กฎหมายรัฐธรรมนูญกับประชาธิปไตยไทย


โดย พวงทอง ภวัครพันธุ์

คำอภิปรายใน เวทีสาธารณะ ซึ่งจัดโดย Book Re:public ร่วมกับภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่10 มีนาคม 2555 ณ ห้องประชุมชั้น 2คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีวิทยากรประกอบไปด้วย รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์,รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล,รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ และมี           ผศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

สวัสดีค่ะ ดิฉันมาในฐานะที่เข้าร่วมกับคณะกรรมการรณรงค์การแก้ไขมาตรา112 (ครก.112) หัวข้อในวันนี้คือรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย แต่ที่อยากจะพูดในวันนี้ ดิฉันอยากพูดในเรื่องกฎหมายกับความยุติธรรม อยากจะเริ่มที่ว่าความยุติธรรมสำคัญอย่างไร แล้วจะโยงไปสู่กระแสของการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างไร กฎหมายนี้เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมอย่างไร หรือทำให้รู้สึกว่ามันไม่มีความยุติรรมในสังคมนี้อย่างไรดิฉันคิดว่ารูปแบบของสังคมในทุกยุคทุกสมัยนั้นเปลี่ยนแปลงไปได้ ซึ่งรวมถึงรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่จะต้องมีไม่ว่าจะเป็นการปกครองใด ก็คือเนื้อหากฎหมายจะต้องสร้างความรู้สึกให้คนในสังคมรู้สึกว่ามีความยุติธรรมในกฎหมายนั้น ในการสร้างความรู้สึกนั้น ผู้ปกครองอาจทำให้ผู้ถูกปกครองยอมรับในชะตากรรมของตัวเองที่เกิดมาเป็นทาส ไพร่ คนยากจน มองว่ามันเป็นเรื่องบุญทำกรรมแต่ง เป็นเรื่องของวาสนา  ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ ถ้าผู้ที่กำหนดกฎหมายขึ้นมาทำให้ผู้คนยอมรับที่จะอยู่ภายใต้กฎหมายนั้นได้ ทำให้เขายอมรับว่ายุติธรรมแล้ว  

สิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้ปกครองในสังคมสามารถที่จะรักษาระเบียบและอำนาจของตนไว้ได้ ทำให้สังคมเดินหน้าไปได้ตามที่เขาปรารถนา แต่เมื่อไหร่ก็ตาม ถ้ากฎหมายที่มีอยู่ทำให้คนในสังคมรู้สึกว่ามันเลือกปฏิบัติ และไม่สามารถยอมรับคุณค่าที่มันสั่งสมมาได้ มันก็จะถูกท้าทายมากขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ถูกแทนที่ด้วยแนวคิดเรื่องความยุติธรรมใหม่ เพื่อมาแทนที่อันเก่า ดิฉันคิดว่าสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือการสร้างให้คนในสังคมยอมรับได้ ถึงระเบียบที่เป็นอยู่ในสังคม  สิ่งที่เราเห็นก็คือว่า ในสังคมไทยในหลายปีที่ผ่านมา อย่างน้อยก็ในภายหลังการรัฐประหาร 2549 เกิดการปะทะของแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยและความยุติธรรมสองชุดขึ้นมา

แนวคิดเรื่องประชาธิปไตยและความยุติธรรมในสังคมแต่ละยุคสมัยสามารถเปลี่ยนแปลงได้ และยังแตกต่างกันไปตามสังคมและรูปแบบการปกครองที่แตกต่างกัน อาจารย์สมชายก็บอกว่าขึ้นอยู่กับการต่อสู้ช่วงชิงในแต่ละยุคสมัย ที่จะเป็นตัวกำหนดว่าสังคมจะมีรูปแบบประชาธิปไตยอย่างไร  ในอดีตนั้น เราจะเห็นว่าความยุติธรรม หรือแม้กระทั่งประชาธิปไตยที่มาจากตะวันตกก็ไม่ได้มีหน้ามีตาแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ มันก็ค่อย ๆ พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งก็เป็นผลจากการต่อสู้เรื่องสิทธิและเสรีภาพของผู้คนในสังคมนั้น ๆ ในอดีตคนที่จะมีสิทธิที่จะออกเสียงเลือกตั้งได้ต้องเป็นชนชั้นปกครอง คนที่มีทรัพย์สิน เพราะคนเหล่านี้เขาถือว่าตนมีผลประโยชน์ จึงพยายามรักษาสิทธิที่จะกำหนดแนวทางการปกครอง อันจะมีผลกระทบต่อทรัพย์สินของเขา ส่วนคนที่เป็นทาสไพร่นั้นไม่มีสิทธิในการเลือกตั้ง ผู้ชายก็มีสิทธิก่อนผู้หญิง สิทธิเลือกตั้งของผู้หญิงเพิ่งจะเกิดขึ้น ในอดีตคนผิวขาวมีสิทธิมากกว่าคนผิวดำ แต่ว่าสิ่งเหล่านี้ก็เปลี่ยนไปในประเทศตะวันตก

ในกรณีของไทย รูปแบบการปกครองและความยุติธรรมทางการเมืองก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผู้ที่จะเป็นผู้ปกครอง สามารถตัดสินชะตากรรมต่างๆ ของประชาชน ส่วนใหญ่มีแต่พวกเจ้า ชนชั้นสูง ขุนนาง หรือนายทุนคนจีนที่ทำธุรกิจกับเจ้าและขุนนาง ที่สามารถสร้างความมั่งคั่งให้แก่กันได้ คนเหล่านี้จะเป็นผู้ที่มีอำนาจกำหนดความเป็นไปของสังคม ส่วนไพร่และทาสไม่มีสิทธิ ระบบแบบนี้ดำรงอยู่มาหลายร้อยปี แต่ก็ถูกท้าทายและทำลายไปในที่สุด ในส่วนของไทย การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดยคณะราษฎร์ได้ท้าทายทำลายระบบผูกขาดทางการเมืองของเจ้าและขุนนาง หลัง 2475 ความยุติธรรมและแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยก็มีการปรับเปลี่ยนต่อสู้กันมาตลอด ปัจจุบันเรามีสิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ”ซึ่งครอบงำสังคมไทย ซึ่งดิฉันก็ได้ยินเรื่องประชาธิปไตยแบบไทย ๆ มานานมาก อย่างน้อยก็ตั้งแต่ดิฉันเรียนที่ธรรมศาสตร์  มันก็อยู่ในสังคมไทยมาอย่างน้อย30 ปีแล้ว 

แนวคิดเรื่องนี้ “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” คืออะไร ก็คือมีรัฐสภา มีการเลือกตั้ง แต่รัฐประหารได้เมื่อมีความจำเป็น โดยรัฐประหารสามารถเป็นแนวทางที่ล้มล้างนักการเมืองชั่ว และอนุญาตให้สิ่งที่อยู่นอกเหนือกลไกของรัฐธรรมนูญและรัฐสภามีที่ทางของมันได้ ในแง่นี้คำอธิบายเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหาร จึงวางอยู่บนคำอธิบายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความดี และความยุติธรรมด้วย   กล่าวคือนักการเมืองโกงกินคอรัปชั่น นักการเมืองเป็นสิ่งที่ชั่วร้าย ดังนั้นบางช่วงเวลา สังคมจำเป็นต้องอาศัยข้อยกเว้นบางประการ อาจจะอาศัยคนเข้ามาทำการรัฐประหาร และการรัฐประหารเองเข้ามาล้มล้างความชั่ว แล้วตั้งระบบที่มีคุณธรรมขึ้นมาแทน ฉะนั้นรัฐประหารแม้จะเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายละเมิดรัฐธรรมนูญ แต่ก็สมน้ำสมเนื้อกับความชั่วที่ดำรงอยู่ ในแง่นี้มันก็ยุติธรรมดี  ก็คือเอาความรุนแรงนอกกฎหมายมาจัดการกับความชั่วที่อยู่ในระบอบ คล้ายกับเวลาที่เราดูหนังเรื่องโรบินฮู้ด 

นี่คือคำอธิบายเพื่อปกป้องการรัฐประหาร ในการเมืองไทย คุณก็รู้สึกว่าคนที่มารัฐประหารคือคนขี่ม้าขาว ที่จะมาช่วยสร้างความยุติธรรมให้กับสังคม แต่ปัญหาก็คือ คนที่เกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังมาแล้วไม่ค่อยยอมไป เวลาแบ่งปันผลประโยชน์ ก็ไม่ใช่ คนจนที่จะได้ แต่จะแบ่งอยู่ในกลุ่มคนที่ร่วมมือกันสนับสนุนการรัฐประหาร

ในแง่นี้แนวคิดที่อนุญาตให้พลังนอกกฎหมายละเมิดรัฐธรรมนูญอันเป็นสาระสำคัญของประชาธิปไตยแบบไทยๆ  ยังเกี่ยวข้องกับการตัดสินคดีความทั้งในระดับการเมืองและระดับปัจเจกชนด้วย กล่าวคือถ้าเป็นคนที่สังคมเห็นว่าเป็นคนดี มีศีลธรรมกระทำการที่ผิดกฎหมาย ก็สามารถได้รับการยกเว้นไม่ต้องรับโทษตามกฎหมายได้ อย่างเช่นกรณีเขายายเที่ยง เพราะถือว่าผู้ที่กระทำความผิดมีคุณงามความดีซึ่งเห็นชัดเจนและสังคมยอมรับ แต่ถ้าคุณเป็นคนธรรมดาไม่มีการศึกษาไม่มีเส้นสาย เป็นคนแก่ที่ใครๆ เรียกว่า “อากง” ซึ่งถูกกล่าวหาว่าส่ง SMS 4 ชิ้น โดยเราไม่รู้ว่าข้อความนั้นคืออะไร พยานหลักฐานมีปัญหา ผิดกฎหมายจริงหรือไม่ ไม่รู้ว่าเป็นอันตรายต่อความมั่นคงอย่างไร คุณก็สามารถติดคุก 20 ปีได้ 

นอกจากนี้มีผู้ที่ออกมาคัดค้านโจมตีการแก้ไขมาตรา112 ซึ่งคณะ “ครก.112” กำลังผลักดันอยู่นี้  เขามักอ้างว่าในหลวงท่านทรงมีพระมหากรุณาธิคุณกับประเทศอย่างมหาศาล ดังนั้นจะไปอ้างหลักการสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชนแบบตะวันตกมาแก้มาตรา 112 ไม่ได้ เพราะสังคมไทยเรายึดความดีมากกว่าหลักการและสิทธิใดๆ ทั้งสิ้น จะเห็นได้ว่าการดำเนินการทางกฎหมายของไทยทั้งในระดับการเมือง และในระดับบุคคล มันไม่ได้ถูกใช้อย่างเท่าเทียมมานานแล้ว และมีการใช้เหตุผลเรื่องความดีมาอธิบายปกป้องความไม่เท่าเทียมกันนี้ และความไม่ยุติธรรมมาโดยตลอด ในแง่นี้ สำหรับสังคมไทย ความดีสำคัญกว่าประชาธิปไตย สำคัญกว่าความเท่าเทียมกัน

แต่แนวคิดประชาธิปไตยแบบไทยๆ นับวันก็ยิ่งถูกท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ ความคิดที่ว่าประชาธิปไตย เป็นเรื่องที่ทุกคนมีสิทธิมีเสียงเท่าๆ กัน ความคิดที่ว่าชนชั้นหรือชาติพันธุ์ไม่มีผลต่อการกำหนดสิทธิในทางการเมือง  กำลังเติบโตมากขึ้น ขยายตัวมากขึ้น เราได้ยินเรื่องไพร่กับอำมาตย์ ก็คือการท้าทายต่อระบบนั่นเอง ไพร่เรียกร้องการมีสถานะที่เท่าเทียมกัน คนจนเท่ากับคนรวย คนชนบทเท่ากับคนเมือง ไพร่เท่ากับอำมาตย์ ถ้าน้อยไปกว่านี้ถือว่าไม่ยุติธรรม คือแนวคิดใหม่ที่ขยายตัวมากขึ้น แล้วก็ห้ามไม่ได้ หยุดไม่ได้อีกต่อไป 

แนวคิดประชาธิปไตยที่ทุกคนเท่าเทียมกันเป็นความยุติธรรมอันหนึ่งที่กำลังเติบโตมากยิ่งขึ้น ซึ่งดิฉันกำลังมองว่าการเติบโตของแนวคิดประชาธิปไตยที่ทุกคนเท่าเทียมกันจริงๆ แล้วมันเป็นผลพวงของการปฏิบัติการของ “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ที่กระทำกันมาเป็นชุดนั่นเอง นับตั้งแต่การรัฐประหาร 2549เป็นต้นมา ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่กระทำมาหลังรัฐประหาร เช่น ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ยุบพรรคการเมืองที่ประชาชนส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน ล้มรัฐบาลด้วยวิธีทางตุลาการภิวัตน์ ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ปรากฏการณ์ผ้าพันคอสีฟ้า ปรากฏการณ์พันธมิตร ปรากฏการณ์ปราบปรามการชุมนุมเสื้อแดงที่เกิดขึ้นในปี 2553 คดีความที่เกี่ยวข้องกับมาตรา112 ที่ทะยานขึ้นหลายร้อยคดีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่ยืนอยู่ในค่ายของคนเสื้อแดง ทำให้คนเสื้อแดงรู้สึกว่าตัวเองเป็นลูกเมียน้อย ปรากฏการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ สร้างความรู้สึกที่ไม่สามารถยอมรับความยุติธรรมแบบไทยๆ แบบเก่าๆ ได้อีกต่อไป และส่งผลให้เกิด “ภาวะตาสว่าง” ในที่สุด 

ภาวะตาสว่างที่เกิดขึ้นกับคนเสื้อแดงนั้น ไม่ได้เกิดจากเหตุการณ์เดียวที่ทำให้คนทั้งประเทศตาสว่างรู้มากขึ้น แต่เป็นผลของเหตุการณ์หลายอย่างที่ต่อเนื่องกันมานับแต่รัฐประหาร 2549 ที่ค่อย ๆ ทำให้ประชาชนเกิดความกระจ่างทางการเมืองมากขึ้น ๆ รู้ถึงโครงสร้างทางอำนาจที่ไม่ยุติธรรมในขณะนี้ กล่าวได้ว่าประชาชนคนไทยไม่มีทางที่จะเหมือนเดิมอีกต่อไป ไม่มีทางที่เราจะบอกให้เขากลับบ้านไปนอนแล้วลืมเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ไม่มีวันอีกต่อไปแล้ว มันเป็นผลจากความคับแค้นใจต่อความยุติธรรมที่เกิดขึ้น 

สิ่งเหล่านี้ชัดเจนมากเมื่อคณะนิติราษฎร์ได้เสนอร่างแก้ไขมาตรา112 และคณะครก.112 ที่ประกอบด้วยนักวิชาการ นักเขียน และกลุ่มที่รวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมเพื่อสังคม รวมตัวกันเพื่อที่จะรวบรวมรายชื่อให้ได้อย่างน้อย10,000ชื่อ เราพบว่าในระหว่างที่เราเริ่มประกาศเปิดตัว ครก.112 เมื่อวันที่ 15 มกราคม ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราได้รับรู้ถึงความตื่นตัว ความกระตือรือร้นของประชาชนที่จะร่วมเสนอชื่อกับเรา บางท่านรับเอกสารไปห้าสิบฉบับ ร้อยฉบับ แล้วก็ส่งต่อกันไป  แม้กระทั่งเมื่อ นปช. และพรรคเพื่อไทยบอกว่า เขาไม่เกี่ยวข้องกับ ครก.112 ไม่เกี่ยวข้องกับนิติราษฎร์ มีนักการเมืองพูดในลักษณะที่โจมตีการพยายามแก้ไขมาตรา112 อย่างรุนแรง ซึ่งก็ชัดเจนดี แต่สิ่งที่เราได้เห็นจากประชาชนทั่วไป มันไม่มีผลเลยกับประชาชนที่สนับสนุนการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112  เราได้รับการติดต่อจากประชาชนหลายกลุ่มจากภาคอีสาน เหนือ ภาคตะวันตก แล้วก็ภาคใต้ตอนบน เขาบอกว่ายินดีที่จะช่วยเหลือในการระดมรายชื่อของ ครก. 112 ต่อไป เขาไม่สนใจแกนนำ นปช. ด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในสังคมไทย ที่ไม่ใช่แค่ว่าประชาชนเสื้อแดงมีจำนวนมากขึ้น แต่ว่ายิ่งนานไปคนเสื้อแดงก็จะมีความเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ภาวะตาสว่างทำให้เขารู้ว่าตัวเองต้องการอะไร  รู้ว่าจะเดินไปทางไหน หมายความว่าคนเสื้อแดงจะไม่หลับหูหับตาเดินตามผู้นำอีกต่อไปแล้ว นี่เป็นปรากฏการณ์ที่น่าตื่นเต้นมาก ที่ประชาชนมีความเป็นตัวของตัวเองสูงขนาดนี้ และเข้าใจการเมืองที่ชัดเจนว่าตนเองต้องการอะไร

เมื่อวานนี้ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการอภิปรายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และประชาธิปไตย ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการจากต่างประเทศ นักการทูตจากต่างประเทศมากันเป็นสิบ นักข่าวจากต่างชาติ คำถามที่เขาถามคือ องค์กรของคนเสื้อแดงคืออะไร เขาอยากได้คำอธิบายที่เป็นหนึ่งเดียว อาจารย์ปิ่นแก้วก็พยายามอธิบายให้เข้าใจ คนที่ไม่ได้มาสัมผัสจะไม่เข้าใจว่าคนเสื้อแดงนี่มีความหลากหลายสูงมาก และมีความชัดเจนในทางการเมืองมากพอสมควรว่าเขาต้องการอะไร นี่เป็นสิ่งที่ ครก. 112 ได้เรียนรู้จากคนเสื้อแดง การสนับสนุนที่ประชาชนให้ครก.112 นี้มาจากความต้องการที่จะเห็นทุกสถาบันอยู่ภายใต้ระบบกฎหมายที่ยุติธรรม อย่างเท่าเทียมกัน อย่างเสมอภาคกัน

นอกจากนี้ปรากฏการณ์นี้ยังชี้ให้เห็นว่า ประชาชนส่วนมากซึ่งในอดีตเคยกลัวมาตรา 112 เป็นอย่างมาก ขณะนี้เรากำลังก้าวข้ามความกลัวนั้นและเราไม่ต้องการให้กฎหมายมาตรา 112 นี้เป็นกฎหมายที่สร้างความกลัวให้ประชาชนอีกต่อไป ถึงยุคที่พอกันทีที่จะปล่อยให้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ถูกใช้ทำร้ายกันและกัน และเป็นกฎหมายที่สร้างความกลัวให้กับคนในสังคม อย่างไรก็ตามแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นว่ามีกระแสการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับมาตรา112 อย่างมากมาย ทั้งนักวิชาการภายในประเทศ คณะนิติราษฎร์ก็ตาม รวมถึงนักวิชาการจำนวนมากซึ่งวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทักษิณมาโดยตลอด แต่ในวันนี้ก็ตระหนักเห็นถึงปัญหาของมาตรา 112 ก็ร่วมลงชื่อในร่างนี้กับเรา 

แต่ก็เป็นที่น่าสนใจว่าเสียงที่ดังขึ้นนี้ เรากลับไม่ได้เห็นการพยายามรับฟัง รับรู้จากฝ่ายชนชั้นนำเลย เรารู้ดีว่ากรณีของอากงได้ยื่นประกันตนถึง 8 ครั้ง โดยล่าสุดมีนักวิชาการ 7 คนร่วมกันยื่นประกัน ทั้งๆ ที่ข่าวของอากงเป็นข่าวที่ถูกตีไปทั่วโลก มีนักวิชาการจากทั่วโลก หลังสุดก็มีนักวิชาการ 224 ท่าน ที่เข้าร่วมลงชื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวครก. 112   กรณีอากงทำให้สถานทูตต่างๆ องค์กรระหว่างประเทศ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเอเชีย สหภาพยุโรปได้ทำจดหมายถึงรัฐบาล เรียกร้องให้เห็นถึงปัญหามาตรา 112 แต่กลับไม่มีหรือไม่เห็นสัญญาณว่าชนชั้นนำ และผู้มีอำนาจจะรับฟังเสียงเหล่านี้เลย หรือแม้กระทั่งกรณีคุณโจ กอร์ดอน ที่เราทราบกันดีว่าเขามีสัญชาติอเมริกัน โดยปกติที่ผ่านมาเราจะเห็นกันว่าในกรณีของคนต่างชาติเมื่อโดนมาตรา 112 เมื่อมีการยอมรับสารภาพและตัดสินลงโทษ ก็จะมีการขอพระราชทานอภัยโทษ และมีการดำเนินการอย่างรวดเร็ว แต่ในกรณีนี้ไม่มี นี่คือสัญญาณของการไม่รับฟังเสียงใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียใจ ส่วนตัวดิฉันเคยหวังว่า การเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์มาตรา112 มากขึ้น จะนำไปสู่ความยืดหยุ่นให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรา112  มากขึ้น ได้รับการผ่อนทุกข์จากหนักเป็นเบา แต่เราก็ไม่เห็นอะไรเลย แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป 

กรณี ม.112 ดิฉันเห็นด้วยกับอาจารย์สมชายว่ามันไม่มีสงครามครั้งสุดท้าย ดิฉันคิดว่าพวกเราเอง ต้องมองว่าการเรียกให้แก้ไขมาตรา 112นั้น ถึงแม้จะยังไม่สามารถสำเร็จได้ในเร็ววันก็ตาม เพราะเราเข้าใจดีว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางความคิด วัฒนธรรม เพราะว่ามันอยู่ในสังคมมานาน สำหรับพวกเรา ยังคงมีความหวัง และเราก็ทำไปเรื่อย ๆ ในลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป การรวบรวมรายชื่อ 10,000 ชื่อ เป็นแค่ขั้นแรกเท่านั้น ที่จะทำให้สังคมมีความเข้าใจและตื่นตัวมากขึ้น ฉะนั้นหลายท่านอาจจะคิดว่ายื่นไปรัฐสภาก็คงไม่ได้รับการพิจารณา ไม่มีทางที่จะได้รับการพิจารณาให้เป็นกฎหมายได้ แล้วเราจะทำไปทำไม ดิฉันอยากจะเรียนว่า นี่เป็นขั้นหนึ่งเท่านั้นเอง ซึ่งยังมีอีกหลายขั้นที่เรายังคงต้องดำเนินการต่อไป อยากให้คนที่มีอำนาจได้ตื่นตัว ได้เห็นว่าประชาชน คนทั่วไปได้ตระหนักถึงปัญหานี้เป็นจำนวนมาก การปล่อยให้มาตรา 112 ดำรงอยู่โดยที่ไม่ได้แก้ไขอะไร ไม่ได้เป็นผลดีต่อความมั่นคงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือต่อหลักการประชาธิปไตยใดๆ ทั้งสิ้น 

เราหวังว่าการยื่นเพื่อแก้ไขมาตรา112 ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนี้ เมื่อได้รายชื่อครบ ก็จะเป็นการยืนยันว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยในสังคมนี้ ต้องการให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายซึ่งมีปัญหา นี่เป็นประวัติศาสตร์ที่ต้องจารึกว่าสำนึกในเรื่องความยุติธรรมของคนในสังคมได้เติบโตขึ้น พวกเขารู้สึกว่ากฎหมายที่มีอยู่ไม่ยุติธรรมอีกต่อไป ซึ่งมันได้ถูกแสดงออกผ่านการพยายามแก้ไขมาตรา112 นี้เอง