(จะ) 80 ปี ผ่านไป ไวเหมือนโกหก (2475-2555)

(จะ) 80 ปี ผ่านไป ไวเหมือนโกหก (2475-2555)

โดย 

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ  

ดำเนินรายการโดย ธนาพล อิ๋วสกุล 

บทความจากงานเสวนาวิชาการ ในหัวข้อม “(จะ) 80 ปี ผ่านไป ไวเหมือนโกหก (2475-2555)”

สวัสดีครับ สบายดี อู้คำเมือง ครับ น่าจะใช้คำว่า สบายดี ส่วน สวัสดี เป็นเรื่องของคนใต้ คนกรุงเทพฯ คนเมืองเหนือ      จะพูดอีกแบบหนึ่ง ผมเองได้แนะนำท่านนายกรัฐมนตรีหญิง     ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปแล้วว่า เวลาพูด ให้อู้คำเมืองไปเลย สิ้นเรื่อง จะได้ไม่ต้องมีปัญหาว่าออกเสียงถูก หรือไม่ถูก ตามทัศนคติของคนกรุงเทพ ฯ   หากจะดูประวัติศาสตร์แบบช่วงยาวๆ ภาษาฝรั่งเศสมีคำว่า ช่วงยาว ๆ คือ longue dureeประวัติศาสตร์ช่วงยาว ๆ คำ ๆ นี้ นพพร ประชากุลเป็นคนคิดขึ้นให้กับผม หลายคนในที่นี้ คงรู้จักนพพร ประชากุลใช่ไหมครับ ต้องบอกว่าเป็นปัญญาชน ที่ผมทึ่งที่สุดคนหนึ่ง เท่าที่เห็นมาในกลุ่มคนไทย อาจารย์นพพร เป็นคนที่อ่านหนังสือเยอะมาก ถ้าใครยังไม่ได้อ่านเรื่องของอาจารย์นพพร ก็ลองอ่านดูก็แล้ว ผมคิดว่าอาจารย์นพพร ประชากุล เป็นคนที่อ่านหนังสือมาก และเป็นหนังสือที่คนไทยไม่ค่อยจะได้อ่านกัน 

อาจารย์เก่งภาษาฝรั่งเศส คนไทยเราเป็นคนที่ไม่ค่อยรู้จักโลกฝรั่งเศสเท่าไหร่ เราจะรู้จักโลกของจีน อังกฤษ อเมริกัน ผ่านการอ่าน และตอนหลังก็รู้จักโลกของญี่ปุ่น ฉะนั้นผมคิดว่าในการคบหากับอาจารย์นพพร ซึ่งเป็นนักอ่านสุดๆ คนหนึ่ง เรื่องที่แกอ่านจากภาษาฝรั่งเศส มันทำให้เรามองเห็นอะไรเยอะแยะ ผมก็ถามอาจารย์ว่า อย่างคำว่า อิสตัว-ล็อง-ดูเร่ (Histoire longue durée) แปลว่าอะไร 

            อาจารย์นพพร ก็ตอบว่า “ประวัติศาสตร์ช่วงยาว”        ผมก็เลยใช้คำนี้มาตลอด คำนี้ หมายความว่าเวลาเราจะดู จะศึกษาเหตุการณ์ใดก็ตาม อย่างสถานการณ์ปัจจุบันนี้ เราควรจะดูกลับไปให้มันยาวๆ ไกลๆ พอดูกลับไปยาวๆ ไกลๆ แล้ว มันจะมองเห็นดีมาก ชัดเจนมาก ผมก็ว่า เออ มันเข้าท่า ผมก็เลยมักจะมองยาว ๆ ไกล ๆ กลับไปในอดีต ครับ 

            ผมมีความรู้สึกว่า นักรัฐศาสตร์ไทย มีข้อจำกัดมาก ๆ เพราะว่านักรัฐศาสตร์ไทย อย่างดีก็มองกลับไปได้แค่ พ.ศ. 2475 (ค.ศ.1932)แปลว่ากลับไปได้ 79 ปี ปีหน้าเป็นปีที่ครบ 80 ปี ปฏิวัติ 2475 ปีหน้า พ.ศ. 2555 เทียบเป็น ค.ศ. ก็ 2012  และถ้าเราคิดเป็นฝรั่งหน่อย เราก็ต้องบอกว่า พ.ศ. 2475 เท่ากับ ค.ศ. 1932 อยากจะบอกว่าสำหรับคนหนุ่มคนสาว ถ้าคุณคิดเป็น ค.ศ.       แล้วผันเป็น พ.ศ.ได้เลย มันจะเยี่ยมยอดมาก

            ผมคิดว่าอันนี้เป็นสิ่งที่ผมค้นพบ เมื่อย้ายจากการเรียนรัฐศาสตร์ มาเป็นประวัติศาสตร์ คือทันทีที่เราคิดว่า ค.ศ. 1911 (พ.ศ. 2454) เมื่อ 100ปีมาแล้ว เกิดอะไรขึ้น มีใครได้ดูหนัง     เรื่อง 1911 ไหม 1911 Revolutionของเฉินหลง (Jackie Chan)  ซึ่งฉายในเมืองไทย เมื่อไม่นานมานี้ ตั้งชื่อว่า“ใหญ่ฝัดใหญ่”  หรือ “ใหญ่ผ่าใหญ่”อะไรทำนองนั้น  เป็นหนังที่เฉินหลง ลงทุนสร้างมหาศาลเลย ยิงกันทั้งเรื่อง ใครเป็นใคร ดูไม่ค่อยจะรู้เรื่องนัก  แต่เฉินหลง ก็รวยไม่รู้เรื่อง คุณคิดดูสิ มีคนจีนตั้งเท่าไหร่ที่ดูหนังของเฉินหลง เป็นหนังฟอร์มใหญ่มากในปีนี้ เพราะอะไร เพราะว่า 10 ตุลา 1911 ปีนั้น 100 ปีมาแล้ว คือ “ปฏิวัติซุนยัดเซน”        หรือ “ปฏิวัติจีน”ครับ 

            “ปฏิวัติจีน”เป็นเหตุการณ์สากลใหญ่โตมาก “ปฏิวัติจีน”ถือว่าเป็นปฏิวัติครั้งแรกๆ ของเอเชีย  ปฏิวัติจีน มีมาก่อนปฏิวัติรัสเซียด้วยซ้ำไป (ในปี ค.ศ 1917 หรือ พ.ศ2460) เพราะฉะนั้น สำคัญมาก แต่แน่นอน ถ้าเผื่อคุณคุ้นเคยกับเรื่องของอุษาคเนย์  คุณจะได้ยินคนฟิลิปปินส์ประท้วงว่าNo, no, the first revolution in Asia is not the Chinese,the first revolution isFilipino.(ไม่ใช่ การปฏิวัติครั้งแรกในเอเซียไม่ใช่จีน การปฏิวัติครั้งแรกเป็นของฟิลิปปินส์) ครับ ยุคนั้นของฟิลิปปินส์ มีนักปฏิวัติอย่างโฮเซ ริซัล (José Rizal[1])  ฟิลิปปินส์ก่อการปฏิวัติก่อนใครๆ ในเอเชีย  แต่เนื่องจากเราเป็นไทยๆ  เราก็เลยลืม ไม่สนใจฟิลิปปินส์ก็ได้   ใช่ไหมครับ เรียนไทยศึกษา มันก็เป็นอย่างนี้ ออกไปไม่พ้นพรมแดนแผนที่ประเทศไทย 


[1]José Rizalนักต่อสู้ และนักชาตินิยมชาวฟิลิปปินส์ในยุคต่อต้านจักรวรรดินิยมสเปน และได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษของชาติ 


            ผมคิดว่าปี 1911 เป็นTurning point (จุดเปลี่ยน)  ที่สำคัญมาก ผมคิดว่าถ้ามองกลับไปยาว ๆ ไกลๆ ก็จะเห็นอะไรดี ๆ 10 ตุลา 1911เกิด “ปฏิวัติซุนยัดเซน”สถาบันกษัตริย์ราชวงศ์ชิงล้ม ประเทศจีนเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ  นี่เป็นturning point ที่สำคัญมาก แล้วมันส่งผลทันทีเลย เพียงอีก 4 เดือนต่อมาเกิด “กบฏ ร.ศ.130”ขึ้นในกรุงเทพฯ ในสยามประเทศของเรา  กบฏร.ศ.130 เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ร.ศ. 130  ถ้าคุณบวกลบแบบไทย คุณก็เอา 2324 บวกเข้าไป เพราะฉะนั้น ถ้าคิดแบบปฏิทินเก่า ปีนี้ ก็เป็น 100 ปี  “กบฏร.ศ. 130”แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่ เพราะว่าในเดือนกุมภา ที่เกิด “กบฏ ร.ศ. 130”ที่นายทหารหนุ่มอายุประมาณ 20 ปีต้องการยึดอำนาจจากรัชกาลที่ 6 มันเกิดในเดือนกุมภา ร.ศ. 130 ซึ่งบวกลบแล้ว มันต้องเป็นปีหน้า (พ.ศ.2555 หรือ ค.ศ. 2012) เพราะว่า แต่ก่อนนี้ มกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม เป็นสามเดือนสุดท้ายของปี  ปีใหม่เริ่มที่ 1 เมษายน นี่เป็นปัญหาทางประวัติศาสตร์นิดหน่อย ต้องระวังอย่าบวกลบผิด

ประเด็นของผมก็คือว่า กุมภาพันธ์ปีหน้า ครบรอบ 100 ปี ของความพยายามที่จะเปลี่ยนสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ให้เป็นประชาธิปไตย ดังนั้น หากเรากลับไปเพียงแค่ พ.ศ. 2475  มันไม่พอ ต้องกลับไปอีกช่วงหนึ่ง คือ พ.ศ.2455(ค.ศ. 1912) จนถึง พ.ศ. 2475(ค.ศ. 1932) เป็นระยะเวลา 20 ปี ของรุ่นคนแบบพระยาพหลพลพยุหเสนา หรือ ปรีดี พนมยงค์ หรือ ป.พิบูลสงคราม ที่ทำการปฏิวัติยึดอำนาจ เปลี่ยนแปลงสำเร็จ แทนที่จะเป็นรุ่นของกลุ่ม ร.ศ. 130 ซึ่งถูกเรียกว่า “กบฏ”ไป ไม่ใช่ “ปฏิวัติ”เพราะทำไม่สำเร็จ ซึ่งผมอยากจะเรียกเหตุการณ์ทั้งสองใหม่ว่า“กบฏประชาธิปไตย ร.ศ. 130”กับ “ปฏิวัติประชาธิปไตย พ.ศ. 2475”เพื่อจะได้มีความชัดเจนและต่อเนื่อง

            หากเราดูอย่างนี้ จะเห็นว่าปรากฏการณ์ของสยาม  ประเทศไทยของเรานั้น เป็นส่วนหนึ่งของระบบโลกใหญ่ ไม่ใช่แค่ไทยศึกษา ที่อยู่แคบๆ ในพรมแดนแผนที่ของประเทศ ภายใต้รูปขวานทอง แล้วมานุ่งโจงกระเบน บอกว่าเป็นไทย ๆ ที่จริง “โจง”เป็นภาษาเขมรแปลว่า“ผูก”ส่วน “กระเบน”ก็ภาษาเขมรแปลว่า “หาง”รวมแล้ว แปลว่า “ผูกหาง”แต่เราบอกว่าเป็นไทย ถ้าคุณดูในหนังสือที่ระลึกแม่ของผม[2]แม่ผมชอบแต่งแฟนซีโจงกระเบน ออกงานที่บ้านโป่ง แม่ผมคิดว่าแม่แสนจะ “เป็นไท้-เป็นไทย”นะครับ ผมใช้เวลานาน กว่าจะรู้ว่าแม่ผมเข้าใจไม่ถูก เพราะโจงกระเบนนั้น “เขมรใช้ ไทยยืม”เป็น“ไทย”ก็จริง แต่ก็เป็น “เขมร”ด้วยครับ             ดังนั้น หากจะดูการเมืองที่จะมีความพยายามสร้างประชาธิปไตยในเมืองไทย ดูเพียงแค่ พ.ศ. 2475 ไม่พอ ต้องดูกลับไปก่อนหน้านั้นอีก ผมคิดว่ามันต้อง 100 ปี มันถึงจะเห็นว่า มันมีสิ่งที่เรียกว่าเป็นกฎเกณฑ์บางอย่างของโลก เป็น Global system (ระบบโลกาภิวัตน์)กล่าวได้ว่าในช่วงที่ยาวไกลกว่านั้นอีก คือ 200 ปีที่ผ่านมา โลกใบนี้มีประวัติศาสตร์ช่วงยาวมาก คุณต้องไปอ่านหนังสือ “ชุมชนจินตกรรม”หรือ  Imagined Communities[3]  ของอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน จึงจะเข้าใจว่า ในโลกกลมๆ ใบนี้ มีปรากฏการณ์ของสิ่ง ที่เรียกว่าNation (ชาติ)  ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ของความคิด หรืออุดมการณ์ที่คำว่า“เสรีภาพ-เสมอภาค” (Equality-liberty) กลายเป็นความคิด “สมัยใหม่”ที่สำคัญ มีพลังสุด ๆ เป็นอุดมการณ์ ที่มองว่า หรือเชื่อว่าสังคมนี้ เป็นแนวนอน หรือแนวราบ เสมอกัน เท่าเทียมกัน   เป็นเรื่องของ “ชาติ” ไม่ใช่แนวดิ่ง ที่มีสูง มีต่ำ มีชนชั้น ไม่เท่าเทียม ที่เป็นเรื่อง “สมัยเก่า”ของ “ราชอาณาจักร”หรือ Kingdom   ในเวลาเดียวกัน 200 ปีที่แล้วมา เมื่อมีปรากฏการณ์ของอุดมการณ์เช่นนี้ ที่ทำให้เกิดการ “ปฏิวัติ” ไม่ว่าจะเป็นปฏิวัติอเมริกัน (ค.ศ.1776 หรือ พ.ศ. 2319ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้าตากสิน) ปฏิวัติฝรั่งเศส (ค.ศ.1789หรือ พ.ศ.2332 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1) ปฏิวัติจีน (ค.ศ.1911 หรือ พ.ศ.2454 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6)   ปฏิวัติรัสเซีย จีน (ค.ศ. 1917 หรือ พ.ศ.2460 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่6) มีปฏิวัติอะไรต่อมิอะไรมากมาย ผมคิดว่าสังคมสยามประเทศไทยของเรา ก็อยู่ในกระบวนการ ในบริบทของกาลเวลา และของโลกอันเดียวกันนี้ แต่เราบอกว่ามันไม่ใช่มันเป็น Uniqueมันมีความพิเศษ ไม่มีใครเหมือน ระบอบที่เรามี เป็นระบอบที่ไม่มีใครเหมือนเลยในโลก พูดแล้วต้องซาบซึ้ง ร้องไห้ อีกต่างหาก ทุกท่านก็ทราบดีว่าตอนนี้ ผมไม่ได้อยู่ในสยามประเทศไทยแล้วนะครับ หนี “การเมืองเป็นพิษ และสงครามที่คนอื่นก่อ”ไปอยู่สิงคโปร์ ที่ซึ่ง “เขาว่ากันว่า”เคยเป็นเมืองขึ้นของเรานะครับ แต่มัน “เสียดินแดน”ไปเมื่อไหร่ ก็นึกไม่ออกนะครับ เพราะว่าในตำราเรียนประวัติศาสตร์ปัจจุบันบอกว่าเสียดินแดนครั้งที่ 1 คือเกาะหมาก หรือปีนังใช่ไหม ที่เราเล่าเรียนกันมา แต่เราก็เคยว่าสิงคโปร์เคยเป็นเมืองขึ้นของเรา ถ้าคุณไปดูตำราแบบเรียนประถม-มัธยม อาณาจักรสุโขทัย (หนังสือภูมิศาสตร์และแผนที่ ของ ทองใบ แตงน้อย) วาดแผนที่ไว้กินดินแดนไปถึงข้างล่าง ไปสุดทิศใต้เลย ไอ้ “เทมาเส็ก”นั่น เป็นของเรา


[2](ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะ,แม่:กลับจากปากน้ำถึงบ้านโป่ง,กรุงเทพฯ ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.2553)


[3]Imagined Communities: Reflections on the Origin and Spread of Nationalism, Benedict Anderson, Verso, 1991.


อันนี้พูดมากไป หลายคนอาจจะงงๆ ว่าอาจารย์พูดอะไร แต่ว่ามัน “ตลกเจ็บปวด”จริงๆ ครับ เวลาที่ผมเอาแผนที่สุโขทัย ไปให้เพื่อนที่สิงคโปร์ดู มันชอบใจ หัวเราะกันใหญ่ มันไม่เห็นหงุดหงิดกับเราเลย ออ เหรอ นี่ไม่เคยคิดว่าสิงคโปร์ เคยตกเป็นเมืองขึ้นของไทยมาก่อนนะ ลองไปเปิดตำราแบบเรียนดูสิ เปิดหนังสือสังคมศาสตร์ดูสิ พ่อขุนรามคำแหงสมัยสุโขทัยนี่    ไทยเรานี่คุมไปไกลถึงเกาะสิงหปุระ 

            ผมไปอยู่ที่สิงคโปร์ ครับ วันหนึ่ง ก็มีงานเลี้ยงกินข้าวกัน มีขนมชั้นด้วย ขนมชั้นของสิงคโปร์มลายู มันก็เหมือนขนมชั้นของไทย แต่มันไม่ใช่แค่ 2-3 ชั้นสี มันทำเป็นสีรุ้ง สีเยอะมากเลย แสดงว่ามันประดิดประดอย เป็นบ้าเลย กว่าจะได้ชั้นหนึ่ง ชั้นหนึ่ง  เพราะฉะนั้น ไอ้ที่เราบอกว่าขนมไทยไม่เหมือนใครในโลก ผมไปมารอบอุษาคเนย์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มันก็มีอะไรๆ เหมือนๆ กัน คือมันเป็นวัฒนธรรมร่วม มันเป็น Shared culture เสียมากกว่าที่ประเทศใด จะเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว อย่างที่เราถูกทำให้หลงเข้าใจอีกอันหนึ่งก็คือว่า อาจารย์ธงชัย (วินิจจะกูล) เขียนบทความลงใน“สามัคคีสาร”ฉบับล่าสุดเลย มีในอินเตอร์เน็ต อาจารย์ธงชัย เขียนเรื่องการที่เมืองไทยไม่ตกเป็นเมืองขึ้น มันเกิดอะไรขึ้น คือเราภูมิใจมากว่าประเทศเราไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้น    มันไม่เหมือนสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ลาว พม่า “ขี้ข้าฝรั่ง”ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น พวกนี้เมื่อมันเป็นขี้ข้า มันก็ต้องต่ำกว่าเรา     นี่เป็นประเด็นที่ผมอ่านจากงานของอาจารย์ธงชัยใน“สามัคคีสาร”[4]อาจารย์ธงชัยพูดถึงปัญหานี้ว่า การที่เราสร้างวาทกรรมนี้ขึ้นมา ในด้านหนึ่งมันดี มันเป็นบวก มันทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง แต่ความภาคภูมิใจนี้ กลับกลายเป็น    ปมเขื่อง ที่พัฒนาไปเป็นการดูถูกคนอื่น (Superior-inferior complex) ผมว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา กล่าวคือ เราควรจะภูมิใจในตัวของเรา ในประเทศของเรา ในสังคมของเรา ก็จริง แต่มันต้องนึกด้วยว่า คนอื่นเป็นยังไง คิดอะไรอยู่ เพราะฉะนั้น บางทีไอ้เรื่องปมเขื่องนี่ มันกลายเป็นเรื่องตลกที่เจ็บปวดไปเลย เช่น ถ้าถามว่า ทำไมภาษาอังกฤษเราคนไทยไม่ดี ปัดโธ่!ก็เพราะไม่ตกเป็นเมืองขึ้น ถ้าเจ้าดารารัศมี ยอมไปเป็นธิดาบุญธรรมของควีนวิคตอเรีย ลองคิดดูนะ เราคนเมือง จะอู้คำเมือง ด้วยสำเนียง      ควีนอิงลิช นรม. หญิง ยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) ก็จะไม่ถูกสบประมาทโดยชาวเมืองใต้อย่างนี้             นี่คือปัญหา มันกลายเป็นข้อแก้ตัว คนไทยจำนวนเยอะเลย ที่ภาษาอังกฤษไม่ดี ถ้าเป็นเมืองขึ้น รับรองต้องดีกว่านี้       มันกลายเป็นข้อแก้ตัวของคนที่ขี้เกียจเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งเรียนมาตั้ง 12 ปี ก่อนที่จะเข้ามหาวิทยาลัย เมื่ออยูปี 1 โดนอาจารย์ฝรั่งถามว่าHow long have you studied English?ฝรั่งเป็นงงเรียนได้ยังไง 12 ปี ยังพูดไม่รู้เรื่อง เป็นความขี้เกียจนะ ผมคิดว่าความเป็นเอกลักษณ์ อัตตลักษณ์พิเศษของความเป็นไทย มันเป็นผลลบได้ ไม่ได้เป็นผลบวกเสมอไป ผมว่ามันมีสองด้าน ประวัติศาสตร์มันสนุกมาก ถ้านอกเรื่องเยอะ ๆ ออกจากตำราแบบเรียนให้ได้ ออกจากพระนเรศวรประกาศอิสรภาพให้ได้  รับรองสนุกมากครับ


[4]“ความกลัวอิสระ ณ ร้อยปีให้หลัง”,ธงชัย วินิจจะกูล, สามัคคีสารฉบับที่ 82 พฤษภาคม 2553


  

ประเด็นต่อมา คือ คำถามว่าด้วยการเปลี่ยนแปลง       และข้อพิจารณาว่าด้วย การไม่ยอมแตกหักหรือการประนีประนอมกับระบอบเก่า[5]ในความเห็นของผม คิดว่ามันเป็นความพยายามของผู้นำใหม่ คือ คณะราษฎร ที่จะประนีประนอมกับระบอบเก่า ผมคิดว่าคณะราษฎร กับคณะเจ้า (คณะเจ้าจริงๆ ไม่มีการตั้งเป็นเรื่องเป็นราวหรอก แต่ผมเขียนไว้เอง บอกว่ามี เพราะว่าก็เป็นกลุ่มเป็นก้อน เราตั้งขึ้นมาเพื่อใช้ในการวิเคราะห์) มันเป็นความพยายามบนฐานความคิดที่ว่าสามารถประนีประนอมกันได้ในระดับหนึ่ง ผมคิดว่ามันต้องมองลึกลงไป ที่วิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ด้วย ผมคิดว่าการประนีประนอมนั้น เกิดจากความคิดที่ว่า ระบอบใหม่ หรือระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ (ก่อนที่จะมาประดิษฐ์คำใหม่ว่า “โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”นั้น กำลังเดินไปได้ด้วยดีพอสมควร ถ้ามองดูช่วงระหว่าง ปี พ.ศ.2477/78-2489 (ค.ศ.1935-1946) จากการสละราชสมบัติของรัชกาลที่7แล้วก็มีรัชกาลที่ 8ขึ้นมาแทนเป็นเวลาถึงกว่า 10 ปี 


[5]ซึ่งเป็นข้อเสนอของBenedict Anderson  ในบทความเรื่อง  “Studies of the Thai State: The State of Thai Studies,”In The Study of Thailand, ed. by Eliezer B. Ayal, pp. 193-247. Athens, Ohio: Ohio Center for InternationalStudies, Southeast Asia Program. บทความดังกล่าวถูกวิจารณ์โดยสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ใน Comments by Sulak Sivaraksa, pp. 248-252, and Clark Neher,pp. 253-257) (Southeast Asia Series No. 54, 1978)ข้อเสนอดังกล่าว ชาญวิทย์ เห็นว่าเป็นงานที่เขียนไว้นานมากกว่า30 ปี ปัจจุบัน ผู้เขียนน่าจะมีความเห็นที่แตกต่างไปจากเดิม


ผมคิดว่าเผลอ ๆ จุดเปลี่ยนจริงๆ เป็นผลของการเมืองภายนอก ในระดับสากล คือ ผมอยากจะมองทางประวัติศาสตร์ว่า สงครามโลกครั้งที่ 2เป็นจุดหักเหที่สำคัญมาก เราต้องไปดูประกอบกับบทบาทของการสร้างระบอบอำนาจนิยม ระบอบทหารของจอมพล ป. พิบูลสงคราม การสร้างชาตินิยม ผมเรียกว่าชาตินิยมในVersion(แบบฉบับ)ของ “อำมาตยาธิปไตย”ซึ่งเป็นVersion ที่สร้างขึ้นมา เพื่อบดบังรัศมีของ”ระบอบราชาชาตินิยม”

            คิดว่าท่านที่อยู่ในสายรัฐศาสตร์ คงได้อ่านหนังสือImagined Communities ที่แปลเป็นไทยแล้ว ของอาจารย์เบน (แอนเดอร์สัน-ชุมชนจินตกรรม) จะเห็นว่าอาจารย์เบนใช้คำว่าOfficial nationalism อาจารย์เบนมองว่ามีสิ่งที่เรียกว่า Official nationalismเราแปลเป็นไทยว่า “ชาตินิยมทางการ”ใช่ไหม การที่อาจารย์เบนโยนคำว่า Official nationalismมันคลุมหมดเลย คืออาจารย์เบน ต้องการ Global ใช่ไหม เวลาแกมองอะไร ความได้เปรียบของอาจารย์เบน คือแกมองใหญ่มาก มองเป็นGlobalsystem  ฉะนั้น แกก็เลยมองว่า รัสเซียก็อยู่ในOfficial nationalismญี่ปุ่นก็อยู่ในOfficial nationalismสยามก็อยู่ใน Official nationalismแกโยนคลุมไปเพื่อให้หนังสืออ่านได้โดยไม่ต้องเป็น Specialization (ความเชี่ยวชาญพิเศษ) นึกออกไหมครับ ว่ามันไม่ใช่หนังสือเกี่ยวกับไทย หรือสยาม แต่มันเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับโลกทั้งโลก ที่มันมีปรากฏการณ์ของ “ชาติ”(Nation) กับ “ลัทธิชาตินิยม”(Nationalism) เกิดขึ้นใน200 กว่าปีที่แล้วมา แล้วทีนี้ อาจารย์ธงชัยนำแนวคิดมาใช้อย่างเฉพาะเจาะจงว่า เรื่องของเมืองไทยมันเป็น “ราชาชาตินิยม”(Royal nationalism)

            ผมคิดว่า “ราชาชาตินิยม”ของรัชกาลที่ 5 และ 6โดยเฉพาะรัชกาลที่ 6มันถูกแปลงโดย  ป. พิบูลสงคราม ในช่วงของพุทธศวรรษที่ 2480(หรือ คริสต์ทศวรรษที่ 1940s ช่วงที่ผมเกิดที่บ้านโป่งพอดี) ช่วงที่หลวงวิจิตรวาทการ แต่งละครปลุกระดม “รักเมืองไทย ชูชาติไทย”แม่ผม เล่นละคร เป็นนางละคร แม่เป็นนักเรียนโรงเรียนเบญจมราชาลัย ลูกศิษย์ของภริยาของหลวงวิจิตรวาทการ ผมคิดว่าอันนี้ มันไม่ใช่แบบเก่าแล้ว  กลายเป็น“อำมาตยาชาตินิยม”เพราะว่าจุดเน้นไม่เหมือนกัน“ราชาชาตินิยม”ที่เคยเน้นอยู่ที่ราชสำนัก อยู่ที่พระราชา แต่จุดเน้นของพิบูลสงคราม และหลวงวิจิตรวาทการ อยู่ที่เชื้อชาติไทย ชนชาติไทย และผู้นำที่เป็นเสนา เป็นอำมาตย์(ดูเห็นได้ชัดจากเนื้อร้องของเพลง“ต้นตระกูลไทย”ซึ่งเต็มไปด้วยบรรดา “เสนา-อำมาตย์”)

อันนี้เป็น Version ที่ผมคิดว่าเป็น “อำมาตยาชาตินิยม”ผมคิดว่ารุ่น “ราชาชาตินิยม”ไม่ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องชนชาติ ไม่ว่าใครก็ตาม  เป็นเจ๊ก เป็นม้ง เป็นเย้า ถ้า แต่ถ้ามีความจงรักภักดี  ก็เป็นไทย นึกออกใช่ไหมครับ บทความของรัชกาลที่ 6 (“ความเป็นชาติโดยแท้จริง”โดย “อัศวพาหุ”) กล่าวไว้ว่า ถ้าจงรักภักดีแบบ“ขอเป็นข้าบาททุกชาติไป”  ก็เป็นไทย จะมาจากไหนก็ได้ อันนั้น เป็นวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง ผมคิดว่าในความเป็นพระราชา ในความเป็นกษัตริย์ เป็นเช่นนั้น แต่ผมว่า Versionใหม่ที่มากับหลวงวิจิตรวาทการ และจอมพล ป. พิบูลสงคราม มันเป็นการใช้ความเป็นเชื้อชาติ“ไทย”เข้ามาแทน 

            ปัจจุบันผมคิดว่า “ลัทธิชาตินิยม”เป็น “ลูกผสม”หรือ “พันธุ์ทาง”เป็น Hybridผมมองว่าเป็นอย่างนั้น เป็น Hybridnationalismเมื่อพันธมิตรฯ คนเสื้อเหลือง ชุมนุมกันที่ถนนราชดำเนิน ตอนที่ประท้วงรัฐบาลของคุณสมัคร ก็ดี รัฐบาลของคุณสมชาย ก็ดี     มีการยกประเด็นเขาพระวิหารขึ้นมา ผมคิดว่าอันนี้เป็นลูกผสม คือเขาสามารถจะร้องเพลงพระราชนิพนธ์“ความฝันอันสูงสุด”แล้วก็เปลี่ยนไปเป็นเพลงหลวงวิจิตรยุคจอมพล ป. เช่น “ต้นตระกูลไทย  ใจท่านเหี้ยมหาญ รักษาดินแดนไทย ไว้ให้ลูกหลาน”ร้องได้หมด เอามาผสมปลุกใจกัน กลายเป็น Hybridเป็น“ลูกผสม- พันธุ์ทาง”ปัจจุบันนี้เราอยู่ในVersion นี้             แต่ ผมก็คิดว่าไม่น่าจะใช่ได้แล้ว ทำไม เพราะว่าคุณสุวิทย์   คุณกิตติ รมต. ชุดของ นรม. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ไปWalk-out จากการประชุมเรื่องมรดกโลก ที่กรุงปารีส เป็นการ “ทิ้งไพ่ใบสุดท้าย”ของแก ก่อนการเลือกตั้ง 3 กรกฎา 2554(ค.ศ.2011)

            คุณสุวิทย์ คุณกิตติ เป็นใคร ก็เป็นหัวหน้าพรรคกิจสังคม พรรคกิจสังคม เป็นพรรคอะไร พรรคกิจสังคมเป็นพรรคของอาจารย์ คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อสมัยแรก ปี 2518 (ค.ศ.1975)  เลือกตั้งได้ สส. มาเพียง 18ที่นั่ง แต่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี นั่นเป็นการเมืองช่วงหลัง14 ตุลา 2516 (พ.ศ.1973) จำได้ไหม เข้าใจว่าคุณสุวิทย์ คุณกิตติ อาจจะเป็นคล้ายๆBaby ของอาจารย์คึกฤทธิ์  ก็ว่าได้ เป็นผู้สืบทอดพรรคกิจสังคมต่อมา จากอาจารย์คึกฤทธิ์   ผมว่า “การโยนไพ่”วันนั้น แล้วWalk-out จากที่ประชุมปารีส กลับมาหาเสียงโค้งสุด ขึ้นโปสเตอร์ว่า “เราสู้” แล้วมีรูปปราสาทเขาพระวิหาร ปลุกใจ 

แต่ในการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 3กรกฏา แกสอบตก แปลว่าอะไร แปลว่าคนไม่เอา Version นี้ของ “ชาตินิยมลูกผสม-พันธุ์ทาง”ไม่มีคนเลือก  Version ชาตินิยมลูกผสม-พันธุ์ทาง  เกมส์เก่านี้ ใช้ได้ผลในการล้มรัฐบาลสมัคร กับสมชาย แต่พอมาเจอ “ปูแดง”เข้า กลับไม่ work น่าสนใจมากๆ ทำไมไม่ workสถานการณ์มันเปลี่ยนเลยหรือ อย่างที่เราเห็นพอรัฐบาลใหม่ขึ้นมา ก็มีการไปเตะฟุตบอลกันที่พนมเปญ ทีมไทย ทีมเขมร มีการ “เกี้ยเซียะ”ไปเขี่ยลูกบอลให้สมเด็จฮุนเซน มีการแลกเสื้อแลกอะไร ประคองลูกบอลให้ไปเตะเข้าประตู 

            สำหรับประเด็นเรื่อง การทบทวนตำแหน่งแห่งที่ของ  จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผมคิดว่าควรกลับไปดูงานของอาจารย์กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียน[6] อาจารย์กอบเกื้อเสนอว่า จอมพลป. พิบูลสงครามยืนอยู่กับประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์“อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ”ผมก็คิดว่าอย่างนั้นเหมือนกัน ผมไม่คิดว่า     จอมพล ป. คิดไปไกลถึงการล้มล้างสถาบัน แล้วเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ ผมคิดว่าท่านไม่น่าจะคิดไปไกลกว่าระบอบของอังกฤษ หรือระบอบของญี่ปุ่น จอมพล ป.เชียร์ญี่ปุ่น นิยมญี่ปุ่นมาก ญี่ปุ่นมีสถาบันจักรพรรดิ หลายท่านก็ทราบว่า ในที่สุดแล้ว “คณะราษฎร”แตกกัน กลายเป็นขั้วขวา กับขั้วซ้าย ขั้วขวา    ก็จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขั้วซ้ายก็ปรีดี พนมยงค์


[1]Thailand’s Durable Premier: Phibun through Three Decades, 1932-1957, Kobkua Suwannathat-Pian, Oxford University Press


ผมคิดว่าคนจำนวนไม่น้อยเลยที่ถูกดึงเข้าไป ถ้าคุณนับถืออาจารย์ปรีดี คุณต้องไม่นับถือจอมพล ป.พิบูลสงคราม ผมคิดว่าถ้าเป็นตัวผม ผมก็จะเอาทั้งสอง เพราะว่าผมเป็นผู้ศึกษา ผมไม่ได้เข้าไปอยู่ในรัฐบาล เป็นฝ่ายโน้น เป็นฝ่ายนี้ เราเป็นคนอีกGeneration หนึ่งแล้ว ผมเกิดหลังประเทศไทยของจอมพล ป. พิบูลสงครามเพียง2 ปีเท่านั้นเอง คำว่าประเทศไทยและ Thailand มีขึ้นในปีพ.ศ.2482 (ค.ศ.1939) จอมพล ป. พิบูลสงคราม   เป็นคนเปลี่ยนผมเกิดปีพ.ศ2484(ค.ศ.1941)  ในการมองกลับไป จากงานศึกษา วิทยานิพนธ์ บทความวิชาการ ผมว่าจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นบุคคลที่น่าตื่นเต้นที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ลองไปรื้อออกมาดูใหม่เถอะ 

            ผมจำได้ว่าเมื่อผมเด็กๆ ผมเห็นแม่ผมเอาหมวกใส่ไว้ในตู้ ถ้าคุณอยากจะเป็นผู้ดี สตรีในสมัยนั้นนะ ในปี พ.ศ. 2470 -80   กว่า ๆ (ระหว่างคริสต์ทศวรรษที่1930s-1940s) คุณต้องสวมหมวก เผลอๆใส่ถุงมือได้ ยิ่งดีใหญ่เลย นึกออกไหมว่าจอมพล ป. พิบูลสงครามทำให้ผู้หญิงออกมามีบทบาทเยอะมาก ผู้หญิงที่น่าสนใจคนหนึ่ง และสตรีศึกษา ไม่เคยศึกษาเลย คือ ละเอียด พิบูลสงคราม ลองไปศึกษาละเอียด พิบูลสงครามสิ อย่างคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของผม   อันที่จริงคนที่มีบทบาทในการตั้งคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์  คือ ละเอียด พิบูลสงคราม ตอนนั้นจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

            ประเด็นต่อมา เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเพื่อนบ้าน  ผมคิดว่าประวัติศาสตร์ไทยที่เรารู้จักกัน มันเป็นผลผลิตของอุดมการณ์ชาตินิยม ทั้งราชาชาตินิยม และอำมาตยาชาตินิยม ผมคิดว่าในสมัยที่เขียนประวัติศาสตร์ที่เราเรียนกันอยู่นี้ มันเขียนขึ้นในสมัยที่รอบๆ บ้านเรา ตกเป็นเมืองขึ้นหมดเลย เพราะฉะนั้น    เราเขียนขึ้นโดยไม่ต้องกังวลกับพม่าเลย เพราะยังไงมันก็เป็น      “ขี้ข้า”อังกฤษ เราเขียนโดยไม่ต้องสนใจลาวเลย เพราะยังไงมันก็เป็น “ขี้ข้า”ฝรั่งเศส เพราะฉะนั้น เราเขียนขึ้นโดยที่เราไม่ต้องสนใจผู้คนรอบบ้านเรา คือผมอยากจะเชื่อว่าในยุคหนึ่ง คนเอเชียอาจจะคิดไม่ได้เลยว่า เราจะเป็นเอกราชได้ ผมสงสัยว่าคนเอเชียจำนวนเยอะเลย ที่คิดแบบนี้ คือคิดว่าโลกมันเป็นอย่างนั้น คือฝรั่งเป็นใหญ่ แต่ว่ากระบวนการทางประวัติศาสตร์ ในที่สุดแล้วญี่ปุ่นชนะรัสเซีย ใช่ไหมครับ แล้วก็มันมีกระบวนการหลาย ๆ อย่าง   ซึ่งผมคิดว่ามันผงาดขึ้นมา ผมว่าสงครามโลกครั้งที่ 2ถ้ามองแล้วความเลวร้ายถูกยกให้ญี่ปุ่นหมด แต่เอาเข้าจริงญี่ปุ่น เป็นคนทำลายอาณานิคมของฝรั่ง อังกฤษพัง อเมริกาพัง ดัชต์พัง เพราะญี่ปุ่น

            ฉะนั้น ถ้ากลับไปมองอย่างของอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน แกเคยเขียนว่า ญี่ปุ่นเป็น “แสงสว่าง”หรือ  “Light” แกตั้งข้อสงสัยว่าเอาเข้าจริง มันเป็นตัวฉายแสงให้คนเอเชียลุกขึ้นมา ประกาศเอกราชได้ แต่ผมคิดว่าผู้นำจำนวนเยอะเลย รวมทั้งผู้นำสยามทั้งในสมัยก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นไทย และหลังเปลี่ยนชื่อเป็นไทย ยังคิดไม่ออกว่า มันมีประเทศเอกราชที่ชื่อว่าลาวได้ หรือ มันไม่น่าจะเป็นได้มันมีแต่ French Indochina ไม่สามารถจะมีลาว-เวียดนาม-กัมพูชา ที่เป็นเอกราช ไม่สามารถจะมีพม่า ซึ่งเป็น     เอกราชได้

            เพราะฉะนั้น การเขียนประวัติศาสตร์ของเรา ที่สืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้  จึงไม่เกรงใจเพื่อนบ้าน เพราะยังไงพม่าก็ไม่มีทางมาอ่าน ถึงอ่านก็ไม่มีผลอะไรกับเรา ผมว่าตรงนี้ เป็นจุดที่สำคัญมากๆ แต่ว่าปัจจุบันนี้ ไม่ใช่แล้ว เพราะว่าตอนนี้พวกเขาอ่าน ลาวอ่านปุ๊บ ตอบโต้ ด่ากลับทันทีเลย เขมรนี่ โอ้โห! ผมไปสอนหนังสืออยู่พนมเปญ 6เดือนนะ คนกัมพูชา รู้เรื่องประเทศไทยดีมาก ๆ ดูโทรทัศน์ไทย บางกอกโพสต์ ผมสามารถจะหาอ่านได้ที่นั่นทุกเช้า ผมก็ไปซื้อบางกอกโพสต์ ที่ตรงข้างโรงแรมที่ผมอยู่ได้เลย เพราะมันไปมาถึงกัน สะดวกมาก 



            กลับมาสู่ประเด็นรัฐประหาร  ผมคิดว่าการรัฐประหาร  19 กันยา 2549 (ค.ศ.2006) มันพิสูจน์แล้วว่าล้มเหลว    แล้ว Argument (ข้อโต้แย้ง) ของนักรัฐศาสตร์ นักนิติศาสตร์ นักวิชาการสาขาอะไรๆ ก็ตาม ที่บอกว่าเห็นด้วย  กับการรัฐประหาร 19กันยา 2549 เพราะต้องการจะไม่ให้มีการนองเลือด มันพิสูจน์ในทางประวัติศาสตร์แล้วว่าไม่ใช่ เหตุการณ์ และความรุนแรง ร้ายแรง ตามลำดับมา ตั้งแต่พ.ศ. 2549 -2550 -2551 –   2552 -2553 (ค.ศ.2006-2010)มันพิสูจน์แล้ว ใช่ไหม ที่ว่าจะไม่มีความรุนแรง ไม่มีการนองเลือด ไม่ใช่เลย ใช่ไหม Argumentอันนั้น  ใช้ไม่ได้

            ฉะนั้น มองอีกด้านหนึ่ง ผมคิดว่า นายทหารบิ๊ก ๆ ก็คงรู้แล้วล่ะ บริหารก็ไม่ได้ ปกครองก็ไม่ได้ ทีนี้ ขอเปลี่ยนเรื่องว่า    เมื่อผมไปงานรัชกาลที่ 5 ตอนที่ กต. (กระทรวงต่างประเทศ) สร้างศาลาไทยฉลอง เอาไปตั้งที่เมืองบาดฮอมบวร์ก เยอรมนี     ซึ่งเป็นเมืองที่รัชกาลที่ 5เสด็จไปเพื่อประทับรักษาพระองค์   เสด็จไป  อาบน้ำแร่ น้ำร้อน ครั้งกระโน้น ที่เมืองนั้นก็มีศาลาไทยอยู่แล้ว รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างให้ แต่ กต. ก็ยังไปสร้างแถมให้     อีกหนึ่งศาลา ระลึกการครบรอบ 100 ปี ที่เสด็จเมืองนั้น         (พ.ศ.2450 – 2550 หรือค.ศ.1907 – 2007)

            ในช่วงนั้นผมได้รับเชิญไปเยอรมนี ไปในงานนั้น        นั่นแหละ แล้วนายกฯ สุรยุทธ์ (จุลานนท์) ก็ไปในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ไม่ได้ไปด้วยกันนะ รัฐบาลเยอรมันก็ไม่สามารถต้อนรับ   นายก ฯ ไทย อย่างเป็นทางการได้ เพราะว่ามาจากการรัฐประหาร ฉะนั้น ก็แปลว่าบรรดานายทหารบิ๊กๆ เขาก็รู้แล้วว่าโลกมันไม่เอาด้วย ตอนนี้ กรณีล่าสุด คดี “อากง”ก็ดี กรณี “โจ กอร์ดอน”ก็ดี บรรดาเรื่องคดีหมิ่นฯ ผิดตามมาตรา 112นั้น เรื่องก็บานปลายไปเรื่อยๆ การที่ “เสด็จพ่อ”โอบาม่า (Barrack Obama ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา) ออกมาพูดเป็นเชิงตำหนิ ก็น่าห่วงนะ แล้ว Eliteไทย ชนชั้นนำไทย ผู้ดีไทย ชาวกรุงเทพฯ ทั้งหลาย คงวิตกมาก กลัวว่าฝรั่งจะว่ายังไง แม้จะปากแข็งว่า บ้านเมืองของเรา ฝรั่งไม่เกี่ยวก็ตาม  

            โอบามา ออกมาพูดเรื่องนี้ ใช่ไหม แล้วยัง “คุณแม่”     ฮิลลารีอีก (Hillary Clinton รมต. กต. สหรัฐฯ) ยุ่งนะ   คือหมายความว่าเราปิดประเทศไม่ได้ พม่ามันยังปิดไม่ได้เลย     ผมคิดว่าบทเรียน19กันยา 2549 ทำให้คนที่คิดจะทำรัฐประหาร ต้องคิดหนักมาก ผมคิดว่าตอนนี้ ทำไม่ได้แล้ว 

            ยิ่งผมมาตระเวนชานเมืองเชียงใหม่สัก 2-3วันนี้ ไปตามหมู่บ้าน ถามว่า ทำไมจัดตั้งหมู่บ้านแบบนี้ขึ้นมา เขาตอบว่าเตรียมรับรัฐประหาร นี่เชียงใหม่นะ ซึ่งเป็นเมืองที่เราชาวกรุงเทพฯ ให้ความนิยมชมชอบว่า มี “สาวเครือฟ้า”ไว้ให้เรา มีอะไรต่อมิอะไรไว้สนองชาว กทม เชียงใหม่มันกลายเป็น “สวรรค์หาย”ของชาว กทม. ไปแล้วหรือเปล่า แหม อุตส่าห์มาซื้อที่เอาไว้ ทำไร่ ทำสวนลำไย เข้าไปในหมู่บ้าน กลับกลายเป็นคนละ “สี”กับเรานี่หว่า “สวรรค์หาย”เลยตอนนี้ เราDebate (ถกเถียง) เรื่องนี้กันในเฟสบุ๊ค จะมีรัฐประหารกี่รูปแบบเล่า รัฐประหารโดยทหาร รัฐประหารโดยตุลาการ รัฐประหารโดยน้ำ  แต่น้ำ ก็ไม่ยักกะท่วมกรุงเทพฯ หมดนะ ถ้าท่วมกรุงเทพฯ ทั้งหมด ผมก็สงสัยว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ คงจะพังไปแล้ว  

ผมมองว่าเป็นเรื่องปกติ กระบวนการที่เป็นไปตามระบอบของประชาธิปไตย ที่จะเปลี่ยนรัฐบาล เป็นเรื่องธรรมดามากๆ ก็สู้กันไป แต่วิธีการนอกระบอบประชาธิปไตย เป็นวิธีการที่โดยส่วนตัว ผมไม่ยอมรับ จากการศึกษาของผม ผมว่ายาก จะใช้ “ตุลาการภิวัตน์”อีกหนหนึ่งหรือ แบบที่ทำกับรัฐบาลสมัคร (สุนทรเวช) หรือรัฐบาลสมชาย (วงศ์สวัสดิ์) ก็อาจจะได้ แต่ยาก ทีนี้ ต้องคิดเกมส์ใหม่แล้ว น้ำก็ใช้ไม่ได้ Water coup (รัฐประหารด้วยประเด็นน้ำ) ก็ใช้ไม่ได้ เอาอะไรดี ผมว่าต้องหาใหม่ ต้องมีนวัตกรรม 

            ดังนั้น  19กันยา 2549 (ค.ศ.2006) เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมาก ผมคิดว่าในประวัติศาสตร์การเมืองไทยนี่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมาก ผลของมันมหาศาล คนที่ทำก็นึกไม่ออก ก็มันไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อเลยในวันนั้นก็จริง แต่หลังจากนั้น  ปี 2550(ค.ศ. 2007)  ก็มีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลสมัคร มีรัฐบาลสมชาย มีขบวนการเสื้อเหลือง ต่อมากลายเป็นเสื้อสลิ่ม หรืออะไรก็ตาม เห็นได้ว่ามันเลวร้ายขึ้นๆ ทุกทีทุกที จนกระทั่ง    ปีที่แล้ว 2553 (ค.ศ.2010) ผมใช้คำว่า “เหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิต”มันเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อมาก อะไรหลายอย่างมันก็เลยไปแล้ว ครับ เลยไปแล้วจริง ๆ มีคำที่บางคนชอบเล่น ที่ว่า อะไรหลายอย่างที่มันเกิดขึ้น  มัน “ทุเรศ”แล้วเผลอๆมันอาจจะ“Too late” ไปแล้วก็ได้ เลยไปแล้ว สายไปแล้ว สถานการณ์เลยไปไกล คิดว่าผู้ที่กุมอำนาจรัฐ     ไม่ปรับเปลี่ยน ไม่ปฏิรูป ผมคิดว่าหลายอย่างจะเลวร้ายยิ่งกว่านี้ หลายท่านในที่นี้ ก็คงเล่นเฟสบุ๊ค ใช่ไหม ผมก็ได้ส่งข้อความ    ไปตลอดเวลา ครั้งแล้ว ครั้งเล่าว่า “ถ้าท่านต้องการรักษา สถาบันกษัตริย์และสันติสุข เพื่อชาติ และราษฎรไทย ท่านต้องปฏิรูปกฎหมายหมิ่นมาตรา 112” ผมก็ส่งไป ทั้งที่เป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษว่า “If you want to preserve the monarchy and peace for the nation and the peoples, you must reform the lèse majestélaw article 112”

ผมใช้คำนี้มานาน และก็ยืนยันมาตลอดเวลาว่า ถ้าไม่ปฏิรูปกฎหมายหมิ่นฯ  ผมว่าจะลำบากมากๆ อันนี้ คือ ประเด็นที่ผมว่า ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว อายุก็ 71แล้ว ก็บอกว่าจุดยืน เป็นอย่างนี้ จะได้บอกชัดเจนไปเลยว่า จะเอายังไงกันต่อ ถ้าเราจะหลีกเลี่ยงสิ่งซึ่งเราวิตกกัน หมายความว่าเอาเข้าจริง ก็เกิดการนองเลือดมาแล้วตั้งหลายรอบ หากจะนองมากกว่านี้ จะเอาหรือไม่ ผมไม่ต้องการเห็น นี่เป็นจุดที่เราประกาศไปว่าต้องปฏิรูป          ผมเห็นว่าเราต้องปฏิรูปเยอะแยะเลย แต่เรื่องเฉพาะหน้า ที่เรากำลังเห็นอยู่ตรงนี้ ก็คือการปฏิรูปกฎหมายหมิ่นมาตรา 112  ถ้าเราไม่ต้องการให้Swing(แกว่ง)รุนแรง เราก็ต้องปฏิรูป เราต้องเปลี่ยนแปลง เราต้ต้องหาทางให้มันคลี่คลาย ผมก็เหมือนกับคนจำนวนหนึ่ง ที่นึกถึง “เพลงยาวพยากรณ์อยุธยา”ที่กล่าวถึง “กาลียุค”ความหายนะต่างๆ ผมถูกเชิญไปหลายต่อหลายหน ไปในการอภิปรายแบบนี้ ผมมักจะพูดถึงความน่ากลัว คือ “กาลียุค”(เราจะออกเสียงว่า “กลียุค”)  คือ มันเหมือนกับมีอะไรหลายอย่าง ที่เลวร้าย กำลังเกิดขึ้น ถ้าเราไม่ต้องการให้มันเกิด  เราก็ต้องปรับตัว อันนี้ เราก็ทำได้อย่างนี้ล่ะในฐานะที่เป็นผู้ศึกษา ในฐานะที่เป็นผู้เฝ้ามองดูสังคม ถ้าเราไม่ต้องการให้เกิดเรื่องเลวร้ายขึ้น ก็ต้องปฏิรูป แต่ฟังแล้ว จะเชื่อหรือไม่ก็ตามแต่ ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของนักวิชาการ คือพูดออกมาแล้ว มีคนฟังก็ดี ไม่มีคนฟัง ก็คงช่วยไม่ได้

            ในหนังสือ Imagined Communitiesหรือ “ชุมชน   จินตกรรม” เข้าใจว่ามีอยู่บทหนึ่ง ที่พูดถึง Memory and Forgetting คือเป็นเรื่อง “ความจำ”กับ “การลืม”   ในแง่ประวัติศาสตร์ เราคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ให้เรา“จำ”(อดีต)    แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ประวัติศาสตร์ เป็นทั้งที่ถูกทำให้“ลืม”ด้วย ฉะนั้น มีเรื่องราว เหตุการณ์จำนวนมากเลย ที่ถูกทำให้ “ลืม”    เรื่องเหล่านี้ จง “ลืม”เสียเถิด มีคนบอกว่า ผมชอบไปขุดเรื่องอะไรต่อมิอะไรมา ก็ไม่รู้ ทำไม ก็เพราะว่ามัน “ลืม”ไม่ได้น่ะสิ ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นคนเสื้อสีไหน เป็นเสื้อเหลือง เป็นเสื้อแดง เป็นสลิ่ม อะไรก็ตาม ต่างก็เลือกจำเหมือน ๆ กัน และก็เลือก   ที่จะลืม บางเหตุการณ์ก็ไม่ยอมพูดถึงเลย แต่บางเหตุการณ์ ก็พูดแล้วพูดอีก 

            อย่างเหตุการณ์ ซึ่งผมเชื่อว่าคนจำนวนมากเลย  เขาไม่อยากจะฟัง คือ เรื่องของอาจารย์ปรีดี (พนมยงค์)  ผมก็เอามาพูด  มาเขียนอยู่เรื่อย ๆ อย่างเรื่อง 16 สิงหา (2488หรือ 1945) ซึ่งเป็น “วันประกาศสันติภาพ”แล้วถามว่า 17 สิงหา ปีเดียวกันนั้น เป็นวันอะไร ผมชอบเล่นกับเดือนสิงหา  เพราะเดือนสิงหานี้มันมีอะไรต่อมิอะไรเกิดขึ้นมากมาย วันที่ 6 สิงหา คือ ฮิโรชิม่า แล้วก็วันที่ 9 สิงหา นางาซากิ พอวันที่ 15 สิงหา จักรพรรดิญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม16 สิงหา เพียงวันเดียวต่อมา อาจารย์ปรีดี ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็ประกาศสันติภาพ เพื่อเปลี่ยนสถานการณ์ไม่ให้ประเทศไทย ต้องกลายเป็นฝ่ายแพ้สงคราม 

            17 สิงหา ซูการ์โนประกาศเอกราชอินโดนีเซีย หลาย ๆ เรื่อง มาเป็นกระบวนเลย คุณก็รู้กันดีว่าวันที่16 สิงหา วันสันติภาพ ปัจจุบันนี้ ก็มีคนแก่ ๆ ไปฉลองกันอยู่ที่เขตบึงกุ่ม กทม. ซึ่งเขามีพิพิธภัณฑ์ ที่ผมมักจะสั่งให้นักศึกษาไปดูพิพิธภัณฑ์ และเขียนรายงานเป็นการบ้าน นักศึกษาปีหนึ่งยังไม่ดื้อ  ให้ทำอะไรก็ทำ ปีหนึ่ง ถ้าใจอยากจะเรียนรู้ มันจะเก่งมาก ปีหนึ่งจะสำคัญมาก แต่ปีหนึ่ง มหาวิทยาลัยมักให้คุณไปเรียนวิชาที่น่าเบื่อมาก เช่น พวก “ยำ ๆ ”ทั้งหลาย เช่นอารยธรรม (อายธรรมไทย อารยธรรมตะวันตก หมู่นักศึกษามักเรียกกันว่า “ยำไทย”“ยำตก”ฯลฯ)    ไกลตัว เรียนแล้วก็ไม่รู้เรื่อง

            แต่ว่าชั้นปีที่หนึ่งนี่ สำคัญมาก สิ่งที่ผมชอบให้นักศึกษาทำ ก็คือบังคับให้เด็กไปพิพิธภัณฑ์ บังคับเลย เพราะเผลอ ๆ ถ้าเผื่อนะ คุณมาเรียนมหาวิทยาลัย 4 ปี ถ้าคุณไม่ได้เข้าพิพิธภัณฑ์เลย ชาตินี้อาจจะไม่ได้เข้าทั้งชาติเลย มันสำคัญมาก รวมความแล้ว  ต้องบังคับให้เด็กเข้าพิพิธภัณฑ์ เขตบึงกุ่ม กทม. นี่ เป็นพิพิธพันธ์เรื่องเสรีไทย ทำไว้ดีมาก แต่ไม่มีใครไปดู พิพิธภัณฑ์บ้านเรา     ทำไว้แล้วก็ปิด อย่างเชียงใหม่ก็มีเยอะไม่ใช่หรือ ลองไปดู ทำไมไม่ลองไปดู คนที่เป็นอาจารย์อยู่นี่ ลองบังคับเด็กให้ไป แล้วให้เขียนรายงาน ให้วิพากษ์วิจารณ์ จะดีมาก แล้วเด็กคนนี้จะฉลาด ๆ ลองดูสิ

เมื่อสองสามวันก่อน มีบทความของคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เรื่องการอ่าน จำได้ไหม แกเขียนว่า คุณเคยถูกครูดุ ว่าไม่ให้อ่านหนังสือเล่มนี้ ไม่ให้อ่านเล่มนั้นหรือเปล่า แล้วคุณก็ไปแอบอ่าน  คุณเคยถูกแม่ว่า ให้ปิดไฟนอน แล้วคุณก็คลุมโปง แล้วแอบอ่าน คุณเคยไหม คือทำในสิ่งที่เขาบอกว่าไม่ให้ทำ แล้วคุณทำนั่นแหละ แล้วคุณจะเป็นนักอ่านที่ดี 

            ผมจำได้ว่าผมถูกดุนะ ผมต้องการอ่านเรื่องซูสีไทเฮา  ของอาจารย์คึกฤทธิ์ คือผมเป็นคนที่ชอบอาจารย์คึกฤทธิ์มาก    สมัยเรียนหนังสือ ผมเปลี่ยนค่ายจากการอ่านเสือใบ เสือดำ ของ ป. อินทรปาลิต พล นิกร กิมหงวน ตอนอยู่บ้านนอก อยู่บ้านโป่ง (ราชบุรี) ผมก็อ่าน ป. อินทรปาลิต พอเข้ามาชุบตัวในกรุงเทพฯ ผมก็อ่านต่อ จำได้ว่าตอนนั้นชอบอาจารย์คึกฤทธิ์มาก เอา “ซูสีไทเฮา”มานอนด้วย คุณป้าที่เลี้ยงดูผมในกรุงเทพฯ      เป็นครูโรงเรียนราชินี คุณนึกดู โรงเรียนราชินี ดุชิบเป๋งเลย      สอนให้เป็นผู้ดี เราก็ถูกดุ เราเข้ามาอยู่ในกรุง ห้ามพูดคำว่า “เขา”อย่างนี้ เป็นต้น ต้องพูดว่า“เค้า”เพราะคำว่า “เขา”มันเหน่อ     มันเชย ก็ถูกดุใช่ไหม 

            ผมก็คลุมโปง เอาไฟฉายส่อง แล้วอ่าน “ซูสีไทเฮา”        มีความสุขมาก มันจริง ๆ ก็ทีนี้บอกว่าหลักเกณฑ์ในการอ่าน      คือ อ่านเรื่องที่เราชอบ พอเราเริ่มติด มันก็ไปเรื่อย ๆ ไม่รู้นะ      ผมก็ไม่รู้ เมื่อนึกกลับไปตอนที่เราอ่าน เราไม่ได้คิดว่าเรา   เป็นนักอ่าน เออ เคยดูหนังเรื่องที่นางเอก (Kate Winslet) เป็นนาซี แล้วพระเอกต้องอ่านหนังสือให้นางเอกฟังไหม เรื่อง The Readerเป็นหนังที่ดี โป๊เป็นบ้าเลย เรื่องมันไม่น่าเชื่อนะ ตอนท้ายต้อง    ไม่เล่า ตอนท้ายมันจบยังไง คือนางเอกเป็นนาซี พระเอก          เป็นเด็กหนุ่ม พระเอกอ่านหนังสือให้นางเอกฟัง นางเอก คือคนที่เล่นเรื่อง Titanicผมชอบมากดาราคนนี้ ต้องไปดูนะครับ เรื่องนี้มันเป็นเรื่องของการอ่านหนังสือคลาสสิก ไปดูก็แล้วกัน สรุป ก็ต้องอ่านเรื่องที่เราชอบ ผมคิดว่าผมไม่มีหลักอะไร ผมมีหนังสือพลนิกร กิมหงวน เยอะมาก ผมมีเสือดำ เสือใบ    เยอะมาก เสือฝ้าย เสือมเหศวร ของ ป. อินทรปาลิต มีไว้เยอะมาก แล้วไม่โดนน้ำท่วมด้วย รอดน้ำท่วม โชคดีเป็นบ้าเลย 

อันนี้เป็นของที่เก็บเอาไว้ มันซึมเข้าไปโดยไม่รู้ตัว   ก็กลับไปที่ว่า อ่านเรื่องที่เราชอบ อะไรก็ได้นะอ่าน ๆ ไป เหมือนกับภาษาอังกฤษ หรือภาษาอะไรก็ตาม พูดผิดพูดถูก พูดไปเลย มันไม่ใช่ภาษาของเรา พูดผิดยิ่งดีใหญ่เลย ฝรั่งมันแก้ให้เรานะ ยังไงคุณก็ไม่ได้ไปเรียนอีตัน (Eton) ชาตินี้ทั้งชาติ ก็ไม่มีทางได้ไป อายุขนาดนี้แล้ว หรืออ๊อกซ์ฟอร์ด (Oxford)ก็ไม่มีทางได้ไป ดังนั้น พูดไปเลย พูดผิด ๆ นี่แหละดี 


Latest Story

ไปให้พ้นจากการจ้องจับผิด: การเมืองของการเสพติด สู่ปัญหา “ปีศาจนักสูบ” แห่งมช.

ทำไมคนเราถึงสูบบุหรี่ ?…. ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน.. ที่แน่ ๆ คนสูบบุหรี่คงโดนถามคำถามนี้บ่อยครั้ง แต่อันที่จริงใครสักคนจะสูบบุหรี่เพราะอะไรก็คงจะมีแรงจูงใจหลายอย่างตามอัตวิสัยของแต่ละคน บางคนอาจจะชอบประสบการณ์เวลาตัวเองสูบ สูบเพื่อผ่อนคลาย เสริมสร้างจินตนาการบางห้วงขณะ หรือมันอาจจะไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลอะไรก็ได้ ก็แค่อยากสูบ อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนอยากชวนให้ทุกคนลองพิจารณาดูก็คือ เรื่อง “ภาพจำของคนสูบบุหรี่ในสังคม” คุณคิดว่าสังคมไทย ๆ มีภาพจำกับคนสูบบุหรี่แบบไหน ?