ส่ง สส.พลังหญิง เดินหน้าเข้าสภา

Posted by:

|

On:

|

จากผลการเลือกตั้ง 66 ของประชาชนชาวเชียงใหม่ เราได้ส.ส.เขต ที่เป็นผู้หญิงคนรุ่นใหม่ไฟแรงจากพรรคฝั่งประชาธิปไตย ‘พรรคก้าวไกล’ และ ‘พรรคเพื่อไทย’ ถึง 5 คน

จากกระแสการเมืองที่เปลี่ยนทิศ ความพยายาม ความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงและสร้างการเมืองใหม่ของผู้หญิงรุ่นใหม่จะเป็นอย่างไร

Book Re:public จึงประสานงานและได้รับการตอบรับจากว่าที่ ส.ส. ทั้งหมด 4 คน มาพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงอนาคตที่อยากเห็นในสนามการเมืองยุคนี้ รวมทั้งเบื้องหลังประสบการณ์การอาสาเข้ามาเป็นตัวแทนประชาชน และการทำงานเพื่อสร้างแนวร่วมทางความคิดฝั่งประชาธิปไตยในแบบของพวกเขา

ในวงเสวนา “ส่ง สส.พลังหญิง เดินหน้าเข้าสภา”

สรุปผลการนับคะแนนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต จังหวัดเชียงใหม่

สรุปผลการนับคะแนนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต จังหวัดเชียงใหม่อย่างไม่เป็นทางการ ดังนี้ทั้ง 10 เขตในเชียงใหม่ เราได้ ว่าที่ส.ส. ที่เป็นผู้หญิงรุ่นใหม่ ถึง 5 เขต โดยมี

เขต 1 : นางสาวเพชรรัตน์ ใหม่ชมภู 2 พรรคก้าวไกล 48,823 คะแนน
ประกอบด้วย อำเภอเมืองเชียงใหม่ (ยกเว้นตำบลหนองหอย ตำบลวัดเกต ตำบลหนองป่าครั่ง และตำบลท่าศาลา)

เขต 2 : นางสาวการณิก จันทดา หมายเลข 8 พรรคก้าวไกล 51,181 คะแนน
ประกอบด้วย อำเภอสารภี, อำเภอเมืองเชียงใหม่ (เฉพาะตำบลหนองหอย ตำบลวัดเกต ตำบลหนองป่าครั่ง และตำบลท่าศาลา) และอำเภอสันกำแพง (เฉพาะตำบลสันกลาง ตำบลบวกค้าง และตำบลแช่ช้าง)


เขต 4 : นางสาวพุธิตา ชัยอนันต์ หมายเลข 5 พรรคก้าวไกล 62,009 คะแนน
ประกอบด้วย  อำเภอสันทรายและอำเภอแม่ริม (เฉพาะตำบลเหมืองแก้ว ตำบลแม่สา และตำบลดอนแก้ว)


เขต 6 ว่าที่ร้อยตรีหญิงอรพรรณ จันตาเรือง หมายเลข 1 พรรคก้าวไกล 25,828 คะแนน

ประกอบด้วย  อำเภอเวียงแหง, อำเภอเชียงดาว, อำเภอพร้าว และอำเภอไชยปราการ (เฉพาะตำบลศรีดงเย็นและตำบลหนองบัว)


เขต 10 นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ หมายเลข 1 พรรคเพื่อไทย 32,638
ประกอบด้วย  อำเภออมก๋อย, อำเภอดอยเต่า, อำเภอฮอด และอำเภอแม่แจ่ม (ยกเว้นตำบลแม่นาจร ตำบลแม่ศึก และตำบลช่างเคิ่ง)


การเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 1,331,007 คน นับจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวน 1,088,305 คน

ข้อมูลอ้างอิงจาก : 
https://www.vote62.com
https://thainews.prd.go.th/…/detail/TCATG230515142309801


ส่ง สส.พลังหญิง เดินหน้าเข้าสภา

ส่วนหนึ่งจากงานเสวนาฯ ในวันที่ 3 มิถุนายน

ปิ่นแก้ว :
ในความคิดเห็น เรามีวิธีคิดอย่างไรที่ทำให้ตัวเราในฐานะ’ผู้หญิง’มายืนอยู่บนสังเวียนการเมืองแห่งนี้

การณิก :
4 ปีก่อน จนมาถึงปี 2562 ในช่วงรัฐบาลเผด็จการ เราเห็นตัวเองเป็นคนที่ห่างไกลจากวงการเมือง ทางบ้านเองก็ไม่ได้เล่นการเมือง แต่เราได้รับผลกระทบหลังรัฐประหาร การบริหารจัดการไม่ดี ยกตัวอย่างช่วงโควิดที่ผ่านมา รัฐบาลมีเวลาดำรงตำแหน่งอย่างยาวนาน มีเวลาจัดการงบประมาณตั้งกี่ปี แต่ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าไม่ได้บริหารจัดการดีขึ้นเลย, ทำไมพอเจอวิกฤตทุกอย่าง ภาคประชาชนต้องระดมทุน ช่วยเหลือกันเอง แล้วพวกเขาทำอะไรกันอยู่ จนมันเกิดปัญหาความเลื่อมล้ำอย่างชัดเจน, เรายอมไม่ได้ เราจึงตัดสินใจนำตัวเองมาเป็นส่วนหนึ่งในการเมือง

คนรอบข้างที่รู้จักก็ตั้งคำถามว่า ‘ทำไมต้องเข้าสู่สนามการเมือง?’ ‘แล้วทำไมเราถึงจะเข้ามาทำงานตรงนี้ไม่ได้?’ ‘ทำไมเราต้องไม่รอให้คนอื่นเข้าไปทำแทน?’ บางคนที่เข้ามา มีทั้งคนที่เข้ามาอย่างฉาบฉวย, เพียงเพราะอยากเป็นมีชื่อว่าเป็นนักการเมือง หรือเข้ามาเพราะรู้สึกเท่ ถ้านักการเมืองยังเป็นแบบนี้อยู่ เมืองไทยไม่มีทางเดินไปข้างหน้าแน่ 

เพราะฉะนั้นจึงต้องเป็นเรา เราที่ตัดสินใจก้าวเข้ามาอยู่พรรคก้าวไกล เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตัวแทนการเมือง แทนที่เราจะรออยู่เฉยๆ

ปิ่นแก้ว : คุณพุตธิตา จริงๆ ไม่ได้เพิ่งเข้ามาอยู่ในแวดวงการเมือง แต่อยู่ในแวดวงการเมืองท้องถนนมาก่อน จนถึงเวลาเข้ามาสู่การเมืองทางการ มีความคิดเห็นอย่างไร และโจทย์ยากกว่ากันไหม ?

พุธิตา : ยากกว่าตรงที่จะต้องปรับตัวหลายอย่าง ตอนเราอยู่ในบทบาทการเป็นนักกิจกรรมเราผลักดันประเด็นใดประเด็นหนึ่งได้สุด และไปได้ไกล พออยู่ในระบบการเมืองที่ต้องคำนึงถึงเกมการเมืองที่ไม่เป็นธรรม ที่สังคมมันยังไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง อีกทั้งเราอยู่ในพรรคการเมืองที่พูดถึงการแก้ปัญหาที่โครงสร้าง ที่ต้นตอ ซึ่งผู้มีอำนาจก็พร้อมที่จะรังแก ไม่อยากให้เราไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ยกตัวอย่าง ประเด็นกฏหมายอาญามาตรา 112 ถ้าหากเราเป็นนักกิจกรรม เป้าหมายของเราคือการผลักดันไปสู่การยกเลิกมาตรานี้ แต่พอเรามาทำงานอยู่พรรคการเมือง เราต้องทำความเข้าใจว่าเราจะขยับไปได้มากน้อยแค่ไหนตามวาระของสังคม ส่วนการต่อสู้บนท้องถนนยังจำเป็น และต้องทำควบคู่ไปกับการต่อสู้ในรัฐสภาฯ สองอย่างนี้จะต้องไปด้วยกัน

จึงเป็นเหตุผลที่ว่าเราต้องปรับตัวจากที่เราเคยมีภาพว่าเป็นเด็กหัวรุนแรง ต้องเป็นคนที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น คิดอย่างรอบคอบมากขึ้น และต้องเรียนรู้เกมการเมืองด้วย

อรพรรณ :

เนื่องจากเราเป็นคนที่มาจากพื้นที่ห่างไกล เราเห็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูงมาก  มันมีหลายอย่างที่กดทับเราอยู่ โดยเฉพาะว่า การที่เราเข้าไม่ถึงอะไรหลายๆ อย่าง จึงเป็นแรงขับเคลื่อนทำให้เราก้าวมาสู่จุดนี้ จึงทำให้เราอยากเห็นว่า วันหนึ่งถ้าเรามีโอกาสมาอยู่ในจุดๆนี้ จุดที่ชาวบ้าน ประชาชนให้ความไว้เนื้อเชื่อใจเรา และจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดอย่างไร ในวันนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลง อยากเห็นสิ่งใหม่ๆ และได้ให้โอกาสเรา 

ในเขตเรา เราเดินทาง 4 อำเภอ ไม่ว่าชาวบ้านจะไปสวน ไปทำไร่ เราก็ไปหา เวลาเราลงพื้นที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีทั้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน หรือหัวคะแนน ยื่นข้อเสนอว่าจะช่วยอะไรทางหมู่บ้านบ้าง, จะช่วยอะไรกลุ่มแม่บ้านหรือ อสม. อย่างไรบ้าง ซึ่งในฐานะที่เราอยากทำการเมืองแบบใหม่ เรายืนยันที่จะตอบไปว่า พรรคก้าวไกลมีนโยบายต้องเปลี่ยนแปลงการเมืองรูปแบบใหม่ ถ้าหากเรายังทำแบบเดิมๆ ต้องจ่ายเงินแบบเดิม มันก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง เราไม่ได้ขนเงินมา เราเป็นแค่ลูกเกษตรกร แต่ถ้าให้โอกาสเรา ให้เราทำงาน เราจะทำให้เห็นว่าไม่เหมือนการเมืองแบบเดิมที่ผ่านมา 

หรือเวลาเราไปลงพื้นที่ ชาวบ้านและผู้นำชุมชนก็จะบ่นว่า จะมายกมือไหว้ก็ต่อเมื่อเวลามาลงสมัคร ส.ส. เมื่อได้เป็นส.ส.แล้วก็หายไป เราตอบไปว่า ถ้าคุณไม่อยากเจอส.ส.แบบเดิม คุณลองเปลี่ยนไหม เปลี่ยนมาเลือกเรา แล้วคุณจะไม่เจอ ส.ส.แบบเดิม 

ปิ่นแก้ว :ในมุมมองของบทบาทความเป็นผู้หญิงที่เดินเข้ามาสู่การเมืองรัฐสภาฯ เรารู้สึกอย่างไร

พุธิตา : รู้สึกท้าทาย ว่าเราเป็นผู้หญิงที่เข้ามาสู่เกมการเมืองที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของผู้ชาย ผู้หญิงที่เป็นนักการเมืองที่ผ่านมาถูกมองเป็นไม้ประดับ เวลานักการเมือง, ส.ส.หญิงลุกขึ้นมาพูด คนมักไม่ฟังเนื้อหา พูดถึงรูปลักษณ์ของผู้หญิง ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องเข้าไปต่อสู้ เปลี่ยนแปลงกรอบความคิด มุมมองแบบนี้ในมิติทางเพศ

ที่มากไปกว่านั้น สิ่งที่ท้าทายคือเรามีบทบาท ‘ความเป็นแม่’ เราเป็นคุณแม่ลูกอ่อน เป็นเรื่องที่ท้าทายต่อความคิดระบบชายเป็นใหญ่ และกลุ่มของสังคมผู้หญิงที่เป็นแม่กันเอง เขามักจะมองว่าการเป็นแม่ Full-time มีคุณค่ามากกว่าคุณแม่ working women และยิ่งเป็นคุณแม่ลูกอ่อนที่มาทำงานการเมือง จะถูกตั้งคำถามว่า คุณได้ทำหน้าที่ของการเป็นแม่ได้ดีแค่ไหน ขณะคุณออกมาทำงานในที่สาธารณะ คุณเป็นห่วงครอบครัวของคุณรึเปล่า

ปิ่นแก้ว : อะไรบ้างที่เราสัญญากับชาวบ้านว่าเมื่อเราเป็นส.ส. เราจะทำให้ อะไรที่ชาวบ้านคาดหวังว่าอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง

เพชรรัตน์ :
เราจะแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ซึ่งเราจะทลายทุนผูกขาด เช่น หลายๆอย่างที่เป็นโครงการของภาครัฐที่กระตุ้นเศรษฐกิจอยู่แล้วแต่มันกระจุกตัว, GDP ของเชียงใหม่เราโตขึ้น แต่ไม่ได้โตขึ้นในกระเป๋าตังค์ของประชาชนจริงๆ มันโตที่กลุ่มทุน หรือนายทุนเจ้าเดิมๆ ที่เขาได้รับจากภาครัฐทุกครั้งที่กระจายงบลงมา

อีกเรื่องหนึ่งคือ ปัญหา PM 2.5 มันมีทั้ง ‘ไฟภายใน’ และ ‘ไฟภายนอก’ ซึ่งถ้าเป็นไฟภายนอก เราต้องร่วมมือกันระหว่างรัฐบาล และเรื่องทลายทุนผูกขาดเองก็เป็นปัจจัยสำคัญของไฟภายนอก คือเรื่องการนำเข้าสินค้าทางการเกษตรที่มาจากการเผา โดยที่พรรคประกาศแผนออกมาแล้วทั้งระยะสั้นและระยะยาว

โดยในระยะสั้นภายใน 1 ม.ค. ปี 67 เราจะมอบเงินทุน 3 ล้านบาท ไปยังตำบลต่างๆที่ช่วยเหลือเป็นอาสาสมัครดับไฟป่าภาคประชาชน หรือหมู่บ้านที่อยู่ในเขตป่า ซึ่งรวมไปถึงสวัสดิการ ค่าอาหาร อุปกรณ์เพื่อสนับสนุนการเข้าไปดับไฟ และจะทำศาลาหรืออาคารอเนกประสงค์ของแต่ละชุมชนให้เป็น ‘Clean Room’ หรือ ‘ห้องปลอดฝุ่นควัน’ ไว้บริการให้กับคนในชุมชน 

สิ่งต่างๆเหล่านี้ ทั้งระยะสั้น ระยะยาว เราก็จะทำควบคู่ไปกับการกระจายอำนาจเลือกตั้งผู้ว่าฯทุกจังหวัด สิ่งต่างๆเหล่านี้ไม่ใช่เพียงการแก้ปัญหาฝุ่นควัน แต่เป็นการแก้ปัญหาที่มันหมักหมมมานาน และเป็นการแก้ปัญหาในสิ่งที่ภาครัฐทำงานทับซ้อนกันอยู่ ถ้ากระจายอำนาจมาสู่ท้องถิ่น การตัดสินใจทุกอย่างเบ็ดเสร็จที่ท้องถิ่น ทุกอย่างที่เป็นปัญหาท้องถิ่นจะเป็นคนจัดการ

ปิ่นแก้ว : แล้วคิดว่าเราจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เร็วที่สุดเมื่อไหร่

เพชรรัตน์ : เราต้องทำประชามติก่อน ประมาณไม่เกินหนึ่งสมัย จะต้องมีการกระจายอำนาจเลือกตั้งผู้ว่าฯทุกจังหวัด ไม่ใช่ว่าเราจะคัดเลือกแค่บางจังหวัดที่เห็นว่ามีศักยภาพ ไม่มีจังหวัดไหนหรอกที่ไม่พร้อมกระจายอำนาจ ทุกจังหวัดมีปัญหาเหมือนกันหมด การกระจายอำนาจคือการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนของทุกจังหวัดค่ะ


สามารถรับชมประเด็นคำถาม และการแสดงความคิดเห็นจากวงเสวนาครั้งนี้ได้ที่นี่