต็มไปด้วยผัสสะทั้งนั้นเลย ทั้งเรื่องของกลิ่น การมองเห็น หรือการผูกพันกับสิ่งเล็กๆ

บางคนอาจจะบอกว่าเรื่องต้นไม้เป็นเรื่องไร้สาระ แค่เรื่องเล็กๆ แต่อันที่จริงมันมีประเด็น feminist อยู่ในนี้แล้วแรงมากด้วย เพราะสุดท้ายแล้วนางวันทองตายเพราะอะไร กษัตริย์สั่งฆ่าเพราะเป็นคนสองใจ ซึ่งจริงๆ มันอาจจะไม่ใช่อย่างนั้น แปลว่ามันมีอำนาจเหนือครอบงำชีวิตของผู้หญิงคนนี้อยู่ แล้วเธอไม่มีโอกาสเลือก แม้จะปลูกต้นไม้เพื่อจะได้กลิ่นมันยังทำไม่ได้เลย สุดท้ายก็จำต้องตายไป บทกวีนี้มันเลยเป็นบทกวีที่แรง”

การวิจารณ์วรรณกรรมอาจจะไม่ง่ายนักแต่สนุกเมื่อได้ลองไปเรื่อยๆ นอกจากการชี้ให้เห็นความสละสลวยของการใช้ภาษาเขียนและการตีความ ยังมีการยกตัวอย่างรูปแบบอื่นๆ ของกวีและการใช้ศาสตร์ของผัสสะอย่างต่อเนื่อง เช่น นิราศอิเหนาของสุนทรภู่ วิทยากรพาผู้เข้าร่วมวิเคราะห์อัจฉริยภาพของผู้แต่งและงานเขียนที่แหวกกฎเกณฑ์ออกไปจากภูมิศาสตร์และสภาพสังคมที่เขาอยู่ แม้ยุคสมัยจะมีผลต่อภาษาและการสื่อสาร แต่ไอเดียในการผสานความทรงจำในขนบเดิมเข้ากับขนบใหม่ในเวลานั้นก็มีอำนาจที่จะสร้างความแตกต่างให้กับงานเขียนได้

“หนาวน้ำค้างกลางคืนสะอื้นอ้อน

จะกางกรกอดน้องประคองขวัญ

เอาดวงดาราระยับกับพระจันทร์

ต่างช่อชั้นชวาลาระย้าย้อยฯ”

กลอนข้างต้นสะท้อนถึงผัสสะที่ดึงกลับมาหาความคิด นอกเหนือไปจากความเป็นนิราศที่เขียนเพื่อรำพึงความคิดถึงต่อผู้หญิง คำถามที่น่าสนใจต่อจากนั้นคือ “ต่างช่อชั้นชวาลาระย้าย้อยฯ” จะสื่อสารถึงอะไรได้บ้าง

โตมรเล่าว่า ส.พลายน้อยวิเคราะห์บทกวีนี้ว่าในยุคของสุนทรภู่มีการเข้ามาของฝรั่งและกองเรือ จึงสันนิษฐานต่อได้ว่าประโยคข้างต้นคือการเปรียบเทียบระหว่างดวงจันทร์กับแชนเดอเลียร์ที่สุนทรภู่คงมีโอกาสได้เห็นในเรือใหญ่ของฝรั่ง 

คนที่เขียนกลอนต่างๆ ในยุคนั้นไม่ค่อยนำสิ่งที่แตกต่างกันขนาดนี้มาเปรียบเทียบกัน นี่จึงอาจจะเป็นเรื่องของผัสสะและความจำในขนบเดิมที่นำมาประกอบกับความจำที่มาจากขนบใหม่กลายเป็นบทกวีที่แสนอัศจรรย์

แล้วในยุคที่ data flow วุ่นวายขนาดนี้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรควรหรือไม่ควรที่จะหยิบมาเขียนหากจับต้องความทรงจำอย่างชัดเจนไม่ได้

“หรือเวลาที่เราพูดถึงความทรงจำ มันก็ไม่จำเป็นต้องชัดเจนนะ” 

วิธีการในการผลิตตัวอักษรอาจจะเป็นวิธีเดียวกับที่ศิลปินในยุค Impressionism ใช้เขียนรูป อาจเป็นสีปื้นใหญ่ๆ ทับกันหลายมิติจนเกิดเป็นภาพวาดขึ้นมา สิ่งสำคัญอยู่ตรงที่ว่าผู้สร้างงานซื่อสัตย์กับความทรงจำมากน้อยแค่ไหน ผลลัพธ์สุดท้ายภาพหรืองานเขียนที่เห็นอาจจะไม่จำเป็นต้องชัดเท่าความรู้สึกตอนลงมือทำก็ได้

ดังนั้นเราอาจจะเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการจริงใจกับตัวเองและเชื่อในผัสสะที่รู้สึก จำได้แค่ไหนก็ลองเขียนออกมาให้ได้เท่าที่ความทรงจำจะอนุญาต

จงสดุดีความหลัง

จากนั้นสมาชิกทุกคนได้ลองทดสอบจินตนาการและความทรงจำของตัวเองผ่านการกิจกรรมที่เพื่อน 5 คนจะหยิบการ์ดรูปภาพที่คิดว่าทำงานกับความคิดและความทรงจำของตัวเองมากที่สุด แล้วให้เพื่อนคนอื่นทายว่าใครเลือกการ์ดใบไหน

บรรยากาศเต็มไปด้วยเสียงถกเถียงและความวุ่นวายย่อมๆ ฝ่ายผู้เลือกหันหลังไปงุบงิบ ย้อนความทรงจำในอดีตและปัจจุบันว่าการ์ดใบไหนจะอธิบายตัวเองได้ดีที่สุด ในขณะที่ผู้ทายก็วิเคราะห์กับเพื่อนกันอย่างมั่นใจปนอารมณ์ขัน บางคนใช้ความทรงจำที่เชื่อมโยงกับงานที่ทำหรือความสนใจส่วนบุคคล บ้างก็เรียบง่ายแค่สัตว์ที่เพื่อนชอบเป็นพิเศษ แต่ผลที่ออกมาคือใบไหนที่มั่นใจมากๆ กลับผิดทั้งหมด ความเห็นแตกต่างหลากหลายมากจนอ้อย รจเรข หัวหน้าโครงการแซวขำๆ ว่าจริงๆ แล้วเราเหมือนไม่รู้จักกันเลย

ต่อเนื่องจากกิจกรรมทายตัวตน การเลคเชอร์ยังคงอยู่ในโหมดดวงตาและการมองเห็น โตมรจึงนำเวิร์คช็อบจ้องตาที่มาจากศาสตร์การละครให้ทุกคนลองจับคู่กัน ทำใจให้สงบ ยืนนิ่ง มองใบหน้าคนตรงหน้าให้คุ้นจนไม่รู้สึกขำ ไม่คิดอะไรมาก จากนั้นลองมองไปที่ตาของคู่ตัวเอง 

“ตาเป็นอวัยวะที่บอกเรื่องราวเยอะแยะ สมมติว่าเรารู้สึกโกรธ เรามองตาอีกฝ่ายแล้วคิดว่าเรากำลังโกรธคนตรงหน้า เราส่งความโกรธผ่านตาออกไป เราเห็นความเปลี่ยนแปลงจากตาของเขาหรือเปล่า เห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเองด้วยไหมที่เราโกรธคนนี้จังเลย พอโกรธไปได้สักพัก เราก็รู้สึกว่ามันแย่จังเลยเพราะมันเป็นความรู้สึกที่ทำลายอีกฝั่งและตัวเอง เราเลยรู้สึกว่ามันเศร้า ส่งความรู้สึกเศร้าไปให้อีกฝ่ายหนึ่งรับรู้

ลองสังเกตตาของอีกคน ถ้าตาเขาบอกเราว่าเขากำลังเศร้า เราก็ส่งความเศร้าไปให้เขาด้วย ความเศร้าที่เราส่งผ่านหรือรับมาจากเขา มันอาจจะทำให้เราเข้าใจเขามากขึ้น แล้วเราก็รู้สึกว่าเรารักเขา รักแบบเพื่อนมนุษย์หรือแบบคนรักก็ยังได้ แล้วก็รับความรักของเขากลับคืนมา ลองรักเขาในแบบที่ไม่เคยรักใครมาก่อน เป็นความรักที่เราอาจจะมอบให้กับคนที่อยู่ตรงหน้า หรือโลกทั้งใบ หรือเป็นความรักที่เกิดจากความเข้าใจในความเศร้าของเขาเมื่อกี้นี้”


สมาชิกบางคู่จริงจังจนสีหน้าเปลี่ยน แต่บางคู่ก็ยังกลั้นขำไว้ไม่ค่อยไหวเพราะสนิทกันมาก เมื่อจบการจ้องตา โตมรสรุปสั้นๆ ไว้ว่าตา กลิ่น หรือรสสัมผัสสร้างความรู้สึกร่วมได้มากโดยไม่ต้องอาศัยคำพูดแม้แต่คำเดียว 

“ถ้าชีวิตคือการตัดต่อความทรงจำ สิ่งที่เราจ้องตาไปเมื่อครู่ก็คือการดึงความทรงจำกลับมา การเขียนหรือการสื่อสารก็เหมือนกัน ทุกงานเขียนคืออดีตเพราะว่าทุกอย่างคือสิ่งที่ไปฝังอยู่ข้างใน อดีตถูกรื้อฟื้นผ่านความทรงจำของเรา”

สิ่งที่เดินทางผ่านสมองและหัวใจในชีวิตของแต่ละบุคคลมีมหาศาล บางความทรงจำผ่านพบไม่ผูกพัน แต่บางความทรงจำนั้นเกิดขึ้นเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ แต่มีอำนาจทำให้ดวงตาของเราน้ำท่วม หรือกระทั่งผลักให้หัวใจเซเคลื่อนไหวไปพิงผนังห้อง ประเด็นต่อจากนั้นคือเราจะรื้อฟื้นความทรงจำที่มีผลต่อเราขนาดนั้นขึ้นมาได้อย่างไร

“ความทรงจำเหมือนกับบ้านของเศษวัสดุเล็กๆ มันจะแยกสีเก็บไว้ในแต่ละที่ต่างๆ ของสมอง เวลาที่เรานึกถึง สมองเราจะเปิดลิ้นชักและประกอบสร้างขึ้นมาเป็นบ้านหลังใหม่ เพราะฉะนั้นสีมันจะเพี้ยนไปจากเดิมก็ได้ ความเพี้ยนนี้มันเกิดจากการทำงานของตัวตนของเราที่เข้าไปดัดแปลงความทรงจำ ซึ่งเป็นประโยชน์กับการเขียนเรื่องสั้นหรือนิยายมาก เพราะความทรงจำที่เกิดจากการประกอบสร้างจะกลายเป็นประโยคที่มีเอกลักษณ์”

ลิ้นชักร้อยแปดที่รอการถูกเปิดมีผลต่ออารมณ์ในการเขียนของเราเสมอ ความทรงจำมักจะเล่นตลกและเล่นแร่แปรธาตุจนส่งผลให้สภาวะแวดล้อมมีผลต่องานเขียนนั้นๆ ด้วย

“เวลาที่เราใช้ทำงานก็มีผล ลองหาช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดกับเรา มีคนบอกไว้ว่าช่วงเวลาที่มันเป็น magic moment ที่สุดของการทำงานสร้างสรรค์คือตอนตี 4 เพราะว่าตี 4 คือช่วงเวลาที่เช้าเกินกว่าที่คนตื่นเช้า และดึกเกินกว่าที่คนนอนดึกจะอยู่ มันคือช่วงเวลาที่เรารู้สึก(ไปเองนั่นแหละ)ว่าคนในโลกมันเหลือน้อยที่สุด 

ฟอนต์ที่ไม่เหมือนกันก็ให้ความรู้สึกที่ไม่เหมือนกันด้วยนะ อย่างเวลาที่ทมยันตีเขียนนิยาย เขาต้องเขียนด้วยปากกาหมึกสีม่วงเท่านั้น ถ้าใช้หมึกสีอื่นจะเขียนไม่ออก ถ้าผมใช้ฟอนต์ Cordia new ก็อาจจะใช้กับงานเขียนที่เป็น non-fiction แต่ถ้าเป็นฟอนต์ Angsana มีความมนๆ หน่อยก็จะใช้อธิบายสิ่งที่เป็นความรู้สึก

ฉะนั้นเรื่องการเรียกความทรงจำออกมามันมีองค์ประกอบอื่นๆ เต็มไปหมดเลย ต้องลองกลับไปสังเกตตัวเองให้ดีๆ ว่าความทรงจำของเราทำงานยังไง ความทรงจำที่ว่าอาจจะไม่ใช่ความทรงจำในแบบที่ถูกดึงขึ้นมาแล้วเห็นชัดเจนเลย เช่น เวลาที่เราล้มตัวลงนอนแล้วเคลิ้มๆ นี่เคยเห็นภาพคนที่เราไม่รู้จัก หรือสถานที่แปลกๆ ไหม ช่วงเวลานี้สำคัญมากเพราะอาจจะเป็นช่วงที่ข้างในของเราทำงาน”

ดังนั้นมวลนามธรรมที่ก่อตัวอยู่ภายในตัวมนุษย์จึงทำงานด้วยกลไกที่ซับซ้อนยิ่งกว่ารัฐพันลึก การพยายามแหวกตัวเองเข้าไปในตัวเองแล้วโบกมือทักทายความทรงจำจึงเป็นงานที่ไม่ง่าย เพราะบางครั้งมันชักจูง กดทับ ล้อเลียน หรือแม้กระทั่งปั่นให้เราเป็นบ้าได้เพียงแค่นึกถึงใบหน้าของคนที่เราลืมมันไปแล้วนานแสนนานหรือประโยคเพียงประโยคเดียว  

การรู้ทันความทรงจำจึงเป็นศาสตร์ที่ยากแต่ก็ใช่ว่าจะเรียนรู้ไม่ได้ เพียงแต่ how to จัดการต้องเป็นเราเท่านั้นที่คัดสรรมันขึ้นมาเอง

จงโอบกอด pain point

“เคยรู้สึกอยากหายตัวได้ไหมครับ…หายไปจากแสง หายไปจากสายตา สายตาของเพื่อนที่เคยสอดส่อง ตัดสิน คาดหวัง เรียกร้อง สายตาที่คอยจ้องจับเรื่องร้าย ทำลาย ตักตวง สายตาอำนาจที่เหนือกว่า สายตาที่กำหนดเป็นกำหนดตาย อยากจะหายไป หายไป หายใจให้เต็มปอด กินให้เต็มปาก หายไปไม่ใช่เพื่อจากไป แต่หายไปเพื่อปกป้องบางอย่างไม่ให้หายไป หายไปเพื่อดำรง ดำรงอยู่อย่างกลมกลืนกับเกลียวคลื่น กับสายลมลำธาร ก้อนหิน กิ่งไม้และใบหญ้า เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ไร้ร่องรอย ตัวตนสูงสุดในความไม่มีตัวตน”

โตมรยกตัวอย่างบทความนี้เพื่อโยนไอเดียให้สมาชิกในห้องสังเกตประเด็นของ pain point ที่ซ่อนอยู่ในตัวอักษร อำนาจของการถูกกดทับ ความสับสนที่อาจจะเชื่อมโยงผู้อ่านบางคนให้รู้สึกร่วมไปด้วยได้เพราะเคยมีประสบการณ์ pain point ที่คล้ายคลึงกันกับในข้อเขียน

“อยากให้ดูเทคนิคในการเขียนที่เรียกว่ากฎแห่งสาม อาจจะเห็นได้ไม่ชัดมากแต่จะมีการใช้จังหวะ เช่น อยากจะหายไป หายไป หายใจให้เต็มปอด กินให้เต็มปาก หายไปไม่ใช่เพื่อจากไป แต่หายไปเพื่อปกป้องยางอย่างไม่ให้หายไป หายไปเพื่อดำรง จะเห็นว่ามีการย้ำจังหวะในการเขียนซึ่งมันจะมารับใช้การแสดงออกถึง pain point ได้อย่างน่าสนใจ”

อีกหนึ่งตัวอย่างคือบทความสารคดีที่เขียนโดยวรพจน์ พันธุ์พงศ์ เทคนิคที่นักเขียน/นักสัมภาษณ์ชื่อดังใช้คือการใส่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น การสังเกตบรรยากาศรอบๆ ตัวของบุคคลที่ไปสัมภาษณ์ ค่อยๆ ใช้ศิลปะสอดรายละเอียดเข้าไป เว้นวรรคให้ตัวอักษรหายใจได้เอง หรือแม้กระทั่งใช้เทคนิคพรรณาโวหารจากภาพแคบไปสู่ภาพกว้างเพื่อเล่นกับผู้อ่าน 

“แต่ถ้าเรามีแต่ความเจ็บปวดเป็นบ้าเป็นหลังแล้วจะเขียนหนังสือได้ไหม ก็อาจจะเขียนได้นะ แต่เรื่องที่สำคัญพอๆ กันกับการที่เราซึมซับ pain point ทั้งของคนอื่นและของตัวเองแล้วเข้ามา คือเรา conceptualise มันเป็นหรือเปล่า

ไอเดียของ conceptualisation เหมือนกับการที่เราเดินเข้าไปในป่า ถ้าเรามี pain point เต็มตัว เราก็จะเหมือนมด เห็นสิ่งเล็กๆ ทุกอย่าง ต้นหญ้า เม็ดดิน แต่ conceptualisation คือการเดินเข้าไปในป่าเดียวกันนี่แหละ แต่บินโดรนเข้าไป แล้วเราจะเห็นว่าตรงนี้เป็นป่า เป็นทุ่งหญ้า เราจะมี mapping ของการทำงานของเราอยู่ในหัว แต่ท้ายที่สุดแล้ว conceptualisation ไม่ใช่เรื่องยาก ที่ยากกว่าคือ pain point เพราะมันคือการสั่งสมประสบการณ์”

เนื้อหาในภาคบ่ายเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เมื่อโตมรแนะนำให้เจาะลึกไปถึงการตั้งคำถามเพื่อสร้าง conceptualisation ขึ้นมาจาก pain point ว่ามีคอนเซ็บอะไรที่ครอบมันอยู่บ้าง มีตัวอย่างดีเบทที่ให้ใช้สมองประลองปัญญาในประเด็นเชิงจริยธรรม เช่น ปัญหาคลาสสิคอย่างปัญหารถราง (Trolly problem) ที่ให้ผู้เข้าร่วมลองเลือกว่าจะตัดสินใจอย่างไรถ้ามีรถรางแล่นมา แล้วทางข้างหน้ามีคนอยู่ 5 คน พวกเขาจะโดนชนหากเราไม่สับราง แต่ถ้าเราสับราง รถจะชนคน 1 คนที่อยู่อีกฝั่ง แล้วถามต่อเนื่องว่าถ้าเราผลักคนอ้วนลงไป คนอ้วนจะตายแต่คนอื่นจะรอดหมด เราจะมีวิธีเลือกอย่างไร

“เรื่องพวกนี้ไม่เกิดขึ้นจริงหรอก แต่มันจะผลักเราไปที่ขอบๆ หนึ่ง แล้วทำให้เราเห็นว่าที่เราเคยคิดว่าเรากว้างแล้ว เราไปได้ไกลแล้ว มันจริงไหม สมมติเราบอกว่าถ้าเราสับรางเพื่อให้คนล้านคนได้รอด แต่คนที่เป็นแม่เราเองจะไม่รอด เราจะสับรางไหม หลายคนก็เลือกที่จะเก็บแม่ไว้ ดังนั้นเราจึงทำการทดลองทางความคิดไปได้อีกไกลมาก เช่น ในประเด็นศาสนา ถ้าสมมติว่าเป็นคนมุสลิม คริสต์ นับถือธรรมกาย จะตัดสินใจอย่างไร การเปลี่ยนโจทย์ไปเรื่อยๆ จะทำให้เรารู้ว่าเราคิดกับคนแบบไหนอย่างไรบ้าง”

แต่ดีเบทที่สมาชิกฮิวแมนร้ายฯ ดูสนุกและจริงจังกับหัวข้อชวนปวดหัวมากคือประเด็นจากสถานการณ์จริง

“เมื่อสัก 10 ปีที่แล้วมีข่าวในสหรัฐอเมริการายงานว่าหญิงรักหญิง 2 คนอยากมีลูก เลยไปขอเชื้ออสุจิของเเพื่อนมาผสมกับคู่คนหนึ่งและคลอดลูกออกมา”

เขาหยุดเล่า และถามว่าทุกคนรับได้ไหม ทุกเสียงตอบพร้อมเพียงกันว่ารับได้ ไม่มีใครคัดค้านทั้งสิ้น

“แต่เงื่อนไขที่ไม่ได้บอกคือหญิงทั้งสองคนนี้หูหนวก เขาเลยอยากได้ลูกที่หูหนวกด้วย  เขาเลยไปขอเชื้ออสุจิจากเพื่อนที่หูหนวกมาเพื่อการันตีว่าลูกจะหูหนวกแน่ๆ ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์เข้ามาช่วยรับรองว่าลูกหูหนวกแน่ๆ แล้วก็ได้ลูกที่หูหนวกจริงๆ ทีนี้คำถามเหมือนเดิมคือ เรายอมรับได้ไหม”

ท็น เจ้าของความคับข้องใจเรื่องการกดทับทางการศึกษาในตอนเริ่มออกความเห็นก่อนว่าไม่เห็นด้วยเพราะเด็กไม่มีสิทธิที่จะเลือก และหูก็จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบัน ซึ่ง ฝน สมาชิกที่สนใจในประเด็นแรงงานเด็กบอกว่าเห็นด้วยเพราะเป็นสิทธิของแม่ 2 คนที่อยากมีลูกในแบบที่พวกเขาอยากมี และดูไตร่ตรองมาถี่ถ้วนมากแล้ว

“คิดว่าเขาจะตั้งใจเลี้ยงลูกเต็มที่ การที่เด็กหูหนวกไม่ได้แปลว่าเขาจะมีชีวิตที่ดีเหมือนคนปกติไม่ได้ แต่มาคิดอีกทีว่าถ้าเด็กโตขึ้นมาแล้วเขารู้เรื่องที่แม่ตั้งใจทำให้เขาหูหนวก เขาจะรู้สึกอย่างไร จะยอมรับที่แม่ตัดสินใจให้เขาเป็นแบบนี้ได้ไหม” เธอเสริม

วิทยากรจึงเพิ่มเติมมิติของเรื่องนี้อีกว่าเหตุผลที่แม่หูหนวก 2 คนนี้ชี้แจงไว้ก็น่าสนใจ นั่นคือการที่พวกเขาอยู่ในชุมชนหูหนวกขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ทุกคนสื่อสารด้วยภาษามือ มีทั้งร้านหนังสือหรือ stand up comedy ที่ล้อเลียนคนพิการ หรือแม้กระทั่งคนหูดี ซึ่งถ้าลูกของพวกเขาหูเป็นปกติ ลูกก็ต้องไปเจอแรงปะทะเหล่านี้ จากประสบการณ์ที่อยู่ในชุมชนหูหนวก เขารู้เลยว่าเด็กหูดีที่โตมาในชุมชนหลายเป็นคนที่เรียนรู้ช้า อาจจะทำให้ลูกมีปมด้อย และการหูหนวกก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร

“นี่จึงเป็นปัญหาที่ตอบยาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราที่จะเลือกเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยไม่ได้ สิ่งสำคัญคือคอนเซ็บอะไรที่จะเอามารองรับการให้เหตุผลของเรา

สมมติว่าเราไม่มีทางเห็นด้วยกับแม่ที่อยากให้ลูกหูหนวก แต่ท้ายที่สุดเราสามารถทำความเข้าใจเขาได้ไง ในที่นี้คือเราอาจจะเคยมี pain point บางอย่างกับเรื่องหูหนวก เราเลยบอกได้ว่าฉันไม่เห็นด้วย และเหตุผลของฉันคืออะไร ไม่ได้บอกไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้นโดยที่ไม่ยอมออกความเห็นอะไรเลย หรือฟังเหตุผลของทุกคนแล้วก็ลอยๆ นั่นหมายความสื่อสารก็ไม่ได้ ความคิดความเชื่อก็ไม่มี อุดมการณ์ก็ไม่มี เราก็อาจจะเป็นพวก post-modern ไป

สำหรับผมเลยคิดว่าเราควรจะพยายามเข้าใจมันให้ได้ทั้งหมด แต่ในที่สุดแล้วก็ต้องกลับไปหา pain point ตั้งต้นว่าเราเจ็บกับอะไร สะเทือนกับอะไร แล้วเราจะเลือกได้ว่าเราควรอยู่ตรงไหน”

มี pain point แต่ไม่มีความรู้ไม่ได้

หลังจากการค่อยๆ ปลูกไอเดีย ลองสำรวจตัวเอง ดีไซน์สุนทรียศาสตร์เล็กน้อย ประเด็นสุดท้ายที่โตมรเน้นย้ำว่าต้องควบคู่ไปกับการจัดวาง pain point และ conceptualisation คือ “ความรู้” เพราะมันเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนงานเขียนให้มีพลังและน่าเชื่อถือ 

ในยุคสมัยใหม่ ultralearning หรือเทคนิคการเรียนรู้ขั้นเข้มข้นที่เจาะจงในการเรียนบางสิ่งบางอย่างอาจจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างทั้งความอยู่รอดทางปัญญาและการปรับตัวให้กับเด็กในยุคนี้ได้

“เมื่อเช้าเราพูดว่าเด็กรุ่นใหม่ถูกบังคับให้ไม่มีความฝัน เพราะอะไร? มีเหตุผลเยอะมากที่บอกได้ว่าเด็กรุ่นใหม่ถูกบังคับให้ไม่มีความฝัน ตอนผมเริ่มทำงานใหม่ๆ ได้เงินเดือนราว 8,000 บาท ซื้อทองคำได้ 1 บาทนิดๆ ปัจจุบันนี้เงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาท แต่ซื้อทองได้ไม่ถึงบาท เพราะขนาดเศรษฐกิจของประเทศมันเล็กลงหรือประเทศมั่งคั่งน้อยลงเหรอ ไม่ใช่ คำตอบคือขนาดเศรษฐกิจไทยใหญ่ขึ้น แต่ทำไมเด็กทุกวันนี้ จบมาแล้วทำมาหากินแล้วได้เงินน้อยกว่าเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว

สมัยก่อนเวลาผมเรียน ค่าหน่วยกิตประมาณ 100 บาท ถ้าต้องขึ้นเป็น 200 บาท เด็กก็ประท้วงกันแทบเป็นแทบตายแล้ว ทุกวันนี้ค่าเล่าเรียนน่าจะเป็นหมื่น ต่างกันเป็น 10 เท่า แต่จบมาแล้วได้เงินเดือนเล็กๆ น้อยๆ แถมยังเริ่มต้นด้วยติดลบเพราะต้องจ่ายหนี้การศึกษาอีก เพราะฉะนั้นความฝันของชีวิตเขาอยู่ตรงไหน นี่คือ pain point ที่ใหญ่มาก”

เด็กรุ่นใหม่จึงต้องจัดการกับ pain point และต่อสู้กับภาระทางสังคมหลายรูปแบบ ultralearning จึงน่าสนใจในแง่ของการพัฒนาตัวเองเพื่อการศึกษาที่ตัวเองสนใจจริงๆ แต่อาจจะต้องทำแบบสุดโต่ง เช่น ถ้าอยากเรียนภาษาสเปนก็ต้องไปอยู่ที่ประเทศที่พูดสเปนโดยที่ไม่พูดภาษาอื่นสื่อสารเลยเป็นระยะเวลาที่แน่นอน

 โตมรเสริมว่าการเรียน ultralearning ที่ได้ผลดี ผู้เรียนจะต้องศึกษา beta learning เสียก่อน

“ในด้านของการเขียน สมมติว่าเราเขียนงานมาร่างแรก ลองส่งอีเมลให้คนที่อยู่ในเมลล์ลิสต์ตัวเองดูเลย แล้วบอกให้เขาช่วยวิจารณ์มาหน่อย เราจะได้นำการวิจารณ์กลับมาดูจริงๆ ว่ามีตรงไหนที่เราไม่เชื่อ หรือนำไปปรับใช้ได้จริงๆ จากนั้นค่อยกลับมา reshape ตัวเองใหม่ สิ่งนี้จะทำให้เกิด ultralearning ขึ้นมาได้จริงๆ และผู้เรียนต้องใช้ทั้งต้นทุนที่เป็นเงินและต้นทุนเวลาให้น้อยลงด้วย ซึ่งในอีกด้านก็อาจจะเครียด ต้องดูว่าทำอย่างไรให้สอดคล้องเหมาะสมกับตัวเอง”

การเปลี่ยนแปลงเทรนด์โลกก็เป็นมิติที่สำคัญ เราควรจะอัพเดท iOS ด้านนี้ของตัวเองบ่อยๆ ในฐานะพลเมืองโลก และยิ่งสำคัญมากเข้าไปอีกหากเราต้องการวิพากษ์รัฐและเข้าใจความเป็นพลวัตทางสังคม วัฒนธรรมและการเมืองของประเทศอื่นๆ 

โตมรยกตัวอย่างเรื่อง urbanisation (การขยายตัวของความเป็นเมือง) ในด้านที่ว่าคนจำนวนมากกลายเป็นคนเมืองมากขึ้น การเข้ามาของเทคโนโลยีและดิจิตอลก็ยิ่งบ่มเพาะให้สังคมเติบโตไปในทางที่หลากหลาย วิถีเมืองเข้มข้นขึ้นเปิดช่องให้เราเข้าใจความสัมพันธ์เชิงอำนาจของหมู่คนที่ดำรงชีวิตในสังคมนั้นๆ

เราเห็นการปะทะกันของ individualism (ปัจเจกชนนิยม) และ collectivism (รวมหมู่นิยม) มากขึ้นผ่านความเชื่อทางการเมือง (politcal ideology) ที่แตกต่าง เพราะคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ฟาดฟันทางความคิดกันบนพื้นฐานที่บางครั้งก็แสนจะสุดโต่ง

“คนที่อายุมากก็ย่อมที่จะคุ้นเคยกับ collectivism คืออยู่กันแบบเป็นหมู่ อยู่ในระบบอุปถัมภ์บางอย่าง ซึ่งจะไม่เหมือนคนรุ่นใหม่ที่ตัวคนแต่ละคนคือหนึ่งหน่วยที่สามารถมีความคิดเป็นของตัวเองได้ เช่น ช่วงที่มีกระแสว่าคนยุคใหม่ชอบพรรคๆ หนึ่ง ซึ่งไม่รู้จริงหรือเปล่า แต่คนที่เป็น collectivism จะไม่ค่อยเชื่อว่าคนยุคใหม่จะสามารถเลือกพรรคนี้ได้ด้วยความคิดหนึ่งหน่วยของตัวเองจริงๆ จึงมีกระแสของการปั่นออนไลน์ จูงจมูก ล้างสมองต่างๆ นาๆ ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบสมัยก่อน

ในโลกสมัยใหม่ ทุกคนมีความคิดเป็นของตัวเองเพราะมันถูกพัฒนาด้วย Digital age  เราจึงเห็นความจริงที่หลากหลายมาก ไม่ได้มีแค่ความจริงเดียวลอยอยู่บนฟ้าแล้วทุกคนจะต้องเชื่อความจริงนั้น”

เมื่อเรามีชุดความรู้และชุดความจริงที่ไร้ขอบเขต เราจึงสามารถนำก้อนเหล่านี้มาเล่นกับ pain point และ conceptualisation ได้ด้วย คล้ายกับการทำภาพยนตร์ที่สลับเส้นเรื่องให้ฉวัดเฉวียนและทรงเสน่ห์ เมื่อนำ 3 สิ่งนี้มารวมกันแล้ว จะทำให้เกิด agenda ในการเขียนเพื่อสื่อสารในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์

“เวลาที่เราจะเล่าเรื่อง ลองนึกให้เหมือนกับตอนที่กำลังเดินทาง เช่น เริ่มบนทุ่งหญ้า เห็นความสวยงาม ถ้ามีหุบเขาแล้วมีห้วยไหม ข้ามน้ำไหม มีภูเขา มียอดด้วย เราต้องขึ้นไปอีกยอดหนึ่งที่เป็นไคลแม็กซ์ของเรื่อง หรือว่าจะเปิดเรื่องบนยอดเขาเลย พาคนมาดู climax แล้วค่อยดิ่งลงมาจนกลายเป็นห้วยหรือลำธารเพื่อปลอบใจความดิ่งนั้น มันออกแบบได้ทั้งหมดเลยขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการจะเล่ายังไง

ถ้าใครอยากเขียนหนังสือ ตรงที่เราคิดได้ให้เราคิดโดยใช้สมองคิด แต่ตรงกลางเรื่องลองไม่ใช้สมองคิดดู แต่ใช้ pain point ใช้ความทรงจำที่มันกรุ่นข้างใน ลองทำตัวเป็นเหยือกที่อยู่ในลำธาร หาช่วงเวลาที่เหมาะสม ห้องที่มีความมืดหรือความสว่างที่เหมาะสมกับเรา มีสมาธิ เหมือนกับอยู่ในภวังค์ แล้วเราก็ปล่อยให้มันไหลออกมาเอง เราอาจจะเริ่มที่เชียงใหม่ แต่มันพาเราไปโผล่ที่ชิคาโกก็ได้ แต่เรารู้ว่าที่สุดแล้วเราจะไปกรุงเทพฯ ปล่อยให้มันพาเราไป ตอนจบเราค่อยกลับมาดูมันอีกที พยายามลดทอนมันให้มันเข้ารูปเข้ารอยด้วยการใช้สมองอีกครั้งหนึ่ง”

ความเป็นไปได้ในการสร้างงานเขียนหนึ่งชิ้นจึงมีมากมาย ผู้เขียนต้องไม่ลืมใส่ input เข้าไปทุกๆ วันเพื่อลับไอเดียให้แหลมคมยิ่งขึ้น ยิ่งถ้าต้องการเขียนงานที่เป็น non-fiction ความเฉียบของประเด็นและรอยต่อของเหตุผลต้องเนี้ยบ ความหนักแน่นของข้อมูลยิ่งต้องไม่บุบสลายง่าย

“ปัจจุบันนี้มีวิธีเขียนงานอีกแบบหนึ่งที่เรียกว่า Data driven คือการเขียนที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เช่น สมมติว่าเราจะเขียนด่าการเกณฑ์ทหาร เราลองดูข้อมูลสิว่ามีข้อมูลการเกณฑ์ทหารประเทศต่างๆ อย่างไรบ้าง หรือไปดูเรื่อง Data visualisation เช่น ดูปริมาณการตายของทหารว่าสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทหารตายกี่แสนคนแล้ว นี่จะทำให้งานของเรามีมิติที่น่าเชื่อถือและแข็งแรงมากขึ้น 

ข้อมูลที่เห็นทุกวันนี้มีอย่างน้อยๆ 3 ระดับ คือข้อมูลที่เป็น big data ทั้งหลาย เช่น ค้นจากพวกสำนักงานสถิติแห่งชาติ สภาพัฒน์ฯ ฯลฯ สองคือข้อมูลระดับกลาง เป็นข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยต่างๆ ต่อคนสัก 200 หรือ 1000 คน และข้อมูลที่สำคัญที่สุดคือข้อมูลระดับเล็ก เช่น พอเราจ้องตาคน เราเห็นอะไรในตาของเขาหรือเปล่า ข้อมูลพวกนี้จะทำให้งานของเราไม่เหมือนใครเพราะไม่มีใครเห็นตาของคนนั้นเหมือนกับที่เราเห็น เพราะฉะนั้นถ้าใช้ข้อมูล 3 ชั้นนี้มาประกอบกัน มันจะกลายเป็นงานเขียนที่ทรงพลัง หนักแน่น แล้วก็มีความสะเทือนใจอยู่ในนั้นด้วย”

วงจรของการเขียนจึงซับซ้อนกว่าที่เห็น ไม่ว่าเรื่องราวนั้นจะเล็กหรือใหญ่ แต่ถ้ามันมีความหมายของต่อผู้เขียน agenda และการร้อยเรียงเรื่องจะเป็นจักรวาลของการตัดต่อความทรงจำ ขยำรวม บี้บด ทดท้อ และเต็มไปด้วยความรู้สึกที่บางครั้งก็เกินกำลังของตัวอักษร 

ไม่แปลกที่บางครั้งเราอยากจะฝังความทรงจำเอาไว้ให้เน่าเปื่อยแม้ว่าในอดีตมันจะเคยล้ำค่ามาก เพราะสุดท้ายแล้วเรากลัวว่ามันจะเปลี่ยนให้เราเป็นตัวเองในเวอร์ชั่นทุกข์ตรม แต่เป็นหน้าที่ของผู้เขียนที่ต้องเลือกว่าจะกัดฟันสู้ต่อหรือไม่ในสงครามภาษาที่มีหนึ่งในศัตรูเป็นตัวเอง

เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ นักเขียนชาวอเมริกันชื่อดังเคยกล่าวไว้สั้นๆ ว่า 

“There is nothing to writing. All you do is sit down at a typewriter and bleed.” 

แปลความได้ว่าจะเขียนหนังสือทั้งทีก็ไม่ต้องมากความ แค่นั่งลงตรงหน้าแท่นพิมพ์ แล้วก็หลั่งเลือดเท่านั้น

ในยคุนี้อาจจะเป็นการนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ เคอเซอร์กะพริบปริบไปพร้อมกับน้ำตา คำกล่าวนี้เกินจริงหรือไม่ ผู้เข้าร่วมเวิร์คช็อบคงจะตอบได้แตกต่างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาตีความจินตนาการและความทรงจำที่เก็บรวบรวมมาทั้งชีวิตกันไปในทิศทางที่เจ็บปวดที่สุดหรืองดงามที่สุดอย่างไรบ้าง

Latest Story

ไปให้พ้นจากการจ้องจับผิด: การเมืองของการเสพติด สู่ปัญหา “ปีศาจนักสูบ” แห่งมช.

ทำไมคนเราถึงสูบบุหรี่ ?…. ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน.. ที่แน่ ๆ คนสูบบุหรี่คงโดนถามคำถามนี้บ่อยครั้ง แต่อันที่จริงใครสักคนจะสูบบุหรี่เพราะอะไรก็คงจะมีแรงจูงใจหลายอย่างตามอัตวิสัยของแต่ละคน บางคนอาจจะชอบประสบการณ์เวลาตัวเองสูบ สูบเพื่อผ่อนคลาย เสริมสร้างจินตนาการบางห้วงขณะ หรือมันอาจจะไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลอะไรก็ได้ ก็แค่อยากสูบ อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนอยากชวนให้ทุกคนลองพิจารณาดูก็คือ เรื่อง “ภาพจำของคนสูบบุหรี่ในสังคม” คุณคิดว่าสังคมไทย ๆ มีภาพจำกับคนสูบบุหรี่แบบไหน ?