“สภาวะลักลั่นไม่ลงรอยภายในระหว่างสิ่งที่เรียกว่า “รัฐ” และ “ชาติ” เป็นสาเหตุว่าทำไมเราจึงยังควรรักษาเครื่องหมายยัติภังค์ (-) ที่คั่นอยู่ระหว่างสองคำนี้ นั่นคือ รัฐ-ชาติ หรือ nation-state ในภาษาอังกฤษ เพื่อบ่งชี้ว่า “รัฐ” กับ “ชาติ” นั้น แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่มักถูกจับให้ดำเนินควบคู่กันไปในการศึกษารัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หากแต่ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่เทียบแทนกันได้อย่างสนิทแนบแน่น และสามารถเป็นภาพสะท้อนของกันและกันได้…..
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ความน่าสนใจของการศึกษาสังคมการเมืองสมัยใหม่ จึงไม่ควรจำกัดอยู่ที่การศึกษา “รัฐ-ชาติ” หรือ “รัฐ” กับ “ชาติ” เท่านั้น หากแต่อยู่ที่การให้ความสำคัญกับการศึกษาทำความเข้าใจเครื่องหมายยัติภังค์ หรือความสัมพันธ์ที่ลักลั่นระหว่างสองสิ่ง ที่นับวันจะแสดงออกมาให้เห็นเด่นชัดมากขึ้นทุกที……”
———–บางส่วนจาก บทนำ เขต-ขันธ์วิทยา: ว่าด้วยสิ่งนั้นของพรมแดน, หน้า 10-11
.
.
“Limology: ชายแดนศึกษา กับเขต-ขันธ์วิทยาของพื้นที่/ระหว่าง” เล่มนี้ มุ่งชี้ให้เห็นว่า การขีดเส้นแบ่งใดๆ มักมาพร้อมกับการสร้างความเป็นเราและสร้างความเป็นเขา หรือความเป็นอื่นของสิ่งที่มีอยู่ในและนอกอาณาเขตที่กำหนดขึ้นมา พูดให้ชัดคือ กระบวนการจัดการพื้นที่นั้นเป็นกระบวนการที่ดำเนินไปพร้อมๆ กับการจัดการทางสังคมอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการสร้างสังคมและการสร้างกลุ่มก้อนให้เป็นหนึ่งเดียวที่มักถูกทำให้แยกออกจากสังคมอื่นที่อยู่นอกบริเวณที่ถูดขีดขึ้นนั้น แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่มักดำเนินไปด้วยกันเสมอ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความสัมพันธ์ที่ซ้อนทันกันสนิทและมีลักษณะสถิตตายตัว…….
“Limology: ชายแดนศึกษา กับเขต-ขันธ์วิทยาของพื้นที่/ระหว่าง
โดย จักกริช สังขมณี
สำนักพิมพ์ศยาม