บันทึกการเดินทาง เชียงใหม่ – อุบลฯ และสนามทดลองทางศิลปะครั้งใหม่ Human ร้าย Human , Wrong – Ubon Agenda วาระวาริน 2020


ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2020 ที่ผ่านมา พวกเรา Human ร้าย Human Wrong ได้มีโอกาสร่วมแสดงงานศิลปะในงาน Ubon Agenda 2020 วาระวาริน (งานจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 21-30 พฤษจิกายน) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่จัดต่อเนื่องมาจากงาน  Khon Kaen Manifesto 2018 ที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งใช้แนวคิดการสร้างพื้นที่ปฏิบัติการทางศิลปะ (Space of Artisic Practices) มาสร้างปฎิสัมพันธ์ร่วมกับคนในพื้นที่ และนักปฎิบัติการทางศิลปะ 

‘พื้นที่ทางศิลปะในอีสานใครว่าไม่คึกคัก’ 

การสร้างสรรค์บรรยากาศทางศิลปะสมควรที่จะเบ่งบานอย่างต่อเนื่อง แนวคิดของการจัดงานแสดงในครั้งนี้จึงตีแผ่แนวคิดที่ว่าทำไมงานเทศกาลศิลปะจึงต้องกระจุกอยู่แต่ในกรุงเทพฯ การรวมศูนย์ในลักษณะนี้ตัดสีสันและน้ำเสียงของคนสร้างงานศิลปะในภูมิภาคอื่นๆ อย่างไรบ้าง

จากปี 2018 จนถึงปีนี้ โครงการ Khon Kaen Manifesto  ขยายโครงการ มาสู่พื้นที่ใหม่ นั่นคือจังหวัดอุบลราชธานี ในนาม Ubon Agenda อีกหนึ่งหมุดหมายที่เหล่านักปฎิบัติการทางศิลปะ นักเคลื่อนไหว และผู้คนในชุมชน อยากเห็นการแต่งแต้มสีสันและการบอกเล่าเรื่องราวที่แตกต่างจากวาทกรรมหรือความเข้าใจจากส่วนกลาง 

งาน Ubon Agenda 2020 จัดขึ้นครั้งแรกในปีนี้ โดยใช้พื้นที่ของ โรงเรียนตั้งใจอนุกูลศึกษา โรงเรียนร้างใจกลางจังหวัดที่อยู่ไม่ไกลจากทุ่งศรีเมืองมาเป็นตัวสื่อสาร ซึ่งตัวพื้นที่นี้พาพวกเราหนีออกมาจาก ‘White Cube’ (ห้องจัดแสดงงานศิลปะบนผนังขาว) ,หนีออกมาจากหอศิลป์ หนีออกมาจากความคุ้นเคยการแสดงงานศิลปะแบบเดิมๆ

 และเป็นครั้งแรกที่ Human ร้าย Human Wrong ได้ไปทดลอง และแสดงงานศิลปะครั้งแรกที่ภาคอีสานเช่นกัน

เชียงใหม่-อุบลราชธานี

การเดินทางจาก เชียงใหม่ สู่ อุบลราชธานี เป็นเวลาเกือบ 14 ชั่วโมงบนรถทัวร์สายเหนือสู่อีสานเป็นช่วงเวลาที่ยาวนาน สิ่งที่เราพกไปนอกเหนือจากงานศิลปะที่เคยจัดแสดงที่เชียงใหม่ คือ ความเข้าใจ “ความเป็นอีสาน” ที่แตกต่างจากภาพจำในการรับรู้จากสื่อกระแสหลัก  

‘อีสาน’ เป็นภูมิภาคที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นพื้นที่รองรับวาทกรรม ‘ห่างไกลความเจริญ’ ‘แรงงานของชาติ’ ‘พื้นที่แห้งแล้ง’ ‘ความกันดาร’ ฯลฯ 

‘ความห่างไกล’จากศูนย์กลางอำนาจรัฐไทย ย่อมทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็น เรื่องราวคนตัวเล็กตัวน้อยในพื้นที่อื่นๆ   มักอยู่นอกเหนือจินตนาการความเป็นส่วนหนึ่งของส่วนกลางอำนาจ นำไปสู่การนิยามความเป็นชายขอบของคนต่างจังหวัดที่ไม่มีทางเจริญทัดเทียมกับกรุงเทพฯ 

งาน Ubon Agenda ในครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนพื้นที่ปฎิบัติการทางศิลปะที่ร่วมกัน ‘ทดลอง’ การนำเสนอเรื่องราว นำเสนอน้ำเสียงของการทะเลาะ การต่อต้านอำนาจรัฐจากส่วนกลางที่ จากคนส่วนใหญ่ในประเทศคับแค้นใจจากการถูกกดทับด้วยอำนาจรัฐ  ถูกกดขี่มาเป็นเวลายาวนาน 

บรรยากาศของการเมืองในปัจจุบันเต็มไปด้วยเสียงแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ที่ดุเดือด เกือบทุกพื้นที่ในประเทศไทยพร้อมใจกันหาวิธีต่อต้านอำนาจที่รวมศูนย์ ปัจจัยเหล่านี้เป็นส่วนผสมที่ขับเน้นให้ตีมงาน “กบฎผีบุญ”  ยิ่งเชื่อมโยงกับงานศิลปะแห่งการต่อต้านที่กำลังสื่อสารกับผู้ชมเป็นอย่างมาก

ปฎิบัติการทางศิลปะกับการคัดเลือกผลงานจัดแสดงในโรงเรียนร้าง

ความน่าสนใจของการมาร่วมแสดงงาน Ubon Agenda ของพวกเราชาว Humanร้าย คือการออกแบบกระบวนการนำเสนอผลงานบนพื้นที่นอกหอศิลป์ หรือการจัดแสดงงานแบบ site-specific ในพื้นที่ห้องเรียนของโรงเรียนตั้งใจอนุกูลศึกษา ซึ่งกลายมาเป็นโรงเรียนร้างตั้งแต่ปี 2524 พวกเราจึงวางแผนหยิบงานศิลปะที่มี keyword ล้อไปกับแนวคิดของงาน และ พื้นที่โรงเรียนร้างแห่งนี้ นั่นคือ “การศึกษา” “ความห่างไกล” “อำนาจจากส่วนกลาง” ซึ่งได้คัดเลือกงานทั้งหมดสองชิ้น ได้แก่งานของ ‘นนท์’ กอบพงษ์ ขันทพันธ์ Human ร้ายรุ่นที่ 1 และ   ‘ฝน’ อรทัย งานไพโรจน์สกุล Human ร้ายรุ่นที่ 3 เพื่อให้สอดคล้องกับโจทย์ของพื้นที่การจัดแสดง

โรงเรียนร้าง ร่องรอยหลักฐานที่การกระจาย ‘สาร’ อุดมการณ์รัฐชาติและอำนาจเผด็จการ

งานของ นนท์ กับการต่อต้าน ‘propaganda’ ด้วยการมอมเมาผู้คน โดยใช้ผลงาน “ สุรายาดอง (สูตรผู้ถือครองประเทศ)” มาปรับปรุงและพัฒนาต่อ

ซึ่งผลงานชิ้นนี้มีลูกเล่นเฉพาะตัว ที่ใช้การนำเสนอนัยยะการต่อต้านอำนาจเผด็จการผ่านสัญลักษณ์ที่ชี้ให้เห็นว่า สิ่งแวดล้อมรอบตัวเรานั้นมีองค์ประกอบใดบ้างที่มอมเมา ควบคุม และทำให้ผู้คนสยบยอมต่ออำนาจรัฐผ่าน “สาร” ที่บรรจุอุดมการณ์รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตย์ และอำนาจเผด็จการ 

เป้าหมายสำคัญของการปกครองประชาชนคือการประกอบสร้างให้ผู้คนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน(อย่างไม่มีข้อสงสัย)  “โรงเรียน” จึงเป็นคำตอบแรกของพื้นที่ของการปลูกฝังบ่มเพาะอุดมการณ์สร้างชาติของรัฐสมัยใหม่ ในการที่จะควบคุมประชากรที่อยู่ไกลสายตา

เสียงเพลงที่ดังอย่างต่อเนื่อง กับเนื้อหาเดิมซ้ำๆ จังหวะ ท่วงทำนองที่เป็นระเบียบ ไม่แตกแถวถูกส่งผ่านเข้ามาในพื้นที่ของโรงเรียนเสมอและไม่มีท่าทีจะยินยอมให้ผู้ฟังไม่สื่อสารตอบโต้ หรือตั้งคำถามกลับ ความคิดเบื้องหลังเหล่านี้นำเสนอออกมาผ่านลำโพงขยายเสียงที่ใช้ในโรงเรียนและ, ป้ายคำขวัญขนาดใหญ่ที่ติดตั้งไว้รอบๆ 

โหลยาดองจากสิ่งของตัวแทนอำนาจเผด็จการที่หมักหมมจนเหม็นเน่า ทั้งหมดนี้ได้กลายเป็นรูปแบบหนึ่งของการนำเสนอสิ่งที่ควบคุม มอมเมา และทำให้เราสยบยอมโดยไม่รู้ตัว

โรงเรียนร้าง กับนักเรียนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

งานของฝน ที่มีชื่อว่า “กล่อง Ready to go “ถึงแม้จะดูเรียบง่าย เกิดจากงานฝีมือการตัดกระดาษที่มีร่องรอยของความไม่เป็นมืออาชีพในการตัด แต่สิ่งที่อยู่เบื้องหลังของงานนี้คือเรื่องราวของนักเรียนลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่ประสบกับการถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังของระบบการศึกษาไทย ที่น้อยคนจะหยิบยกมาพูดถึง 

งานถูกถ่ายทอดผ่านกล่องลังกระดาษที่ด้านในบรรจุด้วยชั้นกระดาษตัด และเจาะเป็นรูปทรงซ้อนทับกันจนเป็นฉากของเรื่องราวต่างๆ สะกดคนดูท่ามกลางแสงไฟสลัว เหมือนอยู่ในนิทานกล่อมเด็กก่อนนอน ที่หวังใช้เรื่องราวแฟนตาซีขับกล่อมให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปพร้อมกับฝันรสขม ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว หากมันเป็นนิทาน คงไม่มีใครรู้ว่าตอนจบจะเป็นอย่างไร

ในโลกของความเป็นจริง ครอบครัว และลูกหลานแรงงานข้ามชาติ พวกเขาเหล่านี้จะได้รับการช่วยเหลือดูแลอย่างไร ไม่รู้ว่าปัญหาการศึกษานี้จะถูกแก้ไขเมื่อไหร่ หรือเป็นเพราะอยู่ห่างไกลสายตาของรัฐจึงไม่เคยถูกมองเห็น

เราทุกคนคือนักปฎิบัติการทางศิลปะ

งานหลายชิ้นที่อยู่ในโรงเรียนร้างแห่งนี้ นอกจากจะไม่มีคำอธิบายบอกเล่าที่มาที่ไป(จากสิ่งที่พบเห็นคือผลงานแต่ละชิ้นไม่มีป้ายอธิบายงาน )และผลงานบางชิ้นถูกจัดวางปะปนกับข้าวของเครื่องใช้ในโรงเรียน ทำให้พื้นที่การจัดแสดงงานนี้เต็มไปด้วยคำถาม และความอัดอั้น ด้านหนึ่งเหมือนปล่อยให้คนดูงานถกเถียงกับตัวเอง และเป็นกรณีบังคับให้เราต้องเปิดผัสสะการรับรู้เพื่อทำความเข้าใจ และใช้เวลาอย่างละเอียดในการทดลองที่จะปะติดปะต่อเรื่องราวที่ส่งออกมาจากผลงานที่อยู่ตรงหน้า  

ความตั้งใจของงาน Ubon Agenda ในครั้งนี้คือ ความต้องการให้’โรงเรียนตั้งใจอนุกูลศึกษา’กลายเป็นพื้นที่ทางศิลปะของคนในพื้นที่ ผู้ปฎิบัติการที่เกี่ยวข้องด้านศิลปะ เปิดโอกาสให้พวกเขามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์และร้อยเรียงการแสดงออกทางศิลปะ

คนในพื้นที่ที่อยู่บริเวณรอบๆโรงเรียนคอยให้ข้อมูล บอกเล่าเรื่องราวในอดีตของโรงเรียน แม่ค้าพ่อค้าที่ขายกาแฟ ขายอาหารให้กับทีมงานคนต่างที่ต่างถิ่นอย่างพวกเรา รวมถึงคนที่บุกเบิกการสำรวจพื้นที่ ทีมงานจัดการพื้นที่ ทีมงานติดตั้งงานศิลปะ เจ้าของผลงาน ผู้ประสานงาน พี่ๆที่แวะเวียนมาดูแลเปิดปิดโรงเรียนตลอดทั้งสัปดาห์ รวมทั้งทีมงานภาคส่วนอื่นๆ ที่ขับเคลื่อนงานให้เกิดขึ้นและจบลงอย่างราบรื่น  

‘Ubon Agenda’ จึงมิใช่เพียงงานนิทรรศการศิลปะ  แต่เป็นพื้นที่ทดลอง แก้ปัญหา จัดการกับข้อจำกัดและเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่ทำให้พวกเรา Human ร้าย ได้เรียนรู้ว่า ผลงานศิลปะไม่ได้อยู่ในพื้นที่จัดแสดง เช่น หอศิลป์ ถึงจะส่งเสียงได้ดังกว่าเสมอไป

ผู้คนและองค์ประกอบการทำงานที่หลากหลายดั่งจิ๊กซอว์ ทำให้เรารู้ว่าไม่สามารถขาดชิ้นส่วนใดชิ้นส่วนหนึ่งไปได้ เป็นหัวใจสำคัญของการตั้งใจพลัดถิ่นมาเยือนอุบลราชธานีในครั้งนี้ 

พวกเรา Human ร้าย Human Wrong หวังว่าจะได้นำเอาผลงานศิลปะที่เกิดจากการเฝ้าสังเกตเรื่องราวของผู้คนจะสามารถสื่อสารออกไปสู่ปริมณฑลการรับรู้ของผู้คนที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นในโอกาสต่อไป


Latest Story

ไปให้พ้นจากการจ้องจับผิด: การเมืองของการเสพติด สู่ปัญหา “ปีศาจนักสูบ” แห่งมช.

ทำไมคนเราถึงสูบบุหรี่ ?…. ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน.. ที่แน่ ๆ คนสูบบุหรี่คงโดนถามคำถามนี้บ่อยครั้ง แต่อันที่จริงใครสักคนจะสูบบุหรี่เพราะอะไรก็คงจะมีแรงจูงใจหลายอย่างตามอัตวิสัยของแต่ละคน บางคนอาจจะชอบประสบการณ์เวลาตัวเองสูบ สูบเพื่อผ่อนคลาย เสริมสร้างจินตนาการบางห้วงขณะ หรือมันอาจจะไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลอะไรก็ได้ ก็แค่อยากสูบ อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนอยากชวนให้ทุกคนลองพิจารณาดูก็คือ เรื่อง “ภาพจำของคนสูบบุหรี่ในสังคม” คุณคิดว่าสังคมไทย ๆ มีภาพจำกับคนสูบบุหรี่แบบไหน ?