“กลัวไม่เปลี่ยน” | “The fear is here to stay.”

field research and productionเรื่องเล่าเบื้องหลังการทำงาน

โดย “กลอย” สกุลรัตน์ ใจบุญ

Pre-production

(ต้องเท้าความก่อนว่าเราเป็นมนุษย์Introvertขั้นสุด โดยพื้นฐานจะเป็นคนหัวขบถอยู่หน่อย ๆ แต่ว่าไม่กล้าออกมาเรียกร้องอะไรยอม ๆ ทำตามบรรทัดฐานสังคม เรียกว่าอยู่ในกรอบมาตลอดอย่างกลมกลืน แต่เรามีความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ลงเรียนวิชากฎหมายสิทธิมนุษยชน บวกกับการอ่านหนังสือ เสพสื่อต่าง ๆ มันก็ทำให้ทำความเข้าใจว่าเห้ยเรามีสิทธิที่จะทำแบบอะไรได้หรือไม่ได้ การที่เรากลัวเนี่ยมันเป็นผลมาจากอะไร อย่างน้อย ๆ เลยคือเรากล้าตั้งคำถามมากขึ้น แต่เราก็ไม่กล้าแสดงออกมันออกมาอยู่ดี)

ในครั้งแรกของการนำเสนอหัวข้อเราหยิบยกประเด็นเรื่องของเสรีภาพในการแสดงออกมาและเล่าถึงประสบการณ์ความกลัวในการแสดงออกของตนเองที่ไม่กล้าต่อต้านต่ออำนาจอยุติธรรม แล้วความกลัวเหล่านั้นมันทำให้เราต้องเงียบมาตลอด 

อาจารย์ที่ปรึกษาก็ให้การบ้านเราไปทำความเข้าใจกับการทำงานความกลัวของผู้คนผ่านการสัมภาษณ์จำนวน 10 คน 

เราจึงแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มที่เผชิญกับความอยุติธรรมแล้วกล้าออกมาเรียกร้องสิทธิของตนเอง ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่เผชิญกับความอยุติธรรมแล้วกลัวการออกมาเรียกร้องและเลือกที่จะเงียบ 

การไปทำการบ้านครั้งนั้นก็ทำให้เราค้นพบว่าการทำงานของความกลัวของแต่ละคนนั้นมีความน่าสนใจมากและก็ทำให้เราได้ข้อสรุปว่า…

คนที่เค้ากล้าออกมาเรียกร้องเนี่ยไม่ใช่ทุกคนที่ไม่กลัวแต่ว่ามันมีสิ่งที่เค้ากลัวมากกว่าคือกลัวไม่มีอนาคต กลัวไม่มีเสรีภาพ ซึ่งมันเป็นความกลัวที่ใหญ่กว่าความกลัวในตัวปัจเจกด้วยซ้ำ 

และคนที่เงียบนั้นเค้ากลัวผลลัพธ์ที่จะตามมาหากเขาออกมาเรียกร้อง โดยกลัวว่าสังคมจะมองเขาเป็นตัวประหลาดและไม่เป็นที่ยอมรับ

ในการนำเสนอหัวข้อครั้งที่สองก็สร้างความชัดเจนกับหัวข้อของเรามากขึ้น คืองานเราจะพูดถึงเรื่องความกลัวการแสดงออกทางการเมือง ส่วนจะทำออกมาเป็นงานศิลปะรูปแบบไหนนั้น… 

เราไม่มีความสามารถในศิลปะเลยแม้แต่แขนงเดียว แต่ก็ได้รับคำแนะนำมาว่าลองทำเป็นสารคดีไหม หา ‘Subject’ เป็นคนที่น่าสนใจ มีความซับซ้อน และไม่เคยอยู่ในพื้นที่สื่อมาก่อน 

ความยากคือ เราพยายามหาคนที่จะยอมมาเป็น ‘Subject’ ในสารคดีไม่ได้ (ก็แหงล่ะใครเขาจะยอมให้เราไปถ่ายชีวิตของเขาคงอึดอัดแย่ :-l ) 

ทำไงล่ะทีนี้ 

งั้นเอาตัวเองเป็น ‘Subject’ ละกัน!!!

เมื่อคิดออกมาได้ประมาณนี้แล้ว จึงรีบไปปรึกษาทีมงานประมาณนี้มันจะพอไปต่อได้ไหม หรือว่าจะต้องปรับเปลี่ยนแก้ไขอย่างไรต่อไป

ทีมงานจึงให้คำแนะนำรายชื่อคนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในบริบทต่าง ๆ ที่จะมาเป็น Mentor ให้เราจำนวนหนึ่ง…(เยอะทีเดียว)

โดยจะใช้เวลาฝึกงานทั้งหมด 112 ชม. และมีสมุดบันทึกชั่วโมงรูปแบบคล้ายสมุดบันทึกกิจกรรมทำความดี 

การบ้านคือ เราไปวางแผนว่าเราจะไปฝึกงานอะไรจากเค้า พูดง่าย ๆ คือไปเขียนบทคร่าว ๆ หรือสตอรี่บอร์ดมาให้ดูก่อนดิ๊

(ช้าก่อน… ตอนนั้นเราไม่รู้อะไรเลยด้วยซ้ำว่าการสร้างหนัง 1 เรื่องมันต้องทำยังไง มันเริ่มจากศูนย์ อะไรคือทรีทเมนท์ ที่ใช้บำรุงผมรึเปล่า 5555 หรือการเขียนสตอรี่บอร์ดเนี่ยเค้าวาดรูปกันยังไง เราก็วาดรูปไม่เป็นซะด้วย อย่าให้พูดถึงการเขียนบทเลย ความรู้เท่ากับ”ศูนย์”)

ความลำบากมันก็เป็นเรื่องของเวลาและก็เราจะต้องทำการบ้านอย่างหนักต่อการออกกองไปถ่ายกับแต่ละคน ซึ่งมันเป็นอะไรที่หนักเกินไปสำหรับนักศึกษาปี 4 ที่จะต้องปั่นงานค้นคว้าอิสระของตัวเองไปด้วยและตอนนั้นก็ทำงานเป็นผู้ช่วยอาจารย์ไปด้วย 

ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนแผนการทำงานโดยจะเป็นไปตามสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันในขณะนั้นแทน 


Pre-production + production

มันไม่ใช่ว่า”บทพร้อม…ทุกอย่างพร้อม… แล้วออกกองได้” แต่มันคือการผสมปนเประหว่าง preproduction + production ตลอดกระบวนการทำงาน

เมื่อตัดสินใจว่าจะเอาตัวเองเป็น subject หลัก และไม่มีความสามรถเขียนบทหรือคาดการณ์สถานการณ์ได้ล่วงหน้าได้เลย

หลังจากโควิดระลอก 2 ช่วงนั้นจึงไม่มีการจัดม็อบใหญ่ ๆ เลย ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์เหตุการความรุนแรงในประเทศเมียนมาร์เริ่มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น และการแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิดของรัฐบาลที่ไรประสิทธิภาพ รวมถึงขณะนั้นศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว เพนกวิ้น ทนายอานนท์ ลุงสมยศ หมอลำแบงค์ ในคดีมาตรา 112 คณะราษฎรก็มีการกลับมาจัดม็อบ #ม็อบ10กุมภา รวมพลคนไม่มีจะกิน ตีหม้อไล่เผด็จการ ซึ่งถือเป็นครั้งแรก ๆ ในปี 64 

ในวันนั้นเองทีมงานก็เชียร์เราลองไปตีหม้อไหม คู่ขนานไปกับช่วงเวลาม็อบที่แยกสกายวอร์คเลย 

ภารกิจฟุ่งชนความกลัวอย่างกะทันหัน บอกตรง ๆ ว่าวันนั้นเราไม่ได้เตรียมใจอะไรเลย 

แอบขโมยกะละมังเก่าจากที่ Book Republic มาด้วย5555 

ลำบากใจมาก ไม่รู้ว่าจะเริ่มจากต้องพูดกับกล้องยังไง ต้องถ่ายวิดีโอมุมไหน ก็ได้พี่มีนมาช่วยสอนการพูดกับกล้อง เรื่องจะต้องถ่ายตัวเองยังไงนู่นนั่นนี่ (ก็คืออย่างเกร็งแต่ฟุตเทจพวกนี้ไม่ได้ใส่ลงไปในสารคดีนะ5555) 

และก็ออกเดินทางไปทางไปที่ลานควายยิ้ม อ่างแก้ว มช. ลานสนามหญ้าขนาดใหญ่ที่เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวมช.

เรารวบรวมความกล้าแล้วเดินไปกลางลานกว้างที่มีผู้คนมากมาย และเริ่มหยิบกะละมังออกมาตี ตีไปเรื่อยๆ จนลืมมองปฎิกิริยาของคนบริเวณนั้นไปเลย แต่ก็ต้องหยุดตีเพราะหมาเห่าแบบไม่หยุด

หลังจากนั้นก็มีคนเดินมาถามว่าเรากำลังทำอะไร เธอแนะนำตัว “ชื่อซัน DemHope” เคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่เหมือนกันและสนใจอยากจะตีด้วย สรุปวันนั้นตีไป 2 ครั้ง และก็ได้สหายเพิ่มมา 1 คน 

หลังจากภารกิจวันนั้นเสร็จสิ้นเรารู้สึกว่ามันก็แค่นั้นเองแค่ลงมือทำ มันเป็นความสำเร็จเล็ก ๆ ที่เอาชนะสิ่งที่ตัวเองกลัวมาตลอดคือกลัวการตัดสินจากสายตาคนหมู่มากและเหมือนมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นด้วย พูดอีกอย่างคือ “การแตกหักในตัวปัจเจก” มันเริ่มขึ้นแล้วล่ะ 


วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นวันที่ชาวเชียงใหม่ 33 คน เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ม.116 ที่สภ.เมืองเชียงใหม่

จากการชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทนtoo งง ๆ อยู่นะแค่ไปชุมนุม หรือปราศรัย หรืออะไรก็ตามมันไม่ควรจะต้องถูกดำเนินคดีป่ะวะ ก็เป็นสิทธิเสรีภาพที่เราพึงมีรึป่าว แต่นี่มันอะไรกันเนี่ยยย

จริง ๆ เราก็คิดว่าจะไปเป็นทีมให้กำลังใจผู้ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาปกติแหละ และอาจจะไปเก็บฟุตเทจ

อะไรเท่าที่จะถ่ายได้ แต่ว่าในวันนั้นเองมีการแสดง performance art แทบจะทุกชั่วโมงเลยทีเดียว และก็มีการแสดงเดินกระสอบของลานยิ้มการละครที่จะต้องใช้คนจำนวนนึง จึงมีการขอความร่วมมืออาสาสมัครที่อยู่บริเวณนั้นร่วมด้วย เราก็คิดว่า “น่าจะสนุกดีนะ” จึงเดินสวมถุงกระสอบและเดินไปท่ามกลางเสียงตีหม้อให้จังหวะของพี่เสื้อแดง และเสียงปรามของเจ้าหน้าตำรวจที่พยายามจะให้หยุดการแสดง

ด้วยภูมิคุ้มกันจากภารกิจคราวก่อน ทำให้ความกลัวของเรามันลดลง แต่ยังไงมันก็ถือว่าใช้พลังงานไปเกินขีดจำกัดของตัวเองเหมือนกัน (ขอยาดมหน่อยยย)


ฝึกงานกับ artn’t

การไปฝึกงานกับ artn’t มันเกิดมาจากการที่เราไปอีเว้นท์ทางการเมืองบ่อย ๆ นี่แหละ และการที่พวกเขากระทำปฏิบัติการทางศิลปะในพื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เราเรียนอยู่ เราจึงรับรู้ถึงการมีอยู่ของศิลปินกลุ่มนี้และเห็นหน้าคาดตากันบ่อยครั้ง ขณะนั้นได้รับข่าวมาว่าเค้ากำลังมองหาเด็กฝึกงานเพิ่มอะไรทำนองนั้น5555 ประจวบเหมาะกับโปรคเจ็คของเราพอดี เราก็ติดต่อขอฝึกงานกับเค้าทันที

เอาจริงในใจก็แอบคิดไปไกลนะ นี่จะพาตัวเราไปทำอะไรเสี่ยง ๆ มั้ยเนี่ย จะโดน พ.ร.บ.ความสะอาดด้วยรึเปล่า (ในตอนนั้น artn’t  โดนแจ้งข้อหา พ.ร.บ.ความสะอาด กรณีติดกระดาษทิชชู่หมายเรียก 112 ทั่วเมืองเชียงใหม่) 

เราได้นัดเจอสมาชิก Artn’t อย่างเป็นทางการครั้งแรกที่สาขา Media Arts and Design เวลา 20.00 น. โอ้วพระเจ้าเราไม่กล้าไปคนเดียวหรอก5555 เราก็ลากเพื่อนไปด้วยคนนึงใช้แรงงานเพื่อนเป็นตากล้องให้ 

เราไม่รู้เลยว่าจะต้องทำอะไรบ้าง อยู่ ๆ ก็พาเราเดินไปรอบหอศิลป์ มช. ท่ามกลางความมืด ไฟสักดวงก็ไม่มี (อะไรกันครับเนี่ยยย) แล้วรับขวัญเราโดยการบอกให้เราหยิบวัสดุบริเวณนั้นที่เราถูกใจสักชิ้นไปทำงานศิลปะ ความเหวอเข้าครอบงำทันที นี่สินะกระบวนการของ artn’t อย่างที่บอกไปแล้วตอนต้นทักษะศิลปะคือไม่มีเลย จะหยิบอะไรไปละทีนี้ เราก็หยิบขวดเบียร์เก่า ๆ ติดมือไป 3 ขวด แค่หยิบมาเฉย ๆ โดยไม่มีเหตุผล เพราะไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร 

ถ้าการฝึกงานครั้งนี้มีตัวชี้วัดมาใช้ประเมินผล เราก็คงไม่ผ่านด้วยซ้ำ 

เราได้เรียนรู้แหละว่างานอาร์ตอาจจะไม่ใช่ทักษะที่เราถนัดหรืออาจจะไม่ใช่ทางเรา ก็ควรไปหาทำอย่างอื่นที่พอจะทำได้น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี

แต่มันมีกลุ่มคนที่เค้าใช้สิ่งสนใจและถนัดนั่นก็คือศิลปะมาขับเคลื่อนหรือสื่อสารประเด็นทางการเมืองไง และก็ทำออกมาได้อย่างห้าวซะด้วย โคตรใจ 

***การฝึกงานนี้เกิดขึ้นก่อนที่พวกเขาจะโดนยึดผลงานทางศิลปะและถูกแจ้งข้อหา ม.112


ไปม็อบคนเดียว

การไปม็อบมันถูกผูกอยู่กับมายาคติของความรุนแรงหรือความไม่ปลอดภัยเท่าไหร่อยู่แล้ว

จากภาพของม็อบในอดีตที่ผ่านมา จนถึงม็อบในปัจจุบัน ที่เราเห็นในข่าวอย่างเช่น การใช้รถฉีดน้ำ การใช้กระสุนยาง แก๊สน้ำตา หรือการควบคุมตัวผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรง พูดได้ไหมพี่จี้ว่ามันมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่นั่นแหละ เราจำได้ว่าเพื่อนเราชวนไปม็อบที่กรุงเทพฯ 2 ครั้ง แต่เราก็ปฏิเสธทุกครั้งเพราะเราก็สลัดมายาคติเหล่านี้จากหัวไม่ได้ แต่ถ้าเป็นม็อบในเชียงใหม่เราก็สามารถเข้าร่วมได้แทบจะทุกครั้ง อาจจะด้วยบรรยากาศของม็อบในเชียงใหม่แตกต่างจากม็อบที่กรุงเทพฯ ด้วยแหละ แต่ต้องมีเพื่อนไปด้วยเท่านั้นนะ บางทีก็คงเป็นเหมือนวัยรุ่นทั่วไปแหละที่มักจะทำตัวไม่ถูกที่จะต้องอยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้า แต่มันก็มีบางม็อบที่เพื่อนก็ไม่ว่างอะไรแบบนี้ มันก็ทำให้เราไม่ได้เข้าร่วม

ในช่วงนั้นมีม็อบ #saveบางกลอย ที่ประตูท่าแพ เราก็คิดว่าจะปล่อยให้ไอ่การไปม็อบคนเดียวไม่ได้มาเป็นข้อจำกัดกับตัวเองไม่ได้แล้วนะ ก็ตัดสินใจแว้นมอไซค์ไปเองเลย การทำตัวไม่ถูกของเรามันถูกแทนที่ด้วยการถือกล้อง handycam เดินถ่ายไปทั่วประหนึ่งโดนว่าจ้างมาให้เป็นไอโอ 5555 แต่ก็นั่นแหละทั้งตำรวจ ทั้งเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ทั้งไอโอ คอยถ่ายภาพผู้มาชุมนุมเต็มไปหมด การกระทำเหล่านี้มันก็เป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่งมั้ยนะ (ครุ่นคิด) และต่อจากนั้นก็มีม๊อบยุทธการณ์ไล่ประยุทธ์ที่จัดขึ้นในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เรามีโอกาสได้เข้าร่วม 


ร้านคราฟเบียร์

เหตุการณ์นี้เริ่มมาจากการที่เราอยากไปฝึกงานกับลานยิ้มการละคร และได้ไปรู้จักกับพี่กอล์ฟ เค้าก็ถามว่าเราทำอะไรได้บ้าง 5555 ทำอะไรไม่เป็นเลยแสดงก็ไม่ได้ เหมือนคุยกันว่าให้มาอยู่ฝ่ายการจัดการอยู่เบื้องหลังละกัน คุยไปคุยมาพี่กอล์ฟก็ชวนเราไปเข้าค่ายอบรมประเมินความเสี่ยงและแผนความปลอดภัย ในไม่กี่วันถัดจากนั้น โดยมีพี่ลูกเกด ชลธิชา และพี่มาย ภัสราวลี เป็นวิทยากร 

ซึ่งหลังจากการอบรมก็เป็นปกติของวัยผู้ใหญ่ที่จะมีการสังสรรค์กับบ้าง แต่ร้านที่เรานัดกันนั้นเป็นร้านคราฟเบียร์ บรรยากาศในร้านถูกตกแต่งด้วยงานอาร์ตของศิลปินสายประชาธิปไตยที่เราพอจะรู้จักหลายคน และเพลงที่เปิดก็เป็นเพลงแรปสากลที่เหมือนจะเฮ้วๆหน่อยๆ  

ถ้าพูดถึงคราฟเบียร์ก็เคยดื่มแต่ที่บรรจุขวดหรือกระป๋องที่ผลิตจากต่างประเทศแล้วตีกลับมาขายในไทย เรามีโอกาสได้พูดคุยกับพี่เจ้าของร้าน เค้าบอกว่าเขาต้มเบียร์เอง… เราพอรู้มาบ้างว่ามีการต่อสู้เรื่องคราฟเบียร์ถูกกฎหมาย แต่ไม่รู้ว่าพี่เค้าสามารถทำขายได้ขนาดนี้5555 

สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากบทสนทนาในวันนั้นคือเราสามารถต่อสู้ในแบบฉบับของเราเองได้ โดยใช้ความชอบของเรา เช่น พี่เจ้าของร้านที่บอกว่า “ผมชอบเมาอยู่แล้ว” เห้ย!!! ชอบคราฟเบียร์และความสนใจเรื่องประเด็นปัญหาทางการเมือง สุดท้ายออกมาเป็นร้านที่มีลักษณะเฉพาะของเค้าเอง

สุดท้ายแผนฝึกงานกับลานยิ้มก็เป็นอันต้องล้มเลิกไปเพราะช่วงนั้นเริ่มต้องหันกลับไปให้เวลาเรื่องเรียนนั่นก็คือการทำงานศึกษาค้นคว้าอิสระของตัวเอง เดี๋ยวเรียนไม่จบเอา5555 


ยืนหยุดขัง

มันเริ่มมาจากตอนช่วงนั้นคนที่ออกมาเคลื่อนไหวกับม็อบนักศึกษาหลายคนต้องถูกกลายสถานะเป็นผู้ต้องขัง และไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว ซึ่งสร้างความโกรธ คับแค้นใจ รวมถึงเกิดการตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างมาก และมีแคมเปญยืนหยุดขังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ และเชียงใหม่เองก็มีการจัดกิจกรรมยืนหยุดขังขึ้นมาเช่นกัน

แรก ๆ เราก็ไม่รู้ว่าการจะไปเข้าร่วมต้องทำอะไรบ้าง ก็สังเกตการณ์สักพักแล้วเห็นว่ามีสมาชิก Human ร้าย 4 (พี่ก๊อกแก๊ก) เค้าไปร่วมยืนทุกวัน เราก็เลยลองทักไปสอบถาม ได้เรื่องว่าต้องเตรียมหมวกไปเพราะอากาศค่อนข้างร้อน และพกหนังสือไปอ่านสักเล่มเพราะระยะเวลาที่ยืนมันก็นานอยู่เหมือนกัน

แต่ที่ไม่รู้เลยคือมีประชากรชาวไอโอ จำนวนมากตั้งแต่เราไปถึงที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ มันสร้างความกลัวและรู้สึกไม่ปลอดภัยให้กับเราได้เหมือนกันนะ 

วันแรกเราหยิบหนังสือไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียวไปอ่าน พูดจากใจจริงด้วยอากาศที่ร้อน และพอยืนไปนาน ๆ ก็เมื่อยขา การควบคุมสมาธิให้อ่านได้อย่างราบรื่นจึงเป็นอะไรที่ท้าทายอย่างมาก รู้สึกว่าเรายังปรับตัวไม่ค่อยได้ 

หนังสือ “รักเอย” ผู้เขียน: รสมาลิน ตั้งนพกุล

วันที่สองเราก็เลือกหนังสือรักเอยไปอ่าน ด้วยเนื้อหาและบรรยากาศของช่วงเวลาของเหตุการณ์และสถานที่ที่เราอยู่ตอนนั้นมันทำงานกับความรู้สึกของเราอย่างมาก อ่านไปกลั้นน้ำตาไป

อุปสรรคของกิจกรรมยืนหยุดขังเกิดขึ้นเมื่อเชียงใหม่ออกประกาศห้ามรวมตัวกันเกิน 10 คน ทำให้มีการก่อตัวขึ้นของกลุ่มคนไม่ถึง 10 คน กลุ่มหนึ่งที่ตระเวนยืนหยุดขังผลัดเปลี่ยนสถานที่ไปเรื่อย ๆ ทั่วเมืองเชียงใหม่ และเราก็เป็นหนึ่งในนั้น เชื่อหรือไม่ว่าความว่องไวของพี่ ๆ ไอโอนั้นรวดเร็วปานจรวจ ทุกที่ที่พวกเราไปยืนก็จะมีพวกเค้ามาคอยถ่ายภาพ ถ่ายคลิปทุกครั้ง อย่าถามถึงสมาธิที่จะได้อ่านหนังสือเพราะเราต้องคอยระแวดระวังตัวและต้องกระทำการถ่ายมาถ่ายกลับไม่โกงเพื่อปกป้องตัวเองอีกทาง เรียกได้ว่าเกิดส่งครามจิตวิทยาอยู่เนือง ๆ และการออกไปตามสถานที่ต่าง ๆ ก็ได้รับการตอบรับจากพี่น้องประชาชนที่ผ่านไปผ่านมาเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นคำกล่าวขอบคุณหรือการชูสามนิ้วให้กับพวกเรา

ในตอนที่ทราบข่าวว่าเพื่อนของเราทยอยได้รับการประกันตัวเรื่อย ๆ นั้นเป็นกำลังใจที่ดีให้กับพวกเราเหมือนกัน แต่เราเองไม่รู้หรอกว่าการที่เราออกมายืนแบบนี้จะส่งผลให้พวกเค้าได้รับสิทธิการประกันตัวไหม การยืนหยุดขังก็เป็นสิ่งเล็ก ๆ หรือช่องทางนึงที่เปิดโอกาสให้ประชาชนคนธรรมดาอย่างเราได้แสดงออกอะไรได้บ้างในสถานการณ์ที่มีข้อจำกัดเช่นนี้ 


Post-production

ด้วยความที่เราไม่มีการวางแผนการถ่ายหรือแม้แต่การเขียนบทคร่าว ๆ เลย มันจึงมีปัญหาตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นฟุตเทจที่เยอะมาก ๆ จนจับต้นชนปลายไม่ถูก ไม่รู้จะลำดับเรื่องราวยังไง จะตัดต่อออกมาในลักษณะไหนให้ออกมาดี เราหลงทางไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มจากการเขียนบทขึ้นมาใหม่ก่อน หรือจะเอาฟุตเทจที่มีอยู่มาเรียงตามไทม์ไลน์ก่อนหลังตามช่วงเวลาที่ถ่ายมาแล้วค่อยมาเขียนบท ช่วงนั้นเราเครียดมาก ๆ นอนไม่หลับเลยทีเดียว5555 

เราอาจเป็นคนนึงที่เข้าไปปรึกษากับพี่ทีมงานที่ Book Republic บ่อยมากกก 

เมื่อได้รับคำแนะนำจากพี่ ๆ เราเริ่มจากเลือกฟุตเทจที่พอใช้ได้บางส่วนจากทั้งหมดมาเก็บไว้ก่อน ตอนนั้นคิดแค่ว่าอยากทำหนังสารคดีที่ไม่ใช่สารดีที่พบเห็นได้ทั่วไป สารคดีแนวอินดี้ ช้า ๆ ค่อย ๆ ทำความเข้าใจ ซึมซับเรื่องราวไปทีละหน่อย อารมณ์หนังพี่เต๋อ นวพล5555 

จากนั้นทุกอย่างมันเกิดขึ้นจากการคิดวนไปมาในหัวจนเกิดเป็นบทดราฟแรกแบบมั่ว ๆ 

เราอัดเสียงของตัวเอง และเริ่มนำฟุตเทจมาวางตามไทม์ไลน์ตัดไปตัดมาได้ความยาว 30 นาที พระเจ้า!!! อย่าว่าแต่คนดูจะท้อเลยคนตัดต่อก็ท้อ5555 

อวสานสารคดีหนังอินดี้ โปรดิวเซอร์สั่งแก้ยับนะ เข้าสู่โหมดเคว้งงง 

เริ่มตระหนักได้ว่าตัดต่อเองไม่ไหวต้องแย่แน่ ๆ ไม่เสร็จแน่ ๆ ต้องหาคนช่วยโชคดีที่มีเพื่อนสงสารและบอกจะช่วยตัดให้ (ซึ่งเพื่อนคนนี้เองเป็นคนที่คอยดุเราเวลาเรามัวแต่ไปออกกองเก็บฟุตเทจจนไม่ตั้งใจเรียน ไม่ตั้งใจทำงานกลุ่ม5555) รู้สึกขอบคุณจนไม่รู้จะขอบคุณยังไง 

เราใช้เวลา 2-3 วันในการเขียนสตอรี่บอร์ดใหม่ทั้งหมดลำดับเรื่องราวใหม่ เขียนบทใหม่แต่ไม่ใช่ทั้งหมดบางส่วนยังพอใช้งานได้บ้าง และสถานการณ์ปัจจุบันของตัวเราเองก็นำไปสู่ไอเดียใหม่ ๆ คือเราเป็นนักศึกษาจบใหม่และตกงาน งั้นคุมธีมใบสมัครงานเลยละกัน ไหน ๆ เราก็มีฟุตเทจร้านคราฟเบียร์ซึ่งดูมีความเป็นสถานประกอบการมากที่สุด แต่ก็เกิดคำถามขึ้นมาระหว่างที่คิดนะว่าแบบเห้ย!! ถ้าเขียนบทมาแนวนี้แล้วจะยังเรียกว่าสารคดีได้มั้ย สารคดีต้องนำเสนอความจริงรึป่าว แต่ก็ไม่ได้แคร์เท่าไหร่ก็คิดจะทำแบบนี้และมั่นใจว่ามันจะต้องเจ๋งมากแน่ ๆ (คิดไปเอง) ทำการส่งไฟล์ ส่งสตอรี่บอร์ด บรีฟเพื่อนเสร็จสรรพ 

ออกมาเป็นดราฟ 2 ส่งการบ้าน!!! เอาเป็นว่าโปรดิวเซอร์ให้ผ่านนน ตอนนั้นโคตรจะดีใจเลย แต่ก็ต้องมีสิ่งที่จะต้องแก้ไขในรายละเอียดยิบย่อย อย่างเช่น ความดังเบาของเสียง การตัดจบที่ห้วนเกินไป และอื่น ๆ 

story board วิดีโอสารคดี ‘กลัวไม่เปลี่ยน’

ทำหนังไม่เป็นขนาดที่ไม่รู้ว่า End Credits ต้องมีตำแหน่งอะไรบ้าง แล้วแต่ละตำแหน่งทำหน้าที่อะไรเพราะที่ผ่านมาก็มั่ว ๆ มาตลอด ก็ไปไล่ดูตอนจบของสารดี หนังสั้น หลายเรื่องมาก ก็มีไอเดียผุดมาว่าอ่อมันต้องมีเพลงขึ้นมาก่อนตอนใกล้จะจบแล้วต่อด้วย End Credits ตัวหนังสือเลื่อน ๆ แล้วต้องใช้เพลงอะไรดี แต่ก็แอบทดไว้ในใจมาซักระยะนึงแล้วว่าต้องเป็นเพลงกระดาษ Solitude Is Bliss กล้า ๆ กลัว ๆ ที่จะติดต่อขออนุญาติใช้เพลงพี่เค้าอยู่เหมือนกันแต่โชคดีมีคอนแทรคของพี่เฟนเดอร์นักร้องนำ และได้ติดต่อไปทางวงและได้รับการตอบรับให้ใช้เพลงได้ ถือว่าเป็นอะไรที่เจ๋งสุดยอดไปอีก 

ผลิตงานเป็นงานดราฟ 3 และเหมือนจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย และหวังว่าดราฟ 4 จะเป็นดราฟสุดท้ายที่ทุกคนจะได้เห็น 


เกียรติบัตร

เกียติบัตรออกแบบโดย กลอย , ใช้ประกอบในงานศิลปะ วิดีโอสารคดี ‘กลัวไม่เปลี่ยน’

ต้องขอขอบคุณพี่บัว ทีมงานของเราเป็นอย่างมากที่ช่วยคิดไอเดียเรื่องเกียรติบัตรขึ้นมา ซึ่งจะเป็นส่วนเสริมให้ตัวสารคดีเมื่อนำไปจัดแสดงแล้วจะมีความแข็งแรงมากขึ้น เกียรติบัตรแล้วไงต่อ… แค่การทำเกียรติบัตร 6 แผ่น เราก็ใช้เวลาคิดคำพูด รวบรวมไอเดีย เป็นอาทิตย์ให้ตายเถอะ “อะไรที่เป็นความคิดสร้างสรรค์ย่อมยากเสมอ” คำพูดของใครบางคนผุดขึ้นมาในหัว เราก็ทำการหาข้อมูลตัวอย่างเกียรติบัตรใน Google บวกกับค้นดูเกียรติบัติเก่า ๆ ของตัวเอง มันต้องใช้คลังคำศัพท์ประมาณไหน หรือฟอนต์รูปแบบอะไรงี้ แล้วของเราจะแตกต่างออกไปแบบกวน ๆ งี้ต้องทำยังไง แค่นี้ยังยากเลย

จากใจจริงเลยนะการทำเกียรติบัตรให้ตัวเอง เป็นเหมือนการเอาประสบการณ์ที่เราไปลุยพยายามทำนั่นทำนี่ ผลิตออกมาเป็นรูปธรรมแบบลายลักษณ์อักษร และมันทำให้เรารู้สึกภูมิใจในตัวเองได้อย่างไม่น่าเชื่อในฐานะของประชาชนคนธรรมดาคนหนึ่งอ่ะนะ 


Latest Story

Kenduri Seni Patani 2024 เทศกาลศิลปะเชื่อมประเด็นวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม – การเมือง – และชุมชนหลากหลายภูมิภาคมาจัดแสดงในปัตตานี

เทศกาลศิลปะนานาชาติ Kenduri Seni Patani 2024  : ภายใต้แนวคิด “ก่อนอุบัติ และหลังสลาย” ส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ภัณฑารักษ์ ” เทศกาลศลปะ Kenduri Seni Patani 2024 ภายใต้แนวคิด “Before birth and