field research and productionเรื่องเล่าเบื้องหลังการทำงาน
โดย “กลอย” สกุลรัตน์ ใจบุญ
Pre-production
(ต้องเท้าความก่อนว่าเราเป็นมนุษย์Introvertขั้นสุด โดยพื้นฐานจะเป็นคนหัวขบถอยู่หน่อย ๆ แต่ว่าไม่กล้าออกมาเรียกร้องอะไรยอม ๆ ทำตามบรรทัดฐานสังคม เรียกว่าอยู่ในกรอบมาตลอดอย่างกลมกลืน แต่เรามีความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ลงเรียนวิชากฎหมายสิทธิมนุษยชน บวกกับการอ่านหนังสือ เสพสื่อต่าง ๆ มันก็ทำให้ทำความเข้าใจว่าเห้ยเรามีสิทธิที่จะทำแบบอะไรได้หรือไม่ได้ การที่เรากลัวเนี่ยมันเป็นผลมาจากอะไร อย่างน้อย ๆ เลยคือเรากล้าตั้งคำถามมากขึ้น แต่เราก็ไม่กล้าแสดงออกมันออกมาอยู่ดี)
ในครั้งแรกของการนำเสนอหัวข้อเราหยิบยกประเด็นเรื่องของเสรีภาพในการแสดงออกมาและเล่าถึงประสบการณ์ความกลัวในการแสดงออกของตนเองที่ไม่กล้าต่อต้านต่ออำนาจอยุติธรรม แล้วความกลัวเหล่านั้นมันทำให้เราต้องเงียบมาตลอด
อาจารย์ที่ปรึกษาก็ให้การบ้านเราไปทำความเข้าใจกับการทำงานความกลัวของผู้คนผ่านการสัมภาษณ์จำนวน 10 คน
เราจึงแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มที่เผชิญกับความอยุติธรรมแล้วกล้าออกมาเรียกร้องสิทธิของตนเอง ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่เผชิญกับความอยุติธรรมแล้วกลัวการออกมาเรียกร้องและเลือกที่จะเงียบ
การไปทำการบ้านครั้งนั้นก็ทำให้เราค้นพบว่าการทำงานของความกลัวของแต่ละคนนั้นมีความน่าสนใจมากและก็ทำให้เราได้ข้อสรุปว่า…
คนที่เค้ากล้าออกมาเรียกร้องเนี่ยไม่ใช่ทุกคนที่ไม่กลัวแต่ว่ามันมีสิ่งที่เค้ากลัวมากกว่าคือกลัวไม่มีอนาคต กลัวไม่มีเสรีภาพ ซึ่งมันเป็นความกลัวที่ใหญ่กว่าความกลัวในตัวปัจเจกด้วยซ้ำ
และคนที่เงียบนั้นเค้ากลัวผลลัพธ์ที่จะตามมาหากเขาออกมาเรียกร้อง โดยกลัวว่าสังคมจะมองเขาเป็นตัวประหลาดและไม่เป็นที่ยอมรับ
ในการนำเสนอหัวข้อครั้งที่สองก็สร้างความชัดเจนกับหัวข้อของเรามากขึ้น คืองานเราจะพูดถึงเรื่องความกลัวการแสดงออกทางการเมือง ส่วนจะทำออกมาเป็นงานศิลปะรูปแบบไหนนั้น…
เราไม่มีความสามารถในศิลปะเลยแม้แต่แขนงเดียว แต่ก็ได้รับคำแนะนำมาว่าลองทำเป็นสารคดีไหม หา ‘Subject’ เป็นคนที่น่าสนใจ มีความซับซ้อน และไม่เคยอยู่ในพื้นที่สื่อมาก่อน
ความยากคือ เราพยายามหาคนที่จะยอมมาเป็น ‘Subject’ ในสารคดีไม่ได้ (ก็แหงล่ะใครเขาจะยอมให้เราไปถ่ายชีวิตของเขาคงอึดอัดแย่ :-l )
ทำไงล่ะทีนี้
งั้นเอาตัวเองเป็น ‘Subject’ ละกัน!!!
เมื่อคิดออกมาได้ประมาณนี้แล้ว จึงรีบไปปรึกษาทีมงานประมาณนี้มันจะพอไปต่อได้ไหม หรือว่าจะต้องปรับเปลี่ยนแก้ไขอย่างไรต่อไป
ทีมงานจึงให้คำแนะนำรายชื่อคนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในบริบทต่าง ๆ ที่จะมาเป็น Mentor ให้เราจำนวนหนึ่ง…(เยอะทีเดียว)
โดยจะใช้เวลาฝึกงานทั้งหมด 112 ชม. และมีสมุดบันทึกชั่วโมงรูปแบบคล้ายสมุดบันทึกกิจกรรมทำความดี
การบ้านคือ เราไปวางแผนว่าเราจะไปฝึกงานอะไรจากเค้า พูดง่าย ๆ คือไปเขียนบทคร่าว ๆ หรือสตอรี่บอร์ดมาให้ดูก่อนดิ๊
(ช้าก่อน… ตอนนั้นเราไม่รู้อะไรเลยด้วยซ้ำว่าการสร้างหนัง 1 เรื่องมันต้องทำยังไง มันเริ่มจากศูนย์ อะไรคือทรีทเมนท์ ที่ใช้บำรุงผมรึเปล่า 5555 หรือการเขียนสตอรี่บอร์ดเนี่ยเค้าวาดรูปกันยังไง เราก็วาดรูปไม่เป็นซะด้วย อย่าให้พูดถึงการเขียนบทเลย ความรู้เท่ากับ”ศูนย์”)
ความลำบากมันก็เป็นเรื่องของเวลาและก็เราจะต้องทำการบ้านอย่างหนักต่อการออกกองไปถ่ายกับแต่ละคน ซึ่งมันเป็นอะไรที่หนักเกินไปสำหรับนักศึกษาปี 4 ที่จะต้องปั่นงานค้นคว้าอิสระของตัวเองไปด้วยและตอนนั้นก็ทำงานเป็นผู้ช่วยอาจารย์ไปด้วย
ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนแผนการทำงานโดยจะเป็นไปตามสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันในขณะนั้นแทน
Pre-production + production
มันไม่ใช่ว่า”บทพร้อม…ทุกอย่างพร้อม… แล้วออกกองได้” แต่มันคือการผสมปนเประหว่าง preproduction + production ตลอดกระบวนการทำงาน
เมื่อตัดสินใจว่าจะเอาตัวเองเป็น subject หลัก และไม่มีความสามรถเขียนบทหรือคาดการณ์สถานการณ์ได้ล่วงหน้าได้เลย
หลังจากโควิดระลอก 2 ช่วงนั้นจึงไม่มีการจัดม็อบใหญ่ ๆ เลย ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์เหตุการความรุนแรงในประเทศเมียนมาร์เริ่มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น และการแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิดของรัฐบาลที่ไรประสิทธิภาพ รวมถึงขณะนั้นศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว เพนกวิ้น ทนายอานนท์ ลุงสมยศ หมอลำแบงค์ ในคดีมาตรา 112 คณะราษฎรก็มีการกลับมาจัดม็อบ #ม็อบ10กุมภา รวมพลคนไม่มีจะกิน ตีหม้อไล่เผด็จการ ซึ่งถือเป็นครั้งแรก ๆ ในปี 64
ในวันนั้นเองทีมงานก็เชียร์เราลองไปตีหม้อไหม คู่ขนานไปกับช่วงเวลาม็อบที่แยกสกายวอร์คเลย
ภารกิจฟุ่งชนความกลัวอย่างกะทันหัน บอกตรง ๆ ว่าวันนั้นเราไม่ได้เตรียมใจอะไรเลย
แอบขโมยกะละมังเก่าจากที่ Book Republic มาด้วย5555
ลำบากใจมาก ไม่รู้ว่าจะเริ่มจากต้องพูดกับกล้องยังไง ต้องถ่ายวิดีโอมุมไหน ก็ได้พี่มีนมาช่วยสอนการพูดกับกล้อง เรื่องจะต้องถ่ายตัวเองยังไงนู่นนั่นนี่ (ก็คืออย่างเกร็งแต่ฟุตเทจพวกนี้ไม่ได้ใส่ลงไปในสารคดีนะ5555)
และก็ออกเดินทางไปทางไปที่ลานควายยิ้ม อ่างแก้ว มช. ลานสนามหญ้าขนาดใหญ่ที่เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวมช.
เรารวบรวมความกล้าแล้วเดินไปกลางลานกว้างที่มีผู้คนมากมาย และเริ่มหยิบกะละมังออกมาตี ตีไปเรื่อยๆ จนลืมมองปฎิกิริยาของคนบริเวณนั้นไปเลย แต่ก็ต้องหยุดตีเพราะหมาเห่าแบบไม่หยุด
หลังจากนั้นก็มีคนเดินมาถามว่าเรากำลังทำอะไร เธอแนะนำตัว “ชื่อซัน DemHope” เคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่เหมือนกันและสนใจอยากจะตีด้วย สรุปวันนั้นตีไป 2 ครั้ง และก็ได้สหายเพิ่มมา 1 คน
หลังจากภารกิจวันนั้นเสร็จสิ้นเรารู้สึกว่ามันก็แค่นั้นเองแค่ลงมือทำ มันเป็นความสำเร็จเล็ก ๆ ที่เอาชนะสิ่งที่ตัวเองกลัวมาตลอดคือกลัวการตัดสินจากสายตาคนหมู่มากและเหมือนมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นด้วย พูดอีกอย่างคือ “การแตกหักในตัวปัจเจก” มันเริ่มขึ้นแล้วล่ะ
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นวันที่ชาวเชียงใหม่ 33 คน เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ม.116 ที่สภ.เมืองเชียงใหม่
จากการชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทนtoo งง ๆ อยู่นะแค่ไปชุมนุม หรือปราศรัย หรืออะไรก็ตามมันไม่ควรจะต้องถูกดำเนินคดีป่ะวะ ก็เป็นสิทธิเสรีภาพที่เราพึงมีรึป่าว แต่นี่มันอะไรกันเนี่ยยย
จริง ๆ เราก็คิดว่าจะไปเป็นทีมให้กำลังใจผู้ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาปกติแหละ และอาจจะไปเก็บฟุตเทจ
อะไรเท่าที่จะถ่ายได้ แต่ว่าในวันนั้นเองมีการแสดง performance art แทบจะทุกชั่วโมงเลยทีเดียว และก็มีการแสดงเดินกระสอบของลานยิ้มการละครที่จะต้องใช้คนจำนวนนึง จึงมีการขอความร่วมมืออาสาสมัครที่อยู่บริเวณนั้นร่วมด้วย เราก็คิดว่า “น่าจะสนุกดีนะ” จึงเดินสวมถุงกระสอบและเดินไปท่ามกลางเสียงตีหม้อให้จังหวะของพี่เสื้อแดง และเสียงปรามของเจ้าหน้าตำรวจที่พยายามจะให้หยุดการแสดง
ด้วยภูมิคุ้มกันจากภารกิจคราวก่อน ทำให้ความกลัวของเรามันลดลง แต่ยังไงมันก็ถือว่าใช้พลังงานไปเกินขีดจำกัดของตัวเองเหมือนกัน (ขอยาดมหน่อยยย)
ฝึกงานกับ artn’t
การไปฝึกงานกับ artn’t มันเกิดมาจากการที่เราไปอีเว้นท์ทางการเมืองบ่อย ๆ นี่แหละ และการที่พวกเขากระทำปฏิบัติการทางศิลปะในพื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เราเรียนอยู่ เราจึงรับรู้ถึงการมีอยู่ของศิลปินกลุ่มนี้และเห็นหน้าคาดตากันบ่อยครั้ง ขณะนั้นได้รับข่าวมาว่าเค้ากำลังมองหาเด็กฝึกงานเพิ่มอะไรทำนองนั้น5555 ประจวบเหมาะกับโปรคเจ็คของเราพอดี เราก็ติดต่อขอฝึกงานกับเค้าทันที
เอาจริงในใจก็แอบคิดไปไกลนะ นี่จะพาตัวเราไปทำอะไรเสี่ยง ๆ มั้ยเนี่ย จะโดน พ.ร.บ.ความสะอาดด้วยรึเปล่า (ในตอนนั้น artn’t โดนแจ้งข้อหา พ.ร.บ.ความสะอาด กรณีติดกระดาษทิชชู่หมายเรียก 112 ทั่วเมืองเชียงใหม่)
เราได้นัดเจอสมาชิก Artn’t อย่างเป็นทางการครั้งแรกที่สาขา Media Arts and Design เวลา 20.00 น. โอ้วพระเจ้าเราไม่กล้าไปคนเดียวหรอก5555 เราก็ลากเพื่อนไปด้วยคนนึงใช้แรงงานเพื่อนเป็นตากล้องให้
เราไม่รู้เลยว่าจะต้องทำอะไรบ้าง อยู่ ๆ ก็พาเราเดินไปรอบหอศิลป์ มช. ท่ามกลางความมืด ไฟสักดวงก็ไม่มี (อะไรกันครับเนี่ยยย) แล้วรับขวัญเราโดยการบอกให้เราหยิบวัสดุบริเวณนั้นที่เราถูกใจสักชิ้นไปทำงานศิลปะ ความเหวอเข้าครอบงำทันที นี่สินะกระบวนการของ artn’t อย่างที่บอกไปแล้วตอนต้นทักษะศิลปะคือไม่มีเลย จะหยิบอะไรไปละทีนี้ เราก็หยิบขวดเบียร์เก่า ๆ ติดมือไป 3 ขวด แค่หยิบมาเฉย ๆ โดยไม่มีเหตุผล เพราะไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร
ถ้าการฝึกงานครั้งนี้มีตัวชี้วัดมาใช้ประเมินผล เราก็คงไม่ผ่านด้วยซ้ำ
เราได้เรียนรู้แหละว่างานอาร์ตอาจจะไม่ใช่ทักษะที่เราถนัดหรืออาจจะไม่ใช่ทางเรา ก็ควรไปหาทำอย่างอื่นที่พอจะทำได้น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี
แต่มันมีกลุ่มคนที่เค้าใช้สิ่งสนใจและถนัดนั่นก็คือศิลปะมาขับเคลื่อนหรือสื่อสารประเด็นทางการเมืองไง และก็ทำออกมาได้อย่างห้าวซะด้วย โคตรใจ
***การฝึกงานนี้เกิดขึ้นก่อนที่พวกเขาจะโดนยึดผลงานทางศิลปะและถูกแจ้งข้อหา ม.112
ไปม็อบคนเดียว
การไปม็อบมันถูกผูกอยู่กับมายาคติของความรุนแรงหรือความไม่ปลอดภัยเท่าไหร่อยู่แล้ว
จากภาพของม็อบในอดีตที่ผ่านมา จนถึงม็อบในปัจจุบัน ที่เราเห็นในข่าวอย่างเช่น การใช้รถฉีดน้ำ การใช้กระสุนยาง แก๊สน้ำตา หรือการควบคุมตัวผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรง พูดได้ไหมพี่จี้ว่ามันมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่นั่นแหละ เราจำได้ว่าเพื่อนเราชวนไปม็อบที่กรุงเทพฯ 2 ครั้ง แต่เราก็ปฏิเสธทุกครั้งเพราะเราก็สลัดมายาคติเหล่านี้จากหัวไม่ได้ แต่ถ้าเป็นม็อบในเชียงใหม่เราก็สามารถเข้าร่วมได้แทบจะทุกครั้ง อาจจะด้วยบรรยากาศของม็อบในเชียงใหม่แตกต่างจากม็อบที่กรุงเทพฯ ด้วยแหละ แต่ต้องมีเพื่อนไปด้วยเท่านั้นนะ บางทีก็คงเป็นเหมือนวัยรุ่นทั่วไปแหละที่มักจะทำตัวไม่ถูกที่จะต้องอยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้า แต่มันก็มีบางม็อบที่เพื่อนก็ไม่ว่างอะไรแบบนี้ มันก็ทำให้เราไม่ได้เข้าร่วม
ในช่วงนั้นมีม็อบ #saveบางกลอย ที่ประตูท่าแพ เราก็คิดว่าจะปล่อยให้ไอ่การไปม็อบคนเดียวไม่ได้มาเป็นข้อจำกัดกับตัวเองไม่ได้แล้วนะ ก็ตัดสินใจแว้นมอไซค์ไปเองเลย การทำตัวไม่ถูกของเรามันถูกแทนที่ด้วยการถือกล้อง handycam เดินถ่ายไปทั่วประหนึ่งโดนว่าจ้างมาให้เป็นไอโอ 5555 แต่ก็นั่นแหละทั้งตำรวจ ทั้งเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ทั้งไอโอ คอยถ่ายภาพผู้มาชุมนุมเต็มไปหมด การกระทำเหล่านี้มันก็เป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่งมั้ยนะ (ครุ่นคิด) และต่อจากนั้นก็มีม๊อบยุทธการณ์ไล่ประยุทธ์ที่จัดขึ้นในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เรามีโอกาสได้เข้าร่วม
ร้านคราฟเบียร์
เหตุการณ์นี้เริ่มมาจากการที่เราอยากไปฝึกงานกับลานยิ้มการละคร และได้ไปรู้จักกับพี่กอล์ฟ เค้าก็ถามว่าเราทำอะไรได้บ้าง 5555 ทำอะไรไม่เป็นเลยแสดงก็ไม่ได้ เหมือนคุยกันว่าให้มาอยู่ฝ่ายการจัดการอยู่เบื้องหลังละกัน คุยไปคุยมาพี่กอล์ฟก็ชวนเราไปเข้าค่ายอบรมประเมินความเสี่ยงและแผนความปลอดภัย ในไม่กี่วันถัดจากนั้น โดยมีพี่ลูกเกด ชลธิชา และพี่มาย ภัสราวลี เป็นวิทยากร
ซึ่งหลังจากการอบรมก็เป็นปกติของวัยผู้ใหญ่ที่จะมีการสังสรรค์กับบ้าง แต่ร้านที่เรานัดกันนั้นเป็นร้านคราฟเบียร์ บรรยากาศในร้านถูกตกแต่งด้วยงานอาร์ตของศิลปินสายประชาธิปไตยที่เราพอจะรู้จักหลายคน และเพลงที่เปิดก็เป็นเพลงแรปสากลที่เหมือนจะเฮ้วๆหน่อยๆ
ถ้าพูดถึงคราฟเบียร์ก็เคยดื่มแต่ที่บรรจุขวดหรือกระป๋องที่ผลิตจากต่างประเทศแล้วตีกลับมาขายในไทย เรามีโอกาสได้พูดคุยกับพี่เจ้าของร้าน เค้าบอกว่าเขาต้มเบียร์เอง… เราพอรู้มาบ้างว่ามีการต่อสู้เรื่องคราฟเบียร์ถูกกฎหมาย แต่ไม่รู้ว่าพี่เค้าสามารถทำขายได้ขนาดนี้5555
สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากบทสนทนาในวันนั้นคือเราสามารถต่อสู้ในแบบฉบับของเราเองได้ โดยใช้ความชอบของเรา เช่น พี่เจ้าของร้านที่บอกว่า “ผมชอบเมาอยู่แล้ว” เห้ย!!! ชอบคราฟเบียร์และความสนใจเรื่องประเด็นปัญหาทางการเมือง สุดท้ายออกมาเป็นร้านที่มีลักษณะเฉพาะของเค้าเอง
สุดท้ายแผนฝึกงานกับลานยิ้มก็เป็นอันต้องล้มเลิกไปเพราะช่วงนั้นเริ่มต้องหันกลับไปให้เวลาเรื่องเรียนนั่นก็คือการทำงานศึกษาค้นคว้าอิสระของตัวเอง เดี๋ยวเรียนไม่จบเอา5555
ยืนหยุดขัง
มันเริ่มมาจากตอนช่วงนั้นคนที่ออกมาเคลื่อนไหวกับม็อบนักศึกษาหลายคนต้องถูกกลายสถานะเป็นผู้ต้องขัง และไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว ซึ่งสร้างความโกรธ คับแค้นใจ รวมถึงเกิดการตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างมาก และมีแคมเปญยืนหยุดขังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ และเชียงใหม่เองก็มีการจัดกิจกรรมยืนหยุดขังขึ้นมาเช่นกัน
แรก ๆ เราก็ไม่รู้ว่าการจะไปเข้าร่วมต้องทำอะไรบ้าง ก็สังเกตการณ์สักพักแล้วเห็นว่ามีสมาชิก Human ร้าย 4 (พี่ก๊อกแก๊ก) เค้าไปร่วมยืนทุกวัน เราก็เลยลองทักไปสอบถาม ได้เรื่องว่าต้องเตรียมหมวกไปเพราะอากาศค่อนข้างร้อน และพกหนังสือไปอ่านสักเล่มเพราะระยะเวลาที่ยืนมันก็นานอยู่เหมือนกัน
แต่ที่ไม่รู้เลยคือมีประชากรชาวไอโอ จำนวนมากตั้งแต่เราไปถึงที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ มันสร้างความกลัวและรู้สึกไม่ปลอดภัยให้กับเราได้เหมือนกันนะ
วันแรกเราหยิบหนังสือไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียวไปอ่าน พูดจากใจจริงด้วยอากาศที่ร้อน และพอยืนไปนาน ๆ ก็เมื่อยขา การควบคุมสมาธิให้อ่านได้อย่างราบรื่นจึงเป็นอะไรที่ท้าทายอย่างมาก รู้สึกว่าเรายังปรับตัวไม่ค่อยได้
หนังสือ “รักเอย” ผู้เขียน: รสมาลิน ตั้งนพกุล
วันที่สองเราก็เลือกหนังสือรักเอยไปอ่าน ด้วยเนื้อหาและบรรยากาศของช่วงเวลาของเหตุการณ์และสถานที่ที่เราอยู่ตอนนั้นมันทำงานกับความรู้สึกของเราอย่างมาก อ่านไปกลั้นน้ำตาไป
อุปสรรคของกิจกรรมยืนหยุดขังเกิดขึ้นเมื่อเชียงใหม่ออกประกาศห้ามรวมตัวกันเกิน 10 คน ทำให้มีการก่อตัวขึ้นของกลุ่มคนไม่ถึง 10 คน กลุ่มหนึ่งที่ตระเวนยืนหยุดขังผลัดเปลี่ยนสถานที่ไปเรื่อย ๆ ทั่วเมืองเชียงใหม่ และเราก็เป็นหนึ่งในนั้น เชื่อหรือไม่ว่าความว่องไวของพี่ ๆ ไอโอนั้นรวดเร็วปานจรวจ ทุกที่ที่พวกเราไปยืนก็จะมีพวกเค้ามาคอยถ่ายภาพ ถ่ายคลิปทุกครั้ง อย่าถามถึงสมาธิที่จะได้อ่านหนังสือเพราะเราต้องคอยระแวดระวังตัวและต้องกระทำการถ่ายมาถ่ายกลับไม่โกงเพื่อปกป้องตัวเองอีกทาง เรียกได้ว่าเกิดส่งครามจิตวิทยาอยู่เนือง ๆ และการออกไปตามสถานที่ต่าง ๆ ก็ได้รับการตอบรับจากพี่น้องประชาชนที่ผ่านไปผ่านมาเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นคำกล่าวขอบคุณหรือการชูสามนิ้วให้กับพวกเรา
ในตอนที่ทราบข่าวว่าเพื่อนของเราทยอยได้รับการประกันตัวเรื่อย ๆ นั้นเป็นกำลังใจที่ดีให้กับพวกเราเหมือนกัน แต่เราเองไม่รู้หรอกว่าการที่เราออกมายืนแบบนี้จะส่งผลให้พวกเค้าได้รับสิทธิการประกันตัวไหม การยืนหยุดขังก็เป็นสิ่งเล็ก ๆ หรือช่องทางนึงที่เปิดโอกาสให้ประชาชนคนธรรมดาอย่างเราได้แสดงออกอะไรได้บ้างในสถานการณ์ที่มีข้อจำกัดเช่นนี้
Post-production
ด้วยความที่เราไม่มีการวางแผนการถ่ายหรือแม้แต่การเขียนบทคร่าว ๆ เลย มันจึงมีปัญหาตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นฟุตเทจที่เยอะมาก ๆ จนจับต้นชนปลายไม่ถูก ไม่รู้จะลำดับเรื่องราวยังไง จะตัดต่อออกมาในลักษณะไหนให้ออกมาดี เราหลงทางไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มจากการเขียนบทขึ้นมาใหม่ก่อน หรือจะเอาฟุตเทจที่มีอยู่มาเรียงตามไทม์ไลน์ก่อนหลังตามช่วงเวลาที่ถ่ายมาแล้วค่อยมาเขียนบท ช่วงนั้นเราเครียดมาก ๆ นอนไม่หลับเลยทีเดียว5555
เราอาจเป็นคนนึงที่เข้าไปปรึกษากับพี่ทีมงานที่ Book Republic บ่อยมากกก
เมื่อได้รับคำแนะนำจากพี่ ๆ เราเริ่มจากเลือกฟุตเทจที่พอใช้ได้บางส่วนจากทั้งหมดมาเก็บไว้ก่อน ตอนนั้นคิดแค่ว่าอยากทำหนังสารคดีที่ไม่ใช่สารดีที่พบเห็นได้ทั่วไป สารคดีแนวอินดี้ ช้า ๆ ค่อย ๆ ทำความเข้าใจ ซึมซับเรื่องราวไปทีละหน่อย อารมณ์หนังพี่เต๋อ นวพล5555
จากนั้นทุกอย่างมันเกิดขึ้นจากการคิดวนไปมาในหัวจนเกิดเป็นบทดราฟแรกแบบมั่ว ๆ
เราอัดเสียงของตัวเอง และเริ่มนำฟุตเทจมาวางตามไทม์ไลน์ตัดไปตัดมาได้ความยาว 30 นาที พระเจ้า!!! อย่าว่าแต่คนดูจะท้อเลยคนตัดต่อก็ท้อ5555
อวสานสารคดีหนังอินดี้ โปรดิวเซอร์สั่งแก้ยับนะ เข้าสู่โหมดเคว้งงง
เริ่มตระหนักได้ว่าตัดต่อเองไม่ไหวต้องแย่แน่ ๆ ไม่เสร็จแน่ ๆ ต้องหาคนช่วยโชคดีที่มีเพื่อนสงสารและบอกจะช่วยตัดให้ (ซึ่งเพื่อนคนนี้เองเป็นคนที่คอยดุเราเวลาเรามัวแต่ไปออกกองเก็บฟุตเทจจนไม่ตั้งใจเรียน ไม่ตั้งใจทำงานกลุ่ม5555) รู้สึกขอบคุณจนไม่รู้จะขอบคุณยังไง
เราใช้เวลา 2-3 วันในการเขียนสตอรี่บอร์ดใหม่ทั้งหมดลำดับเรื่องราวใหม่ เขียนบทใหม่แต่ไม่ใช่ทั้งหมดบางส่วนยังพอใช้งานได้บ้าง และสถานการณ์ปัจจุบันของตัวเราเองก็นำไปสู่ไอเดียใหม่ ๆ คือเราเป็นนักศึกษาจบใหม่และตกงาน งั้นคุมธีมใบสมัครงานเลยละกัน ไหน ๆ เราก็มีฟุตเทจร้านคราฟเบียร์ซึ่งดูมีความเป็นสถานประกอบการมากที่สุด แต่ก็เกิดคำถามขึ้นมาระหว่างที่คิดนะว่าแบบเห้ย!! ถ้าเขียนบทมาแนวนี้แล้วจะยังเรียกว่าสารคดีได้มั้ย สารคดีต้องนำเสนอความจริงรึป่าว แต่ก็ไม่ได้แคร์เท่าไหร่ก็คิดจะทำแบบนี้และมั่นใจว่ามันจะต้องเจ๋งมากแน่ ๆ (คิดไปเอง) ทำการส่งไฟล์ ส่งสตอรี่บอร์ด บรีฟเพื่อนเสร็จสรรพ
ออกมาเป็นดราฟ 2 ส่งการบ้าน!!! เอาเป็นว่าโปรดิวเซอร์ให้ผ่านนน ตอนนั้นโคตรจะดีใจเลย แต่ก็ต้องมีสิ่งที่จะต้องแก้ไขในรายละเอียดยิบย่อย อย่างเช่น ความดังเบาของเสียง การตัดจบที่ห้วนเกินไป และอื่น ๆ
story board วิดีโอสารคดี ‘กลัวไม่เปลี่ยน’
ทำหนังไม่เป็นขนาดที่ไม่รู้ว่า End Credits ต้องมีตำแหน่งอะไรบ้าง แล้วแต่ละตำแหน่งทำหน้าที่อะไรเพราะที่ผ่านมาก็มั่ว ๆ มาตลอด ก็ไปไล่ดูตอนจบของสารดี หนังสั้น หลายเรื่องมาก ก็มีไอเดียผุดมาว่าอ่อมันต้องมีเพลงขึ้นมาก่อนตอนใกล้จะจบแล้วต่อด้วย End Credits ตัวหนังสือเลื่อน ๆ แล้วต้องใช้เพลงอะไรดี แต่ก็แอบทดไว้ในใจมาซักระยะนึงแล้วว่าต้องเป็นเพลงกระดาษ Solitude Is Bliss กล้า ๆ กลัว ๆ ที่จะติดต่อขออนุญาติใช้เพลงพี่เค้าอยู่เหมือนกันแต่โชคดีมีคอนแทรคของพี่เฟนเดอร์นักร้องนำ และได้ติดต่อไปทางวงและได้รับการตอบรับให้ใช้เพลงได้ ถือว่าเป็นอะไรที่เจ๋งสุดยอดไปอีก
ผลิตงานเป็นงานดราฟ 3 และเหมือนจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย และหวังว่าดราฟ 4 จะเป็นดราฟสุดท้ายที่ทุกคนจะได้เห็น
เกียรติบัตร
เกียติบัตรออกแบบโดย กลอย , ใช้ประกอบในงานศิลปะ วิดีโอสารคดี ‘กลัวไม่เปลี่ยน’
ต้องขอขอบคุณพี่บัว ทีมงานของเราเป็นอย่างมากที่ช่วยคิดไอเดียเรื่องเกียรติบัตรขึ้นมา ซึ่งจะเป็นส่วนเสริมให้ตัวสารคดีเมื่อนำไปจัดแสดงแล้วจะมีความแข็งแรงมากขึ้น เกียรติบัตรแล้วไงต่อ… แค่การทำเกียรติบัตร 6 แผ่น เราก็ใช้เวลาคิดคำพูด รวบรวมไอเดีย เป็นอาทิตย์ให้ตายเถอะ “อะไรที่เป็นความคิดสร้างสรรค์ย่อมยากเสมอ” คำพูดของใครบางคนผุดขึ้นมาในหัว เราก็ทำการหาข้อมูลตัวอย่างเกียรติบัตรใน Google บวกกับค้นดูเกียรติบัติเก่า ๆ ของตัวเอง มันต้องใช้คลังคำศัพท์ประมาณไหน หรือฟอนต์รูปแบบอะไรงี้ แล้วของเราจะแตกต่างออกไปแบบกวน ๆ งี้ต้องทำยังไง แค่นี้ยังยากเลย
จากใจจริงเลยนะการทำเกียรติบัตรให้ตัวเอง เป็นเหมือนการเอาประสบการณ์ที่เราไปลุยพยายามทำนั่นทำนี่ ผลิตออกมาเป็นรูปธรรมแบบลายลักษณ์อักษร และมันทำให้เรารู้สึกภูมิใจในตัวเองได้อย่างไม่น่าเชื่อในฐานะของประชาชนคนธรรมดาคนหนึ่งอ่ะนะ
สกุลรัตน์ ใจบุญ
“กลัวไม่เปลี่ยน”, พ.ศ.2564
วิดีโอ, เสียง และ ภาพพิมพ์บนกระดาษ
250 × 270 ซม.
Sakunrat Jaiboon
“The fear is here to stay.”, 2021
Video, sound and print on paper
250 × 270 cm.
concept
ทิศทางการเมืองไทยในปัจจุบันได้จุดประกายให้ผู้คนมากมายออกมาเรียกร้องและเชื่อมั่นในเสรีภาพการแสดงออก แต่ภายใต้บรรยากาศของ ‘ความกลัว’ ที่รัฐสร้างขึ้นและฝังลึกในสำนึกของผู้คนมาอย่างยาวนาน เยาวชนส่วนหนึ่งต้องใช้พลังและความกล้าหาญเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ผลงานชิ้นนี้เป็นการเขียนประวัติศาสตร์ว่าด้วยการเผชิญหน้าความกลัวที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของการปิดกั้นเสรีภาพทางการแสดงออกในระดับชีวิตประจำวัน โดยผ่านมุมมองและประสบการณ์ของผู้ผลิตผลงานเอง
Ignited by the current political movement, large numbers of Thais have started to come out to protest and act on their freedom of expression. However, surrounded by an atmosphere of fear—the one created by the government and rooted deeply in Thainess itself, great courage is required to call for a change. This artwork is a microhistory, through the very own lens and experience of the creator in facing fear amidst suppression of free speech and expression in their everyday life in Thailand.