Read map สู่ Road Map ประชาธิปไตย : จะเลือกตั้งแล้ว อ่านอะไรดี
การเลือกตั้งครั้งใหม่ที่เรารอคอยนั้นใกล้เข้ามาทุกที สำหรับการใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งใหม่ในรอบ 5 ปีของหลายๆ คน และการเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิตของคนรุ่นใหม่อีกจำนวนมาก ในหัวของหลายคนยังคงเต็มไปด้วยข้อสงสัย เราจะเลือกตั้งไปเพื่ออะไร? การเลือกตั้งสำคัญยังไง? ประชาธิปไตยไทยเติบโตขึ้นมากแค่ไหนหลังประวัติศาสตร์การเลือกตั้งอันยาวนาน? ระบบแบ่งเขตนี่แบ่งให้ใคร? คนจนซื้อเสียงได้ด้วยเงินจริงหรือไม่? โลโก้พรรคจำเป็นแค่ไหน? ตกลงต้องกาบัตรกี่ใบ? ฯลฯ
Book Re:public ชวนคุณมาทำความรู้จักหนังสือวิชาการน่าอ่าน 5 เล่ม ที่อาจช่วยให้พบคำตอบด้วยตัวเองว่าการเลือกตั้งนั้นสำคัญกับคุณและสังคมประชาธิปไตยหรือไม่-อย่างไร และเราอยู่ตรงไหนของการเลือกตั้งครั้งนี้…
การเมืองว่าด้วยการเลือกตั้ง: วาทกรรม อำนาจ และพลวัตชนบทไทย
ประจักษ์ ก้องกีรติ บรรณาธิการ
สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
ปีที่พิมพ์ พ.ศ. 2555
หนังสือรวมบทความจากนักวิชาการชาวไทยและต่างประเทศตลอดทศวรรษที่ผ่านมาซึ่งเกี่ยวข้องกับการศึกษาเรื่องการเลือกตั้งในสังคมไทย ผ่านการวิเคราะห์การเมืองเชิงวัฒนธรรม เชิงวาทกรรม และมานุษยวิทยาการเมือง ซึ่งพยายามตั้งคำถามและชี้ให้เห็นแง่มุมที่ต่างออกไปจากความเชื่อและมายาคติว่าด้วยการเมือง-การเลือกตั้ง ที่แพร่หลายอยู่ก่อนหน้า และเสนอให้เห็นว่า การทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางการเมืองเรื่อง “การเลือกตั้ง” นั้นไม่อาจแยกขาดจากการศึกษาและทำความเข้าใจโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ซับซ้อน และความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมในภาคชนบทที่ไม่เคยหยุดนิ่ง
หีบบัตรกับบุญคุณ: การเมืองการเลือกตั้งและการเปลี่ยนแปลงเครือข่ายอุปถัมภ์
เวียงรัฐ เนติโพธิ์
ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปีที่พิมพ์ พ.ศ. 2558
งานศึกษาที่มุ่งอธิบายถึงพลวัตของการเมืองไทยในระบบเลือกตั้งทั้งระดับชาติและท้องถิ่น ความสัมพันธ์และแบบแผนการอุปถัมภ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและส่งผลต่อทิศทางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย ผ่านการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองกับนักการเมือง ระหว่างนักการเมืองระดับชาติและนักการเมืองท้องถิ่น ระหว่างนักการเมืองระดับต่างๆ กับตัวกลางทางการเมือง (หัวคะแนน ผู้นำชุมชน) และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับนักการเมืองในไทยที่ผ่านมาว่ามีลักษณะแบบแผนและการเปลี่ยนแปลงอย่างไรท่ามกลางสถานการณ์ทางสังคมและการเมืองที่ผันผวน โดยครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช
ระบบเลือกตั้งเปรียบเทียบ
สิริพรรณ นกสวน สวัสดี
สำนักพิมพ์ศยามปัญญา
ปีที่พิมพ์ พ.ศ. 2561
ในบรรดาการศึกษาทางรัฐศาสตร์จำนวนมาก ระบบเลือกตั้งสัมพันธ์กับประชาชนจำนวนมากที่สุด และประชาชนธรรมดาๆ นี่แหละที่ความหวัง ความฝัน ความต้องการ อารมณ์ ความชอบ ทัศนคติ ไม่มีใครคาดเดาได้อย่างแม่นยำ พลังของพวกเขาเหล่านี้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เป็นพลังที่ยากต่อการกำกับ บงการ ซึ่งทำให้คนที่เฝ้าดูแปลกใจได้เสมอ ด้วยเหตุนี้ ระบบเลือกตั้งจึงเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีอิทธิพลที่สุดสถาบันหนึ่งในการกำหนดทิศทางการเมืองของประเทศ เป็นกลไกที่เอื้อให้เกิดระบบการเมืองที่ตรวจสอบได้
“ระบบเลือกตั้งเปรียบเทียบ” เล่มนี้ ไม่ใช่หนังสือคู่มือสำหรับนักการเมืองที่มุ่งหวังชัยชนะในการเลือกตั้ง แต่เป็นงานวิชาการที่วางกรอบคิดและมุมมองต่อการเลือกตั้งและระบบเลือกตั้งที่สัมพันธ์แอบอิงกับระบอบประชาธิปไตย โดยนำเสนออย่างเป็นระบบและเชื่อมโยงกับแนวคิด ข้อถกเถียง สถิติ สูตรการคำนวณทางคณิตศาสตร์และทฤษฎีทางรัฐศาสตร์ เพื่อสร้างความเข้าใจต่อระบบการเลือกตั้งหลากรูปแบบและเปิดพื้นที่ในการถกเถียงใหม่ๆ เกี่ยวกับทิศทางและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้ง ว่าการออกแบบระบบเลือกตั้งและการจัดการเลือกตั้ง รวมไปถึงการปฏิรูประบบเลือกตั้งแบบต่างๆ จะส่งผลอย่างไรต่อสังคม จากกรณีตัวอย่างทั้งในต่างประเทศ และในประเทศไทยเอง….
การเมืองของราษฎรไทย ยุคหลัง (หลัง) ทักษิณ
วสันต์ ปัญญาแก้ว บรรณาธิการ
ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รวมบทความว่าด้วยเรื่องชนชั้นนำ การเลือกตั้ง ผู้มีอิทธิพล คนเสื้อแดง และประชาธิปไตย 100% จากนักวิชาการชาวไทยและต่างประเทศ ซึ่งมุ่งสะท้อนปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง การเลือกตั้ง กลุ่มอำนาจต่างๆ ในท้องถิ่น และการเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชนที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นับจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพื่อสร้างองค์ความรู้และผลักดัน “กระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตย” ในสังคมไทยยุคหลัง (หลัง) ทักษิณ
สมการคอร์รัปชัน: แก้โจทย์ บวก ลบ คูณ หาย ในสังคมไทย
พีระพงษ์ เตชะทัตตานนท์ บรรณาธิการ
สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย
ปีที่พิมพ์ พ.ศ. 2560
รวมบทสัมภาษณ์ที่มุ่งขยายความเข้าใจต่อประเด็นคอร์รัปชันในแบบ ‘สมการ’ ที่สังคมไทยอาจยังไม่เคยนำมาต่อยอดและพูดถึงมาก่อน ผ่านคำสัมภาษณ์ของผู้ที่ศึกษาเรื่องคอร์รัปชันและผู้ที่เข้าไปเผชิญหน้าต่อปัญหาคอร์รัปชันด้วยตนเอง เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพปัญหาคอร์รัปชันว่าไม่ได้เป็นเพียงผลจากการกระทำของคนไม่ดีที่ได้มีโอกาสใช้อำนาจไปในทางแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว แต่เป็น “ปัญหาเชิงระบบ” ที่เกี่ยวข้องกับการผูกขาด การใช้ดุลยพินิจ และกลไกความรับผิดชอบที่ชัดแจ้ง เพื่อนำไปสู่คำตอบว่าเราจะทำอย่างไรได้บ้างในโลกแห่งความเป็นจริง เพื่อลดปัญหาคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ระดับการเมืองของการเลือกตั้ง