มีหลายคนบอกว่า “เมืองแพร่เป็นจังหวัดทางผ่าน” พวกเราชาว Book Re:public กลับมองต่างออกไป ว่าเมืองแพร่จังหวัดเล็กๆ ที่อยู่ในภาคเหนือของเรานั้น มีประวัติศาสตร์ทั้งที่ถูกเขียนขึ้นจากรัฐไทยส่วนกลาง และอีกด้านหนึ่งที่พวกเราชาวBookรู้สึกอยากบอกเล่าในความน่าสนใจคือประวัติศาตร์ที่ถูกเขียน ถูกบอกเล่าจากคนท้องถิ่นเองต่างหากที่กำลังบอกตัวตนของคนแพร่ที่มีสีสันและน้อยคนนักที่จะได้รู้
- Phrae Trip 01 : ทำไมเมืองแพร่ ต้อง ‘แห่ระเบิด’ ?!
- Phrae Trip 02 : วัดต้าม่อนกับจิตรกรรมสาวงามที่สูญหาย
- Phrae Trip 03 : บ้านเก่า – เมือง (น่า) เดิน
Phrae Trip 01: ทำไมเมืองแพร่ ต้อง ‘แห่ระเบิด’ ?!
“แพร่แห่ระเบิด” น่าจะเป็นวลีคุ้นหูหลายๆ คนไม่ว่าเราจะเป็นชาวแพร่กันหรือไม่ เคยสงสัยกันไหมคะว่าทำไมแพร่ต้องแห่ระเบิด? ตำนานชาวบ้านแห่ระเบิดแล้วเกิดอุบัติเหตุนั้นมีอยู่จริงหรือเปล่า?
ทริปประวัติศาสตร์เมืองแพร่ของ Book Re:public เมื่อวันที่ 8-10 ธันวาคมที่ผ่านมา จึงเริ่มต้นที่การไปหาคำตอบและที่มาของ “แพร่แห่ระเบิด” ที่วัดพระธาตุศรีดอนคำ หรือวัดห้วยอ้อ อ. ลอง จ.แพร่ หนึ่งในสามวัดประจำเมืองแพร่ที่เก็บรักษาซากระเบิดเอาไว้ในรูปของระฆังวัดจนกระทั่งปัจจุบัน และเป็นสถานที่ประดิษฐาน “พระเจ้าพร้าโต้” พระพุทธรูปไม้ศิลปะพื้นบ้านผสมผสานศิลปะเชียงรุ้งที่ถูกแกะสลักขึ้นด้วยมีดพร้าหรือมีดอีโต้อย่างประณีตงดงาม
จากข้อมูลหลักฐานและการสอบถามจากผู้รู้เพิ่มเติม ทำให้เราพบว่า “ระเบิดเมืองลอง” หรือ “แพร่แห่ระเบิด” นั้นมีความเกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากเส้นทางรถไฟและสะพานรถไฟหลายจุดในเมืองแพร่เป็นอีกหนึ่งเส้นทางสำคัญของญี่ปุ่นในช่วงสงคราม ทำให้เครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรหรือสหรัฐอเมริกาพยายามทิ้งระเบิดตามสะพานและเส้นทางรถไฟต่างๆ โดยอาศัยความร่วมมือจากเสรีไทยและชาวบ้านจังหวัดแพร่สกัดการเดินทางของทหารญี่ปุ่น ที่จะเดินทางเข้าสู่ภาคเหนือและข้ามแดนไปประเทศพม่า จนกระทั่งสงครามสิ้นสุดลง ชาวบ้านพบซากลูกระเบิดและลูกระเบิดด้านที่ถูกทำลายทิ้งจึงนำไปถวายที่วัดแม่ลานเหนือ วัดศรีดอนคำ และวัดนาตุ้มตามลำดับ โดยในการถวายระเบิดแก่วัดศรีดอนคำในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2516 ได้นำใส่เกวียนแห่ร่วมกับขบวนแห่ครัวทาน(เครื่องไทยทาน) งานประเพณียี่เป็ง(ลอยกระทง)ของหมู่บ้านดอนทราย ในขบวนแห่มีการนำฆ้อง กลอง มาตีกันอย่างสนุกสนาน จึงเกิดคำว่า “แพร่แห่ระเบิด” ขึ้น[1] โดยที่เหตุการณ์ “ระเบิดแตกตายกันไปครึ่งเมือง” นั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่เป็นคำล้อเลียนที่ยังผลมาจากยุคของการพัฒนาสู่ความสมัยที่ไม่เท่าเทียมในท้องถิ่นภาคเหนือช่วงทศวรรษ 2500 เช่นเดียวกับคำล้อเลียนอีกหลายๆ วลีประจำจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ[2]
จากนั้นเราจึงเดินทางไปยังสถานีรถไฟบ้านปินซึ่งสร้างโดยการรถไฟหลวงแห่งสยามที่มีพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นผู้บัญชาการและมีนายช่างชาวเยอรมัน ชื่อ เอมิล ไอเซนโฮเฟอร์ เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง สถานีบ้านปิน เป็นสถานีรถไฟแห่งเดียวของไทยที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบบาวาเรียนเฟรมเฮาส์ หรือแบบโครงไม้ อันเป็นแบบที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่งในแคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี ผสมกับสถาปัตยกรรมแบบไทยคือเรือนปั้นหยา ด้วยต้องการแสดงอิทธิพลให้กับชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวตะวันตกได้รับรู้ อันเนื่องจากในยุคสมัยนั้น (พ.ศ. 2457) ซึ่งเป็นช่วงการก่อสร้างเส้นทางและทดลองเดินรถในช่วงที่ 9 ของการสร้างทางรถไฟสายเหนือยังคงเป็นยุคล่าอาณานิคมอยู่
สิ่งที่ทำให้เราตื่นเต้นในการเดินทางครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ข้อเท็จจริงหรือเกร็ดความรู้สนุกๆ เกี่ยวกับเรื่องระเบิด เมืองแพร่ และสงครามโลกครั้งที่ 2 เท่านั้น แต่เป็นเรื่องราวของผู้คนที่อยู่รายรอบประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพราะเรื่องราวและมรดกวัฒนธรรมของแพร่ที่ถูกรักษาไว้ให้เราชมเหล่านี้คงจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มี “พลังชุมชน” หรือชาวบ้านที่มีส่วนร่วมในการสร้าง สานต่อ และส่งต่อประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไม่ให้สูญหาย ซึ่งยิ่งทำให้เราตื่นเต้นที่จะทำความรู้จักเมืองเล็กๆ และเรื่องราวของผู้คน ณ ที่แห่งนี้ให้มากขึ้นในแต่ละจุดหมายปลายทางที่เรากำลังมุ่งหน้าต่อๆ ไป…
[1] “แพร่ แห่ระเบิด” โดย Museum Thailand http://www.museumthailand.com/…/storytell…/แพร่…แห่ระเบิด/
[2] “เมืองแพร่แห่ระเบิด” เหตุเกิดขึ้นจริงหรืออิงตลก” โดย ภูเดช แสนสา http://www.phraeobserver.com/2013/05/blog-post_5.html
Phrae Trip 02: วัดต้าม่อนกับจิตรกรรมสาวงามที่สูญหาย
จุดหมายปลายทางที่สองของเราคือ “วัดต้าม่อน” วัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่งในอำเภอลองซึ่งเราได้ยินมาว่ามีวิหารไม้สักทองและภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เลื่องชื่อที่สุด คือภาพจิตรกรรมสีฝุ่นบนไม้สัก “อินายสีเวยทัดดอกสลิด (ดอกแก้ว) ” ผลงานของหนานบัวผัน จิตรกรพื้นถิ่นเชื้อสายไทลื้อจากเชียงตุง ซึ่งเป็นที่กล่าวขานกันว่า นี่คือภาพที่ถ่ายทอดความงามแบบล้านนาของสาวงามชาวเมืองต้าได้เป็นเอกลักษณ์ที่ชัดเจนที่สุด
ด้วยกิตติศัพท์ที่เลื่องลือ วัดต้าม่อนจึงเป็นเป้าหมายแรกๆ ของเราในการเดินทางมาจังหวัดแพร่ เราลัดเลาะมายังตำบลเวียงต้า ซึ่งอยู่ไกลออกมาจากตัวอำเภอลองมาไกลพอสมควร ก่อนจะพบว่าวัดต้าม่อน ณ ขณะนี้กลายเป็นเพียงวัดร้าง ปัจจุบันสิ่งที่หลงเหลือจากอดีตคงเหลือแต่เพียงพระพุทธรูปสององค์ที่ถูกทิ้งไว้ภายใต้ศาลาเก่าๆ ส่วนหนึ่งของเสาวิหารไม้และลายคำบนเพดานซึ่งยังคงมีสภาพสมบูรณ์เช่นในอดีต หลังจากงุนงงกันอยู่พักหนึ่งเราจึงเพิ่งได้รู้ว่าชาวบ้านได้ถวายภาพจิตรกรรมอินายสีเวยและวิหารไม้นั้นไปเก็บรักษาที่หอคำน้อย ไร่แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ พ.ศ. 2532 เป็นต้นมา และมีการจัดทำภาพจำลองฉบับสมบูรณ์อีกชุดขึ้นมาใหม่และได้จัดแสดงให้ชมที่พิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ ณ ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ โดยข้อมูลระบุเหตุผลของการเคลื่อนย้ายไว้ว่าเนื่องจากวัดมีสภาพทรุดโทรมและไม่มีงบประมาณในการบูรณะดูแลต่อไป
ทว่าความไม่รู้ในครั้งนี้ของเราไม่ได้ทำให้เรา “เสียเที่ยว” ไปเสียทีเดียว หลังจากสำรวจบริเวณรอบๆ วัดและร่องรอยของวิหารไม้ที่หลงเหลืออยู่ เราจึงได้พบกับชาวบ้านในละแวกนั้นและทำให้ได้รู้ว่าการเคลื่อนย้ายจิตกรรมและไม้สักทองนั้นอาจไม่ได้มาจากความยินยอมพร้อมใจของชาวบ้านเสียทีเดียว ป้าคนหนึ่งที่อยู่บริเวณใกล้วัดบอกเพื่อนด้วยสีหน้าและน้ำเสียงที่แสดงความคับแค้นใจและไม่เข้าใจว่าทำไมพวกผู้ใหญ่ถึงมาเลาะเอาฝาผนังวิหารไปไว้ที่อื่นเสีย พร้อมกับเล่าถึงศรัทธาต่อวัดและพระสงฆ์ในยุคหลังที่เสื่อมคลายลงเรื่อยๆ หลังจากนั้น จนทำให้ชาวบ้านย้ายศูนย์รวมความศรัทธาไปอยู่ที่วัดใหม่ในละแวกใกล้เคียง ท้ายที่สุดเมื่อวัดไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่อีกต่อไป วัดต้าม่อนจึงถูกทิ้งร้างไว้ในที่สุด
ความเปลี่ยนแปลงและมรดกวัฒนธรรมที่สูญหายไปจากชุมชนนี้สร้างความใจหายและความสงสัยมากมายในใจพวกเรา เพราะจิตรกรรมและมรดกวัฒนธรรมเหล่านี้ไม่เพียงแต่ควรค่าแก่การรักษาไว้ในท้องถิ่นต่อไปด้วยเหตุผลด้านกาลเวลาและความสวยงาม หากแต่ยังเป็นหลักฐานของวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สืบเนื่องยาวนานและบรรจุเรื่องราวของผู้คนในท้องถิ่นเอาไว้มากมาย เช่นส่วนหนึ่งของภาพจิตรกรรมที่เป็นเครื่องยืนยันถึงอัตลักษณ์ชาวเมืองลองเรื่องการนุ่งซิ่น และศิลปะแบบท้องถิ่นที่ถูกถ่ายทอดเอาไว้… เพราะเหตุใดผู้มีอำนาจในการตัดสินใจจึงเลือกที่จะเคลื่อนย้ายศิลปะท้องถิ่นเหล่านี้ไปเก็บรักษาไว้ในสถานที่อื่นแทนที่จะเลือกบูรณะรักษาร่วมกับชาวบ้านในท้องที่เดิม? ชาวบ้านนั้นมีส่วนร่วมมากน้อยเพียงใดในการดูแล รวมไปจนถึงสิทธิในการตัดสินใจที่จะรักษาหรือส่งมอบมรดกท้องถิ่นเหล่านั้นให้แก่ผู้อื่น? ทว่าแม้คำถามเหล่านี้จะติดค้างอยู่ในใจ นำมาสู่ข้อสันนิษฐานมากมาย แต่ท้ายที่สุดแล้วคำถามเหล่านี้ย่อมไม่ใช่คำถามที่พวกเราจะตอบได้ด้วยตัวเอง….
Phrae Trip 03:บ้านเก่า – เมือง (น่า) เดิน
หลายๆ คนอาจเคยสงสัยไม่ต่างกันกับเราก่อนที่จะเดินทาง ว่าจังหวัดทางผ่านเล็กๆ อย่างจังหวัดแพร่นั้นจะมีอะไรน่าสนใจอยู่บ้าง? เมื่อเดินทางไปถึงและสัมผัสได้ตัวเองเราจึงได้คำตอบด้วยตัวเองว่า หากสถานที่สามารถเก็บเรื่องเล่าหรือเรื่องราวได้้เหมือนหนังสือเล่มหนึ่ง จังหวัดแพร่คงเป็นเหมือนหนังสือเล่มเล็กเรียบง่ายที่เก็บเรื่องราวมากมายเอาไว้อย่างที่เราคาดไม่ถึง และเรื่องราวเหล่านั้นก็รายล้อมรอบตัวเราแค่ชั่วเวลาเดินออกไปตามหัวมุมถนน…..
ในอดีต จังหวัดแพร่เคยเป็นแหล่งค้าขายไม้สักที่สำคัญของทางภาคเหนือ โดยในยุคที่การทำไม้มีความรุ่งเรืองถึงขีดสุดนั้นก็มีบรรดาคหบดี เจ้านาย เชื้อพระวงศ์ต่างๆ สร้างอาคารบ้านพักอาศัยที่มีรูปแบบสวยงามขึ้นมากมาย บ้านเรือนของชาวบ้านจำนวนมากสร้างด้วยไม้สักซึ่งเป็นเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นมาช้านาน รวมไปถึงอาคารทรง “ขนมปังขิง” ซึ่งได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกที่แพร่เข้ามาในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการประดับตกแต่ลวดลายฉลุที่วิจิตรพิสดาร หรูหรา สวยงามเหมือนขนมปังขิง โดยบ้านไม้สักและอาคารขนมปังขิงเหล่านี้ยังคงหลงเหลือตั้งตระหง่านให้พบเห็นในตัวเมืองแพร่อีกจำนวนไม่น้อย การลัดเลาะเดินไปในบริเวณเมืองเก่าในจังหวัดแพร่ครั้งนี้จึงเต็มไปด้วยความตื่นตาตื่นใจ โดยมีคุณชินวร ชมภูพันธ์ แกนนำชมรมอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองแพร่เป็นผู้นำทาง
บ้านเก่าที่เราได้พบ มีทั้งบ้านที่เป็นอาคารไม้ทรงโคโลเนียลที่มีการดูแลรักษาอย่างดี อาทิ “บ้านวงศ์พระถาง” และ “คุ้มวงศ์บุรี” “คุ้มเจ้าหลวง” หรือบ้านเก่าบางแห่งมีความสวยงามและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ อย่าง “คุ้มวิชัยราชา” ที่ตั้งตระหง่านพร้อมตำนานลี้ลับ รวมไปถึงบ้านเรือนไม่สักของชาวบ้านที่ยังคงความแข็งแรงสวยงามผ่านกาลเวลา หลายหลังถูกเปลี่ยนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและพิพิธภัณฑ์ให้คนเข้ามาเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์เมืองแพร่อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะคุ้มวงศ์บุรีซึ่งเป็นเรือนไม้สักขนาดใหญ่สองชั้นแบบยุโรปประยุกต์ ที่ไม่ได้มีจุดเด่นอยู่ที่แค่ความงดงามอ่อนช้อยของลวดลายไม้ฉลุที่ประดับอยู่ตลอดตัวบ้าน แต่ยังรวมถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากมายผ่านข้าวของเครื่องใช้และเอกสารสำคัญต่างๆ เช่นเอกสารสัญญาซื้อขายทาสซึ่งเป็นสิ่งที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่บ้านทุกหลังที่จะยังถูกรักษาไว้เป็นอย่างดีด้วยเงื่อนไขต่างๆ สิ่งหนึ่งที่เราประทับใจคือการที่ชาวบ้านและคนรุ่นใหม่ในจังหวัดแพร่ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมและร่วมกันฟื้นเมืองเก่าแพร่ผ่านหลายๆ โครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ “ผ่อบ้านแอ่วเมือง” “กาดกองเก่า” และยิ่งยืนยันให้เราเห็นว่าไม่มีใครจะดูแลและรักษาประวัติศาสตร์ของเราได้ดีเท่าการที่ประชาชนทุกคนร่วมกันรักษาด้วยตัวเอง