เมื่อความหวังฝากไว้กับการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ : โจ้ Human ร้าย 1

ในเวลานี้จะเห็นได้ว่าเยาวชนมีส่วนขับเคลื่อนกระบวนการการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพ และกล้าที่จะออกมาส่งเสียงถึงผู้ใหญ่ที่ยังควบคุมอำนาจอย่างไม่เป็นธรรม สถานการณ์ในเวลานี้เหมือนเป็นสิ่งยืนยันเราได้ว่า ความคิดแบบอนุรักษ์นิยมของคนรุ่นเก่า การบังคับใช้อำนาจที่ทำให้เด็กกลัว มันไม่ได้ผลอีกต่อไป เมื่อคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และเข้าใจสิทธิของตนเอง และความเท่าเทียมของคนในสังคมมากขึ้น

แบบสอบถามพิเศษของเหล่าสมาชิก Humanร้าย ตั้งแต่รุ่นที่1 จนถึงรุ่นที่3 ในประเด็นที่พวกเขาต้องการแสดงออกและเป็นกระบอกเสียงของคนรุ่นใหม่ในการมองปัญหาการเมืองไทยในปัจจุบัน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันสำคัญของสังคมที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

“โจ้” หนึ่งในสมาชิก Humanร้ายรุ่นที่ 1 กับผลงานแนวคิดอันแสนคมคายกับการตั้งคำถามต่อเสียงเพลงที่สอดแทรกมายาคติต่อคำว่า”รักชาติ”

“โจ้” Creative Director ที่ SHIFTER หนึ่งในสมาชิก Humanร้ายรุ่นที่ 1


Q : สถานการณ์บ้านเมืองในมุมมองของเราในตอนนี้เป็นยังไงบ้าง

ถ้าให้มองภาพกว้างๆ ส่วนตัวรู้สึกว่าบ้านเมืองเรายังวนเวียนอยู่กับความขัดแย้งเดิมๆ ตั้งแต่ 2475 สู่เหตุการณ์เดือนตุลา 16-19 จนถึงการเมืองเสื้อเหลือง – เสื้อแดงช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา กล่าวคือเป็นการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มอำนาจเก่า กับอำนาจใหม่ มันอาจจะมีดีเทลบางอย่างอาจจะเปลี่ยนไปตามบริบทสังคมในขณะนั้นๆ เช่นชื่อตัวละครสำคัญ  เครื่องมือหรือกระบวนการในการต่อสู้และแสดงออก ฯลฯ แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างคลาสสิคของไทยยังเหมือนเดิม คือ“ประชาชนไม่ได้มีอำนาจอะไรมากนัก” 

แต่มองว่าภาคประชาชนค่อนข้างเปลี่ยนแปลงไปเยอะเลยโดยเฉพาะในช่วงสิบกว่าปีหลัง  มันเกิดอาการตื่นตัวทางการเมืองกันทั่วทุกหัวระแหงโดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่  พวกเขาเป็นเจนเนเรชั่นที่เจอการเมืองกันตั้งแต่อ้อนแต่ออกเลย 

เขาเห็นอะไรหลายๆ อย่างตั้งแต่เด็ก ส่วนตัวคิดว่าเขามีภูมิคุ้มกันในทางการเมืองค่อนข้างมาก เพียงแต่มันไม่มีพื้นที่ไหนยอมรับฟังเขา พอมีทวิตเตอร์ ทุกอย่างมันเลยระเบิดออกมาอย่างที่เห็น เพราะเขาอยู่ในโครงสร้างที่มันบิดเบี้ยวมานาน ถูกกดทับด้วยค่านิยมจารีตเก่าที่คนรุ่นก่อนๆ อาจจะยอมรับได้ เพราะสมัยนั้นอุดมการณ์รัฐมันแข็งแรง แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่ พวกเขารู้สึกว่า “การเป็นสลิ่มมันไม่เท่” การสมาทานอุดมการณ์รัฐมันไม่ตอบรับกับชีวิตและสังคมของเขาอีกต่อไป มันต้องเป็นประชาธิปไตย ต้องเท่าเทียม ต้องรู้เรื่อง Gender ต้องเข้าใจความหลากหลาย ต้องมีรัฐสวัสดิการ มองเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างและเข้าใจความเหลื่อมล้ำ ต้องสมาทานอุดมการณ์ทางการเมืองที่มันก้าวหน้าแหลมคม มันเลยมีการตั้งคำถาม ท้าทาย เขย่าโครงสร้างอำนาจกันรัวๆ 

กลับกัน สิ่งที่ยังเหมือนเดิมคืออุดมการณ์ของกลุ่มอำนาจรัฐ ที่ยังคงยึดถืออำนาจเดิมๆ จารีตแบบเดิมๆ ไว้ไม่ยอมปล่อย ใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์และเห็นต่างจากอุดมการณ์รัฐ รูปแบบการใช้ความรุนแรงอาจจะต่างจากยุค 6 ตุลา แต่ฝ่ายขวาเองก็ ดีไซน์รูปแบบอำนาจการปกครองด้วยกลวิธีใหม่ๆ เช่น นิติรัฐอภิสิทธิ์ อย่างที่อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูลนำเสนอ คือซ่อนการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนเอาไว้ภายใต้กฏหมายที่รัฐมีอภิสิทธิ์สามารถใช้อำนาจละเมิดสิทธิเสรีภาพของเราทุกคน 

ส่วนตัวมองว่าการเมืองไทยมันเปลี่ยนแปลงไปแค่ภายนอก แต่อุดมการณ์ของรัฐที่มีต่อประชาชนยังเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นความขัดแย้งมันก็อาจจะวนเวียนอยู่แบบนี้ไปอีกสักพัก แต่การเปลี่ยนแปลงก็อาจจะเร็วขึ้น(มั้ง) ถ้าดูจากการชุมนุมที่ผ่านมา

Q : ในมุมมองของเราทำไมคนรุ่นใหม่ถึงอยากลุกขึ้นมาแสดงออกทางการเมืองมากขึ้น

ผมเดาเอาเองว่า เขาคงคิดว่าแบบนี้ “มันอยู่ไม่ได้รึเปล่าวะ?” คือเศรฐกิจก็พัง การเมืองก็แย่ สิทธิเสรีภาพก็ถูกลิดรอน มันไม่มีอนาคตให้เขาได้มองเห็นตัวเองใช้ชีวิตอยู่ในสังคมนี้อย่างสงบสุขมั้งครับ เขาไม่อยากใช้อนาคตของพวกเขาทนอยู่แบบศิโรราบกับอำนาจเหมือนที่คนรุ่นก่อนๆ ทนได้ ความอยุติธรรมมันเข้าใกล้เขามากขนาดที่ผลักให้พวกเขาต้องใส่ใจการเมืองมากๆ ซะด้วยซ้ำ 

ผมมองว่าการกลับขึ้นมาครองอำนาจของฝ่ายขวาหลังจากรัฐประหารปี 57 มันทำให้ทุกๆ คนผิดหวัง แม้แต่ในหมู่คนที่นิยมในอุดมการณ์อำนาจนิยมด้วยซ้ำ 6 ปีที่ผ่านมามันล้มเหลวไปหมดเลย คนที่เคยเชียร์ให้ปฎิรูปก่อนหน้านี้ หรือคนที่เคยสนับสนุน กกปส. เองก็คงจะแอบเขินๆ ที่สิ่งที่พวกเขาปราถนามันไม่ได้สวยหรูอะไรแบบที่พวกเขาวาดฝันไว้เท่าไหร่ ทำให้พวกเขากลายเป็นว่าต้องนิ่งเฉยกับการเมืองต่างจาก 6 ปีก่อน มันก็ไม่แปลกที่คนรุ่นใหม่เขาจะออกมาสู้เพื่ออนาคตตัวเอง เพราะคนรุ่นก่อนส่งต่อสังคมแบบนี้ให้เขา แล้วเขามองว่ามันอยู่ไม่ได้

Q : เรามีความคิดเห็นอย่างไรกับการใช้ศิลปะเข้ามาเป็นเครื่องมือ หรือกระบอกเสียงในการแสดงออกของคุณรุ่นใหม่

ศิลปะมันมีกลไกหลายอย่างที่ทำให้ตัวของมันเองเป็นเครื่องมือที่ดีในการสื่อสารทางการเมือง บางเรื่องถ้าผมโกรธมากๆ ผมอาจจะไม่สามรถพูดตรงๆ เป็นสเตตัสเฟซบุ๊คได้ แต่ผมสามารถใส่ความโกรธลงไปในงานศิลปะได้ ผ่านการวิพากษ์วิจารณ์ การท้าทายเสียดสี การตั้งคำถามต่ออำนาจศักดิ์สิทธิ์ในสังคม ศิลปะจึงพาข้อความของเราไปได้ไกลกว่าการพูดคุยถกเถียงตรงๆ ในบางแง่ ส่วนตัวมองว่าตรงนี้เป็น“ความงามของศิลปะ” คือมันให้พื้นที่เราและคนดูได้ขบคิดมากพอสมควร

แต่อีกประเด็นนึงที่ผมอยากพูดถึงคือ การพูดเรื่องทางการเมืองด้วยศิลปะมันก็มีหลายมุมที่มันอาจจะไม่ได้ฟังค์ชั่นตามที่เราต้องการ เพราะยังไงผมก็ยังมองว่าวงการศิลปะในไทยยังไม่ได้เปิดกว้างเท่าไหร่ อำนาจของศิลปะ และศิลปินก็ยังคงอยู่ในมือกลุ่มศิลปินที่รับใช้อำนาจศักดิ์สิทธิ์ในสังคมอยู่ดี 

ความงามที่สังคมนี้สมาทานร่วมกันมันเป็นความงามแบบเดียวกับที่รัฐต้องการ คือมีแต่ความสะอาด ความเป็นระเบียบ ความสงบ และความงามเหล่านี้มันยังไม่ถูกตั้งคำถามมากเท่าที่ควร เพราะฉะนั้นศิลปะมันจึงไม่ได้ตกมาถึงมือของคนทั่วทั้งสังคม ในโรงเรียนที่ผมเคยเรียน ยังสอนแค่ปิกัสโซวาดรูปอะไรปีไหนอยู่เลย ไม่ได้สอนถึงแก่นแท้ของศิลปะที่ว่าด้วยการตั้งคำถามและการคิดเชิงวิพากษ์ เพราะมันจะไปขัดต่ออุดมการณ์ของรัฐที่เขาอาจจะไม่ได้ต้องการให้เรามีความคิดเป็นของตัวเองขนาดนั้น

เพราะฉะนั้นส่วนตัวผมมองว่าการพูดเรื่องการเมืองในศิลปะเป็นสิ่งที่ดี และมันจะดีมากขึ้นไปอีกหากเราพูดเรื่องการเมืองบนทุกๆ พื้นที่ของสังคม ไม่ใช่แค่อยู่ในหอศิลป์ เพราะศิลปะมันมีต้นทุนสูง ทั้งในฝั่งคนทำ คนดู การเมืองมันต้องพูดได้ทุกพื้นที่ แลกเปลี่ยนกันได้ในทุกๆ มิติของสังคม

งานศิลปะที่ผมทำก็ตั้งเป้าไว้ว่าอยากให้ผู้ชมทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ไม่ต้องมีต้นทุนความรู้ความเข้าใจในศิลปะอะไรมากมาย (เพราะมันแพง)  ผมอยากให้เด็กนักเรียนเดินผ่านมาเห็นก็สามารถย่อยได้ หรือคลิ๊กกับเขาตรงนั้นเลย ไม่ต้องปีนกะไดดู มันเลยออกมาไม่ค่อยเท่ห์ ไม่ค่อยมีท่าทางอะไร  แต่ฟังค์ชั่นตามที่ผมต้องการคือคนดูเข้าใจสิ่งที่ผมอยากพูด

Q : มีเหตุการณ์หรือสถานะการณ์ไหนที่ทำให้เราตระหนักว่า เราควรออกมาพูดหรือแสดงออกต่อเรื่องสิทธิมนุษยชน

ช่วงเรียนมหาลัยประมาณปี 1 ผมเรียนวิจิตรศิลป์ มช. จำได้ว่ามีคลาสนึงที่เขาให้นักศึกษาได้อภิปรายถึงตัวคณะว่าอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง กลุ่มของผม raise ประเด็นเรื่องรับน้องขึ้นมา เพราะวิจิตรศิลป์รับน้องค่อนข้างโหด ตัวผมเรียนสาขาที่ไม่ได้รับน้อง ในขณะที่เพื่อนๆ ที่นั่งอยู่ในคลาสรับร้องเกือบหมด 

ตอนอภิปรายบนเวที รุ่นพี่คนนึงส่งไมค์ให้ผมพูด (โดยไม่ได้นัดหมายกันก่อนด้วย) ผมก็พูดไปตามความรู้สึก จำได้ว่าทั้งคลาสน่าจะมีสัก 50 กว่าคนได้ เงียบกันหมดทั้งห้องเลย 

พอผมพูดเสร็จก็เหมือนจะมีรุ่นพี่ที่เป็นสต๊าฟเชียร์ขึ้นมาพูดต่อเรื่องรับน้องต่อจากผม จำรายละเอียดไม่ได้แต่สิ่งที่ผมรู้สึกคือตอนเดินลงมาจากตึกหลังเลิกคลาส ก็ได้ยินเหมือนเสียงตะโกนด่าไล่ตามหลังมา

เหตุการณ์นี้ทำผมช็อคไปเหมือนกัน ไม่เข้าใจว่าการพูดคุยกันด้วยเหตุผลมันจะมีคนโกรธอะไรถึงขั้นที่ด่าเราตามหลังขนาดนั้น เพราะเราเรียนศิลปะ คณะที่เปิดกว้างทางความคิดและจินตนาการ แต่กลับมีรุ่นพี่เหล่านี้ลิดรอนสิทธิของน้องๆ ด้วยการรับน้องโดยอ้างว่าเป็นประเภณี เป็นการสร้างอะไรต่อมิอะไรทั้งหลายแหล่ที่เขาชอบอ้างกัน ผลิตซ้ำมายาคติและระบอบอำนาจนิยมที่เป็นอีกหนึ่งต้นต่อของปัญหาเชิงโครงสร้างทางการเมืองไทย 

พอโตขึ้นผมก็เข้าใจรุ่นพี่คนนั้นว่าทำไมเขาถึงโกรธ เพราะสิ่งที่ผมพูดวันนั้นมันไปท้าทายและเขย่าโครงสร้างอำนาจของเขา รุ่นพี่คนนั้นอาจจะรู้สึกว่าตัวเองกำลังสูญเสียอำนาจหรือที่ทางของเขาไปจึงต้องทำแบบนั้น และมีรุ่นน้องอีกหลายคนที่ถูกลิดรอนสิทธิจากการรับน้อง ต้องศิโรราบต่ออำนาจที่ไม่เท่าเทียมเหล่านี้  เพราะฉะนั้นถ้ามองในแง่นี้การรับน้องเป็นเรื่องโคตรจะการเมืองเลย และมันเป็นสิ่งที่กำลังละเมิดสิทธิของเราอยู่  ไม่ว่ามันจะเป็นเรื่องเล็กน้อยขนาดไหน มันสำคัญที่เราจะต้องมองเห็นมัน พูดถึงมัน ต่อสู้กับมันจนกว่ามันจะแฟร์ 

Q : ในฐานะที่เราเป็นคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการแสดงออกต่อเรื่องสิทธิและเสรีภาพ อยากจะพูด หรือกระตุ้นให้คนได้เข้าใจประเด็นนี้ว่ามันมีความจำเป็นยังไงบ้าง

ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราถูกผลักออกจากการเมือง มีคนริบเอาสิทธิเสรีภาพของเราไป โยนคืนมาให้เเค่เศษเหลือๆ เราคิดว่าสิ่งนี้คือเสรีภาพที่แท้จริง เรามีความสุขกับสิ่งที่เขาหยิบยื่นให้ แต่จริงๆ มันไม่ใช่อย่างนั้น มันเป็นแค่เศษเสี้ยวเดียวของสิ่งที่มันเป็นของเรา  

มนุษย์มันอยู่แบบนี้ไม่ได้ เราอยู่แบบนี้ไม่ได้ เราต้องมีสิทธิของเรา เราต้องมีเสรีภาพของเรา มันเป็นหน้าที่ที่เราต้องปกป้องโอบประครองไว้ซึ่งของเหล่านี้ที่เป็นของของพวกเรา เราต้องต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิ เสรีภาพ ตัวตน จิตวิญญาณของเรา ประเทศนี้ สังคมนี้ เป็นของเรา อย่าให้ใครมาบอกเป็นอื่น เพราะฉะนั้นถ้าคุณไม่สู้ตอนนี้ วันนี้ ในขณะที่มีคนต่อสู้อยู่ พรุ่งนี้มันอาจจะไม่เหลือใครยืนข้างๆ คุณแล้ว 

Q : อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงต่อสถานการณ์ทางการเมืองไทยอย่างไรบ้าง

ผมอยากเห็นวันที่ประชาชนคนไทยมีอำนาจในการตัดสินใจได้เองว่าตัวเราของเรานี้ อยากไว้ผมทรงอะไร แต่งตัวแบบไหน อยากที่จะเชื่อหรือไม่เชื่ออะไร ศรัทธาหรือไม่ศรัทธาในอะไร มีอำนาจสามารถตรวจสอบสถาบันทางสังคมต่างๆ ได้ วิพากษ์วิจารณ์ตั้งคำถามต่อความอยุติธรรมได้ ไม่ใช่ถูกกดขี่ คุกคาม ข่มขู่ เลวร้ายและระยำตำบอนที่สุดคือถูกอุ้มหายไปเฉยๆ เหมือนมดแมลง ประชาชนทุกคนต้องมีอำนาจที่ทำให้รักษาไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพของตัวเองได้ ขณะเดียวกันก็เคารพผู้อื่นด้วยเช่นกัน อยากเห็นวันที่ทุกคนได้รับอำนาจอธิปไตยของพวกเรากลับคืนมา น่าจะเป็นวันที่เราทุกคนร่วมกันเฉลิมฉลองอิสรภาพและพาสังคมไทยไปข้างหน้าได้จริงๆสักที 

อ่านแนวคิด รายละเอียดผลงานของโจ้ “National Anthem” เพิ่มเติมในนิทรรศการ Human ร้าย 1


Latest Story

ไปให้พ้นจากการจ้องจับผิด: การเมืองของการเสพติด สู่ปัญหา “ปีศาจนักสูบ” แห่งมช.

ทำไมคนเราถึงสูบบุหรี่ ?…. ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน.. ที่แน่ ๆ คนสูบบุหรี่คงโดนถามคำถามนี้บ่อยครั้ง แต่อันที่จริงใครสักคนจะสูบบุหรี่เพราะอะไรก็คงจะมีแรงจูงใจหลายอย่างตามอัตวิสัยของแต่ละคน บางคนอาจจะชอบประสบการณ์เวลาตัวเองสูบ สูบเพื่อผ่อนคลาย เสริมสร้างจินตนาการบางห้วงขณะ หรือมันอาจจะไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลอะไรก็ได้ ก็แค่อยากสูบ อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนอยากชวนให้ทุกคนลองพิจารณาดูก็คือ เรื่อง “ภาพจำของคนสูบบุหรี่ในสังคม” คุณคิดว่าสังคมไทย ๆ มีภาพจำกับคนสูบบุหรี่แบบไหน ?