เรื่องเล่าเบื้องหลังการทำงาน จาก’ชุมชนหัวฝ่าย’ สู่ ‘ครอบครัวของฉัน’

โดย “เตอร์”อินทัช​ บุญชูยิ้มแย้ม

“ผมอยากทำประเด็นที่เกี่ยวกับชุมชน”

นี้เป็นประโยคแรกที่ตัวผมในวัย 22ปี เอ่ยขึ้นในวันที่บอกเหตุผลในการเข้าร่วมWorkshop

จากสาขาที่ผมได้เรียนเกี่ยวกับการออกแบบ มันทำให้ผมชอบที่จะได้เห็นผู้คนในพื้นที่ที่ต่างออกไป การที่เอาตัวเข้าไปคลุกคลีกับสังคมนั้นๆมันเหมือนเป็นการให้เราได้เปิดมุมมองต่อโลกใบเดิมมากขึ้น โดยในครั้งนี้โจทย์ของเราอาจไม่ได้ทำเพื่อให้มันเกิดฟังก์ชั่นขึ้นมาแก้ไขปัญหาในสังคมตามกระบวนการออกแบบอย่างแท้จริง แต่สิ่งที่ผมต้องการทำคือการนำเสนอถึงประเด็นเล็กๆที่หลายๆคนอาจไม่เคยสนใจมาก่อน…

“กลางเมืองเนี้ยนะ มีชุมชนแออัด?”

ในช่วงต้นๆของโครงการ ทางทีมงาน Human ร้าย ได้พาไปลงพื้นที่เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการใช้ผัสสะเพื่อค้นหาประเด็นนำมาต่อยอดเป็นผลงานของแต่ละคน ความน่าสนใจของการใช้ผัสสะคือเราจะได้เห็นในสิ่งที่บางครั้งตามองไม่เห็น เราอาจจะได้รู้ในสิ่งที่ได้ยิน หรือสัมผัส มากกว่าเพียงแค่ตาเราส่งไปถึงสมองเท่านั้น โดยครั้งนั้นเราได้เดินทางไปที่ชุมชนหัวฝาย อยู่บริเวณใกล้กับวิทยานาฏศิลป์ จังหวัดเชียงใหม่
หรือพูดได้ว่าแทบจะอยู่ใจกลางเมือง

ชุมชนหัวฝาย เป็นชุมชนแออัดที่อยู่ตรงกลางระหว่างกำแพงเมืองเก่า และคลองแม่ข่าที่คอยส่งกลิ่นเหม็นจากผลของโรงงานปล่อยน้ำเสียทิ้งตลอดทั้งวัน พื้นที่ตรงนั้นเป็นเหมือนพื้นที่ราชพัสดุ ความหมายของที่ราชพัสดุคือเป็นพื้นที่ที่ซื้อขายไม่ได้ เป็นของหลวง ทางรัฐสามารถโยกย้าย รื้อถอนหรือปรับปรุงได้ตลอดเวลา ส่วนใหญ่คนที่อยู่ ณ ที่ตรงนั้นจะเป็นแรงงานฐานรากที่คอยขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่

“ชายขอบแต่ไม่ชายขอบ?”

นี้เป็นคำพูดที่จุดประกายไอเดียของผมจากพี่ อ้อย รจเรข วัฒนพาณิชย์ ผู้ริเริ่มโครงการในครั้งนี้

ชายขอบเป็นคำที่หมายถึงพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลจากจุดศูนย์กลาง หรือในอีกบริบทหนึ่งคือคนที่ถูกผลักออกจากสังคมหลัก เป็นคนที่ไม่ได้ถูกเหลียวแล สำหรับในวลีนี้หมายถึง การที่ชาวชุมชนหัวฝายได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายขอบที่คนในเมืองใหญ่ได้หลงลืม มองข้าม และพยายามหันหลังให้กับการมีอยู่ของพวกเขาต่างหาก หาใช่พื้นที่ชายขอบทางภูมิศาสตร์ไม่

ในช่วงที่ผมอ่านเอกสารหาข้อมูล ผมได้ไปเจอกับ “แผนแม่บทคลองแม่ข่า 2561-2565” ในเอกสารชิ้นนั้นในทัศนคติส่วนตัวของผม มันเป็นเหมือนกับการตอกย้ำว่าหลายๆคนในจังหวัดล้วนหันหลังให้กับพื้นที่แห่งนี้ ในแผนแม่บทนั้นพยายามพูดผลักดันว่าเกือบทั้งหมดของน้ำเน่าเสียนั้นเป็นฝีมือของชาวบ้านริมคลองที่คอยทิ้งเศษขยะลงไป ทั้งที่จริงๆแล้วเหตุผลหลักๆส่วนหนึ่งคือโรงงานที่คอยเทมลพิษลงในแหล่งน้ำ จนถึงขั้นที่ว่าน้ำในแต่ละวันสีไม่ค่อยจะซ้ำกัน

เมื่อเราได้ขอบเขตของการทำงานแล้วคำถามต่อไปคือ เราจะหยิบยกอะไรมาเป็นประเด็นสื่อสาร

ผมจึงเดินทางกลับไปลงพื้นที่ สำรวจ และพูดคุยกับชาวบ้าน ณ พื้นที่ตรงนั้น พยายามหาความสัมพันธ์ระหว่างคนกับพื้นที่ 

“7 วันต่อสัปดาห์ที่สามีพี่ทำงาน… ถ้าหยุดเราก็ไม่มีรายได้ 

7โมงกว่าๆ สามีพี่ก็ขับมอไซค์คันนี้ออกไปแล้ว ไปซื้อข้าว ซื้อเหล้าเตรียมไว้กินที่ทำงานตอนเที่ยง 

5 โมงกลับบ้านกินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว”

คำบอกกล่าวจากอาเมย ภรรยาของแรงงานก่อสร้าง ที่อยู่บ้านเลี้ยงดูลูกเล็กๆ สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตหาเช้ากินค่ำ ที่แท้จริงแล้วกลุ่มคนเหล่านี้แหละที่เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้มาได้ถึงจุดนี้ ผู้คนจากต่างถิ่นต่างพากันจุงมือเข้ามาลงทุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และจากการขยายตัวเมืองนี้เองที่ทำให้แรงงานฐานรากเป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้นไปอีก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนจากต่างจังหวัดต่างพากันเข้ามาหางานทำในเชียงใหม่มากยิ่งขึ้น 

“ตื่นนอน ออกไปทำงาน กินข้าวกลางวัน กลับบ้าน อยู่กับครอบครัว และก็ตื่นไปทำงานในวันรุ่งขึ้น”

กิจวัตรประจำวันเหล่านี้เกิดขึ้นเหมือนๆกันแทบทุกครัวเรือนในชุมชนหัวฝาย ผมลองสอบถามหลายๆคนในพื้นที่พบว่าส่วนใหญ่แล้วล้วนมาจากต่างถิ่นทั้งสิ้น “ที่บ้านไม่มีงานทำเลยต้องเข้ามาที่เชียงใหม่, สะดวกต่อการเดินทางไปทำงานเพราะตัวเองไม่มีความรู้, ต้องให้ลูกอยู่ใกล้โรงเรียน” สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความเจริญที่กระจุกตัวอยู่แค่ในเมืองใหญ่ ไม่ได้กระจายตัวออกไป

ทำให้กลายเป็นว่าคนที่เข้ามาอาศัยอยู่นั้น เข้ามาโดยความ ”จำยอม” ต่อการเดินทางหรือทำงาน

การที่จะพาตัวเองไปสู่สังคมเมืองเพื่อนำเงินมาใช้จุนเจือวันต่อวันนั้น ทำให้หลายๆบ้านมีมอเตอร์ไซค์ของตัวเอง ซึ่งเป็นเหมือน ”เพื่อน” หรือ “คนในครอบครัว” ที่สร้างรายได้มาใช้ในแต่ละวัน ผมพบว่ามันมีสามสิ่งที่สัมพันธ์กันและน่าสนใจไม่น้อยคือ คน(ต่างถิ่นที่ย้ายมา) พื้นที่(ชุมชนชายขอบ) และมอเตอร์ไซค์(ที่พาคนออกจากพื้นที่ที่มองไม่เห็น) 

ผมจึงตัดสินใจเก็บภาพถ่ายของความสัมพันธ์ทั้งสามอย่างนี้ เพื่อแสดงถึงสิ่งที่คนในสังคมเมืองหลายคนหลงลืมไปว่าท่ามกลางเมืองเชียงใหม่ที่สวยงาม มันก็ยังมีอีกด้านหนึ่งที่อาจจะไม่สวยงามนัก แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จังหวัดพัฒนามาได้ถึงจุดนี้เช่นกัน

และด้วยความคิดที่ว่า มอเตอร์ไซค์สำหรับเขามันเป็นเหมือนคนสำคัญคนหนึ่งที่ควรได้รับการดูแล ผมจึงได้ลองทำ รถเข็นปะยาง ที่เขาสามารถทำได้ด้วยตัวเอง แม้หลายคนอาจจะคิดว่าการปะยางเราสามารถเข็นไปปะตามร้าน หรือถ้ามันแตกก็แค่เปลี่ยนใหม่ แต่จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ผมกลับพบว่า หลายๆคนในชุมชนนั้นไม่มีหลายได้และแทบไม่มีงานทำเลย บางทีการที่เขาปะยาง มันอาจจะสามารถต่อโอกาสในชีวิตของเขาไปได้อีกวันก็ได้… 

สุดท้ายนี้ผมหวังว่างานของผมจะสามารถนำไปติดตั้งในชุมชน และชาวบ้านได้มีโอกาสสัมผัสมันจริงๆ เนื่องจากล่าสุดที่ผมเข้าไปเก็บข้อมูลนั้นพบว่าตอนนี้ชุมชนกำลังจัดระเบียบถนนและทางเดิน (6 มิถุนา 2564) มีการรื้อสิ่งปลูกสร้างที่เขากล่าวว่ามันลุกล้ำลำน้ำ ทำให้การนำงานไปติดตั้ง ณ เวลานี้อาจไม่สะดวกเท่าไรนัก

ผมหวังว่าเมื่อทุกอย่างในชุมชนเรียบร้อยดี จะลองนำไปให้ชาวบ้านได้ใช้มันจริงๆซักที…


จากความผัสสะรับรู้ที่เชื่อมโยงต่อพื้นที่สู่การส่งต่อเรื่องราวในงาน “ครอบครัวของฉัน”

จุดเริ่มต้นคือการได้เข้าไปลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านชุมชนหัวฝาย เป็นชุมชนแออัดตั้งอยู่ในเขตที่ราชพัสดุจังหวัดเชียงใหม่ จากการสำรวจเราได้เห็นถึงความเลื่อมล้ำของผู้คนในจังหวัด หากมองจากจุดภูมิศาสตร์ของชุมชนจะพบว่าเขตที่อยู่ของคนกลุ่มนี้ไม่ได้ห่างไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่ แต่ชาวบ้าน ณ พื้นที่กลับเป็นคนชายขอบ ที่ไม่ใช่ชายขอบในเชิงของพื้นที่ แต่เป็นชายขอบในเรื่องของสิทธิและสวัสดิการ 

ผมพบว่าคนที่อาศัยอยู่ที่นี้ส่วนใหญ่เป็นคนจากต่างพื้นที่ ที่เดินทางเข้ามาในเชียงใหม่เพื่อหางาน โดยมีความจำเป็นที่จะต้องอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่เพื่อให้สะดวกและง่ายต่อการเดินทางไปทำงาน หรือหางานทำ อาชีพของชาวบ้านในพื้นที่นั้นส่วนใหญ่เป็นแรงงานฐานรากที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน, ขยายตัวเมืองเชียงใหม่ทั้งสิ้น จึงเกิดการตั้งคำถามขึ้นว่า “เหตุใด กลุ่มคนที่มีส่วนพัฒนาเศรษฐกิจ หรือขับเคลื่อนให้เชียงใหม่เติบโตขึ้นถึงถูกหลงลืมกัน?” 

ตื่นนอน เดินทางไปทำงาน เดินทางกลับบ้าน ตื่นนอน และออกไปทำงาน วิถีชีวิตของชาวบ้านมักจะเป็นแบบนี้เสมอในทุกๆวัน แรงงานกลุ่มนี้จะต้องพึ่งพารถจักรยานยนต์ในการนำพาตนเองออกไปหารายได้เพื่อกลับมาใช้จุนเจือดำรงชีวิตภายในครอบครัว และรถจักรยานยนต์นี้เองที่มีส่วนเป็นฟันเฟืองเล็กๆที่ทำให้เมืองเชียงใหม่เติบโตมาได้ขนาดนี้

ผมมองว่าสำหรับพวกเขา ความสัมพันธ์ระหว่างรถจักรยานยนต์กับเขาเป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน ในตัวงานผมต้องการที่จะนำเสนอถึงรูปถ่ายครอบครัวกับรถมอเตอร์ไซค์ในอริยาบทต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงผูกพันระหว่างคนกับยานพาหนะอันซึ่งคอยขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่อยู่ด้านหลังที่เรามองไม่เห็น

งานแบ่งเป็นสองส่วนคือ

1. ส่วนของภาพถ่าย ที่ต้องการนำเสนอความสัมพันธ์ของคน พื้นที่ และมอเตอร์ไซค์คู่ใจ

2. รถเข็นปะยาง สำหรับการปฐมพยาบาลเพื่อนคู่ใจ(มอเตอร์ไซค์)เบื้องต้นด้วยตนเอง

เรื่องราวหลังภาพถ่าย

“พื้นที่ของใคร”

ที่จอดรถส่วนบุคคล

พื้นที่ของชุมชนหัวฝายถูกขนาบด้วยกำแพงเก่าและคลองแม่ข่า ทำให้พื้นที่ในชุมชนถูกจำกัดลดลง ชาวบ้านในหัวฝายจึงมีการจัดการบริหารพื้นที่ของตัวเองให้เกิดประโยชน์สูงสุด การจอดมอเตอร์ไซค์เองก็จะต้องมีการวางแผนการจอด ให้เพียงพอกับพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดและสอดคล้องกับข้อตกลงของทางการ

ที่จอดรถสาธารณะ

เป็นจุดรวมตัวของมอเตอร์ไซค์หลายๆครอบครัว ด้วยพื้นที่ที่จำกัดจึงจะต้องสามารถจัดแบ่งการใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ท่ามกลางพื้นที่ที่ดูไม่เป็นระเบียบ แต่กลับมีกฎเกณฑ์การจัดการให้เกิดระเบียบที่ชาวบ้านในพื้นที่รู้กัน อีกทั้งในจุดจอดรถสาธารณะตรงนี้มักจะเป็นศาลาประชาคมที่เล่าผู้คนมารวมตัวกันพูดคุยในแต่ละวัน


“ครอบครัวของเขา”

ครอบครัวอาเมย

สามีภรรยาและลูกน้อย มีมอเตอร์ไซค์เป็นแกนกลางในการเชื่อมต่อครอบครัวเข้าด้วยกัน ในทุกๆเช้า สามีจะขับมอเตอร์ไซค์ออกไปทำงานเป็นแรงงานฐานราก เพื่อหาเงินมาให้ที่บ้านในตอนเย็น  ‘พี่มาจากดอยบนเชียงราย กลับไปไม่ได้แล้วไม่มีบ้านที่นั้นแล้ว ครอบครัวก็ไม่มีแล้ว หรือถ้าจะกลับไปก็ไม่มีงานทำ อยู่เชียงใหม่ยังพอหาอะไรทำได้บ้าง อีกอย่างเดี๋ยวลูกก็ต้องเรียนหนังสือ มันก็ต้องอยู่เชียงใหม่นี้แหละ’ คำกล่าวของอาเมย

พี่ริน

คนและมอเตอร์ไซค์ที่เหมือนเป็นเพื่อนซี้หรือคนสำคัญในชีวิต พี่รินทำอาชีพเก็บของเก่าขายในทุกๆวันพี่รินจะออกเดินทางไปหาเศษขยะตามที่ต่างๆ(ส่วนมากจะเป็นบริเวณหอพักย่านสันติธรรม)โดยเมื่อหาได้จำนวนนึงก็จะเอากลับมาเก็บไว้ที่เพิงไม้หน้าบ้านของตน แล้วจึงค่อยออกไปเก็บใหม่ พอใกล้ๆ 5 โมงก็จะรวบรวมของเก่าทุกชิ้นไปขายบริเวณหน้าวิทยาลัยนาฏศิลป์ เชียงใหม่

พี่พลอย

อดีตแม่บ้านโรงแรมที่เพิ่งตกงานจากสถานะการณ์โควิด-19 สามีขับตุ๊กตุ๊กแต่ต้องกลับบ้านเกิดเนื่องด้วยทางจังหวัดกำลังจะล็อคดาวน์ ทำให้ที่บ้านตอนนี้เหลือเพียงแค่สองแม่ลูก


ป้ายSTA

เป็นป้ายที่ใช้สำหรับการบอกระยะก่อสร้างทางวิศวกรรม มักเขียนด้วยตัวเลขสีแดง ช่วงเวลาที่ลงพื้นที่ พบได้จำนวนมากทั่วชุมชนหัวฝาย ป้ายบอกระยะนี้แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ตรงนี้มีการรื้อถอนก่อสร้างใหม่ได้ตลอดเวลาเพราะเป็นที่ราชพัสดุไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ ขณะที่เก็บข้อมูลผมได้พบว่ามีบ้านบางหลังอาจจะต้องรื้อถอนเพราะปลูกลุกล้ำลำน้ำเป็นเหตุผลที่ทำให้น้ำเน่าเสีย (ตามคำกล่าวอ้างของหน่วยงาน) โดยทางการจะทำการปักป้ายบอกระยะและไม้ไผ่ทาสีแดง ถ้าเกิดว่าเลยขอบเขตที่กำหนดจะต้องโยกย้ายทันที

เรื่องราวของรถเข็น

จากจุดเริ่มต้นที่มองมอเตอร์ไซค์กับผู้คนเป็นเหมือนเพื่อนคู่ใจ เป็นสิ่งที่มากกว่าสิ่งของเป็นสิ่งที่พาพวกเขาไปสู่เมืองใหญ่ พร้อมสู้กับวันข้างหน้า ผมมองว่าการที่เราสามารถรักษา หรือดูแลมันได้เบื้องต้น เพื่อให้เขาสามารถต่อยอดโอกาสได้ไปอีกวัน คงเป็นสิ่งที่ดีไม่น้อย เนื่องด้วยสภาพชุมชนตรงนี้มักมีการเคลื่อนย้ายหรือรื้อถอนตลอดเวลา ผมจึงเลือกออกแบบเป็นสเตชั่นที่สามารถเข็นหรือโยกย้ายได้อย่างสะดวก ตัววัสดุพยายามเลือก และหาสิ่งที่ที่มันล้อไปกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่เพื่อให้กลมกลืนกับชุมชนมากที่สุด ไอเดียการติดสติ๊กเกอร์ปะยางเป็นการล้อกับภาพจำสติ๊กเกอร์ปะยางตามเสาไฟฟ้า ที่แข่งกันพูดถึง ”ปะยาง24 ชั่วโมง” เราก็หยิบตรงนั้นมาเล่นเหมือนกัน แต่ต่างกันที่ของเราทำฟรีไม่เสียเงิน 


ผลงานศิลปะของ
สมาชิก Human ร้าย
ปีที่ 4

สรุปผลงานทั้ง 15 ชิ้น จากสมาชิกในโครงการ Human ร้าย ปีที่4 จัดแสดงที่ Maiiam maiiam contemporary art museum เชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน – 18 กรกฎาคม 2021

Pages: 1 2