เมื่อความหวังฝากไว้กับการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ : เอิร์ก Human ร้าย 3

ในช่วงเวลานี้ ประเด็นสถานการณ์ทางการเมืองไทยในปี 2563 ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า เยาวชนและคนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาททางการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทัศนคติทางการเมืองเป็นอย่างมากกว่าแต่เดิมที่เยาวชน คนรุ่นใหม่เกิดความกลัวและรู้สึกว่าการเมืองนั้นเป็นเรื่องไกลตัว แต่ในเวลานี้เวทีการแสดงออกของเยาวชนเปิดกว้างเป็นอย่างมากและสิ่งที่น่าสนใจคือการหากลวิธีในการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ที่น่าจับตามอง

บทสัมภาษณ์ พิเศษของเหล่าสมาชิก Humanร้าย ตั้งแต่รุ่นที่1 จนถึงรุ่นที่3 ในประเด็นที่พวกเขาต้องการแสดงออกและเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงของคนรุ่นใหม่ในการมองปัญหาการเมืองไทยในปัจจุบัน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันสำคัญของสังคมที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

“เอิร์ก” นักศึกษาจากคณะสื่อสารมวลชน ปีที่2 หนึ่งในสมาชิก Humanร้ายรุ่นที่ 3 ที่ฝากผลงานการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนตาบอดในสังคมที่คนพิการถูกละเลยจากรัฐ

“เอิร์ก” นักศึกษาจากคณะสื่อสารมวลชน ปีที่2 หนึ่งในสมาชิก Humanร้ายรุ่นที่ 3


Q : สถานการณ์บ้านเมืองในมุมมองของเราในตอนนี้เป็นยังไงบ้าง

ค่อนข้างเครียดเนื่องจากเรื่องเศรษฐกิจส่งผลต่อเราโดยตรงเพราะที่บ้านขัดสนไม่มีเงินจากภาวะ ทางเศรษฐกิจ ทำให้เราใช้ชีวิตอยู่ในเมืองค่อนข้างลำบาก(ทางการเงิน)มากกว่าเดิม เพราะได้เงินน้อยกว่าเดิมแต่มีรายจ่ายมากขึ้น ค่าครองชีพสูง อาหารแพงขึ้น เหตุผลหลัก เป็นเพราะรัฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารงานที่ดีพอในทุกๆเรื่อง

เรื่องกฎหมายก็เช่นกัน จากข่าวหลายๆข่าวเช่น คดีอาชญากรรม คดีอุ้มวันเฉลิม การยัดเงิน คดีกระทิงแดง

แบบว่าเหมือนในยุครัฐบาลเผด็จการชุดนี้ ใครจะฆ่า จะข่มขืน ก่ออาชญากรรมยังไงก็ไม่ได้รับโทษ 

แต่การไปยืนถือป้ายประท้วงกลับโดนออกหมายเรียกเหมือนไปก่ออาชญากรรมซะงั้น 

เอาจริงๆรู้สึกสมเพชระบบการปกครองของไทยในตอนนี้นะ ไม่ว่าจะลบล้างโค่นอำนาจยังไง พวกอำนาจอยุติธรรมก็ยังเป็นใหญ่กว่าประชาชนอยู่ดี ถึงขั้นผิดหวังจนหาข้อมูลการย้ายสัญชาติเรียบร้อย

Q : ในมุมมองของเราทำไมคนรุ่นใหม่ถึงอยากลุกขึ้นมาแสดงออกทางการเมืองมากขึ้น

 เราคิดว่าโลกเทคโนโลยีมีส่วนเยอะมาก เมื่อก่อนเราจะรับรู้สื่อด้านเดียว เช่นหนังสือพิมพ์ วิทยุ ทีวี ซึ่งส่วนตัวรู้สึกว่าเจ้าของสื่อแต่ละช่องก็น่าจะรู้ว่าปั่นหัวประชาชน

แล้วสมัยนั้นประชาชนก็เชื่อข้อมูลจากสื่อ เพราะไม่ได้มีข้อมูลที่หลากหลายเหมือนในอินเทอร์เน็ต 

พอเป็นยุคดิจิตอลที่สังคมมันเชื่อมต่อกันทั้งโลก เราก็สามารถรับข้อมูลได้หลายทิศทาง ซึ่งมันทำให้เราได้รู้ข้อเท็จจริงบางอย่างที่รัฐบาลปกปิดไว้เช่นกัน

หลายๆคนมีวิจารณญาณในการเสพสื่อมากขึ้น สมัยก่อนเวลามีข่าวอุ้มฆ่า คนไทยส่วนใหญ่แทบไม่รู้นะ แต่สมัยนี้มันปกปิดไม่ได้ ประชาชนเห็นในสิ่งที่รัฐบาลทำกับประชาชนอย่างไม่ยุติธรรมเยอะขึ้น อย่างกรณีซีอุยที่เพิ่งได้ทำพิธีฌาปนกิจไปเพราะความจริงพึ่งปรากฎต่อสาธาณะ เนื่องจากพลังของประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการชี้แจงข้อมูล

อีกประเด็นเมื่อก่อนเรามองการเมืองมันเป็นเรื่องของผู้มีอำนาจ แต่ปัจจุบันการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน และคนรุ่นใหม่เลยถือว่าเป็นผู้ที่ไม่โดนปิดหูปิดตาเหมือนสมัยก่อน เขาก็ย่อมที่จะมีสิทธิแสดงออกทางการเมืองอย่างเสรี

Q : เรามีความคิดเห็นอย่างไรกับการใช้ศิลปะเข้ามาเป็นเครื่องมือ หรือกระบอกเสียงในการแสดงออกของคุณรุ่นใหม่

ศิลปะมันไม่จำกัดรูปแบบ มันคืออะไรก็ได้สำหรับเรา จะเป็นสิ่งที่เอาไว้เยียวยาหรือเอาไว้โจมตีก็ได้ เราอยากให้คนรุ่นใหม่ดูงานศิลปะมากขึ้น เพราะมันมีความแยบยลนี่แหละ 

เช่นเวลาเราวิจารณ์รัฐบาล เราพิมพ์ด่าโต้งๆไป บางครั้งคนรอบข้างก็ตัดสินว่าเราสุดโต่ง หรือรัฐบาลก็จะหาว่าเราเป็นภัยต่อความมั่นคง

 แต่ถ้าเรานำศิลปะมาประยุกต์ใช้ เช่นเขียนบทความที่(แอบ)วิจารณ์อย่างแนบเนียน คนมาอ่านเขาก็จะแปลสารเอาเอง แต่ fact ที่เราสร้างไว้ย่อมไม่หายไปจากบทความนั้น

ซึ่งเจ้าหน้าที่ ก็มาจับเราไม่ได้ เพราะถือว่ามันไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งตอนที่เอิร์กทำงานศิลปะในโครงการ humanร้าย เราเลือกใช้ข้อความจากน้องๆนักเรียนคนตาบอดที่ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลการทำงานศิลปะครั้งมีมาใช้ในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลด้วยภาษาเบลล์

Q : มีเหตุการณ์หรือสถานะการณ์ไหนที่ทำให้เราตระหนักว่า เราควรออกมาพูดหรือแสดงออกต่อเรื่องสิทธิมนุษยชน

เราว่าหลักๆเลยเหตุการที่ริดรอนสิทธิมากที่สุดเลยคือประเด็นด้านการศึกษา เพราะเราเคยแสดงออกทางการเมืองในตอนรัฐประหาร2557 เพราะครูถาม “ไม่กลัวทหารเหรอ” เราก็บอก “จะกลัวทำไมเดี๋ยวก็เลือกตั้ง” เขาก็โมโห ปิดประตูในห้องพร้อมข่มขู่ให้เรากลัว จนเราต้องบอกว่าขอโทษเขาถึงจะปล่อยเราออกจากห้อง ซึ่งเรางงมาก ทั้งๆที่เราไม่ได้ออกไปถือป้ายประท้วงเลยนะ เป็นเหตุการณ์ที่อยู่ในใจตลอดมา 

จนถึงปัจจุบันเราพึ่งรู้ตัวอ่ะว่าเราถูกข่มขูในเรื่องที่เราไม่ผิด(ตอนนั้นเราคิดว่าเราคงพูดอะไรผิด)ในใจกลัวนะถูกข่มขู่แต่เราเป็นคนไม่จำยอมต่อความอยุติธรรม 

เรากลายเป็นคนที่เรียกร้องสิทธิให้ตัวเองตลอด เช่น กรณีโรงเรียนทุจริตเงินค่าเทอม เราก็เป็นแกนนำในการประท้วงในโรงเรียน พอมามหาลัยเราก็เจอเหตุการณ์ไม่เป็นธรรมและสุดท้ายเราก็ต้องออกมาเป็นแกนนำเรียกร้องอีก 

เอาเข้าจริงสถาบันการศึกษานี่แหละถือเป็นตัวขัดขวางไม่ให้แสดงออกทางการเมืองเลย มักจะเห็นได้จากโรงเรียนมัธยมต่างๆที่ล่าตัวนักเรียนที่ไปประท้วง

Q : ในฐานะที่เราเป็นคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการแสดงออกต่อเรื่องสิทธิและเสรีภาพ อยากจะพูด หรือกระตุ้นให้คนได้เข้าใจประเด็นนี้ว่ามันมีความจำเป็นยังไงบ้าง

เราว่าคนชนชั้นกลางกับชั้นล่างอ่ะจะรู้ว่าตัวเองไม่ควรเพิกเฉยต่อสิทธิตัวเอง เพราะจากสภาพเศรษฐกิจแล้ว ชนชั้นเหล่านี้คิดว่า เผชิญวิกฤติเหมือนกันจากพิษรัฐบาล แต่ชนชั้นอีลิทน่าจะเผิกเฉยแน่นอน แต่เราก็จะเห็นการโจมตีในทวิตเตอร์ ในเชิงการแบน แอนตี้ พวกเจ้าสัว ดาราต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง 

ซึ่งเราว่าโอเคเลยนะ เพราะมีดาราต่างๆออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมากขึ้น เราคิดว่าการรณรงค์ไปเรื่อยๆ มันทำให้ประชาชนเริ่มรับรู้ได้เอง แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวมักจะมีวัยรุ่นนักศึกษาที่ยังคิดไม่ได้เพราะเรียนหนังสือยังใช้เงินพ่อแม่อยู่ เลยไม่สนใจการเมือง เราก็ได้แต่ภาวนาว่าโตไปพวกเขาจะรู้พิษจากรัฐบาลเอง 

เราพูดให้คนสนใจการเมืองได้ยากมากถ้าใครไม่อินมันจะไม่อิน แต่เราคิดว่าการที่มีการเมืองในโซเชียลบ่อยๆมันคือการกระตุ้นอย่างหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นผลดีเพราะหากสื่อนำเสนอการเมืองมากๆ ผู้อ่านก้จะต้องเกิดปฎิสัมพันธ์แน่นอน

Q : อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงต่อสถานการณ์ทางการเมืองไทยอย่างไรบ้าง

อำนาจประชาธิปไตยต้องเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

เอิร์ก และผลงานศิลปะของเธอ “ผีของคนตาบอด” ในนิทรรศการ Human ร้าย 3


Latest Story

ไปให้พ้นจากการจ้องจับผิด: การเมืองของการเสพติด สู่ปัญหา “ปีศาจนักสูบ” แห่งมช.

ทำไมคนเราถึงสูบบุหรี่ ?…. ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน.. ที่แน่ ๆ คนสูบบุหรี่คงโดนถามคำถามนี้บ่อยครั้ง แต่อันที่จริงใครสักคนจะสูบบุหรี่เพราะอะไรก็คงจะมีแรงจูงใจหลายอย่างตามอัตวิสัยของแต่ละคน บางคนอาจจะชอบประสบการณ์เวลาตัวเองสูบ สูบเพื่อผ่อนคลาย เสริมสร้างจินตนาการบางห้วงขณะ หรือมันอาจจะไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลอะไรก็ได้ ก็แค่อยากสูบ อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนอยากชวนให้ทุกคนลองพิจารณาดูก็คือ เรื่อง “ภาพจำของคนสูบบุหรี่ในสังคม” คุณคิดว่าสังคมไทย ๆ มีภาพจำกับคนสูบบุหรี่แบบไหน ?