ส่องรถไฟฟ้าในฝันของชาวเชียงใหม่ : ขนสุขสาธารณะ

เนื้อหา / ภาพประกอบ
โดย : กลุ่มขนสุขสาธารณะ จากโครงการ Human ร้าย Human Wrong 5

เชียงใหม่..เมืองในฝัน คงจะเป็นคำที่ใครหลายๆคนคุ้นหู หรือเคยมองเห็นผ่านสายตากับคำโฆษณานี้ แต่คำว่า “เชียงใหม่…เมืองในฝัน”เป็นคำโฆษณาที่เหมาะสมกับเชียงใหม่เป็นอย่างมาก เพราะเราอยู่กับฝันมาอย่างยาวนานเหลือเกิน โดยเฉพาะฝันที่จะมีขนส่งมวลชน ฝันที่จะมีคุณภาพที่ดี และเดินทางสะดวกในเมืองใหญ่นี้

ความฝันของขนส่งมวลชนเชียงใหม่ถูกปั้นมาตั้งแต่ปี 2539 จนปัจจุบัน เป็นระยะเวลากว่า 26 ปีแล้วที่เราอยู่กับฝันนี้ และไม่รู้ว่าต้องรออีกกี่ทศวรรษ ฝันที่จะมีขนส่งมวลชนของชาวเชียงใหม่ จะเป็นจริงเสียที

วันนี้เราจึงอยากชวนทุกคนไปส่องโครงการ “รถไฟฟ้าในฝันของคนเชียงใหม่” กัน ว่าเพราะเหตุใด เชียงใหม่ ถึงยังไม่มีรถขนส่งมวลชนกับเขาเสียที


เมื่อ 29 ปีที่แล้ว(2536)… การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้วางโครงการการจัดสร้างระบบขนส่งใน 8 หัวเมืองใหญ่ คือ เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น นครราชสีมา สงขลา ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา และชลบุรี 

ในอีก 3 ปีถัดมา ข่าวการสร้างรถไฟฟ้าในจังหวัดเชียงใหม่ก็กลับมาคืบหน้าอีกครั้ง พร้อมคำโปรยสานฝันครั้งใหญ่ที่ว่า “การทางพิเศษฯ เผย ชาวเชียงใหม่ได้ใช้รถไฟฟ้าปี 2544 แน่นอน!”

โดยโครงการนี้ก็ได้คืบหน้าไปจนถึงการทำแผนพัฒนาและสำรวจเส้นทาง โดยใช้จำนวนเงินในขั้นตอนนี้ไป 30 ล้านบาท และพร้อมที่จะเตรีย…

“การทางพิเศษฯ เผย ชาวเชียงใหม่ได้ใช้รถไฟฟ้าปี 2544 แน่นอน!” 

คำโปรยนี้ก็เป็นได้เพียงพาดหัวข่าวต่อไป เพราะจนตอนนี้ ปี 2565 แล้ว คนเชียงใหม่ ยังไม่เคยมีรถไฟฟ้าใช้สักคัน

และเป็นที่น่าเสียดายกับระบอบราชการไทยๆ เช่นเดิม ที่เมื่อเกิดการเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ งานที่องค์กรณ์เดิมทำไว้ จึงไม่ถูกสานต่อ เพราะเดิมทีโครงการรถไฟฟ้าเชียงใหม่ อยู่ในความรับผิดชอบของ กทพ. แต่เมื่อเปลี่ยนผู้รับผิดชอบเรื่องรถไฟฟ้าไปเป็นขององค์การรถไฟฟ้ามหานคร รถไฟฟ้ารางเบาของเชียงใหม่ในปี 2539 นั้น ไม่ได้ไปต่อ 

ประกอบกับองค์การรถไฟฟ้า ต้องไปจัดระบบรถไฟฟ้า ให้กรุงเทพเสียก่อน เมืองรองอย่างเชียงใหม่ จึงถูกลืมไปโดยปริยาย.


อีก 10 ปีผ่านไป (2549) ความฝันที่จะมีขนส่งมวลชนของคนเชียงใหม่ ถูกนำมาฉายอีกครั้ง ในรูปแบบใหม่อย่างรถ BRT หรือรถเมล์ด่วนพิเศษ

ซึ่งโครงการนี้ นอกจากจะมุ่งประเด็นไปที่การมีขนส่งมวลชนแล้ว ยังพร้อมที่จะสนับสนุนการเดินทางในรูปแบบอื่น เช่น การเดิน การปั่นจักรยาน พร้อมทั้งเรื่องทัศนคติของผู้คนต่อการเดินอีกด้วย

โดยโครงการนี้ได้ดำเนินการศึกษารูปแบบรถขนส่งมวลชนที่เหมาะสมกับเชียงใหม่ขึ้นมา

และหยุดไว้แค่นั้น..

อีกหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้หลายโครงการไม่ได้ไปต่อ งานนโยบายไม่ถูกเสนอ และหลายๆ การศึกษาต้องหยุดชะงัก เป็นเพราะระบบประเทศนี้อาจจะเอื้อต่อการ “ห้ามไม่ให้พัฒนา” มากเกินไป อย่างการ “รัฐประหาร” ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า

เมื่อปี พ.ศ.2549 เกิดรัฐประหารขึ้น โดยคณะคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดย สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้ารัฐประหาร ทักษิณ ชินวัตร และเลือก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่ง

ภายใต้การปกครองในคราวรัฐประหาร จึงเป็นที่น่าเสียดายว่าขนส่งมวลชนที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น นถูกดับไปเมื่อเกิดการยึดอำนาจ ทำให้ขนส่งในฝันนี้ไม่ถูกสานต่อ และถูกลืมไป เช่นเดิม


จนในปี 2560 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)ได้เปิดเผยว่าชาวเชียงใหม่จะได้ใช้รถไฟฟ้ารางเบาแล้ว ซึ่งได้ทำการศึกษาเส้นทาง พร้อมทั้งจะทำการจัดประกวดราคาให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนด้วย

โดยโครงการสร้างรถไฟฟ้ารางเบานี้ จะมีเส้นทางจำนวน 3 เส้นทาง และวิ่งทั้งใต้ดินและบนดิน ซึ่งมีเส้นทางแบ่งตามสี ดังนี้

– สายสีแดง ช่วงรพ.นครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี รวม 16 สถานี ระยะทาง 15.8 กม.
– สายสีน้ำเงิน ช่วงสวนสัตว์เชียงใหม่ – แยกศรีบัวเงินพัฒนา รวม 13 สถานี ระยะทาง 11 กม.
– สายสีเขียว ช่วง แยกรวมโชคมีชัย – ท่าอากาศยานเชียงใหม่ รวม 10 สถานี ระยะทาง 12 กม.

โดยปัจจุบันจะเน้นไปที่สายสีแดงเป็นหลัก

(ที่มา: https://thelist.group/realist/blog/รถไฟฟ้า-เชียงใหม่/)

สืบเนื่องจากโครงการรถไฟฟ้ารางเบาที่เกิดขึ้น รถไฟฟ้ารางเบาเชียงใหม่ก็มีกระแสอย่างหนาหูในช่วงปี 2561-2562 เป็นอย่างมาก โครงการจึงได้นำร่องศึกษารูปแบบการวิ่ง ผลกระทบ และพูดคุยกับภาคประชนในการสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงขึ้น ซึ่งในระหว่างนี้กำลังอยู่ในช่วงดำเนินการดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ตามแผนกำหนดลงมือก่อสร้างในปี 2565 แล้วเสร็จปี 2570

ถึงอย่างไรก็ตาม ในปี 2565 นี้ กระแสข่าวของการมีรถไฟฟ้ารางเบาในเชียงใหม่ เริ่มที่จะเงียบลง

จนใครหลายๆ คนก็อาจจะลืมไปแล้ว ว่าจะมีรถไฟฟ้าเกิดขึ้น เพราะโครงการเริ่มเงียบลงไปและไม่มีข่าวเหมือนกันที่กล่าวว่าจะสร้างเสร็จในปี 2570 อย่างแต่ก่อน

คนเชียงใหม่ “ซึ่งเป็นผู้ใช้ขนส่งมวลชนนี้” หลายๆคนไม่ทราบถึงโครงการนี้ อาจจะเป็นเพราะประชาชนสามารถติดตามความคืบหน้าของโครงการได้ยากมาก และไม่สามารถรับรู้ถึงความคืบหน้าของโครงการจากเว็บไซต์ประชาสัมพันธ์ของโครงการได้เลย จึงเป็นเครื่องหมายคำถามใหญ่ๆ ในหัวของหลายๆคน เมื่อกล่าวถึงรถไฟฟ้าในเชียงใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น

ซึ่งจากข่าวต่างๆ (ที่ไม่ใช่เว็บไซต์หลักของโครงการ) เราพบว่าขณะนี้ รฟม.กำลังพิจารณารูปแบบรถอีกครั้ง รวมไปถึงการศึกษาเรื่องความคุ้มทุนของการสร้างรถไฟฟ้าครั้งนี้

ซึ่งเป็นกรณีที่ควรติดตามต่อไป ว่าเชียงใหม่จะมีรถไฟฟ้าได้ “จริงๆ” หรือเปล่า

จากปี 2539 (หรือปี 2536)จนถึงปี 2565 เกือบ 3 ทศวรรษ ที่คนเชียงใหม่ ต่างฝันถึงขนส่งมวลชน ที่มีเราอยู่ในนั้นมาตลอด แต่เพราะระบบที่เอื้อต่อการไม่พัฒนาอยู่ตลอดเวลา ทำให้ขนส่งมวลชน กลายเป็นแค่ฝันต่อไป ไม่รู้ว่าจะเป็นจริงได้เมื่อไร แล้วเราต้องรอนานไปอีกกี่ทศวรรษ

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเปลี่ยนองค์กรณ์ การถูกลำดับความสำคัญเป็นเมืองรอง การรัฐประหาร การขาดการติดตามให้ประชาชนรับรู้หรือความเอาแน่เอานอนไม่ได้ ล้วนเป็นปัญหาที่ “ดับ” ฝันการมีขนส่งมวลชนไป 

ถึงอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะถูกดับฝันซ้ำแล้วซ้ำเล่า คนเชียงใหม่ก็ยังอยากมีขนส่งมวลชน และอยากเห็นโครงการเหล่านี้เป็นจริงขึ้นมาเสียที เพราะคงไม่มีใครที่อยากเห็นเชียงใหม่ต้องใช้รถส่วนตัวพร้อมฝุ่นควันเต็มถนน รถแดงที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ หรือต้องจำยอมขับรถให้เป็น เพราะไม่เคยมีขนส่งมวลชนโอบรับ เพราะเราต่างอยากมีชีวิต ที่ดีขึ้น กับขนส่งที่อยู่จริง ไม่ใช่ภาพฝันอีกต่อไป. 


Latest Story

ไปให้พ้นจากการจ้องจับผิด: การเมืองของการเสพติด สู่ปัญหา “ปีศาจนักสูบ” แห่งมช.

ทำไมคนเราถึงสูบบุหรี่ ?…. ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน.. ที่แน่ ๆ คนสูบบุหรี่คงโดนถามคำถามนี้บ่อยครั้ง แต่อันที่จริงใครสักคนจะสูบบุหรี่เพราะอะไรก็คงจะมีแรงจูงใจหลายอย่างตามอัตวิสัยของแต่ละคน บางคนอาจจะชอบประสบการณ์เวลาตัวเองสูบ สูบเพื่อผ่อนคลาย เสริมสร้างจินตนาการบางห้วงขณะ หรือมันอาจจะไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลอะไรก็ได้ ก็แค่อยากสูบ อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนอยากชวนให้ทุกคนลองพิจารณาดูก็คือ เรื่อง “ภาพจำของคนสูบบุหรี่ในสังคม” คุณคิดว่าสังคมไทย ๆ มีภาพจำกับคนสูบบุหรี่แบบไหน ?