เล่าภาพความทรงจำ รำลึกถึงอาจารย์นิธิ

เล่าภาพความทรงจำ รำลึกถึงอาจารย์นิธิ จัดขึ้นในวันที่ 26 สิงหาคม จัดร่วมกับ คณะละครมะขามป้อม ที่ Book Re:public เพื่อร่วมถ่ายทอดเรื่องเล่าความทรงจำ การเดินทาง และความประทับใจที่เพื่อนๆรอบข้างมีต่ออ.นิธิ

“เล่าภาพความทรงจำ รำลึกถึงอาจารย์นิธิ” งานนี้เกิดขึ้นด้วยความระลึกถึงการจากไปของอาจารย์นิธิในวัย 83 ปี ซึ่งช่วงเวลาก่อนหน้านี้อาจารย์นิธิ เป็นหนึ่งใน “เพื่อน” คนสำคัญของพวกเรา Book Re:public และเป็นทั้งอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ไทยที่ไม่ถือตัวแต่อย่างใด พร้อมที่จะคอยแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับคนรอบข้าง อีกด้านหนึ่ง อาจารย์คือผู้ฟังที่ดี คอยรับฟังเรื่องราวของคนรุ่นใหม่ และตั้งคำถามที่น่าสนใจเพื่อสร้างบทสนากับคนรอบข้างเสมอ ซึ่งเป็นด้านที่น้อยคนจะได้รู้จักหรือนึกถึง

พวกเราทีมงานต่างแซวกันเล่นๆ ว่า ‘ถ้าหากอาจารย์นิธิรู้ว่าจัดงานระลึกถึงแกกันเยอะแยะมากมายขนาดนี้ อาจารย์คงต้องบ่นพวกเราแน่ๆ’ พวกเรา Book Re:public และ คณะมะขามป้อมจึงได้ชวนกันออกแบบอีเว้นท์ครั้งนี้ให้ไม่เป็นเวทีวิชาการที่ดูเป็นทางการ แต่อยากเป็นเหมือนสวนหลังบ้านที่มีความเป็นกันเอง และพวกเราอยากถ่ายทอดมุมมองที่น่ารัก อบอุ่นของอาจารย์นิธิ ที่ไม่ได้มีเพียงมุมของนักวิชาการผู้เคร่งครึมเพียงอย่างเดียวให้ทุกๆคนได้รู้จัก ผ่านมุมมองเรื่องเล่าความทรงจำคนรอบข้าง ในฐานะที่คนธรรมดามีความรู้สึก “คิดถึง” กัน

โดยในงานเราได้แบ่งช่วงรายการต่างๆ โดยร้อยเรียงจากประสบการณ์และความทรงจำของคนรอบข้างว่าเรานึกถึงอาจารย์นิธิในมุมมองไหนกันบ้าง 

ช่วงแรกของงานเปิดด้วยการแสดง “บูโต” (Butoh) จากกอล์ฟมะขามป้อม ที่ร้อยเรียงเอาความทรงจำของศิลปินที่มีต่ออาจารย์ฯ ออกมาเป็นการแสดงชุดนี้ 

ซึ่งศิลปินมีความทรงจำเกี่ยวกับอาจารย์นิธิที่มักจะเห็นอาจารย์ตะเวนไปดูงานศิลปะ และศิลปะการแสดง (performance art) อยู่บ่อยครั้ง และอาจารย์นิธิเองมักจะพูดอยู่เสมอต่อประเด็นเรื่องศิลปะนั้นมีพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลง และทำให้ผู้ชมได้มีพื้นที่ในการตีความ และวิพากษ์ได้ อาจารย์จึงเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้กับ กอล์ฟและคนรุ่นใหม่ในเชียงใหม่ที่ทำงานศิลปะอยู่ในเวลาปัจจุบันเป็นอย่างมาก

ถัดมาเป็นการพูดคุย เล่าเรื่องการเดินจากพื่อนร่วมเดินทางกับอาจารย์นิธิ โดยมี สุรพงษ์ ศรีพรม, โกวิต ปวงเหมือง, ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี และ คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ซึ่งทั้งสี่ท่านนี้เปรียบเเหมือนมิตรภาพที่เป็นทั้งเพื่อนร่วมเดินทางท่องโลกกว้างไปด้วยกัน, เพื่อนร่วมงาน,และลูกศิษย์-อาจารย์

นอกจากนี้แขกผู้เข้าร่วมงานในวันนี้ต่างได้ร่วมแลกเปลี่ยนเล่าเรื่องความทรงจำที่มีต่ออาจารย์ในหลากหลายแง่มุม เต็มไปด้วยความรู้สึก สนุกสนานและอบอุ่นไปพร้อมกัน

การแสดงสุดท้ายของงานวันนี้ “รักเอย” เรื่องราวความรักของสามัญชนของ “ป้าอุ๊”(รสมาลิน ตั้งนพกุล) ที่เขียนบันทึกถึง “อาปอ” ถ่ายทอดออกมาเป็นบทละครโดย “ดาว” มะขามป้อม ด้วยความเรียบง่าย แต่กลับพาผู้ชมค่อยๆ เผชิญหน้ากับความเศร้าของเรื่องราวความรักสามัญที่ไม่สามารถโทษเรื่องชะตาฟ้าลิขิตได้ หนึ่งในการแสดงที่อาจารย์นิธิประทับใจและชื่นชอบ ได้ถ่ายทอดอีกครั้งในงานนี้

ก่อนงานเลี้ยงจะเลิกลา เรามีอาหารจานพิเศษ” ก๋ยวเตี๋ยวเส้นเล็กน้ำพริกน้ำย้อย” ฝีมือ’พี่ดา’ สุชาดา จักรพิสุทธิ์ ซึ่งเป็นเมนูโปรดของอาจารย์นิธิ ที่มีเพียงพี่ดาเท่านั้นที่ปรุงรสออกมาได้อร่อยถูกปาก นับว่าเป็นส่วนประกอบสำคัญของงานที่สร้างความประทับใจให้กับทุกคน เมื่อได้ฟังเรื่องราวเบื้องหลังของเมนูจานนี้

ภายในงานเราได้คัดเอาภาพถ่ายส่วนตัวของอาจารย์นิธิ ที่น้อยคนนักจะได้เห็นภาพในอดีตของอาจารย์มาจัดแสดงพร้อมกับมุมหนังสือเล่มสำคัญที่พวกเรา Book Re:public อยากแนะนำให้ทุกท่านได้อ่าน และยังมีภาพถ่ายจากทริปการเดินทางต่างๆ ทั้ง พม่า, อินโดนีเซีย, และ เวียดนาม ของอาจารย์นิธิและเพื่อนๆ มาจัดแสดงให้แขกผู้ร่วมงานได้ชม ซึ่งบางส่วนของภาพถ่ายที่นำมาแสดงมีเรื่องเล่าสนุกๆ แฝงรอยยิ้มอยู่หลายเรื่อง สามารถติดตามอ่านได้ที่เพจ คิดถึงอาจารย์นิธิ 

Latest Story

ไปให้พ้นจากการจ้องจับผิด: การเมืองของการเสพติด สู่ปัญหา “ปีศาจนักสูบ” แห่งมช.

ทำไมคนเราถึงสูบบุหรี่ ?…. ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน.. ที่แน่ ๆ คนสูบบุหรี่คงโดนถามคำถามนี้บ่อยครั้ง แต่อันที่จริงใครสักคนจะสูบบุหรี่เพราะอะไรก็คงจะมีแรงจูงใจหลายอย่างตามอัตวิสัยของแต่ละคน บางคนอาจจะชอบประสบการณ์เวลาตัวเองสูบ สูบเพื่อผ่อนคลาย เสริมสร้างจินตนาการบางห้วงขณะ หรือมันอาจจะไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลอะไรก็ได้ ก็แค่อยากสูบ อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนอยากชวนให้ทุกคนลองพิจารณาดูก็คือ เรื่อง “ภาพจำของคนสูบบุหรี่ในสังคม” คุณคิดว่าสังคมไทย ๆ มีภาพจำกับคนสูบบุหรี่แบบไหน ?