Kenduri Seni Patani 2024 เทศกาลศิลปะเชื่อมประเด็นวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม – การเมือง – และชุมชนหลากหลายภูมิภาคมาจัดแสดงในปัตตานี

Kenduri Seni Patani 2024 เทศกาลศิลปะเชื่อมประเด็นวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม – การเมือง – และชุมชนหลากหลายภูมิภาคมาจัดแสดงในปัตตานี

เทศกาลศิลปะนานาชาติ Kenduri Seni Patani 2024  : ภายใต้แนวคิด “ก่อนอุบัติ และหลังสลาย”

ส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ภัณฑารักษ์

” เทศกาลศลปะ Kenduri Seni Patani 2024 ภายใต้แนวคิด “Before birth and beyond death:

ก่อนอุบัติและหลังสลาย” จึงรวบรวมผลงานศิลปะของศิลปินในภูมิภาคปาตานี ศิลปินจากภูมิภาคต่างๆในประเทศไทย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอื่นๆ ที่สะท้อนเรื่องราวปัญหา วิกฤตการณ์ของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิกฤตการณ์ทางสังคม-การเมือง ผลกระทบจากเงื้อมมือมนุษย์หลากรูปแบบ ตั้งแต่ระดับปัจเจก บุคคล ครอบครัว ท้องถิ่น ภูมิภาค ประเทศและสากล หรือกระบวนการทางศิลปะแบบสหวิทยาการ ผสานกับมานุษยวิทยา สังคมวิทยา และวิธีวิทยาอื่นๆ ผ่านการสร้างสรรค์ผลงานทั้งด้วยวัสดุธรรมชาติ วัตถุธาตุอันมีมาตั้งแต่ก่อนมนุษย์เกิด กับเศษวัสดุเหลือใช้ ที่จะยังคงอยู่หลังการสลายของมนุษย์ รวมถึงสื่อศิลปะตามกาลเวลา ที่อาจถูกนำเสนอทั้งในมิติเชิงบวกและเชิงลบ เพื่อซักนำผู้ชม เข้าไปเปิดลิ้นซักจิตสำนึกของตนเอง ในฐานะ ผู้ร่วมสร้างมรดกความทรงจำของโลก อันมีผลเกี่ยวเนื่องกับการอยู่รอดของมนุษยชาติในอนาคต ต่อการตระหนักถึงความยั่งยืนของธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ดอกหญ้า ไปจนถึงดาราจักร “

 

เทศกาลศิลปะครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากทีมจัด ปาตานี อาร์ตสเปซ ศิลปิน คนทำงานศิลปะจากทั่วประเทศไทยที่หอบเอางานศิลปะมาลงขัน นักศึกษาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และชาวบ้านในพื้นที่ มาร่วมสร้างงานเทศกาลครั้งนี้ให้เกิดขึ้นมา


เทศกาลฯ จัดแสดงผลงานศิลป์กว่า 80 ชิ้น กระจายอยู่ทั่ว 9 พื้นที่ในตัวอำเภอหนองจิก เมืองปัตตานี


  • Patani Artspace ปาตานีอาร์ตสเปช
  • Ratchaprachanukroh 40 school (Pattani) โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 40 (ปัตตานี)
  • Sandy Gallery ( PSU Visualart) ห้องแสดงศิลปะลานทราย วิชาเอกทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • Lak Muang Temple (วัดหลักเมือง จังหวัดปัตตานี)
  • Pattani Home for children สถานสงเคราะห์เด็กปัตตานี
  • ETAM Art Eatery & Gallery อีตำอาร์ตอีทเทอรี่แอนด์แกลเลอรี่
  • Patex Warehouse ( Pattani Industry) โกดังปาเท็กซ์ (บริษัทปัตตานีอุตสาหกรรม)
  • Sapakafe 36 Premium สภากาแฟ 36 พรีเมี่ยม
  • Pattani Garden Arts Space ปัตตานีการ์เด้นอาร์ตสเปช

แต่ละสถานที่ช่วยขับเน้นเนื้อหาของผลงานศิลปะให้เข้ากับบริบทและประวัติศาสตร์ของพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ภายใต้การดูแลของ อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล ภัณฑารักษ์ของงานเทศกาลศิลปะครั้งนี้

วันที่ 10 สิงหาคม เป็นวันเปิดงานอย่างเป็นทางการ ผู้ชมจะได้สัมผัสประสบการณ์พิเศษด้วยการเดินทางเยี่ยมชมทั้ง 9 จุด โดยรถซางเล้ง และ ปิดท้ายด้วย การเยือน Patani Artspace ในเวลา 15.00 น. นอกจากนี้ผู้ร่วมงานและคนในชุมชนได้ร่วมรับชมการแข่งขัน “เรือยอกองห้าฝีพาย” จากนักกีฬาตัวแทนตำบลดอนรัก และ เพลิดเพลินไปกับกิจกรรมอ่านบทกวี ดนตรีสด และหนังตะลุง ในช่วงค่ำ

จุดแรก โรงเรียนราชประชานุเคราะห์

เริ่มกันที่สถานที่แสดงงานจุดแรก โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ นำเสนอนิทรรศการในรูปแบบการให้ความรู้ด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้วยผลงานที่พูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีความเฉพาะในแต่ละภูมิภาค ซึ่งอาจส่งผลกระทบในมิติต่างๆ ของชีวิตผู้คนในทุกระดับ เช่นศิลปินจากจังหวัดเชียงใหม่ อนุสรณ์ ธัญญะปาลิต, จักรพันธ์ ศรีวิชัย, สุรเจต ทองเจือ, สิรศิลป์ ปังประเสริฐกุล ที่นำเสนอเรื่องปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ทั้งต้นตอของปัญหา ผลกระทบต่อสุขภาพ การใช้ชีวิตของผู้คน ผ่านการตีความรูปแบบการเล่าเรื่อง ผสมผสานเทคนิคที่หลากหลาย

"Sandy Gallery" คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

จุดที่สองจัดที่บริเวณ Sandy Gallery คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ในบริเวณโถงลานทรายที่อยู่ภายในอาคาร โดยปกติบริเวณนี้จะใช้สำหรับการเรียนศิลปะบำบัด และจัดกิจกรรมต่างๆ ในคณะฯ ผลงานส่วนใหญ่ในบริเวณนี้จะพูดถึง เรื่องราวของวัฒนธรรมความเป็นอยู่ ของผู้คนที่เชื่อมโยงกับทะเล ผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชายขอบ

สถานสงเคราะห์เด็กปัตตานี

จุดที่สาม

สถานสงเคราะห์เด็กปัตตานี ใช้พื้นที่ของอาคารที่เป็นห้องพักเก่าของเด็กๆ ในสถานสงเคราะห์เป็นพื้นที่ในการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความป่วยไข้ สภาวะของจิตใจมนุษย์ รูปแบบผลงานศิลปะบางชิ้นเลือกใช้วิธีการทำงานร่วมกับเด็กนักเรียน และมาจากงานศิลปะบำบัด ที่นำมาจัดแสดง

เมื่อเข้ามาถึงเรือนนอนก็จะพบกับห้องแรกด้านซ้ายมือ ซึ่งเป็นผลงานของศิลปิน “นอเดียนา บีฮิง” ที่ใช้ถุงฟอกไตมาแทนผืนผ้าใบ ใช้การปักเย็บแทนพู่กันที่บอกเล่าเรื่องราวช่วงชีวิตที่ต้องดูแลผู้ป่วยโรคไต ในช่วงบรรยากาศที่สังคมไทยมีระบบสาธารณะสุขที่กระท่อนกระแท่นของรัฐ ที่เป็นส่วนหนึ่งให้ต้องการเผชิญหน้ากับสุขภาพจิตที่ได้รับผลกระทบจากการดูแลผู้ป่วยด้วยเช่นกัน 

ผลงานอีกชิ้นที่ไม่ควรพลาด คืองานของ “พิเชษฐ์ เปียร์กลิ่น” ที่ผลงานศิลปะพูดถึงความฝัน ความเจ็บปวด จนถึงความทรงจำของเด็กในสถานสงเคราะห์ ศิลปินพาผู้ชมตีความถึงเรื่องราวในอดีตของพื้นที่กับเด็กในสถานสงเคราะห์ที่เคยใช้ห้องนี้หลับนอน ซึ่งในความเป็นจริงผู้ชมอย่างเราไม่อาจจะทราบได้ว่าอดีตชีวิตของเด็กๆแต่ละคนที่ต้องมาอยู่ในสถานสงเคราะห์แห่งนี้ ผ่านเรื่องราว ความยากลำบาก ความเจ็บปวดอย่างไรมาบ้าง อาจจะตกค้างอยู่ในความฝัน ที่พวกเขาเผชิญอยู่ทุกค่ำคืนก็เป็นได้ 

ยังมีศิลปะที่เป็นลักษณะการทำงานร่วมกันด้วยการปักผ้ากับเด็ก เยาวชนในพื้นที่ปัตตานี ถ่ายทอดเป็นเรื่องราว และใบหน้าของผู้คนในรูปแบบต่างๆ

วัดหลักเมือง จังหวัดปัตตานี

จุดที่สี่วัดหลักเมือง จังหวัดปัตตานี ใช้พื้นที่นี้ขยายภูมิทัศน์เรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิต ความตาย ความเชื่อ มีงานภาพถ่ายของศิลปินชาวพม่า Kyaw min Htet ที่ตีความขยายขอบเขตประเด็นเพศสภาพผ่านวัฒนธรรมเสื้อผ้าที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของชาวพม่า ในบริเวณศาลาเดียวกันมีผลงานของ “พระมหาเสาวนันท์ สุภาจาโร” จัดแสดงภาพวาดจากปลายปากกาลูกลื่นเป็นรูปแผนที่, ทิวทัศน์ และที่เป็นสัญลักษณ์ทางความเชื่อความสัทธาที่แตกต่างกันของแต่ละวัฒนะธรรม

ในบริเวณใต้เมฬุของวัดหลักเมืองงานศิลปะจัดวางที่ถ่ายทอดเรื่องความตาย และความทรงจำของคนในครอบครัวของศิลปินชาวเชียงใหม่ ฉัตรชัย สุขอนันต์

ถัดไปที่ศาลาอีกหลัง มีผลงานของ “ณัฐพงค์ นิ่มชะนะ” ใช้ผงถ่านที่เกิดจากการเผาข้าว มาสร้างเป็นภาพใบหน้าของชาวนาบนพื้นผิวผ้าถุง เสื้อผ้า กระสอบปุ๋ย กระสอบข้าว ซึ่งเกิดเป็นภาพผลลัพธ์ที่มีความน่าสนใจ ทำให้ใบหน้าที่ปรากฎออกมามีทั้งความพล่าเลือน หลุดล่อน ขาดหาย แตกต่างกันไป สื่อถึงชีวิตชาวนาที่ถูกหลงลืม ทั้งจากปัญหาราคาข้าว ปัญหาต้นทุนทางการเกษตรที่ไม่ถูกแก้ไขด้วยความเข้าอกเข้าใจอย่างแท้จริง เป็นอาชีพที่มีอยู่ แต่กลับถูกลืม

สภากาแฟ 36 พรีเมี่ยม และ ETAM Art Eatery & Gallery อีตำอาร์ตอีทเทอรี่แอนด์แกลเลอรี่

จุดต่อไป สภากาแฟ 36 พรีเมี่ยม และ ETAM Art Eatery & Gallery อีตำอาร์ตอีทเทอรี่แอนด์แกลเลอรี่ มีการคัดสรรผลงานที่พูดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธรรมชาติ ที่มาจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตกับพัฒนาเมือง ผ่านผลงานจากสายตาของศิลปินหลากหลายสัญชาติ

โกดังปาเท็กซ์

จุดที่หก โกดังปาเท็กซ์

โกดังแห่งนี้มีผลงานของเพื่อนๆ “ฮอมจ๊อยซ์” สมาชิก Human ร้าย Human Wrong รุ่นที่1 ร่วมแสดงงานด้วย ผลงานชิ้นที่นำมาจัดแสดงทำให้เห็นถึงพัฒนาทั้งเทคนิค แนวคิดการทำงานที่เชื่อมโยงประวัติศาตร์ชุมชนเวียงหนองหล่ม อ.แม่จัน จ.เชียงราย ของพวกเขา ผ่านการวิพากษ์มรดกตกค้างจากยุกต์รัฐบาลประยุทธ์ ราวปี 2563 ที่เกิดแผนระยะสั้นการพัฒนาเวียงหนองหล่ม ก่อนยกระดับเป็นแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูเวียงหนองหล่ม จังหวัดเชียงราย ภายใต้แผนนี้มีโครงการทั้งสิ้น 65 โครงการ โดยระบุว่าทำเพื่อช่วยบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งส่งเสริมอาชีพและคุณภาพชีวิตให้ชาวบ้าน แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนในชุมชนต้องแลกด้วยการสูญเสียพื้นที่ที่ระบบนิเวศทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ ,พืชพันธุ์หายากสูญหาย รวมถึงพื้นที่ที่รองรับวิถีชีวิตการเลี้ยงควายของคนในชุมชน ซึ่งกลุ่มฮอมจ๊อยซ์ จึงรวบรวมนำเอาเศษซากรากไม้ใหญ่จากบริเวณป่าโกงกางน้ำจืดที่ถูกทำลาย มาจัดแสดงให้เห็นถึงร่องรอย หลักฐานการรุกล้ำระบบนิเวศที่เกิดขึ้นจากอำนาจรัฐ ซึ่งติดตั้งร่วมกับวิดีโอ ที่บันทึกบรรยากาศของพื้นที่บริเวณเวียงหนองล่ม และพิธีพิธีฌาปนกิจซากต้นไม้ใหญ่ตามวิถีล้านนา

กลุ่ม “ฮอมจ๊อยซ์” เป็นกลุ่มศิลปินท้องถิ่นจัหวัดเชียงราย มีจุดเด่นมาจากสมาชิกแต่ละคนพี่น้องที่เกิดและเติบโตในชุมชนเดียวกัน มีความสนใจศิลปะ รวมถึงมีทักษะการทำงานศิลปะที่แตกต่างกัน จึงเกิดเป็นไอเดียนำเอาศักยภาพที่แต่ละคนมีมา “ฮอม”กัน เป็นภาษาเหนือที่แปลว่า “ลงขัน” หรือ “รวมกัน” จนเกิดเป็นที่มาของชื่อกลุ่ม

ความโดดเด่นของผลงานกลุ่ม“ฮอมจ๊อยซ์” คือการนำเอาเรื่องราวในจังหวัดเชียงราย สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ที่วิพากษ์ถึงประเด็นปัญหาทางการเมือง ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และประเด็นของวิถีชีวิตของคนในชุมชน ร้อยเรียงและขยายผลออกมาเป็นงานศิลปะ พวกเขาตะเวนนำเอาผลงานศิลปะไปร่วมจัดแสดง กับกลุ่มเครือข่ายศิลปะท้องถิ่นในภาคต่างๆ ของประเทศไทย เพื่อบอกเราสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนของพวกเขา

จากการทัวร์ชมงานศิลปะในเทศกาลครั้งนี้ แม้ว่าเวลาในช่วงกิจกรรมทัวร์จะกระชั้นไปเสียหน่อยอาจจะดื่มด่ำ หรือเก็บรายละเอียดได้ไม่มากเท่าที่ควร ทั้งนี้ผู้เขียนได้เห็นบรรยากาศการเตรียมงานก่อนวันเปิดเทศกาล จึงเห็นได้ว่า เทศกาลศิลปะครั้งนี้ เกิดจากความตั้งใจของกลุ่มคนทำงานศิลปะที่ต้องการขยายภูมิทัศน์โลกศิลปะเชื่อมกับชุมชน ให้คนในชุมชนเมืองปัตตานีเปิดมุมมอง และเปิดโลกทัศน์ต่องานศิลปะทั้งเนื้อหา และรูปแบบใหม่ๆ 

อีกด้านหนึ่งเราเห็นได้ว่างานเทศกาลศิลปะฯ ครั้งนี้เต็มไปด้วยความท้าทาย ทั้งข้อจำกัดด้านวัฒนธรราม ภาษา ทรัพยากรทุน พื้นที่ และเวลาทำงานติดตั้งผลงาน รวมถึงการใช้ทรัพยากรเวลา และทีมงานในการสื่อสารกับชุมชนที่ได้เข้าใจถึงจุดประสงค์การทำเทศกาลครั้งนี้ 

สุดท้ายนี้สิ่งที่ทำให้เทศกาลฯครั้งนี้เกิดขึ้นได้เพราะความร่วมมือร่วมใจ ร่วมอุดมการณ์ไปด้วยกัน ทั้งศิลปิน คนทำงานศิลปะภาคส่วนต่างๆ, นักศึกษาศิลปะ, คนในชุมชน ต่างร่วมกันลงขันแรงกาย แรงใจ ทักษะที่มี เกิดเป็นความเข้มแข็งของชุมชนศิลปะที่ก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ ด้วยน้ำใจ และการช่วยเหลือกัน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมที่อยากเห็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

เทศกาลครั้งนี้จัดจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 สถานที่จัดแสดงบางจุดมีเวลาเปิดเข้าชมแตกต่างกัน

ผู้ที่สนใจอยากมาชมงานเทศกาลครั้งนี้สามารถ ติดตามข่าวสารจากเพจ 

www.facebook.com/kenduriseninusantara 

 

 

Latest Story

“ดูสามย่าน หันมองมช. : พันธกิจมหา’ลัยไทย 2024” 

สรุปประเด็น”ดูสามย่าน หันมองมช. : พันธกิจมหา’ลัยไทย 2024″ บทนำ – ทำไมต้องเป็นหนังเรื่องนี้ ที่เราเลือกนำมาฉายในมช. ?.พิสิษฏ์ นาสี – Gentrification… การเบียดขับคนจนในโลกการศึกษาท่ามกลางบริบทเสรีนิยมใหม่.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ – จากปลายกระบอกปืนเผด็จการทหาร.. สู่การปล้นทรัพยากรโดยคนรวย มิติทางชนชั้นที่ถูกกลบเกลื่อน.นาวินธิติ จารุประทัย