“กิจกรรมยืนหยุดขัง” เป็นกิจกรรมการแสดงออกทางการเมืองอย่างสันติวิธีเพื่อเรียกร้องการปล่อยตัว แกนนำราษฎร ที่ถูกคุมขังโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว และไม่เห็นด้วยต่อกระบวนการยุติธรรมที่บังคับใช้กับประชาชนในเวลานี้


กิจกรรมยืนหยุดขังกำลังกระจายไปสู่จังหวัดอื่นๆด้วยเช่นกัน ที่จังหวัดเชียงใหม่กิจกรรมนี้ดำเนินมาถึงวันที่ 8 ประชาชนชาวเชียงใหม่ยังคงมาร่วมกิจกรรมอย่างไม่ขาดสายทุกวัน ตั้งแต่เวลา5โมงเย็นเป็นต้นไป โดยทุกคนพร้อมใจกันยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 1 ชั่วโมง 12 นาที ที่ลานหน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์
นอกจากเราจะเห็นการรวมตัวกันของคนหลากหลายวัยเพื่อมาทำกิจกรรม เรายังสังเกตุเห็นว่าหลายคนต่างก็มีกิจกรรมเสริมในรขณะยืน อย่างเช่น การอ่านหนังสือ หรือในชื่อกิจกรรม“อ่านหยุดขัง”
หนังสือที่แต่ละคนพกมาอ่าน มีหลากหลายประเภท ทั้งหนังสือการเมือง วรรณกรรม บทกวี จนกลายเป็นภาพสัญลักษณ์การแสดงออกทางการเมืองที่ซ้อนทับความหมายเดิมของพื้นที่แห่งนี้ ทั้งเป็นพื้นที่แห่งความนิ่งเงียบที่แสดงให้เห็นถึงความไม่จำยอมต่ออำนาจรัฐ และเป็นพื้นที่แห่งการอ่าน อ่านเพื่อเดินทางผ่านตัวหนังสือ อ่านเพื่อการต่อต้าน อ่านเพื่อการเบิกเนตร อ่านเพื่อรักษาอุดมการประชาธิปไตย ซึ่งทุกอย่างเกิดขึ้นพร้อมกันในเวลา 1 ชั่วโมง 12 นาที
สำรวจหนังสือที่ชาวเชียงใหม่หยิบมาอ่านในกิจกรรม”ยืนหยุดขัง”วันที่ 8

เนรเทศ
ภู กระดาษ
“ผมกำลังจะทำโปรเจ็คศิลปะที่ขอนแก่น เพื่อนเลยแนะนำให้อ่านเล่มนี้ เพื่อทำความเข้าใจความเป็นอีสาน ในอีกมุมหนึ่ง เล่มนี้เรื่องสั้นที่ใช้ภาษาท้องถิ่นในการนำเสนอวิถีชีวิตของคนอีสาน ความยากลำบากในการใช้ชีวิต ที่ต้องแปรผันไปตามการเมือง การปกครองของสังคมไทย โดยเฉพาะชนชั้นแรงงาน หรือชนชั้นล่าง”

โอลด์รอยัลลิสต์ดาย
วาด รวี
“การมาทำกิจกรรมยืนหยุดขังก็ค่อนข้างใช้เวลานาน และมันก็ไม่มีอะไรทำ เลยคิดว่าเอาเวลาส่วนนี้มาอ่านหนังสือเพื่อสร้างความรู้ให้กับตัวเองดีกว่า
หนังสือเล่มนี้เล่าถึง กลุ่มอำนาจ อำมาตย์ ผู้มีอิทธิพล ที่ยังคงอยู่และใช้อำนาจบางอย่าง รักษาโครงสร้างสถาบันจากอดีตถึงปัจจุบันเพื่อผลประโยนชน์ของกลุ่ม การก่อตัวขึ้นของวาทกรรมความศรัทธาของชนชั้นต่างๆ รวมถึงการค่อยๆศูนย์สลายไปของสถาบันกลุ่มผู้มีอำนาจ ที่เกิดจากการเปลี่ยนผันความเชื่อ ความศรัทธาต่อโครงสร้างสถาบันของชาติ”

การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
“เป็นหนังสือที่น่าเบื่อมากสำหรับผม แต่ผมอยากจะรู้ประวัติศาสตร์การเมืองที่มันไม่ไปไหนและทำให้น่าเบื่อนี้ เพราะในเวลานี้มันเป็นบรรยากาศที่ใช่ และควรต้องอ่าน จริงๆตอนนี้ผมกำลังไล่อ่านหนังสือของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียว โดยเฉพาะหนังสือชุดสยามพากษ์ ผมเริ่ม จากการอ่าน “ขุนศึก ศักดินาและพญาอินทรย์” แล้วทำให้ผมอยากอ่านเล่มที่1-4 ต่อด้วย”

เจ้าชายน้อย
อ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี
“เป็นหนังสือที่อ่านแล้วอ่านอีกได้ ทุกครั้งที่หยิบมาอ่านเราก็ได้รับสารเฉพาะบางอย่างกลับมาไม่เหมือนกัน มันเป็นความพิเศษของหนังสือเล่มนี้ บรรยากาศ และช่วงเวลาแบบนี้ เราต้องการหยิบหนังสือเล่มเล็กๆ เบาๆ เล่มที่ทำให้เราอยากอ่านซ้ำๆ ไม่เบื่อ แล้วหยิบขึ้นมาอ่านในช่วงเวลานี้อีกครั้ง”

อันเป็นที่รัก
อันตัน เชคอฟ
แปลโดย ประดิษฐ์ เทวาวงศ์
“เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่ซื้อมาแล้วยังไม่มีโอกาสได้หยิบมาอ่านสักที วันนี้เลยถือติดมาด้วยแล้วก็ได้อ่านจริงๆ แถมยังเป็นเวลาที่เราได้มายืนทำกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองด้วย เวลาจะได้ไม่เสียเปล่า”

Ms Ice Sandwich
Mieko Kawakami
“เล่มนี้ซื้อมานานแล้วยังไม่ได้อ่านสักที เห็นว่าเวลาที่มายืนหยุดขังก็น่าจะเหมาะกับความหนาของหนังสือเล่มนี้พอดี เลยหยิบมาอ่านด้วย เรื่องราวเกี่ยวกับตัวเอกที่ไม่มีชื่อ และไม่รู้เพศของตัวเอง เขาหลงไหลการไปร้านสะดวกซื้อและตกหลุมรักพนักงานขายแซนวิชในร้านนี้ ความพิเศษคือเวลาที่ตัวเอกจ้องมองพนักงานขายแซนวิชเขาจะค้นพบและชื่นชมสิ่งที่เป็นตัวเธออย่างเป็นพิเศษที่คนส่วนใหญ่มองผ่าน”

อำลามนุษยนิยม: ข้อคิดเกี่ยวกับมนุษย์และสัตว์อื่น ๆ
จอห์น เกรย์
แปลโดย เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล, ชยางกูร ธรรมอัน
“เลือกเล่มนี้มาอ่านเพราะเรากำลังอยากจะรู้ อยากเข้าใจความเป็นมนุษย์ การที่มนุษย์กลายศูนย์กลางทุกอย่างโดยใช้คุณค่าความเป็นมนุษย์เป็นตัวตัดสินคุณค่าของสิ่งต่างๆรอบตัวอยู่ตลอดเวลา เราเลยกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า แล้วเรามองตัวตน มองความเป็นมนุษย์ของเราเป็นอย่างไรกันแน่ “

เพราะเราหลงลืมอะไรบางอย่าง
วัชระ สัจจะสารสิน
“เป็นเรื่องสั้นที่เคยอ่านจบเมื่อนานมาแล้ว ซึ่งวันนี้ผมมีเวลาแค่นี้ เลยเลือกเอาเรื่องสั้นมาอ่าน เนื้อหามันสะท้อนให้เป็นสังคมที่เป็นอยู่ และตัวละครที่ตั้งคำถามกับสิ่งที่ดำเนินไปในสังคมที่ทุกอย่างดูปกติสุข อย่างเช่นมีตอนหนึ่งตัวละครสงสัยว่าทำไมต้องยืนด้วยเวลาที่ได้ยินเพลงชาติ เมื่อเขาตั้งคำถาม และลองที่จะไม่ปฎิบัติตามสิ่งที่สังคมตั้งกฎเกณฑ์ไว้ คนรอบตัวเริ่มมีปฏกิริยาต่อเขาทั้งต่อว่า เกลียดชัง ว่าทำไม่เป็นคนไม่รักชาติ”

Hito Steyer
Hito Steyerl (ฮิโตะ ชไตเยิร์ล)
แปลโดย อธิป จิตตกฤษ์,เก่งกิจ กิติเรียงลาภ,พนา กันธา,จุฑาสุวรรณมงคล
“ตอนนี้ผมกำลังอ่านบท ‘คนหาย’ มันเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ในทุกวันนี้พอดี ผมอ่านแล้วรู้สึกว่าสิ่งที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้มันกำลังเชื่อมโยงให้ผมอินกับสถานการณ์ไทยปัจจุบันด้วย ทั้งบรรยากาศของการวิพากษ์วิจารณ์ การต่อต้าน การประท้วง การตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรให้เสียงของการรักษาสิทธิของประชาชนที่ตะโกนออกไปมันก่อเกิดผล พอในบทที่กำลังอ่านพูดถึงคนหายมันก็รู้สึกว่าสถานการณ์ต่างๆ มันเกิดขึ้นจริงและเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากๆ อ่านแล้วนึกถึงเคสคนหายอย่าง บิลลี่ พอละจี”

รักร้อนแรงแห่งดินแดนสังคมนิยม
Kristen Ghodsee
แปลโดย เกศกนก วงษาภักดี
“เล่มนี้เปิดมาด้วยชื่อหนังสือที่เราชอบมาก “Why Women Have Better Sex Under Socialism” “ทำไมผู้หญิงถึงมีเซ็กส์ที่ดีกว่าในระบอบสังคมนิยม” หนังสือเล่มนี้น่าสนใจตรงที่ นำเสนอประเด็นการกดขี่ผู้หญิงผ่านกลไกของระบบทุนนิยมที่เกิดขึ้น เช่นการได้รับค่าแรงอย่างไม่เท่าเทียม ตัวอย่างอีกประโยคหนึ่งที่ทำให้เราชอบหนังสือเล่มนี้ คือ “รัฐสมัยใหม่จะยอมให้คนมีเซ็กส์แบบวิตถารยังไงก็ได้ แต่จะไม่ยอมมีรัฐสวัสดิการ” “

นายใน
ชานันท์ ยอดหงษ์
“เหมือนอ่านหนังสือ gossip ซุบซิบวงในในราชสำนัก สาระคือเรามักคุ้นเคยกันว่าในราชสำนักจะมีตำแหน่ง “นางใน” แต่ “นายใน” คือใคร มาจากไหน เหตุผลอะไรที่ อยู่ดีๆในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการปรับเปลี่ยนระบบการจัดการตำแหน่งแห่งที่คนในวังโดยเฉพาะตำแหน่งนี้ทำไมถึงได้ใกล้ชิด และดูแลรัชกาลที่ 6 เป็นพิเศษ ซึ่งคนข้างนอกก็ยังไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น รวมถึงบทบาท หน้าที่ที่แท้จริงของนายใน”

ปรากฏการณ์นิทรรศการ: รวมบทความว่าด้วยทัศนียภาพของศิลปะร่วมสมัย
ธนาวิ โชติประดิษฐ
จริงๆเวลานี้หยิบเล่มไหนมาอ่านก็ได้เลย การหยิบหนังสือมาอ่านในครั้งนี้มันน่าสนใจตรงที่การอ่านเล่มใดเล่มหนึ่งนั้นมันไม่ได้สร้างสัญลักษณ์ทางการเมืองเฉพาะ อย่างตอนในอดีตที่ยกหนังสือ 1984 หรือ Animal farm ขึ้นมาชู แต่บรรยากาศของการมายืนหยุดขังเปิดโอกาสให้เราหยิบหนังสือเล่มไหนมาอ่านก็ได้ ตัวกิจกรรมมันทำให้คนแลกเปลี่ยนกันอ่าน ได้มาอ่านหนังสือกัน ส่วนหนังสือเล่มนี้มันอยู่ในความสนใจประเด็นศิลปะ ที่เราชอบอยู่แล้วด้วยเลยเลือกมาวันนี้

หากภายในเราลึกราวมหาสมุทร
ซะการีย์ยา อมตยา
บทกวีของคนเขียนคนนี้ เล่าถึงความหลากหลายของผู้คนปะทะเข้ากับสถานการณ์ของสังคมในเวลานั้น ซึ่งระหว่างบรรทัดของตัวบทกวีมันสะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างทางสังคมที่มันกดทับ แปรเปลี่ยนพลังความคิด ทัศนคติของผู้คนต่อสิ่งที่เผชิญ จนตกตะกอน ฝังลึกเกิดเป็นความรู้สึกที่หลากหลายไม่อาจจะระบุได้

ปีศาจ
สนีย์ เสาวพงศ์
“มายืนหยุดขังตั้งแต่วันแรกของการมีกิจกรรมนี้ มีคนแนะนำว่าหนังสือเล่มนี้มีเรื่องราวที่ผูกโยงกับประเด็นในเรื่องละครเจ้าสาวหมาป่า ก็เลยลองอ่านดู”

อย่างน้อยที่สุด
วรพจน์ พันธุ์พงษ์
“เราอ่านวิธีการสัมภาษณ์คนของเขา วิธีการถามมันดึงให้คนตอบคำถามได้ดี พออ่านแล้วยังมีข้อสงสัยถึงคำตอบที่เกิดขึ้น ว่ามันเป็นสิ่งที่ยืนยันคำตอบของในหนังสือเล่มนี้อีกหรือไม่ อ่านเอาวิธีการของเขาในการดึงคำตอบ ซึ่งมันน่าสนใจดี”

Bonjour tristesse
Françoise Sagan
“วันก่อน ๆ ที่มายืนอ่านปีศาจ จากการแนะนำของเพื่อน ส่วนเล่มนี้เรารู้สึกว่ามันผู้หญิงมาก ๆ เลย เป็นเรื่องของความรักของผู้หญิง เรื่องผู้หญิงที่กำลังจะโตเป็นผู้ใหญ่ แล้วรู้สึกว่านิยามความรักมันต่างกัน มุมมองในการมองความรัก เราไปดูหนังเรื่องหนึ่ง แล้วตัวเอกเขาอ่านเล่มนี้พอดี มีประโยคที่เราสนใจอยู่ เราเลยอยากลองอ่านเล่มนี้ดู”

อ่านจากปีศาจสู่เชื้อโรค ประวัติศาสตร์การแพทย์กับโรคระบาดในสังคมไทย
ชาติชาย มุกสง
“อันนี้เป็นพิมพ์ครั้งที่ 2 เล่มนี้มันอิงกับสถานการณ์ในตอนนี้ เนื้อหาค่อนข้างเป็นประวัติศาสตร์ ก็สนุกดี กล่าวถึงความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องโรคภัย ที่อดีตจะมองว่าเป็นเรื่องของผี เรื่องของการที่ต้องใช้ศาสนา พิธีกรรมเข้าไปช่วย แต่ต่อมามันก็มีการเปลี่ยนแปลง ด้วยความรู้จากต่างชาติตั้งแต่สมัยรัชกาลที่5 เรามาวันเว้นวัน ก็อ่านเล่มนี้ตั้งแต่วันแรกที่มา”



กิจกรรมยืนหยุดขังยังคงดำเนินต่อไป และกระจายตัวไปสู่ภูมิภาคอื่นๆเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนการอ่านหยุดขังเราสามารถหยิบหนังสือเล่มไหนมาอ่านก็ได้เป็นสิทธิ์ที่ทุกคนสามารถแสดงออกและกระทำได้อย่างสันติด้วยเช่นกัน
แม้รัฐจะพยายามใช้อำนาจรัฐปิดกั้นความรู้ ปิดหูปิดตาประชาชน แต่เสรีภาพการอ่าน และการเปิดโลกผ่านตัวหนังสือที่เกิดขึ้นในเวลานี้ จะไม่พาให้ประชาชนหันกลับไปสู่ความมืดมอดอย่างแน่นอน