การก่อร่างสร้างความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ของสยามในช่วงเปลี่ยนผ่านของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ไม่เพียงได้สร้างภูมิกายาชนิดใหม่ขึ้นมาเพื่อบ่งบอกถึงความเป็นชาติที่ผูกโยงกับดินแดนผ่านเทคโนโลยีแผนที่เท่านั้น หากแต่ยังได้สร้าง “อัตลักษณ์เอกสาร” ให้กับประชากร เพื่อนิยามปริมณฑลของความเป็นพลเมืองเสียใหม่ผ่านวัตถุประดิษฐ์ในการระบุตัวตน และเช่นเดียวกับแผนที่ วัตถุเอกสารและการบันทึกราชการได้ช่วยทำให้รัฐไทยสามารถแปลงมโนทัศน์อันเป็นนามธรรมว่าด้วยชาติและพลเมืองให้กลายเป็นตัวตนรูปธรรมที่จับต้องได้ และดังนั้นจึงสามารถแยกความเป็นพลเมืองกับความเป็นอื่นออกจากกันได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด…..
“อัตลักษณ์เอกสาร: วงศาวิทยาการควบคุมประชากรของรัฐไทย” เล่มนี้ เป็นการศึกษาวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะแห่งการปกครองของรัฐ (statecraft) การสร้างรัฐชาติ และการสร้างอัตลักษณ์ประชากรผ่านวัตถุเอกสารของราชการอย่างบัตรประจำตัวประชาชนซึ่งเป็นตัวแทนของประวัติศาสตร์การเขียนพลเมือง ตลอดจนอัตลักษณ์เอกสารของชนผู้เป็นอื่นของรัฐไทย…..
อัตลักษณ์เอกสาร: วงศาวิทยาการควบคุมประชากรของรัฐไทย
โดย ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี
สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่