เพราะรักและการปฏิวัติ จึงอ่านต่อ

Book Re: public อยากชวนทุกคน”อ่านต่อ”จากหนังสือ “รัก และ การปฏิวัติ” โดย ธิกานต์ ศรีนารา แกะรอยงานวรรณกรรมชิ้นสำคัญ สอดส่องประวัติศาสตร์และบรรยากาศความรักที่ก้าวหน้า กับหนังสือแนะนำอ่านต่อ และหนังสือบางส่วนที่ถูกยกขึ้นมาวิเคราะห์ในเล่มนี้เพื่อทำความเข้าใจมิติต่างๆ ของบรรยากาศหนุ่มสาวที่ก้าวหน้าในประวัติศาสตร์ไทย(ในช่วงทศวรรษ 2490–2520).


รักและการปฏิวัติ

จากหนังสือ รักและการปฏิวัติ
โดย ธิกานต์ ศรีนารา
ที่พูดถึงการเมืองวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของงานวรรณกรรม กวี และบทเพลงของไทยในช่วงสงครามเย็น จนถึงช่วงสงครามประชาชนในทศวรรษ 2510 การต่อสู้ช่วงชิงนิยามของ”ความรัก” ที่ให้ฝูกโยงกับวิถีชีวิต”สามัญชน” ในขณะเดียวกันยิ่งตอกย้ำความเข้มข้นการวิพากษ์ ชนชั้น“ศักดินา” ซึ่งการเมืองวัฒนธรรมเหล่านี้ส่งต่ออุดมการบรรยากาศของ”การปฏิวัติ”เพื่อความหวัง ความฝันแบบใหม่ไปควบคู่กับการก่อร่างสร้างอัตลักษณ์ของความเป็นประชากรโลกที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และการเปลี่ยนแปลงของคนหนุ่มสาวที่ไม่อาจหวนกลับไปสู่ระบบอำนาจ ขนบ ธรรมเนียมล้าหลังอีกต่อไป

ในเล่มนี้ยังมีหนังสือและงานวรรณกรรมที่ถูกหยิบยกขึ้นมาวิเคราะห์และชวนอ่านต่อที่น่าสนใจ
เช่น และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฎ โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ , ปีศาจ โดย เสนีย์ เสาวพงศ์ , จนกว่าเราจะพบกันใหม่ โดย ศรีบูรพา และอื่นๆ 


อ่านต่อ หมวดประวัติศาสตร์“ปฏิวัติ”

ทำความเข้าใจปรากฎการณ์ทางการเมือง บรรยากาศของการลุกขึ้นมาปฎิวัติในชีวิตประจำวันของคนวัยหนุ่มสาวและกลุ่มหัวก้าวในช่วง 2475-2500 ในไทยกับหนังสือ

1. ปฎิวัติ 2475 : 1932 Revolution in SIAM 
โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันดิ์


.
หนังสือประวัติศาสตร์การปฎิวัติการเมืองไทยที่คลี่ให้เห็นเส้นทางยุคสมัยของขบวนการคณะราษฎรในปี 2475 – 2500 ควบคู่ไปกับยุคสมัยคณะรัฐประหารในปี 2490-2500 ด้วยการอธิบายเหตุปัจจัยที่นำไปสู่ปรากฎการณ์ทางการเมืองสำคัญของไทย เช่น การปฎิรูปการปกครองการเมืองไทยตั้งแต่สมัยรัชการลที่5 , การแทรกแซงของมหาอำนาจจากภายนอกประเทศ และ การต่อสู้ช่วงชิงความหมายของอุดมการชาตินิยมและประชาธิปไตย ที่ส่งผลต่อการต่อสู้และการปฎิวัติของกลุ่มคนรุ่นใหม่ฝ่ายซ้าย

2. และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฎ
โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ


.
ชวนอ่านต่อในประเด็นการเมืองวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจหรือการสร้างคำนิยามให้กับ “ประชาธิปไตย” แกะรอยอุปสักของการสร้างนิยามที่ด้านหนึ่งยังคงต่อสู้กับวาทกรรม “ราชาชาตินิยมยประชาธิปไตย”ที่ทำงานอย่างทรงพลัง
รวมไปถึงประวัติศาสตร์การก่อตัวมโนทัศน์ทางความคิดของนักศึกษา ปัญญาชนฝ่ายซ้าย และภาคประชาชน อันนำไปสู่การโค่นล้มอำนาจเผด็จการ ตั้งแต่ยุครัฐประหหารจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี2500 จนเป็นผลสืบเนื่องสู่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 

3. หลังบ้านคณะราษฎร : ความรัก ปฏิวัติ และการต่อสู้ของผู้หญิง
โดย ชานันท์ ยอดหงษ์


ประวัติศาสตร์บทบาทของผู้หญิงที่น้อยคนนักจะหยิบยกเรื่องราว”หลังบ้าน”ในการต่อสู้บนเส้นทางปฏิวัติ 2475มาเผยแสดงให้เห็น แม้ว่าเบื้องหน้าของขบวนการปฏิวัติจะเคลื่อนไปด้วยกลุ่มคณะราษฎรที่เป็นผู้ชาย แต่ช่วงเวลาเดียวกันผู้หญิงก็ยังคงต่อสู้กับอำนาจแบบ “ปิตาธิปไตย”ที่ลดทอนบทบาทหน้าที่ของ “ผู้หญิง” ในภาคการเมืองด้วยเช่นกัน และการเคลื่อนไหวในพื้นที่เบื้องหลังของผู้หญิงครั้งนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นอุดมการความรักก้าวหน้า และขนบคิดหญิงสมัยใหม่ที่เพิ่มเสียงของผู้หญิงชั้นราษฎรมากขึ้น


วรรณกรรม “ความรักหัวก้าวหน้า”

เมื่อหนุ่มสาวเริ่มคำถาม ท้าทายและ ลุกขึ้นมาปฎิวัติต่ออำนาจที่ครอบงำวิถีชีวิต ความรัก และอนาคต ในยุคเปลี่ยนผ่านทางการเมืองไทย


1.ความรักของวัลยา
เสนีย์ เสาวพงศ์


เรื่องราววิถีชีวิตและมุมมองของ”วัลยา” ตัวเธอได้ทำหน้าที่เหมือนเป็นกระจกที่สะท้อนอุดมการชายเป็นใหญ่ของสังคมไทย ควบคู่กับวิพากษ์ ขบถต่อจารีตโบราณล้าหลังที่เป็นกรงขังศักยภาพของผู้หญิง รวมถึงการทำหน้าที่เป็นตัวละครแห่งการส่งต่อวัฒนธรรมและนิยามความเป็นหญิงสมัยใหม่ในเวลานั้น


2.ปีศาจ
เสนีย์ เสาวพงศ์


ปีศาจหนึ่งในหนังสือที่นักอ่านหลายคนเลือกหยิบขึ้นมาอ่าน ด้านหนึ่งเพื่อทำความเข้าใจบรรยากาศความก้าวหน้าทางความคิดของคนหนุ่มสาวในช่วงเวลานั้น ที่ปะทะกับกลุ่มอำนาจเก่า กลายเป็น“ปีศาจ”ที่หลอกหลอนและสร้างความหวาดกลัวให้กับคนรุ่นเก่าที่เกาะรัดอำนาจไว้ไม่ให้การเปลี่ยนแปลงมาถึง
.

3.จนกว่าเราจะพบกันใหม่
ศรีบูรพา


วรรณกรรม “เพื่อชีวิต” เรื่องเล่าผ่านบทสนทนาในมุมมองปัญญาชนอย่าง’โกมาศ’ที่เดินออกจากแผ่นดินไทยไปพบกับโลกกว้างที่ออสเตรเลีย พร้อมกับเปิดมุมมองทางปัญญาไปกับ’โดโรที’ หญิงสาวออสเตรเลียที่ค่อยๆได้แลกเปลี่ยน ถกเถียงในประเด็นภาพแทนของประเทศไทยที่ไม่ได้เป็นอย่างภาพฝันอันสวยงามอย่างที่คนต่างชาติเข้าใจ แต่กลับเต็มไปด้วยเรื่องราวของภาพสังคมการกดขี่ ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมชนชั้นสังคมไทยผ่านสายตาปัญญาชนหัวก้าวหน้าของโกมาศ


วรรณกรรม”กรรมมาชีพ แรงงาน และการวิจารณ์ศักดินา”

ฟ้าบ่อกั้น
ลาว คำหอม 


.
วรรณกรรมสะท้อนภาพความรัก ความเจ็บปวดของชนชั้นไพร่และแรงงาน ที่มีการถกเถียง เสียดสีต่ออำนาจรัฐ และกลุ่มชั้นชนกลางในเมืองหลวง ที่ผลักคนอีกสานสู่ภาวะไร้อำนาจต่อรองภายใต้นิยาม โง่-จน-เจ็บ มาโดยตลอด รวมถึงบรรยากาศประวัติศาสตร์โครงสร้างสังคมการเมืองที่เปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ 14 ตุลา – 6 ตุลา พฤษภาทมิฬ ในระหว่างบรรทัด


งานเขียนปัญญาชนหัวก้าวหน้าท้าทายยุคสมัย


1.คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย
จิตร ภูมิศักดิ์

เป็นอีกหนึ่งงานวรรณกรรมของจิตร ภูมิศักดิ์ที่ทำให้เราเห็นบรรยากาศการปฎิวัติทางการเมืองวัฒนธรรมที่แทรกซึมอยู่ในบทกวีและบทเพลงของเขา
นอกจากอรรถรสแห่งการใช้ภาษาที่มีความก้าวหน้าในวิธีคิดและการถ่ายทอด เนื้อหายังเต็มไปด้วยอุดมการณ์อันเข้มแข็ง และแรงขับเคลื่อนของการต่อต้านระบอบเผด็จการสมัย สฤษดิ์ธนะรัชต์ และการเปิดโปงให้เห็นภัยที่ร้ายแรงของจักรวรรดินิยมอเมริกาในช่วงสงครามเย็น

2.โฉมหน้าศักดินาไทย
จิตร ภูมิศักดิ์

ผลงานชิ้นสำคัญของปัญญาชนนักปฏิวัติ ที่สร้างปรากฎการณ์การช่วงชิงอำนาจการเขียนประวัติศาสตร์และองค์ความรู้ผ่านงานวิชาการวิพากษ์วิจากรณ์กลุ่มอำนาจเก่าในช่วงการเมืองไทยร่วมสมัย จนกลายเป็นหนังสือต้องห้าม ที่ปลุกกระแสการตื่นรู้มวลชนให้ลุกขึ้นตั้งคำถามต่อขอบเขตของอำนาจและผลประโยชน์ของชนชั้น “ศักดินา” 


แนวคิดขบถ ความรักและเพศในโลกสังคมนิยม



รักร้อนแรงแห่งดินแดนสังคมนิยม
ผู้เขียน: Kristen Ghodsee
ผู้แปล: เกศกนก วงษาภักดี


.
เมื่ออุดมการการปฏิวัติสู่ชีวิตที่ก้าวหน้ากว่าเดิมในพื้นที่ของคนหนุ่มสาว ทวีความเข้มข้นมาโดยตลอดในเส้นทางประวัติศาสตร์การปฏิวัติ 
ปฎิเสธไม่ได้ว่าการต่อสู้และการปฎิวัติของ”ผู้หญิง”ยังคงสัมพันธ์กับอุดมการความรัก เพศ และ เซ็กส์ ที่ถูกควบคุมผ่านขนบธรรมเนียม จารีตของชาติเป็นใหญ่ที่เข้มข้นในทุกสังคม
ชวนอ่านแนวคิด อุดมการณ์เบื้องหลังของสตรีฝ่ายซ้าย และการตั้งคำถามสวัสดิการสังคม และหน้าที่ของรัฐที่สัมพันธ์กับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความรักของผู้หญิงในโลกที่ก้าวไปข้างหน้างอย่างรวดเร็ว การปฏิวัติทางความคิดและจิตสำนึกมันจึงกระทบไปสู่ความรักที่ทำให้ผู้หญิงมีอิสระภาพทั้งทางความคิดและร่างกายของพวกเธอได้อย่างไร


Latest Story

ไปให้พ้นจากการจ้องจับผิด: การเมืองของการเสพติด สู่ปัญหา “ปีศาจนักสูบ” แห่งมช.

ทำไมคนเราถึงสูบบุหรี่ ?…. ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน.. ที่แน่ ๆ คนสูบบุหรี่คงโดนถามคำถามนี้บ่อยครั้ง แต่อันที่จริงใครสักคนจะสูบบุหรี่เพราะอะไรก็คงจะมีแรงจูงใจหลายอย่างตามอัตวิสัยของแต่ละคน บางคนอาจจะชอบประสบการณ์เวลาตัวเองสูบ สูบเพื่อผ่อนคลาย เสริมสร้างจินตนาการบางห้วงขณะ หรือมันอาจจะไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลอะไรก็ได้ ก็แค่อยากสูบ อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนอยากชวนให้ทุกคนลองพิจารณาดูก็คือ เรื่อง “ภาพจำของคนสูบบุหรี่ในสังคม” คุณคิดว่าสังคมไทย ๆ มีภาพจำกับคนสูบบุหรี่แบบไหน ?