“หนาวนี้มีแชร์” คือค่ายกิจกรรมเวิร์กช็อปต้อนรับลมหนาวในเดือนสุดท้ายของปีที่ Book Re:public, เครือข่ายนักกิจกรรมภาคเหนือ(CAN) และคณะละครมะขามป้อม ร่วมกันจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน 1 คืน ที่มะขามป้อม อาร์ต สเปซ ในวันที่ 10 – 11 ธันวาคม 2560 ซึ่งการเปิดงาน อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ เป็นผู้กล่าวปาฐกถาเปิดกิจกรรมหนาวนี้มีแชร์ เพื่อปลุกกำลังใจและความหวังที่จะเห็นพลังของคนรุ่นใหม่ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในอนาคต โดยใช้ชื่อช่วงการกล่าวเปิดกิจกรรมนี้ว่า “ก่อนจะก้าว”

“…..มีคนบอกว่าในปัจจุบัน เรากำลังอยู่ในยุคที่อาจนิยามได้ด้วยคำ 3 คำ

หนึ่ง คือยุคสมัยของความวิตกกังวล หรือ age of anxiety  คือคนทั่วโลกรวมถึงสังคมไทยรู้สึกวิตกกังวลทั้งกับชีวิตตัวเอง กับทิศทางของสังคมที่เรากำหนดไม่ได้และไม่เข้าใจมันทั้งหมด

สอง คือยุคที่ความเหลื่อมล้ำมันมากขึ้นเรื่อยๆ คือ age of inequality มีงานวิจัยเยอะมากจากทั้งสาขาเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และสาขาอื่นๆ ที่ชี้ให้เห็นว่าโลกนี้มันเหลื่อมล้ำมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในสองทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนรวย ความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาคุณภาพชีวิตระหว่างประเทศต่างๆ

สาม คือเราอยู่ในยุคสมัยที่คนเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก หรือ age of emotions  ซึ่งไม่ได้หมายความว่าคนเมื่อก่อนไม่มีอารมณ์ความรู้สึกนะ มันมีมานานแล้ว สิ่งที่เปลี่ยนไม่ใช่อารมณ์โดยตัวมันเอง แต่เป็นเครื่องมือในการแสดงออกอารมณ์ซึ่งคนปัจจุบันมีมากขึ้น หรือพูดได้ง่ายๆ ว่าการมีอยู่ของโซเชียลมีเดียในยุคปัจจุบันนั้นได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง มันเปลี่ยนโลกทั้งในทางที่ดีและไม่ดี ถ้าเป็นเมื่อก่อน ไม่ว่าเราจะโกรธเกลียดใครยังไง เครื่องมือในการแสดงออกก็ยังมีจำกัด แต่ตอนนี้เราอยู่ในโลกที่เราทุกคนต่างก็เป็นสื่อได้ด้วยตัวเองโดยทันที การเกิดขึ้นของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มันส่งผลกระทบทั้งในแง่ของสังคม วัฒนธรรม รวมไปถึงในทางการเมืองด้วย

โดยสรุปแล้วมีคนบอกว่ายุคนี้มันเป็นยุคที่เต็มไปด้วยความสับสนอลหม่านมากที่สุดยุคหนึ่ง บางคนถึงกระทั่งบอกว่า ครั้งสุดท้ายที่โลกอยู่ในภาวะใกล้เคียงกันกับเวลานี้ คือช่วงรอยต่อระหว่างยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 ถึงสงครามโลกครั้งที่ 2  ช่วงที่เต็มไปด้วยวิกฤตเศรษฐกิจ สงคราม การแข่งขันของอุดมการณ์มากมาย และท้ายที่สุดก็นำไปสู่ลัทธิการเมืองประหลาดๆ อย่างลัทธิฟาสซิสต์ของฮิตเลอร์ เพราะเมื่อคนตกอยู่ใต้ความวิตกกังวล สิ่งที่คนแสวงหาก็คือความมั่นคง ความปลอดภัย ซึ่งใครก็ตามที่สามารถให้สิ่งนี้ได้ หรือก้าวออกมาพร้อมคำตอบบางอย่างให้พวกคุณ ไม่ว่าคำตอบนั้นมันจะผิดหรือถูกในห้วงเวลาที่คนกำลังต้องการคำตอบอย่างทันทีทันใด หลายๆ คนก็พร้อมที่จะกระโดดเข้าไปคว้าเอาไว้…..

……ถ้าเราไปดูขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมภาคประชาชนส่วนใหญ่ในโลกตอนนี้ เราจะพบว่าจริงๆ แล้วขบวนการเหล่านี้ต่างก็เรียกร้องในเรื่องเดียวกัน คือเรียกร้องสังคมที่แฟร์ขึ้น แล้วแต่ว่าเค้าจะนิยามแฟร์เอาไว้อย่างไรก็ขึ้นอยู่กับนิยามของเค้าเอง พูดง่ายๆ คือผู้คนต่างก็รู้สึกว่าสภาวการณ์ต่างๆ ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลกตอนนี้มันไม่ได้แฟร์กับคนส่วนใหญ่ที่เป็นคนธรรมดา มันเป็นระบบที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนจำนวนน้อย  อำนาจ ความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรกระจุกตัวอยู่กับคนจำนวนน้อยมากๆ แล้วคนก็ต้องการกลุ่มที่จะมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสังคมที่มันแฟร์ขึ้นกว่าเดิมในประเด็นที่ตนเองให้ความสำคัญ อย่างขบวนการคนผิวสี ขบวนการ LGBT ฯลฯ แต่ปัจจุบันพอเราอยู่ในยุคที่ต่างคนต่างก็รู้สึกว่าเราต่างมีปัญหาของตนเอง การเรียกร้องก็ออกมาเป็นหลายทิศทาง หลากหลายรูปแบบ เราอยู่ในโลกที่การเคลื่อนไหวของประชาชนเองก็มีความกระจัดกระจาย ในยุคหลังๆ หลายคนชอบการเคลื่อนไหวแบบที่ไม่ต้องมีผู้นำชัดเจน  การเคลื่อนไหวที่เป็นอิสระ ทุกคนสามารถแสดงความเป็นปัจเจกของตัวเอง ซึ่งสิ่งนี้นำมาสู่การต่อสู้ การเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่มันอาจจะหวือหวาวูบวาบ แต่ถามว่ามันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนได้หรือไม่ ก็ยังเป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบกันต่อไป กระทั่งเครื่องมือในการแสดงออกที่มีเยอะขึ้นก็นำมาสู่การที่เราทะเลาะกันเองระหว่างผู้คนที่เห็นต่างกัน แทนที่จะรับฟังกันและกันหรือร่วมมือผลักดันอะไรบางอย่างเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง กลับกลายเป็นว่าโซเชียลมีเดียเหล่านี้มันทำให้แต่ละคนมี comfort zone ของตัวเอง และพอใจที่จะสื่อสารกับคนแค่บางกลุ่ม โดยที่ไม่สื่อสารกับคนที่เห็นต่างหรือคิดต่างกับเรามากเท่าที่ควร

……ต่างจากยุคหนึ่งที่ประชาธิปไตยเคยเป็นคำตอบ ยุคแห่งความวิตกกังวลและความสันสนของเราเป็นยุคที่ประชาธิปไตยถูกตั้งคำถามมากมาย ว่าทำไมมีประชาธิปไตยแล้วยังมีความเหลื่อมล้ำ มีคอร์รัปชั่น แม้กระทั่งคุณค่าพื้นฐานอย่างสิทธิมนุษยชนที่พวกเราเคยเชื่อถือที่ว่าคนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน ควรเคารพกันและกันในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียมกันก็ถูกนำกลับมาตั้งคำถาม เราจึงพบขบวนการที่ออกมาต่อต้านผู้อพยพ เหยียดผิว เหยียดเพศ แม้เวลาเราพูดถึงขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเรามักจะนึกถึงขบวนการที่เรียกร้องในสิ่งที่ดีที่ยิ่งใหญ่เพื่อสังคม แต่อย่าลืมว่าในโลกปัจจุบันยังมีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมอีกมากมายที่ไม่ได้ผลักดันสังคมไปสู่ความเท่าเทียมหรือคุณค่าที่เคารพความเสมอภาค  แต่ในยุคที่ไม่มีใครมีคำตอบสำเร็จรูปอีกต่อไปและผู้คนพยายามหาคำตอบหรือทางออกที่จะช่วยให้เราพ้นไปจากภาวะของความสับสนวิตกกังวลนี้ได้ ข้อดีหนึ่งของมันคือพวกเราทุกคนในฐานะคนรุ่นใหม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของพลังในการขับเคลื่อนและค้นหาคำตอบใหม่ๆ พวกนี้ได้ด้วยตัวเอง……”