“ดูสามย่าน หันมองมช. : พันธกิจมหา’ลัยไทย 2024”
สรุปประเด็น"ดูสามย่าน หันมองมช. : พันธกิจมหา'ลัยไทย 2024"
บทนำ – ทำไมต้องเป็นหนังเรื่องนี้ ที่เราเลือกนำมาฉายในมช. ?
.
พิสิษฏ์ นาสี – Gentrification… การเบียดขับคนจนในโลกการศึกษาท่ามกลางบริบทเสรีนิยมใหม่
.
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ – จากปลายกระบอกปืนเผด็จการทหาร.. สู่การปล้นทรัพยากรโดยคนรวย มิติทางชนชั้นที่ถูกกลบเกลื่อน
.
นาวินธิติ จารุประทัย – ประสบการณ์นักศึกษาในมหา’ลัยยุคมุ่งทำเงิน… ฝันหวานกับความเป็นจริงในโลกวิชาการ
ทำไมต้องเป็นหนังเรื่องนี้ ที่เราเลือกนำมาฉายในมช. ?
พวกเรามีความสนใจในหนังเรื่องนี้มาตั้งแต่ก่อนจะเปิดฉายในที่ต่าง ๆ เนื่องจากเราสังเกตเห็นกระแสเรียกร้องให้ #Saveศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองจากการรื้อถอนโดยจุฬา ฯ ในโลกออนไลน์ตั้งแต่ปี 2020 (ประมาณกว่า 3 ปีที่แล้ว) อันเป็นช่วงที่เกิดกระแสความตื่นตัวทางการเมืองของสังคมไทย โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่
.
หนังเรื่องนี้นั้นมีเนื้อหาเกี่ยวกับการต่อสู้ของนิสิตจุฬา ฯ ที่เข้าไปปกป้องศาลเจ้าแม่ทับทิม ตั้งแต่ระดับการต่อสู้แบบ “เด็กดี” คือการขอเข้าไปคุยกับผู้บริหารอย่างประนีประนอม, ยื่นหนังสือ/เอกสารต่าง ๆ แก่ผู้บริหารจุฬา ฯ, ร่วมไปนั่งเป็นบอร์ดบริหารศาลเจ้า (ด้วยจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน บางคนอาจศรัทธาในศาลเจ้าแม่ทับทิม ฯ อยู่แต่เดิม บางคนอาจเห็นความสำคัญบางอย่างของศาลเจ้าที่มีมากกว่าเพียงสถานที่), ติดป้ายประท้วงการรื้อศาลเจ้า ฯ, สู้ในระดับสภา ฯ ผ่านการอภิปรายของ ส.ส.เขต, ต่อสู้ในกระบวนกฎหมายกับจุฬา ฯ ที่ฟ้องเรียกค่าเสียหายแก่ผู้ดูแลศาล ฯ, ตลอดจนต่อสู้ในสนามวัฒนธรรม เช่น การจัดกิจกรรมเสวนา จัดโรงทานให้ผู้คนบริเวณนั้นมารับประทานอาหารร่วมกัน พยายามขายความ “มู” ของศาลเจ้าแม่ทับทิม ฯ ในโซเชียลมีเดีย จนเกิดการรีวิวผลจากการการขอพรต่าง ๆ ที่ศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งนี้ อันนำมาซึ่งการขยายขอบเขตความรับรู้และปฏิสัมพันธ์ของผู้คนกับศาลเจ้า ฯ แห่งนี้ที่กว้างกว่าเดิม
หนังเรื่องนี้ได้เปิดโอกาสให้เรามองเห็นความย้อนแย้งและน่าตลกขบขันบางอย่าง
- การที่สถานที่อย่างศาลเจ้า ฯ, ซึ่งดูเป็นสถานที่ซึ่งคนรุ่นใหม่ไม่น่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมอะไรกับมัน กลับถูกปกป้อง พยายามฟื้นฟู และพูดถึงมันโดยกลุ่มนิสิต, นักศึกษา, และคนรุ่นใหม่. ในขณะที่ผู้ใหญ่บางกลุ่มกลับไม่เห็นคุณค่าของมัน
- ความล้มเหลวในการพยายามย้ายลมหายและจิตวิญญาณของผู้คนที่ศรัทธาในเจ้าแม่ทับทิมจากศาลเดิมไปไว้ศาลใหม่, ผ่านพิธีการย้ายเจ้าแม่ทับทิมองค์เทียมที่สร้างขึ้นใหม่, และเทพองค์อื่น ๆ เข้าไปที่ศาลใหม่. เพราะแม้แต่นิสิตหรือกรรมการศาลเจ้าแห่งเดิม, ที่จุฬา ฯ ควรจะต้องไปขอความชอบธรรมจากเขาในฐานะผู้บริหารและผู้ดูแล, และผู้มีสถานะความเป็นนิสิตที่ให้ความชอบธรรมแก่สถานะสถาบันการศึกษาแก่จุฬา ฯ, กลับถูกผลักออกจากพิธีกรรม
- การที่คนตัวเล็ก ๆ ที่ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ใด ๆ ถูกปล่อยให้ต้องมาขัดแย้งกันเองอย่างน่าหดหู่. อย่างที่เห็นตัวอย่างกรณีที่เจ้าหน้าที่รปภ.ของจุฬา ฯ, ที่อาจเป็นเพียงพนักงานจากบริษัท Outsource ที่บริการความปลอดภัย, ซึ่งไม่ได้รู้เห็นใด ๆ กับหลักคิดเบื้องหลังการย้ายศาลเจ้า ฯ ของผู้บริหารจุฬา ฯ, กลับต้องมาปะทะกับความขัดแย้ง, เสมือนต้องมาตอบคำถามที่ผู้บริหารจุฬา ฯ ควรต้องมาตอบเพราะเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุด.
.
เครื่องมือต่าง ๆ ที่พวกเขา (ผู้บริหารมหาวิทยาลัย) ใช้ในการจัดการกับความขัดแย้งต่อคนตัวเล็ก ๆ นั้นถูกใช้ผ่านอำนาจการบริหาร, คำสั่ง, เนติบริกร, ทีมกฎหมายที่เข้มแข็ง, รวมถึงกลไกการควบคุมพฤติกรรมต่าง ๆ, การใช้อำนาจควบคุมผ่านสัญญาจ้าง, ความเป็นองคาพยพในมหาวิทยาลัย, หรือแม้แต่ตัวองค์การนักศึกษาเองก็ยังน่าเคลือบแคลงใจว่าเป็นกลไกในการควบคุม/จัดการ/ดูแล เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งในหมู่นักศึกษา, จากปัญหาที่มหาวิทยาลัยควรจะมีส่วนรับผิดชอบ.
ท้ายที่สุด, เราเชื่อว่ากลไกต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ได้พบได้เพียงในเรื่องเล่าจาก จุฬา ฯ หรือมช. เท่านั้น
ท้ายที่สุด, เราเชื่อว่ากลไกต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ได้พบได้เพียงในเรื่องเล่าจาก จุฬา ฯ หรือมช. เท่านั้น. เพราะจากการที่พวกเรามีโอกาสได้คุยกับเพื่อนในหลายมหาวิทยาลัย, เราก็พบว่าเมื่อมีคนคิดจะลุกขึ้นมาตั้งคำถามต่ออะไรสักอย่าง, หรือต่อต้านสิ่งที่เป็นอยู่ในความปกติในปัจจุบันของแต่ละมหาวิทยาลัยของพวกเขา, คนเหล่านั้นก็จะต้องประสบกับกลไกการจัดการความขัดแย้งต่าง ๆ ในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน. จึงอาจอนุมานได้ว่า นิสิต/นักศึกษาอย่างเรา ๆ ทั่วประเทศ กำลังอยู่ท่ามกลางระบอบ (Regime) อะไรบางอย่าง.
.
การนำหนังเรื่องนี้มาฉาย ก็เพื่อกระตุ้นชีพจรของบทสนทนาที่จะท้าทาย และพยายามเผยโฉมระบอบเหล่านั้นนั่นเอง
บันทึกเสวนา "ดูสามย่าน หันมองมช. : พันธกิจมหา'ลัยไทย 2024" ฉบับเต็ม
พิสิษฏ์ นาสี | Gentrification... การเบียดขับคนจนในโลกการศึกษาท่ามกลางบริบทเสรีนิยมใหม่
Gentrification เป็นกระบวนการที่จะเบียดขับคนจนเมืองออกไป เพื่อให้เมืองมันสวยงาม จะมีกระบวนการที่ทำให้โรงเรียนเหล่านั้นปิดตัวลงไป ด้วยระบบการจัดการศึกษาที่จะต้องใช้มาตรฐานเข้าไปควบคุม เช่น การสอบวัดมาตรฐาน ทำให้โรงเรียนเหล่านี้พ่ายแพ้ กลายเป็นเหตุผลให้รัฐเข้าไปจัดการ สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างน่าสนใจคือ ถ้าพวกเขาไม่สามารถปิดโรงเรียน หรือไล่ที่โรงเรียนเหล่านั้นได้ พวกเขาจะปรับสภาพโรงเรียนด้วยการทำการ Privatization (การทำให้กลายเป็นเอกชน) โรงเรียนรัฐเล็ก ๆ สำหรับคนจนเมืองภายในเมืองใหญ่ อย่างเช่นนิวยอร์ก ชิคาโก หรือลอนดอน ซึ่งหมายถึงการปรับเปลี่ยนโรงเรียนที่รัฐสนับสนุนเหล่านั้นให้เป็นโรงเรียนที่เอกชนเข้ามาจัดการ
การทำแบบนี้ ทำให้เกิดโรงเรียนในลักษณะที่เรามักจะเคยได้ยินจากต่างประเทศ ที่เรียกว่า School choice อย่างเช่นพวก Charters school (โรงเรียนในกำกับรัฐบาล – ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาล แต่ดำเนินการอย่างไม่ขึ้นกับระบบ) พวกนี้รับเอาการบริหารจัดการอย่างเอกชนเข้ามาหมด ฉะนั้นโรงเรียนที่เคยเป็นของชุมชน ของเด็กยากจน ของคนผิวสี จะกลายเป็นโรงเรียนของเด็กที่รวยทันที เพราะจะเกิดการขึ้นค่าเทอม จัดสภาพแวดล้อมใหม่ ซึ่งจะทำให้เด็กพวกนี้ ที่มาจากครอบครัวในชุมชนพวกนี้ไม่สามารถอยู่ได้ สุดท้ายก็ต้องย้ายออกไปข้างนอก
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ | จากปลายกระบอกปืนเผด็จการทหาร.. สู่การปล้นทรัพยากรโดยคนรวย มิติทางชนชั้นที่ถูกกลบเกลื่อน
หลังจากเกิดการทำรัฐประหารปี 2557 มีการผลักดันให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบอีกระลอกหนึ่ง ดังที่ภาพยนตร์เรื่อง The Last Breath of Sam Yan ได้พูดถึงการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ว่ามันเป็นส่วนสำคัญมาก ที่ให้อำนาจกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยในการทำมาหากินกับทรัพย์สินในมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสมบัติสาธารณะได้อย่างชอบธรรม ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายหลังเกิดการทำรัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง และวิกฤติเศรษฐกิจ 1 ครั้งที่ผ่านมา ฉะนั้นเราจะเห็นว่า การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบและการนำมหาวิทยาลัยมาหากินกับทรัพย์สินส่วนรวมของสังคมผ่านการแปรรูปกิจการมหาวิทยาลัย เกิดขึ้นภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร และการอ้างว่าสังคมไทยไม่มีความพร้อมจะดูแลระบบสสวัสดิการด้านการศึกษา จึงถือความชอบธรรมว่าเราจะต้องแปรรูปกิจการมหาวิทยาลัยบางส่วนให้เป็นเอกชน หรือทำให้ผู้บริหารมีอิสระในการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยมากขึ้น
นาวินธิติ จารุประทัย (นักศึกษามช. - ตัวแทนกลุ่ม SAAP 24:7) | ประสบการณ์นักศึกษาในมหา’ลัยยุคมุ่งทำเงิน... ฝันหวานกับความเป็นจริงในโลกวิชาการ
เราเคยเชื่อว่ามหาวิทยาลัยเป็นที่ที่ควรเป็นแสงสว่างทางปัญญา หมายความว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ความรู้ และญาณวิทยาทุกอย่างที่มันอยู่บนโลกใบนี้มันได้มีเสรีภาพ มีพื้นที่ให้ตัวมันสามารถตีกัน ถกเถียงกัน ช่วงชิงพื้นที่กันเพื่อนำไปสู่สิ่งใหม่ ๆ ในสังคมได้ ตอนผมเข้ามหาวิทยาลัยมาแรก ๆ ผมเห็นปัญหาในมหาวิทยาลัยเต็มไปหมด ตอนนั้นผมเชื่อว่าถ้าผมพูดอะไรสักอย่างออกไป ปัญหาพวกนั้นมันจะได้รับการแก้ เพราะที่นี่คือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่นี่มีคณะเต็มไปหมด เราอยู่ท่ามกลางผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชาที่มารวมกันในสถานที่เดียว แต่ทำไมหลายปัญหาที่เราพูดออกไปแล้ว มันถึงมีน้ำยาแก้ปัญหาได้อยู่แค่นี้ ผมว่าสิ่งนี้เป็นปัญหามาก ๆ และไอ้บริบทที่มหาวิทยาลัยต้องขวนขวายทำกำไร แล้ววัด Ranking ของตัวเองว่ามันเจริญก้าวหน้ายังไงด้วยเกณฑ์แบบเดิม ๆ เนี่ย มันจึงทำให้ไอ้ความรู้พวกเนี้ยมันไม่สามารถคัดง้างกันภายในมหาวิทยาลัยได้