“ลาว คำหอม” เคยกล่าวไว้อย่างเจียมตนเกี่ยวกับหนังสือรวมเรื่องสั้น ฟ้าบ่กั้น ของเขาไว้ในคำนำผู้เขียนฉบับภาษาสวีดิชว่า “ถ้าจะได้มีการพยายามจะจัดเข้าในหมวดหมู่วรรณกรรม หนังสือเล็กๆ เล่มนี้ก็คงจะมีฐานะเป็นได้เพียง ‘วรรณกรรมแห่งฤดูกาล’ ฤดูแห่งความยากไร้และคับแค้น ซึ่งเป็นฤดูกาลที่ยาวนานมากของประเทศไทย” — ดูเหมือนว่าฤดูกาลที่ลาว คำหอม พูดไว้จะยาวนานเป็นพิเศษ เพราะจนวันนี้แม้จะล่วงเลยมากว่า 5 ทศวรรษนับแต่พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2501 แต่เรื่องราวใน ฟ้าบ่กั้น ยังดูเสมือนว่าเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ หรืออันที่จริงควรกล่าวว่าเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้กำลังดำเนินอยู่ต่อหน้าต่อตาเรา ชื่อเสียงหน้าตาตัวละครอาจจะเปลี่ยนไป สถานที่และเหตุการณ์อาจจะแปลกตาไปจากเดิม แต่สารัตถะสำคัญในหนังสือเล่มนี้ยังเป็นสิ่งที่เราควรสำเหนียกและเรียนรู้ เหนืออื่นใด ในยุคสมัยที่เสียงอวดอ้าง “คุณธรรม” “จริยธรรม” “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ดังกัมปนาทกึกก้องกลบเสียงและสิทธิของประชาชนคนจนในชนบทผู้ถูกปรามาสมากขึ้นทุกทีว่า “โง่ งก จน เจ็บ” เช่นที่เป็นอยู่นี้ ฟ้าบ่กั้น ยิ่งเป็นหนังสือที่เราควรจะหวนกลับไปอ่านเป็นอย่างยิ่ง………….
—————บางส่วนจากบทนำ “ฟ้าบ่กั้น หยังว่าให้ห่างกัน” โดย ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์
ฟ้าบ่กั้น
รวมเรื่องสั้นโดย ลาว คำหอม
พร้อมบทวิจารณ์โดยชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์
และภาพประกอบโดยวิทยา หาญวารีวงศ์ศิลป์
สำนักพิมพ์อ่าน