อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นหนึ่งในผู้มีคุณูปการแก่วงการวิชาการและประวัติศาสตร์ไทยด้วยผลงานจำนวนมากจนเป็นที่ยอมรับในความแหลมคม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการจุดประกายแสงสว่างทางปัญหาให้กับคนรุ่นหลัง
.
และในหลายๆครั้ง อ.นิธิได้มาร่วมกิจกรรมของร้าน Book Re:public เป็นกัลยาณมิตรที่ทุกคนรักมาอย่างยาวนาน ยังมีงานเสวนาอีกหลายโอกาสที่ทางร้านไม่ได้บันทึกเอาไว้ ในโพสต์นี้เราขอรวบรวมภาพ และงานเสวนาบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับอาจารย์นิธิไว้
ด้วยความเคารพ Book Re:public
. . .หมุนเข็มนาฬิกากลับกี่ครั้ง
เข็มก็ยังเดินไปข้างหน้าเสมอ . . .
— นิธิ เอียวศรีวงศ์
1.BENEDICT ANDERSON รำลึกเบนแอนเดอร์สันและเสวนาเกาะบ่าครูเบ็นส่องเลนส์ดูโลก
“….ในสำนวนไทยนั้นเปรียบเทียบเอาไว้ว่าความรู้ที่ครูบาอาจารย์เราสร้างคือสิ่งที่เหมือนกับบ่าที่เราต้องขึ้นไปยืน เพื่อที่จะได้มองเห็นสิ่งต่างๆ อย่างกว้างไกลขึ้นกว่าที่ครูได้มองเห็น หากปราศจากความรู้หรือปราศจากบ่าของครูเราคงไม่มีทางจะเห็นอะไรได้กว้างไกลอย่างนั้น ในความเป็นครูท่านได้ให้ความเป็นเพื่อนกับพวกเราด้วย…..”
“…ชาติ เป็นชุมชนอีกชนิดหนึ่ง อาศัยจินตกรรมแบบที่คิดว่าคนที่เราไม่เคยเห็นหน้าค่าตา ที่นราธิวาส ที่เชียงราย ที่ไหนก็แล้วแต่ มันมีความสัมพันธ์พิเศษกับเรา
ในขณะที่นักวิชาการที่เกี่ยวกับชาตินิยม จะพูดถึงชาตินิยมในแง่ที่สร้างความเกลียด ซึ่งไม่มีใครปฎิเสธ มันทำให้เราเกลียดคนที่ไม่ใช่คนไทย
แต่อ.เบน พูดว่าอีกด้านของชาตินิยมสร้างความรัก มันทำให้เรารักกับคนที่เราไม่เคยเห็น ทำให้เรารู้สึกผูกพันกับคนที่ถูกสมมุติว่าเป็นคนร่วมชุมชนเดียวกับเรา
ซึ่งด้านของชาตินิยมที่นักวิชาการไม่ค่อยพูดถึงนี้ มันมีบทบาทสำคัญกับโลกในปัจจุบันอย่างยิ่ง แต่เราชอบไปพูดถึงคนอื่น คนที่อยู่นอกชุมชนความสัมพันธ์กับเรา
[นิธิ เอียวศรีวงศ์ – งานเสวนา เกาะบ่าครูเบ็น ส่องเลนส์ดูโลก]
บุ๊ครีพับลิกจัดงาน “รำลึก เบน แอนด์เดอร์สัน” นักปราชญ์คนสำคัญของโลก ที่เสียชีวิตไปเมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 11 ธันวาคม 2015 โดย อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ อ.อานันท์ กาญจนพันธุ์ อ.มาลินี คุ้มสุภา และ อ.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี นำการเสวนารำลึก
2.เสวนาแนะนำหนังสือ : จิบชาอ่านหนังสือรับมือ 2019
Book Re:public ได้รวบรวมหนังสือที่ผู้เข้าร่วมเสวนาในงาน จิบชาอ่านหนังสือ รับมือ 2019 หนึ่งในหนังสือเล่มสำคัญที่ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้แนะนำให้อ่าน คือ พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ เขียนโดย วีรพร นิติประภา
“…..หนังสือเล่มที่ผมอยากแนะนำคือ “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” ของคุณวีรพร นิติประภา ซึ่งหลายคนคงทราบอยู่แล้วว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเล่มที่ได้รับรางวัลซีไรต์ครั้งที่สองของผู้เขียนคนเดียวกัน สำหรับคนที่ติดตามนวนิยายไทย ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้เป็นคล้ายๆ กับลมใหม่ที่ให้ความสดชื่นอะไรบางอย่างแก่คุณ ซึ่งเนื้อหาในหนังสือไม่ได้ให้ความสดชื่นนะครับ กลับกัน เนื้อหาในบางตอนรู้สึกอึดอัดบีบคั้นมากๆ เลย แต่ “ลมใหม่” ที่ว่า นั้นหมายถึงกลวิธีการเขียนก็ตาม หรือการวางพล็อตเรื่องก็ตามของเขาที่มันเป็นลมใหม่ซึ่งพัดพาเอาสิ่งที่ไม่ซ้ำเก่ามาให้แก่วงการนวนิยายไทย
“…..หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่เขียนตามแนวที่เขาเรียกกันว่าสัจนิยมมหัศจรรย์ คำนี้เป็นคำที่น่าสนใจนะครับ สัจนิยมมหัศจรรย์ไม่ได้เป็นเพียงแค่แฟชั่นทางการเขียนที่เราจะต้องเขียนอะไรใหม่ๆ แปลกๆ เท่านั้น แต่มันเป็นกลวิธีการเขียนที่ตอบสนองต่อความประสงค์บางอย่างของนักเขียน กลวิธีการเขียนนี้เกิดขึ้นและถูกใช้เพื่อพูดถึงสิ่งที่รัฐหรืออำนาจบางอย่างไม่อนุญาตให้พูดมาอย่างยาวนาน แต่ถ้าถามว่าหนังสือเล่มนี้จะพูดอะไรที่มันพูดไม่ได้หรือเปล่า ผมก็จะบอกว่าไม่มีนะ เพราะในเมืองไทย เรามีเผด็จการที่ไม่ค่อยจะฉลาดนัก คุณจะพูดอะไรก็พูดไปเถอะ เผด็จการมันไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ว่าคุณพูดว่าอะไร จริงๆ ไม่จำเป็นต้องใช้กลวิธีนี้ก็ได้ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญกว่า คือสัจนิยมมหัศจรรย์มันชวนให้คุณคิดในแง่มุมทางปรัชญาบางอย่าง ผ่านสิ่งที่คล้ายกับ Myth หรือตำนาน เทพนิยาย สัจนิยมมหัศจรรย์มันชวนให้คุณหวนคิดถึงความหมายอะไรบางอย่างที่อาจไม่ตรงกันระหว่างเรากับผู้เขียน หรือเรากับผู้อ่านด้วยกันเองก็ได้ ซึ่งผมคิดว่าเป็นกลวิธีการเขียนที่ประสบความสำเร็จในการชวนให้คนได้ฉุกคิด ตั้งคำถามกับเรื่องราวรอบๆ สอดคล้องกับห้วงเวลาที่มันเกิดขึ้นมา คือยุคสมัยใหม่ ห้วงเวลาที่เราทุกคนสงสัยและตั้งคำถามกับสิ่งที่เรียกว่า “ความจริง” หนังสือเล่มนี้ชวนให้เราตั้งคำถามกับความจริง ความทรงจำ ความเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาพร้อมกับทุนนิยม…..
“…..ที่จริงผมตอบไม่ได้ว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยเรารับมือปี 2019 อย่างไร ที่สำคัญคือผมคิดว่าการเลือกตั้งในปีหน้าจะไม่ตอบโจทย์ใครแม้แต่ฝ่ายเดียว ทั้งฝ่ายที่ชนะและฝ่ายที่แพ้ เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งคงไม่ได้พาเราไปในทิศทางที่เราคาดหวัง มันจะเละแค่ไหนผมก็ไม่ทราบ แต่ที่น่ากลัวมากคือมันจะเละมากแค่ไหนในสังคมที่คนไม่อ่านหนังสือด้วย ในสภาพเละเทะอย่างนี้ถ้าคุณไม่รู้ข้อมูลที่เพียงพอ ผมว่าเราจะแก้ปัญหาให้เละขึ้นไปอีกด้วยซ้ำไป….”
———–บางส่วนจากวงเสวนา “จิบชา อ่านหนังสือ รับมือ 2019”
นิธิ เอียวศรีวงศ์
อ่านเพิ่มเติม : กิจกรรจิบชาอ่านหนังสือรับมือ 2019
บันทึกวิดีโองานเสวนา
3.งานเสวนาชาติที่เรา(จะ)รัก 79 ปี นิธิ เอียวศรีวงศ์ : วันที่ 25 พฤษภาคม 2019
“งานเสวนาชาติที่เราจะรักในครั้งนี้ จัดขึ้นในโอกาสที่อาจารย์นิธิมีอายุครบ 79 ปี เป็นการแสดงมุทิตาจิตจากมิตรสหายทั้งหลาย ก็ทราบดีว่าอาจารย์ไม่อยากให้จัดงานมายกยอปอปั้นอาจารย์ ก็ย่อมไม่มีงานประเภทไหนจะดีไปกว่างานที่เราจะหยิบยกเอาหัวข้อ ซึ่งเป็นหัวข้อที่อาจารย์เขียนถึงมากที่สุดในชีวิตของการเป็นนักประวัติศาสตร์ และนักวิจารณ์สังคมนั่นก็คือเรื่องชาติ มาให้คนต่างเจนเนอเรชั่นต่างสาขาวิชาร่วมถกกัน งานเสวนาในครั้งนี้จัดขึ้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองในบ้านเรา เราจัดกันในพื้นที่ตรงนี้ ร้าน Book Re:public ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะจริงๆ”
———–บางส่วนจากวงเสวนา ชาติที่เรา(จะ)รัก 79 ปี นิธิ เอียวศรีวงศ์
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี
อ่านเพิ่มเติม : เสวนา 79 ปี นิธิ ชาติที่เรา(จะ)รัก
วิดีโอบันทึกงานเสวนา
รื้อ – สร้าง – ร่าง รัฐธรรมนูญ
วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม 2020 เวลา 16.30 น. ที่ร้าน Book Re:public ร่วมกับกลุ่ม CALL และ iLaw ได้จัดเวทีเสวนาส่วนหนึ่งของงานรณรงค์ เข้าชื่อ 50,000 รายชื่อ เพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเสนอโดยประชาชนด้วยใจความสำคัญคือ “รื้อ” ระบอบอำนาจของ คสช. “สร้าง” หนทางกลับสู่ประชาธิปไตย และเปิดทางให้เกิดการ “ร่าง” รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยมี อาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ และ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ดำเนินรายการโดย ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี
“…คนไทยฝันอยู่เพียงการมีกระบวนการเลือกตั้งที่ยุติธรรมอย่างนั้นหรือ หรือฝันมากกว่านั้นอีก ถึงมีส.ส.ที่ได้รับการเลือกตั้งอย่างยุติธรรมมาแล้ว เขายังเป็นตัวแทนเป็นปากเป็นเสียงให้แก่ทุกคนได้รึเปล่า หรือว่าส.ส.ที่ได้รับเลือกมาอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ก็ยังเป็นตัวแทนของกลุ่มคนจำนวนน้อยนิดเดียวในเขตเลือกตั้งของเขา
เพราะเอาเข้าจริงๆ ส.ส.ที่เข้ามาอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม อย่างไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็มีเหตุผลหลายอย่างที่ทำให้เขาไม่สามารถเป็นผู้แทนของคนจำนวนมากในเขตเลือกตั้ง
ผมจำได้ดีว่าอย่างกรณีการต่อสู้เรื่องเขื่อนปากมูล ไม่เคยมีสักครั้งเดียวที่จะพบส.ส. ไปที่พื้นที่เขื่อนปากมูล น่าแปลกใจไหม? การเดือดร้อนของคนทั้งอำเภอหรือสองอำเภอนั้น ยังไม่รวมผลกระทบต่อคนนอกอำเภอนั้นอีก แต่ส.ส. กลับไม่สนใจ ส.ส.ไม่ได้คิดจะไปเก็บคะแนนจากคนเหล่านั้น
ถ้าส.ส.จะรับเลือกตั้งมาอย่างไม่สุจริตนะ มันจะเข้ามาโกง ก็ออกกฎหมายเลือกตั้ง ก.ก.ต. ห้ามทำนู้น ห้ามทำนี่สิ เยอะแยะไปหมด จะไม่ค่อยมีคนคิดว่าทำอย่างไรเราถึงจะมีผู้แทน ทำอย่างไรคนเล็กคนน้อยถึงจะมีปากเสียงก่อนพอที่จะถ่วงดุลคนใหญ่ๆ ได้บ้าง
ผลคิดว่าผู้คนจำนวนมากฝันถึงเรื่องนี้ แต่ทำอย่างไรความฝันเหล่านี้มันถึงจะเข้าไปอยู่ในกฎหมาย ถ้าเราจะร่างรัฐธรรมนูญ เราต้องเอาความฝันเหล่านี้ร่างเข้าไปด้วย
ผลจากสิ่งนี้มันทำให้เวลาเราพูดถึงการปกคลองท้องถิ่น ปัญหาที่ชัดเจนที่หลายคนกลัวคือพอเลือกตั้งท้องถิ่นเสร็จ เราเตะหมูเข้าปากหมารึเปล่า เราทำให้คนจำนวนน้อยนิดเดียวมีโอกาสใช้อำนาจรัฐแทนคนส่วนใหญ่ และผมคิดว่ามันเกิดขึ้นได้ในสภาพสังคมที่เป็นอยู่ แต่ไม่ได้แปลว่าเหตุดังนั้นจึงเป็นผลให้ไม่ควรที่จะเกิดการกระจายอำนาจ เหตุดังนั้นจึงไม่ควรให้มีระบอบประชาธิปไตยในการปกครองท้องถิ่น
คำถามก็คือว่า เราจะทำยังไงในเชิงกฎหมาย ในเชิงองค์การบริหาร และส่วนอื่นๆ ที่จะทำให้ผู้ปกครองท้องถิ่นที่ได้อำนาจมาจากการเลือกตั้ง เขาสามารถมองเห็นหัวคนเล็กๆ ที่ไม่มีอำนาจวาสนา ทำอย่างไรคนเล็กคนน้อยถึงจะมีปากเสียงก่อนพอที่จะถ่วงดุลคนใหญ่ๆ ได้บ้าง “
———–บางส่วนจากวงเสวนา “รื้อ สร้าง ร่างรัฐธรรมนูญ”
นิธิ เอียวศรีวงศ์
บันทึกวิดีโองานเสวนา
ภาพความทรงจำ กิจกรรมต่างๆ ของร้าน Book Re:public กับ อาจารย์นิธิ
อ.นิธิเป็นหนึ่งในวิทยากรในโครงการห้องเรียนประชาธิปไตย ที่ร้าน Book Re:public ตั้งแต่ ปี 2012
เวทีดีเบตหัวข้อ “สันติวิธีกับทางออกของสังคมไทย?” ขอบคุณอาจารย์นิธิ และ อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2014
นอกจากงานเสวนาวิชาการ อ.นิธิ ได้ร่วมให้กำลังใจสมาชิกคนรุ่นใหม่ของโครงการ Human ร้าย, Human Wrong ทั้งในระหว่างการทำเวิร์คช็อปและงานวันเปิดนิทรรศการศิลปะ มาโดยตลอดตั้งแต่รุ่นที่1 (2017) จนถึงรุ่นที่ 5 (2022)
พวกเรา Book Re:public หวังเป็นอย่างยิ่งว่าองค์ความรู้ ความคิดเห็น และการวิพากษ์วิจารณ์สังคมไทยอย่างเข้มข้นที่ อ.นิธิ ได้ฝากผลงานเอาไว้จะเป็นประวัติศาสตร์สำคัญที่ขับเคลื่อนแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทยได้ก้าวต่อไปอย่างมีความหวัง