ท่าทีของอ.มช. ต่อประกาศควบคุมการชุมนุม และวิกฤติศรัทธาต่อผู้แทนนักศึกษา

ท่าทีของอ.มช. ต่อประกาศควบคุมการชุมนุม และวิกฤติศรัทธาต่อผู้แทนนักศึกษา

ท่าทีของอ.มช. ต่อประกาศควบคุมการชุมนุม
และวิกฤติศรัทธาต่อผู้แทนนักศึกษา

หลังจากพวกเรา กลุ่ม SAAP 24:7 ได้จัดกิจกรรมเวทีเสวนา “ประกาศชุมนุมขยุ้มหัวใจ” ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่พูดคุยเกี่ยวกับประกาศควบคุมการชุมนุมในมช. ฉบับใหม่ไปเมื่อวันพุธที่ 12 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา (ลงชื่อคัดค้านประกาศ ฯ ได้ที่ : https://forms.office.com/r/kr22GR3S7A) สิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตจากกิจกรรมนี้คือ Action ของตัวแทนจากองค์การนักศึกษา ทั้งประธานสภานักศึกษา และนายกสโมสรนักศึกษามช. ซึ่งได้ตอบรับมาร่วมวงสนทนาภายในกิจกรรมด้วย โดยประเด็นที่เราต้องการให้ข้อสังเกตต่อกรณีดังกล่าว มีทั้งสิ้น 3 ประเด็น

1. นายกสโมสรนักศึกษา และประธานสภานักศึกษาได้มาร่วมวงสนทนาในกิจกรรมดังกล่าวด้วย

การที่หัวหน้าองค์กรนักศึกษาภายใต้องค์การนักศึกษามช. (อ.มช.) ตอบรับเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวอาจสื่อนัยยะที่สามารถตีความได้หลากหลาย โดยพื้นฐาน… เราอาจตีความได้ว่า ตัวแทนนักศึกษายังมีความกล้าหาญ เปิดกว้างต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง และให้ความสำคัญกับการรับฟังผู้คนมากกว่า (ในการเปรียบเทียบเชิงปริมาณ) ผู้บริหารในองค์กรต่าง ๆ หลายระดับทั้งหมดที่ได้รับการเชิญให้มาร่วมเสวนา (อธิการบดี, ผอ.กองกฎหมาย ,และผอ.กองพัฒนานักศึกษา) แต่ไม่ได้ตอบรับเข้าร่วมกิจกรรม และไม่มีการส่งตัวแทนเข้าร่วม แต่เราจำเป็นต้องยอมรับว่าการตัดสินใจของตัวแทนนักศึกษาเพื่อร่วมกิจกรรมในครั้งนี้นั้นตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่เป็นแรงกดดันหลายประการ เช่น ความคาดหวังจากนักศึกษาต่อตัวแทนของพวกเขา ภาพลักษณ์การทำงานในฐานะผู้แทนซึ่งได้รับความชอบธรรมจากเสียงของผู้คน (แม้ระบบผู้แทนในอ.มช. จะมีข้อครหาที่ต้องพิจารณาอีกมาก) แรงกดดันจากภายในองค์กร ตลอดจนจริยธรรมส่วนตัวที่แต่ละคนยึดถือ อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงเหล่านี้อาจยังแสดงให้ความหวังเล็ก ๆ ในมโนธรรมสำนึกของเพื่อนมนุษย์ที่เข้าไปทำหน้าที่ผู้แทนบนความชอบธรรมของนักศึกษาอย่างเรา ซึ่งเชื่อมโยงกับประเด็นถัดไป

2. นายกสโมสรนักศึกษา และประธานสภาไม่ได้เห็นด้วยกับตัวประกาศดังกล่าวอย่างเต็มที่

ภายในกิจกรรมเสวนา ผู้ดำเนินรายกายได้ถามถึงความคิดเห็นของหัวหน้าองค์กรนักศึกษาทั้งสองต่อประกาศควบคุมการชุมนุมที่ มช. เพิ่งประกาศใช้ ทางด้านประธานสภานักศึกษาได้เริ่มเกริ่นบริบทการทำงานของสภา ฯ ต่อประเด็นดังกล่าวโดยให้ข้อมูลว่า ก่อนมีการออกประกาศฉบับนี้… สภา ฯ รับทราบถึงเนื้อหาของประกาศฉบับดังกล่าวในที่ประชุมกับผู้บริหารมาก่อน ซึ่งสภา ฯ นักศึกษาได้ติติถึงตัวเนื้อหาที่มีการควบคุมการชุมนุมแก่ทางมหาวิทยาลัยไปแล้ว (ทั้งนี้ ไม่ได้มีการระบุในรายละเอียดว่าได้ติติงในประเด็นใดไปบ้าง) ประธานสภา ฯ ได้แจงเพิ่มว่าตนเข้าใจว่าประกาศฉบับนี้มีปัญหา และคิดว่าจะนำเรื่องนี้เข้าไปพูดคุยกันภายในองค์กรอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ โดยส่วนตัวแล้ว… ตัวเขาเองนั้นเห็นว่าการชุมนุมเป็นเสรีภาพที่ถูกรับรองตามรัฐธรรมนูญ และหลักการสิทธิมนุษยชน เสรีภาพเป็นสิ่งที่คนเราตัดสินใจที่จะทำหรือไม่ทำอะไรได้อย่างอิสระ เราไปห้ามมนุษย์ไม่ให้ทำไม่ได้ หรือจะไปบังคับให้ทำอะไรก็ไม่ได้เช่นกัน ต่างกับสิทธิที่ต้องมีผู้มอบให้ ทั้งนี้ สำหรับเสรีภาพภายในสถาบันการศึกษา ตนเห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็น เพราะความรู้นั้นเกิดจากการแลกเปลี่ยนการพูดคุยกันทั้งสิ้น การชุมนุมก็เช่นกัน ย่อมควรจะต้องทำได้เลย และสำหรับตัวเนื้อหาในประกาศฉบับนี้ ตนก็คิดว่าการชุมนุมไม่ควรถูกปิดกั้น ดังนั้นเนื้อหาของตัวประกาศมันไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ประธานสภา ฯ ได้กล่าวเสริมต่อประเด็นเนื้อหาของประกาศ ฯ ที่ระบุให้นักศึกษา อาจารย์ เจ้าหน้าที่ต้องขออนุญาตก่อนจัดชุมนุมว่า… ในกรณีของการจัดชุมนุมควรถูกพิจารณาแยกกับการจัดกิจกรรมของนักศึกษา เพราะการจัดกิจกรรมนักศึกษาย่อมต้องมีการขออนุญาตอยู่แล้ว การชุมนุมคือเสรีภาพ แต่กิจกรรมนักศึกษาคือสิทธิที่จะจัดกิจกรรม (ผู้ดำเนินรายการได้ถามในภายหลังว่าเหตุใดจึงแยกการชุมนุม กับการจัดกิจกรรมของนักศึกษาออกจากกัน เจ้าตัวได้มีการอธิบายว่า ตนหมายถึงกิจกรรมนักศึกษาที่เกิดขึ้นภายใต้การขออนุญาตตามระเบียบ มช. ในความหมายแคบ) นอกจากนี้ยังได้เพิ่มเติมอีกว่า ตนเห็นว่าประกาศฉบับนี้ควรมีเนื้อหาในลักษณะให้ผู้จัดชุมนุมแจ้งให้ทราบถึงการจัดชุมนุมมากกว่าที่จะเป็นการขออนุญาต และเห็นว่าคนที่ร่างประกาศดังกล่าวน่าจะไม่เข้าใจบริบทของการชุมนุม โดยส่วนตัวเห็นด้วยว่าควรจะต้องมีการปรับแก้ประกาศ เมื่อเราพูดถึงเสรีภาพทางวิชาการ มันไม่ควรถูกจำกัดแค่เพียงในบทเรียน
ด้านนายกสโมสรนักศึกษาเริ่มต้นด้วยการย้ำเงื่อนไขว่าตนกำลังจะพูดถึงประกาศขออนุญาตชุมนุมในฐานะความคิดเห็นส่วนตัว (ส่วนสโม ฯ จะดำเนินการอย่างไรต่อ ยังคงต้องมีการปรึกษากันอีกครั้ง) นายกสโม ฯ เห็นว่าสำหรับประเด็นการชุมนุมใน มช. เราต้องถามกลับไปว่าผู้จัดการชุมนุมแต่ละครั้งอยากให้สโม ฯ อำนวยความสะดวกอะไรในแต่ละครั้ง สโคปความช่วยเหลือยังไง และเป็นไปได้หรือไม่ที่สโม ฯ จะช่วยเหลือตามที่ขอ (ทั้งนี้ เพราะเห็นว่าสโม ฯ มีความเป็นองค์กร จึงมีภาพลักษณ์ขององค์กรเป็นเงื่อนไขที่ต้องพิจารณา) แต่ได้ยืนยันว่าสโม ฯ จะช่วยเหลือเต็มที่เท่าที่สโม ฯ เห็นว่าทำได้ ส่วนตัวเห็นต่างจากประธานสภา ฯ ในประเด็นการชุมนุมว่า… กิจกรรมการชุมนุมไม่ควรถูกพิจารณาแยกออกจากกิจกรรมนักศึกษา เพราะการชุมนุมก็นับเป็นกิจกรรมหนึ่งที่เป็นความสนใจของผู้คน ทั้งนี้ ในรายละเอียดเนื้อหาของประกาศควบคุมการชุมนุมที่เพิ่งประกาศใช้ ตนมีความรู้สึก “เอ๊ะ” อยู่บ้าง แต่จริง ๆ มันก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ในประเด็นเนื้อหาที่ระบุให้ขออนุญาตจัดชุมนุม ตนมองว่าจำเป็นต้องขออนุญาตเหมือนกิจกรรมนักศึกษาอื่น ๆ ทั้งนี้ ตามประกาศที่เพิ่งออก ตนเห็นว่าอาจติดเรื่องเงื่อนไขเวลา จึงเห็นว่าโจทย์สำคัญคือเราจะทำอย่างไรให้การอนุมัติเป็นไปได้อย่างรวดเร็วขึ้น และทันต่อประเด็นการชุมนุม
.
(ทั้งนี้ ข้อความในโพสนี้เป็นการสรุปใจความ กรุณาเข้าชมบันทึกการเสวนาฉบับเต็ม : https://www.youtube.com/watch?v=zv5N51cltSE&t=8407s)

เราจะเห็นได้ว่า แม้ความคิดเห็นของประธานสภา ฯ และนายกสโมจะมีความแตกต่างกันเอง หรือแตกต่างกับชาว มช. ที่ได้แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นนี้อย่างแพร่หลาย แต่สิ่งหนึ่งที่เราได้รับการยืนยันจากเสวนาครั้งนี้ คือ ผู้นำองค์กรนักศึกษาทั้งสองต่างไม่ได้เห็นด้วยกับประกาศควบคุมการชุมนุมของมช.ฉบับใหม่ไปทั้งหมด มีความแตกต่างในรายละเอียดของแต่ละคน และสิ่งสำคัญที่เราน่าจะสรุปได้ในทันทีคือ แม้กระทั่งตัวแทนนักศึกษาที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่ได้มีส่วนร่วมหรืออำนาจในการตัดสินใจต่อการออกประกาศฉบับดังกล่าว

3. บทบาทขององค์กรนักศึกษาต่อประกาศฉบับนี้มีอะไรบ้าง ? ทำอะไรไปแล้ว ? แล้วจริง ๆ ควรทำอะไรบ้าง ?

ข้อมูลเดียวที่เราได้รับทราบเกี่ยวกับการทำงานขององค์กรนักศึกษาภายใน อ.มช. ต่อประเด็นประกาศควบคุมการชุมนุม ฯ ฉบับใหม่ของ มช. จากการเสวนาครั้งนี้ คือข้อมูลจากสภานักศึกษาที่บอกว่าองค์กรของตนได้มีการติติงต่อเนื้อหาประกาศดังกล่าวในที่ประชุมกับผู้บริหารไปก่อนที่จะประกาศใช้ประกาศดังกล่าว (แม้ไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดการติติง) นอกจากข้อเท็จจริงดังกล่าว ที่เราได้ยินจากปากของผู้นำองค์กรนักศึกษาทั้ง 2 ก็คือการที่ทั้งสองจะนำประเด็นครหาต่อประกาศ ฯ ไปหารือกันภายในองค์กร แม้ว่าทั้งสองจะไม่สามารถบอกได้อย่างเป็นรูปธรรมว่า สภา ฯ และ สโม ฯ จะทำอะไรต่อไป (เนื่องด้วยถือหลักต้องตัดสินใจร่วมกับสมาชิกองค์กร)

คำถามสำคัญที่สุดที่ตามมาคือ… บนภาวะที่เกิดการออกประกาศของมช.ที่กระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกของนักศึกษา อาจารย์ และเจ้าหน้าที่มากขนาดนี้ องค์กรนักศึกษาที่มีความชอบธรรมจากการเลือกตั้งสามารถทำอะไรกับมันได้บ้าง ดังที่คุณวัชรภัทร ธรรมจักร – ตัวแทนจากประชาคมมอชอได้แสดงความคิดเห็นในวงสนทนาเดียวกัน เพื่อย้ำถึงข้อเท็จจริงที่สำคัญเกี่ยวกับการออกประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งของมหาวิทยาลัยว่า… ตนไม่ปฏิเสธว่าโดยปกติ เมื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะประกาศใช้อะไรที่เป็นลายลักษณ์อักษร มักจะไม่มีการไปถามความคิดเห็น และไม่เคยให้นักศึกษาร่วมตัดสินใจว่ามันเหมาะที่จะประกาศใช้หรือไม่ แต่ผู้แทนนักศึกษาไม่มีความจำเป็นจะต้องไปกระทำองค์กรของตนให้ทำหน้าที่เสมือน “โฆษก” หรือ “ทีม PR” ของมหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่คัดง้างอะไร เพราะสิ่งนี้จะทำให้เกิดภาวะ “วิกฤติศรัทธาต่อผู้แทนนักศึกษา” ซึ่งเป็นที่ถกเถียงในหมู่นักศึกษาถึงความชอบธรรมในฐานะตัวแทนที่ไม่เคยเป็นปากเป็นเสียงให้นักศึกษาต่อผู้มีอำนาจตลอดหลายปีที่ผ่านมา ด้านนายกสโม ฯ ชี้ว่า งานตรงนี้ (งานผู้แทนนักศึกษา) การจะทำงานมันต้องมีพื้นเพความต้องการของนักศึกษามาก่อนอยู่แล้ว ผู้แทนก็ต้องทำงานที่ตอบสนองทั้งนักศึกษาและตัวเรา (ผู้แทนนักศึกษา) เองด้วย อย่างไรก็ตามคงจะต้องนำประเด็นนี้ไปหารือในที่ประชุมอีกครั้ง ส่วนประธานสภา ฯ ยอมรับว่าสิ่งที่คุณวัชรภัทรพูดเป็นเรื่องจริง และคิดว่าสิ่งนี้ยิ่งย้ำความสำคัญของการที่ผู้แทนนักศึกษาต้องรีบคุยกันอย่างเร่งด่วน และจริงจัง ทั้งในประเด็นประกาศฉบับที่กำลังเป็นที่ถกเถียงนี้ และประเด็นวิกฤติศรัทธาต่อบทบาทของผู้แทนนักศึกษา พร้อมให้สัญญาว่าตนจะไม่ปล่อยให้คำถาม หรือดราม่าในบทสนทนาของนักศึกษาหายไปอย่างเงียบ ๆ อย่างแน่นอน

ข้อถกเถียงถึงบทบาทของผู้แทนนักศึกษาใน มช. และมหาวิทยาลัยทั่วประเทศนั้นมีมานาน บ้างก็เห็นด้วยว่าผู้แทนนักศึกษามีหน้าที่จัดกิจกรรมประเภท “สายลมแสงแดด” เพื่อความสุขในชีวิตของนักศึกษา บ้างก็ว่า ตัวแทนนักศึกษาควรมีสำนึกในการสนับสนุนให้นักศึกษามีบทบาทในการรับใช้สังคมในฐานะความหวังทางปัญญาอย่างกว้างขวาง บ้างก็บอกว่าผู้แทนนักศึกษาควรหา “สมดุล” ระหว่างสองแนวคิด (ซึ่งคงไม่มีใครตอบได้ชัดเจนว่าสมดุลที่ว่านี้คืออะไร) แต่สิ่งหนึ่งที่เรามิอาจปฏิเสธได้เลยคือ… ผู้แทนนักศึกษานั้นจะมีความชอบธรรมในตำแหน่งได้ ก็ต้องมีผลมาจากการดำรงอยู่ของ “นักศึกษาทุกคน” ที่เป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งผู้แทนในทุกปี ไม่ว่าระบบการจัดตั้งองค์กรนักศึกษาใน มช. จะมีจุดโหว่ หรือถูกตั้งแง่ว่าได้รับการออกแบบมาให้เอื้อผลประโยชน์กับคนเพียงบางกลุ่มมากแค่ไหน แต่เมื่อเสรีภาพของนักศึกษาถูกรุกรานมากขึ้นโดยกลุ่มผู้ใหญ่ที่ควรจะมีหน้าที่รับประกันเสรีภาพในสถาบันการศึกษาอย่างถึงที่สุด โดยเฉพาะเมื่อการรุกรานนั้นเป็นการรุกรานเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนสามารถจะทำได้โดยไม่ควรถูกเล่นงานด้วยกลไกทุกรูปแบบ จุดยืนและการลงมือทำอะไรสักอย่างต่อประเด็นในลักษณะดังกล่าวของตัวแทนนักศึกษา จะเป็นบทพิสูจน์ชั้นดี… ว่าความชอบธรรมของการนั่งบนตำแหน่งของตัวเองในฐานะตัวแทนนักศึกษานั้นเป็น “ความชอบธรรมที่ตนเองให้คุณค่าเป็นความชอบธรรมจากนักศึกษา และผู้คนตัวเล็กที่ไม่มีอำนาจ” หรือเป็น “ความชอบธรรมของกลุ่มคนไม่กี่คนที่ใช้อำนาจอุปโลกน์โลกมายาที่ตระหนักถึงเสรีภาพทางวิชาการจอมปลอมขึ้นมา ผ่านลายเซ็นบนเอกสารไม่กี่ฉบับ” เพราะโดยพื้นฐานที่สุดแล้ว ต่อให้เรา (ที่แปลว่านักศึกษาทุกคน) จะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ใครพูดหรือแสดงออกก็ตาม สิ่งที่เราควรตระหนักเอาไว้ทุกเมื่อเชื่อวันก็คือ… เราจะต้องปกป้องเสรีภาพในการพูดของทุกคนจนตัวตาย เพราะถ้าคนเพียงบางกลุ่มไม่มีเสรีภาพในการพูดเพียงบางประเด็น เราทุกคนก็ต่างไม่มีเสรีภาพในการพูดอย่างแท้จริง

และนี่คือ “โอกาส” สำคัญในการตอบคำถามว่า… ผู้แทนนักศึกษาเป็นผู้แทนของใคร

Latest Story

Kenduri Seni Patani 2024 เทศกาลศิลปะเชื่อมประเด็นวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม – การเมือง – และชุมชนหลากหลายภูมิภาคมาจัดแสดงในปัตตานี

เทศกาลศิลปะนานาชาติ Kenduri Seni Patani 2024  : ภายใต้แนวคิด “ก่อนอุบัติ และหลังสลาย” ส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ภัณฑารักษ์ ” เทศกาลศลปะ Kenduri Seni Patani 2024 ภายใต้แนวคิด “Before birth and